‘ไรเดอร์’ สองล้อที่บิดเบี้ยวของอาชีพแห่งอนาคต - Decode
Reading Time: 3 minutes

‘รายได้ดี มีอิสระ ออกแบบการทำงานได้ด้วยตัวคุณเอง’ คือ 3 คียเวิร์ดหลักของอาชีพที่มาแรงที่สุดแห่งยุค New normal อย่างอาชีพ ‘ไรเดอร์’ หรือ พนักงานรับส่งสินค้าด้วยรถจักรยานยนต์ จากจุดเริ่มต้นที่ใครหลายคนใช้เป็นอาชีพเสริมเพื่อหารายได้พิเศษ มาวันนี้ด้วยพิษเศรษฐกิจที่ไม่มีทีท่าว่าจะดีขึ้น ซ้ำเติมไปด้วยการเข้ามาของโควิดดิสรัปชั่น ส่งผลให้อาชีพไรเดอร์กลายมาเป็นอาชีพหลักของแรงงานยุค 2020 

ถึงแม้ในปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลจำนวนไรเดอร์ที่แน่ชัด แต่จากยอดสั่งซื้ออาหารที่เติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดดในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 อาทิ ในเดือนมีนาคมและเมษายน  ‘ไลน์แมน’ (LINE MAN) มียอดการสั่งอาหารสูงขึ้นถึง 300% ในส่วนของ ‘ฟู้ด แพนด้า’ (FOOD PANDA) เอง ก็มียอดสั่งอาหารเติบโตขึ้น 60% ในช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมาเช่นกัน ในขณะที่ ‘แกร็บ’ (GRAB) มียอดการเติบโตพุ่งไปถึง 400% หลังจากการออกมาตรการให้คนอยู่บ้าน ทั้งหมดที่ว่ามาล้วนเป็นเครื่องพิสูจน์ชั้นดีถึงกระแสนิยมของอาชีพนี้

ดูๆ ไปแล้วอาชีพไรเดอร์ก็ฟังดูดีสมกับฉายาอาชีพแห่งอนาคต แต่เราก็อดไม่ได้ที่จะเกิดคำถามขึ้นมาว่า ความเป็นจริงที่เกิดขึ้นกับเหล่าไรเดอร์นั้นเป็นไปตามที่บอกไว้ข้างต้นจริงหรือ เพราะถ้าหากเป็นเช่นนั้นจริง ทำไมเราถึงยังเห็นเหล่าไรเดอร์ออกมารวมตัวประท้วงถึงค่ารอบที่ไม่เป็นธรรม หรือการออกมาระบายความในใจเนื่องจากโดนยกเลิกสินค้ากลางคัน ยังไม่นับเรื่องราวการถูกเลือกปฏิบัติจากร้านค้าต่างๆ ที่เห็นได้บ่อยครั้งตามโซเชียลมีเดีย 

เรื่องราวพวกนี้ยิ่งตอกย้ำถึงความจริงคนละม้วน แท้จริงแล้วเส้นทางชีวิตของอาชีพไรเดอร์เป็นอย่างไรกันคือสิ่งที่เราสงสัย จะสวยงามหรือบิดเบี้ยวเส้นทางพวกนี้จำเป็นต้องถูกถอดรหัสออกมาให้ทุกคนได้รับรู้

Route 1 : สุขภาพที่บิดเบี้ยว

“ผมเคยขับนานที่สุด 48 ชั่วโมงโดยไม่นอน เพราะตอนนั้นต้องการใช้เงิน” 

คือคำบอกเล่าแรกจาก บอย-พรเทพ ชัชวาลอมรกุล ไรเดอร์ประสบการณ์ 4 ปีที่ครั้งหนึ่งเคยวาดฝันว่าอาชีพไรเดอร์จะเป็นอนาคตใหม่ของเขา บอยเริ่มต้นเส้นทางอาชีพไรเดอร์จากการขับหลังเลิกงานเพื่อเป็นรายได้เสริม แต่หลังจากที่ประเมินแล้วว่าการเป็นไรเดอร์ให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่าแถมยังมีอิสระมากกว่าการทำงานประจำอย่างการเป็นพนักงานส่งเอกสาร เขาจึงตัดสินใจลาออกและผันตัวมาเป็นไรเดอร์อย่างเต็มตัว

“ผมขับทุกวัน ไม่มีวันหยุด ปกติจะออกจากบ้านตั้งแต่ประมาณตี 5 ครึ่ง แล้วก็เปิดแอปฯ ขับมาเรื่อยๆ จนถึงประมาณ 2 ทุ่มแล้วค่อยกลับเข้าบ้าน นอนสักสามสี่ชั่วโมง ตื่นมาอาบน้ำ แล้วออกมาใหม่”

