ก่อนศึกแดงเดือด เล่าเรื่องเหลื่อมล้ำและการต่อสู้ในอุตสาหกรรมอังกฤษ: สำนึกทางชนชั้นและหน่ออ่อนของสังคมนิยมในฟุตบอลอังกฤษ - Decode
Reading Time: 2 minutes

ประกายไฟลามทุ่ง

รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี
วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

คนไทยติดตามฟุตบอลยุโรปมากอันดับต้นๆ ของโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งฟุตบอลพรีเมียร์ลีกประเทศอังกฤษ นับได้ว่าแฟนฟุตบอลสองสโมสรหลักคือ สโมสรลิเวอร์พูลและแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด ซึ่งว่ากันว่า แฟนฟุตบอลของสองสโมสรนี้ในประเทศรวมกันแล้วมีไม่ต่ำกว่า 10 ล้านคน คิดแล้วเป็นร้อยละ 20 ของประชากรไทย เยอะกว่าสมาชิกพรรคการเมืองพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่มีสมาชิกมากที่สุด คือ 1.2 แสนคน หรือหากเทียบผลการเลือกตั้งปี 2562 พรรคพลังประชารัฐได้คะแนนเสียง 8.4 ล้าน พรรคเพื่อไทย 7.8 ล้าน และพรรคอนาคตใหม่ 6.3 ล้านคะแนน ทั้งหมดน้อยกว่าแฟนบอลสองสโมสรในประเทศไทย

การที่ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ติดตามฟุตบอลต่างประเทศมากมายขนาดนี้ มีหลายปัจจัยที่นำมาอธิบาย แต่เหตุที่สามารถอธิบายได้คือแฟนบอลของทั้งสองสโมสรในไทยเติบโตมาในยุควัฒนธรรมการสื่อสารทางเดียวจากปี 1980-2000 ที่สื่อหลักคือ หนังสือพิมพ์ วิทยุและโทรทัศน์ ที่ผู้ชม-ฟัง-อ่าน ไม่สามารถตอบโต้กับแหล่งข่าวได้ ทำให้การแบ่งขั้วการเชียร์ตามยุคสมัยมีความชัดเจนจนทำให้การเจอกันระหว่างลิเวอร์พูล และแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดกลายเป็นเหตุการณ์สำคัญประจำปีของประชากรหลักสิบล้านคนในไทย

แต่วันนี้สิ่งที่ผมอยากถ่ายทอดอาจไม่ใช่เรื่องการเชียร์ฟุตบอลของคนไทย แต่มีเรื่องราวสำคัญในสองเมืองที่เรามักไม่พูดถึงและมองข้ามไป

แมนเชสเตอร์ และลิเวอร์พูล ทั้งสองเมืองคือเมืองอุตสาหกรรมสำคัญของอังกฤษ เป็นจุดรวมการต่อสู้ทางชนชั้น สัญลักษณ์ของความเหลื่อมล้ำ และเมื่อฝ่ายซ้ายในประเทศอังกฤษประสบชัยชนะในการสถาปนารัฐสวัสดิการทั้งสองเมืองก็เป็นหัวหอกสำคัญในการสถาปนาแนวคิดสังคมนิยม ในแง่มุมที่อาจไม่ได้รับการพูดถึง แม้ปัจจุบันสองสโมสรนี้จะมีการค้ากำไรอย่างล้นเกินในกระบวนการสะสมทุน แต่หน่ออ่อนความเป็นสังคมนิยมอยู่ในเมืองทั้งสองเมืองและวิถีชีวิตของคนส่วนใหญ่

เมื่อ 4 ปีก่อน แอนฟิลด์สนามเหย้าของลิเวอร์พูลเคยขึ้นป้ายสนับสนุน เจเรมี คอร์บิน หัวหน้าพรรคแรงงาน และผู้ท้าชิงนายกรัฐมนตรีใน ปี 2017 อันเป็นลักษณะพื้นฐานที่แฟนบอลในเมืองนี้จะสนับสนุนนักการเมืองแนวสังคมนิยม

