ลูกคือความสบายใจของพ่อแม่ ลูกที่ดีต้องไม่ทำให้บุพการีทุกข์ใจ น้ำตาแม่ความไม่สบายใจของพ่อคือบาปของลูก
หากลูกจะตั้งคำถามกับขอบเขตความกตัญญู มองพ่อแม่ในฐานะมนุษย์คนหนึ่งที่ควรเคารพพื้นที่ของกันและกัน
ลูกไม่ได้ขอมาเกิดและการหันหลังให้ค่านิยมชุดเก่าสำหรับคนรุ่นใหม่อาจถูกแปะป้ายว่าอกตัญญูในมุมของคนรุ่นก่อน
ดาว เพื่อนสาวนามสมมติ เจ้าของธุรกิจออนไลน์วัย 24 เล่าถึงความคับข้องใจและการตั้งคำถามกับนิยามความกตัญญูที่เธอเหนื่อยและรู้สึกถูกทำร้ายจากความคาดหวังของแม่ ดาวมีรายได้จากการขายของออนไลน์เดือนละ 70,000 – 100,000 บาท นับเป็นเงินเดือนที่สูงมากเมื่อเทียบกับเด็กจบใหม่ ความภูมิใจและคุณค่าในตัวเองเพิ่มขึ้นเมื่อดาวกลายเป็นหัวหน้าครอบครัวที่เลี้ยงดูแม่และน้องชายออทิสติกได้
ภาพครอบครัวที่ดาวและแม่หวังคือการได้อยู่ด้วยกันขยับจากห้องเช่าเล็กที่อาศัยมานับ 10 ปี ขยายไปเป็นบ้าน หวังถีบหนีความจนหลังดาวเรียนจบมีงานและมีเงินครบสูตรสำเร็จตามแบบแผนที่ควรจะเป็น แต่สี่เดือนที่ย้ายมาอยู่ด้วยกันเพื่อความสบายใจของแม่และหน้าที่ของลูกที่ดี ดาวพบว่าตัวเองป่วยเป็นโรคซึมเศร้าจากความคาดหวังที่ไม่สิ้นสุดของแม่
“ฉันรู้สึกว่ามันไม่เคยจบเลย แม่เคยบอกว่าถึงเวลาที่เราต้องตอบแทนบุญคุณเขา ทำไมเขาถึงโดนว่า ทำไมเขาถึงไม่สามารถมีความสุขได้ ทุกวันนี้ฉันรู้สึกเหมือนถูกลำเลิกบุญคุณมันไม่เคยพอ เพราะเขารู้สึกว่ามันคือสิ่งที่เราต้องทำ เขาคาดหวังให้เราเป็นเหมือนเขา สำนึกบุญคุณพ่อแม่แบบเขา แม่เชื่อว่าความดีของแม่ไม่มีที่สิ้นสุด พ่อแม่ประเสริฐที่สุด มันทำให้เราพิสูจน์ตัวเองต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุดเพื่อให้แม่เชื่อ”
การตั้งคำถามต่อพ่อแม่และความไม่พอใจกับค่านิยมชุดเก่านี้ เริ่มส่งเสียงดังขึ้นในบรรดาลูก ๆ ที่ให้คุณค่ากับความรักความสัมพันธ์ที่ไม่ใช่วัตถุและการพิสูจน์ตัวเองว่ารักเหนือหัว แต่เคารพคุณค่าความเป็นมนุษย์และให้ความสำคัญกับหลักมนุษยธรรมมากกว่าศีลธรรมที่พ่อแม่เรายึดถือ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าค่านิยมนั้นฝังรากอยู่กับพวกเราเช่นกัน ทุกครั้งที่รู้สึกแย่กับพ่อแม่เสียงสบถในใจที่เกิดขึ้นจะมีเสียงสังคมที่อยู่ในหัวคอยบอกว่าบาป เนรคุณ อกตัญญู แม้จะรู้สึกอึดอัดสงสัยว่าเราเป็นลูกที่เลวหรือเปล่าแต่เราก็สลัดมันออกไม่ได้เช่นกัน เราจะไม่ถือมันไปต่อแน่ แต่เราวางไม่ได้เพราะพ่อแม่ผู้ประเสริฐและลูกที่ดีไม่อนุญาต
