คนรุ่นใหม่ รัฐสวัสดิการ และสังคมนิยมประชาธิปไตย : เมื่อระบบทุนนิยมล้าหลังเกินไป และรัฐสภายังก้าวหน้าไม่มากพอ - Decode
Reading Time: 2 minutes

ประกายไฟลามทุ่ง

โดย รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี
วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ครึ่งหลังของปี 2563 กลายเป็นช่วงเวลาสำคัญของการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและการเมืองไทยในรอบหลายปี เมื่อขบวนการของคนรุ่นใหม่ก่อตัวขึ้นเพื่อตั้งคำถามต่อความเหลื่อมล้ำทั้งในทางเศรษฐกิจ และในทางการเมืองอย่างกว้างขวางอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ยิ่งไปกว่านั้นผู้ที่มีส่วนร่วมในการชุมนุมดูจะมีอายุเฉลี่ยที่ลดลงกว่าการชุมนุมก่อนหน้านี้ ไม่ว่าจะเป็น ขบวนการ กปปส.ปี 2556-2557 ขบวนการเสื้อแดง 2552-2553 หรือขบวนการพันธมิตรฯเมื่อปี 2548-2549 โดยกลุ่มคนรุ่นใหม่เหล่านี้มีบทบาทในการจัดการมวลชนที่เด่นชัดมิได้เป็นเพียงองค์ประกอบหนึ่งของขบวนการเคลื่อนไหว

หลายท่านอาจตั้งข้อสังเกตว่าลักษณะนี้คล้ายกับเหตุการณ์ในช่วงปี 2516 ที่ขบวนการนักศึกษาเป็นกำลังหลักในการขับไล่เผด็จการทหารที่ปกครองประเทศมากว่า 16 ปี แต่เมื่อเปรียบเทียบแล้ว อายุขัยเฉลี่ยประชากรไทยในปี 2516 มีอายุขัยเฉลี่ยอยู่ที่ 61 ปี ขณะที่ปี 2563 อยู่ที่ 75 ปี หรือเทียบแล้ว คนรุ่นใหม่ในปี 2563 กำลังท้าทายโลกที่หนักอึ้งสำหรับพวกเขา และมันคือการเดิมพันครั้งใหญ่หากพวกเขาพ่ายแพ้ในช่วงเยาว์วัยของการต่อสู้ ก็คือช่วงเวลาของการเป็นทาสที่ยาวนานมากขึ้นกว่าคนในยุคสมัยก่อนหน้า คำถามสำคัญพวกเขากำลังต่อสู้กับอะไร ต้องการอะไร และจะชนะได้อย่างไร บทความนี้มุ่งอธิบายสามองค์ประกอบหลักคือ ความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นประชาธิปไตยที่กดทับคนรุ่นใหม่ ข้อเรียกร้องของพวกเขา และการวิเคราะห์โอกาสและอุปสรรคต่อการเปลี่ยนแปลง

เริ่มจากตรงไหน ?

การตั้งคำถามของขบวนการคนรุ่นใหม่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2562 การเกิดขึ้นของพรรคอนาคตใหม่เป็นชนวนสำคัญที่ทำให้คนที่อายุ 18-25 ปีมีโอกาสในการเลือกตั้งครั้งแรกในรอบกว่า 8 ปี ข้อเสนอของพรรคอนาคตใหม่ สามฐานรากได้แก่ รัฐสวัสดิการถ้วนหน้า กระจายอำนาจ ปฏิรูปการศึกษา คือหัวใจสำคัญของการตั้งคำถามต่อความเหลื่อมล้ำในประเทศนี้ อย่างไรก็ตาม คนอายุ 18-25 ในปี 2561 มีประสบการณ์สำคัญในความรุนแรงและการครอบงำทางการเมืองอย่างยาวนานภายใต้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พวกเขาปรารถนาให้การเลือกตั้งปี 2562 เป็นการยุติการสืบทอดอำนาจที่สันติ

