เลิกจ้างเพราะเห็นต่างทางการเมือง ห้องขังที่มองไม่เห็นจากวัฒนธรรมอำนาจนิยมในองค์กร - Decode
Reading Time: 2 minutes

ประกายไฟลามทุ่ง

รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี
วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

การชุมนุมทางการเมืองของฝ่ายที่ต่อต้านรัฐบาล และการเรียกร้องให้มีการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจการเมืองในประเทศไทยในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา สิ่งที่ปรากฏเชิงประจักษ์ นอกจากแกนนำที่ต้องเผชิญกับการคุมขัง กระบวนการยุติธรรมที่ยืดยาว เผชิญกับความเครียดและการกดดันระหว่างถูกดำเนินคดี สำหรับคนส่วนใหญ่ที่แม้ไม่ใช่แกนนำ เพียงแค่มีความเห็นที่สนับสนุนประชาธิปไตยอย่างเปิดเผย หรือเคยมีประวัติการเข้าร่วมชุมนุมทางการเมือง นอกเหนือจากกลไกการปราบปรามจากรัฐแล้ว สิ่งที่พวกเขาต้องเผชิญในปริมณฑลทางเศรษฐกิจพวกเขายังต้องแบกรับต้นทุนของการ “เลือกปฏิบัติ” ด้วยเหตุผลทางการเมือง

นับเป็นเงื่อนไขที่รุนแรงและเกิดขึ้นในวงกว้าง ไม่น้อยกว่าการเลือกปฏิบัติทางเพศ การศึกษา หรือแม้แต่ชาติกำเนิด การเลือกปฏิบัติการจ้างงาน หรือการปฏิบัติในที่ทำงานผ่านความเห็นทางการเมืองนอกจากส่งผลให้ผู้คนไม่สามารถเข้าร่วมขบวนการต่อสู้ทางประชาธิปไตยอย่างเปิดเผยแล้วยังทำให้เป็นการก่อตัวของวัฒนธรรมอำนาจนิยมในองค์กร และผลิตซ้ำวัฒนธรรทางการเมืองแบบยอมจำนนในชีวิตประจำวันของผู้คน

บทความนี้จะพาพิจารณาปัญหาที่เกิดขึ้นและแนวทางการต่อสู้ เพื่อทำให้การแสดงออกทางการเมืองต้องมีความเสรีไม่ถูกกีดขวางผ่านวัฒนธรรมอำนาจนิยมในองค์กร

Image Name

อำนาจนิยมในองค์กรเป็นมือไม้สำคัญ กับอำนาจเผด็จการของการเมืองในระดับประเทศ เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ผู้คนต้องแยกชีวิตการทำงาน ชีวิตครอบครัว และการต่อสู้ทางการเมืองออกจากกัน และการที่ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ระบบแรงงานสัมพันธ์และการรวมตัวในลักษณะสหภาพอยู่ในระดับต่ำผู้คนไม่คุ้นเคยกับการต่อสู้ต่อรองเพื่ออำนาจประชาธิปไตยในองค์กร ตามสภาพกฎหมายแรงงานไทยในปัจจุบันส่วนที่พอเทียบเคียงการคุ้มครองด้านการเลือกปฏิบัติได้มีเพียงแค่ “การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม”

นับตั้งแต่ปลายปี 2562 ผู้แสดงออกหรือมีส่วนร่วมทางการเมือง มักถูกกดดันให้เซ็นใบลาออก หรือถูกเลิกจ้างจากแรงกดดันของฝั่งอนุรักษ์นิยม แม้การ “บังคับเซ็นใบลาออก” การปรับเปลี่ยนสภาพการจ้างที่ไม่ได้รับการยินยอม หรือการกลั่นแกล้งสร้างเงื่อนไขให้เกิดการทำงานที่ยากลำบากหรือให้ไปทำงานที่ไม่ตรงกับสภาพการจ้างที่ตกลงในทางนิตินัยผิดกฎหมายแรงงาน และอาญาอย่างเด่นชัด แต่การเรียกร้องต่อสู้ของผู้ถูกกระทำเป็นไปอย่างยากลำบากเหมือนกับการต่อสู้ทางกฎหมายอื่น ๆในประเทศ เป็นเรื่องยากที่ประชาชนคนธรรมดาจะสามารถตั้งคำถามต่อสิ่งนี้โดยเฉพาะ การถูกกลั่นแกล้งหรือเลือกปฏิบัติจากความเห็นทางการเมือง