“คนสมัยนี้เขาพูดง่ายเนอะ เข้าใจว่าเราคือคนเหมือนกัน แต่ฉันเป็นแม่นะ ไม่ใช่คนเหมือน ๆ กัน เว้นวรรคให้ฉันนิดนึง”
แม่ดาวอธิบายแกมบ่นถึงความคิดผิดแผกและความเป็นมนุษย์ที่ลูกสาวอธิบายให้ฟัง แม่เป็นแม่ตัวอย่างของเพื่อนที่ออฟฟิศ เป็นลูกที่ดีในบรรดาพี่น้องในชนบท การพูดจาถนอมน้ำใจแม่ ให้เงินเดือนหรือทองเล็ก ๆ น้อย ๆ คือ รูปแบบความรักที่แม่ทำมาตลอด
“ที่ผ่านมาลูกเราตั้งใจเรียน เลี้ยงแม่เลี้ยงน้อง เขาถามว่าแม่รักหนูไหม ความดีที่หนูมีให้มันลดลงเหรอ แม่บอกไม่ลดเลยลูก แต่แม่อยากได้อีกข้อ ข้อเดียวให้แม่สบายใจหนูทำให้แม่ได้ไหม พอเห็นว่าเขาป่วยเราก็คิดนะ เพราะแม่เหรอที่ทำให้ลูกเป็นแบบนี้”
หากมองด้วยเลนส์ของความต่างระหว่างวัย (Generation Gap) อาจพบว่าปัญหาด้านทัศนคติ ความเชื่อ และสภาพแวดล้อมทางสังคมที่หล่อหลอมมาต่างกันเป็นผลให้การสื่อสาร รูปแบบการแสดงออกและการให้คุณค่าความรักความสัมพันธ์ของแม่ลูกสองวัยคู่นี้มีปัญหาที่อาจคล้ายกันกับครอบครัวอื่น ๆ หรือเป็นแค่เสียงบ่นของคนรุ่นใหม่ในช่วงขวบวัยการเติบโตที่ต้องเริ่มรับผิดชอบชีวิตที่คนรุ่นก่อนเจอและล้วนผ่านกันมาได้
ในทัศนะของ ผศ. ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี อาจารย์ประจำวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้สัมภาษณ์ว่าการตั้งคำถามกับความกตัญญู คือ ความชอบธรรมที่คนรุ่นใหม่จะตั้งคำถามและไม่ใช่เรื่องที่ผิดศีลธรรม เรามักคิดว่าความกตัญญูคือสิ่งที่อยู่กับสังคมไทยมานานและไม่สามารถตัดขาดหรือเปลี่ยนแปลงได้แต่ถ้ามองย้อนกลับไปในสังคมเกษตรกรรมจะพบว่ามีนัยยะของการพึ่งตัวเองของผู้สูงอายุอยู่มากทีเดียว ความกตัญญูที่เราเป็นอยู่มันมาพร้อมกับแนวคิดเสรีนิยมสมัยใหม่ (Neoliberalism) ตั้งแต่ช่วงปี 1980 ที่เข้ามาทำลายประชาธิปไตยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยสร้างค่านิยมการรับผิดชอบตัวเองขึ้นมาแทนการที่รัฐผลักภาระให้ปัจเจกสร้างทุนมนุษย์ (Human Capital) ลงทุนผ่านการศึกษาและความมั่นคงในชีวิต
คุณอยากเก่งใช่ไหมต้องเรียนต้องรับผิดชอบค่าใช่จ่ายทางการศึกษา คุณอยากมั่นคงในชีวิตคุณต้องออมเงินต้องซื้อประกันชีวิตเพื่อความปลอดภัยยามเจ็บป่วย แก่ไปโดยมีเงินบำนาญของตัวเอง พอมาอยู่ในบริบทของสังคมไทยที่ไม่ได้เลี้ยงดูชีวิตของพ่อแม่เรา ทั้ง ๆ ที่เขาทำงานหนักเพื่อประเทศนี้ทั้งทางตรงและทางอ้อม แต่พวกเขาไม่มีเงินเก็บเลย ไม่ใช่เพราะไม่มีการวางแผนทางการเงิน แต่เงินเหล่านั้นหมดไปกับสิ่งที่ควรจะเป็นสิทธิ์ เช่น