เราแทบไม่ได้ตัดทอนอะไรออกจากบทสนทนาที่ตรงไปตรงมาระหว่างเรา และ อาจารย์สมชาย ปรีชาศิลปกุล ผู้เขียนหนังสือ เมื่อตุลาการเป็นใหญ่ในแผ่นดิน นี่เป็นหนังสือที่ท้าทายความเชื่ออันตกค้างในสังคมไทยมาตั้งแต่รุ่นเดอะ ความเชื่อที่ว่าตุลาการคือสิ่งศักดิ์สิทธิ์บนหิ้งที่ขาวใสจนไม่อาจวิพากษ์วิจารณ์ได้
แต่ท่ามกลางบรรยากาศความเกร็งในยามที่พูดถึงอำนาจตุลาการ ในช่วงหลายปีมานี้ก็เกิดกระแสความโกรธเกรี้ยวต่อการทำหน้าที่ของผู้ถือกฏหมาย กระแสที่ว่ามันจุดชนวนขึ้น จากคำตัดสินของฝ่ายตุลาการที่รับรองการใช้อำนาจของคณะรัฐประหาร รวมทั้งปรากฏการณ์ โง่ – จน – เจ็บ เมื่อประชาชนต้องถูกพิจารณาคดี อย่างกรณีการตัดสินคดีพิพาทระหว่างแรงงานกับทุนใหญ่ เรื่องนี้ฝ่ายแรงงานมีต้นทุนต้องรอและต้องจ่าย จนบางรายหมดเนื้อหมดตัวแต่ก็ยังไม่ได้รับการเยียวยา หรือกระทั่งเรื่องการจับกุมชาวบ้านที่อยู่ในผืนป่า ก็ทำเอาหลายครัวเรือนมีอันต้องแยกจากพ่อและแม่ นี่ยังไม่นับรวมเรื่องจริงที่กระบวนตุลาการมีส่วนต่อการพรากเสรีภาพไปจากผู้คน อย่างกรณีคุมขังผู้ต้องคดี 112 ซึ่งยังไม่ถูกตัดสินความผิด
ทั้งหมดกลายเป็นเหมือนคาร์บอนไดออกไซด์ที่สั่นสะเทือนความเชื่อมั่นของชั้นบรรยากาศบนท้องฟ้า อย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยง ร้อนกว่าโลกคงเป็นสถานการณ์ของฝ่ายตุลาการไทยที่กำลังถูกตั้งคำถามอย่างมาก และสำหรับอาจารย์สมชายแล้ว การวิพากษ์วิจารณ์อย่างมีเหตุผลต่อการทำหน้าที่ของฝ่ายตุลาการในชั่วโมงนี้ เป็นสิ่งที่ต้องทำได้
เป็นปรากฏการณ์ที่ไม่ได้เห็นกันบ่อย ๆ ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ก่อนหน้านี้คนวิพากษ์วิจารณ์ศาลน้อยเพราะพอพูดถึงสถาบันตุลาการคนจะมองว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ พอในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ผมคิดว่าคนเริ่มวิพากษ์วิจารณ์อำนาจตุลาการมากขึ้น ส่วนตัวผมว่าเป็นสิ่งที่ต้องทำได้ เพราะตุลาการเป็นหนึ่งในอำนาจอธิปไตย รับเงินเดือนจากภาษีประชาชน
อ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล ผู้เขียน เมื่อตุลาการเป็นใหญ่ในแผ่นดิน
ความหมายตรงปก
โดยบริบทของตัวอักษร อาจารย์สมชายเขียนบทความต่างๆ ช่วงหลังปี 2555 ในช่วงที่บทความเหล่านี้ถูกทยอยเขียนเป็นช่วงที่เกิดปัญหาหลายอย่างทางการเมืองไทย มันถูกชี้ขาดโดยอำนาจตุลาการ ศาลกลายเป็นผู้เข้ามาชี้ถูก-ผิดทางการเมือง ทั้งที่จริงปัญหาทางการเมืองหลายเรื่องก่อนหน้านั้น มันถูกชี้ขาดด้วยการเลือกตั้งหรือระบบทางการเมืองเอง แต่หลังปี 2550 อำนาจตุลาการเข้ามาชี้ขาดและมีสำคัญในหลายกรณี
การหยิบหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาอ่าน แม้จะมีมุมยากในแง่ความเข้าใจเชิงกลไกหน้าที่ของฝ่ายตุลาการ แต่เมื่ออ่านจบจะพบภาพปรากฏชัด ว่าตั้งแต่ ปี 2550 จนถึงปัจจุบัน เป็นช่วงเวลาที่อำนาจตุลาการเป็นใหญ่ คอยกำกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย และมันเชื่อมโยงอยู่กับระบบการเมืองอย่างที่แยกไม่ขาด ภาพที่ว่ามันมีความหมายตรงตามตัวอักษรบนปกหนังสือ ตรงจนอาจารย์สมชายพูดย้ำเมื่อเราสนทนาถึงที่มาก่อนตีพิมพ์ “นี่เป็นช่วงเวลาที่ฝ่ายตุลาการเป็นใหญ่ทางการเมืองจริงๆ”
ก่อนที่คุณจะเริ่มอ่านหนังสือเล่มนี้ เราสปอยก่อนเลยว่า ระหว่างให้มองหาความหมายของคำ 3 คำ ซึ่งจะค่อยๆ สางความเข้าใจต่อบทบาทตุลาการในสังคมไทย ตุลาการภิวัฒน์ ตุลาการพันลึก และ ตุลาการธิปไตย มีอยู่จริงไหม มีอยู่อย่างไร และ พันแน่นอยู่กับใคร เป็นชุดคู่มือคำถามระหว่างที่คุณสนทนาทางความคิดผ่านหนังสือ
และเพื่อให้เห็นความเปลี่ยนแปลงในแวดวงองค์ประกอบของฝ่ายตุลาการ ขั้นต้นลองถอดรหัสความซับซ้อนของสัดส่วนตุลาการในศาลรัฐธรรมนูญกันก่อน รหัสชุดนี้อยู่ในบทที่ชื่อ ศาลรัฐธรรมนูญที่ไร้ผู้เชี่ยวชาญรัฐธรรมนูญ และไร้ประชาชน เป็นการถอดความหมายภายใต้ตัวเลข 15 : 7 : 8 และ 9 : 5 : 4 บอกใบ้ว่านี่เป็นรหัสไม่ลับ แสดงให้เห็นข้อแตกต่างของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งถูกกำหนดไว้ในกฏหมายรัฐธรรมนูญฉบับ ปี 2540 และ ปี 2550 สืบเนื่องถึง ปี 2560 ที่สำคัญสัดส่วนที่เกริ่นมานี้ ดันไปผูกโยงเข้ากับความตกต่ำของสถาบันการเมืองจากการเลือกตั้ง โยงอยู่กับระบบข้าราชการระดับสูงและความเฟื่องฟูของอำมาตยาธิปไตย รวมไปถึงการทำหน้าที่ขององค์กรอิสระ(จากประชาชน)
ส่วนหนึ่งของหนังสือ อาจารย์สมชาย ทิ้งความหมายระหว่างบรรทัดเอาไว้ว่า… จะเห็นว่าผู้พิพากษาอาชีพมีสัดส่วนเปลี่ยนไป จาก 7 ใน 15 คน กลายเป็น 5 ใน 9 คน หากพิจารณาในแง่มุมนี้ จะเห็นว่านับตั้งแต่การประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี 2550 สืบเนื่องจนถึงการรัฐประหาร ปี 2557 บุคลากรจากศาลฎีกามีบทบาทในตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญมากขึ้นกว่าที่เคยปรากฏในช่วงก่อนหน้า แนวคำวินิจฉัยที่ถูกมองว่าต่างไปจากที่เคยเป็นจึงอาจเป็นผลมาจากโครงสร้างและองค์ประกอบของศาลรัฐธรรมนูญที่เปลี่ยนไป นี่เป็นเพียงบางส่วนของเนื้อหาในเล่ม ที่จะขยี้ประเด็นให้เห็นความเปลี่ยนแปลงขององค์กรซึ่งถูกจัดวางไว้บนแท่นอันศักดิ์สิทธิ์ และเมื่อถอดรหัสกันต่อไป ก็จะพบร่องรอยอำนาจครอบงำของสถาบันตุลาการเหนือองค์กรอิสระ ซึ่งปรากฏให้เห็นนับตั้งแต่รัฐธรรมนูญฉบับประชาชนเป็นต้นมา
