พร 3 ข้อของแม่บ้านดีลิเวอรี่ - Decode
Reading Time: 2 minutes

ก้อนอิฐในมือสามัญชน

ดร.เกรียงศักดิ์ ธีระโกวิทขจร
สถาบันแรงงานและเศรษฐกิจที่เป็นธรรม



“แม่บ้านดีลิเวอรี่” พวกเธอคือยักษ์ในตะเกียงวิเศษกับพรสามข้อเรื่องสวัสดิการของตัวเอง

แรงงานแพลตฟอร์ม (platform labor) เป็นแรงงานกลุ่มที่กำลังเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในภาวะที่เศรษฐกิจถดถอยและขณะที่เกิดการว่างงานหรือการทำงานต่ำกว่าระดับ (underemployment) สูงเช่นในปัจจุบัน

นอกจากแรงงานกลุ่มที่เราเริ่มคุ้นชินกัน อย่างเช่น ไรเดอร์ส่งอาหาร-ส่งผู้โดยสาร-ส่งสินค้าแล้ว ปัจจุบัน มีแรงงานแพลตฟอร์มหรือคนงานกิ๊ก (gig worker) กลุ่มใหม่ ที่เป็นกลุ่มคนงานหญิงซึ่งเรามักไม่ค่อยรู้จักหรือรับรู้ถึง เช่น พนักงานทำความสะอาด พนักงานนวดและผู้ดูแลด้านสุขภาพ

ด้วยเพราะลักษณะงานและการทำงานของคนงานกลุ่มนี้แตกต่างจากงานของไรเดอร์ที่ทำงานในพื้นที่สาธารณะ คนงานหญิงกลุ่มนี้มักทำงานในสถานที่ที่เป็นส่วนตัว เช่น อพาร์ทเมนท์ บ้าน หรือห้องพักตามโรงแรม

ลักษณะงานของแรงงานกลุ่มนี้ จึงทำให้พวกเขาต้องประสบกับความเสี่ยงด้านจากการถูกล่วงละเมิดทางเพศ จึงเป็นกลุ่มที่ควรได้รับความสนใจในเรื่องสิทธิและการคุ้มครองอย่างยิ่ง

ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ผมกับทีมนักวิจัยได้ทำการศึกษาแพลตฟอร์มการจ้างงานในธุรกิจด้านการดูแล (care work) และได้สัมภาษณ์คนงานหญิงกลุ่มนี้จำนวนไม่น้อย ทั้งในแบบเดี่ยวและกลุ่มในบทความตอนนี้ จึงอยากนำบางส่วนของสิ่งที่ได้เรียนรู้จากแรงงานแพลตฟอร์มหญิงกลุ่มหนึ่งคือ พนักงานทำความสะอาด มาถ่ายทอดให้กับผู้อ่าน

ผมนึกถึงนิทานเรื่องยักษ์ในตะเกียงวิเศษที่จะถูกผู้ครอบครองตะเกียงเรียกขึ้นออกใช้งานเป็นครั้งคราว ยักษ์เหล่านั้นมีหน้าที่เนรมิตความฝันของผู้ครอบครองตะเกียงได้สามประการ ไม่ต่างกับแม่บ้านที่ต้องรีบไปปรากฏกายเมื่อมีคนเรียกใช้งาน เนรมิตบ้านช่องให้เอี่ยมอ่อง จากนั้นก็หายวับไป เหมือนไม่รู้เคยรู้จักกัน รอจนมีผู้ครอบครองตะเกียงคนใหม่เรียกใช้ผ่านการถูตะเกียงอีกครั้ง ยักษ์ตนเดิมจึงจะปรากฏกายอีกหน

ไม่มีใครสนใจว่ายักษ์ในตะเกียงฝันถึงอะไร เช่นเดียวกับที่มีน้อยคนจะสนใจว่าแม่บ้านแพลตฟอร์มออนไลน์มีชีวิตการทำงาน หรือความปรารถนาอะไรในเรื่องสภาพการทำงานของตนเอง


