รับบทเป็นแม่ค้า-ลูกหนี้ ความทุกข์ระลอกเดิมของคนเมืองท่องเที่ยว ขอให้ทุกอย่างเป็นเรื่อง(ชั่วคราว) - Decode
Reading Time: 2 minutes

“ให้ถึงแค่กลางปีนี้”
“สิ้นปีค่อยว่ากันอีกที”

ด้วยประโยคที่ถ่ายทอดด้วยน้ำเสียงที่หนักแน่น ฟังเพียงครั้งเดียวอาจตีความไปว่า พวกเขากำลังจะกำหนดชะตาของสิ่งหนึ่งด้วยกกำลังและความสามารถของตนเอง

แต่แท้จริงไม่ใช่ พวกเขาเป็นเพียงผู้ที่เฝ้าคอยคำตัดสินเส้นทางชีวิต และการเดินหน้าความฝันจากเพื่อนใหม่ที่เพิ่งรู้จักไม่ถึงหนึ่งปีอย่างโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19

เมื่อต้องปรับตัวเข้าเพื่อนใหม่ที่ไม่ได้อยากรู้จักมาตลอดทั้งปี ทุกคนต่างเฝ้ารอช่วงเวลาส่งท้ายปีใหม่ โดยเฉพาะ “ผู้คนในเมืองท่องเที่ยว” เพราะเป็นช่วงเวลาของการทำเงินจากผู้คนที่จะหลั่งไหลเข้ามา เพื่อเฉลิมฉลองกับวันหยุดยาว แม้อาจไม่ได้พักกายอย่างที่คนส่วนใหญ่ทำ แต่พวกเขาก็ยินดีต้อนรับด้วยความเต็มใจ

แต่ก็คล้ายฟ้าผ่าส่งท้ายปี 2563 ด้วยคำยืนยันของ ศบค. ที่ว่าไทยกำลังเผชิญกับการระบาดของโรคโควิด-19 “ระลอกใหม่”

ปิดกิจการ(ชั่วคราว)

สิ้นเสียงแถลงของคุณหมอหนุ่มผู้จับจองหน้าจอช่วง 11 นาฬิกา สิ่งที่ “กิฟท์-บุญญาลักษณ์ หวังชัย” ทำได้ก็แค่เพียงปิดทีวีลง เช็คความพร้อมของตัวเอง พร้อมขานรับด้วยประโยคสั้น ๆ ว่า “รับน้ำอะไรดีคะ”

กว่า 9 เดือนแล้วที่กิฟท์ต้องผันตัวจากการเป็น “ทราเวลเอเจนซี่” ใน จ.กระบี่ หมุดหมายอันดับต้น ๆ ของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ และคนไทยเอง มารับบท “แม่ค้าชั่วคราว” เพื่อปรับตัวจากผลกระทบของโรคระบาด โดยที่ไม่รู้ว่าบทบาทสมมุตินี้จะไปสิ้นสุดที่วันใด

นับตั้งแต่ 3 เม.ย. 2563 ที่สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ออกประกาศห้ามอากาศยานทำการบินเข้าสู่ประเทศไทยเป็นการชั่วคราว นั่นเป็นช่วงเวลาที่กิฟท์ตระหนักแล้วว่า “โควิดมาถึงตัวแล้ว” แม้ในขณะนั้นเมืองกระบี่ยังเป็นพื้นที่ปลอดเชื้อก็ตาม

กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเองก็มีการเปิดเผยข้อมูลว่า จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลงเหลือราว 6 ล้านคน ในช่วง 11 เดือนแรกของปี 63 ซึ่งนับว่าลดลงหลายเท่าตัวมากเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปี 62 ที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวกว่า 35.9 ล้านคน นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ภาคการท่องเที่ยวกระทบหนัก

“รายได้ส่วนใหญ่มาจากต่างชาติ วันที่ลูกค้าต่างชาติตกค้างกลับบ้านหมด ก็คิดเลยว่าปิดร้านกลับบ้านเถอะ…ช่วงไฮซีซั่นนักท่องเที่ยวไทยน้อยมาก หนึ่งเดือนอาจหลุดมาแค่ 2-3 คน”

คงต้องย้อนกลับไปในวันที่อายุเริ่มแตะหน้าสาม และเริ่มต้นการสร้างครอบรัว เป็นห้วงเวลาที่กิฟท์ตัดสินใจว่าเธอต้องพัฒนาตัวเอง เพื่อความมั่นคงในชีวิตในวันข้างหน้า ซึ่งในขณะนั้นเธอทำงานอยู่ในอุทยานแห่งชาติแห่งหนึ่งในจ.กระบี่ จึงเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องสื่อสารกับนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะชาวจีน

นั่นเป็นแรกผลักดันอย่างมาก ที่ทำให้เธอแสวงหาช่องทางสอบชิงทุนเพื่อไปเรียนภาษาที่ประเทศจีนอยู่นานนับปี ก่อนที่จะกลับมาทำงานปางช้างในจังหวัดเดิม และเริ่มต้นหาลู่ทางต่อยอดเป็นผู้นำเที่ยวอย่างจริงจัง

“เดือนแรกที่เปิดออฟฟิศขายทัวร์ก็ยังทำงานปางช้างไปด้วย ก็ไปเปิดขายทัวร์หลังเลิกงานงาน 4 โมงเย็นจนถึง 4 ทุ่ม”

หลังได้ขออนุญาตประกอบธุรกิจนำเที่ยว พื้นที่หน้าตึกแถวเล็ก ๆ กลางเมืองกระบี่ ก็กลายเป็นสถานที่ทำงานยามค่ำคืนของกิฟท์ไปโดยปริยาย แม้ต้องทำงานหนักขึ้นเป็นเท่าตัว แต่เธอก็ออกปากว่ามีความสุขมาก เพราะเริ่มเห็นเส้นทางชีวิตที่ชัดเจนขึ้น รวมถึงตัวเลขในบัญชีก็ชัดเจนขึ้นไปตามกัน

นั่นจึงเป็นเหตุผลให้เธอตัดสินใจลาออกจากงานประจำเดิม และเปิดหน้าร้านในช่วงต้นปี 2562 อย่างเต็มตัว ผ่านไปราวหนึ่งปีเมื่อเก็บเงินได้จำนวนหนึ่งจึงตัดสินใจอยากปรับปรุงหน้าร้านด้วยเงินหลักหมื่น

จากคนนำเที่ยวสู่แม่ค้า(ชั่วคราว)

ราวกับฟ้าผ่าหลังหน้าร้านโฉมใหม่ที่ลงทุนไปด้วยเงินเก็บที่สะสมไว้ มีเพียงแสงแดดและสายฝนได้ชื่นชมเท่านั้น เมื่อการระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลให้นักท่องเที่ยวไม่เพียงบางตาลง แต่แทบไม่มีเลยก็ว่าได้ กิฟท์จึงตัดสินใจครั้งใหญ่ ปิดหน้าร้านเอาไว้ก่อน และเดินทางกลับจ.ตรัง บ้านเกิดเป็นการชั่วคราว

ความตั้งใจแรกของการเดินทางกลับบ้าน กิฟท์มองทุกอย่างในแง่ดีว่าวิกฤติครั้งนี้คงไม่ยืดเยื้อมากนัก เธอเองก็ยังไม่มีหนี้สิ้นล้นพ้นตัวอะไร “ถือว่ามาพักผ่อนนะ” เธอเล่าด้วยน้ำเสียงกลั้วหัวเราะ

ถ้าเพียงแต่เธอเท่านั้นที่เจอผลกระทบนี้คงไม่เป็นไร แต่นี่แล้วใหญ่ สามีซึ่งขณะนั้นทำงานปางช้างใน จ.กระบี่เช่นเดียวกันก็ถูกให้หยุดงานไปด้วย แม้ในช่วงแรกจะยังได้รับเงินเดือนอยู่ แต่เมื่อผ่านไปราว 6 เดือนสถานการณ์ไม่คลี่คลายอย่างเดิม สามีของเธอก็จำต้องอยู่ในสภาวะตกงานมาตามกัน

เมื่อตัวเลขในบัญชีเริ่มร่อยหรอ และหนทางข้างหน้าที่เคยคิดว่าแน่นอนก็ยังเลือนราง การตัดสินใจค้าขายตามความสามารถที่พอจะเรียนรู้ได้ในเวลาอันรวดเร็วจึงถูกหยิบออกมาใช้ทันที

พื้นที่หน้าบ้านของครอบครัว ถูกกิฟท์จับจองเป็นร้านขายสารพัดน้ำ ทั้งชา กาแฟ น้ำผลไม้ และอื่น จากลูกค้าหลักนับมือได้ ก็เริ่มขยับเป็นลูกค้าหน้าใหม่มากขึ้น ด้วยแม้จะเป็นร้านขายน้ำธรรมดา ๆ เธอก็ยังใส่ใจที่จะพัฒนาทั้งเรืองคุณภาพ และการพัฒนาหน้าร้านให้เข้าถึงง่าย