แต่กระบวนการนี้ล้มเหลวด้วยรัฐธรรมนูญที่เปิดโอกาสการสืบทอดอำนาจอย่างโจ่งแจ้ง และใน 1 ปีจากนั้นการตัดสิทธิ์หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ไล่มา จนกระทั่งการยุบพรรคอนาคตใหม่ ยิ่งเป็นการตอกย้ำว่าหนทางในทางรัฐสภาดูจะไม่ได้เป็นกลางและเปิดกว้างต่อการเปลี่ยนแปลง ดังนั้นสำหรับคนรุ่นหลังหรือคนที่เกิดปี 2543 เป็นต้นไปจึงเติบโตมากับภาพความอยุติธรรมที่คาตาอย่างที่ไม่สามารถปิดบังซ่อนเร้นได้

นอกจากการปราบปรามและปิดช่องทางการแข่งขันทางการเมืองในระบอบรัฐสภาแล้ว หัวใจสำคัญคือความเหลื่อมล้ำในประเทศไทยที่ทวีคูณอย่างหนักหนามาตลอด 5 ปี ประเทศไทยกลายเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำติดอันดับโลก ขณะที่มหาเศรษฐีไทยกลับติดอันดับความมั่งคั่งของภูมิภาคแทบทุกปี ค่าจ้างขั้นต่ำไม่ได้มีการปรับให้สอดคล้องกับมาตรฐานการดำรงชีวิต

รายได้เฉลี่ยครัวเรือนไทยอยู่ที่ประมาณ 26,000 บาทต่อครัวเรือน (3.1 ชีวิต) ขณะที่ค่าใช้จ่ายสำหรับการใช้ชีวิตขั้นพื้นฐานคือประมาณ 27,000 บาทต่อเดือน (9,000 บาท/ชีวิต/คน) คนไทยส่วนมากมีชีวิตติดลบรายเดือน คุณภาพชีวิตถูกจัดลำดับชั้นไม่ว่าจะเป็นการรักษาพยาบาล การศึกษา ขนส่งสาธารณะ ที่อยู่อาศัย อาหารที่มีคุณภาพ ชีวิตหลังเกษียณ พื้นที่สีเขียว กระทั่งความฝันของผู้คนก็ยังมีลำดับชั้นตามเงินในกระเป๋า เรื่องเหล่านี้สมจริงมากขึ้น เมื่อเรามองไปรอบๆว่า ลูกคนรวยคงมีความฝันในการเป็น ส.ส. หรือรัฐมนตรีราวกับเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต แต่เด็กที่รักดีที่สุดในชุมชนแออัดอาจได้ทำงานที่ร้านสะดวกซื้อไปทั้งชีวิต

ผู้เขียนมีโอกาสในการทำสำรวจความคาดหวังในชีวิตของผู้ใช้แรงงานเหมาค่าแรง ซึ่งพบว่า กว่าร้อยละ 60 เชื่อว่า ลูกหลานของเขาคงมาเป็นพนักงานเหมาค่าแรงอีก เพราะโอกาสและชีวิตของลูกก็ถูกกำหนดโดยโอกาสและชีวิตของพ่อแม่ ข้อมูลนี้ยืนยันด้วยสถิติการเลื่อนลำดับชั้นระหว่างรุ่นในปี 2561 โดยธนาคารโลกที่ระบุว่า กลุ่มคนที่เกิดในครึ่งล่างของสังคมไทยมีโอกาสเพียงแค่ร้อยละ 15 ที่จะเป็นกลุ่ม 25% บน ขณะที่กลุ่มที่เกิดใน 25% บนมีโอกาสเพียงแค่ 19% เท่านั้นที่จะตกมาเป็นคนครึ่งล่างของสังคม ความเหลื่อมล้ำนี้ถูกปิดบังโดยรัฐบาลอำนาจนิยมที่พยายามบอกว่า ถ้าคุณขยัน ประหยัด ซื่อสัตย์ อดทนก็จะสามารถรอดจากความเหลื่อมล้ำนี้ได้