ผมหวังว่าการได้นำข้อมูลเกี่ยวกับความต้องการของคนงานหญิงกลุ่มที่ยังขาดช่องทางการสื่อสารถึงผู้คนในวงกว้างมากนักมาขยายเสียงให้ดังมากยิ่งขึ้น จะช่วยทำให้เกิดความเข้าใจเกี่ยวกับการจ้างงานและสภาพการทำงานของคนงานกิ๊กกลุ่มที่เรายังไม่คุ้นเคย และจะช่วยสร้างความตระหนักเกี่ยวกับสิทธิของคนงานกลุ่มนี้ให้มีมากขึ้นในสังคมไทย เพื่อให้ “พรสามประการ” หรือข้อเสนอหลักสามข้อที่ทีมวิจัยได้รวบรวมจากเสียงของคนทำงาน ไม่สูญเปล่าและไม่เป็นเพียงคำอธิษฐานถึงความฝันอันไกลห่างบนเส้นทางประกอบอาชีพ

ภาพโดย: สถาบันแรงงานและเศรษฐกิจที่เป็นธรรม


รู้จัก “แม่บ้านดีลิเวอรี่”

พนักงานบริการทำความสะอาดตามความต้องการ (on-demand) ของลูกค้านั้น มีลักษณะไม่ต่างจากไรเดอร์ส่งอาหาร ตรงที่พวกเธอได้รับค่าตอบแทนเฉพาะในเวลาที่ลูกค้าต้องการ พวกเธอจึงเป็นที่รู้จักในชื่อ แม่บ้านแบบดีลิเวอรี่ หรือที่บางคนเรียกตัวเองอย่างขัน ๆ ว่าเป็น “แม่บ้านไฮโซ” เพราะพวกเธอรับคำสั่งงานผ่านแอปพลิเคชัน ดูแผนที่บ้านลูกค้าผ่านกูเกิลแมป และรับค่าตอบแทนผ่านการโอนเข้าวอลเล็ทในแอปฯ หรือบัญชีธนาคาร

แม่บ้านกลุ่มนี้รับงานผ่านช่องทางที่แพลตฟอร์มเป็นผู้จัดการ และได้รับค่าตอบแทนในอัตราที่แพลตฟอร์มเป็นผู้กำหนด บริษัทแพลตฟอร์มจึงทำหน้าที่ไม่ต่างจากนายหน้าตรงที่หักค่าธรรมเนียมในการจับคู่งานกับคนทำงาน แต่ค่าธรรมเนียมนั้นไม่ได้เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวจบ เหล่า “แม่บ้านไฮโซ” ต้องจ่ายค่าเปอร์เซ็นต์ให้กับบริษัทนายหน้าทุกครั้งที่มีธุรกรรมระหว่างลูกค้าและพนักงาน ดังนั้นค่านายหน้าจึงมีลักษณะไม่ต่างจากค่าธรรมเนียมจัดวางสินค้าที่ร้านค้าปลีกสมัยใหม่จัดเก็บกับซัพพลายเออร์

นอกจากค่าธรรมเนียม, ภาษีหัก ณ ที่จ่าย (และบางบริษัทอาจมีค่าธรรมเนียมในการโอนเงินเข้า-ออก) ที่ทุกคนต้องจ่ายอย่างสม่ำเสมอแล้ว พนักงานทำความสะอาดยังเสียค่าสมัคร ค่าใช้จ่ายซื้อเครื่องแบบและอุปกรณ์ทำความสะอาดในอัตราที่แตกต่างกันไปในแต่ละแพลตฟอร์ม รวมทั้งค่าฝึกอบรมเพิ่มเติมที่บางแพลตฟอร์มเรียกเก็บเมื่อมีการเรียกแม่บ้านกลับมาทบทวนและอัพเดตวิธีการทำงานเป็นครั้งคราว

