ถึงชนชั้นปกครอง “พวกเราไม่ได้เป็นปีศาจร้าย” ความเจ็บปวดของคนหนุ่มสาวที่กำลังอกหัก เพราะรัก “รัฐสวัสดิการถ้วนหน้า” - Decode
Reading Time: 3 minutes

ประกายไฟลามทุ่ง

รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี
วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

“เสรีภาพที่ปราศจากสังคมนิยมก็เป็นเพียงเรื่องเล่าของชนชั้นอภิสิทธิ์ชน”มิคาอิล บูคานิน

เดือนกุมภาพันธ์ถึงมีนาคมที่ผ่านเป็นอีกเดือนที่เต็มไปด้วยกระแสการต่อสู้ การประกาศการชุมนุมของกลุ่ม REDEM ซึ่งปราศจากแกนนำแบบรูปธรรม เช่นเดียวกับเครือข่ายภาคประชาชนที่ติดตามความคืบหน้าของนโยบายรัฐสวัสดิการไล่มาจนการชุมนุมแต่ละครั้ง ข้อเสนอที่ถูกพูดถึงมากขึ้น ๆ คือเรื่อง “รัฐสวัสดิการถ้วนหน้า”

ปี 2563 เป็นปีที่กระแสรัฐสวัสดิการถูกพูดถึงมากจากแม่สายถึงยะลา จากมหาสารคาม ถึงนครปฐม หลายคนตั้งข้อสังเกตว่ากระแสดังกล่าวจะเลือนหายไปในปี 2564 แต่เป็นที่น่าสนใจมากว่าในช่วงสามเดือนแรกของปีกระแสนี้กลับเพิ่มสูงมากขึ้น และอยู่ในทุกขบวนการ ข้ามช่องว่างระหว่างวัย ข้ามประเด็นเมืองและชนบท ข้ามประเด็นนักวิชาการกับทฤษฎีและประชาชนในพื้นที่ รัฐสวัสดิการกลายเป็นประเด็นที่เชื่อมร้อยผู้คนเข้าไว้ด้วยกันอย่างมาก

แต่แน่นอนที่สุดประเด็นนี้จะกลายเป็นประเด็นที่ชนชั้นนำจับตาสร้างพันธมิตรกับเครือข่ายอำนาจต่าง ๆ เพื่อกีดกันอย่างเต็มที่ไม่ให้ความฝันของประชาชนเกิดขึ้นจริง ในบทความนี้จะพาพบกับบทสนทนาของ ผู้ปฏิบัติงานศูนย์วิจัยเฉพาะทางสหวิทยาการด้านรัฐสวัสดิการและความเป็นธรรมศึกษา วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่ออธิบายปรากฏการณ์สำคัญของการต่อสู้ว่าทำไมครั้งนี้ต้องมากกว่า “เสรีนิยมประชาธิปไตยแต่ไปให้ไกลถึงสังคมนิยมประชาธิปไตย”

ยามารุดดิน ทรงศิริ ผมรู้จักเขาตั้งแต่สมัยเรียนปริญญาตรี “ยามา” มาจากจังหวัดยะลา เขาสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  ทำกิจกรรมทางการเมืองมาตั้งแต่สมัยเรียน ปัจจุบันในวัยย่าง 25 ปี เขาปฏิบัติงานในตำแหน่ง “หัวหน้าฝ่ายสารสนเทศ” ศูนย์วิจัยรัฐสวัสดิการฯ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตลอดเวลาที่ผมสนทนากับเขาสิ่งที่ผมเห็นตลอดเวลาคือ “ความฝัน” และ “ความหวัง” ครั้งหนึ่งเขาเคยปรารภกับผมว่า เขาเห็นคนมีอำนาจทางการเมือง มีการศึกษาสูง มีอภิสิทธิ์ในการพูดและเสนออะไรก็ได้ แต่พวกเขากลับเลือกที่จะบอกว่า “รัฐสวัสดิการเป็นไปไม่ได้” เลือกที่จะบอกว่าต้องใช้เวลา เลือกที่จะบอกให้เรารอคอย จนน่าสงสัยว่าพวกเขาเคยรู้จักความสิ้นหวัง การดิ้นรนแบบที่คนส่วนใหญ่สัมผัสหรือไม่

