18+ ขอนิยามจะนะ เขียนสมการพัฒนาใหม่ในสำนึกของทุน-รัฐ “ชวนปู่ประยุทธ์ ถอดสูท แล้วไปเที่ยวบ้านหนู...” - Decode
Reading Time: 3 minutes

ถ้าบ้านของคุณอยู่ตรงนี้…

ตรงที่เลี้ยวซ้ายจากประตูหน้าบ้านก็มองเห็นน้ำทะเลใสๆ และถ้าเดินต่อไปอีกไม่ถึง 30 ก้าว ปลายเท้าก็จะจรดลงบนพื้นทรายนุ่ม ๆ สีขาว จากนั้นเงยหน้า 90 องศา แล้วพักสายตาไปกับชายหาดทอดยาว ซึ่งเต็มไปด้วยเรือประมงพื้นบ้านหลายสิบลำจอดเทียบท่าการันตีปากท้องของวันนี้

วันแล้ววันเล่า เรือเล็กหลากสีสันสลับสับเปลี่ยนกันเคลื่อนตัวออกจากฝั่ง ​4-6 ชั่วโมง หลังจากนั้นเรือลำน้อยจะกลับเข้ามาพร้อมกุ้ง หอย ปู ปลา ตัวโต ๆ คนที่นี่ไม่มีเงินก็ไม่อด เพราะมีทะเลที่สมบูรณ์อยู่หน้าบ้าน เด็ก ๆ ที่นี่ถือถุงใส่ปูนึ่ง​พกติดตัวเดินไปมาแบบไม่เคอะเขิน แน่ล่ะ…คลื่นลมมรสุมไม่ใช่อุปสรรคสำหรับชาวสวนกง​ แต่ใครจะรู้ว่า ​บ้านสวนกง อ.จะนะ จ.สงขลา เป็นหมู่บ้านที่ตั้งอยู่ในเกลียวคลื่นแห่งมรสุมการพัฒนาแบบไร้รากมายาวนานกว่า 20 ปี

อะไรที่ทำให้สังคมเริ่มฉายไฟจับจ้องการเคลื่อนไหวจากจะนะ เราเองในฐานะผู้เฝ้ามองปรากฏการณ์นี้ ตอบได้ชัด ๆ ว่า คงเป็นการเดินทาง​ไกลกว่า 800 กิโลเมตร ของไครียะห์ ระหมันยะ เธอออกจากบ้านพร้อมความต้องการอยากเขียนนิยามการพัฒนาใหม่ในความรู้สึกนึกคิดของรัฐและทุน

ยะห์เดินทางจากอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ขึ้นมากรุงเทพมหานคร เป็นการเดินทางในช่วงที่มี พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ช่วงที่โควิด-19 ระบาด ช่วงเดือน ก.ค.2563 และนั่นเป็นทรายเม็ดแรกที่ทำให้คนเมืองและคนไกล จดจำเรื่องราวของจะนะ ผ่านถ้อยคำและน้ำเสียงของลูกสาวแห่งทะเลจะนะ

แต่อะไรคือจุดเริ่มต้นของความกล้าหาญ อะไรคือจุดเริ่มต้นบนเส้นทางสายนี้ของไครียะห์ แล้วเธอมีใครหนุนหลัง เราเองก็นั่งทบทวนเพื่อหาคำตอบนี้อยู่นับครั้งไม่ถ้วน จากนั้นก็ฉุกคิดได้ว่า ให้คำตอบจบลงตรงภาพนี้ ​

ภาพของยะห์และปลา ภาพถ่ายจากผู้เป็นพ่อ ภาพของพ่อที่ยะห์เป็นคนถ่าย ถึงอย่างไรไม่ว่ามุมไหนซ้ายหรือขวามันคือภาพถ่ายสำรวจพันธุ์ปลาและความหลากหลายของสัตว์น้ำในทะเลหน้าบ้านของยะห์ เป็นการสำรวจอย่างง่ายโดยชาวบ้านในชุมชน ถึงวันนี้สมาคมรักษ์ทะเลจะนะ รวบรวมข้อมูลพบว่า ทะเลจะนะมีสัตว์น้ำ 175 ชนิด ประกอบด้วย ปลา 108 ชนิด , กุ้ง/กั้ง 12 ชนิด , ปู  9 ชนิด , หอย 21 ชนิด , หมึก 7 ชนิด และ สัตว์น้ำอื่นๆที่มีผลต่อระบบนิเวศ 39 ชนิด จะบอกว่าเธอมีปลาหนุนหลังคงไม่ผิด เพราะยะห์คือเด็กที่คาบช้อนความสมบูรณ์มาเกิด

