อ่านประวัติศาสตร์และการเมืองไทยปี 2563 ผ่านหนังสือ 10 เล่ม - Decode
Reading Time: 3 minutes

ในความเคลื่อนไหว

ผศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ

ปี 2563 เป็นปีที่หนักหนาสาหัสสำหรับคนทั้งโลกรวมถึงชาวไทย หลายคนเรียกว่าเป็นปีแห่ง “มหาวิกฤต” และสื่อหลายสำนักลงความเห็นว่าเป็นปีที่เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ (the worst year ever)

อย่างไรก็ตาม ปีที่ดูเหมือนจะเต็มไปด้วยความมืดมิดและความสิ้นหวังนี้ ก็เป็นปีที่น่าตื่นตาตื่นใจในแง่ความเคลื่อนไหวและการตื่นรู้ทางการเมือง การขับเคลื่อนของประชาชนและคนหนุ่มสาวบนท้องถนน ในโลกไซเบอร์ และในพื้นที่ทางศิลปะ รวมไปถึงการต่อสู้ในเชิงการเมืองวัฒนธรรม การต่อสู้เชิงสัญลักษณ์ และการต่อสู้ทางภาษาเพื่อปรับเปลี่ยนคุณค่าและเคลื่อนย้ายเพดานทางการเมืองที่เคยถูกตรึง ถูกครอบงำ และถูกทำให้หยุดนิ่งและตั้งคำถามมิได้ มันจึงเป็นปีที่ควรค่าแก่การถูกบันทึกไว้ในฐานะที่เป็นหมุดหมายทางประวัติศาสตร์ของการเติบโตแห่งจิตสำนึกใหม่

ในแง่การเคลื่อนไหวทางปัญญา ปี 2563 ก็นับเป็นปีที่ห่างไกลจากความซบเซา มีหนังสือที่น่าสนใจและน่าตื่นตาตื่นใจตีพิมพ์ออกมามากมายหลายเล่ม ในบทความสั้นๆ ชิ้นนี้

ผมอยากจะหยิบหนังสือที่เกี่ยวกับการเมืองและประวัติศาสตร์ไทยที่คิดว่าสำคัญและน่าสนใจที่สุด 10 เล่มมาแนะนำ มีทั้งที่เป็นหนังสือวิชาการและบันทึก ครอบคลุมทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ โดยจำกัดไว้เฉพาะหนังสือที่เพิ่งออกใหม่ในปีนี้ (ยกเว้น 1 เล่มที่เป็นหนังสือเก่าแต่นำมาพิมพ์ใหม่) คงต้องออกตัวไว้ว่าการคัดเลือกนี้เป็นลิสต์ส่วนตัวตามทัศนะของผู้เขียน อาจจะมีหลายเล่มตกหล่นไป   


1
Moments of Silence: The Unforgetting of the October 6, 1976, Massacre in Bangkok (University of Hawaii Press)

เล่มที่ 1 ขอแนะนำงานของอาจารย์ธงชัย วินิจจะกุล เรื่อง Moments of Silence: The Unforgetting of the October 6, 1976, Massacre in Bangkok (University of Hawaii Press) นักอ่านหลายคนอาจจะรู้จักอาจารย์ธงชัยจากหนังสือรวมบทความเรื่อง ประชาธิปไตยทีมีกษัตริย์อยู่เหนือการเมือง และ โฉมหน้าราชาชาตินิยม รวมทั้งเล่มอื่นๆ ดีอยู่แล้ว จึงอยากชวนให้อ่านหนังสือเล่มใหม่ที่เพิ่งตีพิมพ์ของนักประวัติศาสตร์ไทยท่านนี้ ซึ่งเป็นหนังสือ (ที่ไม่ใช่รวมบทความ) เล่มที่สองหลังจากเรื่องกำเนิดแผนที่สยาม (Siam Mapped) อันโด่งดัง

