#มหาลัยมีไว้ทำไม ว่าด้วยเรื่องบทบาท'มหาลัย' ในการเคลื่อนไหวของนักศึกษา - Decode
Reading Time: 3 minutes

กรกฏาคม 2563 

ณ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม กลุ่มแนวร่วมนิสิตมมส.เพื่อประชาธิปไตย ชุมนุมท่ามกลางความมืด และเริ่มปราศัยด้วยการตอบโต้อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาสารคาม กรณีออกแถลงการณ์เรื่องการใช้พื้นที่ภายในมหาวิทยาลัยมหาสารคาม โดยอ้างว่ามีความเป็นห่วงในเรื่องของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่งโดยสรุปเนื้อความที่แถลงการณ์ทางสถาบันไม่อนุญาตให้มีการชุมนุม

ณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ออกประกาศงดใช้พื้นที่ในการจัดกิจกรรมชุมนุม ภายในมหาวิทยาลัยทั้ง 5 วิทยาเขตเพื่อเป็นการป้องกันการระบาดของโรคโควิด-19 และเป็นไปตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินที่ยังคงบังคับใช้ ก่อนหน้าเพียง 1 วันที่จะจัดกิจกรรม ‘หมุดหมายประชาธิปไตย ร่วมแฟลชม็อบไล่เผด็จการไปด้วยกัน’ ของนักศึกษา

สองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นพร้อมกันภายใน 1 วัน ยังไม่นับรวมข่าวนักเรียน นักศึกษา ถูกผู้มีอำนาจในสถานศึกษาเข้าคุกคามตามที่ปรากฏให้เห็นในหน้าไทม์ไลน์เฟซบุ๊กอย่างไม่ขาดสาย ชวนให้เราเกิดคำถามขึ้นมาในใจว่า ในห้วงยามที่นักเรียนนักศึกษากำลังออกมาเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลง หน้าที่ของสถานศึกษา นอกจากเป็นสถาบันแห่งความรู้ยังคงมีหน้าที่อื่นอีกหรือไม่ 

Decode จึงขอชวน รศ. ดร. ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี อาจารย์ประจำวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มาร่วมถอดรหัสหน้าที่ของมหาวิทยาลัยในวันที่นักศึกษาลุกมาเคลื่อนไหว โดยเริ่มต้นตั้งแต่การวิเคราะห์ตัวละครนักศึกษาในขบวนการที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งความคิดตั้งต้นและการสื่อสารที่เลือกใช้ ไปจนถึงร่วมมองหาแนวทางที่มหาวิทยาลัยควรทำเพื่อรักษาไว้ซึ่งสิทธิและเสรีภาพอย่างแท้จริง 

เพื่อให้ห้องเรียนกลายเป็นพื้นที่ที่ไปไกลกว่าแค่ 
สถานที่ที่อาจารย์มีไว้ค่อนขอดนักศึกษาว่า “ไปประท้วงมาเหรอ”
หรือ สถานที่ที่นักศึกษาถามอาจารย์กลับไปว่า “แล้วเป็นสลิ่มหรือเปล่า”  

สิ่งที่เปลี่ยนไปในขบวนการเคลื่อนไหวของนักเรียนนักศึกษา ver.2020

ก่อนอื่นสิ่งที่เราต้องย้ำเสมอเวลาเราพูดถึงขบวนการการเคลื่อนไหวของนักศึกษา คือสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นนี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาอย่างยาวนานและต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นตอนนี้ หรือเมื่อสัก 10 ปีที่แล้ว กระแสการตั้งคำถามต่อโครงสร้างอำนาจที่มันเกิดขึ้นของคนรุ่นใหม่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา แต่สำหรับรอบนี้เราอาจจะเห็นสิ่งใหม่ๆ เกิดขึ้นด้วยเทคโนโลยีและกระบวนการสื่อสารที่เปลี่ยนแปลงไป 

