ถ้าบ้านของคุณอยู่ตรงนี้…
ตรงที่เลี้ยวซ้ายจากประตูหน้าบ้านก็มองเห็นน้ำทะเลใสๆ และถ้าเดินต่อไปอีกไม่ถึง 30 ก้าว ปลายเท้าก็จะจรดลงบนพื้นทรายนุ่ม ๆ สีขาว จากนั้นเงยหน้า 90 องศา แล้วพักสายตาไปกับชายหาดทอดยาว ซึ่งเต็มไปด้วยเรือประมงพื้นบ้านหลายสิบลำจอดเทียบท่าการันตีปากท้องของวันนี้
วันแล้ววันเล่า เรือเล็กหลากสีสันสลับสับเปลี่ยนกันเคลื่อนตัวออกจากฝั่ง 4-6 ชั่วโมง หลังจากนั้นเรือลำน้อยจะกลับเข้ามาพร้อมกุ้ง หอย ปู ปลา ตัวโต ๆ คนที่นี่ไม่มีเงินก็ไม่อด เพราะมีทะเลที่สมบูรณ์อยู่หน้าบ้าน เด็ก ๆ ที่นี่ถือถุงใส่ปูนึ่งพกติดตัวเดินไปมาแบบไม่เคอะเขิน แน่ล่ะ…คลื่นลมมรสุมไม่ใช่อุปสรรคสำหรับชาวสวนกง แต่ใครจะรู้ว่า บ้านสวนกง อ.จะนะ จ.สงขลา เป็นหมู่บ้านที่ตั้งอยู่ในเกลียวคลื่นแห่งมรสุมการพัฒนาแบบไร้รากมายาวนานกว่า 20 ปี
อะไรที่ทำให้สังคมเริ่มฉายไฟจับจ้องการเคลื่อนไหวจากจะนะ เราเองในฐานะผู้เฝ้ามองปรากฏการณ์นี้ ตอบได้ชัด ๆ ว่า คงเป็นการเดินทางไกลกว่า 800 กิโลเมตร ของไครียะห์ ระหมันยะ เธอออกจากบ้านพร้อมความต้องการอยากเขียนนิยามการพัฒนาใหม่ในความรู้สึกนึกคิดของรัฐและทุน
ยะห์เดินทางจากอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ขึ้นมากรุงเทพมหานคร เป็นการเดินทางในช่วงที่มี พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ช่วงที่โควิด-19 ระบาด ช่วงเดือน ก.ค.2563 และนั่นเป็นทรายเม็ดแรกที่ทำให้คนเมืองและคนไกล จดจำเรื่องราวของจะนะ ผ่านถ้อยคำและน้ำเสียงของลูกสาวแห่งทะเลจะนะ
แต่อะไรคือจุดเริ่มต้นของความกล้าหาญ อะไรคือจุดเริ่มต้นบนเส้นทางสายนี้ของไครียะห์ แล้วเธอมีใครหนุนหลัง เราเองก็นั่งทบทวนเพื่อหาคำตอบนี้อยู่นับครั้งไม่ถ้วน จากนั้นก็ฉุกคิดได้ว่า ให้คำตอบจบลงตรงภาพนี้
ภาพของยะห์และปลา ภาพถ่ายจากผู้เป็นพ่อ ภาพของพ่อที่ยะห์เป็นคนถ่าย ถึงอย่างไรไม่ว่ามุมไหนซ้ายหรือขวามันคือภาพถ่ายสำรวจพันธุ์ปลาและความหลากหลายของสัตว์น้ำในทะเลหน้าบ้านของยะห์ เป็นการสำรวจอย่างง่ายโดยชาวบ้านในชุมชน ถึงวันนี้สมาคมรักษ์ทะเลจะนะ รวบรวมข้อมูลพบว่า ทะเลจะนะมีสัตว์น้ำ 175 ชนิด ประกอบด้วย ปลา 108 ชนิด , กุ้ง/กั้ง 12 ชนิด , ปู 9 ชนิด , หอย 21 ชนิด , หมึก 7 ชนิด และ สัตว์น้ำอื่นๆที่มีผลต่อระบบนิเวศ 39 ชนิด จะบอกว่าเธอมีปลาหนุนหลังคงไม่ผิด เพราะยะห์คือเด็กที่คาบช้อนความสมบูรณ์มาเกิด