ตุลาการภิวัฒน์ยังไม่ปรากฏ
คำว่า ตุลาการภิวัฒน์ ถูกให้ความหมายว่าเป็นการทำหน้าที่ส่งเสริมให้เกิดการแผ่ขยายของสิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาคระหว่างผู้คน เป็นความก้าวหน้าด้านการปกครองสิ่งแวดล้อม และการทำหน้าที่ของตุลาการภิวัฒน์มีขยายพื้นที่ของฝ่ายตุลาการสู่การกำหนดนโยบายสาธารณะด้วย เป็นคุณค่าที่ได้รับการส่งเสริมอย่างมากช่วงปลายศตวรรษที่ 20 ถึงต้นศตวรรษที่ 21
คำนี้เริ่มต้นใช้ในเมืองไทยเมื่อปี 2549 โดยส่วนใหญ่ในตอนนั้นมันหมายความถึง การทำหน้าที่ของตุลาการที่สามารถเข้ามาแก้ไขปัญหาข้อขัดแย้งต่างๆ โดยเฉพาะข้อขัดแย้งทางการเมือง แก้ไขได้ตามบทบาทของตุลาการ
แต่นับจากปี 2549 โดยเฉพาะหลัง 2550 เป็นต้นมาถึงปัจจุบัน ยังไม่ปรากฏบทบาทตุลาการภิวัฒน์ จนถึงตอนนี้ดูเหมือนว่าคำว่าตุลาการภิวัฒน์ไม่ได้ถูกใช้ ซึ่งมันแสดงให้เห็นว่าบทบาทของตุลาการที่เคยถูกคาดหวังจากคนส่วนมาก มันไม่ได้เป็นไปตามความคาดหมาย
อาจารย์สมชายเล่าว่า ตอนนี้มันปรากฏผลในทางลบของฝ่ายตุลาการมากกว่า หากจะย้อนให้ถึงรากถึงแก่น คงต้องย้อนไปในช่วงที่มีความเห็นต่างทางการเมืองในปี 2550 ช่วงนั้นดูเหมือนว่าคดีไหนที่คนเสื้อแดงขึ้นศาล ผลที่ถูกตัดสินออกมาจะเป็นลบทั้งสิ้น นั่นเป็นช่วงแรกๆ ที่มีการโต้แย้งเรื่องบทบาทหน้าที่ของฝ่ายตุลาการ
ต่อมาหลังปี 2557 มันขยายผลความกังวลใจมายังกลุ่มคนที่เรียกร้องประชาธิปไตย หรือ กลุ่มคนที่ยืนอยู่ตรงข้ามอำนาจรัฐ พอเวลาเคลื่อนไหวแล้วมีปัญหา ต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม จะพบว่าคำวินิจฉัยของฝ่ายตุลาการมักจะเป็นปัญหาอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำวินิจฉัยที่ไม่ได้เป็นไปตามหลักวิชาหรือไม่เป็นไปตามกลไกทางกฏหมายที่ถูกกำหนดเอาไว้
อย่างในกรณีคุณยิ่งลักษณ์ก็เป็นหนึ่งในกรณีตัวอย่าง มันพันไปถึงการใช้อำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาและ คณะรัฐประหาร ที่ใช้อำนาจทุกวิถีทางเพื่อเอาผิดกับฝ่ายที่อยู่ตรงข้ามทางการเมือง แม้วันนี้อาจารย์สมชายจะมองว่า รัฐบาลทหารจะไม่สามารถใช้อำนาจอันเด็ดขาดเหมือนช่วงที่เข้ามาบริหารแรกๆ แต่ทว่าโดยบทบาทการตัดสินใจของฝ่ายตุลาการ มันก็สะท้อนให้ถึงความโน้มเอียงไปทางเดียวกับผู้ที่มีอำนาจในขณะนี้
