'โลคอล' เดลิเวอรีจากลำแข้งชุมชน - Decode
Reading Time: 4 minutes

“ทุกวันนี้ถ้าช่วยตัวเองคนเดียวจะยากกว่านะ ถ้าเรามองไปไกลๆ เราจะรู้ว่าเรามีเหตุผลเต็มที่เลยที่จะต้องทำมันให้ได้”

คือประโยคหนึ่งในห้วงสนทนาที่แสนกระชับและจริงใจจาก พลอย-เพียงพลอย จิตรปิยธรรม Co-Founder Locall ฟู้ดเดลิเวอรีน้องใหม่ไซส์มินิที่มาแรง (ทะลุแมสก์) ที่สุดในตอนนี้

เรียกได้ว่าภายในเวลาไม่ถึงหนึ่งเดือนเต็ม Locall กลายมาเป็นแพลตฟอร์มส่งอาหารที่มีคนพูดถึงอยู่อย่างไม่ขาดสาย ด้วยกิมมิคเด็ดที่วางตัวเองเป็น ‘เดลิเวอรีเพื่อชุมชน’ ทุกขั้นตอนของการทำงานล้วนมีผลประโยชน์ของชุมชนเป็นที่ตั้ง พวกเขาไม่ได้แค่พาความอร่อยจากชุมชนไปเสิร์ฟให้คนทั้ง 24 เขต เริ่มตั้งแต่เขตพระนครยันเขตลาดพร้าวได้ลิ้มลองเท่านั้น แต่พวกเขากำลังส่งต่อความหวังให้กับคนในชุมชนย่านประตูผี-เสาชิงช้า ย่านเยาวราช และ ย่านนางลิ้นจี่ จากเดิมที่ทุกคนต่างอยู่ในอาการโคม่า มาวันนี้พ่อค้าแม่ค้าในซอยสำราญราษฎร์สามารถยืนได้ด้วยลำแข้งของตัวเอง โดยไม่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจใดๆ และพร้อมที่จะลุกขึ้นสู้กับวิกฤตโควิด-19 อีกครั้งหนึ่ง

การส่งอาหารจากชุมชมสามารถปลุกย่านที่เกือบร้างให้กลับมามีชีวิตรอดราวกับมีพลังวิเศษ แนวคิดแบบไหนกันที่อยู่เบื้องหลังในการลุกขึ้นมาช่วยคนทั้งชุมชนให้กลับมามีชีวิตรอด ซึ่งขอพูดด้วยความสัตย์จริง ในยุคที่แค่เอาตัวเองให้รอดยังลำบาก การจะพาทุกคนให้รอดไปได้ด้วยกัน นับเป็นความยากระดับชุบแป้งทอด เหล่าคนตัวจิ๋วที่ใจซูเปอร์ใหญ่สร้าง Locall ขึ้นมาได้อย่างไรคือคำถามที่น่าสนใจที่สุดในเวลานี้ 

ร้านที่ 1 – Once Again Hostel

“จริงๆ แล้วเราไม่ได้เป็นฮีโร่อะไรเลยนะ เอาเข้าจริงเราเองก็เป็นผู้ได้รับผลกระทบจากวิกฤตนี้เหมือนกัน” Co-Founder สาวร่างเล็กเล่าไปหัวเราะไป ขณะที่กำลังพาเราย้อนเวลาไปถึงจุดเริ่มต้นการเกิดฟู้ดเดลิเวอรีอย่าง Locall เมื่อหนึ่งเดือนก่อน

“เราเป็นทีมที่มีชื่อว่า SATARANA ซึ่งงานที่ทีมเราทำส่วนใหญ่ก็จะเกี่ยวข้องกับการพัฒนาชุมชนและสังคมเช่น ทีม MAYDAY ทำงานเรื่องขนส่งสาธารณะ ทีม Trawell ทำงานเรื่องพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน แล้วเราก็เปิดโฮสเทลอีก 2 ที่คือ Luk Hostel ที่เยาวราช และ Once again Hostel ที่ประตูผี ซึ่งพอมีวิกฤตโควิดเข้ามา ห้องพักร้อยกว่าเตียงของเราไม่มีคนพักเลยแม้แต่คนเดียว โฮสเทลที่ประตูผีเลยต้องปิดตัวลงชั่วคราว”