ที่สำคัญ ในการทำงานแต่ละ “จ็อบ” พวกเธอจะต้องออกค่าใช้จ่ายในการเดินทางด้วยตัวเอง เพื่อเดินทางไปให้ถึงสถานที่ที่ลูกค้าต้องการให้ทำความสะอาดที่มักจะเปลี่ยนแปลงไปในแต่ละวัน หากมีงานที่จองล่วงหน้าหลาย ๆ วัน พวกเธอก็ยังมีเวลาในการวางแผนการเดินทาง แต่หลายครั้งที่เป็นงานรีบเร่ง ลูกค้าสั่งเดี๋ยวนั้นแล้วรอรับบริการทันที พวกเธอก็ต้องรวบกระเป๋าแล้วเดินทางอย่างด่วนจี๋ บางทีเป็นวินมอเตอร์ไซค์ บางทีเป็นบีทีเอส บางทีเป็นแกร็บแท็กซี่ (เจอบริษัทแพลตฟอร์มอีกแห่งแล้วครับ) แม่บ้านคนหนึ่งเล่าให้ทีมวิจัยของผมฟังว่า เขาอาจต้องเสียค่าเดินทางหลายร้อยบาทเพื่อไปให้ทันเวลา

“บางทีต้องรีบโบกวินไปให้ทัน ยิ่งถ้าไม่รู้เส้นทางเราก็ต้องใช้วินฯ ไม่ก็แท็กซี่ ค่ารถไม่คุ้มค่าแรงหรอกพี่ แต่เรารับงานมาแล้วก็ต้องรับผิดชอบ ไม่อย่างนั้นจะเสียเครดิตที่ลูกค้าประเมินในแอป ดีไม่ดีโดนหักเงินค่ามาสายด้วย” เธอเล่า


ทุกข์ของยักษ์ สภาพบังคับบนงานอิสระที่ไม่มีใครรับฟัง

ประเด็นที่น่าถกเถียงในข้อกฎหมายก็คือ ถึงแม้พวกเธอจะไม่มีสัญญาจ้างกับบริษัทแพลตฟอร์ม แต่บริษัทแพลตฟอร์มกลับมีกฎระเบียบจำนวนมากที่กำหนดขึ้นเพื่อควบคุมทั้งพฤติกรรมและการกระทำของพนักงาน เช่น วิธีการทำความสะอาด การแต่งกาย การพูดและการปฏิบัติต่อลูกค้า รวมถึงกฎเหล็กเรื่องข้อห้ามรับงานจากลูกค้าโดยตรง การฝ่าฝืนกฎระเบียบหมายถึงการถูกลงโทษ ตั้งแต่เบาไปหาหนัก เช่น ต้องเข้าอบรมการทำงานใหม่ทั้งหมดหนึ่งวันเต็ม หักเงิน จนกระทั่งปิดแอคเคาน์ถาวร

ในระหว่างการสัมภาษณ์กลุ่ม พนักงานทำความสะอาดหลายคนที่ทำงานกับธุรกิจแพลตฟอร์มเจ้าหนึ่งเปิดเผยว่า ถึงแม้บริษัทจะไม่ยอมรับพวกเธอเป็นพนักงานประจำของบริษัท แต่บริษัทกลับมีกฎระเบียบที่เข้มงวดยิ่งกว่านายจ้างโดยทั่วไป เพราะแพลตฟอร์มนี้กำหนดบทลงโทษหักเงินพนักงานเมื่อพวกเธอลาหยุดในวันนักขัตฤกษ์ หรือแม้กระทั่งการลาป่วยโดยไม่มีใบรับรองแพทย์

เช่นเดียวกับแพลตฟอร์มส่งอาหารรายใหญ่เช่นแกร็บ แม่บ้านทุกคนต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าแพลตฟอร์มเจ้านี้