การที่นายจ้าง สถานประกอบการ หรือหน่วยงานภาครัฐส่วนมากมีทัศนะค่อนไปในทางอนุรักษ์นิยม คำอธิบายเริ่มต้นจากการที่ต้องเกาะเกี่ยวกับระบบราชการ การขอใบอนุญาต การประมูลงานภาครัฐ หรือการรับโควตาจากโครงการต่าง ๆ การสร้างภาพลักษณ์ที่สงบเสงี่ยมย่อมดีกว่าการปล่อยให้เห็นว่า มีผู้ปฏิบัติงานในองค์กรที่ตั้งคำถามต่อความผิดปกติของการปกครองประเทศ ซึ่งก็เป็นเรื่องตลก เพราะเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ แต่เมื่อถูกละเมิดกลับสามารถเกิดขึ้นได้เป็นการสาธารณะไม่ปิดบังซ่อนเร้น

จากกรณีที่พนักงานบริษัทผลิตสื่อแห่งหนึ่งตัดสินใจลาออกเมื่อมีกระแสกดดัน (ล่าแม่มด) ไปยังบริษัทที่เธอปฏิบัติงาน โดยไม่เต็มใจหลังจากปรากฏภาพเธอเข้าร่วมชุมนุมทางการเมือง แม้การเข้าร่วมชุมนุมจะเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ แต่การไม่มีกฎหมายบังคับเพิ่มเติม เธอเสียงาน และไม่สามารถต่อรองได้ เช่นเดียวกับการที่ผู้ปฏิบัติงานนทางการแพทย์ ถูกเลิกจ้างจากกระแสกดดันหลังจากที่โพสต์ลงสื่อออนไลน์แสดงจุดยืนทางการเมือง ซึ่งเรามักเข้าใจผิดว่าในเมื่อเป็นบริษัทเขาย่อมสามารถทำอะไรก็ได้ แต่การเลิกจ้างที่ไม่ปรากฏว่าเกี่ยวข้องกับงาน ผู้เชี่ยวชาญด้านองค์กรสื่อให้ความเห็นต่อ กรรมาธิการการแรงงานครั้งหนึ่งว่า

“การปฏิบัติงานด้านสื่อ ไม่มีเงื่อนไขบังคับเกี่ยวกับการทำงานว่าต้องมีจุดยืนทางการเมืองแบบใด และการแสดงออกทางการเมืองนอกเหนือเวลางานก็เป็นสิ่งที่ทำได้ไม่มีผลต่องาน”

ดังนั้นการวางเงื่อนไขการบังคับลาออก หรือเลิกจ้างจากการแสดงออกทางการเมืองจึงเป็นเรื่องผิดทางทางนิติศาสตร์ ศีลธรรม และมนุษยธรรม

Image Name

เมื่อช่วงปลายปี 2563 มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งได้มีแจ้งแก่นักศึกษาที่กำลังเข้าสู่การฝึกงานว่า ไม่ควรโพสต์หรือแสดงความคิดเห็นทางการเมือง เพราะอาจทำให้ “ไม่มีหน่วยงานรับเข้าฝึกงาน” ซึ่งนำสู่การประท้วงของนักศึกษาในวงกว้างว่า การแสดงออกทางการเมืองไม่ว่าในพื้นที่สาธารณะ หรือพื้นที่สื่อออนไลน์ส่วนตัว ก็ไม่สมควรถูกใช้เป็นเหตุของการเลือกปฏิบัติในการมีโอกาสในการได้งาน

