ประกายไฟลามทุ่ง
รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี
วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
หลังจากอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ปรากฏตัวในแพลตฟอร์มสนทนา Club House พร้อมกับอดีตคณะทำงานพรรคไทยรักไทยเมื่อปี 2544-2548 แม้ประเด็นสนทนาจะนำสู่การตั้งคำถามในหลายประเด็นโดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นทางด้านสังคม สิทธิมนุษยชน หรือรวมถึงความสัมพันธ์ทางการเมืองกับสถาบันพระมหากษัตริย์ กล่าวคือจากประเด็นข้างต้น ทักษิณ ชินวัตร ไม่ได้สะท้อนการปรับตัวตามความก้าวหน้าของประชาชนที่เกิดขึ้นในตลอดช่วงสองปีที่ผ่านมา แม้จะมีแง่มุมด้านเศรษฐกิจที่น่าสนใจและเชื่อว่า จะเป็นแนวทางสำคัญในการทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวหลังวิกฤติโรคระบาด
หากเราเจาะลงไปประเด็นเดียวว่า พรรคไทยรักไทยที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงในการผลักดันหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หากไม่มีรัฐประหารปี 2549 จนถึงปี 2564 อันนับเป็น 20 ปีนับจากการเลือกตั้งปี 2544 ประเทศไทยจะเป็นรัฐสวัสดิการแล้วหรือยัง แน่นอนว่า “ประวัติศาสตร์ไม่มีคำว่า IF” แต่การประเมินปัจจัยหลายด้านประกอบอาจทำให้เราสามาถเข้าใจภูมิทัศน์ของการสร้างรัฐสวัสดิการต่อไปได้ผ่านมิติทางการเมืองต่าง ๆ
หากเราต้องการตอบโจทย์ข้างต้น ก็จำเป็นต้องพิจารณาเงื่อนไขต่างๆอย่างเข้มงวด กล่าวคือหากทักษิณ ชินวัตรจะเป็นนายกรัฐมนตรี ได้ 20 ปี (ครั้งหนึ่งในช่วงประมาณปี 2548 เขาก็เคยประกาศเช่นนั้น)จะต้องมีเงื่อนไขทางการเมืองอะไรบ้าง
- ด้านแรกเขาสามารถประนีประนอมกับสถาบันพระมหากษัตริย์ได้เรียบร้อย
- เขาประนีประนอมกับกลุ่มอนุรักษ์นิยมที่เสียประโยชน์จากนโยบายของเขาได้สำเร็จ
- เขาสามารถขยายนโยบายสวสดิการที่เป็นที่นิยมได้ต่อเนื่อง และจำกัดบทบาทนักการเมืองรอบข้างที่พยายามแสวงประโยชน์จากนโยบายด้านสังคมที่ทำให้ถูกดิสเครดิตจากฝั่งตรงข้าม
- มีกระบวนการรับผิดและตรวจสอบนโยบายด้านสิทธิมนุษยชนที่ทำให้เขาเสื่อมความนิยมจากการยอมรับในระหว่างประเทศ
สี่ข้อนี้ก็เป็นเงื่อนไขที่ลำบากเหมือนกันในช่วงยี่สิบปีที่แล้ว แต่หากพรรคไทยรักไทยทำสำเร็จ ก็หมายความว่าจะไม่มีรัฐประหาร 2 ครั้ง ขบวนการพันธมิตรฯ เสื้อแดง กปปส. หรือแม้แต่การเกิดขึ้นของพรรคอนาคตใหม่ก็อาจไม่ได้เกิดขึ้นตามเงื่อนไขช่วงเวลาปัจจุบัน และหากทักษิณ ชินวัตรทำสำเร็จ และหากเงื่อนไขการเมืองเป็นเช่นนี้ ระบบสวัสดิการในไทยจะได้รับการพัฒนาต่อเนื่อง จนกลายเป็นรัฐสวัสดิการในปี 2564 หรือไม่
คำตอบนี้อาจไม่ใช่คำตอบในลักษณะขาวดำเท่าไรนัก เพราะตามจริงกลุ่มการเมืองซีกของทักษิณ ชินวัตร หากนับตั้งแต่ ปี 2544 ก็มีอำนาจในฐานะนายกรัฐมนตรี รวมแล้วราว 10 ปี จาก 20 ปี คือคุณทักษิณ 5 ปี คุณสมัคร-สมชาย ประมาณ 2 ปี และ คุณยิ่งลักษณ์ อีกประมาณ 3 ปี หรือราว 50% ของช่วงเวลา 20 ปีหลัง ดังนั้นแนวนโยบายสวัสดิการของซีกไทยรักไทย ไล่มาถึงเพื่อไทย ก็คงพอสามารถคาดเดาได้ว่าหากทักษิณ ชินวัตรเป็นนายกรัฐมนตรี 20 ปีเต็มระบบสวัสดิการจะมีการพัฒนาไปในทิศทางใด ผู้เขียนขอชวนร่วมกันประเมินดังนี้
