“จริงๆ บินไปก่อนก็ดีเพราะเราเองก็เริ่มจากการบินไปก่อนเหมือนกัน”
คือหนึ่งประโยคจาก เมฆ สายะเสวี สถาปนิกหนุ่มอารมณ์ดีที่มีความฝันต่างไปจากคนรุ่นใหม่ทั่วๆ ไป ในยุคที่ใครหลายคนคิดจะบินหนีไปจากบ้านเพราะทนความปวดใจที่บ้านหลังนี้มอบให้ไม่ไหวแต่เมฆกลับเลือกที่จะบินกลับมาพัฒนาบ้านด้วยเหตุผลง่ายๆ ที่เขาเพิ่งมาค้นพบว่า แท้จริงแล้วที่ที่ท้าทายที่สุดคือบ้านของตัวเอง จากความเชื่อนี้ทำให้เขารวมตัวกันกับกลุ่มเพื่อนสนิทและก่อตั้งกลุ่ม ‘ยังธน’ กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีความฝันอยากจะพัฒนาย่านฝั่งธนฯ พวกเขาขออาสาเป็นตัวกลางที่จะเชื่อมโยงผู้คนและเมืองในย่านฝั่งธนเข้าไว้ด้วยกันอีกครั้ง
โดยอีเว้นท์สุดเฟี้ยวอันล่าสุดที่กลุ่มยังธนจัดขึ้นอย่างการแข่งขันสตรีทฟุตบอลเยาวชน ยังธนคัพ #คับที่เตะได้ ก็เรียกความสนใจจากผู้คนในชุมชนและเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญให้เราได้มาพูดคุยกับเมฆในวันนี้ การแข่งขันสตรีทฟุตบอลที่ไม่ได้แค่เชื่อมความสัมพันธ์ของคนในชุมชนแต่ยังมีมิชชั่นลับในการเชื่อมคนรุ่นใหม่เข้ากับเมืองเก่า ด้วยการเล่าเรื่องประวัติศาสตร์ของพื้นที่ฝั่งธนผ่านสนามกีฬาชุมชนทั้ง 5 สนามที่บอกได้เลยว่าทุกสนามต่างมีสตอรี่ลับเป็นของตัวเอง
แต่สิบปากว่าก็คงไม่เท่าตาเห็น เอ้ย! ต้องพูดว่าร้อยเราเล่าก็ไม่อินเท่าเมฆเล่า เราเองก็อยากรู้เหมือนกันว่าพวกเขาคาดหวังอะไรจากการจัดยังธนคัพครั้งนี้ แถมกีฬามีตั้งมากมายแต่ทำไมถึงเลือกที่จะให้เด็กมาเตะฟุตบอล และสิ่งที่เราสงสัยมากที่สุดคือเหตุผลอะไรกันที่ทำให้คนหนุ่มสาวอนาคตไกลเลือกที่จะบินกลับมาพัฒนาบ้านแทนการโบยบินไปในโลกกว้าง เอาเป็นว่า ถ้าเมฆพร้อม คุณพร้อม ขอกรรมการช่วยเป่านกหวีดเริ่มการสนทนาด้วยขอรับ! ปรี๊ดดดดดดดด!