ค่าเล่าเรียนลูก, ค่ารักษาพยาบาล, ค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันและค่าเลี้ยงดูพ่อแม่ซึ่งเป็นสิ่งที่เราไม่มีเพราะเราไม่ใช่รัฐสวัสดิการ เหล่านี้คือการสร้างความมั่นคงและปลอดภัยในชีวิต เมื่อทำไม่ได้ความรับผิดชอบที่รัฐและนายทุนต้องทำก็ถูกถ่ายโอนมาที่ผู้ใช้แรงงานคือพ่อแม่ของเราและส่งต่อให้เราในฐานะลูกอีกทอดนึงเป็นความรับผิดชอบที่มาพร้อมกับความกลัวและความคาดหวังว่าลูกของพวกเขาจะต้องไม่เจอชะตากรรมเดียวกับเขาและชีวิตเขาจะดีขึ้นได้ด้วยลูกชายลูกสาวที่เขามอบความรักและการลงทุนให้ เพราะสวัสดิการที่มันเหลื่อมล้ำและการขวนขวายเพื่อเข้าถึงสิทธิ์ที่ไม่เท่ากัน มันทำให้ความสัมพันธ์ในครอบครัวมีลักษณะตึงเครียด กลายเป็นว่าความกตัญญูในสังคมไทยที่มีความเหลื่อมล้ำสูงนี้ช่วยอุ้มรัฐและนายทุนจ่ายสิทธิ์ที่ปัจเจกควรจะได้
ในขณะที่ความรักและความสัมพันธ์ในประเทศรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า (Universal Welfare State) อย่างสวีเดนหรือนอร์เวย์จะเป็นอีกรูปแบบนึง เมื่อเราสามารถเรียนฟรีจนจบปริญญาเอก สามารถเลือกอาชีพที่ชอบโดยไม่ต้องคำนึงถึงเกียรติและสวัสดิการที่พ่อแม่จะได้รับจากเรา ความสัมพันธ์ในครอบครัวเป็นรูปแบบของความห่วงใยและใส่ใจ (Caring) ไม่ใช่ความรักความสัมพันธ์แบบความรับผิดชอบ (Responsibility) ที่ต้องเลี้ยงดูตอนแก่เพราะพ่อแม่เราได้รับเงินบำนาญที่รัฐบาลจ่ายให้ทุกเดือน ความรักและความสัมพันธ์ของบ้านในรัฐที่มีสวัสดิการดีแปรเปลี่ยนเป็นการใช้เวลาร่วมกันเป็นความสัมพันธ์ทางใจที่อบอุ่น เมื่อเราสามารถมีเวลาอยู่กับพ่อแม่ได้เพราะไม่ต้องทำงานสัปดาห์ละ 70 ชม. ไม่ต้องนำใบปริญญาไปกราบเท้าแม่เพราะเราเรียนฟรี ไม่ต้องนำทองไปให้ในวันสงกรานต์หรือพาไปเที่ยวต่างประเทศเพราะเป็นสิ่งที่พ่อแม่ทำไม่ได้กลายเป็นสิ่งวิเศษและการแสดงความรักของลูกที่ดีควรทำ
ขยับมามองความสัมพันธ์ของครอบครัวที่คล้ายกับไทยในเอเชีย คือ เกาหลีใต้ การเติบโตทางเศรษฐกิจของเกาหลีใต้สูงเช่นเดียวกับการแข่งขันและความเหลื่อมล้ำจากกลุ่มทุน การแข่งขันเพื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัยของเยาวชนเกาหลีใต้สูงมากเพื่อขยับฐานะทางสังคม อีกด้านนึงระบบอัตราค่าจ้างก็สูงมากเช่นกัน
