กฎหมายต้องมั่นคง ไม่ผันผวน
แต่วันนี้การใช้ ม.112 กำลังผันผวนมากที่สุด
จากจดหมาย “โปรดช่วยเราด้วย” ของทนายอานนท์ สู่ “ขอโทษประหารชีวิต”ของสมยศ พฤกษาเกษมสุขจนถึงข้อความ “ช่วยคืนชีวิตให้หนู” ของพรพิมล-แม่ค้าออนไลน์ พวกเขา, นักโทษคดี 112 ยังอยู่ในเรือนจำโดยไร้สิทธิการประกันตัว บนฐานหลักการ เราทุกคนควรได้รับสิทธิการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม วันนี้พวกเขากำลังต่อสู้กับกฎหมายที่ร้อนที่สุด ไม่ว่าใครก็ไม่อยากถือมันไว้
“ทำให้ผ่านไป ถือไว้มันจะร้อน”
การบังคับใช้กฎหมายมาตรา 112 ในแต่ละช่วงเวลาสัมพันธ์กับสถานการณ์ทางการเมือง ทำให้การบังคับใช้กฎหมายนี้จึงแกว่งไหว สร้างบรรยากาศความหวาดกลัวได้จริงเพราะสิทธิประกันตัวที่ถูกริบไปได้พรากหลายสิ่งหลายอย่างจากผู้ต้องคดี ไม่นับรวมปัญหาของกฎหมายที่พาให้คนต่อสู้คดีต้องพบกับเส้นทางที่ตีบตันไร้ทางออกด้วยการจำยอมรับสารภาพ เป็นระบบที่มีกระบวนการยุติธรรมอำนวยความสะดวกอยู่ และทรัพยากรของรัฐกำลังถูกระดมมาใช้เพื่อจับกุมการใช้เสรีภาพ
ใต้คำถาม “เราจะอยู่กับกระบวนการยุติธรรมเช่นนี้หรือ” De/Code คุยกับ ทนายเมย์-พูนสุข พูนสุขเจริญ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ถึงความผันผวนของการใช้ ม.112 ที่วันนี้ไม่ใช่แค่เรื่องของคนที่ต้องคดี แต่หมายถึงหากยังมีคนเพิกเฉย นั่นอาจแปลได้ว่าคุณยอมรับกระบวนการยุติธรรมแบบนี้ ในวันที่คุณเป็น “เหยื่อ” เสียเอง
เช็กไทม์ไลน์คดี 112 ตลอด 4 เดือนเศษ 82 คนโยงม็อบการเมือง
คดี 112 ไม่ได้เพิ่งมาฟ้องร้องกันไม่กี่ปีนี้ มันมีมานานอย่างต่อเนื่อง แต่ช่วงเวลานี้จำนวนผู้ถูกฟ้องมันเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และมันถูกนำมาใช้อย่างเข้มข้น ย้อนกลับไปวันที่ 3 สิงหาคม 2563 การชุมนุม “ม็อบแฮรี่ พอตเตอร์” ที่มีทนายอำนนท์ นำภา ขึ้นปราศรัย วันนั้นเป็นวันแรกที่สถาบันกษัตริย์ถูกพูดถึงอย่างเป็นทางการ เพดานค่อย ๆ ทะยานขึ้นสูงจนทะลุ แต่จุดที่ชัดเจนที่สุดคือ 19 พฤศจิกายน 2563 เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศใช้กฎหมายทุกมาตราดำเนินคดีกับผู้ชุมนุม แม้ไม่ได้บอกตรง ๆ ว่าจะใช้มาตรานี้ก็ตาม แต่หลังจากนั้น 24 พฤศจิกายน 2563 จนถึงวันนี้ 4 เดือนเศษ มีผู้ถูกคดี 112 ไปแล้ว 81 คน (ณ วันที่สัมภาษณ์ 29 มีนาคม 2564 ส่วนข้อมูลสรุปตลอดเดือนมีนาคม 2564 จากศูนย์ทนายฯ อ่านรายละเอียดเพิ่มที่นี่)