สงสัยมานานแล้วว่าทำไมต้องชื่อกลุ่ม ‘ยังธน’ เพราะเหลืออดเหลือทนแล้วหรือเปล่า
เมฆ : ใช่! อย่างนั้นเลย คำว่า ‘ธน’ มาจาก ยังทนอยู่หรือเปล่า ยังอดทนอยู่นะ มันเป็นได้หมดเลย ส่วนคำว่า ‘ยัง (YOUNG)’ ก็หมายถึงไม่ได้ YOUNG แค่อายุอย่างเดียวแต่ข้างในยังใหม่ด้วย
นอกจากความเหลืออดเหลือทนแล้ว กลุ่มยังธนตั้งต้นมาจากความคิดแบบไหน
เมฆ : จริงๆ แล้วจุดเริ่มต้นของยังธนอาจจะเริ่มมาจากน้องในทีมที่ชื่อ ‘ฮิน’ ช่วงสมัยเรียนมหาลัยฮินเคยทำธีสิสเกี่ยวกับพื้นที่ตลาดพลู จากธีสิสชิ้นนั้นเลยทำให้เกิดเครือข่ายตลาดพลูขึ้นมา ประกอบกับเราเองก็เป็นสถาปนิกและทำงานด้านสถาปนิกชุมชนอยู่แล้ว บังเอิญว่าช่วงนั้นบริษัทเรารับงานเกี่ยวกับชุมชนในฝั่งธนฯ มากขึ้น เลยทำให้เราเห็นความทับซ้อนบางอย่างที่ซ่อนอยู่ ทั้งๆ ที่มีคนลงมาทำงานในพื้นที่ฝั่งธนฯ เยอะมากแต่กลับไม่ได้มีการมาแลกเปลี่ยนข้อมูลกันเลย เราเลยคิดว่ามันคงจะดี ถ้ามันจะมีสักหนึ่งพื้นที่ที่เป็นเหมือนพื้นที่กลางที่ทำให้คนเหล่านี้ได้มาแบ่งปันข้อมูลและได้มาเจอหน้ากัน กลุ่มยังธนเลยเกิดขึ้นมา
อยากให้คุณช่วยเล่าถึงที่มาของการเกิด ยังธนคัพ #คับที่เตะได้
เมฆ : หลังจากที่พวกเรารวมตัวกันจนเป็นยังธนได้แล้ว สิ่งแรกที่ทำคือการจัดเวิร์คช็อป ‘จุดรวมธน’ เพราะยังธนมีความฝันที่อยากจะพาทุกคนมาเจอกัน โดยคนที่มาเข้าร่วมในเวิร์คช็อปส่วนใหญ่ก็เป็นคนที่เคยทำงานในพื้นที่ฝั่งธนฯ มาก่อน ผสมกับลูกเพจจากเพจเฟซบุ๊กยังธน ซึ่งโจทย์หลักของงานในวันนั้นคือการเปิดพื้นที่ให้ทุกคนได้มาแชร์ความเจ็บปวดที่เด็กฝั่งธนกำลังทนอยู่และช่วยกันหาทางออก ผลสุดท้ายจากความคิดที่เรามาฟุ้งๆ กันก็คลอดออกมาเป็น 4 โปรเจกต์แต่ก็ไม่มีอันไหนได้ไปต่อ
เมฆ : แต่ถึงเวิร์คช็อปจะจบไปแล้วพวกเราก็ยังคงนัดประชุมกันเรื่อยๆ บวกกับช่วงนั้นเรามีโอกาสได้ไปทำงานเกี่ยวกับตลาดชุมชนและดันไปเจอสนามกีฬาที่ซ่อนตัวอยู่ตามชุมชนต่างๆ ซึ่งมันมีภาพนึงที่เราเห็นและกลายมาเป็นตัวจุดประกายให้เกิดงานนี้เลย คือเราดันไปเห็นกลุ่มเด็กผู้ชายเตะบอลกันบนป้อมปืนใหญ่ (ป้อมปัจจามิตร)
เมฆ : ลองนึกภาพตามนะ คุณสมบัติของป้อมคือกันระเบิดแล้วนับประสาอะไรกับลูกบอลที่เด็กเตะกัน เรื่องฟังก์ชันมันไม่มีปัญหาอยู่แล้ว แค่อาจจะติดตรงเรื่องภาพลักษณ์บ้าง แต่สำหรับเราภาพนั้นมันดูอินโนเซนส์มากๆ จากภาพนั้นก็เลยทำให้พวกเราตัดสินใจหยิบหนึ่งโปรเจกต์ที่เคยคิดไว้ในเวิร์คช็อปจุดรวมธนมาพัฒนาต่อ จนได้ผลลัพธ์ออกมาเป็น ‘ยังธนคัพ’ #คับที่เตะได้