ถ้าย้อนกลับไปเมื่อสัก 10 ปีที่แล้ว การสื่อสารของม็อบในวันนั้นยังคงเป็นการสื่อสารผ่านทีวีดาวเทียม มีการไรท์ซีดีปราศรัยแจกตามบ้าน แต่ว่าตอนนี้มันไม่ได้เป็นแบบนั้นอีกแล้ว ทุกอย่างมันเรียลไทม์ไปหมด คุณไม่จำเป็นต้องให้สื่อกระแสหลักเอาไมค์มาจ่อปากคุณ ทุกคนต่างมีช่องทางการสื่อสารของตัวเอง อย่างกรณีม็อบ #อีสานสิบ่ทน ที่จัดขึ้นที่จังหวัดมหาสารคาม เพียงแค่คุณมีช่องทางไลฟ์ของคุณเอง คนก็มาตามดูคุณได้เป็นหลักหมื่น หลักแสนคน ซึ่งมากกว่ายอดคนดูทีวีดิจิตอลบางช่องเสียอีก 

และอีกอย่างที่น่าสนใจคือเรื่องของประเด็นปราศรัย  เรามักจะบอกกันว่าเด็กรุ่นใหม่เป็นพวกฟังไม่เป็น เพราะอยู่กับแค่โซเชียลมีเดีย แต่จริงๆ แล้วสิ่งที่ผมได้สัมผัสกับเด็กรุ่นนี้ ผมคิดว่าพวกเขามีความสามารถในการฟัง วิเคราะห์ และถ่ายทอดออกมาได้ดีกว่านักศึกษาเมื่อ 5 ถึง 10 ปีที่แล้ว 

ถ้าให้ผมตั้งข้อสังเกตอาจเป็นไปได้ว่า พวกเขาเติบโตมาในยุคไฮเปอร์เท็กซ์ (hypertext) ในแต่ละวันของเขาต้องรับข้อมูลมหาศาล มีแฮชแท็ก มีโพสต์ ที่ผ่านหูผ่านตาอยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นเขาจึงมีความสามารถในการวิเคราะห์และประมวลผลได้เยอะโดยธรรมชาติของเขาเอง สังเกตได้เลยว่าเวลาเด็กยุคนี้ขึ้นมาปราศรัยใช้เวลาพูดแค่ 5-7 นาทีเท่านั้น แต่สามารถสื่อสารออกมาได้อย่างตรงประเด็น กระชับ และ ฟังง่าย ซึ่งแตกต่างจากม็อบสมัยก่อนที่ดาวปราศรัยจะต้องเป็นคนที่พูดได้เป็นชั่วโมง ผมคิดว่านี่คือสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปของขบวนการที่เกิดขึ้นอยู่ตอนนี้

สปอตไลต์ยิงตรง “ภูมิภาค” สั่นคลอนระบบอุปถัมภ์

ถ้าเป็นสักเมื่อ 5-7 ปีก่อน ภาพจำหนึ่งที่ชัดเสมอยามที่เราพูดถึงขบวนการเคลื่อนไหวของนักศึกษา คือภาพของนักศึกษารุ่นพี่ปี 3 ปี 4 ที่มีองค์กรสังกัด ผู้ลุกขึ้นมาเป็นแกนนำที่สามารถเกาะเกี่ยวกับผู้บริหาร โครงสร้างนโยบาย หรือไปจนถึงสามารถรวมมวลชนได้ ซึ่งภาคการเมืองต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายค้านหรือฝ่ายรัฐบาลก็จะติดต่อกับองค์กรเหล่านี้ แต่ภาพที่เราเห็นวันนี้กลับต่างออกไป คนที่ลุกขึ้นมาแอคทีฟในเรื่องนี้กลายเป็นนักศึกษาปี 1 ปี 2 หรือลงไปจนถึงชั้นมัธยม ซึ่งหลายคนก็ไม่ได้มีองค์กรที่ตัวเองสังกัดอย่างชัดเจน 

นอกจากนี้ ผมคิดว่าไม่ใช่แค่นักเคลื่อนไหวจากส่วนกลางที่ลดบทบาทลงแต่ตัวบทบาทของมหาวิทยาลัยหลักเองก็ลดบทบาทลงเช่นกัน จากเดิมที่ต้องเป็นแค่ที่ธรรมศาสตร์ ตอนนี้มันสามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่ สำหรับผมมองว่าเรื่องนี้ถือเป็นสัญญาณที่ดี เพราะนี่ถือเป็นการกระจายสปอตไลต์ให้ไปอยู่ในมหาวิทยาลัยภูมิภาคมากขึ้นและคุณต้องนึกภาพตามว่า มหาวิทยาลัยภูมิภาคถูกผูกติดกับระบบอุปถัมภ์ของอาจารย์และนักศึกษาอย่างเหนียวแน่น ฉันช่วยให้เธอได้รับทุนการศึกษา เธอเป็นหนี้บุญคุณฉัน การลุกขึ้นมาของนักศึกษาในครั้งนี้จึงถือว่าเป็นการท้าทายโครงสร้างระบบอุปถัมภ์พวกนี้ครั้งใหญ่ 