ภารกิจหลักที่เขาอยากทำให้เกิดขึ้นคือการส่งต่อไม่ใช่แค่ความเชื่อ แต่คือความมุ่งมั่นต่อผู้คนที่ถูกกดขี่ ผู้คนที่ไร้อำนาจว่า “รัฐสวัสดิการเป็นไปได้” ถ้าวันหนึ่งผมต้องกลับยะลา จะไม่ใช่การกลับไปเพื่อสยบยอมต่ออำนาจไม่เป็นธรรมต่าง ๆ อำนาจความเหลื่อมล้ำที่ทำให้เราสิ้นหวัง หรือกลับไปชื่นชมความงามและความหลังของบ้านเกิด แต่ “ไปเพื่อการเปลี่ยนแปลงเท่านั้น ให้เกิดรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าขึ้น ในทุกตารางนิ้วของประเทศ”

ฟรองซ์ณปกรณ์ ภูธรรมะ หนึ่งในสมาชิก “กลุ่มศึกษามาร์กซิสม์แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” บัณฑิตนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง จากจังหวัดอุดรธานี เขาเป็นหนึ่งในผู้รื้อฟื้นแนวคิดสังคมนิยมกลับเข้าสู่กระแสการศึกษาของคนรุ่นใหม่ หลังจากช่วงประมาณปี 2543-2553 การศึกษาสังคมศาสตร์แนววิพากษ์ในมหาวิทยาลัยนอกจากจะลดลงแต่ยังถูกยึดโยงโดย “แนวคิดหลังสมัยใหม่” ที่พยายามอธิบายว่าการต่อสู้หรือข้อเรียกร้องต่าง ๆ ล้วนเป็นวาทกรรม ซึ่งส่งผลต่อกระแสการ “วางเฉย” ในกลุ่มคนรุ่นใหม่

ฟรองซ์และเพื่อน ๆ รื้อฟื้นการนำข้อวิพากษ์ทางชนชั้น และอุดมคติความเท่าเทียมแบบสังคมนิยมกลับเข้ามาสู่การสนใจของคนรุ่นใหม่ หลังสำเร็จการศึกษา ปัจจุบันเขาปฏิบัติงานตำแหน่ง “หัวหน้าฝ่ายพัฒนาระบบ” ให้แก่ศูนย์วิจัยรัฐสวัสดิการฯ โดยเป้าหมายสำคัญคือการสร้างห้องสมุด “สังคมนิยม” ที่รวบรวมงานเขียนและคลิปต่าง ๆ ว่าด้วยการต่อสู้ทางชนชั้น และการสร้างระบบการสื่อสารความรู้แบบสังคมนิยมและความเท่าเทียมต่างๆในหลากหลายสาขาที่ถูกผูกขาดในระบบทุนนิยม ไม่ว่าจะเป็นการจัดทำนโยบายสาธารณะ การทำบัญชี ศิลปะ สถาปัตยกรรม ผังเมือง ฯลฯ ถ้าเราเอามาตรวัดของทุนนิยมออก แล้วใส่คุณค่าความเป็นมนุษย์เข้าไป เราจะเห็นความงอกงามของสาขาต่าง ๆ อย่างสมบูรณ์ แต่เราจะถึงจุดนั้นได้ชีวิตมนุษย์จำเป็นต้องปลอดภัยพื้นฐานด้วยรัฐสวัสดิการ

