สหายขัปปะ ตัวละครเดิมในความหมายใหม่ - Decode
Reading Time: 2 minutes

เจ้าอยากเกิดมาบนโลกใบนี้หรือไม่ จงคิดให้ดีแล้วตอบมา

คำถามแรกเกิดที่พ่อขัปปะ ป้องปากถามลูกในท้องผ่านช่องคลอดภรรยา เพื่อถามความสมัครใจของการถือกำเนิดขึ้นบนโลก หากขัปปะน้อยปฎิเสธการเกิด หมอตำแยจะเอาแท่งแก้วเป่าสารเคมีเข้าท้องแล้ว แฟ่บ เด็กหายไป

ในโลกขัปปะ เด็กเลือกเกิดได้ตามความสมัครใจของพ่อแม่และเด็ก แนวคิดร่วมสมัยนี้ตีความได้กับการทำแท้งในสังคมปัจจุบัน เป็นหนึ่งในส่วนที่ฉันชอบมากที่สุดของวรรณกรรมเรื่องขัปปะ โดยริวโนะซุเกะ อะคุตะงาวะ นักเขียนชื่อดังของญี่ปุ่น (ค.ศ.1892-1927) ผู้เขียนเรื่อง ราโชมอน อันเป็นที่รู้จักทั่วโลก อะคุตะงาวะในวัย 35  ปี

สี่เดือนหลังเขียนเรื่องขัปปะ เขาฆ่าตัวตายด้วยการกินยาพิษกลับคืนสู่ธรรมชาติเช่นเดียวกับตัวละครหนึ่งในเรื่องที่ฉันรักมากที่สุด

ฉันรู้จักขัปปะครั้งแรกในนามตัวตลก ตกใจกลัวมนุษย์ในการ์ตูนเล่มหนึ่ง เป็นสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ มีแอ่งจานน้ำบนหัว ปากแหลมเป็นจงอย เท้าและมือเป็นพังพืดใช้ว่ายน้ำ ขนาดตัวสูงราวหนึ่งเมตร ขัปปะ มักปรากฎในนิทานปรัมปราพื้นบ้านของญี่ปุ่น มันน่ารักและน่าแกล้งในภาพจำของฉันจากการ์ตูนเล่มนั้นที่อ่านวัย 10 ขวบ ช่วงวัยสุดท้ายก่อนจบการศึกษา ช่วงเวลาปั่นวิทยานิพนธ์และเริ่มตั้งคำถามกับความไม่แน่นอนของชีวิต การงาน ความฝัน และตัวตน ผู้ใหญ่ใจดีท่านหนึ่งยื่นหนังสือเรื่อง ขัปปะ ตัวละครเดิมในความเข้าใจใหม่ให้ฉัน ในวันที่สับสนและอยากหนีหายไปจากสถานะเดิมที่เป็นอยู่

วรรณกรรมเรื่องนี้เป็นนิยายประเภท Gulliver’s Tale คือเรื่องราวเกี่ยวกับการผจญภัยของตัวเอก เล่าเรื่องราวของคนไข้หมายเลข 23 ในโรงพยาบาลโรคจิตแห่งหนึ่งที่เผลอหลุดเข้าไปในโลกของขัปปะ ชายคนนั้นใช้สรรพนามว่า ข้าพเจ้า แทนสายตาเล่าเรื่องต่าง ๆ ที่พบเจอ