ทนายเมย์-พูนสุข บอกว่า การปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์เป็น 1 ใน 4 นโยบายหลักของ คสช.ที่จะนำเข้าสู่ศาลทหาร ครั้งนั้นมีคนถูกฟ้องคดี 112 จำนวน 169 ราย (ศูนย์ฯ รับผิดชอบ 65 ราย) หากเปรียบเทียบกับช่วง 4 เดือนนี้ก็ถือว่ามันสูงมาก เจาะลึกลงไปในตัวเลข 169 ราย มี 100 คน เป็นคดีเกี่ยวกับเสรีภาพการแสดงออก ที่เหลือเป็นการแอบอ้าง แต่สำหรับ 81 คนนี้ทั้งหมดเป็นคดีที่เกี่ยวกับเสรีภาพการแสดงออกทั้งสิ้น
“112 เป็นประเภทความผิดที่ คสช.ใช้และควบคุมมาตลอด ช่วง 2-3 ปีที่ประยุทธ์พูดถึงว่าจะไม่ใช้ ม.112 คือกุมภาพันธ์ 61- พฤศจิกายน 63 ทำไมถึงนับตอนนั้น เพราะว่ามันมีหนังสือของอัยการสูงสุดที่รวบอำนาจว่าต่อไปนี้คดี 112 ที่จะดำเนินคดีให้อัยการสูงสุดเป็นคนสั่ง แสดงว่ามีนโยบายที่เขาต้องการให้มันเป็นไปในทางเดียวกัน แล้วหลังจากนั้นเห็นแนวโน้มในการบังคับใช้กฎหมายที่แตกต่างกันออกไป แต่ถามว่าเขาหยุดปราบปรามหรือไม่ ไม่นะ 2-3 ปีนั้น คือใช้ ม.116 แทนการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แทน”
การบังคับใช้ที่เข้มข้นนี้ ผู้ที่เคลื่อนไหวทางการเมืองโดนฟ้องคดี 112 จากการชุมนุมในแต่ละครั้งต่างกันออกไป #ม็อบ19กันยา มีคนถูกคุมขังทั้งหมด 19 คน ในจำนวนนี้มี 12 คนโดนคดี 112 เช่น เพนกวิน-พริษฐ์ รุ้ง-ปนัสยา ไผ่-ดาวดิน ไมค์-ภาณุพงศ์ และสมยศ อีก 7 คน คือ โตโต้ (ได้รับการประกันตัวจากคดี 116 วันที่ 2 เมษายน 2564 และถูกตั้งข้อหา 112 ต่อทันที), 5 คน เป็นคนที่โดนคดีทุบรถเพื่อช่วยไมค์-เพนกวิน ที่ถูกนำตัวไป สน.ประชาชื่น อีก 1 คน คือความผิดเกี่ยวกับ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์
ยกปัญหา 5 ข้อที่ม.112 ไม่ควรได้ไปต่อ…
112 กลายเป็นข้อหาหลักในการจัดการผู้ชุมนุมที่ทลายเพดานการพูดถึงสถาบันพระมหากษัตริย์แบบตรงไปตรงมา ตั้งคำถามถึงการจัดสรรงบประมาณแผ่นดินระหว่างสถาบันฯ – กองทัพ และสวัสดิการประชาชน รวมถึงบทบาทใต้รัฐธรรมนูญเดียวกัน ในขณะเดียวกันมาตรา 112 ก็ถูกพูดถึงกว้างขวางกว่าเดิมว่าเป็นกฎหมายที่ขัดหลักประชาธิปไตยและลิดรอนสิทธิมนุษยชนจึงมีการขอเสนอแก้หรือยกเลิกมาเป็นระยะ ๆ
ทนายเมย์อธิบาย ปัญหาของ ม.112 ไว้ 5 ข้อ ได้แก่