(บังนี) รุ่งเรือง ระหมันยะ : บังไม่เคยคาดหวังกับยะห์ เพียงแต่ขอให้ยะห์เป็นคนดี ไม่เอาเปรียบคนอื่น และไม่เป็นที่รังเกียจของสังคม
ประโยคสั้น ๆ จากผู้เป็นพ่อ เล่าถึง ลูกสาวในวัยย่าง 18 ปี เธอโตเกินเด็กรุ่นราวคราวเดียวกัน เธอได้ส่วนผสมความยิ้มแย้ม สดใส มาจากแม่ และมีเลือดความกล้าหาญ ช่างสงสัย ช่างคิดมาจากพ่อ บังนีเล่าให้เราฟังว่า เขาเลี้ยงลูกแบบไม่ครอบงำ ไม่เคยคาดหวังเส้นทางอนาคตของลูก ๆ ทั้ง 3 คน เพียงแต่ลึก ๆ ก็เปรยว่าไม่ชอบงานรับราชการในเครื่องแบบ เหตุผลเพราะระบบราชการทำให้คนจำนวนมากห่างไกลบ้าน ห่างไกลตัวตน และดูเหมือนลูก ๆ ทั้ง 3 คนของบังนีจะเห็นพ้องไปในทิศทางเดียวกัน ลูกชายคนโตพูดน้อยแต่ก็คอยหนุนเสริมอยู่ข้างหลังเสมอ ลูกชายคนเล็กเป็นนักฟุตบอลที่มีแววตั้งแต่เด็ก น้องเกือบเลิกแตะบอลเพราะมีบริษัททุนที่ไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมสนับสนุนทีม ส่วนยะห์ เธอเข้ามาเคลื่อนไหวเพื่อบ้านของเธอ ครั้งแรกช่วงที่มีการต้านโรงไฟฟ้า ต่อมาก็ท่าเรือน้ำลึกสงขลาแห่งที่ 2 และท่าเรือน้ำลึกปากบารา จ.สตูล
(ยะห์) ไครียะห์ ระหมันยะ ลูกสาวทะเลจะนะ : ตั้งแต่เด็กหนูเป็นคนชอบอ่านป้าย ชอบถาม และสงสัยไปทุกเรื่อง คนมักเรียกหนูว่า ยุ่ง/ ยะห์ยุ่ง เพราะเวลาเห็นผู้ใหญ่ หรือใครเขาทำอะไรหนูก็อยากเข้ามามีส่วนร่วมกับเขาด้วย
ยะห์เริ่มสนใจความเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นกับทะเลและหาดทราย ตั้งแต่ช่วงอายุ 8 ขวบ ตอนนั้นพ่อของเธอไปร่วมกลุ่มแสดงออกคัดค้านโครงการพัฒนาในพื้นที่ อ.จะนะ เธอเล่าว่า ในตอนนั้นแอบฟังผู้ใหญ่คุยกัน จะเรียกว่าแอบก็ไม่ถูกนัก ต้องใช้คำถามผู้ใหญ่พูดดังเกินกว่าที่ประตูบ้านจะกั้นเสียงไว้ได้ เธอเล่าว่าได้ยินแว่ว ๆ ว่ามีคนหมายหัวพ่อ วันรุ่งขึ้นเด็กสาวในวัย 8 ขวบ แอบแม่กระโดดขึ้นท้ายกระบะนั่งประกบกับพ่อของเธอไปร่วมกิจกรรม ใครห้ามก็ไม่เป็นผล ตอนนั้นยะห์ตัดสินใจจับตาและเดินอยู่ใกล้ ๆ พ่อไม่ห่าง ด้วยความเชื่อว่า การที่เด็กตัวเล็ก ๆ อยู่ใกล้พ่อ นั่นจะทำให้พ่อของเธอปลอดภัย แต่สุดท้ายพ่อของยะห์ก็ถูกรวบ!