คนแก่วัยทำงานในเกาหลีใต้ได้รับค่าจ้างที่เลี้ยงดูตัวเองได้ จึงไม่ถึงกับผลักภาระให้ลูกรับผิดชอบ แต่สิ่งที่น่าสนใจคือวัฒนธรรมช่างแม่งของคนรุ่นใหม่ในเกาหลีใต้ หรือ 시발 비용 (ชิลบัล บิยง) ที่มีความเหลื่อมล้ำและการแข่งขันสูง พวกเขาไม่เชื่อในค่านิยมขยัน ประหยัด อดทน อดออมอีกต่อไป เพราะช่องว่างนั้นทำให้เขาเห็นว่าการทำตามค่านิยมเก่า ๆ ไม่สามารถทำให้ชีวิตของเราดีขึ้นได้จากโครงสร้างที่กดทับ การอดออมเดือนละ 2,000 บาทไม่ได้การันตีว่าชีวิตเขาจะปลอดภัย หากจะโทษว่าคนรุ่นใหม่เหล่านั้นไม่มีวินัยทางการเงินก็ไม่ถูกไปซะทีเดียว เพราะเขาไม่เชื่อและเห็นว่ามันไม่จริง คนรุ่นก่อนก็ไม่ได้ปลอดภัยหรือมั่นคงอย่างที่พูดมา
แม้แต่จีนที่มีค่านิยมบูชาบรรพบุรุษก็ไม่ได้มีความคิดเรื่องความกตัญญูเลี้ยงดูพ่อแม่เข้มข้นเท่าไทยเพราะจีนแผ่นดินใหญ่ผ่านการปฏิรูปทางวัฒนธรรมครั้งใหญ่มา แต่ความสัมพันธ์ในครอบครัวเป็นการแสดงฐานะทางชนชั้นมากกว่า ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างมาเลเซีย อินโดนีเซียมีลักษณะเป็นครอบครัวขยายเยอะกว่าไทย ในบ้านมีปู่ย่าตายายคล้ายความเป็นกงสี แต่ไม่มีความเข้มข้นเรื่องความกตัญญูที่ปัจเจกต้องรับผิดชอบเหมือนไทย
“เราเหมือนกองทุนปันผลให้พ่อแม่คือลงทุนซื้อหุ้นตัวนี้ไว้ ซื้อเดือนละพัน เดือนละหมื่น ลงทุนไว้พอผ่านไปสัก 20 ปี ลงทุนกับมันครบสองล้านเดี๋ยวมันกลับมาเลี้ยงดูเรา ตรรกะนี้เหมือนกองทุนปันผลเลย ซึ่งมันเป็นการทำลายความเป็นมนุษย์เยอะเหมือนกัน แต่สิ่งที่ทำให้พ่อแม่เราคิดแบบนี้คือระบบความเหลื่อมล้ำและการไม่มีสวัสดิการนี้เอง” อ.ษัษฐารัมย์กล่าวทิ้งท้าย
พ่อแม่ก็เคยเป็นคนรุ่นเราที่ต้องแบบรับภาระเช่นเดียวกับที่เราเจอทุกวันนี้ เขาต้องทิ้งความฝันเพื่อสร้างความหวังและความปลอดภัยให้ลูก มองอีกมุมเขาก็น่าเห็นใจที่ถูกระบบทำร้ายและเราก็ไม่อยากส่งต่อความรักความคาดหวังในกองทุนปันผลที่เรียกว่าลูกของเราเช่นกัน
กลับมาที่บ้านของดาวเราถามเธอว่าความกตัญญูที่แม่คาดหวังทำร้ายเธออย่างไร เธอนิ่งคิดกับคำถามทบทวนกับตัวเองก่อนตอบว่า
“มันทำให้ฉันสงสัยในตัวเองว่าฉันป็นคนดีหรือเปล่า ฉันเคยมั่นใจมากว่าฉันทำดี จนวันนึงฉันคิดว่าฉันทำผิดเหรอ เอ๊ะหรือเรายังดีไม่พอ เราจะเถียงแม่ทำไม ทำไมเราไม่ให้เงินแม่ให้หมดไปเลยชีวิตเขาจะได้ดี เหมือนสิ่งที่เราทำมามันยังดีไม่พอเหรอ ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านี้ฉันรู้สึกมั่นใจมากว่าฉันเป็นลูกที่ดี พอมันโดนกดดันจากแม่เยอะเลยรู้สึกว่า เราดีไม่พอ”
ดาวหยุดเล่าเช็ดน้ำตาที่กลั้นไว้ก่อนหน้า หายใจลึก ๆ หนึ่งทีไล่ความเหนื่อยล้า ไหล่ที่ห่อลง เธอคงแบกมันไว้หนัก หนักเพราะความสงสัยว่าเธอเป็นลูกที่ดีไม่พอ ดาวเล่าต่อถึงเรื่องที่เธอปรึกษาจิตแพทย์ การรับมือกับแม่และความป่วยไข้ทางใจของเธอ
