ยกหูโทรหา ยังสบายดีไหม “กะเบอะดิน” - Decode
Reading Time: 2 minutes

1 ปีที่ผ่านไปเปลี่ยนอะไรในกะเบอะดิน?

“ช่วงนี้ที่นั่นเป็นยังไงบ้าง?” – ต้นสาย

ที่นั่น – ซึ่งเอ่ยถึง หมายถึง หมู่บ้านกะเบอะดิน หมู่บ้านชาวปกาเกอะญอซึ่งตั้งอยู่ใจกลางหุบเขาที่เรียงตัวสลับซับซ้อนตั้งอยู่ในอำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ภาพนั้นคุ้นตาคุ้นใจเราอยู่มากเพราะการได้มีโอกาสไปเยือนอยู่หลายครั้งหลายหน รวมถึงบทสนทนาก็มักเกิดขึ้นใจกลางหุบเขาและลมหนาวอยู่เสมอ ต่างก็แต่ครั้งนี้เราไม่ได้สบตากันบนบ้านไม้เก่ายกสูงแต่บทสนทนาเกิดขึ้นระหว่างคู่สายที่ห่างกันนับพันกิโล

“ช่วงนี้เกี่ยวข้าวค่ะ น้องไปเกี่ยวข้าวมาสองวันแล้ว” – ปลายสายตอบกลับเสียงใส

ด้านหนึ่ง ‘ดวงแก้ว’ ยังคงเป็นเด็กสาววัยย่างยี่สิบที่ใช้ชีวิตธรรมดาอยู่กับพ่อแม่ ยังคงปลูกข้าวทำเกษตรหาเลี้ยงตัวเองแบบที่เด็กสาวปกาเกอะญอคนอื่นเป็น แต่หมวกอีกใบที่สวมอยู่ เธอคือหัวเรี่ยวหัวแรงของ ‘กลุ่มเยาวชนกะเบอะดินไม่เอาเหมืองแร่’

1 ปีแห่งการต่อสู้เธอมองเห็นจิตวิญญาณ ตัวตนและชีวิตของคนกะเบอะดินรวมถึงตัวเอง เปลี่ยนไปอย่างไร? นี่คือบทสนทนาที่เกิดขึ้นจากใจกลางเมืองถึงหุบเขาในกะเบอะดิน

อ่าน ดีลป่าแลกเหมือง การเผชิญหน้าของป้ายผ้า ปากกาหลากสี

จากวันนั้น ถึง วันนี้ อะไรเปลี่ยนไปบ้าง?

เมื่อก่อนเรามีกลุ่มเยาวชนกันแค่ 5 – 6 คน แต่หนึ่งปีผ่านไปทั้งผู้ชายและผู้หญิงมารวมตัวกันมากขึ้น ทุกคนมีส่วนร่วมในการต่อสู้และทุกคนอยากที่จะต่อสู้เพราะเข้าใจว่าถ้าเหมืองแร่เกิดขึ้น มันจะส่งผลกระทบทั้งชาวบ้านและตัวเขาด้วยจริง ๆ มันทำให้เขาเห็นภาพมากขึ้น 

ในขณะที่ชาวบ้านเองเรารู้สึกว่าเขาเริ่มไม่กลัวที่จะต่อสู้แล้ว เมื่อก่อนเขาจะกลัวบริษัท กลัวนายทุน เพราะเขาไม่รู้กฎหมาย ไม่รู้แม้กระทั่งสิทธิของตัวเอง ซึ่งหลังจากมีนักกฎหมายเข้ามาให้คำแนะนำในเรื่องสิทธิที่เราจะรู้ จะร่วมคัดค้าน จะเอาหรือไม่เอาเหมืองแร่ ทำให้เรามีความรู้และมีจิตใจที่จะสู้ต่อไปได้และชาวบ้านก็ร่วมต่อสู้กับเรา

2563 : ปีแห่ง Movement ของ ‘กลุ่มเยาวชนกะเบอะดินไม่เอาเหมืองแร่’

Movement 1 : 24 พฤษภาคม 2562

หลังเรื่องราวของเหมืองแร่ถ่านหินอมก๋อยถูกเผยแพร่ลงโซเชี่ยลมีเดีย กลุ่มชาวบ้านที่ไม่เห็นด้วยกับการเกิดขึ้นของเหมืองแร่จึงรวมตัวกันลงชื่อเพื่อคัดค้านและยื่นหนังสือต่อปลัดอำเภออมก๋อยให้รับรู้ถึงข้อกังวลใจของชาวบ้าน โดยมีตัวแทนของหมู่บ้านกะเบอะดิน ต.อมก๋อย อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่จะใช้สร้างเหมืองแร่ นั่นคือจุดเริ่มต้นของการปกป้องผืนป่า ทรัพยากร วิถีชีวิตและจิตวิญญาณ จนนำมาสู่การต่อสู้ถึงวันนี้