การทำโฮสเทลอาจจะสามารถพักก่อนเอาไว้ชั่วคราวได้ แต่เงินเดือนของน้องๆ พนักงานในทีมอีกหลายชีวิตไม่สามารถหยุดได้ทุกคนต่างมีค่าใช้จ่ายที่แบกรับอยู่เต็มหลังและยิ่งในวิกฤตแบบนี้การยังมีงานทำคือลาภอันประเสริฐที่สุด พลอยจึงหนีไม่พ้นที่ต้องแบกความรับผิดชอบนี้ไว้และหาทางที่จะช่วยให้ทั้งน้องๆ ในทีมและเธอสามารถมีชีวิตรอดผ่านวิกฤตนี้ไปได้

“เราคิดเลยว่าต้องพลิกวิกฤตอันนี้ให้เป็นโอกาส เรากลับมาดูตัวเองว่าเราพอจะทำอะไรได้บ้างและที่สำคัญสิ่งที่เราทำต้องได้ใช้ core value เดิมอย่างการเป็น inclusive business เราทำธุรกิจที่คำนึงถึงการให้ย่านนี้เติบโตไปพร้อมกับเรามาโดยตลอด ฉะนั้นการรอดในวันนี้ของเราต้องไม่ใช่แค่เราที่รอดคนเดียวแต่ต้องรอดกันในหลายๆ กลุ่ม” พลอยกล่าวด้วยน้ำเสียงที่แน่วแน่

 หลังจากมีโจทย์หลักเป็นทุกตัวละครในชุมชนตั้งแต่ ร้านค้าในท้องถิ่น คนในชุมชน และ แน่นอนว่าตัวโฮสเทลเองต้องรอด คนในทีมก็คิดกันจนหัวหมุนว่าโมเดลธุรกิจแบบไหนที่จะพาคนทั้ง 3 กลุ่มนี้ให้รอดไปได้ด้วยกัน จนสุดท้ายก็มาลงเอยที่การทำฟู้ดเดลิเวอรีพร้อมตั้งชื่อให้เก๋ไก๋ว่า Locall ที่มาจาก Local (ชุมชน) + Call (โทร) เรียกได้ว่ายกหูแค่กริ๊งเดียวอาหารอร่อยๆ รสชาติแบบรสมือแม่ (ในที่นี้อาจจะเป็นรสมือลุงป้า?) จะไปเสิร์ฟถึงหน้าบ้านคุณ

“ด้วยความที่ Once again hostel ทำงานกับชุมชนมาโดยตลอด เราจึงเห็น pain point ของร้านค้าในชุมชนว่า เขาไม่สามารถที่จะย้ายไปอยู่บนแพลตฟอร์มออนไลน์เพื่อขายของได้ เราเลยคิดว่าเราอยากจะเป็นตัวกลางตรงนี้ที่จะส่งของจากชุมชนของเราไปสู่ผู้บริโภค จากแต่ก่อนที่โฮสเทลของเราเคยส่งลูกค้าไปให้ร้านแถวนี้ มาวันนี้เราไม่มีลูกค้าจะส่งให้แล้ว ฉะนั้นในเมื่อไม่มีคนเข้ามา พวกเราก็จะช่วยส่งอาหารของเขาออกไปหาคนข้างนอกแทน”

ร้านที่ 2 – อาหารตามสั่ง 24/9

“ทีแรกที่โรงแรมเขามาชวนผมทำ ผมมองมันเป็นเรื่องตลก แล้วใครเขาจะมารู้จักเรา ร้าน 24/9 เหรอ ร้านป้าสามสาวเหรอ ไม่มีใครรู้จักหรอกครับ”

สิ้นประโยคบอกเล่า ลุงเอก-เอกชัย ชัยสกุลโชคดี เจ้าของร้านอาหารตามสั่ง 24/9 หัวเราะร่วนตามสไตล์คนอารมณ์ดี ถ้าให้เดา เราคิดว่าชายตรงหน้าคนนี้ของเราคงกำลังนึกขำในใจ ว่าถ้าหากวันนั้นเขาไม่ตอบตกลงเข้าร่วมเป็นหนึ่งใน 20 ร้านอาหารในชุมชนของ Locall วันนี้เขาคงได้ใช้มือที่เต็มไปด้วยร่องรอยประสบการณ์ปาดคราบน้ำตาแทนหยาดเหงื่อเป็นแน่ ซึ่งเขาอดไม่ได้ที่จะขอบคุณการตัดสินใจของตัวเองในวันนั้น