คำถามสำคัญคือ สำหรับการเลือกบุคคลเข้าปฏิบัติงานนายจ้างมีสิทธิอย่างเสรีในการคัดเลือกได้เต็มที่หรือไม่ แน่นอนว่ามนุษย์ย่อมมีความลำเอียงส่วนตัวเป็นพื้นฐาน แต่ในหลายประเทศ การระบุเงื่อนไขเพื่อนำสู่การคัดเลือก หากวางอยู่บนฐานการเลือกปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็นเพศวิถี จุดยืนทางการเมือง รสนิยมทั่วไปก็ยังนับเป็นข้อห้ามสำคัญ ดังเช่น ภายใต้กฎสิทธิพลเมือง (Civil Right Act) 1964 ของสหรัฐอเมริกา ก็ชัดเจนว่านายจ้างไม่สามารถถามทัศนะทางการเมือง หรือใช้เงื่อนไขเหล่านี้เพื่อรับหรือปฏิเสธคนเข้าทำงานได้ เช่นเดียวกับแคนาดา ฝรั่งเศส สวีเดนก็มีกฎหมายในลักษณะนี้ที่การเลือกปฏิบัติอย่างเปิดเผยถือว่าเป็นความผิดทางอาญา และทางแรงงาน ที่กระบวนการแจ้งร้องทุกข์สามารถทำได้โดยง่าย มีบทลงโทษที่ชัดเจน

หากประชาธิปไตยภายในองค์กรไม่เกิดขึ้น รอยต่อการต่อสู้ระยะยาวก็ย่อมเป็นไปอย่างยากลำบาก ทางออกสำคัญเพื่อให้การเลือกปฏิบัติด้วยความเห็นต่างทางการเมองลดลงอาจจำเป็นต้องเริ่มต้นจากจุดที่ง่ายที่สุดประกอบด้วย

1.การรวมตัวในที่ทำงานไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบสหภาพ สมาคม ชมรม การคุยกันในกลุ่มผู้ปฏิบัติงาน เพื่อขยายกรอบความคิดว่าสิ่งใดที่เป็นส่วนที่ไม่มีความเกี่ยวข้องกับการทำงาน ไม่เข้ากับข้อบังคับ ปรับเปลี่ยนเรียกร้องข้อบังคับต่าง ๆขององค์กรให้ตอบสนองต่อคนส่วนใหญ่ที่ปฏิบัติงาน โดยอย่าให้ผู้มีอำนาจเข้าแทรกแซงและทำให้เป็นการต่อสู้ที่โดดเดี่ยวลำพังของคนไม่กี่คน

2.การทำลายและไม่ส่งต่อค่านิยมการเลือกปฏิบัติในการรับสมัครงาน การเหมารวม ในมิติต่าง ๆ ไม่ว่าเรื่องเพศ การศึกษา ประสบการณ์ อายุ เพราะสิ่งเหล่านี้จะเป็นหน่ออ่อนสำคัญให้การเลือกปฏิบัติจากทัศนะทางการเมืองสามารถเติบโตขึ้นได้โดยง่าย

3.กดดันพรรคการเมืองที่ท่านสนับสนุนให้ผลักดันให้การเลือกปฏิบัติจากความเห็นทางการเมืองมีกฎหมายที่มีความชัดเจน และบทลงโทษผู้ละเมิดเพื่อให้ต้นทุนการละเมิดสูงขึ้นจนทำให้การปฏิบัติอย่างเคารพและเสมอภาคง่ายมากกว่า

การเลือกปฏิบัติทางการเมืองในตลาดแรงงาน ปัจจุบันกลายเป็นห้องขังที่มองไม่เห็น และกักขังโอกาสผู้คนจำนวนมากรวมถึงกีดกันโอกาสการขยายขบวนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในระยะยาว

Image Name