แต่ความเป็นจริงหาได้เป็นเช่นนั้น เพราะโอกาสในการเลือกชีวิตของคนไทยส่วนใหญ่ถูกกำหนดโดยชาติกำเนิด และวางแบบแผนไว้ตั้งแต่เกิดจนตายอย่างที่ต่อรองไม่ได้ สาเหตุสำคัญคือการที่ประเทศไทยขาดระบบสวัสดิการพื้นฐานที่ดีมากพอ ที่จะทำให้ความอับโชคของชาติกำเนิดเป็นโมฆะเมื่อคุณลืมตาดูโลก

เรื่องเหล่านี้ดำเนินมาในประเทศไทยหลายปี จนเราเริ่มรู้สึกว่าความเหลื่อมล้ำคือสิ่งปกติ และความเท่าเทียมคือสิ่งผิดปกติ แต่ภายใต้วิกฤติ Covid-19 ก็เป็นจุดสำคัญในการตอกย้ำความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย และทำให้คนรุ่นใหม่ที่อายุน้อยลงกว่าทุกขบวนการจำเป็นต้องบอกว่า “พอกันที” หากเรายังจำกันได้การเรียกร้องของขบวนการนักศึกษาช่วงแรกเริ่มในช่วงเดือน มีนาคม-เมษายน คือการเรียกร้อง “คืนค่าเทอม” หลังจากมหาวิทยาลัยต้องปิดตัวหรือปรับการเรียนการสอนสู่การเรียนออนไลน์ คำตอบของมหาวิทยาลัยส่วนมากไร้เหตุผลและเต็มไปด้วยการเลี่ยงบาลี สร้างภาพและการโยนเศษเนื้อเช่นเดียวกับผู้นำอนุรักษ์นิยมทั่วไปในประเทศนี้

ขบวนการเรียกร้องคืนค่าเทอมแม้จะไม่ประสบความสำเร็จในทางรูปธรรมแต่ก็กลายเป็นชนวนสำคัญต่อการตั้งคำถามถึงความชอบธรรมของรัฐบาลในการจัดการความเหลื่อมล้ำในช่วง Covid-19 การสำรวจหลายชิ้นได้แสดงให้เห็นชัดเจนว่า วิกฤตินี้กระทบต่อคนรายได้น้อยมากกว่าคนรายได้สูง เพราะนายทุนสามารถผ่องถ่ายความเสี่ยงสู่การเลิกจ้างได้ แต่แรงงานไม่สามารถถ่ายโอนความเสี่ยงค่านม ค่าเทอม ค่ารถ ค่าบ้านไปที่ไหนได้ และที่สำคัญคือวิกฤติกระทบต่อกลุ่มคนอายุน้อยมากกว่ากลุ่มคนอายุมากที่มีงานที่มั่นคงสามารถต่อรองได้

ผู้จัดการวัย 50ปี อาจถูกตัดโบนัส พนักงานรายเดือนอายุ 35 ปีอาจถูกปรับเป็นรายวัน พนักงานรายวันอายุ 25 ปี อาจกลายเป็นพนักงานเหมาค่าแรง ส่วนพนักงานเหมาค่าแรงอายุ 19 ก็ถูกเลิกจ้าง คนที่กำลังจะเรียนต่อมหาวิทยาลัยย่อมมีปัญหาในการที่พ่อแม่จะต้องหาเงินหลักหมื่นมาจ่ายค่าเทอม เมื่อคนจนต้องออกจากมหาวิทยาลัยมีสถิติยืนยันว่าพวกเขาจะไม่ได้กลับเข้ามาเรียนอีก เมื่อพวกเขาไม่มีงานประจำ พวกเขาต้องไปเสี่ยงให้นายทุน Platform Economy ขูดรีดด้วยการเป็นพนักงานส่งของที่แบกรับทั้งความปลอดภัยในชีวิตและต้นทุนของพวกเขาเอง ลักษณะนี้ไม่ได้เกิดเฉพาะพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง แต่เกิดในวงกว้าง คนรุ่นใหม่ที่ถูกพร่ำบอกให้ ขยัน ซื่อสัตย์ ประหยัด อดทน ถูกถีบหัวส่งจากระบบอันเหลื่อมล้ำที่พวกเขาถูกสั่งให้ปีนบันไดเหมือนวิ่งตามความฝันที่ว่างเปล่า

