บำนาญแห่งชาติ เงินทิพย์ของแม่น้อยอุ่น - Decode
Reading Time: 3 minutes

“เงินคนแก่ 600 นี่ถ้าซื้อข้าวสารก็ได้ประมาณเกิ่งต๋าง (ประมาณ 15-20 ลิตร) พอจุนเจือได้ แต่ซื้อข้าวก็หมดแล้ว เฉลี่ยต่อเดือนพอที่จะมีข้าวกินไปครึ่งเดือน ถ้าบางวันไปรับจ้างก็พอมีรายได้บ้าง ได้วันละ 50-60 บาท ถ้าช่วงไหนพ่อค้าเอาหอมแดงมาน้อยลง ทำให้คนแก่ไม่มีที่รับจ้างก็อยู่กันไปตามยถากรรม”

แม่น้อยอุ่นวัย 67 ปี คุณยายในหมู่บ้านห่างไกลแห่งหนึ่งในจังหวัดลำพูน เล่าถึงการใช้จ่ายเบี้ยผู้สูงอายุแต่ละเดือน ไม่มีน้ำเสียงตัดพ้อหรือน้อยใจในวาสนา เป็นเพียงข้อเท็จจริงที่ผู้สูงอายุในต่างจังหวัดเกือบทั่วประเทศต้องเผชิญ แม่น้อยอุ่นยังโชคดีที่ในหมู่บ้านพอมีงานให้ทำ คือการรับจ้างมัดจุกหอมแดงเป็นสองขา พ่อค้าให้ราคากิโลกรัมละ 1.5 บาท แต่งานไม่ได้มีมาตลอด ยิ่งสิบปีให้หลังการทำไร่ลดลงเรื่อยๆ เพราะน้ำแล้ง ชาวบ้านหันไปปลูกไม้ผลจำพวกมะม่วงที่ขายได้ง่ายกว่า ผู้เฒ่าในหมู่บ้านจึงเหลือเพียงรายได้จากเบี้ยผู้สูงอายุ บ้านไหนลูกหลานไปทำงานในเมืองยังพอส่งเงินกลับมาจุนเจือได้บ้าง เมื่อเล่าให้แม่น้อยอุ่นฟังเรื่อง “บำนาญแห่งชาติ” ที่เป็นความหวังว่า จะทำให้คนชราวัย 60 ปีขึ้นไปได้เบี้ยบำนาญ 3,000 บาทต่อเดือน คุณยายอุทานเบา ๆ แล้วตอบว่า

“ปุ๊ดโถะ ได้ซัก 1,500 ก็ยังดี ทุกวันนี้คนเฒ่ามีแค่บัตร 30 บาทรักษาทุกโรค แล้วก็ค่าฌาปนกิจศพ 7,000 ที่ช่วยกันออกเองในหมู่บ้าน” แกหัวเราะเบา ๆ เมื่อพูดจบ คล้ายกับเรื่องบำนาญแห่งชาติเป็นนิทานชวนฝัน หรือไม่อาจเป็นเพียงเสียงหัวเราะในการปลอบใจตัวเอง

พ้นจากเส้นแบ่งความจนและความเป็นมนุษย์ ด้วยบำนาญแห่งชาติ

แนวคิดเรื่อง “พระราชบัญญัติบำนาญแห่งชาติ” มีเป้าหมายหลักเพื่อให้ผู้สูงอายุวัย 60 ปีขึ้นไป ได้รับเบี้ยบำนาญ 3,000 บาทต่อเดือน เปรียบเสมือนตัวบทกฎหมายที่จะเข้ามาแก้ปัญหาระบบสวัสดิการที่ไม่ครอบคลุม มีความเหลื่อมล้ำในกลุ่มประชากรต่าง ๆ โดยเฉพาะการไม่ตอบโจทย์ต่อกลุ่มประชากรที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน (Poverty line) โดยข้อมูลจากการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนปี 2562 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ และประมวลผลโดยสำนักพัฒนาฐานข้อมูลและตัวชี้วัดภาวะสังคม พบว่าเส้นความยากจนของประชากรไทยโดยวัดจากมาตรฐานค่าใช้จ่ายขั้นต่ำที่คนจะดำรงชีวิตอยู่ได้ (Minimum Requirement) อยู่ที่ 2,710 บาทต่อเดือน

