อย่าเป็นหลุมดำก็แล้วกัน - Decode
Reading Time: 3 minutes

ทั้งโกรธ ทั้งเศร้า ยิ่งเมื่อรู้ผลชันสูตรการเสียชีวิตของ ป้าบัวผัน หรือ ป้ากบ ผู้เสียชีวิตในคดีที่เยาวชน 5 คนเป็นผู้ก่อเหตุ สังคมถกเถียงกันมาตลอดสัปดาห์กว่า ๆ ว่าจะแก้กฎหมายโดยลดอายุเยาวชนที่ทำผิดเพื่อลงโทษดีหรือไม่

แน่นอนคดีนี้มีคนตายเป็นความผิดชัด ๆ และมันยากที่จะให้อภัยคนลงมือ

ทำแบบนี้แค่ถูกจับไม่พอหรอก
พวกเด็กเ…

คำตัดสิน ก่อนคำพิพากษาศาลพรั่งพรูจากคอมเมนท์ทั้งในออนไลน์ และบทสนทนาบนโต๊ะอาหาร พุ่งเป้าไปที่เยาวชนผู้ก่อเหตุทั้ง 5

เป็นช่วงเวลาพอดิบพอดีที่เด็กน้อยโตเข้าหาแสง ซึ่งเรียบเรียงจากประสบการณ์การเป็นคุณอำนวยในบ้านกาญจนาของ ป้ามล ทิชา ณ นคร ถึงคิวลงคอลัมน์ PlayRead เล่มนี้เราได้รับมาจากกิจกรรมแลกหนังสือในงาน Book Blind Date งานในสวนที่ทีม Decode จัดขึ้นช่วงฝนหลงฤดู ฝนที่ตกเทลงมาอย่างหนักราวกับพายุวันนั้น คงไม่ต่างอะไรกับกระแสสังคมต่อข่าวป้าบัวผันในวันนี้

เสาร์ที่ 20 มกราคม 2567
รองอธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กฯ ยืนยันว่าตอนนี้ เด็กทั้ง 5 คนที่ก่อเหตุร่วมฆ่าป้าบัวผันถูกจับแยกอยู่ในสถานพินิจฯ จันทบุรี 3 คน ส่วนอีก 2 คน ถูกส่งไปสถานพินิจฯ ที่ระยอง โดยไม่มีญาติยื่นประกันตัว

ศุกร์ที่ 19 มกราคม 2567
ผบ.ตร.ต่อศักดิ์ สุขวิมล บอกว่า ตอนนี้ฝ่ายกฎหมายของตำรวจกำลังศึกษาเคสในญี่ปุ่นและเยอรมันนีเรื่องการลดอายุเด็กรับโทษ หลังพบว่าผู้ก่อเหตุอาชญากรรมมีแนวโน้มอายุน้อยลงเรื่อย ๆ

ศุกร์ที่ 12 มกราคม 2567
ตี 2 ของวันนั้นเป็นจุดเริ่มต้นของเหตุการณ์ที่ทำให้ป้าบัวผันจากโลกนี้ไปตลอดกาล กล้องวงจรปิดบันทึกภาพผู้ก่อเหตุเป็นกลุ่มวัยรุ่น 5 คน ทำร้ายร่างกายผู้เสียชีวิต หลุมดำขยายวงกว้างมีคนตกลงไปในนั้น

ป้ามลเล่าว่า วันที่เด็กยกพวกไปฆ่าคน สิ่งที่เขากลัวที่สุดไม่ใช่การฆ่าหรือการถูกฆ่า แต่พวกเขากลัวพรุ่งนี้เขาจะยังมีเพื่อนหรือเปล่าเขาจะยังเป็นที่ยอมรับของเพื่อนหรือเปล่า สำหรับเขาแล้วนี่คือคนกลุ่มสุดท้ายในโลกที่ยอมรับตัวตนและเห็นคุณค่าของเขา เพราะพ่อแม่พี่น้อง ครอบครัว ครูและเพื่อนนักเรียนในโรงเรียนปฏิเสธตัวตนของเขามันไม่ใช่ความกลัวที่ดูโง่งมเข้าใจไม่ได้ แต่คำถามที่ต้องทบทวนก็คือ เราได้ให้อะไรกับเขาหรือยัง เพื่อให้เขามีความกล้าหาญและมั่นใจในคุณค่าตัวเองจนมากพอจะบอกว่า กูไม่ไปกับพวกมึงหรอก