ทำไมถึงต้องเป็นการแข่งขัน ‘สตรีทฟุตบอล’
เมฆ : ตอนแรกเราถกกันเยอะมากเพราะขอบเขตงานของยังธนไม่ใช่แค่เด็กผู้ชายเตะบอล แต่ที่โปรเจกต์นี้ผ่านเพราะเรามองว่ายังธนคัพมีอะไรมากกว่านั้น มันคือการที่เราพยายามดึงพื้นที่สาธารณะในชุมชนออกมา เด็กหลายคนไม่รู้ว่าสนามที่เขาเตะบอลอยู่ทุกวันมีเรื่องการต่อสู้ของชุมชนซ่อนอยู่ อย่างสนามที่วัดโมลีโลกยาราม ความหมายของมันไปไกลกว่าแค่เป็นสนามกีฬาชุมชนแล้ว คนในชุมชนทำสนามฟุตบอลที่อยู่ใต้สะพานขึ้นมาเพื่อยืนยันให้เห็นถึงการมีอยู่ของชุมชนเพราะชุมชนกำลังจะโดนไล่รื้อ
เมฆ : เราเลยอยากให้มีสักหนึ่งอีเว้นท์ที่เป็นตัวล่อให้คนเข้ามาเจอ ให้มารู้ว่าที่นี่มีประวัติศาสตร์และการต่อสู้อยู่ สนามเหล่านี้มันเจ๋งมากนะ แต่มันน่าจะเจ๋งกว่านี้ถ้าไม่ต้องใช้ไฟของบ้านคุณป้าคนนี้ อย่างบางสนามเขาต้องต่อไฟกันเอง ป้าจะเสียเงินค่าไฟให้ทุกเดือน เราว่าถ้ามันถูกจัดการให้ดีมันสามารถทำได้ มันมีพื้นที่อยู่แล้วขาดแค่การพัฒนาต่อ เพราะอย่างนี้ทุกคนในยังธนถึงรู้สึกอินกับมันแม้จะไม่เคยเตะหรือดูบอล
ขอพักเรื่องจริงจังไว้สักครู่ แล้วมีสนามไหนไหมที่คุณรู้สึกว่า ‘เฮ้ยสนามนี้เจ๋งว่ะ’
เมฆ : เอาจริงๆ ก็เจ๋งทุกสนามนะ แต่รู้ไหมว่าสนามฟุตซอลที่ชุมชนมัสยิดสวนพลูมีสโมสรแมนเชสเตอร์ซิตี้มาทำสนามให้นะ เรื่องนี้เป็นสิ่งที่เราเจอแล้วว้าวมาก
(สโมสรแมนเชสเตอร์ซิตี้ได้มีการจัดตั้งโครงการ ‘Cityzens Giving’ เพื่อสนับสนุนให้มีการเล่นฟุตบอลทั่วทุกมุมโลกโดยเปิดโอกาสให้องค์กรต่างๆ ส่งโครงการเข้ามานำเสนอเพื่อรับเงินทุนมาใช้ในการปรับปรุงสนามฟุตบอลชุมชน ซึ่งกรุงเทพมหานครเป็น 1 ใน 6 เมืองทั่วโลกที่ผ่านการคัดเลือกจากโครงการ Not Just For Kicks – Bangkok โดยมูลนิธิ Right To Play Thailand ที่ชูประเด็น ‘สนามฟุตบอลไม่ใช่แค่พื้นที่เตะบอล’)
พูดถึงเรื่องสนามไปแล้วถ้าจะไม่พูดถึงเหล่านักเตะตัวน้อยก็คงไม่ได้ ว่าแต่คุณไปเจอพวกเขาได้ยังไง
เมฆ : เราประสานกับผู้นำชุมชนและเดินไปตามโรงเรียนเลย ทำมาหมดแล้ว ทั้งประกาศหน้าเสาธงเอย ไปหาครูพละเอย ตอนแรกเราตั้งใจเลยว่าจะไม่เปิดรับสมัครทางออนไลน์เพราะอยากได้เด็กที่อยู่ในพื้นที่ แต่ในความเป็นจริงมันประสานกันยากมาก จนสุดท้ายมันใกล้เดดไลน์ที่เราตั้งไว้เลยตัดสินใจลงออนไลน์ด้วยแล้วกัน ปรากฏว่าลงวันเดียวเด็กสมัครเข้ามาเกือบเต็ม พวกเราคือช็อกไปเลย
