ผู้อพยพหน้าใหม่ในพรมแดนสีเทา - Decode
Reading Time: 3 minutes

“ผมเกิดในประเทศไทย ผมก็มีสิทธิที่จะได้รับบัตรประชาชน
ซึ่งต้องไปดูอีกทีว่าเอกสารผมจะสามารถขอบัตรประชาชนได้ไหม”

มิน เด็กหนุ่มชาวเมียนมาผู้ที่เกิดในประเทศไทยเล่าถึงสถานะในการขอรับบัตรประชาชนของตน 

เขาเกิดและเติบโตในประเทศไทย มีใบเกิดและบัตรประจำตัวบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน (บัตรสีชมพู 10 ปี) ซึ่งผู้ที่ครอบครองบัตรนี้จะได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานบางสิทธิตามหลักสิทธิมนุษยชน อาทิ สิทธิในการอยู่อาศัย สิทธิในการเรียน สิทธิในการรักษาพยาบาล ส่วนสิทธิขั้นพื้นฐานที่สงวนไว้จะได้แก่ สิทธิในการถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดิน เป็นต้น

แม้สิทธิในการเรียนจะเป็นสิทธิที่รัฐให้เขาได้อย่างครบครัน
แต่รัฐกลับไม่ได้ประคองให้เขาดำรงอยู่ในสังคมด้วยสถานะ “นักเรียน” ได้

มินได้เข้ารับการศึกษาตั้งแต่อนุบาลถึงมัธยมสี่ (ศูนย์การเรียน Good morning ช่วงอนุบาล / โรงเรียนอนุกูลช่วงประถมหนึ่ง / ศูนย์การเรียนอิระวดีช่วงประถมสองถึงมัธยมหนึ่ง / ศูนย์การเรียนปารมีช่วงมัธยมสองถึงมัธยมสี่) แต่ด้วยสถานการณ์โรคระบาดทำให้การเข้าเรียนนั้นยากลำบาก เขาจึงตัดสินใจออกจากระบบการศึกษาและเข้าสู่สถานะแรงงาน

ปัจจุบันมินทำงานอยู่ที่ร้านเฟอร์นิเจอร์แห่งหนึ่งในอำเภอแม่สอด โดยได้เงินเดือนราว ๆ เก้าพันบาท แต่อย่างไรก็ตาม งานในปัจจุบันก็ไม่มีสวัสดิการใด ๆ ให้เขา แม้ทางนายจ้างบอกว่าจะทำประกันให้ แต่ตัวเขาเองก็ยังไม่ได้รับประกันดังกล่าว และในฐานะที่เขาเกิดในประเทศไทย เขามองว่าเขาควรได้รับ “บัตรประชาชน” เพราะนอกเหนือไปจากสวัสดิการต่าง ๆ มันจะทำให้เขาได้รับโอกาสในอนาคตที่มากกว่านี้

“อนาคตอยากทำงานที่เป็นธุรกิจของตัวเอง อยากจะเป็นพ่อค้าขาย
เป็นนายจ้าง ถ้ามีที่ดินก็อยากจะปลูกสร้างที่พักและให้คนเช่าอยู่”

คงยากจะปฏิเสธว่า รัฐเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้แนวทางการจัดการ ช่วยเหลือ เยียวยาแรงงานข้ามชาติ
หรือผู้อพยพลี้ภัยในประเทศไทยค้างเติ่งอยู่บนหอคอยงาช้าง และยากจะตกลงมาสู่คนข้ามชาติในรัฐไทย

โดยเฉพาะผู้อพยพลี้ภัยหน้าใหม่ ทันทีที่ก้าวพ้นเส้นสมมุติระหว่างประเทศ สถานะของพวกเขาก็จะเหลือเพียง “ผู้แสวงหาที่พักพิง” และอยู่อย่างผิดกฎหมายโดยกฎหมายเสียเอง ซึ่งปัจจุบันก็ยังเป็นความท้าทายอย่างยิ่งของรัฐและภาคประชาสังคมในการหาแนวทางจัดการคนกลุ่มนี้อย่างเป็นทางการ

ส่วนด้านผู้ที่อพยพใหม่เข้าเมืองลักษณะของแรงงาน ก็ยังอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องจับตามอง เนื่องจากการเติบโตของทุนจีนและการขยายตัวของสถานบันเทิงครบวงจรที่ชายแดนเมียนมา ที่มาพร้อมกับความเสี่ยงด้านคอรัปชั่น ขบวนการนอกกฎหมาย และการค้ามนุษย์ ทำให้การจัดการแรงงานข้ามชาตินั้นเต็มไปด้วยความซับซ้อนของกลุ่มอพยพและความยากลำบากในการจัดการช่วยเหลือ

De/code จึงชวน ศิววงศ์ ทวีสุข นักวิชาการอิสระมามองแรงงานข้ามชาติและผู้อพยพลี้ภัยในพรมแดนไทย
ถึงความซับซ้อนของกลุ่มผู้อพยพข้ามชาติเหล่านี้ว่ามีความแตกต่างหลากหลายเพียงใด และแนวทางการจัดการกับความหลากหลายดังกล่าว รวมไปถึงการทลายกรอบคิดระหว่างความเป็นแรงงานกับความเป็นผู้ลี้ภัย จนกระทั่งการทำให้คนอพยพข้ามชาติเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างสังคมและรัฐที่มั่นคงโดยไม่ต้องรอให้ถึงชาติหน้า