ไรเดอร์วัย 43 ปีคนนี้เล่าให้ฟังถึงชีวิตประจำวันว่าเป็นเวลาเกือบ 15 ชั่วโมงที่เขาต้องใช้ชีวิตอยู่บนท้องถนนที่เป็นเสมือนสถานที่ทำงานและบ้านหลังที่ 2 เนื่องจากรายได้จากการทำงานไรเดอร์เป็นรายได้ที่ได้รับวันต่อวัน วันไหนคุณทำงานคุณได้เงิน เมื่อไหร่ที่หยุดพักเท่ากับวันนั้นคุณขาดรายได้ ฉะนั้นต่อให้ความเจ็บปวดจากเอวจะร้าวไปถึงกลางหลัง แต่ถ้าเปิดกระเป๋าออกมาแล้วไม่มีเงินน่ะสิดูท่าจะเจ็บปวดมากกว่า นี่เลยเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้ไรเดอร์ต้องทำงานหามรุ่งหามค่ำโดยไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ไม่รู้จักแม้กระทั่งเวลาพักเที่ยง 

“ไรเดอร์ส่วนใหญ่ไม่ได้พักกินข้าวเที่ยงหรอกครับ เราจะได้กินก็ต่อเมื่อต้องรอคิวนานๆ ก็ไปหาซื้อข้าวร้านข้างๆ กินฆ่าเวลาเอา หรือแบบผมก็จะซื้อข้าวเหนียวไก่ทอดข้างทางแขวนไว้หน้ารถแล้วกินบนนั้นเลย เพราะช่วงเวลาเที่ยงถือเป็นช่วงนาทีทองของเรา เนื่องจากตรงกับช่วงเวลาที่พนักงานออฟฟิศจะพักกัน ซึ่งช่วงเวลานั้นจะได้ค่าเงินพิเศษเยอะด้วย”

ในมุมหนึ่งอาจจะมองได้ว่านี่ถือเป็นเทคนิคในการหารายได้ของไรเดอร์ แต่หากลองมองกลับกันถือเป็นเรื่องน่าเศร้าใจไม่น้อย ที่การจะได้นั่งพักทานข้าวสักมื้อกลายเป็นเรื่องยากในการทำงานยุคปัจจุบัน แน่นอนว่าไรเดอร์มีอิสระที่จะเลือกหรือไม่เลือกทำงานในช่วงเวลาใด แต่ในเมื่อพวกเขาต้องลงทุนทุกอย่างเท่าเดิม ลงแรงที่เท่ากัน แต่รายได้ที่ได้รับกลับต่างกัน การจะปฎิเสธความหอมหวานตรงหน้าดูท่าจะไม่ใช่เรื่องง่ายเลยจริงๆ แม้จะต้องแลกมาด้วยปัญหาสุขภาพที่อาจจะเกิดขึ้นตามมาในอนาคต

“สุขภาพมันก็มีพังกันบ้างแต่จะทำยังไงได้ สิ้นเดือนมันยังมีค่านู่นค่านี่ที่ต้องจ่าย ก็ต้องเหนื่อย ต้องยอม”

Route 2 : ความปลอดภัยที่บิดเบี้ยว

สุขภาพที่พังจากระบบการพักที่ไม่เป็นเวลาเป็นเพียงแค่ยอดภูเขาน้ำแข็ง อีกหนึ่งความบิดเบี้ยวที่ไรเดอร์ทุกคนจำเป็นต้องแบกรับอย่างเลี่ยงไม่ได้คือเรื่องอุบัติเหตุ จากความคิดที่ว่า ‘ยิ่งช้ายิ่งรายได้น้อย’ และประเด็นเรื่องจำนวนไรเดอร์ในระบบที่มีมากเกินความต้องการ จึงส่งผลให้เหล่าไรเดอร์เลือกที่จะเบลอเรื่องความปลอดภัยเพราะไม่ว่ายังไงเรื่องปากท้องต้องมาก่อน

“ส่วนใหญ่ที่เกิดอุบัติเหตุเพราะไรเดอร์ต้องการทำรอบ คุณต้องเข้าใจว่าตอนนี้ค่ารอบที่ได้แต่ละรอบได้น้อยมาก อย่างที่คุณเห็นเขานั่งรอชั่วโมงกว่า สองชั่วโมง แต่ได้ค่าส่งแค่รอบละสามสิบถึงสี่สิบบาท ฉะนั้นเขาเลยต้องบิด ต้องเร็ว มันถึงเกิดอุบัติเหตุขึ้นมา เพราะถ้าวันนี้คุณยิ่งช้าคุณก็ได้รายได้น้อย” บอยเล่าให้เราฟังถึงสาเหตุหลักของการเกิดอุบัติเหตุ