Movement 2 : 5 มิถุนายน 2562

          เครือข่ายยุติเหมืองแร่อมก๋อย ชาวบ้านหมู่บ้านกะเบอะดินและชาวบ้านจากหลายหมู่บ้านรวมไปถึงนักเรียนจากหลายโรงเรียนในพื้นที่ รวมจำนวนกว่า 1,500 คน ร่วมเดินขบวนในวันสิ่งแวดล้อมโลกเพื่อแสดงจุดยืนการต่อสู้ในฐานะคนอมก๋อยไม่เอาเหมืองแร่

พวกเขาหวังว่าการแสดงพลังของคนอมก๋อยจะมีความสำคัญต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องซึ่งจะรับฟังเสียงของประชาชนชาวอมก๋อยและทำให้อมก๋อยยังคงเป็นพื้นที่ที่อากาศดีที่สุดในประเทศไทยต่อไป

Movement 3 : 22 – 27 กันยายน 2562

จุดเริ่มต้นของกลุ่มเยาวชนรวมไปถึงกลุ่มชาวบ้านที่ร่วมกันต่อสู้คัดค้านเหมืองแร่ เริ่มต้นจากกลุ่มเยาวชนเล็ก ๆ ในพื้นที่กะเบอะดินและพื้นที่รอบข้าง ปลายเดือนกันยายนเมื่อปีที่แล้วพวกเขาจุดไฟแห่งความหวังของการต่อสู้ด้วยการลงพื้นที่พูดคุย ทำความเข้าใจถึงผลกระทบจากเหมืองแร่ถ่านหิน

พวกเขาแบ่งกลุ่มไปพูดคุยกับชาวบ้านและอธิบายถึงผลกระทบเป็นการฉายวีดีโอจากกันทำเหมืองแร่ถ่านหินจนสามารถรวมมวลชนซึ่งเป็นเครือข่ายในพื้นที่กว่า 7 หมู่บ้านได้



พอใจกับ 1 ปีที่ผ่านมาแค่ไหน?

ทั้งชาวบ้านและเยาวชนก็พอใจมากเพราะเรากล้าที่จะแสดงจุดยืน กล้าที่จะทำตามสิทธิที่พึงมีของตัวเอง กล้าที่จะเผชิญหน้ากับสิ่งซึ่งรุกล้ำเข้ามาในหมู่บ้านของเราและเรากล้าที่จะรวมตัวกันเพื่อให้ทุกอย่างสำเร็จตามเป้าหมายเราได้

แล้วกับตัวเอง เรามองตัวเองในปีที่ผ่านเป็นอย่างไร?

เราทำหลายย่าง มีชีวิตหลายด้าน ด้านหนึ่งเราก็ใช้ชีวิตธรรมดาอยู่กับพ่อแม่ อีกด้านคือการต่อสู้ เรามองว่างานต่าง ๆ ไม่ว่าจะทำหน้าที่อะไร เราก็ทำหน้าที่ส่วนนั้นได้ดีที่สุดแล้ว แต่คิดว่าตัวเองต้องพัฒนาศักยภาพในหลายด้านที่ยังไม่มีความรู้ ไม่มีทักษะมากพอ หรืออาจจะต้องเรียนรู้การทำงานร่วมกับกลุ่มเยาวชน กลุ่มชาวบ้านและเห็นภาพของเยาวชนได้ดีกว่านี้

ที่สำคัญคือการพัฒนาทักษะกลุ่มเยาวชน ทั้งการพูด การสื่อสาร การทำงานเป็นทีม การประสานงาน ถ้าเราทุกคนทำได้ เข้าใจในงาน ทุกคนก็จะทำงานได้อย่างสมบูรณ์แบบ รวมถึงเยาวชนทุกคนที่ไม่ใช่แค่เรา แต่อาจจะมีดวงแก้วคนที่ 1 คนที่ 2 หรือคนที่ 3 ก็ได้

แต่สำหรับกลุ่มเยาวชนตั้งแต่วันแรกจนถึงตอนนี้เรารู้สึกว่ามันพัฒนาไปไกลมากแล้ว

หลาย ๆ ครั้งหรือเกือบทุกครั้งที่กลุ่มคนรุ่นใหม่ในพื้นที่กลายเป็นเสาหลักในการดำเนินกิจกรรมที่เกิดขึ้นเพราะความสามารถในการเข้าถึงเทคโนโลยี การใช้ภาษาไทยทำให้พวกเขาเป็นความหวังในการต่อสู้ครั้งนี้

Movement 4 : 14 กุมภาพันธ์ 2563

“ป่าเป็นเหมือนร้านค้า อยากกินอะไรก็หาเอาจากป่าได้ เราแทบไม่เคยใช้เงินกันเลยส่วนใหญ่เราหาจากป่า เรารู้สึกว่าเราเป็นคนรุ่นใหม่ เราต้องต่อสู้และคัดค้านเพื่อไม่ให้ใครมาเอาผืนป่าของเราไป” – นี่เป็นคำยืนยันที่ชัดเจนที่สุดจากกลุ่มเยาวชนในพื้นที่กะเบอะดินเมื่อถามถึงความสัมพันธ์ระหว่างเธอและผืนป่าที่เธอเติบโตมา