หนังสือเล่มนี้เป็นทั้งบันทึกส่วนตัวและงานวิชาการที่เข้มข้น เป็นหนังสือวิชาการที่เขียนด้วยภาษาสำนวนราวกับนิยายชั้นดี ที่สืบสาวเรื่องราวของการเมืองแห่งความทรงจำเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่รุนแรงโหดร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย หากอยากเข้าใจว่าทำไมสังคมไทยถึงมีความอิหลักอิเหลื่อที่จะจดจำเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ทำไมมีความพยายามที่จะลบลืมเหตุการณ์ประวัติศาสตร์บาดแผลนี้ ทั้งฝ่ายเหยื่อและฝ่ายผู้กระทำการความรุนแรงจดจำเหตุการณ์นี้อย่างไร ก็อยากชวนให้อ่านหนังสือเล่มนี้ซึ่งผู้เขียนใช้เวลาเกือบ 2 ทศวรรษในการรวบรวมเอกสาร สัมภาษณ์ ขบคิด วิเคราะห์ จนกลั่นออกมาเป็นหนังสือที่เมื่ออ่านจบแล้ว จะไม่ได้เข้าใจแค่การเมืองของอดีต แต่จะส่องสว่างให้เข้าใจตัวตนของสังคมไทยในปัจจุบันด้วย


2
Royal Capitalism: Wealth, Class, and Monarchy in Thailand (University of Wisconsin Press)

เล่มที่ 2 ปวงชน อุนจะนำ Royal Capitalism: Wealth, Class, and Monarchy in Thailand (University of Wisconsin Press) งานชิ้นนี้ดัดแปลงมาจากวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของผู้เขียน เป็นงานที่หนักแน่นทั้งในเชิงแนวคิดทฤษฎีและข้อมูล โดยอธิบายถึงวิวัฒนาการของการแปรสภาพของสถาบันกษัตริย์ของไทยจากสถาบันจารีตตามแบบศักดินาไปเป็นสถาบันกษัตริย์แบบกระฎุมพี (โดยคำว่า Bourgeois monarchy เป็นคำที่ใช้เรียกพระเจ้าหลุยส์ ฟิลิปที่หนึ่ง กษัตริย์ฝรั่งเศส 1830-1848 เพื่อบอกถึงความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นระหว่างสถาบันกษัตริย์ นายธนาคาร นายทุนอุตสาหกรรม และชนชั้นกลาง)

งานชิ้นนี้ตอบคำถามสำคัญในเรื่องการปรับเปลี่ยนคุณค่า การแสวงหาการสนับสนุนจากกระฎุมพีและการเมืองมวลชน รวมถึงการสะสมทุนสะสมทุนและแสวงหากำไรในตลาด การสร้างเครือข่ายธุรกิจที่มาพร้อมกับการครองอำนาจนำทางการเมืองของราชสำนัก นับว่าเป็นงานชิ้นสำคัญที่ควรค่าแก่การอ่านในยุคสมัยที่ประเด็นเรื่องทรัพย์สินส่วนพระองค์/ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์กำลังได้รับความสนใจในปัจจุบัน


3
ขุนศึก ศักดินา พญาอินทรี:
การเมืองไทยภายใต้ระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกา 2491-2500

เล่มที่ 3 ณัฐพล ใจจริง, ขุนศึก ศักดินา พญาอินทรี: การเมืองไทยภายใต้ระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกา 2491-2500 (ฟ้าเดียวกัน) อันที่จริง เล่มนี้อาจจะไม่ต้องการการแนะนำแต่อย่างใด เพราะกลายเป็นปรากฎการณ์ของแวดวงหนังสือในปีนี้ ปรกติหนังสือวิชาการนั้นขายไม่ดี ยิ่งเป็นหนังสือวิชาการที่มีเนื้อหาหนัก เล่มหนา และเต็มไปด้วยเชิงอรรถทุกหน้า แต่อาจารย์ณัฐพลทำให้หนังสือวิชาการกลายเป็นหนังสือที่อ่านสนุกและวางไม่ลง ความน่าตื่นเต้นของเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ในงานชิ้นนี้ทำให้ผู้อ่านแนะนำกันปากต่อปากจนส่งผลให้เล่มนี้ติดอันดับขายดีของเกือบทุกร้านค้าต่อเนื่องหลายเดือนจนขาดตลาด