1.ตัวบทของกฎหมาย แม้ความผิดจะเป็นความผิด “หมิ่นประมาท” เป็นความผิดส่วนตัว แต่การหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ถือเป็นความผิดอาญาแผ่นดิน “ใครจะกล่าวโทษก็ได้” เราจะเห็นกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมกล่าวโทษ มีองค์กรที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อจับตาเรื่องนี้เฉพาะ ทั้งที่บางทีคนที่ถูกวิจารณ์หรือโดนพาดพิงอาจไม่ได้รู้สึกอะไรด้วยซ้ำ
2.การถูกนำมาใช้อย่างกว้างขวางกว่าตัวบท ม.112 คุ้มครองถึง พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ แต่ในการพิจารณาคดีมีการขยายความออกไปกว้างกว่านั้น เช่น ในยุค คสช. มีคดีหมิ่นสุนัข คดีธนกร คดีนพฤทธิ์ที่กำแพงเพชร หรือการตั้งข้อหากับผู้ที่พูดถึงรัชกาลที่ 4 การที่ศาลตีความการคุ้มครองย้อนไปในอดีตทนายเมย์มองว่า มันรุนแรงมาก “แสดงว่าเราไม่สามารถร่ำเรียนเขียนอ่านประวัติศาสตร์ได้ หรือวิพากษ์วิจาณ์ได้เลย อันนี้เป็นเคสที่โด่งดังมากสำหรับการตีความของศาล”
3.ม.112 คือเผือกร้อน เมื่อใดที่มีคนในกระบวนการยุติธรรมรับเรื่องนี้ไปจะเข้าข่าย “ทำให้ผ่านไป ถือไว้มันจะร้อน” เริ่มจากชั้นตำรวจ ก็เขากล่าวหามา ผมก็ต้องดำเนินคดี อัยการมีหน้าที่กลั่นกรองและว่าความให้รัฐ และในกรณี 112 อัยการแทบจะเป็น “บุรุษไปรษณีย์” ที่ส่งต่อคดีจากตำรวจไปชั้นศาล แน่นอน มีน้อยมากที่อัยการจะกรองคดีแล้วไม่สั่งฟ้อง หรือเมื่อไปถึงชั้นศาลแล้วศาลจะตัดสิน
4.ม.112 ไม่มีเหตุยกเว้นความรับผิด-เว้นโทษ ไม่เหมือนหมิ่นประมาทบุคคลทั่วไป ถ้ากรณีเป็นประโยชน์สาธารณะ เราไม่ต้องรับผิด สิ่งนี้ทำให้เรื่องสถาบันฯ ถูกพูดได้อย่างจำกัด ไม่สามารถวิพากษ์ได้ ทนายเมย์ยกตัวอย่างกรณีการฟ้องนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ที่พูดถึงบริษัทการผลิตวัคซีนโควิดว่ารัฐบาลมีตัวเลือกไหม ล่าช้าไหม มันธรรมดามาก เพราะมันเป็นผลประโยชน์ของคนทั้งชาติ ใครไม่ได้รับผลกระทบจากโควิดบ้าง ทั้งที่หากบริษัทที่ธนาธรพูดถึงเป็นเอกชนรายหนึ่ง เขาอาจโดนฟ้องหมิ่นประมาทได้ แต่ไม่ใช่ 112 ?
5.สัดส่วนโทษ 112 สูงเกิน โทษขั้นต่ำของคดีคือ 3 ปี สูงสุด 15 ปี ต่อให้ศาลดูเห็นใจมาก ๆ ก็ต้องเริ่มลงโทษ 3 ปีแล้ว ปกติการวิพากษ์วิจารณ์ธรรมดาไม่ถือเป็นโทษทางอาญาด้วยซ้ำ แต่เป็นโทษทางแพ่ง การมีโทษสูงถึง 15 ปี จะต้องมาพิจารณาว่ามันได้สัดส่วนโทษจริง ๆ หรือไม่
แนวทางสู้คดี 112 กับคณิตศาสตร์ “ความกลัว”
เมื่อไร้สิทธิประกันตัว ต้องคำนวณวันติดคุก หรือจะรับสารภาพ