รายงานจากองค์กรอนามัยโลก ปี 2561 ได้เปิดเผยข้อมูลออกมาว่า ประเทศไทยมีอัตราการเสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุบนท้องถนนสูงสุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในอัตรา 32.7 คน ต่อ 100,000 คน ซึ่งอัตราการเสียชีวิตของผู้ใช้จักรยานยนต์อยู่ที่ 24.3 คน ต่อ 100,000 คน ในขณะที่อัตราการเสียชีวิตของผู้ใช้รถยนต์อยู่ที่ 4 คน ต่อ 100,000 คน จากตัวเลขนี้แสดงให้เห็นว่าผู้ใช้รถจักรยานยนต์มีอัตราการเสียชีวิตมากกว่าผู้ใช้รถยนต์ถึง 6 เท่า

บอยเล่าให้เราฟังเพิ่มเติมว่า ขณะนี้แพลตฟอร์มได้มีการเปิดรับสมัครไรเดอร์ทุกวัน มีจำนวนไรเดอร์ที่วิ่งงานอยู่ในระบบมากกว่าหนึ่งแสนคน ไม่ใช่แค่จำนวนไรเดอร์ที่เพิ่มขึ้น แต่อีกหนึ่งกระแสที่กำลังเกิดขึ้นกับทุกแพลตฟอร์มคือการลดค่ารอบและลดค่าเงินพิเศษ จากเดิมที่ไรเดอร์เคยได้ค่ารอบอยู่ที่เที่ยวละ 120 บาท ปัจจุบันเหลือเพียงแค่เที่ยวละ 40 บาท เมื่อจำนวนคนขับเพิ่มมากขึ้นสวนทางกับค่าตอบแทนที่ลดน้อยลงจึงทำให้ไรเดอร์ไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากจะต้องทำรอบให้ถี่ขึ้น วิ่งให้ไวขึ้น พร้อมๆ โบกมือลาความปลอดภัยที่มีอยู่อย่างน้อยนิด

“เมื่อก่อนบริษัทยังไม่ใหญ่โตขนาดนี้ ยังให้ค่ารอบ ค่าเงินพิเศษเราดีเลย ตอนนี้บริษัทใหญ่โตมีกำไรแล้วแต่ทำไมค่าตัวเรากลับถูกลง ผมรู้ว่าตอนเปิดตัวใหม่ๆ ทุกคนต้องลงทุน ตอนนี้เป็นเวลาเอาคืน แต่มันเป็นการเอาคืนที่เกินไปหรือเปล่า” บอยถามออกมาด้วยน้ำเสียงจริงจัง แววตาของเขาฉายชัดให้เห็นถึงความคับข้องใจที่มีอยู่อย่างเต็มเปี่ยม


กรุงเทพมหานครฯ – วันที่ 23 มกราคม ปี พ.ศ. 2561 เวลาประมาณ 4 ทุ่มครึ่ง
ท้องฟ้าสีดำมืดสนิทช่วยขับสีแดงจากสัญญาณไฟจราจรให้เด่นชัดขึ้น ระหว่างรอสัญญาณไฟสีเขียว
ไรเดอร์ร่างท้วมอย่างบอยพร้อมผู้โดยสารสาวที่ซ้อนอยู่ด้านหลังถูกรถเก๋งพุ่งเข้าชนอย่างจังจนรถจักรยานยนต์เสียหลักคว่ำ
จากเหตุการณ์ในวันนั้นส่งผลให้บอยกระดูกสันหลังงอและต้องหยุดขับรถเป็นเวลาร่วม 2 เดือน


Route 3 : สวัสดิการที่บิดเบี้ยว 

รายได้จากการเป็นไรเดอร์ของบอยเฉลี่ยตกอยู่ที่เดือนละ 30,000 บาท ช่วงระยะเวลา 2 เดือน ที่เขาต้องหยุดพักจึงมีค่าเท่ากับเวลากว่า 60 วันที่เขาจะต้องขาดรายได้ เงิน 60,000 บาทหายไปในพริบตา คำถามที่เกิดขึ้นในใจของเขา ณ เวลานั้นคือการถามตัวเองว่าแล้วจะทำอย่างไรต่อดี เพราะถึงแม้รายรับจะหยุดชะงักลง แต่รายจ่ายที่พันผูกมาตั้งแต่อดีต ไม่ว่าจะเป็นค่าผ่อนรถและค่าโทรศัพท์มือถือไม่ได้หยุดตามและรอเวลาที่จะต้องไปชำระในทุกๆ เดือน เขาจะเอาเงินมาจากไหน 