เส้นทางการผลักดัน พ.ร.บ.บำนาญแห่งชาติ เกิดขึ้นโดย “เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ” (Wefair Welfare Network – WWN) ร่วมด้วยภาคีภาคประชาชนต่างๆ ความเคลื่อนไหวที่ชัดเจนของ WWN เกิดขึ้นราวปลายปี 2562 ด้วยการยื่นหนังสือและรายชื่อประชาชนผู้มีสิทธิ์เสนอกฎหมายตามรัฐธรรมนูญ กว่า 10,000 รายชื่อ ต่อรัฐบาลเพื่อให้เกิดกระบวนการสนับสนุนกฎหมายตามกระบวนการประชาธิปไตย นอกจากนั้นยังมีร่างกฎหมายบำนาญแห่งชาติอีก 4 ฉบับ ที่มาจากพรรคการเมืองต่าง ๆ ทั้งของพรรคก้าวไกล พรรคเสรีรวมไท พรรคประชาชาติ และพรรคไทรักธรรม แต่คำตอบที่ได้เมื่อต้นปี 2564 ไม่ได้เป็นอย่างที่หวังไว้ เพราะนายกรัฐมนตรีมีความเห็นอย่างเป็นทางการว่า ไม่รับรองร่างกฎหมายทั้ง 5 ฉบับ

“ร่าง พ.ร.บ.ฉบันนี้ ควรจะเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรโดยตรง คือญัตติที่มาจากภาคประชาชน ยังไงก็ตามควรให้สภาผู้แทนราษฎรได้เป็นผู้พิจารณา หากนายกรัฐมนตรีไม่เห็นด้วยกับ พ.ร.บ.ฉบับนี้จริง ๆ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด ผู้ที่ปฏิเสธควรจะเป็นพรรคร่วมรัฐบาลในการยกมือวาระแรก เพราะอย่างน้อยที่สุด ผู้แทนราษฎรทุกท่าน ไม่ว่าจะมาจากฝ่ายค้านหรือฝ่ายรัฐบาล ควรได้มีส่วนตัดสินใจข้อเสนอที่มาจากประชาชน”

อาจารย์เดชรัต สุขกำเนิด นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ซึ่งทำงานร่วมกับ WWN ในการผลักดันให้เกิดพระราชบัญญัติบำนาญแห่งชาติมาโดยตลอดให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยยังมีความหวังว่าเหลืออีก 3 ช่องทาง ในการสู้ต่อ แนวทางแรกคือการที่รัฐบาลผลักดันแนวคิดของบำนาญแห่งชาติไว้ในส่วนของ พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ โดยเขียนเพิ่มเติมเรื่องนี้เข้าไป แนวทางที่สองคือรอการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ฉบับสุดท้ายที่เป็นของคณะกรรมาธิการการสวัสดิการสังคม ที่ สส.พรรคพลังประชารัฐ เป็นประธานในคณะอนุกรรมาธิการฯ พิจารณากฎหมาย และแนวทางสุดท้ายคือการรวมใจกันของพี่น้องประชาชน ร่วมเรียกร้องและผลักดัน พ.ร.บ.บำนาญแห่งชาติ ตามหลักการของระบอบประชาธิปไตยที่เสียงส่วนใหญ่มาจากประชาชนผู้เป็นเจ้าของประเทศ โดยอาจารย์เดชรัตน์ฝากความหวังไว้กับการเปลี่ยนมุมมองของพลเมืองทุกกลุ่มในประเทศ ให้ตระหนักถึงผลประโยชน์ในระยะยาวที่จะได้รับจากการมีกฎหมายบำนาญแห่งชาติ

