ถอดรหัส “คลับเฮาส์ iOS” ชุมชนสนทนาใหม่ในเศรษฐกิจแบบแพสชั่น - Decode
Reading Time: 2 minutes

ก้อนอิฐในมือสามัญชน

ดร.เกรียงศักดิ์ ธีระโกวิทขจร

ช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา แพลตฟอร์มพูดคุยด้วยเสียงแห่งใหม่ที่ชื่อ “คลับเฮาส์” (Clubhouse) ได้จุดกระแสสร้างความฮือฮาในแวดวงโซเชียลเป็นอย่างมาก ขนาดที่มียอดดาวโหลดทั่วโลกถึง 4 ล้านครั้งภายในเดือนพฤศจิกายน 2563 เพียงเดือนเดียว

ในสังคมไทย แพลตฟอร์มนี้กลายเป็นพื้นที่ใหม่สำหรับการพูดคุยสนทนาประเด็นร้อนต่างๆ ในสังคมโดยเฉพาะประเด็นการเมือง ยกตัวอย่างช่วงของการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลเมื่อวันที่ 16-19 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เกิดห้องสนทนาจำนวนมากเพื่อวิเคราะห์หรือเก็บตกประเด็นที่ฝ่ายค้านจุดขึ้น

นอกจากใช้เป็นช่องทางพูดคุยกันเอง คลับเฮาส์ยังทำให้เราได้รับฟังเสียงพูดสดๆ ของคนดังมากมาย เช่น รศ.ดร.ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ นักวิชาการผู้บุกเบิกการใช้โซเชียลมีเดียให้กลายเป็นเครื่องมือสื่อสารทางการเมือง รวมถึงนักการเมืองฝ่ายค้านดาวเด่นอย่างคุณรังสิมันต์ โรม, คุณธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ไปจนถึงอดีตนายกรัฐมนตรีนอกราชอาณาจักรอย่าง ‘Tony Woodsome’ หรือคุณทักษิณ ชินวัตร ที่มาเปิดห้องหรือร่วมเป็นผู้สนทนาในห้อง

ภายในระยะเวลาสั้น ๆ คลับเฮาส์พิสูจน์ตัวเองให้เห็นว่าเป็นแพลตฟอร์มที่ได้รับความนิยมสูงลิ่ว บ่อยครั้งและไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่ห้องสนทนาหนึ่ง โดยเฉพาะห้องที่มีคนดังอยู่ในนั้น จะมีผู้เข้าฟังเต็มลิมิต 8,000 คน บางคนรีวิวการใช้งานของตัวเองว่ากดขอคำอนุญาตเข้าห้องซ้ำๆ เพื่อหวังกระทบไหล่คนดังเหล่านี้ บางคนอาจยอมแพ้เข้าฟังในห้องสำรองที่มีผู้ตั้งขึ้นมาเพิ่มอีกเพื่อถ่ายทอดเสียงจากห้องหลัก ทั้งหมดล้วนชี้ให้เห็นว่าผู้คนต่างกระหายที่จะรับฟังบทสนทนาสดใหม่บนคลับเฮาส์มากเพียงใด

มาร่วมหาคำตอบในบทความนี้ ว่าอะไรทำให้แพลตฟอร์มที่ทำหน้าที่คล้าย ‘พ็อดแคสต์’ และ ‘โทรศัพท์’ แบบประชุมรวมสายได้รับความนิยมอย่างมากในเวลาสั้น ๆ ปรากฏการณ์แห่สมัครคลับเฮาส์บอกอะไรกับเรา การตลาดของแพลตฟอร์มน้องใหม่นี้กำลังสะท้อนให้เห็นอะไรบ้าง ทำไมผู้คนไม่น้อยจึงยอมเสียเงินหลักร้อยไปจนถึงพันเพื่อซื้อคำเชิญเข้าร่วม (invitation) ที่มีคนแอบเอามาขายต่อทางอินเทอร์เน็ต หรือรอคอยอย่างใจจดจ่อให้ถึงคิวที่เหล่า ‘ประชากรแอนดรอยด์’ จะได้เข้าไปฟังบ้าง

คลับเฉพาะคนพิเศษที่ขับเคลื่อนด้วย
‘เศรษฐกิจแบบแพสชั่น’ (passion economy)