“ไม่ง้อ” คนงาน

แม่บ้านหลายคนต่างตั้งคำถามกับรูปแบบการตลาดของแพลตฟอร์มทำความสะอาดรายใหญ่รายนี้ ที่ลงทุนโฆษณากับลูกค้าในวงกว้างเพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่สวยหรู ขณะที่ในอีกด้านก็รับสมัครแม่บ้านจำนวนมาก แต่แพลตฟอร์มเจ้านี้กลับหักค่าธรรมเนียมจากแม่บ้านสูงแต่จ่ายค่าตอบแทนให้กับพวกเธอต่ำลงเรื่อย ๆ

ยิ่งไปกว่านั้น ต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่าพวกเธอมักไม่ได้รับงานจากแพลตฟอร์มนี้อีก (หรือสำหรับแม่บ้าน “สายแข็ง” ที่ยอมหักไม่ยอมงอ พวกเธออาจเลือกที่จะเป็นฝ่ายไม่รับงานจากแพลตฟอร์มนี้อีกแทน) หากได้แสดงความไม่พอใจต่อเจ้าหน้าที่ที่เป็นผู้ประสานงาน หรือที่เรียกว่า “แอดมิน” โดยเฉพาะในกรณีที่พวกเธอไม่ได้เป็นฝ่ายผิดแต่ปัญหาเกิดจากความผิดพลาดของลูกค้าหรือแอดมินเอง

แอดมินมีบทบาทสำคัญในการเป็นตัวกลางระหว่างลูกค้าและคนทำงาน โดยเฉพาะบทบาทในการเป็นผู้ชดเชยความบกพร่องของเทคโนโลยีที่ยังไม่เสถียร เช่น ในกรณีลูกค้าปักหมุดไม่ตรงตำแหน่ง ตามขั้นตอนแล้วเมื่อแม่บ้านหาพิกัดลูกค้าไม่เจอจะต้องสอบถามจากแอดมินก่อน ไม่สามารถพูดคุยกับลูกค้าตรง ๆ ได้

“บางอย่างเราถามเขาดี ๆ ท้วงไปดี ๆ แล้ว เขากลับตะคอกเรามาเลยนะ เป็นแบบนั้นเราเลยไม่ทำงานกับแอปฯ นั้นอีกแล้ว แอดมินเขาไม่ง้อแม่บ้าน เราออกก็มีคนอื่นทำงานให้เขาอีกเยอะ” หนึ่งในแม่บ้านเล่า

พวกเธอเห็นว่าการที่แพลตฟอร์มไม่มีช่องทางรับเรื่องร้องเรียนของแม่บ้านดีลิเวอรี่ และการปฏิเสธที่จะไม่จ่ายงานให้แม่บ้านโดยไม่มีกระบวนการตรวจสอบเมื่อเกิดความข้ดแย้งขึ้น เป็นปัญหาพื้นฐานที่ทำให้เกิดการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมจากฝั่งของแพลตฟอร์มในภาพรวม

แพลตฟอร์มที่เสนอบริการของแม่บ้านดีลิเวอรี่อีกเจ้าหนึ่งกลับมีปัญหาการเลือกปฏิบัติกับแม่บ้านในแบบที่ต่างออกไปทั้งที่ แม่บ้านดีลิเวอรี่ที่ทำงานกับแพลตฟอร์มทำความสะอาดที่ก่อตั้งขึ้นมาเป็นรายแรกๆ ในประเทศไทยรายหนึ่งเล่าให้ฟังว่า แพลตฟอร์มเจ้านี้เน้นเสนอโปรไฟล์ของแม่บ้านแต่ละคน โดยนำเสนอบุคลิกลักษณะและรูปร่างหน้าตา เช่น มีภาพถ่ายแบบพอร์เทรต (portrait) และให้พนักงานเขียนคำขวัญหรือคติประจำตัวในการทำงานเพื่อสื่อสารกับลูกค้า ยิ่งไปกว่านั้น ยังเปิดโอกาสให้ลูกค้ามีอำนาจเลือกพนักงานทำความสะอาดที่ตนเองต้องการ จากบรรดากลุ่มพนักงานที่เป็นฝ่ายเลือกกดรับงานเพื่อแสดงตัวว่า “ฉันสนใจทำงานนี้” ในชั้นหนึ่งมาก่อนแล้ว