“เราจะทำอย่างไรให้ประชาชนตระหนักว่า ถ้าได้เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น โดยเปลี่ยนเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเป็นบำนาญได้ สิ่งนี้จะเป็นผลดีกับทุกคน ผมว่าจุดสำคัญที่เรายังไม่ได้ทำความเข้าใจให้ดีพอ คือการทำความเข้าใจกับกลุ่มผู้ที่ยังไม่ได้เป็นผู้สูงอายุ เพราะเมื่อเราพูดเรื่องเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เหมือนกับประชากรกลุ่มอื่นไม่ได้ประโยชน์ บางคนอาจจะพูดว่าเขาจะต้องจ่ายภาษีเพิ่มขึ้น แต่ในทางกลับกัน กลายเป็นว่าหากเรื่องนี้สำเร็จเป็นจริง จะช่วยให้เขาลดภาระในการดูแลผู้สูงอายุลงได้ ทั้งพ่อแม่และญาติของเขาเอง”

สร้างจินตนาการเชิงคุณธรรม
ยกระดับความเป็นคนของเราให้เท่ากัน

นักวิชาการของเครือข่าย WWN ย้ำถึงความสำคัญในการสื่อสารกับกลุ่มประชากรวัยแรงงาน ซึ่งจะเป็นตัวแปรสำคัญในการผลักดันกฎหมายบำนาญแห่งชาติให้กลายเป็นจริง โดยเสนอให้คิดบนพื้นฐานข้อเท็จจริงเกี่ยวกับระบบสวัสดิการที่ใช้ดูแลผู้สูงอายุในระดับสากลทั่วโลก ซึ่งแบ่งได้เป็น 3 ระบบ ระบบแรกคือให้ครอบครัวเป็นผู้ดูแล ระบบที่สองคือใช้การออมหรือการเก็บในรูปของทรัพย์สินเพื่อเป็นทุนไว้ใช้ยามเกษียณ ส่วนระบบที่สามคือผ่านระบบสวัสดิการสังคม เป็นการเก็บออมของพลเมืองทั้งประเทศเพื่อเฉลี่ยสุขและเยียวยาทุกข์ร่วมกันในสังคม ผ่านการบริหารจัดการโดยภาครัฐ

“ทั้งสามระบบทำงานต่างกัน ซึ่งขึ้นอยู่กับความเชื่อของแต่ละประเทศว่าคุณจะไปในทางไหน เช่น ประเทศที่ไปในทางสวัสดิการสังคม มีแนวคิดว่าตอนที่ผมทำงานผมก็ฝากเงินไว้กับรัฐ ให้รัฐนำไปช่วยผู้สูงอายุในปัจจุบัน แล้วพอผมถึงวัยเกษียณ คนรุ่นหลังเขาจะเป็นคนจ่ายเงินเพื่อมาช่วยเรา สำหรับผมทั้งสามระบบมีค่าเท่ากัน เพียงแต่ถ้าเราใช้ระบบที่เป็นต่างคนต่างออม อาจจะมีความสุขในการดูบัญชีของเราเอง แล้วคิดว่านี่คือเงินที่เราสะสมไว้เพื่อตัวเอง แต่สำหรับผม ผมมีความสุขมากกว่าที่จะได้เห็นว่าเงินภาษีทุกบาทของผมอาจจะไม่ได้มาถึงผมคนเดียว แต่ไปถึงคนอื่นอีกมากมายซึ่งเป็นเพื่อนร่วมชาติของผม ผมมีความสุขแบบนั้นมากกว่า นี่อาจจะเป็นเรื่องระดับอุดมการณ์ซึ่งไม่ได้มีใครผิดใครถูก เพียงแต่ผมอยากจะชวนคุยว่า เราจะมีความสุขมากกว่าไหมที่เงินภาษีของเราจะกลับมาช่วยทั้งตัวเราเองและคนอื่น ๆ ในสังคม”