ป้ามลยืนยันอย่างมั่นใจว่าเด็กที่ก่อคดีโทรมไม่ได้บ้าเซ็กซ์ เขาไม่ได้เป็นคนที่ถ้าไม่ได้เอาใครในค่ำคืนนั้นแล้วจะลงแดงตาย แต่ระหว่างที่ไปอยู่ในเหตุการณ์นั้น ช่วงที่ยืนอยู่หว่างขาของผู้หญิงคนหนึ่ง ถ้าเขาไม่ทำก็แสดงว่าไม่ใช่พวกเดียวกัน

13 14 16 ปี
156 168 192 เดือน
4,745 5,110 5,840 วัน

หลายพันวันที่ผ่านมาทั้ง 5 คนนั้น ผ่านอะไรมาบ้างนะ ลึกไปกว่าที่ชาวโซเชียลช่วยขุดคดีเก่า วีรกรรมเดิมที่เด็ก ๆกลุ่มนี้ก่อไว้ ซึ่งดูเผิน ๆ ชวนโกรธ เกลียด และไม่แปลกที่หลายคนจะโทษที่ตัวผู้ก่อเหตุว่าไม่รักดี ครอบครัวไม่ดูแล แต่ถ้าเราถอยออกมามองลึกไปกว่าที่เห็น ระหว่างเส้นทางชีวิตหลายร้อยเดือนของพวกเขา มีผู้ใหญ่คนไหนเล่นกับด้านดีของเขาบ้างไหม ครอบครัว โรงเรียน หรือแม้แต่หน่วยงานด้านเด็กอีกไม่ต่ำสิบ กำลังลูบคลำด้านมืด กลืนด้านสว่าง

ในทัศนะของป้ามล ผู้ประสบความสำเร็จในชีวิตส่วนใหญ่นั้น ไม่ได้อาศัยเพียงแค่เจตจำนงค์ของตัวเอง แต่เขาโชคดีที่พบเส้นทางชีวิตของเขาทุกเส้น ตั้งแต่ท้องถนน บ้าน และโรงเรียน ผู้ใหญ่ในชีวิตเล่นกับด้านดีของเขามาโดยตลอด ด้านสว่างถูกทำให้งอกงามขึ้นมา ส่วนด้านมืดก็หดเล็กลงจนไม่สามารถแผลงฤทธิ์ได้

มีเพื่อนของเราหลายคนบนโลกใบนี้ที่มักถูกตั้งคำถามว่า ทำไมเชื่อแฟนมากกว่าเชื่อพ่อแม่ หรือ ทำไมเชื่อเพื่อนมากกว่าครู คำตอบที่เด็ก ๆ บ้านกาญจนาฯ ตะโกนออกมาผ่านหนังสือเล่มนี้คือ มีเพียงเพื่อนที่ทำให้เขาชอบตัวเอง

นึกย้อนไปเมื่อเกือบ 20 ปีก่อน คำพูดของแม่ระหว่างขี่รถเครื่องไปรับที่โรงเรียนยังฝังในใจ

เด็กหญิงคนนั้น : แม่ ๆ หนูขอไปคัดตัวแข่งเชียร์ลีดเดอร์ของโรงเรียนได้ไหม ?
(ซึ่งต้องซ้อมอย่างหนักทุกวัน และมีค่าใช้จ่ายไม่น้อย)

คุณอำนวยของบ้าน : ถ้าหนูคิดว่า สามารถจัดการเวลาได้หนูสามารถตัดสินใจได้เลย

คำตอบแบบคุณอำนวยของแม่ ไม่ใช่การตัดสินใจจากคุณอำนาจ แม่ไม่ได้ใช้คำว่าได้หรือไม่ได้ | ดีหรือไม่ดี
แต่เป็นการตอบเพื่อให้คนถามได้คิดตัดสินใจด้วยดุลยพินิจของตัวเอง หลายครั้งที่แม่ทำแบบนี้ และนั่นอาจเป็นเหตุผลที่ทำให้เรากล้าตัดสินใจแบบคิดใคร่ครวญ ภูมิใจในตัวเองเป็น และเหนือสิ่งอื่นใดนั่นเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เราชอบตัวเอง

วินาทีที่ตกตะกอนถึงจุดนี้ คุณอำนวยคือหนึ่งในความฝันที่เราอยากไปให้ถึง ทั้งจากฐานะ แม่ พี่ เพื่อน หรือ แฟน