โลกของขัปปะเป็นเสมือนโลกกลับด้านของมนุษย์ บางสิ่งที่มนุษย์ยึดถือจริงจังกลายเป็นเรื่องตลกในโลกขัปปะ ในขณะที่เรื่องน่าขันในโลกนั้นเป็นสิ่งโหดร้ายในสายตาของโลกมนุษย์ ในเรื่องไม่บอกช่วงเวลาที่เขาติดอยู่ในโลกขัปปะ แต่คงนานหลายปีจนเขาเรียนรู้ปรับตัวเป็นส่วนหนึ่งกับสังคมนั้นได้ และบอกเรากลาย ๆ ว่าเขารู้สึกเป็นพวกเดียวกับขัปปะมากกว่ามนุษย์ สหายขัปปะของผู้เขียนแทนค่ามนุษย์ในสังคมผ่านสายตาหมองหม่นต่อโลก เพราะช่วงที่ผู้เขียนแต่งเรื่องนี้คือช่วงสุดท้ายของชีวิตที่เขาทนทุกข์กับอาการป่วยทางจิต มีภาวะภาพหลอนวิตกกังวลกับอนาคต และการนอนไม่หลับติดต่อกันมา 6 เดือน ส่วนหนึ่งของการป่วยไข้นี้เขาเชื่อว่าเป็นมรดกอัปลักษณ์ทางพันธุกรรมที่ถ่ายทอดมาจากแม่ของเขาที่ตายไปในวัยเด็ก

อะคุตะงาวะมีมุมมองลบต่อความเป็นครอบครัว เขาเชื่อว่าครอบครัวและเครือญาติคือตัวถ่วงที่เขาเลือกไม่ได้ ซึ่งสะสมมาจากประสบการณ์ในชีวิตที่มีต่อครอบครัวที่ให้กำเนิด และภาระที่ต้องแบกรับหนี้สินจากน้องเขยที่ชิงฆ่าตัวตาย ทิ้งภาระไว้ให้เขาแบกรับ แบกพร้อมไปกับอาการป่วยและความล้มเหลวทางการงานและหมดศรัทธาในตัวเอง ทค คือตัวละครขัปปะที่แทนค่าตัวเขาในโลกขัปปะ ทคเป็นกวีที่เชื่อในธรรมชาตินิยม มุ่งหวังการเป็นส่วนหนึ่งกับธรรมชาติ เขาอยู่อย่างสันโดษและไม่เชื่อในความงามของความรักตามนิยามคำว่าครอบครัว การตั้งคำถามกับความเห็นแก่ตัวของคนเลือกฆ่าตัวตาย คล้ายกับการตั้งคำถามกับตัวเองของผู้เขียน

หลายฉากในเรื่องขัปปะสะท้อนความโหดร้ายของสังคมมนุษย์ ฉากหนึ่งที่ฉันชอบที่สุด (เปิดเผยเนื้อหาสำคัญ ใครยังไม่อ่านข้ามได้ฮะ) คือ บทสนทนาเรื่องกินเนื้อขัปปะ ผู้เป็นกรรมกรไร้ประโยชน์ที่สังคมขัปปะมองว่าเป็นเรื่องปกติ การบดกินเนื้อแรงงานเปรียบได้กับสังคมทุนนิยมที่บดกินมนุษย์ผู้พ่ายแพ้ต่อระบบ ขณะเดียวกันคนในสังคมบางกลุ่มมองไม่เห็นและเพิกเฉยให้การบดกินนี้เกิดขึ้นไปเรื่อย ๆ โดยด้านชาไร้ซึ่งความเห็นใจ

กรรมกรยอมให้เขาฆ่าโดยดีหรือ ข้าพเจ้าถาม
ถึงจะโวยวายไปก็ไม่มีทางรอด เพราะเรามีกฎหมายอนุญาตให้ฆ่ากรรมกรไว้แล้ว
รัฐบาลช่วยจัดการให้ จะได้ไม่อดตายหรือฆ่าตัวตาย แค่ดมแก๊สพิษนิดเดียวเท่านั้น ไม่เจ็บปวดอะไรหรอก

ในฐานะสื่อสารมวลชน ฉันเชื่อมโยงกับความรู้สึกอึดอัดและตั้งคำถามต่อสถานะอิสระของสื่อ นักเขียน และศิลปินที่ผู้เขียนเล่าผ่านมุมมองของโลกขัปปะ เขาเชื่อว่าศิลปะควรเป็นอิสระจากอำนาจการควบคุมใด ๆ ทั้งการเมืองและความดีเลว การเซ็นเซอร์คืออาชญากรรมที่กระทำโดยผู้มืดบอดทางศีลธรรม เหมือนผู้ฟังที่ไร้หู หรือมีหูแต่เลือกไม่ได้ยิน ซึ่งทรรศนะนี้ได้รับการถกเถียงและชำระทางวัฒนธรรมในสังคมญี่ปุ่นนานมาแล้ว ในขณะที่บางประเทศแถว ๆ นี้ยังไม่กล้าตั้งคำถามหรือเลือกหลบเลี่ยงเพื่อเอาตัวรอด