แม้รายได้จากการเป็นแม่ค้าครั้งนี้จะพอให้ได้จับจ่าย แต่เธอก็ยอมรับว่า “ขายน้ำแบบนี้มันขายเช้าจ่ายค่ำ มีกินไปวันต่อวัน ไม่มีได้คิดว่าจะเก็บหรือทำอะไรต่อ”

นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไหมกิฟท์ถึงยังเลือกที่จะจ่ายค่าเช่าของพื้นที่หน้าร้าน ที่จ.กระบี่เอาไว้ เพราะอย่างไรเสียเธอก็ยืนยันว่า “ยังไงก็จะไปทำต่อแน่นอน”

ไม่ทิ้งเมืองท่องเที่ยว

เมื่อกลับมารับบทแม่ค้าเป็นการชั่วคราว แต่ด้วยโลกที่ขับเคลื่อนด้วยโซเชียลมิเดียอย่างทุกวันนี้ กิฟท์ก็ยังพอจะขายแพ็คเกจการเที่ยวให้กับบรรดาเพื่อน ๆ หรือลูกค้าเก่า ๆ ที่รู้ว่าเธอทำงานเป็นผู้นำเที่ยวอยู่ได้บ้าง

สำหรับการตัดสินใจรักษาหน้าร้านเดิมเอาไว้ ก็ด้วยปัจจัยหลายอย่างที่ประกอบกัน ทั้งจากเหตุผลที่เจ้าของพื้นที่ลดราคาค่าเช่าลงราวกลับให้เปล่า เพราะเขาเองก็ไม่ได้มีโอกาสง่าย ๆ ที่จะหาผู้เช่ารายใหม่ในช่วงเวลาเช่นนี้ อีกทั้งการรักษาสภาพของการคงอยู่ใบอนุญาตก็เป็นเรื่องสำคัญที่เธอต้องคำนึงถึง

“ต้องคงสภาพใบอนุญาตไว้ เพราะเรามีที่อยู่ออฟฟิศตรงนั้น ถ้าย้ายก็ต้องหาพื้นที่ไว้เล็ก ๆ ทำเรื่องเปลี่ยนที่อยู่เพื่อต่อใบอนุญาตใหม่ ไม่นั้นตอนไหนเกิดมันดีขึ้นทันทีเราก็ขายไม่ได้ ต้องมาเริ่มต้นใหม่”

แลดูเหมือนความทุกข์ร้อนของบรรดานักธุรกิจรายย่อยอย่างกิฟท์ อาจจะยังไม่ค่อยสะเทือนตัวเลขบนหน้ากระดาษเท่าไหร่หนัก เพราะธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออกประเมินภาวะเศรษฐกิจและการเงินของภาคใต้ในไตรมาส 3 ของปี 63 พบว่าแม้เศรษฐกิจภาคใต้จะหดตัวจากไตรมาสก่อน ๆ นักท่องเที่ยวหดหายแต่จากการประเมินการท่องเที่ยวจะทยอยฟื้นตัวจากมาตรการของภาครัฐ รวมถึงวันหยุดยาว

กิฟท์แสดงความคิดเห็นว่า ตลอดปีที่ผ่านมาที่รัฐบาลพยายามกระตุ้นการท่องเที่ยวให้คนไทยหันมาเที่ยวในประเทศ บรรดาเอเจนซี่เล็ก ๆ อย่างเธอนั้น ไม่ได้แตะผลกำไรจากส่วนนั้นเลย เพราะผู้เล่นอย่างโรงแรมรายใหญ่ ซึ่งมีสิ่งอำนวยความสะดวกแบบครบวงจร ก็สามารถจัดโปรโมชันพิเศษได้ด้วยตนเอง

“ห้องพัก บวกทริป บวกรถรับส่งอะไรต่าง ๆ โปรโมชั่นที่โรงแรมทำราคาถูก เพราะต้นทุนเขาน้อย คนไทยพอเขาซื้อเขาก็จะซื้อทีเดียวครบ อย่างกิฟท์ที่ไม่มีโรงแรมไม่มีอะไร…พอบริษัททัวร์ให้ราคามา เราบวกเพิ่มแค่หัวละ 50 บาท คนก็คิดละ”