เมื่อถูกตั้งข้อหา 112 แล้ว การต่อสู้คดีไม่ง่ายเลย เพราะด้วยตัวกฎหมาย และความเป็นเผือกร้อนที่ไม่มีใครอยากถือ ทำให้ผู้ต้องหาถูกบีบให้เลือก เมื่อไม่ได้สิทธิประกันตัวระหว่างการพิจารณาคดี ทนายจะวางแผนและช่วยคำนวณวัน-เวลาในการต่อสู้คดีว่าจะสู้ในเรือนจำไปเรื่อย ๆ ดีไหม หรือจะรับสารภาพแล้วยอมรับโทษที่อาจถูกลดลงดี เพราะนั่นอาจเร็วกว่าการสู้คดีจนถึงที่สุดซึ่งอาจจะยกฟ้อง หรือไม่ชนะ
ทนายเมย์เล่าถึง “ยี่ต็อก” แนวปฏิบัติภายในของกระบวนการยุติธรรม ซึ่งคดี 112 มีกรรมละ 5 ปี ถ้ารับสารภาพจะลดลง 2 ปีครึ่ง ซึ่งเป็นแนวที่เห็นส่วนใหญ่ แต่ถ้าเป็นศาลทหารคือลงกรรมละ 10 ปี
“เวลาจะสู้คดีเราต้องประเมินให้ลูกความฟังให้ว่า มันมีประเด็นอะไรที่จะต่อสู้ได้บ้าง 1 2 3 กรณีที่ดีและเลวร้ายที่สุดคืออะไร บางคนเลือกรับสารภาพเพราะเวลายาวนานหรือสู้ไปก็ไม่ชนะ ตั้งแต่เคสแบงค์ เจ้าสาวหมาป่า เคสไผ่ BBC ก็รับสารภาพ คือคนมันนับวันออก รีบรับเพื่อให้อยู่สั้นที่สุดดีกว่า ถ้าไม่รับการต่อสู้ไม่ถึง 10 ปีหรอก แต่มีคดีที่เป็นสิบปีไหม ก็มี ”
ทนายเมย์ยกตัวอย่างเคสหนึ่งที่โพสต์ข้อความเชิงธรรมะ แต่ข้อความนั้นถูกตีความว่า สั่นคลอนความมั่นคง ศาลให้ประกันตัวระหว่างพิจารณาคดีในศาลชั้นต้น เมื่อถูกพิพากษาแล้ว เขาไม่ได้รับการประกันตัวในระหว่างที่ยื่นอุทธรณ์ ต่อมาถูกยกฟ้องคดี 112 แล้วโดนข้อหา 116 แทน เขาก็ฎีกาต่อ แต่สุดท้ายเขาถอนฟ้อง เพราะว่าเขาไม่รู้เลยว่าผลพิพากษานั้นจะมาถึงเมื่อไหร่
“การต่อสู้คดีที่มันจะไม่สามารถต่อสู้ได้ในเรือนจำ อ่านเอกสาร ค้นหาพยาน ดูหลักฐานที่อัยการส่งมา แค่จะมานั่งอ่านคำฟ้องเงียบ ๆ ก็ไม่ได้ นี่คือปัญหา วันนี้แม้แต่ทนาย บรรยากาศการพิจารณาคดีก็เป็นไปได้อย่างอึดอัด ราชทัณฑ์จะนั่งประกบตัวผู้ต้องหาทุกคน ทนายพูดแต่ละทีราชทัณฑ์จะสิงเข้ามาที่ตัวผู้ต้องหา หรือเอาเอกสารให้เซ็นก็มาตรวจว่าให้เซ็นอะไร เราจะอยู่ในกระบวนการยุติธรรมแบบนี้ไม่ได้ คือมันสร้างความหวาดกลัวให้กับสังคมได้จริงในกรณีที่ไม่ได้รับสิทธิประกันตัว”
ทำไมสิทธิประกันตัวจึงสำคัญ เพราะ”เหยื่อ” อาจเป็น “คุณ”
หลักการการสันนิษฐานไว้ก่อนว่า ผู้ที่ถูกตั้งข้อหาเป็นผู้บริสุทธิ์ เป็นกระบวนการเพื่อรองรับหลักการให้ “ผู้ต้องหาได้ต่อสู้” รวมไปถึงได้สิทธิการประกันตัว การไม่ให้ประกันตัวมีสาเหตุหลายอย่าง เช่น จะหลบหนี หลักประกันไม่น่าเชื่อถือ อาจทำให้หลักฐานยุ่งเหยิง หรือเป็นอุปสรรคต่อการสอบสวน ในการทำคดีทนายจำเป็นต้องปรับข้อเท็จจริงกับกฎหมายตลอดเวลา ทนายเมย์บอกว่าคดีของแกนนำคณะราษฎรกลุ่มนี้สามารถเรียกได้ว่าพวกเขาเป็นนักโทษทางความคิด ชัดเจนมากในเรื่อง “ไม่หลบหนี” เพราะแต่ละคนมีหลายคดีหลายข้อหา และพร้อมเข้าสู่กระบวนยุติธรรม ส่วนเรื่องการทำผิดซ้ำนั้น หากใช้เหตุผลนี้เท่ากับว่า “ตัดสินไปแล้วว่าเขามีความผิดจริง”