“ตอนนั้นบริษัทฯ ไม่ช่วยอะไรผมเลยครับ มีแค่พี่น้องในกลุ่มที่ช่วยกันรับบริจาคแล้วเอาเงินตรงนั้นมาช่วยเหลือผม ค่ารักษาพยาบาลและค่าซ่อมรถผมก็ใช้สิทธิพ.ร.บ. จักรยานยนต์เบิกเอา เพราะแพลตฟอร์มจะช่วยก็ต่อเมื่อเกินจากสิทธิพ.ร.บ. ซึ่งถ้าเกินจากพ.ร.บ. ของเรา ก็มีพ.ร.บ. ของคนที่ชนเราอีก ก็ไปเบิกจากทางนู้นเอา ตกลงแพลตฟอร์มไม่ช่วยอะไรเราสักบาท ช่วยตัวเองครับ” บอยเล่าด้วยน้ำเสียงที่ยังคงเจือไว้ซึ่งความไม่พอใจแม้ว่าเหตุการณ์ในตอนนั้นจะผ่านมาเกือบ 2 ปีแล้วก็ตาม 

อ้างอิงจาก ‘รายงานการศึกษาเรื่องรูปแบบงานใหม่ของคนขี่มอเตอร์ไซต์ส่งอาหารที่กำกับโดยแพลตฟอร์ม’ โดย เกรียงศักดิ์ ธีระโกวิทขจร และ วรดุลย์ ตุลารักษ์ ได้แบ่งสวัสดิการที่ไรเดอร์จะได้รับจากแพลตฟอร์มออกเป็น 3 รูปแบบด้วยกัน 

1. ในกรณีที่มีลักษณะงานเป็นอาชีพประจำกับแพลตฟอร์มเดียว จะได้รับการคุ้มครองประกันภัยอุบัติเหตุหลังจากทำงานเกินระยะเวลาที่กำหนด เช่น ต้องมีการทำงานขั้นต่ำเป็นระยะเวลา 6 เดือน
2. ในกรณีที่มีลักษณะงานเป็นอาชีพเสริม จะได้รับเงินชดเชนเป็นบางส่วน เมื่อเกิดอุบัติเหตุ
3. ในกรณีที่ทำงานกับหลายแพลตฟอร์ม ไม่ได้รับสิทธิคนขับประจำ  

กรณีของบอยอยู่ในกรณีที่ทำงานกับหลายแพลตฟอร์ม แต่เนื่องจากแพลตฟอร์มที่เขาทำงานด้วยนั้นมีการประชาสัมพันธ์ว่า ทางบริษัทมีการจัดทำประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคลที่คุ้มครองทั้งผู้โดยสารและคนขับในทุกการเดินทางและมีวงเงินคุ้มครองสูงสุดอยู่ที่ 100,000 บาท สำหรับกรณีอุบัติเหตุ บอยจึงทำเรื่องเพื่อที่จะขอเรียกร้องเงินชดเชยแต่สุดท้ายก็ไม่ได้รับการอนุมัติ โดยทางแพลตฟอร์มได้ให้เหตุผลว่า กรณีของเขาไม่ตรงกับเงื่อนไขที่บริษัทแม่ในต่างประเทศกำหนดไว้ โดยที่ทางแพลตฟอร์มไม่ได้มีการอธิบายเพิ่มเติมว่าเงื่อนไขที่ว่าคืออะไร

“สมมติว่ามี 20 เคส เชื่อไหมว่ามีแค่เคสเดียวที่ผ่าน อย่างคราวที่แล้วเป็นข่าว ไรเดอร์ตายได้แค่พวงหรีดพวงเดียว อีกคนมือหัก หน้าแหก แต่ตอนนั้นเขากำลังรองานอยู่ ยังไม่ได้รับงาน คุณก็ไม่ให้สักบาท ผมถามหน่อยมีงานติดตัวคุณก็ไม่ช่วย ไม่มีงานติดตัวคุณก็ไม่ช่วย แล้วตกลงคุณเอาอะไรเป็นบรรทัดฐาน” คือสิ่งที่ไรเดอร์วัย 43 ปีคนนี้สงสัย 