” ในช่วง 1 ปีหลังมานี้สถานการณ์ลักษณะเดียวกับที่เล่ามามันรุนแรงมากขึ้น นั่นเลยทำให้คำว่าตุลาการภิวัฒน์มันสูญหายไปจากสังคมไทย “
สูญหายไป หรือ แท้จริงไม่เคยปรากฏ ? ประเด็นนี้ยังคงเปิดกว้างให้ผู้อ่านได้ถกเถียงถึงความจริงที่ยากยิ่งของสังคมไทย ตอนต้นของหนังสือเล่มนี้ช่วงหน้า 17 – 37 น่าจะช่วยปะติดปะต่อถึงชุดความจริงเพื่อการวิพากษ์ แต่ก่อนจะหาสูตรการวิพากษ์ถึงตุลาการภิวัฒน์ เราชวนมองย้อนกลับไปถึงสมการหลังบ้าน เพราะยังมีตัวแปรอีกมากที่พัวพันต่อการ บวก ลบ คูณ หาร ก่อนจะได้ชุดคำตอบสะท้อนภาพความเป็นไปของตุลาการไทย
“ตุลาการพันลึก” ฝังรากอำนาจทางการเมือง
สำหรับอาจารย์สมชายแล้ว ตุลาการพันลึกก็ไม่ต่างจากรัฐพันลึก มันปรากฏในลักษณะเดียวกัน อธิบายให้ละเอียดมากขึ้น คือเวลาเราพูดถึงตุลาการพันลึก เราไม่ได้หมายความถึงเพียงผู้พิพากษาที่ออกมาทำหน้าที่ให้เราเห็น แต่เบื้องหลังยังมีเครือข่ายและสายสัมพันธ์ที่โยงใยกันไปมา และเครือข่ายหรือสายสัมพันธ์ว่า ก็มีส่วนอย่างมากต่อการทำหน้าที่หรือบทบาทของฝ่ายตุลาการ
ผมคิดว่า เวลาเราพูดถึงฝ่ายตุลาการ เราไม่ได้หมายถึงฝ่ายผู้พิพากษาเป็นคนๆ ไป แต่หมายความว่าในท่ามกลางผู้พิพากษาเหล่านั้น มีกลุ่มคนที่มีความคิดเห็นทางการเมืองแบบหนึ่ง เช่น บางกลุ่มสนับสนุนฝ่ายอำนาจนิยม ในขณะที่บางกลุ่มไม่เห็นพ้องแบบนั้น แต่กลุ่มที่เห็นพ้องกันก็เกาะเป็นกลุ่มเป็นเครือข่าย ลักษณะเช่นนี้ผูกโยงอยู่กับการดึงกันเข้าสู่ตำแหน่งแห่งที่ต่างๆด้วย
ปฏิเสธได้ยากว่า เครือข่ายที่เรากำลังพูดถึงมีทั้งแบบเป็นทางการและไม่เป็นทางการ อาจารย์สมชายอธิบายว่าเครือข่ายที่ไม่เป็นทางการซึ่งเรามองเห็นได้แบบไม่ชัดเจน เป็นส่วนที่มีผลอย่างสำคัญต่อการทำหน้าที่ของตุลาการไทยในห้วงเวลาปัจจุบัน
Q : ที่ว่าพันลึก พันอยู่กับฝ่ายการเมือง ฝ่ายข้าราชการ ฝ่ายทุน หรือ…?
A : ยังพันไม่ลึกถึงทุนแต่พันลึกเฉพาะคนในกลุ่มผู้พิพากษา ซึ่งพบการเชื่อมโยงไปถึงกลุ่มข้าราชการระดับสูงอื่น ๆ ด้วย
พูดให้ชัดในมุมของอาจารย์สมชาย ผู้ที่คลุกคลีกอยู่กับแวดวงนี้ คือ ผู้พิพากษาก็ไม่ได้อยู่เฉพาะโลกของตัวเองแต่ออกไปสัมพันธ์กับฝ่ายอื่นๆ เช่น เข้าไปอบรม วปอ. หรือไปเป็นคณะกรรมการในหน่วยงานต่างๆ คณะกรรมการคัดเลือกในองค์กรอิสระต่างๆ ซึ่งการทำงานแบบนี้ทำให้เกิดการทำงานในลักษณะที่เรียกว่าเครือข่ายข้างหลังของฝ่ายตุลาการเข้ามาเกี่ยวข้อง