จุดเด่นของงานชิ้นนี้อยู่ใน 3 จุดคือ หนึ่ง ความหนักแน่นของข้อมูลหลักฐานทั้งจากภายในประเทศและจากต่างประเทศ สอง สำนวนภาษาและการเรียบเรียงที่ไหลรื่น และสาม กรอบคำอธิบายใหม่ที่นำเสนอซึ่งช่วยให้เราไม่มองการเมืองไทยแยกขาดจากการเมืองโลก และทำให้เห็นความซับซ้อนมากขึ้น จากเดิมที่นักวิชาการอธิบายการเมืองในทศวรรษ 2490 ว่าเป็นการเมืองสามเส้าระหว่าง “จอมพล ป.-เผ่า-สฤษดิ์” งานชิ้นนี้ทำให้เราเข้าใจใหม่ว่าแท้จริงแล้วมันเป็นยุคของการเมืองสามเสาหลัก “ขุนศึก-ศักดินา-พญาอินทรี” ที่เต็มไปด้วยการต่อรอง ขัดแย้ง และจับมือเป็นพันธมิตรกันเพื่อสถาปนาระเบียบอำนาจนิยมขึ้นมาครอบงำการเมืองไทย


4
Praetorians, Profiteers or Professionals?
Studies on the Militaries of Myanmar and Thailand (ISEAS)

เล่มที่ 4 Michael J MontesanoTerence ChongPrajak Kongkirati (eds.), Praetorians, Profiteers or Professionals? Studies on the Militaries of Myanmar and Thailand (ISEAS) เล่มนี้เป็นหนังสือรวมบทความที่เพิ่งออกมาช่วงปลายปี เปรียบเทียบกองทัพไทยกับกองทัพพม่าในมิติของอุดมการณ์ การแทรกแซงทางการเมือง และบทบาททางเศรษฐกิจ

หนังสือเล่มนี้จะช่วยตอบคำถามที่เป็นปริศนาว่าเหตุใดทหารพม่าซึ่งเคยควบคุมและครอบงำการเมืองอยู่นานหลายทศวรรษจนทำให้พัฒนาทางการเมืองและเศรษฐกิจของประเทศล้าหลังกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค จึงตัดสินใจถอยไปอยู่เบื้องหลัง กลับกัน เหตุใดทหารไทยจึงยังคงแทรกแซงและเข้ามาควบคุมการเมืองอยู่จนถึงปัจจุบัน บทที่ว่าด้วยการสะสมทุนและแหล่งรายได้ทางเศรษฐกิจของกองทัพคู่ควรแก่การอ่านเป็นพิเศษ


5
โอลด์รอยัลลิสต์ดาย

เล่มที่ 5 วาด รวี, โอลด์รอยัลลิสต์ดาย (Shine Publishing House) หนังสือเล่มนี้ประกอบด้วยบทความรวมทั้งสิ้น 10 ชิ้นครอบคลุมช่วงระยะเวลาตั้งแต่ที่มีการก่อตั้งขบวนการต่อต้านรัฐบาลทักษิณในปีพ.ศ. 2548 จนมาถึงการชุมนุมของ “คณะราษฎร 2563” หนังสือเล่มนี้เหมาะกับผู้อ่านที่สนใจการเมืองไทยในเชิงลึก และแสวงหามุมมองเชิงวิพากษ์ โดยผู้เขียนสำรวจและวิพากษ์ข้อถกเถียงสำคัญในวงวิชาการของนักคิดหลายๆ ท่าน เช่น แนวคิด “สถาบันกษัตริย์เชิงเครือข่าย” “รัฐพันลึก “ฉันทามติภูมิพล” “ระบอบประยุทธ์”​ โดยวิเคราะห์ถึงองค์ประกอบของฝ่ายอำนาจนำและฝ่ายต่อต้านอำนาจนำว่าเปลี่ยนรูปโฉมไปอย่างไร รวมถึงประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพและสถาบันกษัตริย์ในยุคสมัยแห่งการเปลี่ยนผ่าน

นอกจากนั้นผู้เขียนยังตั้งข้อสังเกตว่าในยุคสมัยปัจจุบัน ไม่มีรอยัลลิสต์แบบเก่าอีกต่อไป (เป็นที่มาของชื่อหนังสือ) โอลด์รอยัลลิสต์พากันเงียบเสียงและหมดบทบาทไป ในขณะที่ “นักโหนเจ้า” รุ่นใหม่ซึ่งเป็นอนุรักษ์นิยมสุดโต่งและกระทั่งไม่สนใจจารีตแบบเดิมขึ้นมามีบทบาทครอบงำ


