ก้อนอิฐในมือสามัญชน
ดร.เกรียงศักดิ์ ธีระโกวิทขจร
สถาบันแรงงานและเศรษฐกิจที่เป็นธรรม
หากนับตั้งแต่ธุรกิจแพลตฟอร์มรุ่นบุกเบิกอย่างอูเบอร์เข้ามาลงทุนในประเทศไทยจนถึงวันนี้ ก็ถือได้ว่าเศรษฐกิจแพลตฟอร์มในประเทศไทยมีอายุมากกว่า 5 ปีแล้ว
ถึงแม้อูเบอร์ได้ทำข้อตกลงกับแกร็บขอถอนตัวออกจากตลาดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปตั้งแต่ปี 2561 แต่โมเดลธุรกิจของอูเบอร์มีอิทธิพลถึงขั้นทำให้เกิดปรากฎการณ์ที่นักวิชาการเรียกกันว่า “อูเบอร์ไรเซชั่น (Uber-ization) นั่นคือ รูปแบบของการจ้างงานของอูเบอร์ กลายเป็นโมเดลกระแสหลัก กำหนดรูปแบบการจ้างงานที่เป็น “มาตรฐาน” ของแพลตฟอร์มในภาพรวม โมเดลนี้ทำให้เกิดรูปแบบการจ้างงานที่เฉพาะเจาะจงรูปแบบหนึ่ง คือ ดูดเอาทรัพยากรมาใช้อย่างสิ้นเปลือง (extractive) และเอาเปรียบขูดรีด (exploitative) ทั้งที่มันไม่จำเป็นต้องเป็นแบบนั้น
แพลตฟอร์มสัญชาติสิงคโปร์อย่างแกร็บเองได้รับอิทธิพลจาก “อูเบอร์ไรเซชั่น” มาไม่น้อย ทำให้ลักษณะการจ้างงานที่แกร็บเป็นผู้กำหนดเทรนด์ในขณะนั้นกำลังเปลี่ยนแปลงความหมายของ “งาน” ไปอย่างถึงราก
ตัวผมเองติดตามพัฒนาการและผลกระทบของเศรษฐกิจแพลตฟอร์มอย่างจริงจังมาตั้งแต่ปี 2560 มองเห็นว่าโมเดลธุรกิจที่มีอูเบอร์และแกร็บเป็นผู้นำนั้น มีปัญหาพื้นฐานในเรื่องความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจและแรงงานอย่างน้อยสามเรื่อง
เรื่องแรก โมเดลธุรกิจนี้ถูกออกแบบขึ้นเพื่อเน้นเก็บ “ค่าเช่า (rent) ทางเศรษฐกิจ” ในรูปของค่านายหน้า เพื่อนำผลกำไรกลับไปตอบสนองนักลงทุนหรือผู้ถือหุ้นที่อยู่นอกประเทศ
สอง สิ่งที่เป็นนวัตกรรมในเชิงธุรกิจแต่สร้างปัญหาในด้านแรงงาน คือความคล่องตัวของผู้จ้างงาน ที่ทำให้เกิดความสัมพันธ์ใหม่ ทำให้คนงานแพลตฟอร์มจำนวนมากกำลังถูกกีดกันออกจากการคุ้มครองทางกฎหมาย ที่เคยผูกติดอยู่กับความสัมพันธ์ของการจ้างงานที่ต้องมีนายจ้าง-ลูกจ้างแบบเก่า
เรื่องสุดท้าย ในแง่ของปฏิสัมพันธ์ระหว่างบริษัทและคนทำงานนั้น แพลตฟอร์มได้นำวิธีการบริหารงานที่มุ่งเน้นลดทอนอำนาจของคนทำงานมาใช้ ไม่ว่าจะเป็นอัลกอริทึ่มและระบบคอลเซ็นเตอร์ที่ทำให้คนงานไร้เสียงและอำนาจต่อรอง
ในแง่เศรษฐกิจ ลักษณะการจ้างงานที่คล้ายการจ้างพนักงานแต่บริษัทปัดความรับผิดชอบของตนต่อคนทำงานในเรื่องสิทธิและสวัสดิการขั้นพื้นฐานนั้น ทำให้เกิดแนวโน้มของกระบวนการทำให้งานมีความไม่เป็นทางการ (informalization) มากขึ้น ลดทอนสิทธิและมาตรฐานแรงงานในภาพรวมลง
ถึงแม้คนจำนวนไม่น้อยจะโต้แย้งว่าปัญหาของแพลตฟอร์มเป็นผลมาจากการแข่งขันที่ไม่สมบูรณ์ในตลาด และการแข่งขันที่มากขึ้นจะช่วยให้เกิดความเป็นธรรมได้ ความจริงแล้วงานวิจัยและบทวิเคราะห์จากทั่วโลกยังชี้ไปในทางเดียวกันว่า ความเชื่อนี้เป็นเพียงมายาคติ