บาดแผลความผิดปกติของระบบทุนนิยมที่ฝังในกลุ่มคนรุ่นใหม่ ความฝันกลายเป็นสิ่งที่หนักอึ้ง การต่อสู้กลายเป็นเรื่องของอภิสิทธิ์ที่จะสามารถตั้งคำถามได้ แต่ ยามาและฟรองซ์ เป็นตัวอย่างของคนธรรมดาที่ผมเห็น คนธรรมดาที่ไม่ได้มีต้นทุนสูงลิ่ว คนธรรมดาที่ลำบากและเหนื่อยล้าในชีวิตประจำวัน แต่เรื่องสุดท้ายที่พวกเขาเลือกที่จะทำคือ การทิ้งความฝัน ทิ้งการต่อสู้ การยืนตัวตรงของพวกเขาเป็นแรงผลักสำคัญให้คนรุ่นใหม่ก้าวขึ้นมาเพื่อร่วมทำงาน เพื่อตั้งคำถาม เพื่อส่งต่อความฝัน

“อย่าโพสต์ความคิดเห็นทางการเมือง เพราะจะทำให้ไม่มีที่ไหนรับเข้าฝึกงาน” ข้อความนี้จากผู้บริหารมหาวิทยาลัยถูกส่งต่อในกรุ๊ปไลน์นักศึกษาคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สืบเนื่องจากการต่อสู้ของกลุ่มคนรุ่นใหม่ ความรุนแรงที่พวกเขาได้รับสืบเนื่องจากปลายปี 2563 เมื่อผู้มีอำนาจในมหาวิทยาลัยยุคเก่า กำลังใช้ความปรารถนาดีในการ “เซนเซอร์” คนรุ่นใหม่

ผมเห็นข่าวที่เกิดขึ้น นักศึกษาคณะสังคมสงเคราะห์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ลุกขึ้นและเป็นการ Strike หยุดเรียนครั้งแรกในรอบหลายสิบปีของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ การประท้วงหยุดเรียนนี้สะท้อนการตัดสินใจที่สันติ ทรงพลัง และมากไปกว่าการต่อต้านข้อความดังกล่าวของผู้บริหาร พวกเขาเรียกร้องให้ปรับเปลี่ยนเงื่อนไขการฝึกงานการละเมิดสิทธิมนุษยชน การเลือกปฏิบัติ หรือการไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานกฎหมายแรงงาน ในเงื่อนไขการฝึกงานเทอมสุดท้าย พวกเขาเลือกปฏิบัติงานที่ศูนย์วิจัยเฉพาะทางรัฐสวัสดิการและความเป็นธรรมศึกษา เพื่อปักหมุดการเปลี่ยนแปลงในช่วงโค้งสุดท้ายของการเป็นนักศึกษา

เต้ย-พศวัต เขียวเหมือน หนึ่งในนักศึกษาที่ทำการประท้วงเงื่อนไขการฝึกงานของคณะสังคมสงเคราะห์ มธ. เขารับผิดชอบในการจัดการข้อมูลประวัติศาสตร์การต่อสู้เพื่อสร้างรัฐสวัสดิการ และมีโอกาสนำข้อมูลนี้สู่การบรรยายสาธารณะ เต้ยย้ำให้เห็นว่า การต่อสู้เพื่อรัฐสวัสดิการไม่ใช่เรื่องใหม่ของประเทศไทย และการที่เรามีชีวิตที่ดีขึ้นมาก็หาใช่เกิดจากความเมตตาของชนชั้นนำที่กดเครื่องคิดเลข คำนวณความเป็นไปได้แต่เกิดจากการต่อสู้ของคนนธรรมดา ผู้ใช้แรงงาน เกษตรกร เราเคยมีการต่อสู้ที่ยิ่งใหญ่ในอดีตถ้าเราชนะเราก็ได้สวัสดิการที่ดีขึ้น หากพ่ายแพ้ชนชั้นนำก็ตักตวงชีวิตพวกเราไป

ออมสิน-ธันยมัย ชูอิฐจีน เธอรวบรวมข้อมูลระบบสวัสดิการเปรียบเทียบในกลุ่มประเทศละตินอเมริกา รวมถึงสหรัฐอเมริกาเพื่อขยายความเข้าใจของคนไทยต่อรูปแบบสวัสดิการต่าง ๆ เธออธิบายต่อคำถามที่ว่า เหตุใดคนรุ่นใหม่ถึงต้องการรัฐสวัสดิการ มันดูย้อนแย้ง เมื่อคำนี้เป็นคำที่ดูเก่า และมีอายุเฉียด 100 ปี เหตุใดคนรุ่นใหม่ยังออกมายืนยันเพื่อสิ่งนี้