การไม่ได้สิทธิประกันตัวเหมือนจุดตั้งต้นที่ “พราก” หลาย ๆ อย่างของผู้ต้องหาไป ตั้งแต่เวลา โอกาส สภาพจิตใจที่จะเกิดขึ้นกับคนนั้น ๆ รวมถึงความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมด้วย ทนายเมย์ยกตัวอย่างการแถลงของคุณสมยศก่อนการขอโทษประหารชีวิต
“คุณสมยศบอกว่า ต่อให้ยกฟ้องมันก็ไม่ได้เยียวยาเพราะเขาติดคุกไปแล้ว หรือไม่ยกฟ้อง เขาก็ติดคุกอยู่ดี จึงบอกศาลถึงขั้นขอประหารชีวิตเถอะ มันไม่ได้เป็นประโยชน์อะไร กลายเป็นว่าคนที่เข้าสู่กระบวนยุติธรรมกลับไม่มั่นใจว่าจะได้รับความยุติธรรม”
“หลายคนบอกว่า ถ้าบริสุทธิ์จริงก็สู้ไปสิ ถ้าไม่ผิดติดคุกไปก็มีเงินชดเชย?”
“ให้ 500 ไปติดคุก 1 วัน เอาไหม เรามองว่าคนที่พูดว่าก็สู้ไปเหอะ เป็นความมักง่าย เป็นการผลักภาระไปที่ตัวเขา มันเป็นการเสียเวลา เสียโอกาสที่คน ๆ นึงจะเป็นกลไกในการพัฒนาสังคม เสียทรัพยากรของรัฐ ตำรวจ อัยการ ศาล เรือนจำ คุณภาพมันแย่หมดเลย แล้วสุดท้ายยกฟ้อง มันเพื่ออะไร ? ขณะที่คน ๆ นึงบ้านแตกสาแหรกขาด ลูกทาง พ่อทาง มีคนที่พ่อตายระหว่างติดคุกอย่างเคสธเนศ โดนคดี 116 ออกมาพ่อตายไปแล้ว
มันไม่ใช่ว่าเป็นเรื่องของเขานะเพราะเราอาจเป็นเหยื่อก็ได้ เราไม่รู้หรอกว่ามันจะเกิดขึ้นกับเราไหม ถ้าคุณยอมรับก็แปลว่า คุณยอมรับมาตรฐานแบบนั้นเมื่อคุณถูกดำเนินคดี”
สถานะจาก “ผู้ต้องหา” เป็น “ผู้ลี้ภัยทางการเมือง” เพราะไม่ให้สิทธิประกันตัว
การไร้สิทธิในการต่อสู้ เมื่อไม่มีสิทธิประกันตัวแล้ว ทนายเมย์ตั้งข้อสังเกตว่า ผู้ต้องหาคดี 112 เสี่ยงต่อการเปลี่ยนสถานะตัวเองเป็น “ผู้ลี้ภัยทางการเมือง” เพราะต้องไม่ลืมว่าคนที่ยังไม่ถูกสั่งฟ้องเหลืออีกเกือบ 70 คน (เช่น อั๋ว จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์ / มายด์-ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล, บอล-ชนินทร์ วงษ์ศรี, บิ๊ก-เกียรติชัย ตั้งภรพรรณ และฟอร์ด-ทัดเทพ เรืองประไพกิจเสรี) พวกเขาต้องไปรายงานตัวและรอฟังว่าอัยการจะสั่งฟ้องหรือไม่ ซึ่งแน่นอนว่าการที่ศาลไม่ให้สิทธิประกันตัวแกนนำที่ถูกฟ้องก่อนหน้านี้ อาจเป็นแนวโน้มที่ทำให้เห็นว่าผู้ที่ถูกตั้งข้อหา 112 นั้นก็อาจไม่ได้รับการประกันตัวเช่นกัน