(บังนี) รุ่งเรือง ระหมันยะ : บังไม่เคยคาดหวังกับยะห์ เพียงแต่ขอให้ยะห์เป็นคนดี ไม่เอาเปรียบคนอื่น และไม่เป็นที่รังเกียจของสังคม

ประโยคสั้น ๆ จากผู้เป็นพ่อ เล่าถึง ลูกสาวในวัยย่าง 18 ปี เธอโตเกินเด็กรุ่นราวคราวเดียวกัน เธอได้ส่วนผสมความยิ้มแย้ม สดใส มาจากแม่ และมีเลือดความกล้าหาญ ช่างสงสัย ช่างคิด​มาจากพ่อ บังนีเล่าให้เราฟังว่า เขาเลี้ยงลูกแบบไม่ครอบงำ ไม่เคยคาดหวังเส้นทางอนาคตของลูก ๆ ทั้ง 3 คน เพียงแต่ลึก ๆ ก็เปรยว่าไม่ชอบงานรับราชการในเครื่องแบบ เหตุผลเพราะระบบราชการทำให้คนจำนวนมากห่างไกลบ้าน ห่างไกลตัวตน และดูเหมือนลูก ๆ ทั้ง 3 คนของบังนีจะเห็นพ้องไปในทิศทางเดียวกัน ลูกชายคนโตพูดน้อยแต่ก็คอยหนุนเสริมอยู่ข้างหลังเสมอ ลูกชายคนเล็กเป็นนักฟุตบอลที่มีแววตั้งแต่เด็ก น้องเกือบเลิกแตะบอลเพราะมีบริษัททุนที่ไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมสนับสนุนทีม ส่วนยะห์ เธอเข้ามาเคลื่อนไหวเพื่อบ้านของเธอ ครั้งแรกช่วงที่มีการต้านโรงไฟฟ้า ต่อมาก็ท่าเรือน้ำลึกสงขลาแห่งที่ 2 และท่าเรือน้ำลึกปากบารา จ.สตูล
 

(ยะห์) ไครียะห์ ระหมันยะ ลูกสาวทะเลจะนะ : ตั้งแต่เด็กหนูเป็นคนชอบอ่านป้าย ชอบถาม และสงสัยไปทุกเรื่อง คนมักเรียกหนูว่า ยุ่ง/ ยะห์ยุ่ง เพราะเวลาเห็นผู้ใหญ่ หรือใครเขาทำอะไรหนูก็อยากเข้ามามีส่วนร่วมกับเขาด้วย

ยะห์เริ่มสนใจความเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นกับทะเลและหาดทราย ตั้งแต่ช่วงอายุ 8 ขวบ ตอนนั้นพ่อของเธอไปร่วมกลุ่มแสดงออกคัดค้านโครงการพัฒนาในพื้นที่ อ.จะนะ เธอเล่าว่า ในตอนนั้นแอบฟังผู้ใหญ่คุยกัน จะเรียกว่าแอบก็ไม่ถูกนัก ต้องใช้คำถามผู้ใหญ่พูดดังเกินกว่าที่ประตูบ้านจะกั้นเสียงไว้ได้ เธอเล่าว่าได้ยินแว่ว ๆ ว่ามีคนหมายหัวพ่อ วันรุ่งขึ้นเด็กสาวในวัย 8 ขวบ ​​แอบแม่กระโดดขึ้นท้ายกระบะนั่งประกบกับพ่อของเธอไปร่วมกิจกรรม​ ใครห้ามก็ไม่เป็นผล ตอนนั้นยะห์ตัดสินใจจับตาและเดินอยู่ใกล้ ๆ พ่อไม่ห่าง ด้วยความเชื่อว่า​​ การที่เด็กตัวเล็ก ๆ​ อยู่ใกล้พ่อ นั่นจะทำให้พ่อของเธอปลอดภัย แต่สุดท้ายพ่อของยะห์ก็ถูกรวบ! 