คลับเฮาส์ (Clubhouse) เป็นที่สนใจของคนรุ่นใหม่จำนวนมาก ด้วยความที่แพลตฟอร์มมีลักษณะเป็น ‘drop-in audio’ หรือการผสมผสานเอาความโดดเด่นของสื่อประเภท ‘พ็อดแคสต์ (podcast)’ เข้ากับห้องสนทนาเสียง ที่เปิดโอกาสให้สมาชิกสามารถเข้าร่วมพูดคุยกับ ‘อินฟลูเอนเซอร์ (influencer)’ หรือคนมีชื่อเสียง ที่มีอิทธิพลในแวดวงต่าง ๆ

นอกจากนี้ ผู้ใช้ยังสามารถเข้าออกจากห้องสนทนาเหล่านี้ราวกับอยู่ในเทศกาลงานประชุมที่มีห้องเสวนาย่อย ๆ โดยไม่ต้องเสียค่าเข้าฟังเหมือนงานเสวนาทั่วไป

ในวงการสตาร์ทอัพมีการจัดอันดับการเติบโตของธุรกิจโดยเปรียบเทียบเป็นสัตว์สี่ขาระดับต่างๆ ตั้งแต่ระดับเล็กอย่างมายลิตเติลโพนี ถ้ามีทุนมากกว่านั้นก็จะขยับระดับขึ้นมาเป็นเซ็นทอร์และอื่นๆ ส่วนคลับเฮาส์ได้รับการขนานนามให้เป็น ‘ยูนิคอร์น’ แปลว่าธุรกิจสตาร์ทอัพที่มีมูลค่าบริษัทมากกว่า 1,000 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ (มากกว่า 30,000 ล้านบาท) แค่ภายในเวลาไม่ถึงปีนับตั้งแต่มีการเปิดตัวเวอร์ชันทดลองใช้ไปเมื่อเดือนมีนาคม 2563

ปัจจุบัน แอปพลิเคชันคลับเฮาส์ยังไม่สามารถใช้งานบนโทรศัพท์ที่ใช้ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ จึงจำกัดวงอยู่เฉพาะในหมู่ผู้ใช้ไอโฟนและไอแพดที่ใช้ระบบปฏิบัติการ iOS เท่านั้น แต่กระแสความนิยมอย่างก้าวกระโดดภายหลังจากนักลงทุนแบบร่วมลงขัน (venture capital) ยอมเพิ่มทุนให้อีก 100 ล้านเหรียญสหรัฐในเดือนพฤศจิกายน 2563 ที่ผ่านมา ทำให้คลับเฮาส์มีโอกาสพัฒนาเป็นแอ็ปฯ กระแสหลัก

ผลจากการระดมทุนรอบนี้ทำให้ผู้บริหารคลับเฮาส์ทั้งสองคน คือ พอล เดวิสัน (Paul Davison) และนายโรฮัน เซ็ธ (Rohan Seth) ประกาศในห้องสนทนาช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ว่า พวกเขากำลังเร่งพัฒนาแอปพลิเคชันในเวอร์ชันแอนดรอยด์ออกมาให้ใช้กัน

แต่กว่าจะไปถึงจุดที่เปิดให้ใครก็ได้สามารถดาวน์โหลดมาใช้อย่างแพร่หลาย ตอนนี้คลับเฮาส์ คือ แพลตฟอร์มสำหรับการเชื่อมต่อเครือข่ายแบบเอ็กคลูซีฟ (exclusive) เพราะสมาชิกใหม่ต้องได้รับคำเชิญเท่านั้น (invite-only) หมายความว่า คุณจะเข้าเป็นสมาชิกได้หรือไม่ขึ้นอยู่กับสายสัมพันธ์หรือคอนเน็กชั่นที่คุณมี

ในทางปฏิบัติ ถ้ามีไอโฟนหรือไอแพด คุณก็สามารถดาวโหลดแอปพลิเคชันคลับเฮาส์เพื่อสมัครได้ แต่ก็จะทำได้เพียงจองชื่อแอคเคาต์เท่านั้น สมาชิกจะเริ่มใช้งานจริงได้ก็ต่อเมื่อมีเพื่อนที่เป็นสมาชิกอยู่ก่อนแล้วรับรองหรือเชิญย้อนหลัง