รัฐสวัสดิการและสังคมนิยม เมื่อทุนนิยมอัปลักษณ์และล้าหลังในสายตาของพวกเขา

ผมเคยสนทนากับมิตรสหายรุ่นน้อง ที่อายุราว 30 ปีถึงความแตกต่างของเขากับขบวนการของคนรุ่นใหม่ในปัจจุบัน เขาอธิบายได้อย่างน่าสนใจว่า ข้อเรียกร้องที่แหลมคมของนักศึกษาที่มีอยู่ตอนนี้มาจากเหตุง่ายๆคือ “ทุนนิยมมันอัปลักษณ์และล้าหลังในสายตาพวกเขา” ขณะที่ผู้มีอำนาจไม่ว่าจะเป็นฝ่ายค้านฝ่ายรัฐบาลดูกำลังก้มหน้าก้มตาแก้ต่างให้กับระบบทุนนิยมอย่างไม่ลดละทั้งๆ ที่มันคือตัวการสำคัญของปัญหาความเหลื่อมล้ำ การผูกขาดทรัพยากร และทุนผูกขาดทั้งหลายก็คือแหล่งทรัพยากรสำคัญให้แก่การทำรัฐประหารหลายครั้ง “การที่เรามองว่าทุนนิยมน่ารัก ก็มีเหตุผลเดียวคือเรารู้สึกว่าเราได้ประโยชน์อะไรจากมันบ้าง” แต่ปัจจุบันประโยชน์ที่เราได้รับจากทุนนิยมดูน้อยนิดและยิ่งไม่สมเหตุสมผลสำหรับคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะคนที่เกิดหลังปี 2543 เป็นต้นไป

พวกเขาถูกคาดหวังให้ทำงานหนัก สร้างสรรค์ เฉลียวฉลาด เป็นมิตร ในระบบที่ไร้เหตุผล ซ้ำซาก ขูดรีด อุปถัมภ์ และอำนาจนิยม จนช่วงกลางปี 2563 ขบวนการนักเรียน นักศึกษา เริ่มมีข้อเรียกร้องที่พูดถึง “รัฐสวัสดิการถ้วนหน้า” ที่ท้าทายวิธีการคิดเดิมของรัฐไทยที่พูดถึง สวัสดิการในฐานะเรื่องของความน่าสงสาร หรือสิ่งที่พึงได้ในฐานะผู้ภักดี หรือมีประโยชน์ต่อแผ่นดิน พวกเขาเรียกร้องถึงสวัสดิการในฐานะสิทธิพื้นฐานพร้อมกับ #ถ้าการเมืองดี ที่นำสู่การตั้งคำถามที่สำคัญต่อการจัดสรรทรัพยากรของประเทศนี้ และปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่าการตั้งคำถามต่องบประมาณของสถาบันพระมหากษัตริย์ และงบประมาณกลาโหมกลายเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นการทั่วไปในกลุ่มคนรุ่นใหม่ เพราะทุกครั้งที่มีข้อเสนอเรื่อง การศึกษาฟรี ขนส่งสาธารณะที่ฟรีและดี เงินเลี้ยงดูเด็กถ้วนหน้า เงินบำนาญให้พ่อแม่พวกเขาที่สละชีวิตทำงานหนัก มักมีการตั้งคำถามจากฝั่งอนุรักษ์นิยมเสมอว่าจะเอาเงินมาจากไหน จะคุ้มค่าหรือไม่ แต่กับงบประมาณหลายส่วนของประเทศกลับไม่มีการตั้งคำถามลักษณะเดียวกัน ทำให้กระแสการเรียกร้องรัฐสวัสดิการของขบวนการคนรุ่นใหม่ก้าวหน้ากว่าทุกพรรคการเมืองในรัฐสภาปัจจุบัน

