แฟนตาซีของความจน ในสายตาผู้กำหนดนโยบายจากยอดพีระมิด - Decode
Reading Time: 2 minutes

ประกายไฟลามทุ่ง

รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี
วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

“อาจารย์หนูมีเรื่องจะเล่าให้ฟัง”

ย้อนกลับไปหลายเดือนก่อนช่วงเปิดเทอม 1 ปีการศึกษา 2563 สำหรับมหาวิทยาลัยที่ผมสอนอยู่คือช่วงเดือนสิงหาคม ปี 2563 หากทุกท่านยังจำได้มันคือ ช่วงที่ประเทศไทยผ่านช่วงร้ายแรงของวิกฤติเศรษฐกิจจากโรคระบาด นโยบายของรัฐบาลประกอบกับการเยียวยาที่ไม่เป็นระบบและล่าช้า ส่งผลให้มีผู้คนสูญเสียงาน โอกาสในการศึกษาต่อ รวมถึงการดำเนินธุรกิจปริมาณมหาศาล เทอม 1/2563 จึงเป็นภาคเรียนที่สะท้อนปัญหาอะไรหลายอย่างที่เกิดขึ้นในประเทศไทย นักศึกษาจำนวนมากต้องผ่อนผันค่าเทอม หลายคนสละสิทธิ์ที่จะเรียนต่อแม้สอบได้ เพราะเส้นทางอีกสี่ปีที่ค่าใช้จ่ายหลายแสนเป็นสิ่งที่หนักมากในสภาพเศรษฐกิจแบบนี้ หลายคนตัดสินใจที่จะดรอปและพักการศึกษาไว้ก่อน ในช่วงเวลานี้เงินหลักหมื่นไม่ใช่สิ่งที่สามารถหาได้ง่าย ๆ

“วันนี้หนูไปรับการสัมภาษณ์ทุนของมหาวิทยาลัย” เธอเป็นนักศึกษาปี 1 มหาวิทยาลัยมักจะโฆษณาอยู่เสมอว่า มีทุนการศึกษาสำหรับผู้ที่ยากจนและมีความต้องการจริง ๆ และทุกคนสมควรที่จะได้เรียนก็จะได้ทุน เธอเป็นคนหนึ่งที่ทางบ้านได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจนี้ ยังไม่นับว่าด้วยวิกฤติโรคระบาดกระทบระบบราชการ เงินกู้ กยศ.ก็ถูกทำให้ล่าช้าไปอีก การขอทุนทุกประเภทเป็นสิ่งที่ต่อลมหายใจที่จะทำให้เธอได้เรียนต่อ เอาเข้าจริงแล้วมันดูไม่ยุติธรรม แทนที่เธอจะได้เริ่มการเรียนมหาวิทยาลัยด้วยหัวใจแสวงหา เธอกลับต้องเริ่มด้วยการวิ่งหาทุนตามที่ต่าง ๆ ความกังวลของเธอ อันดับแรกคือการจ่ายค่าเทอม ซึ่งคือสิ่งที่นักศึกษาหลายแสนคนทั่วประเทศกังวลอยู่เช่นกัน

“เริ่มต้นทีแรก มหาวิทยาลัยให้นักศึกษาที่ได้ทุนรุ่นก่อน ๆ มา ทุกคนเห็นว่าเขามาจากพื้นที่ห่างไกลมาก พยายามอย่างมากจนได้ทุน มันเหมือนทำให้เห็นว่าทุกคนที่พยายามมากพอจะได้โอกาสนั้น คือได้ค่าเทอมแล้วก็ค่าใช้จ่ายรายเดือน มันดูดีจนกระทั่ง….” เธอหยุดเล่าไป

“กรรมการให้นักศึกษาแต่ละคนเล่าถึงความลำบากของตัวเอง เล่าเรียงกันต่อหน้าเพื่อน ทีละคนๆ จนถึงคนสุดท้าย กรรมการถามว่า ใครคิดว่าไม่น่าสงสารเท่าเพื่อนให้สละสิทธิ์ด้วยตนเอง หนูอึ้งเลย และเขาหมายความว่าแบบนั้นจริงๆ ใครไม่น่าสงสารเท่าเพื่อน…คนที่มารับทุนนี้ทุกคนก็ลำบากไม่ใช่เหรอคะ ต้องการที่จะได้เรียนต่อใครจะมาเล่น ๆ”