สิ่งที่จะนะกำลังเผชิญวันนี้​​​มันจะยิ่งกว่าที่จะนะเคยเจอมาในอดีต

ยะห์เล่าว่า ในอดีตจะนะเคยมีการเคลื่อนไหวค้านโรงไฟฟ้า โรงแยกก๊าซ ​เธอบอกตอนนั้นอยู่ที่บ้านอากาศมันดีทุกอย่าง มลพิษมันก็ไม่มีอาหารก็สมบูรณ์ แต่ว่าตอนนี้คนที่อยู่ใกล้โรงแยกก๊าซ โรงไฟฟ้าชีวมวล เขาออกมาพูดมาบ่นกันเยอะมากว่า มันเหม็นควันจากโรงงาน และน้ำเน่าเสีย ทำให้ปลาตายแล้วประกอบอาชีพประมงพื้นบ้านไม่ได้แล้ว เธอคิดว่าถ้ามันจะเกิดโครงการขนาดใหญ่แบบนี้อีก มันคงหนักกว่าที่เคยเป็น ซึ่งมันไม่โอเค และครั้งนี้มันจะยิ่งกว่าที่จะนะเคยเจอมาในอดีต การเปลี่ยนจะนะเป็นพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมเป็นเรื่องที่น่ากังวล

ที่ผ่านมาเพื่อยืนยันว่า ทรัพยากรในท้องทะเลจะนะ มูลค่าเกินกว่าต้องแลกกับโรงงานหรืออุตสาหกรรมหนัก ชาวบ้านและกลุ่มเยาวชน แบ่งหน้าที่ช่วยกันเก็บข้อมูลชุมชน ยะห์ก็เป็นหนึ่งในนั้น เธอบอกว่าสิ่งที่อยากจะบอกให้คนทั่วไปได้รู้ คือ คนจะนะเวลาเขาหาปลามาได้เขาไม่ได้ส่งเลี้ยงครอบครัวอย่างเดียว เขาส่งขายไปยังสงขลา-หาดใหญ่ อาหารทะเลทุกวันนี้ที่มีอยู่ในกรุงเทพ วันนี้อาจปลาในจานข้าวของคุณที่มาจากทะเลจะนะก็ได้ มากกว่านั้นนอกจากส่งขายในประเทศ อาหารทะเลจากจะนะบางส่วนถูกส่งไปขายในแถบอาเซียนด้วย ทั้ง ณี่ปุ่น สิงคโปร์ มาเลเซีย เกาหลี หรือแม้แต่ จีน

ถ้าจะนะถูกทำลาย ความมั่นคงทางด้านอาหารก็จะหายไป หนูอยากให้ทุกคนเห็นความสำคัญตรงนี้ ไม่อยากให้คิดว่า เรื่องของคนจะนะ ก็ปล่อยให้คนจะนะจัดการไป สิ่งที่เกิดขึ้นมาก่อนในภาคตะวันออกมันก็มีให้เห็นชัดอยู่แล้วว่า การเข้าไปเปลี่ยนแปลง มันทำลายภาคตะวันออก ตอนนี้เขากำลังจะมาทำลายภาคใต้ ภาคต่อ ๆ ไปจะเป็นภาคไหน ถ้าคุณไม่ช่วยกันปกป้องและไม่ช่วยหยุดการพัฒนาที่ผิด ๆ รวมทั้งความเข้าใจที่ผิด ๆ ของนายทุน

การพัฒนามีทางออกมากมาย สำหรับยะห์ เธอมองว่า การพัฒนาควรตั้งอยู่บนพัฒนาฐานทรัพยากร ต้นตอความยุ่งยากในวันนี้ เธอมองว่ามันเกิดจาก​ มติคณะรัฐมนตรี(ครม.)ที่อนุมัติโดยไม่ฟังความคิดเห็นของชาวบ้าน ควรยกเลิกมติ ครม.ที่ชาวบ้านไม่รู้เรื่อง

ยะห์ :  หนูอยากชวนปู่ประยุทธ์ ถอดชุดสูทออก แล้วไปเที่ยวบ้านของหนู…แล้ววันนั้นนอกจากจะได้รับสิ่งที่ดี ๆ จากพวกเราไป คุณปู่ประยุทธ์ อาจคิดได้ว่า การพัฒนาที่แท้จริงมันขึ้นอยู่กับความสุขและความยั่งยืนที่แท้จริงด้วยเช่นกัน