6
ประวัติศาสตร์อยุธยา: ห้าศตวรรษสู่โลกใหม่

เล่มที่ 6 คริส เบเกอร์ และผาสุก พงษ์ไพจิตร, ประวัติศาสตร์อยุธยา: ห้าศตวรรษสู่โลกใหม่ (มติชน) ใครที่เป็นแฟนหนังสือ ประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย ของผู้เขียนทั้งสอง รับรองจะไม่ผิดหวังกับหนังสือเล่มนี้ อาจารย์คริสและอาจารย์ผาสุกยังคงรักษามาตรฐานของการเล่าประวัติศาสตร์ได้อย่างสนุกและทันสมัย เล่มนี้น่าจะเป็นหนังสือประวัติศาสตร์อยุธยาสำหรับผู้อ่านทั่วไปที่ดีที่สุดในปัจจุบัน

ผมชอบเป็นพิเศษเพราะผู้เขียนไม่ใช้กรอบการเขียนประวัติศาสตร์แบบ “ชาตินิยม” และ “มหาบุรุษ” เราจึงได้อ่านประวัติศาสตร์อยุธยาที่ไม่ได้มีแต่สงครามและการชนช้าง แต่มีเรื่องราวของการก่อตัวของชุมชน ครอบครัว ศิลปะ การค้า ความสัมพันธ์กับต่างประเทศ หลักฐานที่ใช้กว้างขวางหลากหลาย มีทั้งเอกสารของไทย เอเชีย และตะวันตก หนังสือเล่มนี้คือการพลิกฟื้นชีวิตให้กับประวัติศาสตร์ยุคอยุธยาอีกครั้ง ได้เห็นชีวิตของผู้คนที่หลากหลายและน่าตื่นตาตื่นใจ


7
ตาสว่าง

เล่มที่ 7 Claudio Sopranzetti, Sara Fabbri, Chiara Natalucci, ตาสว่าง (อ่านอิตาลี) แปลโดย นันธวรรณ์ ชาญประเสริฐ

เล่มนี้เป็นนิยายภาพ (graphic novel) ซึ่งไม่พบบ่อยนักที่จะมีนิยายภาพเกี่ยวกับการเมืองไทย เดิมต้นฉบับมาจากภาษาอิตาลี โดยผู้เขียนหลักคือ Claudio ซึ่งเป็นนักมานุษยวิทยาที่มาศึกษาชีวิตของคนขับมอเตอร์ไซค์รับจ้างในกรุงเทพฯ นานอยู่หลายปี จนตีพิมพ์เป็นหนังสือที่มีชื่อเสียง ในหนังสือเล่มใหม่นี้ เขาหยิบชีวิตของผู้คนที่เขาได้สัมผัสพบเจอในสนามแห่งการวิจัย มาเล่าต่อในรูปแบบนิยายภาพ

อ่านจบแล้วอดสะเทือนใจไม่ได้ เป็นหนังสือที่เล่าเรื่องแบบเรียบง่าย ตรงไปตรงมา ไม่ประดิษฐ์ประดอย ฉายภาพให้เห็นการเดินทาง ความทุกข์ ความฝัน และที่มาที่ไปของปรากฎการณ์ “ตาสว่าง” ของสามัญชนที่ไม่อาจหวนกลับไปเหมือนเดิม เป็นหนังสือนิยายภาพที่ทำให้เข้าใจความรุนแรงของรัฐไทย ความรุนแรงเชิงโครงสร้างของสังคมไทย และความขัดแย้งอันร้าวลึกในแผ่นดินสยามได้ลึกกว่าตำราวิชาการจำนวนมาก  


8
ชาติไทย เมืองไทย แบบเรียน และอนุสาวรีย์:
ว่าด้วยวัฒนธรรม, รัฐ และรูปการจิตสำนึก

เล่มที่ 8 นิธิ เอียวศรีวงศ์, ชาติไทย เมืองไทย แบบเรียน และอนุสาวรีย์: ว่าด้วยวัฒนธรรม, รัฐ และรูปการจิตสำนึก (มติชน)