แม้ออเดอร์จะเข้ามาอย่างไม่ขาดสาย แต่ชายวัย64 ปี ยอมหยุดงานหน้าเตาชั่วคราวเพื่อมาพูดคุยกับเรา

และใช่, เราขอคอนเฟิร์มคุณอีกทีว่าเรากำลังนั่งพูดคุยกัน (แบบมีระยะห่าง) ในวันที่โควิดระบาด

เอกชัยเป็นอีกหนึ่งคนที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการระบาดของโรคโควิด-19 ชายวัย 64 คนนี้เล่าให้เราฟังว่า หากย้อนเวลาไปก่อนหน้านี้สัก 3 เดือน เราคงเจอเขาในมาดช่างเชื่อมเหล็กประจำเรือขุดเจาะน้ำมัน ผู้มีประสบการณ์เชื่อมเหล็กมากกว่า 20 ปี อดีตช่างเชื่อมคนนี้ผ่านงานเชื่อมเหล็กมาแล้วทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็น อิตาลี อัังกฤษ สเปน ยัน อินโดนีเซีย ซึ่งแต่ละประเทศที่ว่ามานั้นต่างก็กำลังรับศึกหนัก ด้วยเหตุนี้เองทำให้เขากลายเป็นคนว่างงานชั่วคราว ลุงเอกจำเป็นต้องเดินทางกลับไทยเพื่อมาช่วยภรรยาขายอาหารตามสั่ง ที่ถึงแม้จะได้รายได้ไม่เท่าทำงานอยู่ต่างแดนแต่อย่างน้อยก็พอมีรายได้มาจุนเจือครอบครัว

“ผลกระทบที่เกิดขึ้นสาหัสมากเลย จากปกติที่ขายไม่ดีอยู่แล้ว พอมาเจอโควิด ผมบอกเลยว่าน็อค” ลุงเอกค่อยๆ หุบยิ้มลงพร้อมๆ กันกับน้ำเสียงที่ค่อยๆ จริงจังขึ้น ก่อนจะเล่าต่อ

“ตอนนั้นผมกังวลมาก ตอนแรกเขาแค่ประกาศปิดเมือง แต่สักพักเขาก็ประกาศออกมาว่าไม่ให้นั่งทานในร้าน ในหัวผมคิดต่อเลยว่าถ้านั่งโต๊ะไม่ได้แล้วจะขายยังไง ซึ่งมันก็เป็นไปตามนั้น จากเมื่อก่อนขายวันหนึ่งได้ พันหก พันเจ็ด พอโควิดมา บางวันขายได้ไม่ถึงสี่ร้อย ข้าวหม้อใหญ่ๆ หุงทีนึงนี่เหลือบาน ผมไม่รู้จะพูดยังไง เงินมันไม่มีเพิ่มแต่ค่าใช้จ่ายเรา ค่าบ้าน ค่าลูก มันไม่ลดเลย”

ทางรอดเดียวที่เหลืออยู่ของร้านอาหารในวันนี้คือ การเปิดให้ลูกค้าสั่งแบบออนไลน์และจัดส่งอาหารแบบดิลิเวอรี แน่นอนว่าหากคุณเป็นร้านอาหารขนาดใหญ่หรือมีสายป่านที่ยาวพอสมควร คงจะไม่ใช่เรื่องยากในการจะกระโดดเข้าไปอยู่ในแพลตฟอร์มออนไลน์ การต้องเสียค่าคอมมิชชั่นให้แพลตฟอร์มต่างๆ สัก 35% ถือได้ว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า อย่างน้อยๆ พวกเขาก็ยังคงได้รายได้บ้าง ดีกว่าไม่ได้อะไรเลย

แต่ไม่ใช่ทุกร้านที่จะทำอย่างนี้ได้ โดยเฉพาะร้านค้าชุมชน ไม่ใช่แค่ยาก แต่ลุงเอกยอมรับว่าเป็นไปไม่ได้

 “ผมไม่ทำ ผมว่ามันเอาเปรียบเกินไป ผมเคยขายอยู่ราคาเท่าไหร่
ผมก็จะขายราคาเท่านั้น”