นั่นคือที่มาของชื่อ ‘คลับเฮาส์’ เพราะไม่ใช่ใครก็ตามจะสามารถเข้าร่วมได้

คลับเฮาส์จึงกลายเป็นแอปพลิเคชันสนทนาที่ผสมเอาแนวคิดของการพูดคุยระหว่างกลุ่มเพื่อนร่วมอาชีพ (peer to peer) ที่มีความสนใจเดียวกัน มาผสมกับการสร้างเน็ตเวิร์ค (networking) โดยผู้ใช้กลุ่มแรกๆ ของคลับเฮาส์คือบรรดานักร่วมลงทุนในสตาร์ทอัพ และกลุ่มผู้บริหารของบริษัทเทคโนโลยีในซิลิคอนวัลเลย์

ในช่วงโปรโมตแอปพลิเคชัน คลับเฮาส์ใช้ผู้มีชื่อเสียงมากกว่า 40 คนจัดห้องสนทนาในแอปพลิเคชันอย่างสม่ำเสมอเพื่อดึงดูดผู้ใช้ใหม่ ฉะนั้นในโลกของคลับเฮาส์ คุณจึงมีโอกาสแชร์ห้องสนทนากับ ‘บิ๊กเนม’ อย่าง อีลอน มัสก์ ผู้บริหารบริษัทเทสลา, มาร์ค ซัคเกอร์เบิร์ก ผู้ก่อตั้งเฟซบุ๊ก หรือแม้กระทั่ง อ้ายเว่ยเว่ย ศิลปินชาวจีนชื่อดังที่วิจารณ์รัฐบาลอย่างเผ็ดร้อนผ่านผลงานศิลปะ

คลับเฮาส์ขายโอกาสที่เหล่าครีเอเตอร์ผู้มีความสนใจเดียวกันจะได้มารวมตัว เพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในเรื่องนั้นๆ รวมทั้งโอกาสคนทั่วไปจะได้กระทบไหล่ (หรือที่จริงคือหู) ใกล้ชิดกับผู้มีชื่อเสียงที่ตัวเองชื่นชอบ เมื่อมีผู้ใช้มาก ก็ยิ่งมีคนสนใจร่วมลงทุน นี่คือหลักการพื้นฐานของระบบเศรษฐกิจแบบแพสชั่น (passion economy) ที่ผลักดันให้คลับเฮาส์ยิ่งเติบโตขึ้น

เพราะทุกคนมีเครือข่าย (ไม่เท่ากัน)
กลยุทธ์ดึงดูดคนบนคลับเฮาส์

อาจกล่าวได้ว่า องค์ประกอบของคลับเฮาส์ ตั้งแต่การออกแบบแอ็ปฯ ให้ผู้ใช้ต้องได้รับคำเชิญหรือมีเพื่อนรับรอง รวมถึงการออกแบบห้องสนทนาให้มีลำดับชั้นของผู้ควบคุมห้องสนทนา (moderator), ผู้พูด (speaker) และผู้รับฟังอย่างเงียบๆ (listener) และที่สำคัญ แบ่งชนชั้นผู้ฟังเป็นกลุ่มผู้ใช้ที่มีอิทธิพลและมีผู้ติดตามมาก (influencer) และกลุ่มผู้ใช้ทั่วไป สะท้อนว่าคลับเฮาส์ คือแอ็ปพลิเคชันที่ให้ความสำคัญกับลำดับชั้นของสายสัมพันธ์หรือเครือข่ายของผู้ใช้

พูดง่าย ๆ ยิ่งคุณมีผู้ติดตามมาก คลับเฮาส์ก็จะยิ่งเพิ่มความสนใจให้กับตัวคุณมากขึ้นไปอีก

คลับเฮาส์จึงเป็นแอปพลิเคชันที่สร้างมูลค่าจากอิทธิพลของผู้ใช้งาน ในด้านหนึ่งมันดึงดูดผู้ใช้ทั่วไปที่ต้องการสัมผัสบรรดาอินฟลูเอนเซอร์ให้เข้ามาร่วมวงสนทนา จนทำให้ “โนบอดี้” หรือคนที่ไม่มีเครือข่ายเป็นของตัวเองที่มีจำนวนไม่น้อยต้องดึงขวนขวายหาเพื่อเข้าร่วม ด้วยการขอซื้อคำเชิญเข้าร่วมคลับ (invite) ที่มีการเสนอขายต่อบนอินเทอร์เน็ต