กิจกรรมบวชป่าและทำแนวกันไฟสะท้อนให้เห็นถึงความผูกพันธ์ทางจิตวิญญาณที่คนกะเบอะดินมีต่อผืนป่าได้เป็นอย่างดี จนชาวบ้านเรียกขานพื้นที่ตรงนี้ว่า ‘ป่าจิตวิญญาณ’ นั่นเพราะพื้นที่ดังกล่าวเต็มไปด้วยต้นไม้ใหญ่และเป็นพื้นที่ไว้ใช้จัดพิธีทางศาสนาในทุกปี มันจึงคล้ายเป็นศูนย์รวมจิตวิญญาณของคนกะเบอะดินกับวิถีชีวิตที่พวกเขาพึ่งพาอาศัยผืนป่าตั้งแต่เกิดจนตาย

ปีแนน เด็กสาวรุ่นราวคราวเดียวกับดวงแก้ว เธอเป็นอีกคนที่มีความฝันให้อมก๋อยยังคงเป็นอมก๋อยที่อากาศดีและเต็มไปด้วยทรัพยากรผืนป่าอย่างที่มันเป็นมาตลอด

“หนูอยู่กับป่ามาตั้งแต่เด็ก ตอนเช้ามาไปทำสวนก็ต้องเดินผ่านป่าผ่านเขา ลมที่พัดมาก็พัดผ่านยอดเขามาถึงเรา มันเป็นเหมือนส่วนหนึ่งของชีวิตไปแล้วจริง ๆ และสุดท้ายมันเป็นสิทธิ์ของเราที่จะต่อสู้เพื่อความอยู่รอดของตัวเราและชุมชนของเราเอง หนูก็อยากเป็นส่วนหนึ่งในการต่อสู้ครั้งนี้เหมือนกัน”

Movement 5 : 5 เมษายน 2563

ชาวบ้านกะเบอะดินรวมตัวกันที่สถานีตำรวจภูธรอมก๋อยเพื่อลงบันทึกประจำวัน หลังพบข้อผิดพลาดและข้อพิรุธในสมุดประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โดยมีระบุข้อผิดพลาดดังนี้

1. คนที่เขียนชื่อตัวเองไม่ได้แต่พบว่าใน EIA เขียนชื่อได้
2. คนที่เขียนชื่อได้แต่ใน EIA พบเป็นการเป็นปั๊มลายนิ้วมือ
3. พบคนที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ
4. พบคนที่มีรายชื่อซ้ำในสมุด EIA
5. คนที่ยืนยันว่าใน EIA ไม่ใช่ลายมือของเขาเอง


1 ปีกับการต่อสู้ มันยาวนานไหม?

มันเป็นแค่ช่วงหนึ่งที่ต้องต่อสู้แต่เราไม่ได้เรียกว่าเป็นการต่อสู้ เรามองว่ามันเป็นการเรียนรู้ที่เราต้องข้ามผ่านแต่ละด่านไปให้ได้อย่างดี มันเป็นบทเรียนที่มีค่าราคาแพงและเราตั้งคำถามว่า แล้วจะจัดการกับบทเรียนนี้ได้อย่างไร? หรือเราจะเรียนรู้จากบทเรียนนี้เพื่อมาทดสอบชีวิตของเราได้อย่างไรมากกว่า เพราะถ้าเรามองว่าเราถูกกระทำเราก็จะเหนื่อย ท้อ แต่ถ้าเราคิดว่ามันคือบทเรียนเราก็ต้องพัฒนาตัวเองต้องหาความรู้เพิ่มเพื่อไปให้ถึงเป้าหมายที่เราวางไว้ คือ การไม่มีเหมืองแร่เกิดขึ้นในกะเบอะดิน

เรามองเห็นอะไรจากการต่อสู้ครั้งนี้?

ถ้าไม่มีเรื่องเหมืองแร่เราคงไม่รู้เรื่องสิทธิ กฎหมายหรือการวางแผนเหล่านี้เลย แต่หนึ่งปีที่ผ่านมา สิ่งที่เราเจอมันสอนให้เราเรียนรู้ในการที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดี เป็นคนที่เข้าใจกฎเกณฑ์ของสังคม การทำงานเป็นทีม เรารู้สึกว่ามันเป็นการเรียนรู้นอกห้องเรียนที่สำคัญต่อการเป็นอยู่ของชีวิตเรามากในวันนี้

ด้านหนึ่ง ‘ดวงแก้ว’ ยังคงเป็นเด็กสาววัยย่างยี่สิบที่ใช้ชีวิตธรรมดาอยู่กับพ่อแม่ แต่อีกด้านเธอคือเด็กสาวคนหนึ่งที่ลุกขึ้นมาต่อสู้กับทุนและอำนาจซึ่งเข้ามารุกรานพื้นที่ทำกิน วิถีชีวิตรวมไปถึงจิตวิญญาณแห่งความเป็นชาวกะเบอะดินของเธอและพี่น้องในชุมชน

แม้ว่า 1 ปีจะเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการต่อสู้แต่ความหวัง ความกล้าของคนที่นี่ถูกจุดติดขึ้นแล้วและไม่ว่าอย่างไรมันคงไม่มีวันดับลงไปได้ง่าย ๆ เช่นกัน