“มันเป็นความไม่มั่นคงต่อกระบวนการนี้ ผู้ต้องหาคดีทางการเมืองจะต้องหวั่นไหวมากเลยว่าจะถูกขังไหม จะถูกอะไรหรือเปล่า อันนี้ทำให้คนอาจจะไม่กล้าหรือเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม แล้วที่น่ากังวลคือจะมีผู้ลี้ภัยเพิ่มมากขึ้นก็ได้ เขาจะเสี่ยงหรือเปล่าก็ไม่รู้ แต่ถ้าลี้ภัยไปประเทศเพื่อนบ้านก็เสี่ยง หลังรัฐประหาร 2557 ผู้ลี้ภัยทางการเมือง ที่ศูนย์ฯ ดูแลอยู่มีอย่างน้อย 104 คนหรืออาจมากกว่านั้น มี 9 คนถูกอุ้มหาย ซึ่งเกี่ยวข้องกับการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันฯ และ 2 ใน 9 ถูกพบเป็นศพริมแม่น้ำโขง นี่คือชะตากรรมของการตามหาความจริงและความยุติธรรม”
ทนายเลี่ยงทำคดี 112
นายประกันถูกเหมารวม
จำนวนผู้ต้องคดี 112 และคดีทางการเมืองเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ มีความจำเป็นที่ผู้ต้องหาแต่ละคนต้องมีทนายเข้าช่วยเหลือ ช่วงหนึ่งมีประกาศทางออนไลน์ระดมทนายอาสา แม้วันนี้จะมีคนอาสาเพิ่มขึ้น แต่คดี 112 ค่อนข้างเป็นข้อจำกัดของผู้ที่ต้องการเติบในเส้นทางของการเป็นอัยการและผู้พิพากษาอย่างปฏิเสธไม่ได้
“ศูนย์ทนายฯ มีทนายตรงกลางส่วนหนึ่ง และใช้ร่วมกันคือระบบทนายเครือข่ายมารับทราบข้อกล่าวหาแต่ละครั้ง จะบอกว่า มันมีข้อจำกัดไหม ก็มีบ้างสำหรับบางคนที่ต้องการสอบผู้พิพากษา สอบอัยการเขาก็จะระมัดระวังตัวในการที่จะเข้ามาร่วมทำคดี 112 เพราะไม่มั่นใจเขาจะได้รับผลกระทบหรือเปล่าถ้าเขาไปสอบ นี่ก็เป็นปัญหา ตายแล้ว…นี่หรือกระบวนการยุติธรรม”
ทนายเมย์บอกว่า ต้องทำความเข้าใจว่า ทนายไม่ใช่ตัวความ ถ้าทนายทำคดีข่มขืน คดีฆาตกรรม ไม่ได้หมายความว่าเราเป็นคนข่มขืนหรือฆาตกร หลักของมันคือเราทุกคนควรได้รับสิทธิการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม
“ไม่ใช่แค่ทนาย กลุ่มนายประกันด้วย อย่างเคสคุณอมรรัตน์เป็น ส.ส.มาประกันตัว ถูกตีความว่าเป็นพวกเดียวกันนั้น ใช่ไหม เป็นส.ส.ล้มเจ้าหรือเปล่า ถ้าบอกว่านายประกันเป็นพวกเดียวกัน เป็นคนทำผิดเหมือนกัน มันไม่ได้ไง ต่อไปคนเป็นนายประกัน ญาติพี่น้องมาประกันไม่ได้ กระบวนการยุติธรรมจะล้มเหลวหมดเลย”
กระบวนยุติธรรมคือที่พึ่งสุดท้ายของประชาชน
ไม่ว่าใครจะพอใจแบบไหน
กฎหมายต้องมั่นคงไม่ผันผวน กระบวนการยุติธรรมต้องเป็นที่พึ่งให้ได้ แต่วันนี้การบังคับใช้ ม.112 ผันผวนมากที่สุดก็ว่าได้ ทั้งที่การใช้กฎหมายไม่ควรขึ้นอยู่กับว่า “คุณจะพอใจแบบไหน”