ขณะที่ในอีกด้านหนึ่ง คลับเฮ้าส์หยิบยื่นโอกาสให้บรรดาอินฟลูเอนเซอร์ที่มีอิทธิพลหรือชื่อเสียงอยู่แล้ว ได้มีโอกาส ‘รับแสง’ และขยายฐานแฟนของตนมากยิ่งขึ้น

แน่นอน แพลตฟอร์มอีกจำนวนมากก็ทำงานบนหลักการคล้ายกัน เช่น ผู้ใช้ยูทิวบ์ (Youtube) จำนวนมากหวังว่าตัวเองจะได้มีโอกาสแจ้งเกิดในฐานะยูทิวเบอร์ ขณะที่ผู้ใช้ติ๊กต็อก (TikTok) จำนวนไม่น้อยก็หวังลึกๆ ว่าวิดีโอที่ตัวเองโพสต์จะมีโอกาสส่งให้พวกเขาเป็นติ๊กต็อกสตาร์ แต่ยูทิวบ์หรือติ๊กต็อกเป็นแพลตฟอร์มสำหรับการแสดงออกที่ไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อ ‘ครีเอเตอร์ชนชั้นกลาง’ อย่างสมบูรณ์แบบเช่นเดียวกับที่คลับเฮาส์เป็น

ในบทความชื่อ “เศรษฐกิจของนักสร้างสรรค์ต้องการชนชั้นกลาง (The Creator Economy Needs a Middle Class)” ที่ตีพิมพ์บนเว็บไซต์ของฮาร์วาร์ด บิสซิเนส รีวิว (Harvard Business Review) เมื่อเดือนธันวาคมปีที่ผ่านมา เสนอกลยุทธ์ที่แพลตฟอร์มสามารถทำเพื่อขยายฐานของนักสร้างสรรค์ชนชั้นกลางเอาไว้ 10 ข้อ

สำหรับผม กลยุทธ์ธุรกิจของแพลตฟอร์มที่เสนอโดยบทความนี้ช่วยให้เราเข้าใจกลยุทธ์ของคลับเฮาส์ได้ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะ 4 ข้อที่ผมได้เลือกมากล่าวถึงสั้นๆ ในที่นี้

กลยุทธ์ข้อที่หนึ่ง อนุญาตให้นักสร้างสรรค์ได้สร้างมูลค่าจากแฟนตัวยง (Allow creators to capitalize on superfans): คลับเฮาส์อาจจะต่างไปจากแพลตฟอร์มอย่างยูทิวบ์หรือติ๊กต็อก ตรงที่ตั้งใจที่จะเป็นแอปพลิเคชันของ ‘ครีเอเตอร์’ หรือผู้สร้างสรรค์คอนเทนต์ที่มีผู้คนรู้จัก และมีอิทธิพลทางความคิดต่อบรรดาแฟน ๆ จำนวนมากอยู่แล้ว

แอปฯ นี้จึงจงใจเล่นกับความปรารถนาของผู้ใช้ที่จะต้องการกระทบไหล่คนดังด้วยการแชร์ห้องสนทนาหรือได้มีโอกาสร่วมแลกเปลี่ยนบทสนทนา เห็นได้ชัดจากแผนในอนาคตของคลับเฮาส์ ที่มีการเปิดเผยว่าในกรณีของห้องที่มีอินฟลูเอนเซอร์ชื่อดังระดับบิ๊กเนม คลับเฮาส์มีแผนการหารายได้จากห้องสนทนาโดยการขายตั๋วเข้าชม แทนที่จะเป็นการขายโฆษณา