“คุณไม่ต้องพิสูจน์ตัวเองก็ได้ คุณทำมาเยอะแล้วนะ ความสบายใจมันอยู่ที่ตัวคุณ ถ้าอยู่ที่แม่มันไม่มีวันสิ้นสุดหรอก หมอบอกเราแบบนั้น”
รัฐสวัสดิการคือทางออกของคำถามนี้? ลูกที่ดีในประเทศที่มีรัฐสวัสดิการดี ความรักแบบใส่ใจไม่ใช่ความรักที่ต้องรับผิดชอบ
อ.ษัษฐรัมย์กล่าวเสริมว่า สิ่งที่คนรุ่นไหมเจอหนักกว่ารุ่นพ่อแม่เพราะต้องเผชิญกับภาระ 2 ด้าน คือ เงื่อนไขเศรษฐกิจที่แย่อยู่แล้ว เงื่อนไขที่ต้องรับผิดชอบพ่อแม่เพราะรัฐกับกลุ่มทุนไม่รับผิดชอบก็เรื่องใหญ่จึงไม่แปลกใจที่จะเห็นความไม่พอใจของคนรุ่นใหม่ที่เกิดขึ้นกับคนรุ่นเก่าซึ่งส่วนใหญ่คือพ่อแม่ของพวกเขา แต่สิ่งที่ควรตระหนักคือทั้งพวกเขาและพวกเราล้วนถูกโครงสร้างกดทับ คนรุ่นใหม่ต้องทำงานหนักกว่ารุ่นพ่อแม่ถึง 3 เท่า เพื่อให้มาตรฐานชีวิตแบบเดียวกัน คนรุ่นใหม่ทำงานมากกว่า 2 งาน เพื่อที่จะมีคุณภาพชีวิตที่ดี การทำงานหนักแบบนี้ไม่สามารถทำให้พวกเขารวยขึ้นได้ เพราะเพียงค่าใช้จ่ายเรื่องพื้นฐานก็หมดไปเดือนต่อเดือน สิ่งเหล่านี้ถูกส่งต่อการแบกภาระไปทอดๆ และคนรุ่นถัดไปก็จะยิ่งแย่กว่าคนรุ่นปัจจุบันเสียอีก
ด้าน ศ.ดร.เอื้อมพร พิชัยสนิธ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และศูนย์วิจัยความเหลื่อมล้ำและนโยบายสังคมให้ความเห็นประเด็นการตั้งคำถามถึงความพร้อมและความเป็นไปได้ของรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าในไทยผ่านมุมมองของนักวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์ว่ารัฐสวัสดิการถ้วนหน้า (Universal Welfare State) แบบกลุ่มประเทศแถบแสกนดิเนเวียร์ที่หลายคนใฝ่ฝันถึงสวัสดิการและคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า พวกเขาใช้เวลาและการตกลงร่วมกันของคนในประเทศเพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิพึงมีเหล่านั้น รัฐสวัสดิการคือเหรียญสองด้านที่ต้องทำความเข้าใจ ด้านหนึ่งคือสิทธิที่ประชาชนจะได้รับ อีกด้านคือบทบาทการเสียภาษี
ข้อเท็จจริงของการเสียภาษีในประเทศรัฐสวัสดิการคืออัตราการจัดเก็บภาษีแบบอัตราก้าวหน้าสูงราว 60-80 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์รวมในประเทศ (GDP) ในขณะที่ปัจจุบันประเทศไทยเก็บภาษีได้เพียง 18 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น