วรรณกรรมเล่มนี้สำหรับตัวฉันคือหนังสือที่หยิบอ่านได้ในทุกช่วงวัยของชีวิต ขัปปะและมุมมองต่อโลกหลบเร้นนั้นเปลี่ยนไปเสมอเมื่อขวบวัยเราเปลี่ยนผ่าน คุณจะหยิบอ่านเพื่อความสนุกเพลิดเพลินกับเรื่องราวที่ ข้าพเจ้า พบเจอก็ได้ หรือจะอ่านเพื่อตีความสิ่งที่ผู้เขียนแฝงไว้ก็ดี

ฉันนัดหมายกับ นิวัต พุทธประสาท บรรณาธิการสำนักพิมพ์เม่นวรรณกรรมที่พิมพ์หนังสือเล่มนี้ที่ฉันถืออยู่ เรานัดคุยกันในบ่ายวันหนึ่งที่แสงแดดอบอุ่น เงาจากต้นไม้ข้องบ้าน พาดผ่านโต๊ะสัมภาษณ์ระหว่างฉันและคุณนิวัต ข้าง ๆ มีแมวเจ้าของบ้านนอนหลับแอบฟังเราอยู่ ฉันถามถึงฉากที่ประทับใจ ฉากทำแท้งที่ร่วมสมัยกับวาระถกเถียงในสังคมไทยเป็นหนึ่งในฉากที่เขาชอบ เช่นเดียวกับฉากกินเนื้อขัปปะที่นิวัติกล่าวว่า เป็นสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในช่วงโควิด-19

“เราคนไหนอาจจะคิดแบบขัปปะก็ได้ ขัปปะอาจมองว่าเรื่องนี้รับได้ แต่มนุษย์เราจะยอมรับแบบนั้นเหรอ เมื่อเห็นสภาพแบบนี้แล้ว คนที่ต้องถูกบดเป็นเนื้อกระป๋องเราไม่สามารถยอมรับมันได้หรอก ไม่ว่าเราจะเป็นระบบทุนนิยม คนกินเนื้อคนขนาดไหนเราก็ยอมรับมันไม่ได้ เราปล่อยให้คนถูกบดขยี้แบบนี้ไม่ได้

ยิ่งโควิดเรายิ่งเห็นสภาพของความช่วยเหลือของรัฐบาล ความเข้าไม่ถึงประชาชน ประชาชนด้อยโอกาสถูกบดขยี้ไปเรื่อย ๆ แบบนั้นเหมือนกัน เรามองเห็นคนจนชิงโชคเงินห้าพันเจ็ดพัน แย่งกันลงทะเบียนตั้งแต่เช้ามืด เปิดมาแค่ 9 นาทีก็หมด นี่คือการบดขยี้คนให้เหมือนไม่มีคุณค่า ต้องชิงโชคเพื่อต่อชีวิตไปวัน ๆ เขาควรมีคุณค่ามากกว่านั้น”

งานเขียนของอะคุตะงาวะนอกจากจะเสียดสีสังคมได้อย่างแยบยลแล้ว เสน่ห์อย่างหนึ่งที่นิวัติชื่นชมในนักเขียนผู้นี้คือการหยิบยกรูปแบบการเขียนนิทานโบราณของญี่ปุ่นมาปรับปรุง มาเขียนใหม่โดยใช้ฉากในอดีตมาเล่าใหม่อย่างร่วมสมัย ทำให้ผู้อ่านรู้สึกใกล้ชิดกับวัฒนธรรมของญี่ปุ่น เพราะในสมัยนั้นไม่ค่อยมีใครทำ งานของเขาจึงได้รับความนิยม ขัปปะนับเป็นนิยายแปลเรื่องแรกของสำนักพิมพ์เม่นวรรณกรรมเพราะเป็นหนังสือที่นิวัติประทับใจตั้งแต่สมัยเรียนมหาวิทยาลัย เมื่อมีโอกาสได้ทำหนังสือ เขาจึงเลือกพิมพ์เรื่องนี้ โดยใช้สำนวนแปลของอาจารย์กัลยาณี สีตสุวรรณ เล่มปัจจุบันที่ฉันอ่านคือฉบับตีพิมพ์ครั้งที่ 4