‘แรงงานอิสระ’ หรือ ‘ลูกจ้างของแพลตฟอร์ม’ คือประเด็นที่กำลังเป็นข้อถกเถียงในแวดวงเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม เนื่องจากปัจจุบันมีการนิยามความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทแพลตฟอร์มและไรเดอร์ตามรูปแบบของสัญญาจ้างโดยสัญญาจ้างที่ใช้อยู่ในเวลานี้เป็นรูปแบบสัญญาจ้างทำของ ซึ่งถ้าเรายึดตามหลักเกณฑ์นี้ ไรเดอร์จะมีสถานะเป็นเพียงแรงงานรับจ้างอิสระ (freelance) ไม่มีนายจ้างตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน จึงทำให้พวกเขาไม่สามารถรับสิทธิตามพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 เรียกได้ว่าต่อให้ทำงานจนวินาทีสุดท้ายไรเดอร์จึงไม่ใช่ลูกจ้างของบริษัทแพลตฟอร์ม

หนึ่งกรณีตัวอย่างที่น่าสนใจคือ กรณีของบริษัทเดลิเวอรู (Deliverroo) แพลตฟอร์มส่งอาหารแห่งหนึ่งในยุโรป ที่ได้มีการอธิบายต่อศาลสเปนว่า ‘คนส่งอาหาร’ ของบริษัทเป็นเพียงคนทำงานอิสระ ไม่ใช่ลูกจ้างของบริษัท เนื่องด้วยลักษณะงานที่ทำมีความยืดหยุ่นและควบคุมได้ตามความต้องการของแต่ละคน แต่ศาลประจำเมืองมาดริดก็คัดค้านคำอธิบายดังกล่าวและตัดสินให้คนส่งอาหารอยู่ในฐานะลูกจ้างของบริษัทโดยให้เหตุผลว่า “คนงานอยู่ภายใต้คำแนะนำที่เฉพาะเจาะจงในการทำงาน ขาดอิสระในฐานะผู้ทำสัญญาอิสระ ซึ่งถือว่าอยู่ภายใต้ความสัมพันธ์ในการทำงานกับบริษัทเดลิเวอรู” จากการตัดสินในครั้งนี้จึงส่งผลให้มีการกลับมาทบทวนถึงความคุ้มครองต่างๆ ที่คนส่งอาหารควรจะได้รับตามกฎหมาย เช่น การคุ้มครองค่าจ้าง สิทธิประกันสังคม เป็นต้น

จากกรณีดังกล่าว ยิ่งทำให้เราควรจะต้องหันกลับมาตั้งคำถามถึงการนิยามความสัมพันธ์ระหว่างไรเดอร์และแพลตฟอร์ม ว่าแท้จริงแล้วกฎหมายที่เรายึดใช้อยู่ทุกวันนี้เหมาะสมและยุติธรรมแก่ทุกฝ่ายหรือไม่ หรือมีเพียงแค่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้นที่ได้ประโยชน์จากการนิยามเช่นนี้ สุดท้ายแล้วการจงใจปล่อยเบลอให้คลุมเครือเป็นความตั้งใจหรือแค่เรื่องบังเอิญ เป็นคำถามที่ควรจะได้รับคำตอบ

Route 4 : อำนาจต่อรองที่บิดเบี้ยว 

‘หนุ่มแกร็บฟู้ดกุมขมับ ลูกค้ายกเลิกออเดอร์ เทค่าพิซซ่า เงินไม่ใช่น้อยๆ’ คือพาดหัวข่าวจากหนังสือพิมพ์ออนไลน์ฉบับหนึ่ง ในช่วงระยะ 2-3 เดือนที่ผ่านมานี้ ภาพของไรเดอร์นั่งกุมขมับโดยมีอาหารกองโตรายล้อมเต็มสองข้างกายเนื่องจากถูกลูกค้ายกเลิกออเดอร์สินค้ากลางคันกลายเป็นภาพที่เราพบเห็นบ่อยขึ้นในโลกออนไลน์ นอกจากร่างกายที่ผุพัง สวัสดิการที่ไม่ชัดเจนราวกับถูกปกคลุมไปด้วยฝุ่น PM 2.5 อีกหนึ่งภาระที่ไรเดอร์จำเป็นต้องแบกรับเพื่อแลกกับรายได้ในแต่ละเดือนคือการต้องอดทนยอมรับต่อการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม

“อย่างเวลาลูกค้ากดยกเลิกสินค้า เราสามารถเอาสินค้าไปเคลมที่บริษัทได้แต่เงินที่เราออกไปก่อนไม่ได้เข้าบัญชีเลย ต้องรอประมาณ 3-7 วัน สมมติผมมีทุนอยู่หนึ่งพันบาท แต่ซื้ออาหารไปให้ลูกค้าแล้วเจ็ดร้อยบาท ผมเหลือแค่สามร้อยบาท ถามหน่อยว่าเงินแค่นั้นผมจะเอาไปทำอะไรได้”