กลยุทธ์ข้อที่สอง ให้ทุนกับนักสร้างสรรค์ที่กำลังมาใหม่มาแรง (provide capital investment to up-and-coming creators): ห้องของคลับเฮาส์จำนวนมากเป็นพื้นที่สำหรับทดลองเสนอไอเดียใหม่ (pitch) ของเหล่า ‘วอนนาบีซีอีโอ (wannabe CEO)’ ธุรกิจสตาร์ทอัพ เพื่อดึงดูดให้กับนักลงทุนเวนเจอร์ได้ตัดสินใจลงขัน ให้ว่าที่ซีอีโอนำเงินไปต่อยอดไอเดียของตัวเอง และด้วยอำนาจของเงินทุนในมือ ผมสังเกตว่านักลงทุนแบบร่วมลงขันดูเหมือนจะเป็นประชากรเสียงข้างมากของโลกคลับเฮาส์เสียด้วย

กลยุทธ์ข้อที่สาม คือ อำนวยให้เกิดความร่วมมือและชุมชน (facilitate collabs and community): ในห้องคลับเฮาส์จำนวนมาก คุณจะเห็นปรากฎการณ์การแบบ ‘โคจรมาพบกัน’ ของเหล่าอินฟลูเอนเซอร์ที่ไม่เคยร่วมงานกันมาก่อน เช่น ปรากฏการณ์ฮือฮาที่ได้เห็น ดร.ปวินพูดคุยกับพิธีกรชื่อดัง วูดดี้ มิลินทจินดาบนห้องสนทนาในคลับเฮาส์ ซึ่งผู้คนไม่เคยเห็นมาก่อนเนื่องจากจุดยืนทางการเมืองที่ต่างกัน

หลักการพื้นฐานของเศรษฐกิจอินฟลูเอนเซอร์ คือ การบริโภคเนื้อหาหรืองานสร้างสรรค์นั้น ย่อมขับเคลื่อนจากปัจจัยพื้นฐานว่าผู้ใช้คลับเฮาส์รู้จักใครอยู่ก่อนแล้ว การสร้างสรรค์ร่วมกันจึงหมายถึงโอกาสที่อินฟลูเอนเซอร์แต่ละคนที่จะได้ผู้ติดตามเพิ่ม เมื่อผู้ติดตามของเซเล็บคนหนึ่งสามารถกลายเป็นผู้ติดตามของเซเล็บอีกคนด้วย

นอกจากนี้ การต้องรักษาระยะห่างทางสังคมของผู้คนในยุคโควิด-19 ยิ่งมีส่วนทำให้คลับเฮาส์กลายเป็นชุมชนออนไลน์ของบรรดาคนงานฟรีแลนซ์ที่ต้องทำงานจากคอมพิวเตอร์ ปรากฎการณ์แปลกแต่จริงอันหนึ่งบนคลับเฮาส์ คือ คนที่ทำงานจากบ้านเข้ามาอยู่ในห้องสนทนาเดียวกัน แต่ไม่ต้องพูดอะไร เพียงนั่งทำงานเป็นเพื่อนกันไปเงียบ ๆ โดยเปิดไมค์ตั้งไว้ให้ฟังเสียงแบ็คกราวน์ของกันและกัน

กลยุทธ์การตลาดข้อสุดท้ายคือ แพลตฟอร์มควรโฟกัสที่เนื้อหาสาระที่มีมูลค่าการเล่นซ้ำต่ำ (Focus on  content types with lower replay value): นั่นคือ สร้างเนื้อหาที่อาจไม่สามารถเล่นซ้ำได้ เพราะเนื้อหาที่สามารถเล่นซ้ำ เช่น เพลง จะทำให้เกิดการกระจุกตัวของความนิยมที่เนื้อหากลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง บทสนทนาของคลับเฮาส์จึงเป็นลักษณะการพูดแล้วผ่านไป ไม่มีการบันทึกเสียง ผู้เข้าฟังที่พลาดครึ่งแรกเพราะเข้ามาทันเฉพาะครึ่งหลังก็ไม่สามารถกรอบทสนทนากลับไปยังตอนเริ่มได้