ไม่ใช่แค่ปัจจัยภายนอกแต่ปัจจัยภายในอย่างเรื่อง กระบวนการจัดตั้งในตัวเองของเด็กสมัยนี้ก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่น่าจับตามอง ถ้าย้อนกลับไปสมัยก่อนกว่าที่เราจะรู้สึกพร้อมในการลุกขึ้นมาพูดเรื่องใดเรื่องหนึ่งจำเป็นต้องใช้เวลาและการฝึกฝน แต่สำหรับนักเรียน นักศึกษารุ่นนี้ สิ่งเหล่านี้ไม่จำเป็น พวกเขาต่างเสพเรื่องนี้อยู่ทุกวันทุกคนต่างรู้ข้อมูลและเชื่อมโยงกันด้วยสิ่งที่เรียกว่าแฮชแท็ก (hashtag) ซึ่งนี่คือภาพสะท้อนของความเชื่อและความหวังในแบบเดียวกัน ไม่พอมันยังผ่านขั้นตอนการสังเคราะห์และถ่ายทอดผ่านการพูดคุย ยกตัวอย่างเช่น #ผนงรจตกม เด็กทุกคนรู้กันว่าแฮชแท็กนี้หมายถึงอะไร พวกเขาเชื่อมโยงความล้มเหลวของรัฐบาลและสะท้อนมันออกมาภายใต้แฮชแท็กนี้ ทุกคนต่างตระหนักถึงการที่รัฐบาลไม่สามารถตอบสนองประโยชน์ให้เขาได้

ในขณะเดียวกันแต่ละคนเองก็มีสกิลในการสื่อสารเพราะเขาต่างคุ้นเคยกับการสื่อสารในรูปแบบนี้ ไม่ว่าจะเป็นการไลฟ์สดผ่านเฟซบุ๊คหรืออินสตาแกรม การทวิตข้อมูลข่าวสารต่างๆ ฉะนั้นจึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจว่าทำไมเขาถึงกล้าที่จะตั้งคำถาม กล้าที่จะลุกขึ้นมาปราศรัย เพราะพวกเขาต่างมีกระบวนการจัดตั้งในตัวของเขาเอง ใช้เวลาเตรียมตัวไม่นาน ก็พร้อมที่จะออกไปได้เลย

ปิดไฟ ห้ามใช้สถานที่ : เมื่อ “มหาลัยเลือกที่จะอยู่เป็น

มหาวิทยาลัยเลือกที่จะปัดความรับผิดชอบและอยู่เป็น นี่คือสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น

หากเรามองไปยังโครงสร้างของรัฐบาลจะมีอยู่ 2 กลไกที่เขาใช้ในการปราบปรามประชาชน กลไกแรกคือการปราบปรามทางกายภาพ ได้แก่คุก ศาล ทหาร ตำรวจ 4 อย่างนี้คือ กลไกปกติทั่วไปที่ใช้กัน อีกหนึ่งกลไกคือ กลไกอุดมการณ์ ซึ่งโดยปกติก็จะเป็น บ้าน วัด โรงเรียน มหาวิทยาลัย และ กลไกทางวัฒนธรรมต่างๆ โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยก็จะมีหน้าที่ในการส่งเสริมโครงสร้างอุดมการณ์พวกนี้ ในภาวะปกติก็คือ ทำให้คนไม่ตั้งคำถามอะไร ตั้งใจเรียน จบไปทำงานรับใช้ระบบทุนนิยม 

แต่ในภาวะที่เป็นอยู่ตอนนี้ กลไกทางอุดมการณ์พวกนี้มันอยู่ภายใต้การใช้งานของรัฐที่มีลักษณะอำนาจนิยม มันก็เลยทำให้การบังคับใช้กลไกนี้ยิ่งแข็งขันขึ้น เราอย่าลืมว่าระบอบประยุทธ์ จันทร์โอชา อยู่กับเรามาป็นเวลากว่า 7 ปี ถ้าลองคิดย้อนกลับไปในช่วงเวลานี้ต้องมีการเปลี่ยนอธิการบดีไปแล้วอย่างน้อย 2 คน เพราะฉะนั้นคนเหล่านี้ก็เกี่ยวพัน กับระบอบอำนาจนิยม ไม่โดยตรงก็โดยอ้อม เพราะเขาต้องอยู่เป็นภายใต้ระบอบนี้