บอยขยายความให้เราฟังถึงช่องโหว่ของกฎเคลมสินค้าที่ถึงแม้จะมีหลักวางไว้อย่างชัดเจน แต่ในแง่ของการทำงานจริงนั้นสุดท้ายก็ยังคงเป็นการผลักภาระให้ไรเดอร์ต้องหาทางรับผิดชอบกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นด้วยตัวเอง ถ้าระบบช่างไม่เป็นธรรมขนาดนี้แต่ทำไมไรเดอร์หลายต่อหลายคนถึงยังยอมจำนนต่อระบบคือคำถามที่เราสนใจ

การจัดเกรดไรเดอร์ดูท่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของห่วงโซ่แห่งความยุ่งเหยิงนี้ เราพบว่าในหน้าโฮมเพจของไรเดอร์แต่ละคนจะมีการบอกระดับ (Level) คล้ายๆ กันกับเวลาที่เราเล่นเกมออนไลน์ โดยข้อมูลที่จะนำมาใช้จัดอันดับไรเดอร์นั้นประมวลผลมาจากข้อมูล 3 ช่องทางด้วยกัน คืออัตราการตอบรับหรือปฏิเสธงานของไรเดอร์, อัตราการยกเลิกงานหลังจากการตอบรับของไรเดอร์และการประเมินผลความพึงพอใจของลูกค้า ซึ่งระดับของไรเดอร์ก็จะมีผลต่อการให้รางวัล การมอบหมายงานและการกำหนดบทลงโทษต่างๆ เรียกได้ว่ายิ่งระดับคุณสูงเท่าไหร่ สิทธิพิเศษที่จะตามมาก็จะยิ่งสูงตาม ในทางกลับกันถ้าคุณโดนว่าเยอะหรือปฏิเสธงานบ่อย ระดับของคุณก็พร้อมจะลดลงได้ทุกเมื่อ

ด้วยเหตุนี้เองจึงทำให้แพลตฟอร์มสามารถสร้างสภาพบังคับเหนือกว่าไรเดอร์และกลายเป็นผู้ควบคุมไรเดอร์ได้โดยสมบูรณ์ผ่านการควบคุมระบบอัลกอริทึ่ม พูดง่ายๆ ว่าแพลตฟอร์มกลายเป็นคนที่มีสิทธิขาดในการเลือกว่าจะจ่ายหรือไม่จ่ายงานให้กับใคร จะให้หรือไม่ให้รางวัลกับใคร โดยที่ไรเดอร์ไม่สามารถลุกขึ้นประท้วงต่อการตัดสินของแพลตฟอร์มได้เลยเพราะถือเป็นการตัดสินที่คำนวณมาจากระบบ เรียกได้ว่าชีวิตทั้งชีวิตของไรเดอร์ได้กลายเป็นชีวิตที่ผูกขาดกับระดับไปแล้ว 

“อย่างมีคนมาชมเรา 92 คน แต่มีคนด่า 3 คน แอปฯ ปิดระบบไม่ให้วิ่งงานเลยนะ ผมเคยถามเขาว่าทำไมคุณฟังความข้างเดียว แล้วอีก 92 คนที่ชมเราไม่มีความหมายเลยเหรอ ลูกค้าไม่ได้มีดี 100% แย่ๆ ก็มีเยอะ แต่บริษัทเขาไม่ฟังอะไรเราเลย แบนอย่างเดียว” บอยยกตัวอย่างให้เราฟังถึงการประเมินผลของแพลตฟอร์มที่ยังมีความคลุมเครืออยู่สูงเมื่อเทียบกับบทลงโทษที่มีการลงโทษอย่างจริงจัง

นอกเหนือจากวิธีการจัดเกรดที่ยังไม่ชัดเจน อีกหนึ่งสิ่งที่กลายมาเป็นโซ่เส้นใหม่ที่จะผูกรัดชีวิตไรเดอร์เข้ากับแพลตฟอร์มคือการปล่อยสินเชื่อให้กับไรเดอร์ ในปี พ.ศ. 2562 มีธนาคารพาณิชย์มากกว่า 4 แห่งจับมือร่วมกันกับบริษัทแพลตฟอร์มเพื่อขยายฐานลูกค้าสินเชื่อ โดยมีตั้งแต่การปล่อยสินเชื่อส่วนบุคคลตลอดไปจนถึงการปล่อยสินเชื่อเพื่อการบริโภคให้แก่เหล่าไรเดอร์ที่ได้รับการรับรองจากบริษัทแพลตฟอร์ม