เศรษฐกิจแบบแพสชั่น
เสรีภาพกับความรู้สึก ‘เสมอภาค’ ของคนชนชั้นเดียวกัน

บทความ “เศรษฐกิจของนักสร้างสรรค์ต้องการชนชั้นกลาง” ดังกล่าวมีข้อโต้แย้งที่สำคัญว่า เศรษฐกิจของครีเอเตอร์จะเติบโตอย่างต่อเนื่อง หากแพลตฟอร์มนั้นสามารถเปิดโอกาสให้ชนชั้นกลางได้เลื่อนสถานะทางเศรษฐกิจ จาก ‘ชนขั้นกลาง’ ขึ้นไปเป็น ‘อีลิท’ ได้ง่าย

แน่นอน ในโลกเสรีนิยมที่ความเหลื่อมล้ำเป็นโอกาสทองมากกว่าจะเป็นวิกฤต แพลตฟอร์มสามารถสนับสนุนให้เกิดการเลื่อนชั้นของชนชั้นกลาง (class mobility) ได้ง่ายขึ้นหากได้ทำตามกลยุทธ์ต่างๆ ที่ได้กล่าวมาแล้ว อันที่จริง บทความนี้ยังได้เสนอกลยุทธ์ข้อหนึ่งที่น่าสนใจอย่างยิ่งยวด นั่นคือ การจัดหารายได้ในรูปแบบของ ‘รายได้พื้นฐานสำหรับความสร้างสรรค์ (Universal Creative Income – UCI)’ กับสมมุติฐานแฝงที่ว่า ผู้ที่มีคอนเทนท์เท่านั้นควรค่าที่จะได้รับสวัสดิการ

แพลตฟอร์มอย่างคลับเฮาส์ถูกสร้างมาเพื่อ ‘ให้ซีน’ กับอินฟลูเอนเซอร์ เป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจแบบแพสชั่น (passion economy) หรือเศรษฐกิจที่ไม่เพียงแต่สร้างมูลค่าให้กับเนื้อหาที่ถูกผลิตขึ้นจากความสนใจของคน แต่ยังสร้างมูลค่าจากความสนใจและความปรารถนาจะแบ่งปันเรื่องราวต่อกันของพวกเรา

คลับเฮาส์ยังมีความน่าสนใจอีกประการ ตรงที่มันทำให้คนชั้นกลางจำนวนมากรู้สึกถึงความ ‘เสมอภาคและเสรีภาพ’ เพราะทำให้คนธรรมดารู้สึกว่าสามารถพูดคุยกับใครก็ได้แม้แต่คนดัง ไม่ต้องยื่นจดหมายขอสัมภาษณ์ ไม่ต้องเสียเงินซื้อตั๋ว อย่างที่มีผู้ใช้รายหนึ่งซักถามอดีตนายกทักษิณ ชินวัตรอย่างดุเดือดถึงความเห็นเรื่องสถาบันกษัตริย์ หรือเหตุการณ์ความรุนแรงโดยรัฐ กรณีกรือเซะ-ตากใบที่ทักษิณมีเอี่ยวอยู่ ถึงแม้ว่าแท้จริงแล้ว ความเสมอภาคในบทสนทนาจะเป็นความเสมอภาค ‘กำมะลอ’ เพราะเป็นความเสมอภาคที่สร้างขึ้นจากการกีดกันคนกลุ่มอื่นที่ไม่สามารถเข้าร่วมคลับให้ออกไปจากบทสนทนาก็ตาม

ผู้ใช้คลับเฮาส์จำนวนมากเชื่อว่า แพลตฟอร์มอย่างเช่นคลับเฮาส์กำลังทำให้สังคมมีความเหลื่อมล้ำลดลง ทั้งที่ผู้ใช้เองมักจะมีตำแหน่งแห่งที่ในทางชนชั้น (class positionality) คล้าย ๆ กัน ทั้งที่ตลกร้ายก็คือ ชนชั้นแอนดรอยด์รวมถึงชนชั้น iOS ที่ไม่มีคอนเน็กชันของคนรู้จัก เป็นคนกลุ่มใหญ่ที่ยังไม่สามารถเข้าใช้แพลตฟอร์มได้

ความเชื่อเรื่องความเสมอภาคนี้ ชี้นิ้วกลับไปยังผู้ใช้คลับเฮ้าส์ที่มืดบอดต่อนโยบายที่กีดกันและลักษณะความเป็นชุมชนปิด (gated community) ของพลเมืองคลับเฮาส์