อาจารย์เดชรัตน์ยังชวนให้คิดทะลุกรอบออกไปอีกต่อสิ่งที่เรียกว่า “จินตนาการเชิงคุณธรรม” โดยอธิบายถึงสิ่งนี้ว่าเป็นแนวคิดเกี่ยวกับการให้หรือการบริจาคทานที่กว้างไกลกว่าแนวคิดแบบเดิม เช่น ในประเทศในระบบรัฐสวัสดิการที่มีความสามารถในการใช้จินตนาการถึง “การอยู่ร่วมกันในสังคม” พลเมืองของประเทศเหล่านั้นไม่รู้สึกในแง่ลบต่อการเก็บภาษี หรือตั้งคำถามต่อผู้อื่นว่าเหตุใดจึงไม่เก็บออมกันเอง เพราะท้ายที่สุดแล้วเงินภาษีที่จ่ายให้กับรัฐตลอดชีวิต ย่อมกลายเป็นสวัสดิการพื้นฐานสำหรับทุกคนอย่างเท่าเทียมในสังคม หมายถึงสาธารณูปโภคและคุณภาพชีวิตต่าง ๆ ที่ถูกยกระดับด้วยรายได้ของประชาชาติอย่างแท้จริง

ปัญหาของเราคือการมีจินตนาการเชิงคุณธรรมจำกัดไปหน่อยเราจึงรู้สึกว่าในการให้หรือช่วยเหลือคน ต้องเป็นการให้แบบทางตรงเท่านั้น เรามักจะรอเคสที่ค่อนข้างดราม่าแล้วคนจะรุมไปช่วยเหลือ ผมอยากเปิดโอกาสให้เราได้เรียนรู้ถึงจินตนาการที่มันเกิดขึ้นในประเทศอื่นๆ ที่เขาสามารถจินตนาการถึงความสุขที่ว่า

“เรายังมีโอกาสเสียภาษี เพื่อให้คนที่โชคร้าย ซึ่งวันหนึ่งก็อาจจะเป็นเรา ให้สามารถที่จะตั้งหลักและกลับมาได้”

นั่นคือจินตนาการเชิงคุณธรรมจริง ๆ ถ้าเราจะสร้างรัฐสวัสดิการขึ้นมาได้ นอกจากประเด็นเรื่องภาษี ประเด็นเรื่องความรับผิดชอบของรัฐ ผมคิดว่าเราต้องพัฒนาจินตนาการเชิงคุณธรรมขึ้นไปด้วย”

ทะลุกรอบความคิด ทะลุความเหลื่อมล้ำเชิงนโยบาย

จินตนาการเชิงคุณธรรมจะมอบดวงใจและดวงตาที่เปิดกว้างให้กับหนุ่มสาววัยแรงงาน นอกจากความหวังที่จะช่วยยกระดับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ให้กับผู้สูงอายุในประเทศแล้ว พวกเขาจะตระหนักได้ว่า ที่ผ่านมามีรัฐไทยมีความเหลื่อมล้ำอย่างยิ่งในเรื่องของระบบสวัสดิการ 2 ส่วนหลัก นั่นคือ พ.ร.บ.ประกันสังคมที่ลูกจ้างกินเงินเดือนทุกคนต้องถูกหักเงินทุกเดือนเพื่อให้ได้สิทธิประโยชน์เมื่อเจ็บป่วยหรือชราภาพ ในขณะที่สวัสดิการตัวท็อปที่สุดอย่างสวัสดิการข้าราชการ กลับครอบคลุมทั้งการรักษาพยาบาล การศึกษาของบุตร เงินสนับสนุนในการปฏิบัติงานประจำสำนักงานในพื้นที่พิเศษ รวมทั้งบำเหน็จบำนาญหลังเกษียณ นอกเหนือจากสองกลุ่มนี้ ประชาชนกลุ่มใหญ่กว่า 50 ล้านคน ไม่มีสิทธิใด ๆ ในสวัสดิการทั้งสองรูปแบบ มีเพียงหลักประกันพื้นฐานอย่างสิทธิบัตรทองและเบี้ยผู้สูงอายุ หรือเบี้ยคนพิการซึ่งรวมกันแล้วเป็นเงินแค่หลักพันต้น ๆ