เมฆ : มีหนึ่งเรื่องที่พีคมาก หลังจากที่เราลงประกาศรับสมัครทีมฟุตบอลเยาวชนก็มีลูกเพจของเราที่เป็นเด็กม.6 อินบ็อกซ์เข้ามาขอเป็นกรรมการ เพราะเขาเล่นฟุตบอลไม่เก่ง เราก็เลยนัดน้องมาประชุม ปรากฏว่าน้องเตรียมตัวมาดีมาก ใบเหลือง ใบแดง เตรียมมาหมด จุดนั้นทำให้เรารู้เลยว่าเราไม่ควรมองข้ามออนไลน์ (หัวเราะ)
แววตาของคุณเต็มไปด้วยประกายแห่งความหวังตลอดเวลาที่พูดถึงเหล่านักเตะตัวน้อย ขอถามได้ไหมว่าลึกๆ แล้วแอบคาดหวังอะไรจากพวกเขาหรือเปล่า
เมฆ : เราหวังไว้เยอะมากแต่ไม่ได้เป็นไปตามที่หวังเท่าไหร่ หวังถึงขั้นที่ว่ารอบหน้าจะให้พวกเขาเป็นคนจัดการกันเอง อย่างปีแรกเราได้ตัวแทนเด็กๆ จากทั้ง 5 ชุมชนมาแล้ว เด็กกลุ่มนี้ก็จะมาประชุมกับเราต่อ พอปีที่ 2 ก็ให้พวกเขาเป็นคนจัด จาก 5 ชุมชนก็จะขยายเป็น 10 ชุมชน ทำอย่างนี้ต่อไปเรื่อยๆ จนเกิดเป็นเครือข่ายที่เด็กๆ สามารถทำงานด้วยกันเองได้โดยมีเงินสนับสนุนจากผู้ใหญ่ใจดี เราหวังถึงขั้นอยากให้มีสโมสรที่เด็กบริหารกันเอง ส่วนสนามซ้อมก็ใช้สนามชุมชนที่ผ่านการปรับปรุงแล้ว อันนี้คือสิ่งที่เราตั้งใจไว้แต่ในความเป็นจริงคิดว่าน้องคงจะทำได้ยากเพราะขนาดเรายังยากเลย ก็คิดว่ายังธนคงต้องช่วยพยุงไปก่อน
มีเหตุผลอะไรไหมที่ทำให้คุณเชื่อในพลังของ ‘เด็กรุ่นใหม่(กว่าคุณ)’ มากขนาดนี้
เมฆ : เพราะเชื่อแหละครับ อาจเป็นเพราะเราเองเคยได้รับความเชื่อมาก่อน พี่ๆ ทุกคนเปิดโอกาสให้เราได้ลองทำงานที่เราคิดว่าเราทำไม่ได้แน่ๆ ถ้าเราทำพลาดเขาก็ช่วยตบกลับมา ความสำเร็จเล็กๆ ในวันนั้นมันเกิดเป็นความภูมิใจ เราเลยอยากส่งต่อความเชื่อให้น้องๆ ขนาดเรายังเคยทำได้เลย น้องๆ เองก็ทำได้เหมือนกัน เราว่าถ้าเขารู้ตัวเร็วมันจะกลายเป็นต้นทุนที่ดีที่ทำให้เขากล้าได้เร็วขึ้น ฉะนั้นเราควรจะต้องเชื่อก่อน
พูดถึงเรื่องคนรุ่นใหม่ ในขณะที่คนรุ่นเดียวกันกับคุณเลือกที่จะ ‘บินออกไป’ จากบ้านแต่ทำไมคุณถึงเลือกที่จะ‘บินกลับมา’
เมฆ : จริงๆ บินไปก่อนก็ดีเพราะเราเองก็เริ่มจากการบินไปก่อนเหมือนกัน เราอยากผจญภัย อยากเดินทาง อยากออกแบบอะไรสักอย่างแล้วเกิดผลลัพธ์ออกมา แค่นั้นเรามีความสุขแล้ว จนเวลาผ่านไปช่วงหนึ่งเรากลับมารู้สึกว่าบ้านเราก็มีอะไรน่าสนใจ เราไปพัฒนาที่นู่นที่นี่ตั้งเยอะแต่เพิ่งมาค้นพบว่าพื้นที่ที่ท้าทายที่สุดจริงๆ แล้วอาจจะเป็นพื้นที่บ้านของตัวเองก็ได้ มันกลายเป็นความอยากที่อยากจะกลับมาพัฒนาและโอกาสที่จะทำเองก็มีเหมือนกัน”