สิ่งที่จะนะกำลังเผชิญวันนี้มันจะยิ่งกว่าที่จะนะเคยเจอมาในอดีต
ยะห์เล่าว่า ในอดีตจะนะเคยมีการเคลื่อนไหวค้านโรงไฟฟ้า โรงแยกก๊าซ เธอบอกตอนนั้นอยู่ที่บ้านอากาศมันดีทุกอย่าง มลพิษมันก็ไม่มีอาหารก็สมบูรณ์ แต่ว่าตอนนี้คนที่อยู่ใกล้โรงแยกก๊าซ โรงไฟฟ้าชีวมวล เขาออกมาพูดมาบ่นกันเยอะมากว่า มันเหม็นควันจากโรงงาน และน้ำเน่าเสีย ทำให้ปลาตายแล้วประกอบอาชีพประมงพื้นบ้านไม่ได้แล้ว เธอคิดว่าถ้ามันจะเกิดโครงการขนาดใหญ่แบบนี้อีก มันคงหนักกว่าที่เคยเป็น ซึ่งมันไม่โอเค และครั้งนี้มันจะยิ่งกว่าที่จะนะเคยเจอมาในอดีต การเปลี่ยนจะนะเป็นพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมเป็นเรื่องที่น่ากังวล
ที่ผ่านมาเพื่อยืนยันว่า ทรัพยากรในท้องทะเลจะนะ มูลค่าเกินกว่าต้องแลกกับโรงงานหรืออุตสาหกรรมหนัก ชาวบ้านและกลุ่มเยาวชน แบ่งหน้าที่ช่วยกันเก็บข้อมูลชุมชน ยะห์ก็เป็นหนึ่งในนั้น เธอบอกว่าสิ่งที่อยากจะบอกให้คนทั่วไปได้รู้ คือ คนจะนะเวลาเขาหาปลามาได้เขาไม่ได้ส่งเลี้ยงครอบครัวอย่างเดียว เขาส่งขายไปยังสงขลา-หาดใหญ่ อาหารทะเลทุกวันนี้ที่มีอยู่ในกรุงเทพ วันนี้อาจปลาในจานข้าวของคุณที่มาจากทะเลจะนะก็ได้ มากกว่านั้นนอกจากส่งขายในประเทศ อาหารทะเลจากจะนะบางส่วนถูกส่งไปขายในแถบอาเซียนด้วย ทั้ง ณี่ปุ่น สิงคโปร์ มาเลเซีย เกาหลี หรือแม้แต่ จีน
ถ้าจะนะถูกทำลาย ความมั่นคงทางด้านอาหารก็จะหายไป หนูอยากให้ทุกคนเห็นความสำคัญตรงนี้ ไม่อยากให้คิดว่า เรื่องของคนจะนะ ก็ปล่อยให้คนจะนะจัดการไป สิ่งที่เกิดขึ้นมาก่อนในภาคตะวันออกมันก็มีให้เห็นชัดอยู่แล้วว่า การเข้าไปเปลี่ยนแปลง มันทำลายภาคตะวันออก ตอนนี้เขากำลังจะมาทำลายภาคใต้ ภาคต่อ ๆ ไปจะเป็นภาคไหน ถ้าคุณไม่ช่วยกันปกป้องและไม่ช่วยหยุดการพัฒนาที่ผิด ๆ รวมทั้งความเข้าใจที่ผิด ๆ ของนายทุน
การพัฒนามีทางออกมากมาย สำหรับยะห์ เธอมองว่า การพัฒนาควรตั้งอยู่บนพัฒนาฐานทรัพยากร ต้นตอความยุ่งยากในวันนี้ เธอมองว่ามันเกิดจาก มติคณะรัฐมนตรี(ครม.)ที่อนุมัติโดยไม่ฟังความคิดเห็นของชาวบ้าน ควรยกเลิกมติ ครม.ที่ชาวบ้านไม่รู้เรื่อง
ยะห์ : หนูอยากชวนปู่ประยุทธ์ ถอดชุดสูทออก แล้วไปเที่ยวบ้านของหนู…แล้ววันนั้นนอกจากจะได้รับสิ่งที่ดี ๆ จากพวกเราไป คุณปู่ประยุทธ์ อาจคิดได้ว่า การพัฒนาที่แท้จริงมันขึ้นอยู่กับความสุขและความยั่งยืนที่แท้จริงด้วยเช่นกัน