จริงยิ่งกว่าจริง ทุกคนมีทั้งด้านมืดและด้านสว่าง การชอบตัวเองเป็นสัญชาตญาณด้านสว่าง
เด็กทุกคนเกิดมาพร้อมสัญชาตญาณนี้ มันรอเพียงระบบนิเวศที่เอื้ออำนวย รอแสงที่จะส่องฉายไปถึงเพื่อกระตุ้นให้ด้านสว่างเติบโต เปิดด้านมืดหรือเปิดด้านสว่างเป็นโชคชะตาที่แต่ละคนเผชิญสถานการณ์ที่แตกต่างกัน

แสงเดินทางจากแหล่งกำเนิดด้วยความเร็ว 186,000 ไมล์ต่อวินาที หรือ 300,000 กิโลเมตรต่อวินาที และถ้ามีตัวกลางที่ดี 93 ล้านไมล์จากดวงอาทิตย์ถึงโลก แสงใช้เวลาเดินทางเพียง 8 นาทีเท่านั้น


13 14 16 ปี
156 168 192 เดือน
4,745 5,110 5,840 วัน
113,880 122,640 140,160 ชั่วโมง
มากกว่า 6.8 ล้านนาที

อาจเพราะตัวกลางนำแสงหาได้ไม่ง่ายนัก ?

หลุมดำอย่างหนึ่งที่เราเห็นคือนักจัดการเด็กในระบบแบบไทย ๆ มักตีค่าเด็กไปที่ไม่ขาวก็ดำ เด็กหลายคนไม่ได้เรียนเก่งแถวหน้า เด็กบางคนชอบอะไรนอกขนบหน่อยก็ถูกตราหน้าว่าเป็นแกะดำ สำหรับประเทศไทยที่งานด้านการศึกษาส่วนใหญ่ยังยอมรับลู่หลักเพียงลู่เดียว เด็กที่ไม่ถนัดวิ่งในลู่ก็ต้องเดินนอกลู่ ยิ่งถ้าครอบครัวมีปัญหา เด็กจึงต้องวิ่งหัวซุกหัวซุนเพื่อหาพื้นที่ปลอดภัย


แท้จริงทุกที่เป็นพื้นที่ปลอดภัยได้ทั้งนั้น แม้แต่บ้านกาญจนาฯ หลายคนอาจเข้าใจว่าที่นั่นก็เป็นคุกเด็กแบบนึง แต่สำหรับเด็ก ๆ บ้านกาญจนา ที่นั่นเป็นพื้นที่ปลอดภัย เป็นพื้นที่บ่มความเป็นมนุษย์ บ่มดุลยพินิจระหว่างการเติบโต กระบวนการในแบบบ้านกาญจนาไม่ใช่การคุมจัดเยาวชนที่กระทำความผิด แต่เป็นการคืนเยาวชนที่ชอบตัวเองเป็น คืนความเป็นมนุษย์ให้สังคม

หลังการผูกข้อมือ การกอดเพื่อต้อนรับเด็กใหม่ของบ้านกาญจนาทุกคน ป้ามลจะประกาศทันทีว่าที่นี่ เสื้อผ้า หน้าผม เป็นสิทธิอันศักดิ์สิทธิ์ที่บ้านกาญจนาจะไม่ละเมิด ยกเว้นการเจาะสัก เพราะเป็นสิ่งที่ถ้าไม่ชอบทีหลังจะเอาออกไม่ง่าย และไม่งอกคืนมาเหมือนทรงผม ดังนั้นป้ามลจึงขอให้รออายุถึง 25 ปี จึงจะตัดสินใจเรื่องนี้ได้

ไม่ใช่การตามใจ แต่ผลลัพธ์กลับทำให้ต่อมดุลยพินิจของเด็กเติบโต เมื่อบ้านกาญจนาให้เสรีภาพ ให้ความวางใจ เด็ก ๆ ก็ตอบกลับด้วยความเกรงใจและให้เกียรติสถานที่ มีเด็กหลายคนที่เมื่อได้เลือกแล้วก็แหวกแนวตามใจแบบสุด ๆ แต่พอเขาเห็นเองหน้ากระจกว่า แต่งอย่างนี้แล้วมันไม่รุ่ง ไม่ได้ชอบตัวเองแบบนี้ เดี๋ยวก็เลิกไปเอง ไม่ต้องเปลืองพลังงานค้านหรือต้าน