เธอยังเล่าว่าในห้องสัมภาษณ์ส่วนตัวเกรรมการถามเธอว่าทำไมถึงมาเรียนต่อมหาวิทยาลัย เธอบอกว่า “เพื่ออยากเรียนรู้ว่าทำอย่างไรให้สังคมเท่าเทียม” และกรรมการท่านนั้นตอบว่า “เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้”

ใช่…เราอาจบอกว่ามันคือกระบวนการสัมภาษณ์ทุน ที่ผู้ให้ทุนอาจบอกว่า ทรัพยากรมีจำกัดจึงต้องมีการพิสูจน์ว่า คนคนนั้น นอกจากยากจนแล้วยังต้องมีศักยภาพที่จะพัฒนาตัวเอง มีความมุ่งมั่น ทนได้ต่อการวิพากษ์ แต่คำถามคือ ทำไมคนที่ยากลำบากโดยกำเนิดอยู่แล้วยังต้องพยายามมากกว่าคนทั่วไป ขณะเดียวกันถ้าคุณเกิดมาในครอบครัวที่มีอภิสิทธิ์ล้นเหลือ จำเป็นต้องผ่านกระบวนการเหล่านี้หรือไม่ที่จะได้ค่าเทอม? มีกระบวนการใดที่ต้องพิสูจน์ความแข็งแกร่งและอดทน? มันไม่ได้เป็นเช่นนั้น พวกเขาได้รับการสนับสนุน ได้รับกำลังใจ และพวกเขาก็อยู่บนยอดพีระมิดและกำหนดต่อไปว่า เหล่าทาสที่สร้างพีระมิดควรมีชีวิตอย่างไร

เธอไม่ใช่นักศึกษาคนแรกที่ผมพบเจอและมีคำถามกับตัวเอง คำถามกับสังคมแบบนี้ คำถามสำคัญที่พวกเขามักจะถามตัวเองคือ “หรือบางทีพวกเขา-พวกเธอมาอยู่ในที่ที่ไม่ควรอยู่” บางทีพวกเขาและเธอก็บอกกับตัวเองว่า บางทีไม่น่ามาเรียนมหาวิทยาลัย หรือควรออกไปทำงาน หรือเรื่องใหญ่ที่สุดที่โหดร้ายคือ “ไม่ควรมีความฝัน” ความฝันเป็นเรื่องของคนรวยและท้องอิ่ม พวกเขาและเธอไม่ควรมีความฝัน ไม่ควรแม้แต่คิดจะเลือกชีวิตของตัวเอง ยิ่งพยายามเท่าไรก็ยิ่งเหมือนจะจมน้ำ มันเป็นเรื่องน่าเศร้าที่พวกเขาได้เริ่มชีวิตผู้ใหญ่ด้วยคำถามเหล่านี้ หลายท่านอาจเถียงผมด้วยหลายเหตุผลแต่กรุณาอย่าบอกว่าเรื่องเหล่านี้คือเรื่องธรรมชาติ เพราะมีชนชั้นสูงจำนวนไม่น้อยที่อยู่เหนือกติกาและยกเว้นทั้งปวง

ผมนึกถึงคำบรรยายที่ผมเขียนลงไปในหนังสือนิทานเดินไปดวงดาว (อ่านนิทานฉบับเต็ม) หนังสือนิทานที่พัฒนาจากงานวิจัยของผมเมื่อกว่า 6 ปีที่แล้ว นิทานถูกเขียนและวาดโดย รับขวัญ ธรรมบุษดี น้องสาวของผม เรื่องราวพูดถึงความเหลื่อมล้ำของสังคมไทยในเงื่อนไทยเสรีนิยมใหม่ คำที่ผมพูดถึงชีวิตของคนรุ่นใหม่คือ

“เมื่อเรามองไปในแววตาของคนรุ่นใหม่ที่อายุราว 20 เราเห็นอะไรในแววตาของพวกเขา พวกเขาทุกคนคงเคยหัวเราะ เคยมีความฝัน เคยมีความรัก เคยมีความมุ่งหวังในชีวิต แต่เมื่อมองย้อนไปในสิบปีที่ผ่านมาบนเส้นทางจากเด็กสู่ผู้ใหญ่ มันน่าตั้งคำถามว่าคนรุ่นเดียวกับพวกเขาและพวกเธอเติบโตมากับสังคมแบบใด ?