ถึงวันนี้ 10 ปีแล้วที่ยะห์ รวมกลุ่มกับเยาวชน รวมตัวกันเป็นกลุ่มเด็กรักษ์หาดสวนกง ทำกิจกรรม ทำข้อมูลความสำคัญเรื่องทรัพยากร อาชีพ และเรื่องราวของชุมชนเพื่อบอกคนที่อยากพัฒนาว่า อำเภอจะนะ ยังมีดีมากกว่าที่คุณคิด
พายพัด หมัดเจริญ (ดิกห์) เด็กชายในวัยมัยธยมปลาย ดิกห์คือ หนึ่งในสมาชิก แม้เขาจะเป็นคนพูดน้อย แต่ระหว่างที่เรานั่งคุยกันอย่างเป็นกันเองในกระท่อมมุงจาก เขาเล่าว่า เนินทรายอายุกว่า 6,000 ปีข้างหน้า และหาดทรายที่เรากำลังนั่งมองมันสำคัญและมีความพิเศษ พ่อของดิกห์ออกเรือเก่ง จับปลาเก่ง และเป็นเชฟอันดับต้นๆของบ้านสวนกงในการทำเมนูปลาเค็มฝั่งทราย ดิกห์บอกเราว่า คุณจะไม่ได้กินปลาเค็มผังทราย ถ้าทะเลจะนะไม่สมบูรณ์
เมื่อเราถามว่าถ้าดิกห์ได้เป็นนายกรัฐมนตรี จะทำอย่างไรกับการพัฒนาประเทศ
ดิกห์ไม่ลังเลที่จะตอบว่าผมไม่เอาตำแหน่งนี้ ผมไม่ชอบไม่อยากเป็นนายกฯ ส่วนถ้าถามเรื่องการพัฒนา อันที่จริงมันมีหลายรูปแบบ แต่ไม่ใช่แบบที่ทำมลพิษกับคนอื่น อย่างพลังงานหมุนเวียน แสงอาทิตย์ ลม น้ำ 3 สิ่งนี้ทำได้เลย ประเทศไทยมีแดดมาก แต่เขายังไม่เห็นทำเลยไปทำไปสนับสนุนโรงไฟฟ้าถ่านหิน หรือ ท่าเรือน้ำมัน ซึ่งเป็นการบอกว่าประเทศไทยเอาทรัพยากรมาใช้แบบสิ้นเปลือง เรามีทรัพยากรไม่น้อย แต่คนเราไม่รู้จักพอ
ดิกห์อยากเห็นประเทศไทยเป็นพื้นที่สีเขียว เขาบอกว่าอดีตจากโรงงานหลายแห่งที่สร้างขึ้นพบว่า มีแต่มลพิษทั้งนั้น อย่างในจังหวัดสงขลาเองก็มีหลายแห่งที่เป็นแบบนั้น
คำที่บอกว่า มีอุตสาหกรรมแล้วทำให้คนในพื้นที่มีงานทำ ผมว่าจะคิดอย่างนั้นมันไม่ถูก เพราะโรงงานทุกโรงงานเขารับคนที่เรียนมาด้านนั้น ๆ โรงงานเขารับคนที่มีประสบการณ์ คนที่ไม่มีประสบการณ์เขาไม่รับ แล้วอย่างคนที่นี่ส่วนใหญ่ไม่ได้เรียน ทำประมง ทำการเกษตร ใครจะรับ ?
ณัฐกฤตา หมัดเหล็ม (นี) แม้จะไม่ได้ออกทะเล เพราะเป็นลูกสาวคนเล็กของครอบครัว แต่ก็ถือว่าเธอเป็นสายเลือดคนทะเล แต่นีอยากให้จะนะถูกพัฒนาไปในทิศทางการท่องเที่ยว เธอฝันอยากมีที่โฮมสเตย์ที่พักที่ดึงดูดผู้คนให้แวะเวียนมาทำความรู้จักทะเลบ้านสวนกงมากขึ้น อยากชวนคนมานั่งเล่นพักผ่อนที่เนินทราย มาสูดอากาศบริสุทธิ์จากทะเลและทิวสน
“เมื่อก่อนคนไม่รู้เลยว่า มีหมู่บ้านสวนกงอยู่ด้วย เวลาหนูไปโรงเรียนครูถามว่าบ้านอยู่ไหน ? พอบอกว่าอยู่บ้านสวนกง ครูก็บอกไม่รู้จัก แตกต่างกับตอนนี้ไปบอกใครว่า บ้านอยู่ที่บ้านสวนกง มีแต่คนรู้จัก” เพราะพวกเราลุกขึ้นมาต่อสู้เรื่องโครงการจะนะ เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต ?
