ซื้อ “ตั๋วช้าง” ตั้งแต่เกิดจนเกษียณ ใบเบิกทางเพื่อโกงความตาย แต่กลายเป็นเรื่องปกติในชีวิตที่ไร้รัฐสวัสดิการ - Decode
Reading Time: < 1 minute

ประกายไฟลามทุ่ง

รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี
วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

วันที่ 19 กุมภาพันธ์การอภิปรายไม่ไว้วางใจของ รังสิมันต์ โรม ส.ส.พรรคก้าวไกล ได้นำประเด็น “ตั๋วช้าง” เข้าสู่การถกเถียงในรัฐสภา โดยพูดถึงระบบเส้นสายในการเลื่อนขั้นข้าราชการตำรวจ กล่าวโดยสรุปคือ ตั๋วช้าง ถูกตั้งข้อสังเกตว่าคือการซื้อขายตำแหน่งผ่านระบบอุปถัมภ์ หากมีตั๋วช้าง หรือการฝากตัวอยู่ใต้อำนาจอุปถัมภ์ของกลุ่มอำนาจหนึ่ง ก็จะสามารถเติบโตในหน้าที่การงาน ระยะเวลาที่ใช้ในการเลื่อนตำแหน่งน้อยลง หรือแม้แต่เงินที่ใช้ในกระบวนการได้มาซึ่งตำแหน่งต่าง ๆ ก็น้อยลง

แม้ทุกคนจะทราบกันเป็นปกติถึงระบบการซื้อขายตำแหน่งในระบบราชการแต่การเปิดเผยแบบตรงไปตรงมา รวมถึงเอกสารขอความอนุเคราะห์อย่างเป็นทางการกลายเป็นสิ่งที่ชวนตั้งคำถามว่า ในสังคมไทยเราสามารถยอมรับว่า “ตั๋ว” เป็นสิ่งปกติได้มากน้อยแค่ไหน หรือจริง ๆ เราทุกคนล้วนเคยใช้ “ตั๋วช้าง” ในรูปแบบที่แตกต่างกันในโครงสร้างสังคมที่เหลื่อมล้ำและต้องเกาะเกี่ยวระบบอุปถัมภ์

บทความนี้จะชวนทุกท่านมองถึงกระบวนการที่ทำให้ “ตั๋วช้าง” กลายเป็นเรื่องปกติในสังคมที่ไร้รัฐสวัสดิการอย่างประเทศไทย

แรกเริ่มเมื่อเราจะเกิด พ่อแม่ที่มีเงินสามารถ “ซื้อตั๋วช้าง” ใบแรกให้แก่เรา สำหรับประเทศไทยมีสิทธิการลาคลอดทั้งหมดเพียงแค่ 98 วัน โดยที่แรงงานอิสระกว่า 20 ล้านคนก็ไม่สามารถหยุดงานได้ขณะตั้งครรภ์ บางอำเภออาจมีหมอประจำโรงพยาบาลประจำอำเภอเพียงแค่ 4 คน เราอาจใช้สิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้าในการทำคลอดโดยไม่มีค่าใช้จ่าย แต่ด้วยทรัพยากรและการบริการ และหากอยากเกิดในสภาพที่คุณรู้สึกปลอดภัย การคลอดที่โรงพยาบาลเอกชน จะต้องใช้ค่าใช้จ่าย เริ่มต้นที่ 30,000 บาท และหากครอบครัวคุณอยากเอาชนะโชคชะตาขึ้นมาอีกหน่อย คุณก็สามารถเอาชนะด้วยตั๋วผ่าคลอดแบบระบุวัน โดยมีสินน้ำใจให้แพทย์เพิ่มเล็กน้อย ก็จะสามารถได้วันเดือนปีเกิดที่เหมาะสมถูกใจได้ (ประเด็นนี้เคยมีกรณีกุมารแพทย์สะท้อนปัญหาว่าการพยายามคลอดตามฤกษ์ยามทำให้ทรัพยากรการดูแลเด็กแรกเกิดคลอดก่อนกำหนด ถูกใช้มากโดยไม่จำเป็น) เพียงแค่เกิดเราเริ่มทำความรู้จักกับตั๋วช้างกันโดยอ้อม