ข้อเรียกร้องที่ปรากฏชัดในหลายเวทีพวกเขาต้องการ “สังคมนิยมประชาธิปไตย” ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่การแก้รัฐธรรมนูญลดอำนาจเผด็จการ หรือการหมุนกลับไปใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 เท่านั้น พวกเขาไม่ได้ต้องการให้แค่ตัวเองถูกใส่อยู่สมการการกระตุ้นเศรษฐกิจ แบบเดียวกันกับที่นักเศรษฐศาสตร์เสรีนิยมพยายามแก้ต่างและหาทางลงให้แก่ระบบเศรษฐกิจที่เหลื่อมล้ำ

รัฐสวัสดิการในสายตาของพวกเขาคือการหมุนเปลี่ยนวิธีคิดทางเศรษฐกิจ ไม่ใช่การถกเถียงว่าคุ้มค่าหรือไม่ ทำให้เศรษฐกิจขยายตัวได้เท่าไร แต่คือการวางรากฐานทางเศรษฐกิจการเมืองใหม่ ที่มองว่ามนุษย์ไม่ใช่เพียงแรงงานหรือผู้บริโภค แต่ในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง ที่มีความฝัน มีสิทธิที่จะมีความสุข มีความรัก และพึงได้รับสิทธิในการเป็นเจ้าของประเทศนี้อย่างเท่าเทียมกัน และร่วมจัดสรรทรัพยากรร่วมกัน ลำดับชั้นทางสังคมเป็นสิ่งผิดแผกและน่ารังเกียจในสายตาพวกเขา เช่นเดียวกันกับ “ความเป็นไปไม่ได้” ที่ถูกผูกขาดโดย เทคโนแครต นายทุน ขุนพลในประเทศนี้

รัฐสภาและพรรคการเมืองล้าหลังกว่ามวลชน

พรรคการเมืองฝั่งรัฐบาลย่อมต้องพยายามในการรักษาอำนาจเป็นเรื่องปกติ แต่พรรคการเมืองฝ่ายค้าน พยายามน้อยเกินไปในการตอบสนองต่อความต้องการของขบวนการคนรุ่นใหม่ รัฐสภาเป็นแหล่งรวมของชนชั้นอภิสิทธิ์ชน ตลอด 1 ปีที่ผ่านมา มีความพยายามในการเสนอกฎหมายหรือรณรงค์ข้อเสนอที่สร้างความเสมอภาคน้อยมากและไม่พยายามทำให้เป็นประเด็นที่สังคมสนใจ พรรคการเมืองจำนวนมากเลือกที่จะประนีประนอมกับกระแสนชนชั้นกลาง นักธุรกิจ หรือผู้มีอำนาจในรัฐ ซึ่งวันนี้ลำพังการให้กำลังใจ คอยประกันตัว กับการอภิปรายในสภาผู้แทนราษฎร คงไม่เพียงพอกับอภิสิทธิ ที่ ส.ส.ฝ่ายค้านได้รับ พวกเขาจำเป็นต้องนำข้อเสนอของนักศึกษาไม่ว่าจะเป็นประเด็นรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า หรือการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ เข้าสู่กระบวนการนิติบัญญํติอย่างเร็วที่สุด มิฉะนั้นคงยากที่จะได้รับความนิยมต่อไปในอนาคตในคลื่นและยุคสมัยของการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว ท้าทายโครงสร้างชนชั้นทั้งทางเศรษฐกิจและการเมืองในปัจจุบัน

ในบทความหน้าผมจะพาพิจารณาถึงข้อเรียกร้องด้านรัฐสวัสดิการประเด็นต่างๆที่ถูกพูดถึงในวงกว้างในขบวนการคนรุ่นใหม่ และพิจารณาถึงความเป็นไปได้และโอกาสในการเปลี่ยนประเทศสู่ความเสมอภาคครั้งสำคัญเหมือนครั้งหนึ่งที่ประเทศไทยเคยสำเร็จในการผลักดันหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเมื่อเกือบ 20 ปีมาแล้ว