แง่หนึ่งเราอาจกล่าวได้ว่านี่ถือเป็นการเปิดโอกาสให้แก่เหล่าไรเดอร์ได้มีสิทธิเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่สามารถเป็นทุนในการเปลี่ยนแปลงชีวิตพวกเขาได้ แต่หากมองอีกแง่ นี่ถือเป็นอีกหนึ่งการกระทำที่จะยิ่งผูกขาดชีวิตของไรเดอร์ให้อยู่ภายใต้แพลตฟอร์ม เพราะถ้าหากมีเงื่อนไขที่พันผูกไว้กับแพลตฟอร์มเยอะมากมายขนาดนี้ เหล่าไรเดอร์ดูจะไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากต้องยอมทน แม้จะรู้สึกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ไม่เป็นธรรม ก็เป็นหนี้กับเขาแล้ว ถ้าไม่ทำสิ่งนี้แล้วจะเอาเงินที่ไหนจ่าย

Route 5 : ทางออกของเส้นทางที่บิดเบี้ยว

ทั้ง 4 ความบิดเบี้ยวข้างต้นที่เกิดขึ้นกับไรเดอร์ดูเป็นปัญหาที่ไรเดอร์เพียงคนเดียวไม่สามารถแก้ไขได้ หนึ่งวิธีการที่คนตัวเล็กจะสามารถลุกขึ้นมาสู้กับทุนใหญ่ได้คือการรวมตัวกัน เสียงตะโกนถึงความไม่เป็นธรรมของคนคนเดียวอาจจะไม่ดังพอที่จะทำให้ใครหันมามอง แต่ถ้าหลายเสียงมารวมตัวกันมีความเป็นไปได้ว่าเสียงตะโกนนั้นอาจจะกลายเป็นเสียงกู่ร้องเพื่อทวงคืนความเป็นธรรมกลับมา เหมือนอย่างที่ชาวแรงงานมีสหภาพแรงงาน แล้วจะเป็นไปได้หรือไม่ที่เราจะก่อตั้งสหภาพไรเดอร์ขึ้นมา

“มีหลายคนอยากให้ทำแต่ถามว่าถ้าทำจริงๆ แล้วใครจะเป็นหัวหน้า คนที่เป็นจะต้องหยุดงาน ขาดรายได้ ไม่ได้อะไรเลย ถ้าอย่างสหภาพแรงงาน เขามีเงินเดือนให้อย่างนั้นก็น่าสนใจ แต่นี่ไม่มีอะไรเลย แล้วเราจะไปทำให้ตัวเองเหนื่อยทำไม ทำแล้วไม่ได้อะไร มันไม่ใช่” บอยตอบกลับมาอย่างทันควันกับประเด็นในการจัดตั้งสหภาพไรเดอร์

ถึงแม้เขาจะเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งและเป็นผู้ดูแลเพจ Grab สันทนาการ เพจที่เป็นเหมือนที่พักพิงของเหล่าไรเดอร์ในโลกออนไลน์ โดยในปัจจุบันมีสมาชิกถึง 13,511 คน  เรียกได้ว่าไม่ว่าเหล่าไรเดอร์จะเจอปัญหาอะไรก็สามารถแวะเข้ามาขอคำปรึกษาหรือขอความช่วยเหลือได้ที่เพจ หรือหากกรณีที่เกิดอุบัติเหตุและได้รับบาดเจ็บ ทางเพจก็จะมีการช่วยระดมทุนเพื่อหาเงินช่วยเหลือเพื่อนสมาชิกไรเดอร์ด้วยกัน บอยก็ยังคงยืนยันคำเดิมว่าการเกิดขึ้นของสหภาพไรเดอร์ไม่ใช่เรื่องง่าย 

“ไรเดอร์ในกรุงเทพไม่เหมือนไรเดอร์ในต่างจังหวัด ไรเดอร์จังหวัดอื่นๆ เช่น ขอนแก่น โคราช ภูเก็ต เขามีกันแค่ร้อยกว่าคน เวลาที่เขาออกมาเรียกร้องมันจึงทำได้ แต่กรุงเทพมีไรเดอร์เป็นแสน คนที่ออกไปเรียกร้องมีแค่พันคน ยังเหลืออีกเป็นหมื่นที่วิ่งอยู่ บริษัทก็ไม่ได้เดือดร้อนอะไร ผมเคยเรียกร้องให้ทุกคนมารวมตัวกันแล้วแต่เขาไม่มากัน ทุกคนเอาแต่พูดกันว่าเรียกร้องไปก็ไม่ช่วยอะไร ไปหาแดกดีกว่า ถามว่าไรเดอร์มารวมตัวกันสองพันคนนี่เยอะไหม เยอะนะ แต่ถ้าเทียบกับยังมีคนวิ่งอยู่เป็นแสน สองพันคนมันก็แค่ฝุ่นละออง” คือสิ่งที่บอยทิ้งท้ายไว้ก่อนจากกัน 