เมื่อเป็นอย่างนี้จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ หากเราจะเห็นมหาวิทยาลัยบางแห่งออกจดหมายมาเพื่อไม่ให้มีการชุมนุม แต่ในขณะเดียวกันเมื่อเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องข้องกับชีวิตและปากท้องของนักศึกษา อย่างเรื่องลดหรือคืนค่าเทอม เราก็จะเห็นว่าผู้บริหารมหาวิทยาลัยก็ไม่ได้จริงจังกับเรื่องนี้ มีคำอธิบายออกมาเยอะแยะมากมายว่าทำไมถึงลดไม่ได้ เพราะเดี๋ยวมหาวิทยาลัยจะเจ๊ง แต่ก็น่าแปลกที่เมื่อเป็นเรื่องนี้กลับขยับตัวอย่างรวดเร็ว ซึ่งทั้งหมดนี้มันแสดงให้เห็นถึงความ 2 มาตรฐาน ที่ผ่านมามหาวิทยาลัยหลายแห่งพูดมาโดยตลอดว่าตนมีหน้าที่ในการให้บริการชุมชน แต่พอถึงเวลาจริงๆ มหาวิทยาลัยที่เคยโฆษณาว่าทำงานวิจัยรับใช้ชุมชน กลับบอกว่าอันนี้ไม่ใช่เรื่องของฉัน ทั้งๆ ที่เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับประชาชนโดยตรง ผมมองว่าอันนี้มันตลก

เพราะถ้าเราคิดง่ายๆ เลยว่ามหาวิทยาลัยคือพื้นที่สาธารณะ เมื่อที่แห่งนี้เป็นพื้นที่สาธารณะก็ต้องเปิดให้ผู้คนที่ลุกขึ้นมาทำกิจกรรมภายใต้เงื่อนไขของรัฐธรรมนูญสามารถเข้ามาใช้ได้ แต่ที่ผ่านมาตั้งแต่มีปรากฏการณ์มหาวิทยาลัยออกนอกระบบ ทางมหาวิทยาลัยก็มักจะออกมาอ้างว่าจำเป็นต้องมีการขอใช้พื้นที่ไม่ต่างจากมหาวิทยาลัยเอกชน ซึ่งจริงๆ แล้วอันนี้เป็นข้ออ้างที่ตลก ฉะนั้นผมคิดว่านักศึกษาต้องยืนยันว่ามหาวิทยาลัยเป็นพื้นที่สาธารณะและเรื่องนี้ถือเป็นพันธกิจของมหาวิทยาลัยและเป็นความชอบธรรมของนักศึกษาและผู้ประท้วงที่สามารถใช้พื้นที่ได้  

บทบาทมหาวิทยาลัยในการเคลื่อนไหวของนักศึกษา 

สำหรับเรื่องนี้ถ้าเป็นในแง่รูปธรรม ผมคิดว่ามหาวิทยาลัยต้องยืนยันในการให้ใช้พื้นที่และอาจมีการกำหนดกรอบต่างๆ ให้ชัดเจน ผมเชื่อว่าถ้ามีการสื่อสารกันเรื่องนี้จะไม่ใช่ปัญหาอะไร แต่ทุกวันนี้สิ่งที่เราเห็นคือการที่มหาวิทยาลัยเลือกที่จะปิดประตูและโยนความเสี่ยงให้ไปอยู่กับผู้ชุมนุม ซึ่งมันทำแบบนี้ไม่ได้ 

มหาวิทยาลัยจำเป็นที่จะต้องเปิดพื้นที่และทำความเข้าใจกับทุกฝ่าย โดยเฉพาะกับกลุ่มอาจารย์ผู้สอน ว่านี่เป็นยุคสมัยของการเปลี่ยนแปลง ถ้าเราปิดกั้นมันจะไม่เกิดการสนทนา เมื่อไม่มีการสนทนาก็ย่อมไปไม่ถึงการแลกเปลี่ยนความคิด เราจำเป็นต้องเปิดให้มีการแลกเปลี่ยนกันในส่วนนี้ ตัวครูอาจารย์เองก็ต้องเปิดกว้าง รับฟังความคิดเห็นของนักศึกษา คุณไม่สามารถมาบอกให้เขาเชื่อโดยไม่ตั้งคำถามได้อีกต่อไปแล้ว ผมว่านี่ก็เป็นอีกเรื่องที่มหาวิทยาลัยจำเป็นต้องเทรนให้อาจารย์ผู้สอนและบุคลากรเข้าใจเรื่องนี้ตรงกัน 

โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยภูมิภาค คุณจำเป็นอย่างมากเลยนะที่ต้องมาทำความเข้าใจในเรื่องนี้  เราต้องยอมรับความจริงว่านักศึกษารุ่นนี้ต้องแบกภาระทางเศรษฐกิจที่หนักอึ้ง มีเด็กหลายคนเสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษา ซึ่งด้านหนึ่งมันก็เกิดมาจากการบริหารงานที่ล้มเหลวของรัฐบาล ผมขอยกตัวอย่างนักศึกษาเคสหนึ่งในจังหวัดอุบลราชธานี จากบทความของเว็บไซต์ The Isaan Record ก่อนโควิดเขาเคยทำงานร้านอาหาร มีรายได้ 8000-9000 บาทต่อเดือน พอโควิดมางานก็หายไปเลย 3 เดือน บางคนก็บอกว่างั้นไปขับฟู้ดเดลิเวอรีสิ แต่อย่าลืมว่าธุรกิจแพลตฟอร์มพวกนี้มันผลักความเสี่ยงไปให้ผู้ทำงานหมดเลย เด็กต้องทำงานหนักขึ้น เสี่ยงขึ้น เพื่อหาเงินให้ได้เท่าเดิมหรืออาจจะน้อยกว่าเดิม ทั้งหมดนี้เป็นความเสี่ยงตลอด 3 เดือนที่ผ่านมาที่เด็กกำลังแบกรับ 

มหาวิทยาลัยควรจะต้องมาทำความเข้าใจเรื่องพวกนี้ ต้องมาทำความเข้าใจว่าทำไมเด็กถึงโกรธ เขาโกรธเพราะเรื่องที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันของพวกเขา เขาโกรธที่มหาวิทยาลัยยังคงเก็บค่าเทอมอย่างต่อเนื่อง โกรธที่พ่อแม่ของเขาตกงานและไม่มีรายได้เพื่อมาจุนเจือครอบครัว โกรธที่เขาต้องมาขับเดลิเวอรี่ตั้งแต่ 8 โมงเช้า ถึง สี่ทุ่ม นี่คือความโกรธง่ายๆ ของเขา ไม่ใช่เพราะเขาไปอ่านทฤษฎีวิจิตรพิสดารอะไรเลย 

ส่วนในแง่นามธรรม ผมคิดว่ามหาวิทยาลัยมีหน้าที่สำคัญในการ empower ให้คนสามารถที่จะตั้งคำถามได้ เรามักจะสอนเขาว่าให้เป็นเด็กซื่อสัตย์ พยายามทำงานในสิ่งที่มันมีคุณค่า ให้เด็กเสียสละเพื่อคนอื่น แต่พอเราสอนเขาเสร็จหมดแล้ว ในคาบสุดท้ายเรากลับทิ้งท้ายไว้ว่า นี่คือคำอธิบายทางทฤษฎีโลกความจริงมันโหดร้าย คุณเอาเรื่องนี้ไปใช้ไม่ได้หรอก ซึ่งนี่เป็นธรรมเนียมที่เลวร้ายมาก สาเหตุที่การศึกษามันสามารถนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้ เพราะนอกจากจะให้ความรู้มันยังให้ความหวัง ให้ความหวังว่าเมื่อจบไปเขาสามารถสร้างสังคมที่ดีกว่าได้ เขาเรียนแพทย์ เขาก็หวังว่าอยากทำให้ความเสมอภาคทางสาธารณสุขดีขึ้น เขาเรียนวิศวกรรมศาสตร์ เขาก็คงอยากให้มีระบบขนส่งสาธารณะที่ทุกคนใช้ได้ 