ไม่เพียงความช่วยเหลือในฐานะของผู้ประกอบธุรกิจที่เธอเข้าไม่ถึง แต่ในฐานะประชาชนธรรมดาคนหนึ่งเธอก็ถูกปฏิเสธเช่นเดียวกัน ผ่านการไม่สามารถเข้าร่วมโครงการเราชนะได้ ด้วยเธอมีรายได้พึงประเมินเกิน 3 แสนบาท ตามข้อมูลปีภาษี 62

ทั้งที่เธอถือตลอดปี 63 เธอก็มีสถานะเป็น “คนตกงาน” โดยสมบูรณ์

แม้ตอนนี้ดูเหมือนเส้นทางของการเปิดธุรกิจนำเที่ยวของเธอจะมีข้อเสียเปรียบอยู่มาก แต่กิฟท์ก็ยังยืนยันว่าเธออยากสู้อีกสักตั้ง ด้วยหวังว่าจะสามารถสร้างรากฐานที่ดีให้กับตัวเองและครอบครัวได้ในเศรษฐกิจเช่นนี้

“คิดว่าทำต่อ 100 เปอร์เซ็นต์ยังไงคนก็ต้องเที่ยว ทำมาปีหนึ่งเราเห็นรายได้ การกลับมาอยู่บ้านชอบมากก็จริง แต่ ณ ตอนนี้เรายังมีแรง ขอไปทำตรงโน้นก่อน”

หนี้สิ้น (ชั่วคราว)

ข้อกำหนดทางกฎหมายที่ต้องมีที่อยู่ชัดเจน จึงจะสามารถรักษาใบอนุญาตประกอบกิจการ ไม่เป็นเพียงเหตุปัจจัยผลักดันที่ทำให้กิฟท์สู่ต่อเพียงคนเดียวเท่านั้น เภสัชกรสาววัยเดียวกัน ในเมืองท่องเที่ยวเมืองเดียวกัน ก็เป็นอีกคนที่กัดฟันสู้ต่อจากวิกฤติครั้งนี้ไม่ต่างกัน

“พี” เป็นชื่อสมมติที่เราจะขอเรียกเธอตลอดการพูดคุยในครั้งนี้ ด้วยข้อกำหนดทางวิชาชีพบางประการ ที่เธอยอมรับว่าด้วยสถานการณ์ในตอนนี้ อาจทำให้เธอไม่สามารถปฏิบัติได้อย่างถูกต้องได้ทั้งหมด

ร้านขายยาขนาดไม่เกิน 12 ตร.ม. เป็นพื้นที่เล็ก ๆ ที่ทำให้เภสัชกรชาวเมืองกระบี่โดยกำเนิดคนนี้ ตัดสินใจกลับมาสานฝันตามที่ได้เรียนจบมา และทุกอย่างก็ดูไปได้สวยตามที่เธอตั้งเป้าไว้  “ปีแรก ๆ (ลูกค้า)เป็นยุโรป ช่วงหลังเป็นจีนซะเยอะ ลูกค้าคนไทยน้อย”

เมื่อพบกับสถานการณ์โรคระบาดที่ลูกค้าต่างชาติขาจรหายไปในพริบตาเดียว หลงเหลือเพียงลูกค้าขาประจำประปราย ร้านของพีจึงได้รับผลกระทบอย่างหนักไม่ต่างจากธุรกิจอื่น ๆ

ในช่วงเวลาที่ทุกหน้าร้านเริ่มต่อรองขอลดค่าเช่าพื้นที่ พีมองเห็นว่าศึกนี้คงไม่ได่จบง่าย ๆ แน่ จึงเลือกที่จะพยุงร้านไว้ด้วยเงินเก็บที่มีอยู่

ก่อนที่เวลาผ่านไปหลายเดือน ผู้เช่าในพื้นที่ใกล้เคียงหลายรายเริ่มไม่สามารถแบกรับภาระไหวแล้ว จนบางรายต้องปิดกิจการไป เธอจึงเลือกช่วงเวลานี้เข้าขอเจรจากับผู้ให้เช่า ด้วยมองว่าเจ้าของพื้นที่เองก็มีตัวเลือกไม่มากนัก นี่จึงเป็นวิธีการแรก ๆ ที่ทำให้เธอขอลดค่าเช่าได้ในจำนวนเป็นที่น่าพอใจจนสามารถยื้อร้านแห่งนี้เอาไว้ได้ตลอดปีที่ผ่านมา

“พอเรามองแล้วว่ามันไม่ไหวก็ไปขอลด เห็นว่าเป็นจำนวนเงินที่ดีกว่าไปยกเลิกเลย เพราะเหลือสัญญาที่จ่ายไปแล้ว พอคำนวณดูการที่เขาลดให้ ขยายสัญญาให้ การเปิดให้ให้ลูกค้ายังรู้ว่าเราเปิดมันน่าจะดีกว่า”