มีบ้างที่มีครูและเพื่อนบางคนไม่เข้าใจว่าหนูกำลังทำอะไร หนูเรียนโรงเรียนประจำ เรียนหนักมากแต่ก็พยายามหาเวลามาทำกิจกรรมร่วมกับเพื่อนในกลุ่มเด็กรักษ์หาดสวนกง อย่างช่วงที่ขอกลับบ้านเพราะอยากมาทำกิจกรรมก็มีครูบางท่านไม่ให้กลับเพราะไม่เข้าใจ แต่ครูบางคนก็ให้กำลังบอกว่าสู้ ๆ นะ จริง ๆ ก็รู้สึกว่าเราทำงานมากกว่าเด็กทั่วไป แต่ก็สนุกดี ผู้ใหญ่ในครอบครัวไม่เคยห้าม แต่เป็นคนส่งเสริมให้เรามาทำกิจกรรมเพื่อปกป้องบ้านของตัวเอง
การสู้กับรัฐและทุนมันยากนะ แต่การมีโซเชียลช่วยได้เยอะ มีคนในโลกออนไลน์จำนวนมากที่สนับสนุนเรา บอกให้เราสู้ต่อไป ผ่าน #SaveChana เห็นแล้วมีกำลังใจทำในเรื่องยาก ๆ
เราย้อนกลับมาถามยะห์ว่า การปรากฏหน้าสื่อบ่อย อาจเจอคำถามว่า ทำไปเพื่ออะไร หรือคำห้ามว่า อย่าทำแบบนี้เลยไม่ใช่หน้าที่เด็ก ยะห์เจอแบบนั้นหรือเปล่า
ยะห์ ตอบว่า หลายครั้งที่เจอคนมาบอกให้หยุด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคุณครู มีอยู่ครั้งหนึ่งที่ครูบอกให้หนูระวังจะเหมือนบิลลี่ แต่เขาไม่ได้ขู่นะคะ หนูรับรู้ได้ว่าครูเขาเป็นห่วง บางครั้งก็มีคนถามว่า สู้ไปทำไม สู้กับรัฐบาลเดี๋ยวก็แพ้ วิธีการคือหนูจะไม่เก็บคำเหล่านั้นมาซีเรียส คนที่สนับสนุนพวกเราก็มีเยอะ เยอะกว่าคนที่มีมาดูถูกเรา และสำหรับหนูคนที่สำคัญที่สุดคือคนใกล้ตัว ทั้งพ่อ-แม่ พี่ชายและน้องชาย ถ้าคนเหล่านี้เข้าใจและเป็นกำลัง ไม่มีอะไรที่ทำให้หนูกลัว
สมการของการพัฒนาจะนะ ?