“ถ้าบังคับใช้กฎหมายวันหนึ่งแบบหนึ่ง อีกวันแบบหนึ่ง คนจะใช้ชีวิตในสังคมจะมีความมั่นคงอย่างไร ในช่วงคสช. 112 ใช้อย่างรุนแรง อยู่ ๆ ช่วง 2-3 ปีก็ไม่ใช้ พอผ่านมาอีกยุคหนึ่งก็ถูกใช้อย่างรุนแรง ในช่วง 7 ปี มันมีความผันผวนของการบังคับใช้สูงมาก ทั้งที่ตัวบทเหมือนเดิมไม่ได้แก้ไขเลย”
นักกฎหมาย นักวิชาการด้านนี้ เสนอว่า ม.112 ควรถูกเอาออกจากหมวดความมั่นคง และไม่ใช่กฎหมายอาญา ขณะที่ผู้คนในแวดวงยุติธรรมต้องมี “กบฎในระบบ” บ้าง
“แย่นะที่ถูกเรียกว่ากบฎ แต่ก็คือคนที่ยืนยันในหลักการ ไม่ยอมรับอำนาจที่ไม่ชอบธรรม เราไม่ลื่นไหลไปตามระบบอำนาจนิยม และยืนยัน ยึดหลักวิชาชีพของเขา เคารพความเป็นธรรม ถ้าสังคมมันยืนอยู่ได้มันต้องมีคนที่พิทักษ์ความยุติธรรม แต่ถามว่ากระบวนการยุติธรรมจะเปลี่ยน คน ๆ หนึ่งจะเข้มแข็ง ลุกขึ้นมาต่อสู้ได้หรือเปล่า ก็ไม่ สังคมมันต้องมีความเข้าใจและเปลี่ยนด้วยกัน อย่าง “ผู้พิพากษาคณากร” นั่นคือเสียงที่เปล่งออกมาว่า เสียงของผู้พิพากษาเบาดุจขนนก และเสียงปืน 2 ครั้งที่ดังออกมามันดังมาก แต่มันไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นเลย”
ทนายเมย์อธิบายในภาพรวมว่า ถ้าตำรวจ ศาล อัยการ ยึดหลักกฎหมาย คดีที่ถูกดำเนินส่วนหนึ่งจะหลุดออกไป เช่น คำพูด 3 คำ หรือแต่งกายชุดไทย หรือเสื้อท็อปครอป
“แน่นอนว่าบางคดีมันเข้าข่ายจริง ๆ แต่มันคือการยืนยันข้อเท็จจริง ซึ่ง112 ไม่ได้ยืนยันเรื่องจริง-ไม่จริง หรือเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะหรือไม่เป็น กลายเป็นว่า พูดไม่ได้ติดล็อกที่ตัวบท ถ้าจะแก้คือยกเลิกมาตรา 112 ถึงจะหลุด ให้มันมีข้อจำกัดน้อยลง อย่างน้อยข้อเรียกร้องในการยกเลิก 112 ไม่ได้แปลว่าสถาบันฯ จะไม่ได้รับการปกป้อง สถาบันฯ ยังได้รับความคุ้มครอง ไม่มีหรอกที่คน ๆ หนึ่งที่จะไม่ได้รับความคุ้มครองภายใต้ระบบกฎหมาย”
สุดท้ายต้องไม่ลืมว่าทั้งหมดคือ “การนำทรัพยากรของรัฐ” จำนวนมากไปใช้เพื่อดำเนินคดีกับคนที่หวังจะให้สังคมดีขึ้น
“สิ่งที่รุ้งพูดแถลงการณ์ ‘หนูผิดอะไรที่หวังดีต่อประเทศชาติ’ จับคนไปขังเพราะคิดต่างพูดต่าง มันเจ็บปวด สังคมมันจะพัฒนาได้ไหม คนคิดต่างพูดต่างก็ถูกจับไป นี่คือเรื่องระยะยาว ขณะที่วันก่อนที่ ม.จ.จุลเจิม ยุคล พูดถึงการตัดต้นไม้นิดเดียวไม่เป็นไร นี่ไม่ใช่แค่ต้นไม้ นี่ไม่ใช่แค่คน 500 คน ไม่ใช่แค่ 1,000 คน แต่นี่คือเอาความเชื่อถือของกระบวนการยุติธรรมมาเดิมพันกับเรื่องนี้ นี่คือเรื่องของทุกคน”