1.ห้าปีแรกของ ทักษิณ ชินวัตร มีนโยบายสร้างชื่อสำคัญคือ หลักประกันสขภาพถ้วนหน้าที่ทำให้คนไทยมากกว่า ห้าสิบล้านคนเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่มีคุณภาพได้ พร้อมกับโครงการบ้านเอื้ออาทรที่แม้จะเข้าถึงผู้คนไม่ได้ตามเป้าแต่นับเป็นนโยบายที่อยู่อาศัยเชิงรุกที่ก้าวหน้าในยุคสมัยนั้น
2.ในรัฐบาล สมัคร สุนทรเวช ได้มีนโยบายมาตรการฉุกเฉินด้านสวัสดิการ และนโยบายนี้คงอยู่หลายปีก่อนแทนที่ด้วย บัตรสวัสดิการแห่งรัฐของ ประยุทธ์ จันทร์โอชา คือการจัดรถเมล์ฟรี รถไฟฟรี ฟรีค่าไฟ และค่าน้ำที่ใช้ไม่ถึงเกณฑ์ เรื่องที่น่าสนใจคือ รัฐบาลพรรคพลังประชาชน เลือกที่จะใช้เกณฑ์สวสดิการในลักษณะทางเลือก แต่ไม่ใช่การพิสูจน์ความจน หากย้อนไปในช่วงนั้นก็คือ รถเมล์ฟรีที่วิ่งวน ก็เป็นสิทธิของทุกคนที่จะเลือกขึ้น รถไฟฟรีที่มีรายขบวนก็เป็นสิทธิของคนที่จะเลือกขึ้น โดยไม่มีการแบ่งชนชั้นหรือคุณภาพ
3.รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จากพรรคเพื่อไทย ปรับปรุงนโยบายเบี้ยผู้สูงอายุเพิ่มเติมจากรัฐบาลอภิสิทธิ์ คือการเพิ่มเป็นขั้นบันไดตามอายุ สูงสุด 1,000 บาท และยังริเริ่มนโยบายการรักษาพยาบาลฉุกเฉินไม่มีค่าใช้จ่าย พร้อมทั้งการปรับค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศที่เพิ่มขึ้นราว 40% ของปีก่อนหน้าเพื่อสอดคล้องกับค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น
แต่ก็ยังนับว่าเป็นเรื่องยากที่จะพูดถึงว่าทักษิณ ชินวัตร มีความมุ่งมั่นในการสร้างรัฐสวัสดิการ งานวิจัยของ ณฐนภ ศรัทธาธรรม บัณฑิตหลักสูตร ปรัชญา การเมืองและเศรษฐศาสตร์ เรื่องเศรษฐศาสตร์การเมืองว่าด้วย แนวทางแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำไทยในกระแสเสรีนิยมใหม่ กรณีศึกษานโยบายรัฐไทยตั้งแต่หลัง 1997 ถึง ปัจจุบัน ที่ผู้เขียนมีโอกาสเป็นที่ปรึกษาภาคนิพนธ์ได้เทียบเคียง นโยบายลดความเหลื่อมล้ำสามยุค ได้แก่ ชวน หลีกภัย ทักษิณ ชินวัตร และ ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่านโยบายของรัฐบาลใดมีความก้าวหน้า หรือเข้าใกล้ความเป็นรัฐสวัสดิการมากกว่ากัน
โดยงานวิจัยได้เทียบเคียงความสามตัวชี้วัดสำคัญ คือ ค่าใช้จ่ายด้านสวัสดิการ นโยบายด้านแรงงาน และ นโยบายด้านภาษีอัตราก้าวหน้า (ก้าวหน้ามากขึ้นและเก็บคนรวยมากขึ้น หรือทำให้การเลี่ยงภาษีได้ยากขึ้น) จากงานวิจัยนโยบายลดความเหลื่อมล้ำในรัฐบาลทั้งสามยุค
ปรากฏว่าแม้จะมีนโยบายสวัสดิการที่แตกต่างกันตามฐานผู้สนับสนุน แต่จุดร่วมที่มีเหมือนกันคือ การปราศจากนโยบายด้านการคุ้มครอง หรือส่งเสริมการรวมตัวของผู้ใช้แรงงาน รวมถึงนโยบายที่เพิ่มอัตราความก้าวหน้าของภาษีที่ไม่ปรากฏในกลุ่มนโยบายของสามรัฐบาลแต่อย่างใด
ดังนั้นแม้ประวัติศาสตร์จะไม่มี IF แต่การที่จะพิจารณาถึงเส้นทางการลดความเหลื่อมล้ำและเดินหน้าสู่รัฐสวัสดิการ จำเป็นต้องมีองค์ประกอบทั้งสามด้านที่ครบถ้วน และจากความเห็นของคุณทักษิณ ชินวัตรในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ก็ยังไม่มีภาพสะท้อนในการปรับปรุงเงื่อนไขการสร้างการคุ้มครองของแรงงาน เสรีภาพการรวมตัว หรือนโยบายภาษีที่จะจำกัดการขยายตัวของกลุ่มทุนขนาดใหญ่