ภาพจาก AFP

“เจเรมี คอร์บิน” คือใคร ขณะที่พรรคการเมืองหลักของอังกฤษสองพรรค คือพรรคอนุรักษ์นิยมและพรรคแรงงานมักมีหัวหน้าพรรคที่มีประวัติการจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยชั้นนำน้อยคนนักที่จะมีพื้นเพจากชนชั้นแรงงาน แม้แต่พรรคแรงงานเอง และนับแต่ทศวรรษ 1980 มาร์กาเรต แท็ตเชอร์ จากพรรคอนุรักษ์นิยมได้พยายามทำลายรัฐสวัสดิการอย่างต่อเนื่อง ประชาชนคาดหวังว่าโทนี แบลร์ นักการเมืองหนุ่มจากพรรคเลเบอร์จะฟื้นฟูนโยบายรัฐสวัสดิการในช่วงทศวรรษ 1990 แต่โทนี แบลร์ ทำไม่ต่างจากแท็ตเชอร์แต่อย่างใด เขาใช้โวหารสนับสนุนความหลากหลายและความเสมอภาคแบบเลื่อนลอย และสุดท้ายระยะเวลากว่า 30 ปี รัฐสวัสดิการถูกทำลายไม่เหลือชิ้นดี ในปี 2017

เจเรมี คอร์บิน ต่างออกไป ซึ่งเป็นนักสหภาพแรงงานตั้งแต่วัยรุ่น ทำงานกับองค์กรแรงงานตลอดทั้งชีวิต ก้าวเข้าสู่สนามเลือกตั้งในวัยเฉียด 70 ปี และประกาศแถลงการณ์การรื้อฟื้นการสร้างรัฐสวัสดิการในอังกฤษ โดยมีตัวแบบจากประเทศเดนมาร์ก แม้คอร์บินจะไม่ชนะการเลือกตั้ง แต่เขาทำให้พรรคแรงงานได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นทั้งในกลุ่มคนรุ่นใหม่ และนำแนวคิดสังคมนิยมกลับเข้าสู่การถกเถียงและทำให้พรรคแรงงาน นอกจากนี้นักเตะลิเวอร์พูลเองก็มีประวัติการสนับสนุนแนวคิดสังคมนิยมมาในอดีต เช่น ร็อบบี ฟาวเลอร์ นักฟุตบอลยุค 90 เคยใส่เสื้อยืดฉลองการยิงประตู ระบุว่า ‘God Save the Docker’ หรือ พระเจ้าปกป้องกรรมกรท่าเรือ ล้อกับคำขวัญ God Save the Queen

ในซีกแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด เมืองแมนเชสเตอร์เป็นหนึ่งในศูนย์กลางของการปฏิวัติอุตสาหกรรม ที่มีความยากจนความเหลื่อมล้ำมหาศาล เป็นศูนย์กลางสำคัญที่แนวคิดสังคมนิยมเติบโตในช่วงยุคสมัยของพรรคแรงงานประสบชัยชนะ และมีพิพิธภัณฑ์แรงงานที่ใหญ่และทันสมัยแห่งหนึ่งของโลก โดยมีคำขวัญว่า

“ใช่โลกนี้ยังไม่เสมอภาค แต่ก็มีผู้คนจำนวนมากกำลังสู้ให้มันเสมอภาคมากขึ้น”

อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน อดีตผู้จัดการทีมที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดของสโมสร ประกาศจุดยืนอย่างเปิดเผยสนับสนุนพรรคแรงงานและหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เขาเคยให้สัมภาษณ์ระบุว่า “ผมไม่เคยหยุดสาปแช่งพรรคอนุรักษ์นิยมในสมัยของ มาร์การแรต แท็ตเชอร์ ในการพยายามล้มล้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า มันคือความทรยศต่อสิ่งที่เราภูมิใจ มันคือการทำลายศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของพวกเรา” และเขาเองในช่วงสูงอายุหลังจากเกษียณจากการเป็นผู้จัดการทีม ก็ยังใช้หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในการรักษาตัวจนหายจากโรคหลอดเลือดสมอง

สำหรับนักฟุตบอลแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด คงไม่สามารถหลีกเลี่ยงที่จะพูดถึงนักฟุตบอลดาวรุ่ง มาร์คัส แร็ชฟอร์ด นักฟุตบอลทีมชาติอังกฤษและกองหน้าของแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด ในวิกฤติ โควิด-19 ที่มีการล็อคดาวน์หลายพื้นที่ ซึ่งจากข้อมูลโดยทั่วไปกลุ่มใคนที่มีรายได้น้อยกลายเป็นผู้ได้รับผลกระทบหลักมากกว่าชนชั้นกลางหรือคนรวย พวกเขาเสียงาน เสียเงิน เผชิญกับความเครียดทั้งทางเศรษฐกิจและความสัมพันธ์ในครอบครัวและชุมชน แร็ชฟอร์ดออกมาเป็นกระบอกเสียงสำคัญสำหรับคนกลุ่มนี้ โดยเล่าเรื่องสมัยเขายังเป็นเด็กว่า

“เด็กผู้ชายผิวดำในเมืองแมนเชสเตอร์ -ระบบที่มีอยู่นี้ไม่ได้สร้างขึ้นเพื่อคนที่ทำงานหนักอย่างแม่ของผม ที่ทำงานเพื่อเลี้ยงลูกห้าคน จ่ายค่าน้ำค่าไฟต่างๆ” หากให้ขยายความ แร็ชฟอร์ด เกิดและโตในยุคที่รัฐสวัสดิการในอังกฤษถูกทำลายอย่างสิ้นเชิง ต่อเนื่องจาก มาร์กาแร็ต แท็ตเชอร์ และโทนี แบลร์ ระบบสวัสดิการแบบแบ่งชนชั้นและนำกลไกตลาดเข้ามาในอังกฤษยุค 80-90 ถีบครอบครัวชนชั้นล่างไปอีกโลกหนึ่ง แต่ด้วยระบบสวัสดิการที่ยังพอมีเหลืออยู่บ้างทำให้เด็กที่เกิดและโตในย่าน Wythenshawe ย่านที่จนที่สุดของเมืองแมนเชสเตอร์สามารถวิ่งตามความฝันของการเป็นนักฟุตบอลอาชีพได้ ก็เพราะสวัสดิการของอังกฤษ และเมืองแมนเชสเตอร์เคยโอบอุ้มเขาและครอบครัวไว้

“การหยุดความหิวโหย สำคัญกว่าทุกถ้วยรางวัลใด” เขาเคยระบุไว้ในสื่อออนไลน์ส่วนตัว

สิ่งที่น่าสนใจในกรณีนี้คือ สำนึกทางชนชั้น แร็ชฟอร์ดคือกองหน้าค่าเหนื่อยแพง แต่สิ่งที่ค้างในใจเขาคือความเหลื่อมล้ำมหาศาลที่เกิดขึ้นในอังกฤษปี 2020 ไม่ต่างไปจากอังกฤษยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม และสำนึกทางชนชั้นก็ยังเต็มเปี่ยม แร็ชฟอร์ดทำสิ่งที่ง่ายและ ‘ทรงพลัง’ คือการเขียนจดหมายบอกว่ารัฐบาลควรทำอะไร โดยที่ไม่ต้องระดมทุนขอบริจาค เพราะนี่คือสิทธิที่ประชาชนควรได้ และหน้าที่ที่รัฐบาลพึงทำ และเขาได้รับการตอบแก้ไขปัญหาจากรัฐบาลอย่างดี ล่าสุด โครงการจัดหาอาหารเด็กในพื้นที่ล็อคดาวน์ ที่รัฐบาลใช้นโยบายจัดจ้างตามแนวทางเสรีนิยมใหม่ แร็ชฟอร์ดช่วยเป็นกระบอกเสียงสำคัญในการบอกถึงปัญหาว่า มูลค่าอาหาร 1,200 บาทที่รัฐบาลจัดให้ประชาชนทั่วไปสามารถซื้อได้ในราคาแค่ 250 บาท แสดงว่าต้องมีชนชั้นนายทุนปรสิตที่ฉกฉวยประโยชน์จากส่วนนี้