อาจารย์เดชรัตน์ชี้ให้เห็นถึงประเด็นเรื่องความเหลื่อมล้ำในสองส่วนหลัก ๆ คือความเหลื่อมล้ำที่ระบบสวัสดิการโดยตรง เช่น สวัสดิการข้าราชการที่รวมเบ็ดเสร็จแล้วตกอยู่ราว 400,000 ล้านบาท ต่อจำนวนข้าราชการพลเรือนสามัญ 395,900 คน จากรายงานของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน

ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ในขณะที่สวัสดิการของประชาชนซึ่งมีจำนวนประชากรมากกว่า รวมเบ็ดเสร็จราว 60 กว่าล้านคน อยู่ที่ตัวเลขประมาณ 300,000 ล้านบาท เห็นได้ชัดเจนว่าข้าราชการได้สวัสดิการมากกว่าประชาชนต่อจำนวนคนที่น้อยกว่ามาก ส่วนความเหลื่อมล้ำส่วนที่สองคือเรื่องของรายได้ที่แตกต่างกันในกลุ่มประชากรวัยแรงงานในภาคเอกชน นั่นคือคนที่ได้รับค่าตอบแทนสูงกว่าย่อมมีความพร้อมที่จะดูแลตนเองในช่องทางต่าง ๆ เช่น อาจจะซื้อประกันสุขภาพ หรือซื้อกองทุนสะสมเพื่อเก็บออม

“ถ้ามองตามข้อเท็จจริง คนไทยที่พร้อมจะออมได้เพียงพอโดยมีตัวเลขรายได้ที่เหนือกว่ารายจ่าย น่าจะมีอยู่ประมาณหนึ่งในห้าจากประชากรแรงงานทั้งหมด หมายถึงพร้อมจะเก็บออมให้เพียงพอใช้เมื่อยามเกษียน สิ่งที่น่าสนใจมากกว่าคือคนไทยสี่ส่วนห้าที่ไม่สามารถจะออมได้ เพราะไม่มีเงินเหลือพอให้เก็บออม”

ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการฯ พ.ร.บ.บำนาญแห่งชาติ ชี้ให้เห็นข้อเท็จจริงถึงความสามารถในการออมของคนไทยส่วนใหญ่ โดยอธิบายเพิ่มเติมให้เห็นภาพชัดมากขึ้นอีกว่าคนไทยสองในสามนั้นมีเงินออม  หากแต่เป็นเงินออมที่ไม่เพียงพอสำหรับรองรับชีวิตหลังเกษียณ โดยใช้ตัวเลขนี้ได้จากสิ่งที่เรียกว่า “กันชนทางการเงิน” นั่นคือสินทรัพย์ทางการเงินที่รองรับรายจ่ายได้กี่เดือน จากการวิเคราะห์ผลการสำรวจแนวทางการจัดระบบสวัสดิการสังคมเพื่อรองรับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ที่อาจารย์เดชรัตน์และคณะได้ศึกษาเมื่อปี 2563 พบว่า ประมาณ 70% ของคนที่มีรายได้น้อยในเมืองไทย จะมีกันชนทางการเงินประมาณสามเดือนเท่านั้น ด้วยเหตุผลทั้งหมดนี้ ระบบบำนาญแห่งชาติจึงเป็นความหวังที่จะเข้ามาคลี่คลายปัญหาที่เป็นอยู่ โดยเกลี่ยสวัสดิการต่าง ๆ ที่ซ้ำซ้อนหรือเหลื่อมล้ำให้กระจายไปยังคนส่วนใหญ่ในประเทศได้มากยิ่งขึ้น