ถึงวันนี้ 10 ปีแล้วที่ยะห์ รวมกลุ่มกับเยาวชน รวมตัวกันเป็นกลุ่มเด็กรักษ์หาดสวนกง ทำกิจกรรม ทำข้อมูลความสำคัญเรื่องทรัพยากร อาชีพ และเรื่องราวของชุมชนเพื่อบอกคนที่อยากพัฒนาว่า อำเภอจะนะ ยังมีดีมากกว่าที่คุณคิด 

พายพัด หมัดเจริญ (ดิกห์) เด็กชายในวัยมัยธยมปลาย ดิกห์คือ หนึ่งในสมาชิก แม้เขาจะเป็นคนพูดน้อย แต่ระหว่างที่เรานั่งคุยกันอย่างเป็นกันเองในกระท่อมมุงจาก เขาเล่าว่า เนินทรายอายุกว่า 6,000 ปีข้างหน้า และหาดทรายที่เรากำลังนั่งมองมันสำคัญและมีความพิเศษ พ่อของดิกห์ออกเรือเก่ง จับปลาเก่ง และเป็นเชฟอันดับต้นๆของบ้านสวนกงในการทำเมนูปลาเค็มฝั่งทราย ​ดิกห์บอกเราว่า คุณจะไม่ได้กินปลาเค็มผังทราย ถ้าทะเลจะนะไม่สมบูรณ์​ ​

เมื่อเราถามว่าถ้าดิกห์ได้เป็นนายกรัฐมนตรี จะทำอย่างไรกับการพัฒนาประเทศ 

ดิกห์ไม่ลังเลที่จะตอบว่าผมไม่เอาตำแหน่งนี้ ผมไม่ชอบไม่อยากเป็นนายกฯ ส่วนถ้าถามเรื่องการพัฒนา อันที่จริงมันมีหลายรูปแบบ แต่ไม่ใช่แบบที่ทำมลพิษกับคนอื่น อย่างพลังงานหมุนเวียน แสงอาทิตย์ ลม น้ำ 3 สิ่งนี้ทำได้เลย ประเทศไทยมีแดดมาก แต่เขายังไม่เห็นทำเลยไปทำไปสนับสนุนโรงไฟฟ้าถ่านหิน หรือ ท่าเรือน้ำมัน ซึ่งเป็นการบอกว่าประเทศไทยเอาทรัพยากรมาใช้แบบสิ้นเปลือง เรามีทรัพยากรไม่น้อย แต่คนเราไม่รู้จักพอ 

ดิกห์อยากเห็นประเทศไทยเป็นพื้นที่สีเขียว เขาบอกว่าอดีตจากโรงงานหลายแห่งที่สร้างขึ้นพบว่า มีแต่มลพิษทั้งนั้น อย่างในจังหวัดสงขลาเองก็มีหลายแห่งที่เป็นแบบนั้น 

คำที่บอกว่า มีอุตสาหกรรมแล้วทำให้คนในพื้นที่มีงานทำ ผมว่าจะคิดอย่างนั้นมันไม่ถูก เพราะโรงงานทุกโรงงานเขารับคนที่เรียนมาด้านนั้น ๆ โรงงานเขารับคนที่มีประสบการณ์ คนที่ไม่มีประสบการณ์เขาไม่รับ แล้วอย่างคนที่นี่ส่วนใหญ่ไม่ได้เรียน ทำประมง ทำการเกษตร ใครจะรับ ? 

ณัฐกฤตา หมัดเหล็ม (นี) แม้จะไม่ได้ออกทะเล เพราะเป็นลูกสาวคนเล็กของครอบครัว แต่ก็ถือว่าเธอเป็นสายเลือดคนทะเล แต่นีอยากให้จะนะถูกพัฒนาไปในทิศทางการท่องเที่ยว เธอฝันอยากมีที่โฮมสเตย์ที่พักที่ดึงดูดผู้คนให้แวะเวียนมาทำความรู้จักทะเลบ้านสวนกงมากขึ้น อยากชวนคนมานั่งเล่นพักผ่อนที่เนินทราย มาสูดอากาศบริสุทธิ์จากทะเลและทิวสน 

“เมื่อก่อนคนไม่รู้เลยว่า มีหมู่บ้านสวนกงอยู่ด้วย เวลาหนูไปโรงเรียนครูถามว่าบ้านอยู่ไหน ? พอบอกว่าอยู่บ้านสวนกง ครูก็บอกไม่รู้จัก แตกต่างกับตอนนี้ไปบอกใครว่า บ้านอยู่ที่บ้านสวนกง มีแต่คนรู้จัก” เพราะพวกเราลุกขึ้นมาต่อสู้เรื่องโครงการจะนะ เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต ?