ข้อกังวลการนำเสนอโปรไฟล์ของแม่บ้านบนแอปพลิเคชั่นในลักษณะนี้คือ โอกาสที่พนักงานบางคนถูกเลือกปฏิบัติจากเงื่อนไขของรูปลักษณ์ภายนอก เช่น สัดส่วน หน้าตาและผิวพรรณ นอกจากนี้ ยังอาจเปิดโอกาสให้มิจฉาชีพหรือผู้ไม่ประสงค์ดีนำข้อมูลไปใช้ในทางที่เป็นอันตรายต่อคนทำงาน

ภาพโดย: สถาบันแรงงานและเศรษฐกิจที่เป็นธรรม


จากปัญหาหน้างาน สู่ความฝันถึงงานที่ดีกว่า

จากที่ได้ยกตัวอย่างมานั้น นอกจากปัญหาในการทำงานของแม่บ้านดีลิเวอรี่ที่เกิดจากนโยบายและรูปแบบเฉพาะของบริษัทแพลตฟอร์มใดบริษัทหนึ่ง แม่บ้านดีลิเวอรี่จำนวนมากยังประสบกับปัญหาร่วมกันที่เกิดจากลักษณะร่วมของนโยบายแพลตฟอร์มจ้างงานที่กลายเป็นกระแสหลัก

เช่น เมื่อเปรียบเทียบกับประสบการณ์ของไรเดอร์ส่งอาหารที่มีปัญหาไม่ได้ค่ารอขณะรออาหารระหว่างปรุงที่บางครั้งกินเวลานานและมีส่วนทำให้พวกเขาต้องเร่งรีบในการ “ทำรอบ” จนเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน พนักงานทำความสะอาดดีลิเวอรี่ก็มีประสบการณ์ไม่ต่างกัน เนื่องจากพวกเธอได้รับค่าตอบแทนในการทำงานเฉพาะในช่วงเวลาที่ทำความสะอาดเท่านั้น ทั้งที่พวกเธอต้องเดินทางไปยังห้องพักที่อยู่กระจัดกระจาย และส่วนใหญ่อยู่ห่างไกลจากที่พัก

พนักงานที่ไม่มียานพาหนะของตัวเองเล่าให้ฟังว่าพวกเธอต้องเดินทางโดยรถเมล์ที่ทำให้เกิดข้อจำกัดในการรับงาน เช่น สามารถรับงานได้เฉพาะที่ตั้งอยู่บนเส้นทางของระบบขนส่งสาธารณะ และต้องใช้ระยะเวลาในการเดินทางในแต่ละวันถึงหลายชั่วโมง หากต้องการรายได้ที่มากพอสำหรับแต่ละวัน

เงื่อนไขการทำงานในสถานที่ที่เป็นส่วนตัวยังเปิดให้พนักงานหญิงเหล่านี้ประสบกับความเสี่ยงในการทำงาน โดยเฉพาะการถูกล่วงละเมิดทางเพศ พนักงานทำความสะอาดเกือบทั้งหมดที่ผมได้ทำวิจัยด้วยเล่าให้ฟังว่าพวกเธอทุกคนเคยมีประสบการณ์ที่รู้สึกไม่ปลอดภัยขณะทำงาน สิ่งที่น่ากังวลที่สุดก็คือ แพลตฟอร์มที่เสนอขายบริการของพนักงานหญิงเกือบทั้งหมดไม่มีมาตรการในการคุ้มครองพวกเธอที่เหมาะสมมีเพียงระบบการประสานงานผ่านแอดมิน