สิ่งที่ลุงเอกบอกมาเรียกได้ว่าเป็น pain point สำคัญของร้านค้าชุมชน ซึ่ง Locall เองก็เล็งเห็นในจุดนี้ รูปแบบการสั่งซื้อของ Locall จึงเป็นการกำหนดการสั่งซื้อขั้นต่ำอยู่ที่ 300 บาท จะสั่งซื้อกี่เมนู กี่ร้านค้าในย่านก็ได้ตามแต่ใจคุณ โดยรายได้จากข้างต้นจะมารับภาระต้นทุนตรงนี้ จากกลยุทธ์ที่ว่าทำให้แพลตฟอร์มสามารถลดค่าคอมมิชชั่นให้เหลือเพียงแค่ 15% นอกจากนี้ด้านการขนส่งอาหาร locall ยังเลือกใช้พี่วินมอเตอร์ไซด์เป็นไบคเกอร์ในการส่งอาหาร โดยการันตีรายได้ 350 บาทต่อวันและมีค่าขยันเสริมด้วยอีกต่างหาก ถือเป็นการได้สร้างอาชีพให้กับคนในชุมชนอีกช่องทางหนึ่ง

“ถ้าถามว่าพอรวมกลุ่มกันแล้วมันช่วยยังไงบ้าง ก็ยังช่วยให้มีข้าวกิน” ลุงเอกจบประโยคด้วยรอยยิ้มกว้าง

“อย่าว่าถึงมีเก็บเลย สำหรับผมตอนนี้ขอแค่ให้ยังมีข้าวกินก็พอแล้ว คุณลองมองออกไปดู พ่อค้าแม่ค้า ณ เวลานี้จะตายกันหมดแล้ว พวกบนๆ เขาไม่เคยลงมาดูหรอก ผมบอกเลยว่าตอนนี้มันแย่มากจริงๆ แต่พอเขารวมกลุ่มกัน เราก็ยังมีรายได้เข้ามาบ้าง จากขายข้าววันนึงได้ไม่เท่าไหร่ ตอนนี้ขายได้เพิ่มเป็นเท่าตัว ถ้าเป็นแบบนี้ผมก็ยังพออยู่ได้”

เสียงข้อความที่ดังขึ้นอย่างไม่ขาดสายทำให้เราตัดสินใจหยุดการสัมภาษณ์กับลุงเอกไว้เพียงแค่นี้ ก่อนจะแยกกัน เราถามอดีตช่างเชื่อมที่ผันตัวมาเป็นเจ้าของร้านอาหารตามสั่งชั่วคราวว่า อยากจะฝากอะไรถึงใครไหม เขาอมยิ้มเล็กๆ แล้วหันไปมองโฮสเทลซึ่งตั้งอยู่เยื้องๆ กับร้าน 24/9 ลุงเอกหยุดมองอยู่ชั่วครู่ ก่อนจะหันกลับมาพูดกับเราสั้นๆ ว่า

“ก็ไม่รู้ว่าจบโควิดแล้วยังจะมีอยู่อีกหรือเปล่าแต่ผมอยากให้มีต่อนะ”

ร้านที่ 3 – Locall

ไม่ว่าจะหันหน้าไปทางไหน กรุงเทพมหานคร ณ เวลานี้ก็เต็มไปด้วยความรู้สึกหม่นหมอง ความเงียบ ความเหงา ลอยฟุ้งอยู่เต็มเมือง ไม่ต่างจากเมื่อครั้งที่เมืองฟ้าอมรของเราถูกปกคลุมไปด้วยม่านฝุ่น PM 2.5 ที่ต้องบอกตามตรงว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ชวนให้รู้สึกเศร้าในใจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

น่าแปลกที่ความรู้สึกแบบนั้นไม่ได้เกิดขึ้นในย่านนี้ แม้ถนนในซอยสำราญราษฎร์จะเงียบกว่าที่เคยเป็นมา แต่สีหน้าของผู้คนในชุมชนต่างสดใส เรายังคงพบเห็นรอยยิ้มและเสียงทักทายได้เรื่อยๆ ตลอดทาง แน่นอนว่าแม้คุณลุงคุณป้าจะใส่หน้ากากอนามัยแต่ออร่าของความสุขกลับแผ่ออกมาแบบทะลุหน้ากากจนเราสัมผัสได้ ยังไม่นับเสียงโทรศัพท์ในออฟฟิศของ Locall ที่ดังขึ้นทุกๆ 5 นาที เหล่าไบค์เกอร์ที่ต่างวิ่งเข้าวิ่งออกกันอย่างไม่หยุดหย่อน ยิ่งเป็นเครื่องการันตีว่าแพลตฟอร์มน้องใหม่คนนี้ประสบความสำเร็จไปอีกก้าว