ในฟุตบอลสมัยใหม่ เราจะเห็นได้ว่า ด้วยระบบทุนนิยม การแข่งขัน นักฟุตบอลพยายามถูกแยกขาดจากเรื่องการเมืองและให้สนใจในเรื่องอาชีพของตน รวมถึงการยอมถูกขูดรีดและปิดปากเพื่อให้ได้รับโอกาสในอาชีพที่รายได้สูงและโอกาสลงสนาม เนื่องด้วยอาชีพที่มีระยะเวลาสั้น มีรายได้สูงอยู่ไม่กี่ปี อย่างกรณี เมซุส โอซิล นักฟุตบอลทีมชาติเยอรมันสโมสรอาร์เซนอล ในกรุงลอนดอน ออกมาวิจารณ์รัฐบาลจีนต่อการกระทำกับชาวซินเจียงอุยกูร์ ส่งผลให้เขาถูกกดดันโดยอ้อมทั้งทางการตลาด สปอนเซอร์และในสนามฟุตบอลจนหมดอนาคตกับสโมสร อย่างไรก็ตาม ในกรณีของแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด ผู้จัดการชาวนอร์เวย์- โอเล กุนนาร์โซลชา ได้ออกมาสนับสนุนมาร์คัส แร็ชฟอร์ด โดยระบุว่า

“สิ่งที่มาร์คัสทำคือสิ่งที่ยิ่งใหญ่มาก เขาช่วยเด็กในช่วงฤดูร้อนกว่า 1.3 ล้านคน เขาเติบโตมากับสโมสรนี้ เขามีความสามารถมาก แต่เหนืออื่นใดเขามีความเป็นมนุษย์อย่างสมบูรณ์ สิ่งที่เขากดดันรัฐบาลอังกฤษให้ปรับเปลี่ยนนโยบาย สำคัญกว่าประตูหรือผลงานของเขาในเกมส์ใดๆ เสียอีก”

นอกจากในแง่มุมการปกป้องสังคมและเรียกร้องความเป็นธรรม เวยน์ รูนีย์ อดีตนักฟุตบอลดาวยิงสูงสุดของแมนเชสเตอร์ยูไนเน็ตที่เกิดในเมืองลิเวอร์พูล ก็ยังวิจารณ์รัฐบาลอังกฤษ และสมาคมฟุตบอลที่ห่วงแต่เงินและผลประโยชน์โดยไม่สนใจสวัสดิภาพของนักฟุตบอลในช่วงวิกฤติโรคระบาด ซึ่งนักฟุตบอลไม่ได้มีเฉพาะนักเตะในลีกสูงสุดที่ได้ค่าเหนื่อยเดือนละหลายล้านบาท แต่ยังมีนักฟุตบอลระดับรองที่ได้ค่าจ้างเท่าค่าจ้างขั้นต่ำ และยังต้องเผชิญกับความเสี่ยงต่างๆในช่วง โควิด-19 การกระทำของรัฐบาลไม่ต่างกับการมองนักฟุตบอลเป็นเพียงแค่วัตถุสินค้าไม่ใช่เพื่อนร่วมสังคม

วันอาทิตย์ที่ 17 มกราคม 2564 จะเป็นการพบกันอีกครั้งของ แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด และลิเวอร์พูลที่สนามแอนฟิลด์ และผมเชื่อว่ามีแฟนบอลไทยหลักสิบล้านคนกำลังคอยชมการแข่งขันนัดนี้ เช่นเดียวกับอังกฤษประเทศไทยเองก็เผชิญกับปัญหาวิกฤติความเหลื่อมล้ำอย่างมากตั้งแต่ปี 2563 ไล่มาถึงปี 2564

วันนี้สิ่งที่เราเห็นคือคนทั้งโลก ทุกวงการไม่ว่าจะเป็นศิลปิน นักกีฬาผู้ใช้แรงงาน เกษตรกร คนรุ่นใหม่ ล้วนกำลังแสดงจุดยืนในการสนับสนุนความเสมอภาคของสังคม เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าผู้ที่มีชื่อเสียง ต้นทุน และได้รับความสนใจในสังคมไทย จะมีจุดยืนที่ชัดเจนต่อการเรียกร้องความเสมอภาค เพื่อนำสู่การเปลี่ยนผ่านสู่สังคมที่เท่าเทียมกันมากขึ้