คลับเฮ้าส์เองจึงไม่ต่างจาก ‘สังคมล้อมรั้วดิจิทัล’ ที่ถูกวางเสาเอกด้วยมูลค่าของเครือข่ายและผู้ติดตามของสมาชิกแต่ละคน ความเอ็กซ์คลูซีฟนี้กลับทำให้ผู้ใช้คลับเฮาส์ ซึ่งล้วนเป็นกลุ่มคนชนชั้นเดียวกัน รู้สึกถึงความปลอดภัย (ปลอดภัยจากการแทรกแซงของมุมมองทางคนชนชั้นที่แตกต่าง) ซึ่งเป็น ‘ความเสมอภาค’ กำมะลอที่สร้างขึ้นเอง

อีกประเด็นที่อาจยังมีผู้พูดถึงไม่มาก ก็คือ การสนทนาแบบสดที่สามารถโต้ตอบได้ทันทีทันใดอาจทำให้เกิดความรู้สึกสำคัญผิดว่านี่คือชุมชนที่ปลอดภัยและเปิดกว้าง (false sense of openness and security) โดยเฉพาะในไทยที่คลับเฮาส์ถูกใช้เป็นชุมชนการเมืองใหม่ เพื่อสนทนาเรื่องที่ไม่ถูกอนุญาตให้พูดในสังคมทั่วไป

ห้องสนทนาประเด็นการเมืองผุดขึ้นราวกับดอกเห็ดไม่เว้นในแต่ละวัน

แต่แน่นอนว่า รัฐบาลจอมสอดส่องไม่เคยปล่อยให้พลเมืองมีบทสนทนาซุบซิบแสลงหูได้นาน ล่าสุดนายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัลฯ (ที่เพิ่งกลายเป็นอดีตรัฐมนตรีและผู้ต้องขังคดีการเมืองหมาดๆ) ต้องออกมาปรามว่าจะต้องเพิ่มการสอดส่องและควบคุมความตื่นตัวทางการเมืองและเสรีภาพในการแสดงออกของคนชั้นกลางผ่านชุมชนคลับเฮาส์

นอกจากประเด็นด้านการเมือง การสนทนาสดที่ปราศจากกฎระเบียบควบคุมเนื้อหาหรือถ้อยคำของผู้ใช้ ทำให้ในประเทศสหรัฐอเมริกา เริ่มมีรายงานข่าวกรณีผู้ใช้คลับเฮาส์ถูกละเมิดสิทธิจากเพื่อนร่วมห้อง จากบทสนทนาที่เข้าข่ายการใช้คำพูดสร้างความเกลียดชัง (hate speech) ไม่ว่าจะเป็นคำพูดแสดงความเกลียดชังชาวยิว ดูถูกผู้หญิง หรือเหยียดหยามคนพิการมากขึ้น

ลักษณะเท่าที่เป็นอยู่ของแอ็ปพลิเคชัน ‘คลับเฮาส์’ จึงทำให้คลับออนไลน์แห่งนี้กลายเป็นเป็นดินแดนลับเฉพาะ ที่เต็มไปด้วยบทสนทนาแบบ ‘เสมอภาค’ ต่อระบบตลาด แต่ในเวลาเดียวกันกลับสร้างความเหลื่อมล้ำระหว่างคนในและนอกคลับในเรื่องการเข้าถึง โดยเฉพาะการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร

นี่เป็นดินแดนแห่งการทำกำไรแห่งใหม่ เป็นพื้นที่แห่งการติดตามและการแสวงหาผู้ติดตาม รวมถึงเป็นพื้นที่สนทนาเสรีที่ปราศจากกฎระเบียบ แต่ผู้ใช้ต้องคอยระมัดระวังตัวกันเอาเองจากความเสี่ยงที่จะถูกก่อกวน (troll) ผ่านอินเทอร์เน็ต

น่าสนใจว่าในอนาคตอันใกล้ เมื่อ ‘คลับปิด’ ถูกพัฒนาจนตัวแพลตฟอร์มสามารถรองรับระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ กลายเป็น ‘คลับเปิด’ แล้ว ชุมชนคลับเฮาส์ในยุคหลังการทลายกำแพงจะยังคงเดิมหรือเปลี่ยนแปลงโฉมหน้าไปเป็นแบบไหน