สังคมนี้ใจร้ายกับพวกเขาเพียงใด พวกเขาเหนื่อยล้า และวิ่งตามความฝันที่ว่างเปล่าเพียงใด ประเทศนี้ที่มีความเหลื่อมล้ำมหาศาล คนรวยจองที่ทางในประเทศนี้ยาวนานข้ามถึงรุ่นหลาน เมื่อต่อสู้ตั้งคำถามทางการเมืองก็ถูกเข่นฆ่าขับไล่ เมื่อต้องการจะเลือกวิถีชีวิต รสนิยม ทางเดินของตัวเองก็โดนกดทับด้วยค่านิยมอนุรักษ์นิยมล้าหลัง พวกเขาเพิ่งอายุ 20 ปี แต่พวกเขาดูเหนื่อย ด้วยเหมือนโลกที่พวกเขาแบกไว้ทั้งบ่า ฝันของตัวเอง ฝันของพ่อแม่ ฝันของสังคม แต่พวกเขามีเพียงรองเท้าหนัก ๆ เป็นเครื่องมือ และคำบอกกล่าวของคนรุ่นก่อนว่า “ให้ตั้งใจเดิน” เดิน เดินด้วยเท้าเปล่า ถ้าตั้งใจเดินเรื่อย ๆโดยไม่ตั้งคำถาม จะถึงดวงดาวได้” แต่ไม่มีใครที่เกิดบนเมืองสีฝุ่น แล้วสามารถเดินไปดวงดาวได้

แต่ในโลกนี้มีคนที่เกิดบนดวงดาวพร้อมกับอภิสิทธิ์ล้นเหลือและไม่คิดที่จะสละเพียงเศษเสี้ยว อาศัยการกดขี่เป็นบุญคุณ และคนที่เกิดในเมืองสีฝุ่นที่ไม่มีโอกาสแม้แต่จะเลือกที่จะฝัน ที่จะหยุด ที่จะเดิน เป็นไปได้เหรอที่คนที่เกิดบนเมืองสีฝุ่นจะเดินไปดวงดาวได้ แต่คนที่เกิดบนดวงดาวไม่ต้องแบกเป้ ไม่ต้องใส่รองเท้าเหล็กที่หนักอึ้ง พวกเขาได้อยู่บนดาวเพียงเพราะพวกเขาเกิดบนนั้น ไม่ใช่ว่าพวกเขาเก่ง หรือฉลาดกว่าคนอื่น

เรามีคนจำนวนมากที่ทุกข์ทนจนผมสงสัยว่าเหตุใดเราถึงยังทนอยู่กันได้ในสภาพเช่นนี้ เหตุปัจจัยหนึ่งคือการที่ชนชั้นอภิสิทธิ์ชนล้วนแก้ต่างให้กับความเหลื่อมล้ำ แก้ต่างให้กับระบบทุนนิยมที่เป็นต้นตอให้กับความเหลื่อมล้ำ ทั้ง ๆ ที่ความมั่งคั่งทั้งปวงล้วนถูกสร้างขึ้นมาในสังคมนี้ด้วยหยาดเหงื่อ แรงกาย แรงสมอง ความสร้างสรรค์ของคนธรรมดา

พวกเขาเคยรู้หรือไม่ว่าความทุกข์ร้อนของพนักงานรายวันที่ได้ค่าจ้างเฉพาะวันที่ตนมาทำงาน ความไม่มั่นคงที่อาจถูกเลิกจ้างได้ทุกเมื่อ แต่ทุกครั้งที่ขบวนการแรงงานเรียกร้องให้การจ้างต้องจ้างเป็นรายเดือน เหล่านักเศรษฐศาสตร์ที่รับใช้นายทุนต่างดีดลูกคิด กดเครื่องคิดเลขแล้วบอกให้แรงงานเห็นใจนายทุน แต่ไม่สนใจว่าชีวิตของผู้คนที่ปลิดปลิวจากร่างกายถูกทำลายลงด้วยการทำงานหนักแต่วันแต่ละเดือนมีค่าเท่าไร