“ขัปปะในตัวหนังสือไม่เปลี่ยน แต่ความหมายที่เราอ่านมันเปลี่ยน อะไรที่เราเคยเห็นในหนังสือเล่มนี้ที่เป็นเรื่องเศร้า ตลกหรือเสียดสี พอมาอ่านตอนนี้มันอีกแบบนึงเลย เราเข้าใจความหมายของฉากนั้นมากขึ้น ทำให้เรื่องที่สนุก ๆ กลายเป็นเรื่องที่จริงจังขึ้นมาได้เหมือนกัน” นิวัติกล่าว

ชอบตัวละครไหนที่สุดในเรื่องขัปปะ
“ชอบตัวละคร ข้าพเจ้า ที่สุด ข้าพเจ้าคือคุณอะคุตะงะวะในโลกมนุษย์ เขารับฟังเรื่องในสังคมขัปปะได้เป็นอย่างดี แล้วรู้สึกว่าเขาเป็นพวกเดียวกันกับขัปปะด้วยซ้ำ สิ่งที่ขัปปะแสดงออกมา เขาน่าจะเป็นมนุษย์คนเดียวที่ยอมรับเรื่องพวกนี้ได้ ขัปปะจึงเป็นอีกด้านหนึ่งที่เขากำลังใฝ่หาด้วยเหมือนกัน เขารับฟังแล้วไม่ได้รู้สึกต่อต้านกับสิ่งที่เหล่าขัปปะทำกลับด้านกับสังคมมนุษย์ พอเขากลับถึงโลกมนุษย์ เขาจึงโหยหาการกลับสู่ดินแดนของขัปปะอีกครั้งหนึ่งด้วยเหมือนกัน

ในฐานะที่เขาไม่มีปากมีเสียง แต่ว่าเป็นตัวเล่าเรื่องที่โคตรเศร้าเลย ถ้าเอาไปทำเป็นหนัง นี่คือตัวละครที่เราต้องคอยรองรับไม่ให้เขาร่วงหล่น เขาจัดหนักในเรื่องราวทางสังคมเหมือนกัน หลาย ๆ ประเด็นที่คนไม่ค่อยพูดถึง แล้วเพิกเฉยกับมันพอสมควร เช่น ทำแท้ง กรรมกรโดนบด ที่ถือว่าเป็นเรื่องสยดสยองเป็นลำดับต้น ๆ ของการอ่านเรื่องนี้เลย”

ในฐานะบรรณาธิการ นิวัติกล่าวว่าวรรณกรรมเล่มนี้เหมาะมากกับนักอ่านชาวไทย เพราะสนุกอ่านได้ 2 แบบ อ่านเอาสนุกติดตามการผจญภัย และอ่านเอานัยยะ ทัศนคติทางสังคม การเมือง วัฒนธรรมของเรื่อง ลักษณะแบบนี้หายากมากในนิยายหนึ่งเรื่อง

“แม้ว่าตัวหนังสือยังเหมือนเดิม ยังเป็นขัปปะตัวเดิม แต่เราอ่านเรื่องนี้เปลี่ยนไปแล้ว เราได้มุมมองแตกต่างในแต่ละยุค แสดงว่าเล่มนี้มันเป็นงานอมตะแน่ ๆ มันสามารถทำให้เราเข้าใจในตัวเนื้อเรื่องมากขึ้น ลึกซึ้งมากขึ้นเมื่ออ่าน เมื่อเรามีอายุมากขึ้น แสดงว่านิยายเรื่องนี้มีชีวิต แม้จะเป็นเรื่องราวของสังคมญี่ปุ่นหลายสิบปีมาแล้ว แต่ยังทำงานกับสังคมไทยได้”