เมื่อตุลาการภิวัฒน์ยังไม่ปรากฏ ตุลาพันลึกอันเชื่อมโยงกับผู้มีอำนาจทางการเมืองขยายภาพชัดขึ้นเรื่อย ๆ แล้วแบบนี้ ตุลาการธิปไตย ซึ่งหมายถึงตุลาการมีอำนาจสูงสุดเหนือสถาบันการเมืองอื่น ๆ จะเป็นนำมาซึ่งความหวังหรือความหวาดกลัว
ตุลาการธิปไตย ผมคิดว่ายังมีบทบาทอย่างสำคัญต่อสังคมไทย ในทศวรรษที่ผ่านมาอำนาจของตุลาการไทยอยู่ในสภาวะที่เป็นตุลาการธิปไตยมากขึ้นไปทุกที ๆ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่านี่เป็นข้อดีนะ
ที่อาจารย์บอกว่าไม่ได้เป็นข้อดี คือ ตุลาการธิปไตยเป็นอำนาจหน้าที่ที่สำคัญในมือตุลาการ แต่ปัญหามันมีอยู่ว่า คนในองค์กรตุลาการจะเลือกใช้อำนาจแบบไหน เพราะถ้าการใช้อำนาจวางอยู่บนหลักการที่สามารถเปิดให้ตรวจสอบ โต้แย้ง หรือ ถกเถียงได้ อันนี้ก็จะเป็นประโยชน์ แต่หากการใช้อำนาจตุลาการเป็นไปอย่างเลือกข้าง เอียงข้าง ไม่สามารถชี้แจงหรือให้คำตอบได้อย่างชัดเจน ก็จะส่งผลในเชิงลบต่อความเชื่อมั่น
ผมคิดว่าถ้าเป็นแบบที่เลือกข้าง เอียงข้าง มันเป็นสภาวะที่เป็นอันตรายทั้งต่อสถาบันตุลาการและสังคมโดยรวม
มาถึงตรงนี้เราอดถามไม่ได้ว่า บทบาทของตุลาการมันยังฟังก์ชั่นกับสังคมไทยที่เต็มไปด้วยความเห็นต่างหรือไม่
อาจารย์สมชาย ตอบแบบชวนคิด ระบุว่าเวลานี้สิ่งที่องค์กรตุลาการควรทำ คือต้องถอยกลับมายืนในจุดที่มันเป็นหลักวิชาทางกฏหมาย ใช้หลักกฏหมายเป็นเครื่องมือในการพิจารณาข้อขัดแย้งต่าง ๆ ซึ่งมันจะทำให้ปัญหาข้อขัดแย้งไม่แหลมคมมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่เดิม เช่น ถ้ามีคนทำผิดกฏหมาย ถูกข้อกล่าวหาใด ๆ ก็ตามแล้วมันไปถึงศาล ศาลก็ควรจะพิจารณาไปตามหลักการทางกฏหมายว่า ใครมีแนวโน้มจะหนี หรือไปยุ่งเหยิงกับหลักฐาน หรือไม่ ?
และถ้าศาลเห็นว่าเข้าหลักเกณฑ์ข้อใดข้อหนึ่ง ศาลไม่ให้ประกันตัว แบบนั้นอาจารย์มองว่าเป็นเรื่องที่สามารถเข้าใจได้ แต่ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้มันต่างจากที่เรากำลังพูดถึง เช่น กรณีใครโดนคดี 112 ศาลไม่ให้ประกันตัวหมด มันเป็นการตัดสินที่น่าจะมีคำถามอย่างกว้างขวางว่ามันไม่เป็นไปตามหลักการของกฏหมาย
ไม่ใช่เฉพาะเรื่องนี้นะครับ ผมคิดว่าทุกประเด็นที่ขึ้นไปสู่ศาล ตุลาการมีอิทธิพลที่จะช่วยประคับประคองให้ความขัดแย้งในสังคมไทยขยับไปข้างหน้าโดยไม่เกิดความรุนแรงได้ และผมคิดว่า อำนาจตุลาการ ตำรวจอัยการ ศาล ราชทัณฑ์ ต้องทำงานให้เป็นมืออาชีพโดยใช้หลักการทางกฏหมายเป็นเครื่องมือ แต่เมื่อไรที่ไม่ได้เป็นเช่นนั้น ผมคิดว่ามันกำลังทำให้ความขัดแย้งขยายความรุนแรงมากขึ้น
ร ะ ย ะ ห่ า ง ร ะ ห ว่ า ง โ ล ก ก ฏ ห ม า ย กั บ ก า ร ป ฏิ บั ติ จ ริ ง