ประเด็นสำคัญก็คือ สาเหตุสำคัญของสุญญากาศของการควบคุมกำกับแพลตฟอร์มนั้นเกิดจากการออกแบบโมเดลธุรกิจเพื่อหลบเลี่ยงกฎหมายตั้งแต่ต้น นอกจากนี้ อำนาจในการแข่งขันของแพลตฟอร์มที่มีอิทธิพลสูงมากขึ้น กลับเปิดโอกาสให้แพลตฟอร์มเหล่านี้มีทรัพยากรมากขึ้นที่จะใช้ล็อบบี้ไม่ให้เกิดกฎหมายเพื่อกำกับให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรม กรณีตัวอย่างของบริษัทแกร็บในประเทศไทยที่สามารถขัดขืนต่อการกำกับควบคุมธุรกิจย่อยเช่น ขนส่งสาธารณะให้ถูกต้องตามกฎหมายเป็นตัวอย่างที่ชัดเจน
ทั้งที่เศรษฐกิจแพลตฟอร์มมีอายุเกินกว่ากึ่งศตวรรษแล้วก็ตาม แต่จากการเข้าประชุมหารือในประเด็นของคนงานแพลตฟอร์มร่วมกับผู้กำหนดนโยบาย ทั้งกรรมาธิการแรงงานของสภาผู้แทนราษฎร์และเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกระทรวงแรงงาน น่าแปลกใจที่เกือบทุกคนแทบจะพูดเป็นเสียงเดียวกันให้ได้ยินว่า “นี่คือเรื่องใหม่” ที่ต้องใช้เวลาในการศึกษา
ตามที่ผมได้เขียนตั้งต้นบทความนี้ เศรษฐกิจแพลตฟอร์มในประเทศไทยมีอายุมากกว่า 5 ปีแล้ว ถึงแม้ประเด็นปัญหาของคนงานแพลตฟอร์มจะเริ่มปรากฎให้เห็นชัดเจนในช่วงหนึ่งถึงสองปีที่ผ่านมา แต่ประเด็นเหล่านี้กลายเป็นข้อกังวลของฝ่ายแรงงานในประเทศที่มีประสบการณ์จากเศรษฐกิจแพลตฟอร์มมาก่อนหน้าประเทศไทยหลายปีดีดักแล้ว
ยิ่งไปกว่านั้น จะกล่าวอย่างถึงที่สุดแล้ว ปัญหาการจ้างงานลักษณะนี้ไม่ได้เป็นเรื่องใหม่ซะทีเดียวในประเทศไทย ผู้ที่คุ้นเคยกับปัญหาแรงงานจะทราบดีว่าคนงานไทยก็ประสบกับปัญหาที่คล้ายคลึงกันมาเป็นเวลานานแล้ว นั่นคือ การจ้างงานแบบซับคอนแทรค (subcontract) ที่นายจ้างพยายามหลบเลี่ยงความรับผิดชอบของตนโดยสร้างรูปแบบความสัมพันธ์แบบใหม่ขึ้นกลบเกลื่อน
ดังนั้น ประเด็นของคนงานแพลตฟอร์มจึงมีความต่อเนื่องกับประเด็นเรื่องการจ้างงานที่ไม่มั่นคง (precarious work) ซึ่งเป็นปัญหายืดเยื้อที่ปรากฎรูปลักษณ์ใหม่ไม่ต่างจาก “เหล้าเก่าในขวดใหม่”
อย่างไรก็ดี “ความใหม่ในความเก่า” ของการจ้างคนงานแพลตฟอร์ม กลับอยู่ที่การตีโจทย์เรื่องความตั้งใจกำหนดสถานะคนงานแบบผิด ๆ (misclassification) ของบริษัทแพลตฟอร์ม ซึ่งเจ้าหน้าที่ภาครัฐจะต้องหาหลักยึดที่มั่นคง ไม่หลงเข้าใจไปตามอย่างที่บริษัทแพลตฟอร์มกล่าวอ้างวาทกรรม “หุ้นส่วน”
ในขณะนี้ กลุ่มตัวแทนไรเดอร์ของแกร็บกำลังเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ของกระทรวงแรงงาน รวมถึงกรรมาธิการแรงงานของสภาผู้แทน ได้ตรวจสอบและตีความความหมายของ “งานอิสระ” ที่บริษัทกล่าวอ้าง เพราะในความเป็นจริง บริษัทแพลตฟอร์มมีอำนาจกำกับและควบคุมการทำงานของไรเดอร์อย่างล้นเหลือ แต่ไม่ได้มีการแบ่งปันผลกำไรและอำนาจในการร่วมตัดสินใจเกี่ยวกับเรื่องสภาพการทำงานของพวกเขาเลย