การฆ่าตัวตายในสังคมญี่ปุ่นกับความต่างในสังคมไทย
มุมมองการฆ่าตัวตายของสังคมญี่ปุ่นแตกต่างจากสังคมไทยพอสมควร ในสังคมญี่ปุ่นจะมองการฆ่าตัวตายเป็นเรื่องปกติโดยเฉพาะนักเขียนญี่ปุ่นมองเรื่องการฆ่าตัวตายเป็นเกียรติยศด้วยซ้ำ เช่น การคว้านท้องต่อหน้าสาธารณะ เป็นการฆ่าตัวตายที่เป็นเกียรติสูงสุด ฉะนั้นมุมมองของการฆ่าตัวตายในญี่ปุ่นจึงไม่ได้เป็นเรื่องที่เหมือนมุมมองของไทย

“การฆ่าตัวตายของอะคุตะงะวะมีคนมาคารวะศพเต็มบ้าน ไม่ได้มีการพูดถึงความเสียดายที่จากไป พออะคุตะงาวะทำงานเล่มสุดท้ายเสร็จ ทุกอย่างถูกยกออกมาหมด ไม่มีอะไรติดค้าง เขารู้สึกว่าเป็นเวลาสมควรแล้ว อย่างที่บอกว่ามุมมองการตายของญี่ปุ่นกับไทยต่างกัน เพราะฉะนั้นมันก็เป็นเรื่องนึงที่ปกติที่เราไม่เข้าใจเวลาที่เห็นคนฆ่าตัวตาย เพราะว่าส่วนใหญ่คนก็ไม่รู้หรอกว่าทำไมเขาถึงฆ่าตัวตาย ก็ไม่ใช่เรื่องที่เขาเห็นแก่ตัวแน่ ๆ”  นิวัติกล่าว

อะคุตะงาวะเป็นธรรมชาตินิยม เขาใฝ่ฝันที่จะเป็นอิสระจากสิ่งทั้งปวง ทั้งทางร่างกายและจิตวิญญาณ อันเป็นจุดเริ่มต้นที่เขาสนใจในศาสนาคริสต์ และในจดหมายลาตายของเขาก็พูดถึงการกลับคืนสู่อ้อมกอดของธรรมชาติและความสงบที่เขาใฝ่หาตลอดมาหลังการป่วย

ตอนนี้ผมอาศัยอยู่ในโลกโปร่งใสจากผู้ที่จิตขุ่นมัว ธรรมชาติดูงดงามกว่าที่มันเคยเป็นเสียอีก คุณคงหัวเราะเพราะความย้อนแย้งต่อความรักธรรมชาติ และการฆ่าตัวตายของผม เหตุที่ธรรมชาติงดงามนั้น เพราะว่ามันมาหาผมในช่วงเวลาสุดท้ายนี้เอง

คำถามส่งท้ายการสัมภาษณ์วันนั้น ฉันสมมติโลกขัปปะของสังคมไทยในสายตาของนิวัติ เขาตอบฉันสั้น ๆ พร้อมหัวเพราะส่งท้ายว่า

“น่าจะเละเทะมาก น่าจะเต็มไปด้วยความไม่มีกฎ ไม่มีความยุติธรรม ทุกอย่างกลับหัวยิ่งกว่าโลกขัปปะของญี่ปุ่น เราอาจจะเห็นผู้นำเควี้ยงกล้วยได้เป็นเรื่องปกติ และทุกคนเห็นว่ามันเป็นเรื่องธรรมดา”

PlayRead: คอลัมน์รีวิวหนังสือประจำ Decode.plus เมื่อกองบรรณาธิการขอ add หนังสือ (ที่อยากอ่าน) ขึ้นไว้บนเพลย์ลิสต์ พบกับหนังสือหลากหลายสไตล์ หลากหลายวิธีการเล่าเรื่องที่เชื่อมร้อยกับชีวิตและสังคม แวะมาหาอ่านกันได้ทุกเย็นวันพฤหัสบดี