มีบ้างที่มีครูและเพื่อนบางคนไม่เข้าใจว่าหนูกำลังทำอะไร หนูเรียนโรงเรียนประจำ เรียนหนักมากแต่ก็พยายามหาเวลามาทำกิจกรรมร่วมกับเพื่อนในกลุ่มเด็กรักษ์หาดสวนกง  อย่างช่วงที่ขอกลับบ้านเพราะอยากมาทำกิจกรรมก็มีครูบางท่านไม่ให้กลับเพราะไม่เข้าใจ แต่ครูบางคนก็ให้กำลังบอกว่าสู้ ๆ นะ จริง ๆ ก็รู้สึกว่าเราทำงานมากกว่าเด็กทั่วไป แต่ก็สนุกดี ผู้ใหญ่ในครอบครัวไม่เคยห้าม แต่เป็นคนส่งเสริมให้เรามาทำกิจกรรมเพื่อปกป้องบ้านของตัวเอง

การสู้กับรัฐและทุนมันยากนะ แต่การมีโซเชียลช่วยได้เยอะ มีคนในโลกออนไลน์จำนวนมากที่สนับสนุนเรา บอกให้เราสู้ต่อไป ผ่าน #SaveChana เห็นแล้วมีกำลังใจทำในเรื่องยาก ๆ

เราย้อนกลับมาถามยะห์ว่า การปรากฏหน้าสื่อบ่อย อาจเจอคำถามว่า ทำไปเพื่ออะไร หรือคำห้ามว่า อย่าทำแบบนี้เลยไม่ใช่หน้าที่เด็ก ยะห์เจอแบบนั้นหรือเปล่า

ยะห์ ตอบว่า หลายครั้งที่เจอคนมาบอกให้หยุด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคุณครู มีอยู่ครั้งหนึ่งที่ครูบอกให้หนูระวังจะเหมือนบิลลี่ แต่เขาไม่ได้ขู่นะคะ หนูรับรู้ได้ว่าครูเขาเป็นห่วง บางครั้งก็มีคนถามว่า สู้ไปทำไม สู้กับรัฐบาลเดี๋ยวก็แพ้ วิธีการคือหนูจะไม่เก็บคำเหล่านั้นมาซีเรียส คนที่สนับสนุนพวกเราก็มีเยอะ เยอะกว่าคนที่มีมาดูถูกเรา และสำหรับหนูคนที่สำคัญที่สุดคือคนใกล้ตัว ทั้งพ่อ-แม่ พี่ชายและน้องชาย ถ้าคนเหล่านี้เข้าใจและเป็นกำลัง ไม่มีอะไรที่ทำให้หนูกลัว

สมการของการพัฒนาจะนะ ?

คำตอบนี้ในมุมของไครียะห์ เธอมองว่า ต้นตอของเรื่อง​ คือ มติ ครม.ที่อนุมัติโดยไม่ผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของชาวบ้าน ไม่ผ่านกระบวนวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม เธอยืนยันว่า ควรมีการยกเลิก หรือ​ถอนมติ ครม.ฉบับนี้เพื่อแสดงความจริงใจของรัฐในการแก้ปัญหาจากนั้นค่อยมาคุยกัน

ยะห์ :  จริงๆถ้าคุณอยากพัฒนาให้กับประชาชนจริง ๆ ควรมาถามชาวบ้านก่อน เรื่องนี้มันก็เปรียบเทียบเหมือนกับการสร้างบ้าน คุณควรมาถามเจ้าของบ้านก่อนว่า เขาอยากได้อะไร อยากจะปรับปรุงประตูหน้าต่างตรงไหน อยากให้พัฒนาเป็นแบบไหน แต่สำหรับบ้านของหนูตอนนี้มันเหมือนการสร้างบ้านที่วิศวกรไม่เคยลงมาคุย ไม่เคยมาถาม หรือ มาดูอย่างละเอียด มีเพียงวิศวกรที่นั่งจิตนาการจากในห้องแอร์ที่กรุงเทพฯ 