การประท้วงของไรเดอร์กลุ่มดังกล่าว ที่ปรากฎเป็นข่าวตั้งแต่ในช่วงต้นเดือนนี้ เริ่มต้นจากการเข้ายื่นข้อเรียกร้องให้กับตัวแทนของผู้บริหารกระทรวงแรงงาน ในวันที่ 3 ธันวาคมและหลังจากนั้น ไรเดอร์ได้รวมตัวกันหน้าตึกยูบีซี 2 บริเวณถนนสุขุมวิท เพื่อขอยื่นข้อเรียกร้องให้กับผู้บริหารของแกร็บ แต่ผู้บริหารแกร็บกลับเพิกเฉยต่อความเดือดร้อนของคนทำงาน จนทำให้ไรเดอร์ต้องประกาศรวมตัวกันอีกครั้งแบบ “เบิ้มๆ” ในวันที่ 8 ธันวาคม 2563 อย่างที่ปรากฎในหน้าสื่อนั้น เป็นเพียงยอดภูเขาน้ำแข็งที่โผล่พ้นน้ำให้เราเห็น
อันที่จริง นี่ไม่ได้เป็นการรวมตัวกันครั้งแรก (และคงไม่ได้เป็นครั้งสุดท้าย) ปัญหาไรเดอร์แกร็บสะสมมานานตั้งแต่ปลายปี 2562 ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการปรับลดค่าส่งหรือค่ารอบที่บริษัทแกร็บมีอำนาจปรับลดลงมาเรื่อย ๆ เพียงฝ่ายเดียว โดยไม่มีการแจ้งให้ไรเดอร์รู้ล่วงหน้า
ความเดือดร้อนของไรเดอร์นั้นจึงสะสมมาจนกระทั่งปะทุขึ้น และเกิดการประท้วงใหญ่หน้าอาคารสำนักงานของแกร็บในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ในตอนนั้นไรเดอร์แกร็บมีข้อเรียกร้องที่หลายประการ เช่น ให้บริษัทยกเลิกการบังคับขายอุปกรณ์และเครื่องแบบ ยกเลิกวิธีการปิดระบบแอ็ปพลิเคชั่นที่ขาดความโปร่งใสและไม่มีการแจ้งเหตุผล รวมถึงปรับปรุงระบบคอลเซ็นเตอร์ที่ใช้ไม่ได้จริง ทั้งที่โดยหลักการ ควรเป็นกลไกสนับสนุนไรเดอร์ที่ประสบปัญหาในระหว่างการทำงาน และที่สำคัญ การจัดให้มีประกันอุบัติเหตุให้กับไรเดอร์ ที่ประสบปัญหาอุบัติเหตุเสียชีวิตถี่ขึ้นเรื่อย ๆ (ซึ่งเป็นผลทางอ้อมมาจากการลดค่ารอบที่ทำให้ไรเดอร์ต้องเร่งรีบในการขับขี่เพื่อทำยอดให้ได้มาก) แต่บริษัทกลับสร้างเงื่อนไขและอุปสรรคในทางปฏิบัติในการเบิกจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาล เมื่อไรเดอร์ประสบอุบัติเหตุและเสียชีวิต ฯลฯ
เมื่อผู้บริหารแกร็บรับปากกับไรเดอร์ที่มาชุมนุมว่า จะจัดการปัญหาต่าง ๆ ที่ไรเดอร์เรียกร้อง แต่ในที่สุดกลับเพิกเฉยและปล่อยให้ไรเดอร์ต้องจัดการกับปัญหาด้วยกำลังของตนเอง โดยที่ภาครัฐเองก็เพียงได้แต่แสดงบทของผู้ชมข้างสนามมาตลอด ไรเดอร์แกร็บกลุ่มนี้จึงตาสว่างและเข้าใจถ่องแท้แล้วว่า “งานอิสระ” ในความหมายของแกร็บนั้น มีความหมายเดียวกับสิ่งที่เราเรียกว่า งานที่ไม่มั่นคง (precarious work) ในความหมายว่า “อิสระ” จากการคุ้มครองทางกฎหมายและการประกันทางสังคม