อย่างที่บอกแล้วว่า พนักงานส่วนใหญ่ไม่ได้รู้สึกว่า เจ้าหน้าที่แอดมินของแพลตฟอร์มเป็นมิตรกับพวกเธอ ที่สำคัญพวกเธอไม่รู้สึกว่าระบบที่มีอยู่จะสามารถช่วยปกป้องเธอในสถานการณ์ฉุกเฉินหน้างานได้ พวกเธอจึงต่างมีประสบการณ์ที่จะเอาตัวเองรอดจากสถานการณ์หน้าสิ่วหน้าขวานด้วยตัวเอง

“แอดมินเขาบอกว่า พี่ ถ้าพี่เจอลูกค้าโรคจิต พี่รีบออกมาจากบ้านนั้นได้เลยนะ แต่เราก็ไม่กล้าออก เกิดเรากลัวไปเองแล้วไม่มีอะไรเกิดขึ้น หรือแจ้งแอดมินไปแล้วแอดมินไปคุยกับลูกค้าต่อ ลูกค้าบอกว่าผมไม่ได้คิดอะไร กลายเป็นเราสิที่จะซวย ดีไม่ดีโดนหักเงินด้วยที่ทำงานไม่เสร็จ” เธอเล่าไปบ่นไป แล้วจบที่ข้อสรุปว่าไม่รู้จะทำอย่างไรกับสถานการณ์แบบนี้ดี


ยิ่งไปกว่านั้น ธุรกิจแพลตฟอร์มมักไม่มีกลไกรับฟังข้อร้องเรียนจากแม่บ้านที่เป็นระบบ  แต่ออกแบบระบบประเมินที่ให้ความสำคัญกับลูกค้าเพียงด้านเดียว

พูดง่ายๆ ว่า ลูกค้าสามารถประเมินพนักงานผู้ให้บริการหรือแม่บ้าน แต่แม่บ้านไม่สามารถประเมินลูกค้าได้ ทั้งที่พฤติกรรมของลูกค้ามีผลต่อประสบการณ์ในการทำงานของแม่บ้านแต่ละคนอย่างมาก และตามที่ได้กล่าวไปแล้ว แม่บ้านดีลิเวอรี่ล้วนมีประสบการณ์ผ่านความรู้สึกไม่ปลอดภัย โดยเฉพาะความกลัวว่าที่จะถูกล่วงละเมิดทางเพศจากลูกค้า

ความรับผิดชอบของคนทำงานและบทลงโทษที่สูงเสียดเพดาน ที่ไม่ได้สอดคล้องกับสิทธิของแม่บ้านและความรับผิดชอบของบริษัทแพลตฟอร์มที่แทบจะต่ำเรี่ยติดพื้นนั้น ทำให้แม่บ้านดีลิเวอรี่ต่างรู้สึกถึงความไม่เป็นธรรมของการจ้างงานในเศรษฐกิจดิจิทัล

เมื่อทีมวิจัยได้สอบถามแม่บ้านดีลิเวอรี่ระหว่างการทำโฟกัสกรุ๊ปเกี่ยวกับความต้องการของพวกเธอ เราจึงได้ข้อมูลที่น่าสนใจจากแม่บ้านที่สามารถนำมาใช้เป็นแนวทางสำหรับออกแบบสวัสดิการสำหรับคนทำงานในกลุ่มแรงงานแพลตฟอร์มดังต่อไปนี้

ประการแรก เป็นเรื่องสำคัญมากที่คนงานหญิงกลุ่มแม่บ้านดีลิเวอรีจะต้องให้มีสวัสดิการในเรื่องประกันอุบัติเหตุและประกันสุขภาพ เพราะพวกเธอต้องเจอกับความเสี่ยงในการเดินทางตลอดทั้งวัน (เช่นเดียวกับกลุ่มไรเดอร์) รวมทั้งประสบกับความเสี่ยงจากการทำงานสัมผัสสารเคมี ความเสี่ยงจากอุบัติเหตุในการทำงาน เช่น พลัดตกจากที่สูง แพ้หรือถูกสัตว์เลี้ยงของลูกค้าทำร้าย และโรคที่อาจเกิดจากการทำงานอย่างเร่งรีบ โดยไม่ได้พักหรือได้รับประทานอาหารอย่างเหมาะสม