ในฐานะหนูที่เป็นคนรุ่นใหม่เราก็อยากอยู่บนโลกใบนี้ไปอีกนาน เราอยากอยู่บนโลกตอนที่มันมีสิ่งแวดล้อมที่ดี มีสภาพอากาศที่บริสุทธิ์คือ ไม่ได้หมายความว่า เราจะอยู่แบบนี้แบบเดิม ๆ ไปตลอด แต่เราอยากเห็นการพัฒนาสิ่งที่มันดีอยู่แล้วให้ดีขึ้นไปอีก ไม่ใช่การพัฒนาที่มีคำว่า ทำลายอยู่ในสมการ

หลายคนอาจบอกว่า ยะห์เป็นเด็กกล้าหาญ แต่สำหรับยะห์ เธอไม่เคยนิยามว่า เธอเป็นความกล้า อย่างเดียวที่เด็กสาวในวัยย่าง 18 ปี คือการลงมือทำ ทำอะไรก็ได้ที่จะไม่ทำลายจะนะ  เธอสนทนากับเราระหว่างสวมบทบาทเป็นแม่ค้าขายปลาช่วยแม่ที่ตลาด (หลังห่างหายจากแผงมานานเพราะเดินทางไป กทม.) เธอบอกว่า สิ่งที่หนูและครอบครัวลุกขึ้นมาปกป้องทะเลบ้านสวนกง ก็เพื่อให้คนจะนะมีแหล่งทรัพยากรที่สมบูรณ์ ให้คนไทยมีที่เที่ยวสวย ๆ มีที่ที่อากาศบริสุทธิ์ มีอาหารทะเลตัวโต ๆ หนูไม่คิดว่าเป็นเรื่องที่เสียเวลา แม้ว่า พ่อ แม่ หนูต้องสละเวลาส่วนตัวไปบ้าง สละรายได้จากการขายปลาไปบ้าง แต่ยังดีกว่าเรามานั่งเสียใจที่หลังเมื่ออุตสาหกรรมทำให้ความสมบูรณ์ที่มีวันนี้หายสาบสูญไป ถ้าเป็นอย่างนั้นพรุ่งนี้หนูและแม่จะไปเอาปลาที่ไหนมาขาย

เส้นทางที่ยาวไกลแต่มีความหมายระหว่างบรรทัด

2536 มีเรือประมงพาณิชย์มาบุกรุกที่ทำกินของชาวบ้าน อ.จะนะ จ.สงขลา

2538 มีการก่อตั้งกลุ่มอนุรักษ์และฟื้นฟูชายฝั่ง บ้านสวนกงและส่งเสริมการทำปะการังเทียม(อูหยำ)

2540 องค์กรพัฒนาเอกชนเข้ามาให้ความรู้ ร่วมคิดและทำกิจกรรมอนุรักษ์ มีการสร้างเขื่อนกันทรายและคลื่นปากร่องน้ำสะกอม 

2540-2541 กรมเจ้าท่าสร้างเขื่อนกันคลื่นปากคลองสะกอม อ.จะนะ จ.สงขลา ​4 ตัว ทำให้ชายฝั่งสะกอมที่ บ้านบ่อโชน พังทลายทันทีขณะก่อสร้าง 

2543 เกิดการกัดเซาะชายฝั่งอย่างรุนแรง บริเวณหาดสะกอม ถึง ชายหาดบ้านโคกสัก จ.สงขลา ต่อมาปี 51 ชาวบ้านสะกอม ฟ้องคดีต่อศาลปกครองสงขลา กรณีกรมเจ้าท่าสร้างเขื่อนกันทรายและคลื่นปากร่องน้ำสะกอม ระบุเป็นการกระทำที่มิชอบ

2545 ทหารมีการซ้อมยิงปืนใหญ่ ส่งผลต่อทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เกิดการเจรจากันของชาวบ้านและทหารเพื่อหยุดหยั้งการซ้อมยิ่ง

