พิพากษาคนหนุ่มสาว - Decode
Reading Time: 2 minutes

ในความเคลื่อนไหว

รศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ

ช่วงนี้มีหนังใน Netflix ที่ได้รับการพูดถึงอย่างมากเรื่องหนึ่งคือ The Trial of the Chicago 7 ล่าสุดได้รับรางวัลบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยมในงานลูกโลกทองคำ และยังได้เช้าชิงภาพยนตร์ยอดเยี่ยมรางวัลออสการ์ประจำปีนี้ด้วย หนังเรื่องนี้สร้างขึ้นโดยอิงจากเหตุการณ์ประวัติศาสตร์จริงที่เกิดขึ้นที่สหรัฐฯ ในปี ค.ศ.1968 ที่มีนักศึกษาและนักกิจกรรมจำนวนหนึ่งวางแผนจัดชุมนุมประท้วง ณ ที่ประชุมใหญ่ของพรรคเดโมแครต ซึ่งการชุมนุมนี้บานปลายกลายเป็นการจลาจล เนื่องด้วยตำรวจใช้กำลังเข้าปราบปรามจับกุมแกนนำผู้จัดชุมนุมและสลายการชุมนุมด้วยความรุนแรง

หนังดำเนินเรื่องโดยโฟกัสไปที่การพิจารณาคดีในศาลหลังจากแกนนำ 7 คนถูกอัยการส่งฟ้องข้อหาก่อการจลาจลสร้างความวุ่นวายในสังคม ความเข้มข้นของหนัง จึงไม่ได้อยู่ที่ฉากการประท้วงบนท้องถนน แต่อยู่ที่การต่อสู้คดีในศาล เมื่อผู้ต้องหาเผชิญหน้ากับอคติของผู้พิพากษา และความพยายามของรัฐที่จ้องใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือควบคุมประชาชน

เป็นหนังที่ดูสนุกและได้ข้อคิด แน่นอนว่าผู้กำกับและคนเขียนบทได้แต่งแต้มสีสันให้กับเรื่องราวและตัวละครเพื่ออรรถรสของความเป็นหนังภาพยนตร์ที่ไม่ใช่สารคดีบันทึกข้อเท็จจริง แม้เหตุการณ์ในเรื่องจะผ่านไปกว่าครึ่งศตวรรษแล้ว แต่ดูจบแล้วก็อดสะท้อนถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นในสังคมไทยของเราเองทั้งในอดีตและปัจจุบันไม่ได้

ฉากหลังของเรื่อง The Trial of the Chicago 7 ก็คือยุคสมัย 1960s หรือที่รู้จักกันในนาม “ยุคสมัยบุปผาชน” ซึ่งเป็นยุคของการตื่นตัวของคนหนุ่มสาวทั่วโลกจากซีกโลกตะวันออกถึงตะวันตก จากปารีส นิวยอร์ก ถึงโตเกียว และกรุงเทพฯ ในยุคนี้เองที่วัฒนธรรมขบถเบ่งบาน พร้อมกับดนตรี ศิลปะแขนงต่าง ๆ ที่ตั้งคำถามถึงความหมายของชีวิตและระเบียบทางสังคม จิตสำนึกของคนหนุ่มสาวในยุคนั้นคือจิตสำนึกขบถที่มุ่งตั้งคำถามกับระเบียบประเพณี โครงสร้างทางสังคม และแบบแผนทางเศรษฐกิจที่ดูแล้วเอื้ออำนวยให้ประโยชน์กับคนส่วนน้อยมากกว่าคนส่วนใหญ่ คนหนุ่มสาวจึงลุกขึ้นและก้าวเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมือง และพยายามขับเคลื่อนสังคมให้หมุนไปข้างหน้าตามที่พวกเขาใฝ่ฝัน เกิดเป็นขบวนการต่อต้านสงครามเวียดนาม ขบวนการสิทธิพลเมืองที่เรียกร้องความเสมอภาคของคนผิวดำ ขบวนการเรียกร้องสิทธิสตรี ขบวนการสิ่งแวดล้อม และการเคลื่อนไหวอื่นๆ อีกมากมาย การต่อสู้ของคนรุ่นนั้นสร้างมรดกที่ก้าวหน้าหลายอย่างให้สังคมและคนรุ่นหลัง โดยเฉพาะการตระหนักถึงสิทธิมนุษยชนและคุณค่าของเสรีภาพ  