เพราะฉะนั้นสิ่งที่มหาวิทยาลัยหรือโรงเรียนควรทำ ถ้ายังอยากรักษาให้สังคมยังคงอยู่และไม่พังพินาศไปเสียก่อน เราต้องให้เด็กเหยียบเราขึ้นไป ให้เขาเหยียบจากความผิดพลาดและความล้มเหลวที่เราไม่แก้ไข ทำให้เขามีความหวังในการที่จะสร้างอะไรที่มันดีให้แก่สังคมและโลกใบนี้ ผมคิดว่านี่น่าจะเป็นหัวใจสำคัญที่สถาบันการศึกษาทำได้ 

สุดท้ายแล้ว “มหาลัยเลือกได้และได้เลือกแล้ว

ผมขอยกตัวอย่างสารคดีเรื่องหนึ่ง The Accountant of Auschwitz ตัวเอกในเรื่องเป็นนักบัญชีในค่ายกักกันของนาซี เวลาก็ล่วงเลยผ่านมาจนนักบัญชีคนนี้อายุ 90 ปี ซึ่ง ณ ขณะนั้นประเทศเยอรมันได้มีการเปลี่ยนกฎหมายโดยมีเนื้อหาประมาณว่า การสนับสนุนนาซีถือว่า เป็นความผิด นักบัญชีคนนี้เลยต้องถูกขึ้นศาลเพื่อพิพากษาว่าตกลงแล้วเขาที่ทำงานอยู่ในค่ายนี้มีความผิดไหม ซึ่งสุดท้ายศาลเยอรมันก็ตัดสินว่านักบัญชีคนนี้ผิดจริง 

ด้วยเหตุผลที่ว่าไม่ได้มีใครบังคับคุณ การที่คุณมาทำงานให้กับนาซีได้แปลว่าคุณเองก็ต้องเคยเป็นยุวชนนาซีมาก่อน คุณถึงจะได้บรรจุทำงานในกองทัพนาซี และการที่คุณจะเข้าไปอยู่ในค่ายระดับนี้ แปลว่าคุณต้องสมัครไป ถ้าสมัครไปแปลว่าคุณตั้งใจและเลือกที่จะทำเรื่องนี้ เพราะว่าคุณได้ประโยชน์จากอำนาจ คุณอยากได้เลื่อนตำแหน่ง อยากได้เหรียญตรา คุณถึงไปทำ ศาลเยอรมันบอกว่าแม้ว่าจะเป็นระบอบนาซีแต่ไม่เคยมีทหารคนไหนที่เคยโดนลงโทษรุนแรงถึงชีวิตในการปฏิเสธที่จะฆ่าคนยิวเลย ไม่มี ไม่มีจริงๆ

มันก็อ้างอิงกลับมาถึงผู้บริหารในสถานศึกษาต่างๆ ผมบอกเลยว่าไม่มีใครบังคับให้คุณต้องออกจดหมายพวกนี้ คุณทำเพราะคุณอยากเจริญก้าวหน้าในอาชีพ คุณไม่ทำ ก็ไม่มีใครว่าอะไรคุณ อย่างมากคุณก็โดนตักเตือน หรือมากที่สุด คุณโดนไม่ขึ้นเงินเดือน แต่คุณเลือกแล้วที่จะทำแบบนี้ นี่เป็นข้ออ้างของคุณ เพราะคุณได้ประโยชน์จากมัน และคุณออกมาแก้ต่างว่าคุณทำตามหน้าที่ซึ่งจริงๆ แล้วมันไม่ใช่

ผมจึงอยากชวนบุคลากรในสถานศึกษาทุกคนกลับมาตั้งคำถาม ผมคิดว่าบุคลากรส่วนมากไม่ได้เห็นด้วยกับสิ่งที่เกิดขึ้นและผมเชื่อว่าเกินครึ่งกำลังเอาใจช่วยเด็กๆ อันนี้ไม่ได้มองในแง่ดีแบบเพ้อเจ้อด้วยนะ เราเห็นครูรุ่นใหม่หรือแม้แต่ครูรุ่นเก่าหลายคนกำลังรู้สึกว่าตอนนี้คือช่วงเวลาแห่งความหวัง ฉะนั้นสิ่งหนึ่งที่ผมคิดว่าเป็นความคิดที่พวกเราควรเอาออกไป คือมันไม่มีหรอกที่บอกว่า ถ้าคุณไม่รับใช้เผด็จการแล้วคุณจะตาย อันนี้ถือเป็นคำแก้ตัวของเราเอง นี่คือข้อความที่ผมอยากจะฝากทิ้งท้ายไว้