2545 สำนักนายกรัฐมนตรีจึงได้ออกแถลงการณ์ให้ดำเนินโครงการท่อก๊าซฯ ต่อไปตามสัญญา

2545 ชาวบ้านรวมตัวชุมนุม แสดงความไม่เห็นด้วยในช่วง ครม.สัญจร ที่หาดใหญ่

2545 มีการเหตุการณ์สลายการชุมนุมของกลุ่มคัดค้านด้วยความรุนแรง โดยมีเจ้าหน้าที่องค์กรพัฒนาเอกชน 12 คนถูกจับกุม และออกหมายจับตามมาอีกหลายคน

2546 ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาให้เจ้าหน้าที่ของรัฐมีความผิด และต้องชดใช้ค่าเสียหายให้กับผู้เสียหายคือกลุ่มชาวบ้านที่คัดค้าน 

2547 มีการดำเนินโครงการวางท่อส่งก๊าซฯ ในทะเลจากแหล่งเจดีเอมาขึ้นฝั่งที่บริเวณลานหอยเสียบ ต.ตลิ่งชัน อ.จะนะ จ.สงขลา และวางท่อบนบกผ่านพื้นที่ อ.จะนะ นาหม่อม หาดใหญ่ และสะเดา ใน จ.สงขลา เพื่อเชื่อมต่อกับท่อก๊าซของมาเลเซียที่มีอยู่แล้ว ส่งก๊าซจากไทยไปมาเลเซีย รวมระยะทางการวางท่อบนบกในฝั่งไทยประมาณ 88.5 กิโลเมตร​ แล้วเสร็จช่วงปลายปี

2547 ชาวจะนะก็ได้ข่าวว่าการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กำลังหาซื้อที่ดินในพื้นที่ อ.จะนะ เพื่อก่อสร้างโรงไฟฟ้าขนาด 700 เมกะวัตต์ 

2550 มีการดำเนินการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อน อ.จะนะ จ.สงขลา

2551 โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมสงขลาก็เริ่มเดินเครื่อง 

2556 ชุมชนจัดทำข้อมูลทรัพยากรชุมชน มีหนังสือทะเลคือชีวิต มีการจัดงานอะโบ๊ยหมะเลจะนะหร่อยจ้าน ครั้งที่ 1

2559 เกิดกลุ่มเด็กรักษ์หาดสวนกง ติดตามระบบนิเวศหาดทราย และดำเนินกิจกรรมเพื่ออนุรักษ์หาดทราย

2559 รัฐผุดโครงการเดินหน้า สร้างท่าเรือสงขลาแห่งที่ 2 ปักหมุดเลือก ตำบลนาทับ อ.จะนะ จ.สงขลา

2559 ชาวบ้านเข้าคัดค้าน เวที ค.1 รับฟังความคิดเห็นสร้างท่าเรือสงขลาแห่งที่ 2

2560 กรมเจ้าท่า เปิดเผย ผลการศึกษาพื้นที่สร้างท่าเรือสงขลาแห่งที่ 2 มูลค่า  5,000 ล้านบาท

2560 ศอ.บต. รายงานมติ ครม. ที่ีมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอช เป็นนายกรัฐมนตรี ประกาศเดินหน้านำร่อง โครงการสามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน 3 พื้นที่  1.อำเภอสุไหงโก-ลก จ.ปัตตานี  2.อำเภอเบตง จ.ยะลา 3.อำเภอจะนะ จ.สงขลา

2562 ครม. มีมติให้ “อำเภอจะนะ” จ.สงขลา เป็นเมือง “อุตสาหกรรมแห่งอนาคต”

2562 ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ประกาศปัดฝุ่นโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา จ.สตูล และ ท่าเรือสงขลาแห่งที่ 2

2563 ยะห์ ไครียะห์ ระหมันยะ อายุ 17 ปี เขียนจดหมาย 2 ฉบับถึง ปู่ประยุทธ์ (พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา) ฉบับแรกเดือนก.ค.  และ ฉบับที่ 2 เดือน ก.ย. จนถึงวันนี้การเดินทางของการต่อสู้ก็ยังไม่จบ เพียงแต่ส่งต่อความรู้สึกจากรุ่นพ่อแม่ สู่ลูกสาวแห่งท้องทะเลจะนะ 

และในวันที่เรานั่งเขียนเรื่องราวจากจะนะ นิยามการพัฒนาที่ชาวจะนะพร่ำบอกมาหลายสิบปียังคงเป็นเรื่องที่ทุนและรัฐไม่เข้าใจ