ในเมืองไทย คนหนุ่มสาวก็ตื่นตัวไม่แพ้ที่อื่นในโลก คลื่นของเสรีภาพและวัฒนธรรมเสรีชนพัดพาข้ามพรมแดน จากดินแดนอื่น ๆ มาถึงประเทศไทย โดยผ่านกลุ่มนักเรียนไทยจำนวนหนึ่งที่ศึกษาเล่าเรียนอยู่ต่างประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มที่ศึกษาอยู่ในสหรัฐฯ ที่ย่อมได้รับแรงบันดาลใจมาจากบรรยากาศแวดล้อมรอบตัวที่รั้วมหาวิทยาลัยที่พวกเขาร่ำเรียนอยู่เต็มไปด้วยความคึกคักและพลังอุดมคติในการเปลี่ยนแปลงสังคมของคนหนุ่มสาว มีกลุ่มหนึ่งถึงขั้นรวมตัวกันและผลัดกันเขียนจดหมายจากเมืองที่พวกเขาเรียนอยู่ส่งมาตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ ประชาธิปไตย ในชื่อคอลัมน์ “คิดถึงเมืองไทย”

ในคอลัมน์เปิดตัวชิ้นแรก ๆ (ในปีพ.ศ. 2511 ปีเดียวกับเหตุการณ์ในหนัง The Trial of the Chicago 7) พวกเขาบอกเล่ากับผู้อ่านว่า “บางทีการมองดูตนเองด้วยสายตาหรือจากทัศนะของผู้อื่น อาจจะทำให้เรารู้จักตนเองดีขึ้นกระมัง”[1] นอกจากนี้พวกเขายังเชื่อว่า “อำนาจและความคิดนั้นมิใช่ของที่บุคคลใดและกลุ่มใดจะจับจองเป็นสิทธิขาดไว้แต่ผู้เดียว… การปิดปากคน (ที่ท่านอ้างว่า) โง่ ไม่รักชาติหรือไม่เข้าใจปัญหาของชาติในวันนี้ ก็ไม่ต่างอะไรกับการปัดโอกาสไม่ให้คนฉลาด หรือผู้รักชาติอ้าปากหรือแม้แต่ผุดเกิดขึ้นมาได้ในวันข้างหน้า”[2]

เนื้อหาในคอลัมน์ “คิดถึงเมืองไทย” จำนวนมากเป็นการบอกเล่ากิจกรรมต่อต้านสงครามเวียดนามของนักศึกษาในสหรัฐฯ และยุโรป การประท้วงกฎระเบียบและหลักสูตรของผู้บริหารมหาวิทยาลัย รวมทั้งการเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิของคนกลุ่มต่าง ๆ ผ่านรูปแบบการประท้วงตั้งแต่การนั่งและนอนชุมนุมอย่างสันติ (sit in และ sleep in) การเดินขบวน การบุกเข้ายึดมหาวิทยาลัย ฯลฯ ในจดหมายฉบับหนึ่ง ผู้เขียนสะท้อนความรู้สึกนึกคิดถึงสถานการณ์ในเมืองไทย (ขณะนั้นคือยุครัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร) ไว้อย่างน่าสนใจว่า

ผมหวังว่านักศึกษาของเราจะแสดงความคิดเห็นต่าง ๆ มากขึ้น จะโดยการประท้วงหรือโดยทางอื่นก็ตามที่ทำโดยสันติ คุณคงเห็นด้วยกับผู้มีสายตายาวในโลกตะวันตกหลายคนที่กล่าวว่า การประท้วงของนักศึกษาในเรื่องต่าง ๆ เป็นสัญลักษณ์ที่ดี เพราะคนเหล่านั้นก็คือคนที่จะมีบทบาทสำคัญในสังคมอนาคตนั่นเอง ถึงแม้ว่าบางครั้งเรื่องราวจะรุนแรงจนเป็นที่น่าวิตกสำหรับสังคมปัจจุบัน แต่สิ่งที่ควรจะวิตกมากกว่าก็คือ ถ้านักศึกษาจะไม่คัดค้านสิ่งต่าง ๆ ในสังคมนี้เอาเสียเลย [3]