ในทางทฤษฎีเมื่อเทียบกับประเทศที่เป็นรัฐสวัสดิการเต็มรูปแบบ อัตราการเก็บภาษีจะอยู่ที่ 45% ของ GDP ในขณะที่ประเทศไทยเก็บภาษีประมาณ 15% โดยอาจารย์เดชรัตน์เสนอทางออกที่เป็นจริงมากที่สุด ไม่ใช่การเพิ่มจากตัวเลข 15 ไปสู่ 45 โดยเสนอการเริ่มต้นก้าวแรกด้วยเรื่องของภาษีมูลค่าเพิ่ม ร่วมกับการแยกบัญชีของภาครัฐให้เห็นชัดเจนว่าหมวดไหนที่ถูกจัดให้อยู่ในสวัสดิการเพื่อประชาชน

“สเต็ปแรกคือการแยกเป็นบัญชีกองสวัสดิการประชาชนโดยตรงเอาไว้ โดยยังไม่ต้องขึ้นภาษี แต่เป็นการแยกหมวดเลย อาจจะดึงมาจากประกันสุขภาพต่างๆ จากงบประมาณก้อนเท่าเดิมนั่นแหละ แต่มาโชว์ให้เห็นในหมวดนี้ หรืออาจจะเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจาก 7% เป็น 8% ซึ่งอาจจะได้งบมาเพิ่ม 80,000 ล้านบาท ทุกบาททุกสตางค์จะมาอยู่ที่หมวดนี้ แล้วถ้าประชาชนรู้สึกว่าชีวิตชั้นดีขึ้น ผ่านไป 4 ปี มาเลือกตั้งกันใหม่ พรรคนั้นอาจจะบอกว่ารอบนี้ขอเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่มจาก 8% เป็น 9% ถ้าพอใจก็เลือกพรรคเรา ซึ่งเงินก้อนนี้จะไม่ไปไหนแลย คือตัวเลขทุกอย่างในงบประมาณแผ่นดิน แต่คุณช่วยแยกมันออกมาอยู่หมวดเดียวกัน แล้วพูดกับประชาชนว่าข้อเท็จจริงเป็นแบบนี้ คุณอาจจะลดหรือเลิกบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เงินก็มาอยู่กองนี้ แค่เปลี่ยนวิธีการ ไม่ได้เปลี่ยนตัวเงิน ไม่ได้เอาเงินไปทำถนนหรือซื้อเรือดำน้ำ แต่ปัจจุบันนี้ที่ถกเถียงและไม่ไว้วางใจ เพราะเราไม่ได้เริ่มสเต็ปแรกตรงนี้”

การกดดันภาครัฐให้แสดงความจริงใจในเรื่องนี้ จะเกิดขึ้นได้พร้อมกับการจุดไฟจินตนาการเชิงคุณธรรมในหมู่ประชาชนด้วยกัน เพื่อสร้างความเป็นไปได้ในการมีกฎหมายบำนาญแห่งชาติ นอกจากจะเป็นการลดความเหลื่อมล้ำด้านสวัสดิการสังคมแล้ว อาจทำให้ความฝันเรื่องรัฐสวัสดิการอยู่ใกล้กว่าที่คิด

หากคุณตัวสั่นเมื่อเห็นข้อความ “All animals are equal, but some animals are more equal than others.” จากเรื่อง Animal Farm ของ จอร์จ ออร์เวลล์ จินตนาการเชิงคุณธรรมและการเดินหน้าเพื่อผลักดัน พ.ร.บ.บำนาญแห่งชาติ น่าจะเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ไม่ยากเลย