คำตอบนี้ในมุมของไครียะห์ เธอมองว่า ต้นตอของเรื่อง คือ มติ ครม.ที่อนุมัติโดยไม่ผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของชาวบ้าน ไม่ผ่านกระบวนวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม เธอยืนยันว่า ควรมีการยกเลิก หรือถอนมติ ครม.ฉบับนี้เพื่อแสดงความจริงใจของรัฐในการแก้ปัญหาจากนั้นค่อยมาคุยกัน
ยะห์ : จริงๆถ้าคุณอยากพัฒนาให้กับประชาชนจริง ๆ ควรมาถามชาวบ้านก่อน เรื่องนี้มันก็เปรียบเทียบเหมือนกับการสร้างบ้าน คุณควรมาถามเจ้าของบ้านก่อนว่า เขาอยากได้อะไร อยากจะปรับปรุงประตูหน้าต่างตรงไหน อยากให้พัฒนาเป็นแบบไหน แต่สำหรับบ้านของหนูตอนนี้มันเหมือนการสร้างบ้านที่วิศวกรไม่เคยลงมาคุย ไม่เคยมาถาม หรือ มาดูอย่างละเอียด มีเพียงวิศวกรที่นั่งจิตนาการจากในห้องแอร์ที่กรุงเทพฯ
ในฐานะหนูที่เป็นคนรุ่นใหม่เราก็อยากอยู่บนโลกใบนี้ไปอีกนาน เราอยากอยู่บนโลกตอนที่มันมีสิ่งแวดล้อมที่ดี มีสภาพอากาศที่บริสุทธิ์คือ ไม่ได้หมายความว่า เราจะอยู่แบบนี้แบบเดิม ๆ ไปตลอด แต่เราอยากเห็นการพัฒนาสิ่งที่มันดีอยู่แล้วให้ดีขึ้นไปอีก ไม่ใช่การพัฒนาที่มีคำว่า ทำลายอยู่ในสมการ
หลายคนอาจบอกว่า ยะห์เป็นเด็กกล้าหาญ แต่สำหรับยะห์ เธอไม่เคยนิยามว่า เธอเป็นความกล้า อย่างเดียวที่เด็กสาวในวัยย่าง 18 ปี คือการลงมือทำ ทำอะไรก็ได้ที่จะไม่ทำลายจะนะ เธอสนทนากับเราระหว่างสวมบทบาทเป็นแม่ค้าขายปลาช่วยแม่ที่ตลาด (หลังห่างหายจากแผงมานานเพราะเดินทางไป กทม.) เธอบอกว่า สิ่งที่หนูและครอบครัวลุกขึ้นมาปกป้องทะเลบ้านสวนกง ก็เพื่อให้คนจะนะมีแหล่งทรัพยากรที่สมบูรณ์ ให้คนไทยมีที่เที่ยวสวย ๆ มีที่ที่อากาศบริสุทธิ์ มีอาหารทะเลตัวโต ๆ หนูไม่คิดว่าเป็นเรื่องที่เสียเวลา แม้ว่า พ่อ แม่ หนูต้องสละเวลาส่วนตัวไปบ้าง สละรายได้จากการขายปลาไปบ้าง แต่ยังดีกว่าเรามานั่งเสียใจที่หลังเมื่ออุตสาหกรรมทำให้ความสมบูรณ์ที่มีวันนี้หายสาบสูญไป ถ้าเป็นอย่างนั้นพรุ่งนี้หนูและแม่จะไปเอาปลาที่ไหนมาขาย
เส้นทางที่ยาวไกลแต่มีความหมายระหว่างบรรทัด
2536 มีเรือประมงพาณิชย์มาบุกรุกที่ทำกินของชาวบ้าน อ.จะนะ จ.สงขลา
2538 มีการก่อตั้งกลุ่มอนุรักษ์และฟื้นฟูชายฝั่ง บ้านสวนกงและส่งเสริมการทำปะการังเทียม(อูหยำ)
2540 องค์กรพัฒนาเอกชนเข้ามาให้ความรู้ ร่วมคิดและทำกิจกรรมอนุรักษ์ มีการสร้างเขื่อนกันทรายและคลื่นปากร่องน้ำสะกอม
2540-2541 กรมเจ้าท่าสร้างเขื่อนกันคลื่นปากคลองสะกอม อ.จะนะ จ.สงขลา 4 ตัว ทำให้ชายฝั่งสะกอมที่ บ้านบ่อโชน พังทลายทันทีขณะก่อสร้าง
2543 เกิดการกัดเซาะชายฝั่งอย่างรุนแรง บริเวณหาดสะกอม ถึง ชายหาดบ้านโคกสัก จ.สงขลา ต่อมาปี 51 ชาวบ้านสะกอม ฟ้องคดีต่อศาลปกครองสงขลา กรณีกรมเจ้าท่าสร้างเขื่อนกันทรายและคลื่นปากร่องน้ำสะกอม ระบุเป็นการกระทำที่มิชอบ
2545 ทหารมีการซ้อมยิงปืนใหญ่ ส่งผลต่อทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เกิดการเจรจากันของชาวบ้านและทหารเพื่อหยุดหยั้งการซ้อมยิ่ง