เมื่อเหล่าไรเดอร์ต่างทำสิ่งที่พวกเขาควรทำครบทุกเช็คลิสต์ แล้วอย่างนั้นหนทางที่จะแก้ไขเส้นทางที่บิดเบี้ยวนี้คืออะไร แล้วใครกันที่จะต้องมาร่วมด้วยช่วยกันแก้ไขสิ่งที่เกิดขึ้น

จุดเริ่มต้นของคำตอบนี้อาจจะต้องเริ่มต้นจากการรู้ว่า ‘ภาครัฐ’ ได้หายตัวไปจากวงจร

ในฐานะบุคคลที่ทำหน้าที่รักษาผลประโยชน์ของแรงงานและมีหน้าที่กำกับดูแลภาคธุรกิจ น่าแปลกที่เรากลับพบว่าภาครัฐเข้ามามีบทบาทในเรื่องนี้อย่างเลือนลาง ความไม่ชัดเจนของภาครัฐที่แสดงออกมาผ่านกฎหมายที่ล้าสมัยคือหนึ่งในตัวแปรสำคัญที่สร้างเส้นทางแห่งความบิดเบี้ยวทั้งหลายนี้ขึ้นมาฉะนั้นเพื่อที่จะทำให้เส้นทางเหล่านี้กลับมาถูกต้อง ภาครัฐจำเป็นจะต้องกลับเข้ามาทำหน้าที่และแสดงบทบาทที่ชัดเจนอีกครั้ง 

แนวทางการแก้ไขปัญหานี้จึงไม่ใช่การหยุดใช้งานธุรกิจแพลตฟอร์มหรือจัดตั้งสหภาพไรเดอร์ แต่ต้องเป็นการที่ภาครัฐลงมือจัดการกับความคลุมเครือที่เกิดขึ้นกับอาชีพนี้ เพราะถ้าหากภาครัฐยังคงปล่อยให้ความบิดเบี้ยวนี้ดำเนินต่อไป ในอนาคต (อันใกล้) ภาครัฐอาจจะต้องรับมือกับศึกหนัก ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องหลักประกันสุขภาพของไรเดอร์ที่จะถูกผลักภาระไปให้ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าของรัฐเป็นคนดูแล เนื่องจากไร้สวัสดิการประกันสังคมคอยรองรับ หรือจะเป็นความไม่แน่นอนของรายได้ซึ่งส่งผลให้ชีวิตของพวกเขาเต็มไปด้วยความไม่มั่นคง เมื่อชีวิตตัวเองยังไม่มั่นคง ใครกันจะกล้าฝันถึงการมีครอบครัว นี่ยังไม่นับรวมถึงปัญหาด้านจิตใจที่จะมีแต่ความเปราะบางเนื่องจากพวกเขาไม่สามารถสัมผัสถึงความมั่นคงใดใดในชีวิตได้เลย แค่สามอย่างที่ว่ามานี้เกิดขึ้นพร้อมกันก็เป็นโจทย์ที่ดูท่าภาครัฐจะต้องแก้จนคางเหลือง

ฉะนั้นก่อนที่วัน doomed day จะมาเยือน เส้นทางอาชีพไรเดอร์จำเป็นจะต้องได้รับการแก้ไขให้ถูกต้องและเป็นธรรม เพราะได้โปรดอย่าลืมว่าอาชีพที่เรากำลังกล่าวถึงอยู่นี้มีชีวิตของคนหลายแสนคนแขวนไว้อยู่ อาชีพที่พวกเขาต่างหวังว่าจะเป็นอาชีพที่จะพาพวกเขาไปสู่อนาคตที่เขาฝันไว้ แต่ถ้าวันนี้เส้นทางที่เขาฝันไว้กลับเต็มไปด้วยความบิดเบี้ยว จะเป็นไปได้อย่างไรที่แรงงานไทยจะพบเจอกับปลายทางที่สวยงาม

อ้างอิง:
thairath.co.th
bbc.com
help.grab.com
prachachat.net
forbes.com
รายงานการศึกษาเรื่องรูปแบบงานใหม่ของคนขี่มอเตอร์ไซต์ส่งอาหารที่กำกับโดยแพลตฟอร์ม’ 
โดย เกรียงศักดิ์ ธีระโกวิทขจร และ วรดุลย์ ตุลารักษ์