เล่มนี้ตีพิมพ์ซ้ำหลายครั้ง แต่นำมาตีพิมพ์ใหม่ในปีนี้ พร้อมกับหน้าปกใหม่ที่ออกแบบสวยงามและมีความร่วมสมัย เป็นรวมบทความของอาจารย์นิธิ นักประวัติศาสตร์อาวุโสของสังคมไทย หนึ่งในปัญญาชนสาธารณะที่มีอิทธิพลที่สุด บทความต่างๆ ส่วนใหญ่ตีพิมพ์ในทศวรรษ 2530 แต่กลับมาอ่านใหม่ในพ.ศ.นี้ก็ยังทันสมัย เกือบทุกชิ้นเป็นบทความที่มีอิทธิพลมากในการสร้างข้อถกเถียงเกี่ยวกับพัฒนาการของรัฐ ชาติ ชาตินิยม ประชาธิปไตย และรัฐธรรมนูญในสังคมไทย

งานของนักวิชาการรุ่นใหม่จำนวนมากเป็นการสานต่อ ถกเถียง และสนทนากับบทความในหนังสือเล่มนี้ ชิ้นที่แนะนำเป็นพิเศษคือ รัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมไทย ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไทย และชาตินิยมในขบวนการประชาธิปไตย อาจกล่าวได้ว่าเล่มนี้คือหนึ่งในต้นธารของ “ประวัติศาสตร์ปลดแอก” ในยุคที่ยังไม่มีคำนี้ปรากฎ


9
Fighting for Virtue:
Justice and Politics in Thailand (Cornell University Press)

เล่มที่ 9 Duncan McCargo, Fighting for Virtue: Justice and Politics in Thailand (Cornell University Press) 

ผู้เขียนเป็นนักวิชาการที่ศึกษาการเมืองไทยมาอย่างต่อเนื่องกว่า 30 ปี ผลิตงานชิ้นสำคัญออกมาหลายชิ้นรวมทั้งแนวคิดที่อ้างอิงกันอย่างกว้างขวางว่าด้วย “สถาบันกษัตริย์เชิงเครือข่าย” (Network monarchy) แต่ส่วนตัวแล้วผมชอบหนังสือเล่มใหม่นี้ของเขามากที่สุด เป็นงานที่พูดถึงปัญหานิติรัฐ บทบาทตุลาการทางการเมือง การเมืองของศาลรัฐธรรมนูญ และปรากฎการณ์ตุลาการภิวัฒน์ได้ละเอียด ลึกซึ้ง และรอบด้านที่สุด

ผู้เขียนเจาะลึกลงไปถึงกระบวนการคัดเลือก การอบรมสั่งสอน การเลื่อนขั้น และธรรมเนียมการตีความกฎหมายของสถาบันตุลาการของไทยว่าเหตุใดจึงมีลักษณะอนุรักษ์นิยมสูง และชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่าปัญหาความผุกร่อนของหลักนิติรัฐและหลักความยุติธรรมเป็นปัจจัยสำคัญในการซ้ำเติมวิกฤตการเมืองไทยจนยากที่จะหาทางออกได้ โดยเฉพาะเมื่อตุลาการถูกผนวกเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายชนชั้นนำจารีต


10
รักสามัญ บันทึกความผูกพันชั้นราษฎร

เล่มที่ 10 รสมาลิน ตั้งนพกุล, รักสามัญ บันทึกความผูกพันชั้นราษฎร (อ่าน)

ขอปิดท้ายด้วยหนังสือที่ไม่ใช่หนังสือวิชาการ แต่เป็นเล่มที่ทำให้เข้าใจสังคมไทยอย่างลึกซึ้งมากกว่าหนังสือวิชาการใดๆ อ่านหนังสือเล่มนี้คู่กับ “รักเอย” ของผู้เขียนคนเดียวกัน คู่กับ “ห้องเช่าหมายเลข 112” (จัดพิมพ์โดย iLaw) และ “มันทำร้ายเราได้แค่นี้แหละ” (ของภรทิพย์ มั่นคง)

เมื่ออ่านจบแล้ว ผมเชื่อว่าผู้อ่านที่ยังมีหัวใจ ที่ยังไม่สูญเสียสามัญสำนึก จะมองเห็นความผิดปรกติในยุคสมัยที่เราอาศัยอยู่ และมองเห็นความอยุติธรรมของประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่ถูกรื้อฟื้นกลับมาใช้ใหม่ (อีกครั้ง) เพื่อปกป้องอำนาจที่ไม่ชอบธรรม และทำร้าย-ทำลายชีวิตของอาณาประชาราษฎร์อย่างเลือดเย็น