2545 สำนักนายกรัฐมนตรีจึงได้ออกแถลงการณ์ให้ดำเนินโครงการท่อก๊าซฯ ต่อไปตามสัญญา
2545 ชาวบ้านรวมตัวชุมนุม แสดงความไม่เห็นด้วยในช่วง ครม.สัญจร ที่หาดใหญ่
2545 มีการเหตุการณ์สลายการชุมนุมของกลุ่มคัดค้านด้วยความรุนแรง โดยมีเจ้าหน้าที่องค์กรพัฒนาเอกชน 12 คนถูกจับกุม และออกหมายจับตามมาอีกหลายคน
2546 ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาให้เจ้าหน้าที่ของรัฐมีความผิด และต้องชดใช้ค่าเสียหายให้กับผู้เสียหายคือกลุ่มชาวบ้านที่คัดค้าน
2547 มีการดำเนินโครงการวางท่อส่งก๊าซฯ ในทะเลจากแหล่งเจดีเอมาขึ้นฝั่งที่บริเวณลานหอยเสียบ ต.ตลิ่งชัน อ.จะนะ จ.สงขลา และวางท่อบนบกผ่านพื้นที่ อ.จะนะ นาหม่อม หาดใหญ่ และสะเดา ใน จ.สงขลา เพื่อเชื่อมต่อกับท่อก๊าซของมาเลเซียที่มีอยู่แล้ว ส่งก๊าซจากไทยไปมาเลเซีย รวมระยะทางการวางท่อบนบกในฝั่งไทยประมาณ 88.5 กิโลเมตร แล้วเสร็จช่วงปลายปี
2547 ชาวจะนะก็ได้ข่าวว่าการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กำลังหาซื้อที่ดินในพื้นที่ อ.จะนะ เพื่อก่อสร้างโรงไฟฟ้าขนาด 700 เมกะวัตต์
2550 มีการดำเนินการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อน อ.จะนะ จ.สงขลา
2551 โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมสงขลาก็เริ่มเดินเครื่อง
2556 ชุมชนจัดทำข้อมูลทรัพยากรชุมชน มีหนังสือทะเลคือชีวิต มีการจัดงานอะโบ๊ยหมะเลจะนะหร่อยจ้าน ครั้งที่ 1
2559 เกิดกลุ่มเด็กรักษ์หาดสวนกง ติดตามระบบนิเวศหาดทราย และดำเนินกิจกรรมเพื่ออนุรักษ์หาดทราย
2559 รัฐผุดโครงการเดินหน้า สร้างท่าเรือสงขลาแห่งที่ 2 ปักหมุดเลือก ตำบลนาทับ อ.จะนะ จ.สงขลา
2559 ชาวบ้านเข้าคัดค้าน เวที ค.1 รับฟังความคิดเห็นสร้างท่าเรือสงขลาแห่งที่ 2
2560 กรมเจ้าท่า เปิดเผย ผลการศึกษาพื้นที่สร้างท่าเรือสงขลาแห่งที่ 2 มูลค่า 5,000 ล้านบาท
2560 ศอ.บต. รายงานมติ ครม. ที่ีมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอช เป็นนายกรัฐมนตรี ประกาศเดินหน้านำร่อง โครงการสามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน 3 พื้นที่ 1.อำเภอสุไหงโก-ลก จ.ปัตตานี 2.อำเภอเบตง จ.ยะลา 3.อำเภอจะนะ จ.สงขลา
2562 ครม. มีมติให้ “อำเภอจะนะ” จ.สงขลา เป็นเมือง “อุตสาหกรรมแห่งอนาคต”
2562 ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ประกาศปัดฝุ่นโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา จ.สตูล และ ท่าเรือสงขลาแห่งที่ 2
2563 ยะห์ ไครียะห์ ระหมันยะ อายุ 17 ปี เขียนจดหมาย 2 ฉบับถึง ปู่ประยุทธ์ (พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา) ฉบับแรกเดือนก.ค. และ ฉบับที่ 2 เดือน ก.ย. จนถึงวันนี้การเดินทางของการต่อสู้ก็ยังไม่จบ เพียงแต่ส่งต่อความรู้สึกจากรุ่นพ่อแม่ สู่ลูกสาวแห่งท้องทะเลจะนะ
และในวันที่เรานั่งเขียนเรื่องราวจากจะนะ นิยามการพัฒนาที่ชาวจะนะพร่ำบอกมาหลายสิบปียังคงเป็นเรื่องที่ทุนและรัฐไม่เข้าใจ