เมื่อเรียกร้องให้มีเงินเลี้ยงดูเด็กถ้วนหน้าในอัตราที่เพียงพอต่ออาหารและชีวิตที่ดีอย่างไม่เลือกปฏิบัติ พวกเขาก็ห่วงพะวงต่อภาระทางการคลัง และโยนให้ครอบครัวเป็นผู้รับผิดชอบ ขังแม่ให้เป็นกรรมกรทางอารมรณ์ที่แบกรับทุกความเจ็บปวดภายในบ้าน ทุกความเปราะบางในระบบทุนนิยม แต่พวกเขาไม่รับรู้เรื่องนี้ ตราบใดที่พวกเขาสามารถปกป้องเงินในกระเป๋าของชนชั้นปรสิต และสามารถคิดสูตรช่วยเหลือผู้ยากไร้ที่ใช้เงินน้อยลงและได้บุญคุณจากความเมตตาเวทนา

เมื่อเรียกร้องให้มีการศึกษาฟรีถึงระดับมหาวิทยาลัย พร้อมเงินเดือนสำหรับทุกคนไม่เกี่ยวกับฐานะเศรษฐกิจหรือความสามารถทางวิชาการ พวกเขาก็จะพยายามหาสูตร “สาขาที่เหมาะสมกับตลาดแรงงาน” ถ้าคุณเกิดมาจนก็ต้องเรียนให้ตรงกับตลาดแรงงาน แต่ลูกหลานของเหล่าอภิสิทธิ์ชน สามารถเรียนศิลปะ ดนตรี ศาสตร์การปกครอง จนกระทั่งได้ตาม หาความหมายของจักรวาล พวกเขาไม่ต้องสนใจตลาดแรงงาน หรือหลักการความคุ้มทุน เพราะทรัพย์สิน ความมั่งคั่ง และอภิสิทธิ์ส่งต่อโดยสายเลือด เช่นเดียวกับความจนที่ส่งต่อตามสายเลือดไม่ต่างกัน

เมื่อเรียกร้องให้มีเงินบำนาญถ้วนหน้าสำหรับพ่อแม่ของเราทุกคน พวกเขากลับเสนอสูตรการออมเงินและการลงทุนที่ซับซ้อนและบอกว่าหากเราวางแผนการออมที่ดีเพียงพอเราจะมีชีวิตที่ปลอดภัยวัยเกษียณ แต่พวกเขาไม่รู้เลยหรือว่า สำหรับคนส่วนใหญ่ในประเทศนี้ลำพังการวางแผนทางการเงินให้อยู่รอดได้ในแต่ละวันในแต่ละเดือน ก็เป็นความพยายามอย่างมากที่กินทางชีวิตและวิญญาณ แต่พวกเขาพยายามที่จะหาคำอธิบายว่าไม่ใช่ทุกคนที่ควรมีสิทธิ แม้จะเป็นลักษณะทั่วไปตามธรรมชาติที่วันหนึ่งทุกคนจะต้องแก่และทำงานไม่ได้

มีผู้คนจำนวนมากที่สิ้นความหวัง จากความล่าช้าที่ประเทศไทยไม่ได้เป็นรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า ระบบที่สามารถอธิบายได้อย่างง่ายดายผ่านสามัญสำนึกว่า มนุษย์ทุกคนไม่พึงเสียความเป็นคนจากการใช้ชีวิตพื้นฐานตั้งแต่เกิดจนตาย แต่ความวิตถารของผู้กำหนดนโยบายจากยอดพีระมิดที่มองสูตรตัวเลขสำคัญกว่าชีวิตคน มองข้ามความต้องการพื้นฐาน และสรรเสริญระบบทุนนิยม ระบบที่เป็นต้นตอของความเหลื่อมล้ำในรอบหลายปีที่ผ่านมา แม้ในวิกฤติโรคระบาดคนที่รวยที่สุดในโลก 10 คน มีทรัพย์สินเพิ่มขึ้น 15 ล้านล้านบาท ขณะที่ผู้คนเกือบทั้งโลกยากจนลง

เราจำเป็นต้องทวงถาม “ความเป็นเจ้าของร่วมของสังคม” การเรียกคืนความมั่งคั่งที่ล้นเหลือของเหล่าอภิสิทธิ์ชนคืนกลับมาสู่รัฐสวัสดิการถ้วนหน้า เพื่อคืนความเป็นคนของพวกเราด้วยสังคมนิยมประชาธิปไตย สร้างรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าให้เกิดขึ้นจริงให้ได้ในสังคมไทย