ดังนั้นในสายตาของผู้เขียน ลำพังคุณทักษิณ ชินวัตรหากกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีคงไม่ได้ผลักดันให้รัฐสวัสดิการเป็นวาระหลัก อย่างไรก็ตามในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2564 กลุ่ม CARE คิดเคลื่อนไทยซึ่งมีอดีตคณะทำงานของรัฐบาลไทยรักไทยส่วนหนึ่ง ได้จัดงานเสวนา ซึ่งสะท้อนลักษณะแนวคิดรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า
นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี (หมอเลี้ยบ) ได้กล่าวในงานถึงประเด็นที่สำคัญนอกจากการรื้อฟื้นแนวคิดรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า หมอเลี้ยบยังพูดในสิ่งที่สะท้อนการต่อสู้เรื่องรัฐสวัสดิการในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาได้อย่างครบถ้วนคือ “คิดให้ง่าย อยากให้คนสุขภาพดีก็ให้รักษาพยายาลที่ดี อยากให้คนมีความคิดก็ให้การศึกษาฟรีและดี อยากให้คนแก่มีความสุขก็ทำให้ทุกคนมีบำนาญ อยากให้ไม่มีคนจนก็ให้ทุกคนมีเงินเดือนพื้นฐานถ้วนหน้า UBI” มันคือสิ่งท้าทาย แต่หมอเลี้ยบย้ำว่า ก่อนที่เราจะมี 30 บาท เรื่องรักษาฟรีก็เป็นเรื่องเพ้อเจ้อ
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ปรากฏคือคณะทำงานท่านอื่นดูเหมือนจะเข้าใจเรื่องรัฐสวัสดิการกันคนละทิศคนละทางกับ นพ.สุรพงษ์ เพราะสุดท้ายแล้วข้อเสนอก็ยังไปจบอยู่เพียงแค่ Negative Income Tax หรือระบบการคืนภาษีให้คนจนให้ได้รับสวัสดิการ ซึ่งสำหรับผู้เขียนนโยบายนี้ไม่ได้ต่างกับนโยบายบัตรสวัสดิการแห่งรัฐอย่างมีนัยสำคัญ เพราะยังทำให้ผู้คนในประเทศวางแผนไม่ได้อยู่ดี
เมื่อสวัสดิการที่ได้รับยังไม่ใช่สิทธิพื้นฐานโดยกำเนิด และคุณทักษิณ ซึ่งบันทึกคลิปในงานดังกล่าวก็ยังไม่ฟันธงว่า รัฐสวัสดิการ+ UBI (เงินเดือนพื้นฐานถ้วนหน้า) หรือ Negative Income Tax จะใช้นโยบายไหนนำดี เรื่องนี้จึงยากในการประเมินนโยบายหาเสียงต่อไป ซึ่งหากจัดหมอเลี้ยบคือซีกซ้ายของกลุ่ม CARE ก็คงต้องพยายามอย่างมาก เพราะปี 2021 แนวคิดเสรีนิยมใหม่เติบโตมาก ซึ่งต่างจากปี 2001 ที่สังคมไทยตอนนั้นยังพอมี ฉันทามติเรื่องการหาสังคมทางเลือก และกระแสซ้ายในกลุ่มคนเดือนตุลา ช่วงนั้นก็ยังอายุ 40 ต้น ๆ ขณะที่ตอนนี้เป็นเลข 6 หมดแล้ว
ไม่ว่าอย่างไรก็แล้วแต่ สิ่งที่ผู้เขียนอยากย้ำจุดนี้คือ เมื่อกระแสรัฐสวัสดิการเติบโตมากขึ้น พร้อมกับการต่อสู้ทางการเมืองของคนรุ่นใหม่ เราไม่สามารถแยกความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ความเสมอภาค การเติบโตทางเศรษฐกิจ สิทธิมนุษยชน ความเป็นประชาธิปไตย และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ออกจากกันได้ ตอนนี้มันกลายเป็นเรื่องเดียวกันที่ทุกกลุ่มการเมืองจำเป็นต้องทำการบ้านและยกระดับวาระเหล่านี้พร้อมกันอย่างเร่งด่วนโดยไม่จำเป็นต้องทิ้งวาระใดไว้ข้างหลัง
ภาคนิพนธ์ของ ณฐนภ ศรัทธาธรรมเข้าถึงได้ที่ https://drive.google.com/file/d/1GNFz1C-6NoI4571wW9D4KCK4V38UMMCQ