ผมคิดว่ามันชัดเจนมากยิ่งขึ้นสำหรับเรื่องนี้ คือโดยทั่วไปจารีตของนักเรียนกฏหมายเราจะเรียนบทบัญญัติและการตีความทางกฏหมายและเวลาทดสอบความรู้ความสามารถ เราก็ทดสอบกฏหมายที่อยู่ในตัวหนังสือ แต่ลำพังการเรียนเท่านี้มันไม่สามารถทำให้เราเข้าใจปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจริงได้ เช่น การประกันตัวกลุ่มคนที่ถูกจับเพราะออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง ถ้าไปถามนักเรียนกฏหมายคนไหน ตอบได้ทุกคนว่า หลักสันนิษฐานว่า เขาเป็นผู้บริสุทธิ์ตราบเท่าที่ยังไม่มีคำตัดสินอันเป็นที่สุดของศาล เพราะฉะนั้นจะปฏิบัติต่อเขาเหมือนกับเขาเป็นนักโทษไม่ได้
ส่วนการประกันตัว หลักการคือประกันตัวเป็นหลัก ควบคุมตัวเป็นข้อยกเว้น จะควบคุมตัวก็ต่อเมื่อเห็นได้อย่างชัดเจนว่าเขาจะหลบหนี หรือ จะเข้าไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน เรื่องนี้เป็น Law in book ที่นักเรียนกฏหมายทุกคนรู้ และแน่นอนผู้พิพากษาทุกคนรู้ แต่ว่าเวลามาปฏิบัติจริง ยิ่งกรณีตอนนี้เห็นได้ชัดเจนว่า มันไม่ได้เกิดขึ้น
เห็นชัดเจนในหลายเรื่อง โดยเฉพาะกรณีของกลุ่มราษฎร เห็นได้ชัดว่าคนเหล่านี้ไม่มีใครมีท่าทีว่าจะหลบหนีคดีกลับกลายเป็นว่าในเหตุผลของศาลที่ไม่ให้ประกันตัว ระบุว่าเป็นความผิดที่มีโทษสูง ไม่ให้ประกันตัว ซึ่งอันนี้ผมคิดว่าเป็นเหตุผลลำดับรอง มันเป็นปัญหาสำคัญในแง่มุมการศึกษาด้านกฏหมาย นักเรียนกฏหมายมักจะเรียนสิ่งที่เรียกว่าโลกในกระดาษ แต่ไม่ค่อยเรียนโลกในความเป็นจริง พอเป็นแบบนี้มันก็เลยทำให้โลกในกระดาษกับโลกความเป็นจริงแตกต่างกันอย่างมาก เรื่องนี้เป็นเรื่องรุนแรงมาก มันไม่ใช่ปัญหาเฉพาะเรื่องการศึกษา แต่ผมคิดว่ามันไปเชื่อมโยงกับสิ่งที่เรียกว่าความเป็นอิสระของฝ่ายตุลาการ
ในขณะที่ฝ่ายตุลาการมักจะอธิบายถึงองค์กรของตนว่ามีความเป็นอิสระอย่างยิ่ง แต่ผมคิดว่ามาถึงวันนี้น่าจะเหลือคนน้อยมากแล้วที่เชื่อว่าศาลยังทำหน้าที่ที่ยังคงความเป็นอิสระอยู่ แต่ผมคิดว่าคนจำนวนมาก อย่างน้อยก็รวมถึงผมคนหนึ่งที่เชื่อว่า ศาลทำหน้าที่ภายใต้การกำกับของอำนาจบางอย่าง
เมื่อตุลาการเป็นใหญ่ในแผ่นดิน
ผู้เขียน สมชาย ปรีชาศิลปกุล
พิมพ์ครั้งแรก พฤษภาคม 2562
สำนักพิมพ์ BOOKACSPE
PlayRead: คอลัมน์รีวิวหนังสือประจำ Decode.plus เมื่อกองบรรณาธิการขอ add หนังสือ (ที่อยากอ่าน) ขึ้นไว้บนเพลย์ลิสต์ พบกับหนังสือหลากหลายสไตล์ หลากหลายวิธีการเล่าเรื่องที่เชื่อมร้อยกับชีวิตและสังคม แวะมาหาอ่านกันได้ทุกเย็นวันพฤหัสบดี