มองย้อนกลับไปในยุค 1960 ซึ่งตรงกับช่วงก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ ของไทย เราจะเห็นความเชื่อมต่อถึงกันระหว่างการเคลื่อนไหวของคนหนุ่มสาวในต่างประเทศกับคนหนุ่มสาวของไทยอย่างน่าสนใจ ตั้งแต่ก่อนที่จะมี “พันธมิตรชานม” (Milk Tea Alliance) ของคนหนุ่มสาวฮ่องกง-ไต้หวัน-ไทย เราก็เคยผ่านยุคที่มี “พันธมิตรเสรีชน” ในยุคที่โลกยังไม่มีอินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดีย คนหนุ่มสาวเชื่อมโยงและส่งต่อแรงบันดาลใจถึงกันผ่านหนังสือ นิตยสาร วารสาร และจดหมาย มีการแปลผลงานข้ามภาษาเพื่อเรียนรู้ซึ่งกันและกัน เอกสารทางความคิดที่สำคัญบางชิ้นของนักศึกษาปัญญาชนในอเมริกาได้ถูกถ่ายทอดเป็นภาษาไทย ทำให้หนุ่มสาวไทยได้มีโอกาสสัมผัสความคิดใหม่ ชิ้นหนึ่งที่สำคัญคือ “คำประกาศที่ปอร์ต ฮูรอน” (The Port Huron Statement) ซึ่งกลุ่มนักศึกษาปัญญาชน “ซ้ายใหม่” (New Left) ร่วมกันร่างขึ้น และต่อมาได้ถูกถือเป็นหลักความคิดและแนวปฏิบัติของกลุ่มนักศึกษาเพื่อสังคมประชาธิปไตยในสหรัฐฯ (Students for a Democratic Society- SDS) กลุ่มนี้นับว่าเป็นแกนนำนักศึกษาของสหรัฐฯ ในสมัยนั้น มีบทบาทนำการเคลื่อนไหวค่อนข้างมาก [4]

ถ้าใครดูหนังเรื่อง The Trial of Chicago 7 คนที่มีบทบาทเป็นผู้นำทางความคิดของกลุ่มและมีทีท่าแบบสุขุมนุ่มลึกอยู่ตลอด ก็คือคนที่ชื่อ Tom Hayden (แสดงโดย Eddie Redmayne พระเอกขวัญใจของหลายคน) ซึ่งเป็นผู้ร่างคำประกาศฯ สำคัญชิ้นนี้ เนื้อหาของคำประกาศ คัดค้านระบบเศรษฐกิจสังคมที่ลดทอนสถานะของมนุษย์ลงมาเป็นเพียงวัตถุสิ่งของหรือเครื่องจักรในการทำงาน วิจารณ์ความเฉยชาของคนในสังคม โดยเฉพาะนักวิชาการและนักบริหารที่ใช้ความชำนาญของตนไม่ใช่เพื่อผลประโยชน์สาธารณะ แต่เพื่อรับใช้ผลประโยชน์ของนักลงทุนและนายทหารโดยปิดปากเงียบต่อปัญหาส่วนรวมและความไม่เป็นธรรมในสังคม และยังกล่าวถึงโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ในขณะที่หลักสูตรการศึกษาที่ล้าหลังมิได้เปลี่ยนแปลงตามให้ทันโลก คำประกาศถึงคนหนุ่มสาวนี้ถามคำถามตรงไปยังคนรุ่นใหม่ทั้งหลายว่า “ปัญหาที่เรายกขึ้นมาถามก็คืออะไรเล่าที่เป็นความสำคัญแท้จริง เราสามารถที่จะมีชีวิตที่แตกต่าง และดีกว่าได้หรือไม่” (คำประกาศนี้แปลโดยสุชาติ สวัสดิ์ศรี ปัญญาชนไทยคนสำคัญในยุคก่อน 14 ตุลาฯ)

จากคำถามที่เรียบง่ายว่า เราจะสามารถมีชีวิตที่แตกต่างและดีกว่านี้ได้หรือไม่ นำไปสู่การเดินทางแสวงหาคำตอบ ที่เรียกว่า “ยุคสมัยแห่งการแสวงหา” การเคลื่อนไหวทางวัฒนธรรม การเมือง และทางปัญญาของคนหนุ่มสาวในประเทศต่าง ๆ ถูกนำมาเล่าขาน วิเคราะห์ และถ่ายทอดอย่างละเอียดลออ จนกล่าวได้ว่า แม้มีความห่างไกลในทางกายภาพ แต่ในทศวรรษ 1960 นักศึกษาปัญญาชนไทยได้เชื่อมตัวเองเข้ากับการเคลื่อนไหวของคนหนุ่มสาวทั่วโลกทั้งในทางความคิดและจินตนาการ