จนเราอดไม่ได้ที่จะถาม co-founder คนใหม่ป้ายแดงอย่างเพียงพลอยว่า เธอเองเคยฝันถึงภาพนี้ไว้หรือเปล่า

“ถ้าเป็นเรื่องนี้พลอยกล้าพูดว่าพลอยเห็นภาพชัดกว่าคนอื่น แต่แค่พลอยคนเดียวมันทำอะไรไม่ได้ ต้องบอกไว้ตรงนี้เลยว่าพลอยโชคดีมาก ทุกสิ่งที่มันเกิดขึ้นมาได้เพราะ Locall มีทีมที่แข็งแรงและน้องทุกคนในทีมทำงานกันเต็มที่มาก ถึงแม้ตอนนั้นคนอื่นอาจจะยังมองไม่เห็นภาพ แต่ทุกคนก็กล้าพอที่จะช่วยกันทำให้มันเกิดขึ้นมา ถ้าย้อนคำถามว่าเคยฝันถึงภาพนี้ไหม ถ้าเป็นในระยะเริ่มต้นนี้พลอยว่ามันเกิดขึ้นเร็วกว่าที่คิด แต่เราเชื่อมั่นมาตลอดว่ามันจะเป็นไปได้ เพราะเรามีทีมและต้นทุนที่ดี”

‘ทีมและต้นทุนที่ดี’ ดูจะเป็นอีกหนึ่งจุดแข็งที่ทำให้ Locall สามารถประสบความสำเร็จได้ภายในระยะเวลาอันสั้น ถึงแม้แพลตฟอร์มเดลิเวอรีน้องใหม่จะใช้เวลาก่อร่างสร้างตัวไม่นาน แต่ถ้าหากมองให้ลึกลงไปเราจะรู้ว่าความสำเร็จที่เกิดขึ้นมานี้ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ ทีมงานของ Locall ต่างรู้จักและเข้าใจถึงสภาพความเป็นอยู่ของชุมชนเป็นอย่างดี ระยะเวลากว่า 5 ปีที่พวกเขาทำงานกับชุมชนภายใต้บทบาทของ Once again hostel ทำให้ Locall สามารถวิเคราะห์ข้อจำกัดของร้านค้าได้อย่างตรงจุด ในขณะเดียวกันก็รู้ถึงศักยภาพของตัวเองว่าสามารถทำอะไรได้แค่ไหนและทำในจุดไหนได้บ้าง 

“ทุกอย่างที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดขึ้นแบบปุ๊บปั๊บ เราอาจจะเริ่มทำมันอย่างจริงๆ จังๆ แค่ 7 วันก็จริง แต่ถามว่าทำไมใช้เวลาแค่ 7 วันแล้วเราถึงทำมันขึ้นมาได้เลย มันเป็นเพราะว่าเรามีความสัมพันธ์ที่ดีกับชุมชนมาตลอด ยกตัวอย่างเช่นพวกเมนูอาหารต่างๆ เราก็รู้จักเมนูเด็ดของแต่ละร้านตั้งแต่ทำ Trawell ทุกอย่างที่เราเคยทำมามันช่วยปูทางให้เรา สิ่งที่เราทำจึงแค่หยิบวัตถุดิบต่างๆ ที่เรามีมาผสมกัน แล้วเขย่าให้ออกมาเป็นเมนูใหม่ ฉะนั้นแค่ 7 วันมันก็ออกมาได้เลย”

ยิ่งได้ยินเพียงพลอยพูดอย่างนี้ เราก็ยิ่งเข้าใจว่าทำไมพวกเขาถึงลุกขึ้นมาช่วยชุมชน อาจเป็นเพราะว่าแท้จริงแล้วการมีอยู่ของชุมชนคือการมีอยู่ของเรา แต่ถึงจะพอเดาไปเองได้ เราก็ยังอยากที่จะถามหญิงสาวตรงหน้าว่าสำหรับพวกเขาแล้วอะไรคือสิ่งที่ได้รับกลับมาในการลงมือทำเดลิเวอรีเพื่อชุมชนในครั้งนีี้