ประการที่สอง แม่บ้านดีลิเวอรี่จำนวนมากนั้นเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวและเป็นกำลังหลักในการหาเลี้ยงครอบครัว ขณะที่รายได้จากการทำงานกับธุรกิจแพลตฟอร์มนั้นมีความไม่แน่นอนสูง เพราะแพลตฟอร์มสามารถเปลี่ยนแปลงอัตราค่าตอบแทนโดยไม่ต้องแจ้งล่วงหน้าและไม่มีการกำกับดูแลจากหน่วยงานใด แม่บ้านดีลิเวอรี่จึงต้องการให้มีการประกันรายได้ขั้นต่ำในการทำงาน

แม่บ้านดีลิเวอรี่เกือบทั้งหมดเห็นตรงกันว่าพวกเธอควรมีสิทธิที่จะได้รับสวัสดิการพื้นฐานจากบริษัทแพลตฟอร์มผู้ว่าจ้าง โดยเฉพาะเครื่องแบบและอุปกรณ์ที่ใช้ในการทำงาน นอกจากนี้ ค่าเดินทางในการไปทำความสะอาดควรจะเป็นสวัสดิการที่แพลตฟอร์มจะต้องเป็นฝ่ายรับผิดชอบโดยตรง ไม่ผลักภาระให้กับคนทำงานอีกต่อไป

ประการที่สาม แม่บ้านดีลิเวอรี่จำนวนมากมองเห็นถึงความจำเป็นของการเป็นผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม ที่มีสิทธิประโยชน์ 7 ประการตามมาตรา 33 ขณะที่บริษัทแพลตฟอร์มยังหลีกเลี่ยงหรือปฏิเสธที่จะร่วมรับผิดชอบจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนให้กับคนงานแพลตฟอร์ม ด้วยข้ออ้างว่า พนักงานเหล่านี้เป็นคนงานอิสระที่ไม่ผูกอยู่กับบริษัทใดบริษัทหนึ่ง แม่บ้านจำนวนหนึ่งได้เสนอความคิดที่น่าสนใจอย่างยิ่งว่า รัฐบาลควรจัดตั้งกองทุนพิเศษขึ้นมาเพื่อนำเงินภาษีจากรายได้ของแพลตฟอร์มจ่ายเข้าเป็นเงินสมทบ ในลักษณะเดียวกับที่นายจ้างจ่ายเงินสมทบให้กับลูกจ้างตามมาตรา 33

อันที่จริง ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย แม้กระทั่งสำหรับตัวแม่บ้านเองที่เชื่อว่า เสียงของเธอทุกคนมีความหมาย เพราะแม่บ้านต่างคุ้นชินกับการอยู่อย่างกระจัดกระจายและถูกละเลยสวัสดิการมานาน แต่หลังจากได้มาพบปะแลกเปลี่ยนกัน และรู้ว่าหลาย ๆ คนก็เจอปัญหาแบบเดียวกัน พวกเธอเห็นพ้องกันว่าบริษัทควรมีช่องทางรับฟังความต้องการของคนทำงาน ซึ่งต้องเป็นช่องทางที่จะช่วยส่งเสียงเธอไปถึงผู้มีอำนาจในบริษัทอย่างแท้จริง ไม่ใช่เพียงติดต่อกับแอดมินแล้วเรื่องเงียบหายเหมือนที่ผ่านมา

“อยากให้มีประชุมรับฟังเราบ้าง บริษัทจะอยู่ได้อย่างไรถ้าสักวันไม่มีคนทำงานเลย” แม่บ้านคนหนึ่งสรุป