เมื่อเราโตขึ้นถึงวัยเรียน แม้ทางกระทรวงศึกษาพยายามกวดขันขนาดไหนก็ยังมีค่า “แป๊ะเจี๊ยะ” เกิดขึ้น เพื่อยืนยันว่าเราจะสามารถเข้าโรงเรียนที่มีชื่อเสียง ใกล้บ้านมีคุณภาพ มีสังคมที่ดีได้ แต่ถ้าเราไม่พอใจกับระบบแป๊ะเจี๊ยะของโรงเรียนรัฐ ประเทศไทยก็ยังสร้างระบบการศึกษาไทย ก็สร้างระบบแป๊ะเจี๊ยะโดยชอบธรรมในโรงเรียนอกชน ในค่าใช้จ่ายแรกเข้า หรือการจ่ายค่าเทอมที่แพงมากขึ้นเพื่อให้การแข่งขันน้อยลง หรือการรับรองว่าจะได้การศึกษาที่มีคุณภาพ โรงเรียนเอกชนที่ราคาแพงที่สุดในประเทศไทยราคาสูงถึงปีละ 1,000,000 บาท หรือโรงเรียนชั้นนำที่เป็นที่ยอมรับในกรุงเทพ หรือตามเขตเมืองใหญ่ ๆ ล้วนมีค่าใช้จ่ายส่วนนี้ที่สูงเช่นกัน เรามองว่ามันเป็นเรื่องปกติ ที่เราต้องจ่ายแพงเพื่อโอกาสและชีวิตที่ดี นี่ก็อาจเป็น “ตั๋วช้าง” อีกใบที่เราคุ้นเคย

เมื่อพ่อแม่หรือลูกของเราเจ็บป่วย หากเรารู้จักกับผู้อำนวยการโรงพยาบาล หอการค้าจังหวัด สภาอุตสาหกรรม เราอาจได้เตียงโรงพยาบาล เราอาจได้รับคำแนะนำเป็น “ตั๋ว” สู่หมอที่ถูกเชื่อว่าเก่งและดีที่สุด เราอาจสามารถฝากฝังให้ดูแลเป็นพิเศษได้ ถ้าเราไม่พอใจกับระบบนี้ก็จะมี “ตั๋ว” อีกประเภทในโรงพยาบาลเอกชน และบริษัทประกันสุขภาพ ถ้าเราจ่าย “ตั๋ว” พวกนี้ได้แพงมากพอเราจะลัดคิวทุกอย่างได้ในชีวิต และโกงความตายได้จริง ๆ

ก่อนเราจะเข้ามหาวิทยาลัยด้วยระบบสอบคัดเลือกและระบบแพ้คัดออก กรองคนด้วยการซื้อตั๋วโดยปริยาย ถ้าเรามีเงินมากพอเราก็สามารถกวดวิชาอะไรก็ได้ สาขาใดก็ได้ จ้างครูมาสอนที่บ้านได้ หรือเลือกเรียนสาขาที่ค่าใช้จ่ายสุงเพราะกรองคนจำนวนหนึ่งออกไปโดยปริยาย เช่นเดียวกับที่หากคุณมีเวลา ค่าเดินทาง และความสามารถในการลองผิดลองถูกมากพอคุณก็สามารถที่จะมีสอบเข้าหลักสูตรต่างๆได้ ถ้าคุณมาจากครอบครัวรายได้น้อยคุณต้องเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์ความจน แต่ถ้าชีวิตคุณปลอดภัยทางเศรษฐกิจ คุณสามารถมีเวลาตั้งใจเรียน ทำกิจกรรม หาคอนเน็คชัน สอบภาษาอังกฤษ และคว้าตั๋วช้างต่าง ๆ อีกมากมายในชีวิต เพื่อเบิกทางสู่ระบบราชการ ภาคธุรกิจขนาดใหญ่ หรือศึกษาต่อต่างประเทศ

สุดท้ายก่อนคุณจากโลกนี้ไป หากคุณไม่มีเงินพอที่จะซื้อ “ตั๋วช้าง” ใบสุดท้ายของคุณ หรือหลักประกันคุณภาพชีวิตที่ดีวัยเกษียณ ระบบดูแลผู้สูงอายุที่มีหลายราคาตั้งแต่ 2 ล้านบาทถึง 10 ล้านบาทคุณก็ต้องผูกชีวิตตัวเองไว้กับความกตัญญูของลูกหลาน การประหยัดอดออม หรืออาจต้องทำงานจนตาย เพื่อประทังชีวิตที่ไร้หลักประกัน เราล้วนถูกทำให้เข้าใจว่าระบบ “ซื้อขายตั๋ว” ทางผ่านชีวิตเพื่อโกงความตายกลายเป็นเรื่องที่ปกติที่สุดในชีวิตที่ไร้รัฐสวัสดิการ

หากเราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงฐานคติการเอาตัวรอดในฐานะปัจเจกชนสู่การต่อสู้แบบรวมหมู่ ตั้งคำถามต่อความเหลื่อมล้ำทางชนชั้นและความไร้สวัสดิการ สิ่งที่เราทำได้ในประเทศนี้ก็คงเพียงแค่ทำงานหาเงินซื้อตั๋วช้างมาต่อชีวิตในโลกแห่งความเหลื่อมล้ำ ตั้งแต่เกิดจนตายจากโลกนี้ไป