แล้วความท้าทายในการกลับมาพัฒนาบ้านของตัวเองที่ว่าคืออะไร
เมฆ : เราไม่รู้ว่าสิ่งนี้เรียกว่าความท้าทายได้หรือเปล่านะ แต่มันกลายเป็นว่าเราไม่รู้อะไรเกี่ยวกับบ้านตัวเองเลย เราไม่เคยรีเสิร์ชฝั่งธนทั้งๆ ที่เราเห็นพื้นที่นี้มาตั้งแต่เด็กๆ แต่พอเราเริ่มจะรู้อะไร เรากลับรู้อะไรเยอะกว่าที่คาดไว้ ตอนนี้ตลาดพลูในความทรงจำของเราไม่ใช่แค่อาหารอร่อยอีกแล้ว แต่เป็นพื้นที่ที่มีศาลเจ้าและสถาปัตยกรรมสวยๆ เต็มไปหมดเลย การรู้เรื่องบ้านของตัวเองทำให้เราสนุกกับการใช้ชีวิตมากขึ้น
อย่างที่เรารู้กันดี การทำงานเพื่อสังคมในบ้านเราไม่สามารถตอบโจทย์เรื่องเงินแถมต้องเสียสละทั้งแรงกายและเวลาอย่างมหาศาล แล้วสำหรับคุณการลุกขึ้นมาทำงานตรงนี้ตอบโจทย์เรื่องอะไร
เมฆ : ถ้าพูดตรงๆ เลยนะ เราเองก็หวังเรื่องเงินเหมือนกันครับ (หัวเราะ)
เมฆ : เราอยากจะให้เงินเป็นของกลาง ทุกคนได้มาทำงานที่สร้างอิมแพ็คให้กับสังคม ในขณะเดียวกันก็มีเงินกลับไปให้พ่อแม่ อันนี้คือสิ่งที่เราตั้งใจไว้ แต่สิ่งที่มันยืนพื้นอยู่แล้วคือเราได้ทำในสิ่งที่อยากทำ มันไม่ใช่แค่ฝันอีกต่อไปแล้ว แน่นอนว่าในแง่ของตัวเลขตอนนี้มันยังขาดทุนแต่ยังไงเราก็เชื่อว่าเดี๋ยวมันก็จะรีเทิร์น จะมีประโยชน์เข้ามาที่ชุมชน เพราะทุกวันนี้เรารู้ว่างานที่เราทำมีคนให้ค่ามัน มีคนให้ความสนใจ เราเลยเชื่อว่าถ้าเขาอยากจะให้มันเกิดขึ้นต่อไป ไม่ว่าทางใดก็ทางหนึ่งเขาน่าจะสนับสนุนเรา ก็มองว่ายังได้อยู่ ได้อยู่เยอะแหละ
ในฐานะหนึ่งในสมาชิกผู้ก่อตั้งกลุ่มยังธน คุณอยากจะเห็นกลุ่มยังธนอยู่ในส่วนไหนของฝั่งธน
เมฆ : เราอยากอยู่ในทุกส่วนของฝั่งธนฯ หรือไม่ก็เป็นแค่เสียงหนึ่งของคนในฝั่งธนก็ได้ เรามองว่ายังธนเป็นเหมือนกระบอกเสียงของคนฝั่งธนในแต่ละยุคสมัย ยุคสมัยนี้มันอาจจะเป็นแบบนี้ โก๊ะๆ บ้าๆ หน่อย ทำอะไรมุทะลุหน่อย (หัวเราะ) ไม่แน่มันอาจจะมียังธนรุ่น -1 ด้วยก็ได้ เพราะเราเคยเห็นลุงคนนึงแกใส่เสื้อยืดแล้วมีคำว่าอะไรธนๆ สักอย่างแต่มันมีความหมายเดียวกันกับยังธนเลย เราว่าจริงๆ แล้วยังธนอาจจะเป็นแค่คำกลาง ความเป็นยังธน ความเป็นเป็นคนธน มันอยู่ในสายเลือดของคนฝั่งธนมาตลอดอยู่แล้ว แค่มันจะถูกเรียกว่าอะไรแค่นั้นเอง
งั้นสุดท้ายนี้ในฐานะกระบอกเสียงของคนฝั่งธนฯ มีอะไรอยากจะฝากบอกคนฝั่งธนฯ หรือเปล่า
เมฆ : ไม่ได้อยากบอกแต่อยากฟังมากกว่า ยังธนอยากจะฟังว่าคนฝั่งธนคิดยังไงกับฝั่งธน
อ้างอิง :