“จริง ๆ แล้ว คนรุ่นใหม่อาจไม่ได้เรียกร้องรัฐสวัสดิการกันมากขึ้น แต่ความต้องการที่จะมีคุณภาพชีวิตที่ดี ได้กินดี อยู่ดี ได้รับโอกาสที่จะเรียนรู้ในสิ่งที่ตนสนใจ ได้รับการรักษาพยาบาลที่ดี หรือการที่เราต้องการมีชีวิตที่มั่นคงปลอดภัย เป็นความต้องการที่มนุษย์มีมาโดยสัญชาตญาณตั้งนานแล้ว เพียงแต่ในปัจจุบันเราพึ่งเข้าใจว่า รัฐจะสามารถตอบสนองสิ่งเหล่านี้ให้พวกเราได้ เมื่อเราอยู่ในประเทศ ‘รัฐสวัสดิการ’ คำ ๆ นี้ เลยถูกหยิบยกขึ้นมาพูดมากขึ้นในสังคมปัจจุบัน”

นอกจากนี้ มณีรัตน์ จันเทพา ที่ปฏิบัติงานศูนย์วิจัยรัฐสวัสดิการฯ ในเงื่อนไขสุดท้ายก่อนสำเร็จการศึกษา ระบุถึงสภาพสังคมปัจจุบันที่ให้คำตอบตายตัวว่า การแข่งขันเพื่อชีวิตที่ดีเป็นคำตอบเดียวของการมีชีวิตรอดในระบบทุนนิยม และมันเริ่มไม่สมเหตุสมผลสำหรับคนรุ่นใหม่ “พวกเราอยากได้ประเทศต้นแบบรัฐสวัสดิการตอบโจทย์พวกเราด้านเศรษฐกิจ สังคม และสภาพจิตใจทั้งหมด คนรุ่นใหม่ไม่ได้อยากสอบชิงทุนเพื่อให้เรียนในโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยติดอันดับ เราอยากเรียนใกล้บ้านและทุกโรงเรียนมีประสิทธิภาพ เราไม่ได้อยากทำงานดี ๆ เงินเดือนสูง ๆ เราอยากทำงานที่อยากทำและมีสวัสดิการที่รองรับคุ้มครองเราในฐานะประชาชนคนหนึ่งอย่างเท่าเทียม”

เอิร์ธ-พีรกิตติ์ ศรีกุล ผู้ปฏิบัติงานอีกท่านระบุถึงเหตุที่คนรุ่นใหม่ต่างปรารถนาในรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าจนเกือบเป็นฉันทามติของยุคสมัย “ทุกคน ๆ ต่างก็ต้องการชีวิตที่ดี มีความสุข มีเวลาให้กับสิ่งที่ชอบ ซึ่งระบบในประเทศไทยขณะนี้ไม่ได้ตอบสนองความต้องการของคนเท่าที่ควร อนาคตที่เราต้องเจริญเติบโต ใช้ชีวิตในอนาคตต่อไปในอนาคตก็มีแต่ความมืดมัว ไม่สามารถสร้างความเจริญด้วยตัวเองจากระบบที่กดทับเรา ไม่จำเป็นต้องพูดถึงการสร้างครอบครัวเลย เพียงแค่การใช้ชีวิตโดยไม่มีหนี้ก็ดูเป็นสิ่งที่ทำได้ยากแล้วในประเทศที่สวัสดิการไม่ดี จึงเป็นเหตุผลที่เราต้องการรัฐสวัสดิการและประชาธิปไตยที่ดี และออกมาสู้ ออกมาพูดเพียงให้ได้มา เพราะไม่มีฟากฟ้าใดสรรสร้างรัฐสวัสดิการ มีเพียงคนเท่านั้นที่ทำได้” ซึ่งเป็นการยืนยันสำคัญว่ารัฐสวัสดิการย่อมได้มาด้วยการต่อสู้ทางประชาธิปไตย และไม่มีสังคมใดที่มนุษย์เท่าเทียมกันมากขึ้นจากการคุกเข่าค้อมหัวขอความเมตตา