ไม่เว่อจนเกินไปที่จะบอกว่า การวางใจเป็นส่วนนึงของการขจัดร้ายไม่ใช่ขยายร้าย

ทำไมเราต้องใช้การแต่งตัว ใช้รถลูกกรงประจานให้ลูกหลานเราอับอายด้วยเล่า ทั้งเสื้อผ้า หน้า ผม รถนักโทษ ทุกอย่างย้ำกับเขาทุกขณะจิตว่าเขาเคยก่อปัญหา และพร้อมจะก่อปัญหาซ้ำได้ตลอดเวลา เหล่านี้คือสิ่งที่ระบบเก่าจัดสรรให้มันยั่วเย้าและบริหารด้านมืดของเขาตลอดเวลา


ระบบอำนาจคือ ชั้นบรรยากาศที่เต็มไปด้วยฝุ่น PM2.5 สำหรับเด็ก ๆ ทุกคนในประเทศนี้ มันกั้นแสง หายใจลำบาก และทำให้อึดอัด บางทีเลือดก็ไหลออกทางจมูกแบบไม่รู้ตัว

เด็ก ๆ ที่สุขภาพใจไม่ดี สุขภาพครอบครัวอ่อนแออาจกลายเป็นโรคร้ายในสภาพอากาศแบบนี้ เสี่ยงตายได้นะ !

ห้องปลอดฝุ่นเป็นพื้นที่ปลอดภัยที่ยากจะเข้าถึง และเรื่องสำคัญที่ต้องรู้ ประสบการณ์ของป้ามลย้ำว่า สถานพินิจไม่มีเครื่องฟอกอากาศ แม้จริงอยู่ที่เราไม่ได้ปฏิเสธว่ามีเด็กที่ทำความผิดจริง แต่ประสบการณ์จากการศึกษาในต่างประเทศและที่เห็น ๆ ในไทย การจับคนผิดเข้าคุก การเพิ่มโทษที่แรงขึ้น ก็ไม่ได้ทำให้อาชญากรรมลดลงจริงหรือไม่

ชัดเจนว่า ระบบการจัดการต่อความผิดที่กำลังถกเถียงคือปลายทางที่ยังมีปัญหาที่ไม่ได้ทำให้คนทำผิดกลับมาเป็นคนที่สังคมคาดหวัง

จนกว่าในประเทศนี้จะไม่มีคุณอำนาจ
เราต่างต้องค้นหาแสงสว่างเพื่อเติบโต

ขอบคุณอาจารย์บุญเลิศ วิเศษปรีชา เจ้าของเดิมของหนังสือเล่มนี้ สำหรับการส่งต่อ
อย่างที่อาจารย์เคยโพสต์รีวิวไว้สั้น ๆ ว่าเล่มนี้เป็นหนังสือว่าด้วยการจัดการบ้านกาญจนาภิเษก ซึ่งป้ามลบริหารจัดการไม่ให้เป็นคุกเด็ก แต่เป็นสถานฟื้นฟูความเป็นมนุษย์ของเยาวชน บนพื้นฐานของความพยายามที่จะเข้าใจ เพื่อให้ทุกคนที่ออกจากบ้านกาญจนา สามารถกลับไปใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้ ไม่ใช่ วนเวียนอยู่กับการกระทำความผิด

เป็นความเข้าใจไม่ใช่ผลักพวกเขาออก ซึ่งระหว่างทางป้ามลต้องฝ่าข้ามอุปสรรคหลายอย่าง และในช่วง Generation gap ขยายตัวเป็นความเห็นต่างแห่งยุคสมัย เราจำเป็นต้องตระหนักและรับมือความแตกต่างด้านอุดมคติ ในโมงยามที่คนต่างวัยไม่ได้มีจินตนาการถึงสิ่งยึดเหนี่ยวในสังคมร่วมกัน

Playread : เด็กน้อยโตเข้าหาแสง
มิลินทร์ เขียน , กุลธวัช เจริญผล ภาพ
สำนักพิมพ์ สวนเงินมีมา , 2555

PlayRead: คอลัมน์รีวิวหนังสือประจำ Decode.plus เมื่อกองบรรณาธิการขอ add หนังสือ (ที่อยากอ่าน)ไว้ในเพลย์ลิสต์ พบกับหนังสือหลากหลายสไตล์ หลากหลายวิธีการเล่าเรื่องที่เชื่อมร้อยกับชีวิตและสังคม แวะมาหาอ่านกันได้ทุกเย็นวันพฤหัสบดี