“ถ้ามองแบบง่ายที่สุดเลยอย่างน้อยน้องๆ ของพวกเราก็มีงานทำและไม่ตกงาน สำหรับพลอยแค่นี้ก็คุ้มค่ามากๆ แล้ว นอกเหนือจากนี้ถ้าเรามองในระยะยาวสมมติว่าถ้าร้านค้าพวกนี้ปิดไปหมด แล้ววันหนึ่งมันกลับมาสู่ภาวะปกติ แต่ร้านรอบๆ โฮสเทลเรามันปิดไปหมดแล้วนะ หมายความว่าโฮสเทลเราก็จะตั้งอยู่บนพื้นที่บ้านร้าง ดังนั้นคนจะมาเที่ยวที่นี่เพื่ออะไร มันไม่มีประโยชน์เลย ดังนั้นถ้าเรามองไปไกลๆ เราจะรู้ว่าเรามีเหตุผลเต็มที่เลยที่จะต้องทำมันให้ได้”

“พลอยมองว่าการรอดคนเดียวในยุคนี้เป็นเรื่องที่ยากมากๆ บางครั้งการมองตัวเองแค่คนเดียวมันทำให้เราเห็นภาพที่แคบ แต่ถ้าเรามองไปถึงคนอื่น เราอาจจะเจอโอกาสอีกเยอะแยะเต็มไปหมด ดังนั้นถ้าเป็นไปได้อยากให้ลองมองรอบๆ แล้วดูว่าเราช่วยเหลือใครได้บ้าง ทำในสิ่งที่ตัวเองทำได้ ไม่แน่ว่ามันอาจจะช่วยให้เราเจอโอกาสใหม่ๆ ที่อาจจะช่วยให้เราไปต่อได้ในสถานการณ์แบบนี้”

การสัมภาษณ์ดำเนินมาถึงคำถามสุดท้าย คำถามสุดแสนจะคลีเช่ที่ถึงแม้จะซ้ำยังไง แต่เราคิดว่าเป็นคำถามที่ควรค่าแก่การได้รับคำตอบ เพราะอย่างน้อยๆ มันอาจจะเป็นคำตอบที่เป็นเหมือนแบตสำรองให้คุณลุงคุณป้าได้มีแรงผัดกับข้าวต่อ แม้ในวันที่สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 อาจจะยืดออกไปก็ตาม

“หมดโควิดแล้วยังจะทำ Locall ต่อไหม” เราถาม

“ถ้าสิ่งที่เราทำมีค่ากับใครสักคนหรือมีค่ากับตลาด เราก็อยากจะทำมันต่อไปเรื่อยๆ แต่ถ้าสมมติว่ามันอยู่ได้แค่พักหนึ่ง ก็พักหนึ่ง ไม่เป็นไร เพราะการมีอยู่ของมัน ณ เวลานี้ พลอยว่ามันได้ทำประโยชน์แล้ว แค่ได้ช่วยให้ร้านค้ามีช่องทางการขายที่เยอะขึ้น ได้ทำให้คนมารู้จักย่านเรา สำหรับพลอยแค่นี้มันมากแล้ว แต่ถ้ามันไปต่อได้ก็ถือว่าเป็นโบนัส ซึ่งเราเองก็คาดหวังให้มันเป็นแบบนั้น”

ดูท่าสิ่งที่เพียงพลอยคาดหวังน่าจะมาเร็วกว่าที่คิด ไม่ใช่แค่เพิ่มร้านอาหารสุดฮิตหรือขยาย hub ไปตามย่านสุดฮอตทั่วกรุงเทพฯ มาวันนี้ Locall กำลังก้าวขึ้นไปอีกขั้น จาก Locall.bkk ไปสู่ Locall Thailand บริการเดลิเวอรีที่พร้อมเสิร์ฟเมนูเด็ดจากชุมชนทั่วทั้งประเทศไทยไปสู่หน้าบ้านของคุณ ไม่แน่ว่าต่อไป แม้ตัวจะอยู่หาดใหญ่แต่เราอาจจะได้ลองชิมเมนูเด็ดจากเชียงใหม่ได้ง่ายๆ แค่ปลายนิ้วสั่ง โอ้โหคุณขา! เรียกได้ว่าพร้อมอร่อยแบบไม่มีอะไรมาขวางกั้นอีกต่อไป!