แต่เมื่อคนหนุ่มสาวตื่นตัว รัฐกลับตื่นตระหนก แทนที่จะพยายามเข้าใจความคิดและความฝันของพลเมืองวัยหนุ่มสาวของตนเอง รัฐไทย (รวมถึงรัฐประเทศอื่นๆ ในยุคสมัยเดียวกัน) กลับมุ่งที่จะปิดกั้นและปราบปราม แทนที่จะชื่นชมกลับหวาดกลัว แทนที่จะสร้างพื้นที่ในการพูดคุยกลับปิดพื้นที่และมุ่งพิพากษาลงทัณฑ์ เมื่อเป็นเช่นนั้น การปะทะขัดแย้งระหว่างผู้มีอำนาจกับนักศึกษาในการมองปรากฏการณ์เดียวกัน แต่ให้คุณค่าความหมายไปคนละอย่างจึงเกิดขึ้นชัดเจน ขณะที่บรรดานักศึกษาต้องการเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้นสำหรับพวกเขาและคนส่วนใหญ่ของสังคม ฝ่ายผู้นำรัฐกลับมองการเคลื่อนไหวดังกล่าวด้วยความหวาดระแวง ตื่นตระหนก และดูถูกดูแคลน

ดังที่ปัญญาชนคนหนุ่มรายหนึ่งสะท้อนความอึดอัดต่อความคิดคับแคบของผู้ใหญ่และผู้มีอำนาจในสังคมที่มองคนหนุ่มสาวด้วยทัศนคติในทางลบว่า “ที่ถือว่าการรักชาติแบบตนเท่านั้นเป็นดีที่สุด การเสนอวิธีทำให้ชาติเจริญแบบตนถูกต้องที่สุด บุคคลเหล่านี้บางคนถือว่า…ตัวเองมีเจตนาบริสุทธิ์ ถ้าใครอื่นที่มีความคิดผิดแผกไป ก็ต้องเป็นคนที่จะทำให้ชาติล่มจม คือถือว่าการรักชาติเป็นสิทธิของตนเองแต่ผู้เดียว”[5]

เมื่อผู้มีอำนาจผูกขาดและแอบอ้างว่าการรักชาติแบบตนเท่านั้นคือการรักชาติที่ถูกต้องชอบธรรมที่สุด จึงคิดไปว่าตนเองมีอำนาจในการพิพากษาลงทัณฑ์ประชาชนและเยาวชนที่คิดต่างไปจากรัฐและผู้มีอำนาจ ภายใต้สภาวะเช่นนี้ การบังคับใช้กฎหมาย การดำเนินคดี และคำพิพากษาจึงสะท้อนช่องว่างของความไม่เข้าใจและความแตกแยกในสังคม และกระบวนการยุติธรรมกลายเป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรมการลงทัณฑ์เพื่อกำราบความเห็นต่างและวัฒนธรรมการตั้งคำถามของคนหนุ่มสาว ในนามของ “ชาติ” และความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง” ที่ผู้มีอำนาจเป็นคนนิยาม

ดูหนังแล้วย้อนมาดูสังคม ย้อนกลับไปมองอดีตเมื่อ 50 ปีก่อนแล้วหันมามองปัจจุบัน ก็จะเห็นว่าประวัติศาสตร์กลับมาซ้ำรอยอีกครั้ง

อ้างอิง:
[1]ประชาธิปไตย, (8 พฤศจิกายน 2511) อ้างจาก คิดถึงเมืองไทย เล่ม 1, ไม่ปรากฏเลขหน้า.
[2.]เรื่องเดียวกัน.
[3.]จดหมายของยงยุทธ  ยุทธวงศ์ ใน คิดถึงเมืองไทย เล่ม 1 (พระนคร: ประพันธ์สาส์น, 2513), น. 120-121.
[4.]นักประวัติศาสตร์อเมริกาสมัยใหม่บางคนถือว่า “คำประกาศที่ปอร์ต ฮูรอน” เป็นเอกสารสำคัญที่สุดชิ้นหนึ่งในประวัติศาสตร์อเมริกายุคหลังสงคราม James Miller, “Democracy is in the Streets”: From Port Huron to the Siege of Chicago (Cambridge: Harvard University Press, 1994).
[5.]อากร ฮุนตระกูล, “ ‘ซ้ายใหม่’ ในทัศนะของคนหนุ่ม,” สังคมศาสตร์ปริทัศน์ 8:2 (ก.ย.- พ.ย. 2513): 11.