แม้เธอจะสู้มาถึงเพียงนี้ แต่พีก็ยอมรับว่ารู้สึกท้อแท้อยู่บ้างเมื่อเห็นเพื่อน ๆ ที่ประกอบธุรกิจร้านยาในเมืองท่องเที่ยวอย่างเธอ เริ่มหันหลังกลับเข้าสู่การเป็นลูกจ้างในร้านยาทุนใหญ่หลายแห่ง

“เราไม่ได้คิดว่ามันจะยาวมาเป็นปี ตอนนั้นเลยคิดว่าถ้าปิดร้านแล้วต้องมาขอใบอนุญาตใหม่มันยุ่งยาก แล้วยังต้องคิดว่าจะมีคนมาเปิดตัดหน้าถ้าเราปิดไปไหมอีก”

หากการรักษาร้านยาแห่งนี้เป็นเพียงศึกด้านเดียวที่เธอต้องเผชิญคงไม่เท่าไหร่หนัก แต่ไม่ใช่…

ในช่วงที่เส้นทางการทำธุรกิจกับชาวต่างชาติยังคงเฟื่องฟู พีแบ่งเงินส่วนหนึ่งที่เธอสะสมจากการทำร้านยา ไปลงทุนในการซื้อคอนโดทำเลดี เพื่อหวังปล่อยให้ชาวต่างเช่า ซึ่งเงินค่าเช่าที่ได้ทั้งหมดก็จะนำกลับมาเป็นเงินในการผ่อน ที่และดูแลรักษาห้อง จะเรียกว่ายังเป็น “หนี้ที่ยังไม่ถอนทุน” ก็อาจจะนับได้

“ช่วงแรกมีเงินจากคนเช่าที่ยังเก็บไว้ พอมาต้นปีนี้นี่แหละที่เริ่มหนัก พอคนทยอยกลับประเทศกันหมด ก็จะเหลือคนไทยเช่า ราคาค่าเช่าก็จะถูกลงเรื่อย ๆ…มันก็มากระทบเงินหลักของเรา คอนโดมันแพลนไม่ได้ จะขายก็ใครจะซื้อตอนนี้”

เมื่อเจอศึกสองด้านเช่นนี้ ไม่แปลกที่ผู้หญิงคนหนึ่งในวัยที่กำลังสร้างเนื้อสร้างตัว จะมีเสียงถอนหายใจและหัวเราะอย่างไม่มีสาเหตุเป็นระยะ ๆ ตลอดการพูดคุย เพราะแม้ตอนนี้เธอจะสู้ แต่ก็ใช่ว่าจะสู้ไปได้ตลอด ไฟหน้าร้านดวงต่อไปที่อาจจะต้องปิดลงอาจจะเป็นหน้าร้านของเธอก็ไม่มีใครคาดเดาได้

“ให้เวลาตัวเองอีกแค่ 6 เดือน มันไม่ควรจะเกินกลางปีนี้แล้วมันถึงจุดพีคแล้ว”

ถ้าถามว่าใครอยากเป็นหนี้ คงมีแต่คนปฏิเสธทั้งนั้น พีก็เช่นกัน นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ตลอดมาเธอยังเลือกที่จะผ่อนชำระหนี้ต่อในอัตราเดิม แทนที่จะเข้าร่วมการปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อพักหรือลดทอนการจ่ายเงินอย่างที่ลูกหนี้ส่วนใหญ่ทำกัน แต่ท้ายที่สุดหากไม่สามารถประคองต่อไปได้การพักชำระเงินต้น หรือขอลดดอกเบี้ยธนาคารก็เป็นทางหนึ่งที่เธอต้องพิจารณา

แม้จะเป็นการระบาดระลอกใหม่ในคำนิยามของเจ้าหน้าที่รัฐ แต่สำหรับสองสาวที่ทุ่มเทฝันไปในเมืองท่องเที่ยวที่ไม่เคยขาดผู้คนอย่างกิฟท์และพีนั้น ทุกอย่างยังคงเป็น “ระลอกเดิม” ที่ไม่เคยหายไปนับตั้งแต่พบผู้ป่วยโควิด -19 รายแรกในประเทศไทย

และเฝ้าหวังให้ทุกสิ่งที่พวกเธอกำลังประสบเป็นเพียงสิ่ง “ชั่วคราว” ไม่ใช่เรื่อง “ถาวร” ในชีวิตอีกต่อไป