สำหรับผู้ปฏิบัติงานในฐานะนักศึกษาฝึกงานท่านสุดท้าย อิง-ไชยวัฒน์ วรรณโคตร ได้แสดงรวบรวมข้อมูลกลุ่มประเทศรัฐสวัสดิการนอร์ดิก พร้อมคำอธิบายว่า “สังคมไทยมักชื่นชมว่ากลุ่มประเทศนอร์ดิกเป็นประเทศที่มีความสุข มีความพอใจในชีวิต ชื่นชอบและชื่นชมประเทศเหล่านั้น แต่เลือกที่จะไม่อธิบายผ่านเรื่องพื้นฐานง่าย ๆ ว่าประเทศเหล่านั้น มีความสุขในชีวิตก็ด้วยระบบสวัสดิการถ้วนหน้า เพราะการเก็บภาษีคนรวยชนชั้นปรสิต เพราะการจัดสวัสดิการให้ทุกคนในฐานะสิทธิที่ง่ายและเข้าถึงทุกคน ผู้คนที่ชื่นชมฟินแลนด์แต่กลับบอกว่า รัฐสวัสดิการเป็นไปไม่ได้ในไทยมันน่าตลก” 

ไชยวัฒน์ระบุต่อจากการศึกษาของเขาว่า “สังคมไทยมักเรียกร้องให้เราเป็นผู้ให้ ที่เป็นความหมายที่ว่างเปล่าไร้สาระ เราจะให้ได้อย่างไร ถ้าเราไม่รู้จักการได้รับสวัสดิการในฐานะสิทธิที่มนุษย์ทุกคนได้รับการโอบอุ้มดูแลอย่างไม่เลือกปฏิบัติ”

ยุคสมัยของการเปลี่ยนแปลงจะมาถึง สิ่งที่เราจำเป็นต้องทำกันคือ การคุยกันให้มาก คุยเรื่องความฝัน คุยเรื่องการเปลี่ยนแปลง คุยเรื่องอำนาจทางการเมือง คุยเพื่อการสร้างอุดมคติที่ดีขึ้น เมื่อพวกเราเปลี่ยนจากความฝันเป็นการพูดคุย เสียงที่เคยถูกมองข้ามจะดังเซ็งแซ่ถึงชนชั้นปกครอง และสร้างความหวาดกลัวให้แก่พวกเขา พวกเราจะเป็นปีศาจร้ายสำหรับเขาแต่พวกเขาจะไม่กล้าแม้เย้ยหยันเราเมื่อเรารวมตัวกัน หากเราไม่คุยกันชนชั้นอภิสิทธิ์ชนจะคิดแทนเรา แต่เมื่อเรารวมตัวและส่งเสียงโลกทั้งใบก็จะอยู่ในมือพวกเรา

อุทิศบทความนี้แด่การต่อสู้ของคนหนุ่มสาว ผู้ใช้แรงงาน เพื่อหยุดยั้งความอยุติธรรมของระบบทุนนิยม  18 มีนาคม 1871 150 ปีที่แล้วกับการสร้าง “คอมมูนปารีส” ความตายของพวกเขาสร้างแรงบันดาลใจแก่คนหนุ่มสาวหลายร้อยล้านคนที่ปรารถนาในการสร้างสังคมนิยมและโลกที่ปราศจากชนชั้นในปัจจุบัน

เว็บไซต์ศูนย์วิจัยเฉพาะทางสหวิทยาการด้านรัฐสวัสดิการและความเป็นธรรมศึกษา
วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
https://www.welfarestateandjus.com/
https://www.facebook.com/welfarewillwin