“ฉันยินดีที่จะจ่ายภาษี” (I’m happy to pay tax) คือ ประโยคที่คนในประเทศรัฐสวัสดิการพูดอย่างภูมิใจ เพราะพวกเขาเชื่อมั่นว่าภาษีเหล่านั้นจะถูกนำมาพัฒนาประเทศและแปรเปลี่ยนเป็นสวัสดิการต่างๆ ที่พวกเขาควรได้รับ ความยินดีและความมั่นใจต่อการจ่ายภาษีนี้เกิดจากความไว้วางใจในความโปร่งใสของรัฐบาลผู้เป็นกองกลางในการจัดเก็บภาษีและนำไปกระจายซ้ำ (Redistribution) อย่างทั่วถึงและเสมอภาค
“ความโปร่งใสของรัฐบาลคือใจความสำคัญที่รัฐต้องพิสูจน์และทำการบ้านเพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่าเงินภาษีทุกบาทที่รัฐจัดเก็บจากประชาชนเป็นประโยชน์ต่อพวกเขาและคนในประเทศ”
ลักษณะเฉพาะของพลเมืองในประเทศรัฐสวัสดิการคือความรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน (Solidarity) อาจฟังดูคล้ายความสามัคคีแต่ไม่ใช่ Solidarity คือความรู้สึกเอื้อเฟื้อทุกข์สุขต่อเพื่อนมนุษย์ร่วมสังคม ปัญหาของปัจเจกคือปัญหาร่วมของพวกเขาในฐานะเพื่อนร่วมสังคมด้วย ความรู้สึกที่ว่าพวกเขาทุกคนคือผู้ร่วมสร้างสังคมและชาติโดยไม่มีข้อจำกัดเรื่องเพศ ชนชั้น ฐานะ อาชีพหรือข้อแม้อื่นที่มักพบในประเทศเหลื่อมล้ำ อีกทั้งความไว้วางใจในสังคม (Social Trust) คือความรู้สึกเชื่อมั่นต่อรัฐบาลที่พวกเขาเลือก สองสิ่งนี้คือคุณสมบัติของรัฐและประชาชนในประเทศรัฐสวัสดิการที่เราใฝ่ฝัน
หากถามว่าไทยพร้อมไหม นานแค่ไหนที่เราจะเป็นแบบนั้นได้ เพราะเราเห็นปัญหาและคิดว่าลึกๆ แล้วยากเป็นไปไม่ได้ แต่ถ้าเราตั้งต้นว่ารัฐสวัสดิการถ้วนหน้าคือความจำเป็น เงินบาทแรกของภาษีและลำดับความสำคัญของเรื่องนี้จะเปลี่ยนไป การคัดเลือกตัดสินแปะป้ายว่าใครควรได้รับความช่วยเหลือทำคนหล่นหายหลุดร่วงจากตะแกรงการประเมินของรัฐไทยมานานแค่ไหน คนรุ่นใหม่จึงตั้งคำถามว่าประชาชนอยู่ตรงไหนในสมการของรัฐ
ก่อนออกจากบ้านของดาวและแม่วันนั้นเราถามถึงความคาดหวังที่มีต่อกันในอนาคต ดาวนิ่งคิดอยู่สักพักจึงตอบว่า “ปล่อยเราไป เราอยากอยู่กับเขา อยากรักกันแบบในโฆษณา แต่มันเป็นไปไม่ได้เราไม่ได้รักกันแบบนั้น เราอยากให้เขาพูดว่าแม่เชื่อว่าลูกจะเลี้ยงแม่ แค่นี้”
คำตอบของแม่ไม่ต่างกับความห่วงใยของดาว “แม่อยากให้เขามีความสุข แม่กลัวลูกฆ่าตัวตาย เขาเครียด แม่เสียใจนะถ้าแม่ทำให้ลูกเป็นแบบนี้ เรื่องสร้างบ้านที่สัญญาไว้แม่รู้ลูกทำให้แน่ เสียใจถ้าลูกตั้งใจทิ้งเราที่ผ่านมาลูกบอกว่าจะเลี้ยงแม่กับน้อง นี่เป็นคำที่ทำให้แม่ภูมิใจ”
เมื่อความสบายใจและความภูมิใจของแม่และลูกไม่เหมือนกันไม่ใช่จุดเดียวกันและคล้ายจะไม่มีที่สิ้นสุด คำถามและกับดักความกตัญญูจะแปรเปลี่ยนเป็นความรักความห่วงใยแบบไร้พันธะได้ไหมในรัฐไร้สวัสดิการนี้