ผู้อพยพผู้ไม่ปรากฎอยู่บนตัวเลขของเราและรัฐ 

ศิววงศ์อธิบายว่า บัตรประชาชนในความหมายกว้าง ๆ ก็คือ บัตรทะเบียนราษฎร์ ฉะนั้นบัตรที่คนไร้สัญชาติไทยบางคนถืออยู่ก็นับว่าเป็นบัตรประชาชนแบบหนึ่ง (เช่นบัตรสีชมพูของมิน) แม้จะมีสิทธิ์อยู่อาศัยแต่ก็ยังมีช่องว่างอยู่อีกมาก รวมถึงมีการสงวนสิทธิบางอย่างเอาไว้ แต่ถึงกระนั้น ในระยะยาวกลุ่มคนเหล่านี้ก็ยังมีสิทธิ์ที่จะเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติ พิสูจน์ขอรับทะเบียนการเกิด และพัฒนาสัญชาติต่อไปได้เรื่อย ๆ 

หรือในกรณีของเด็กเกิดใหม่ที่ไม่มีเอกสารใดเลย เขาอาจไม่มีสิทธิ์ในการทำบัตรหรือใบเกิดโดยตรง แต่เขามีสิทธิ์ที่จะเข้าเรียนโรงเรียนไทยตามพันธกิจของรัฐ และเมื่อเข้าเรียนก็จะได้บัตรนักเรียน และก็นำบัตรนักเรียนนั้นไปทำบัตรทะเบียนราษฎร์ได้ แม้ตอนนี้จะเกิดความล่าช้าในการดำเนินการ เนื่องจากความยากลำบากในการจัดการผู้อพยพใหม่ รวมถึงการดำเนินงานที่ต้องผ่านหลายหน่วยงาน แต่ว่าในอนาคต รัฐไทยก็อาจปรับนโยบายเพื่อให้กลุ่มคนเหล่านี้เข้าถึงได้ง่ายขึ้น

เขาเปรียบเทียบอัตราการเกิดของคนไทยในช่วงหลังโรคระบาด ที่เด็กไทยนั้นมีอัตราการเกิดที่ต่ำมากจนสังคมไทยกำลังเข้าสู่การขาดแรงงาน ประชากร หรือสมาชิกโดยรวมของสังคม ฉะนั้นสังคมไทยและรัฐต้องคิดร่วมกันว่า จะจัดการคนเหล่านี้อย่างไรเพื่อตอบสนองความต้องการเชิงประชากรในอนาคต

ซึ่งขณะนี้ก็มีความพยายามของสถาบันวิจัยประชากรและสังคม ม.มหิดล โดย อ.อภิชาติ จำรัสฤทธิรงค์ เสนอให้มีกระทรวงกิจการคนเข้าเมืองและพลเมือง เพื่อที่ให้เข้ามาจัดการกับผู้อพยพย้ายถิ่นโดยเฉพาะ และทำให้เขาเป็นประชากรของไทยเพื่อทดแทนคนที่หายไปจากสังคม 

“เราจัดการคนกลุ่มนี้มาได้ตั้งหลายแสนคน
กับคนอีกจำนวนเท่านี้ก็คงไม่น่ามีปัญหา”

ศิววงศ์เสนอว่า แนวทางที่เป็นไปได้มากที่สุดในการทำให้ผู้คนที่ไม่ปรากฎนั้นเข้าสู่ฐานข้อมูล คือ การใช้พระราชบัญญัติทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534 มาตรา 38 วรรค 2 ที่เขียนไว้ว่าในกรณีของผู้ที่ไร้รัฐและสัญชาติ รัฐไทยมีหน้าที่ทำทะเบียนประวัติหรือออกบัตรให้บุคคลดังกล่าว โดยการใช้มาตรานี้ควรใช้ด้วยการตีความอย่างกว้าง เพื่อให้ครอบคลุมกลุ่มคนที่เดินทางเข้ามาอย่างผิดกฎหมาย (ผู้ลี้ภัยใหม่) ผู้ที่ไม่สามารถพิสูจน์ชาติ หรือไม่มีบัตรแสดงตน

เขาคิดว่าคนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ประสงค์ที่จะเข้าสู่ทะเบียนราษฎร์ แม้อาจมีกลุ่มที่ไม่ต้องการอาศัยในไทย กลุ่มที่ต้องการไปต่อที่ประเทศที่สาม หรือกลุ่มที่ไม่สนใจกฎหมายของไทย แต่ยังไงพวกเขาก็สนใจการขึ้นสถานะทางทะเบียนของตน อย่างไรก็ตามเขาก็ต้องเข้าสู่ระบบไม่ว่าจะของไทยหรือสหประชาชาติ และในท้ายที่สุด เขาก็จะมีตัวตนในฐานข้อมูลของไทย เราก็จะวางแนวทางในการจัดการ ช่วยเหลือ เยียวยาพวกเขาต่อได้อย่างเป็นรูปธรรม

“มันคงต้องยกระดับมาตรฐานและเครื่องมือของไทยด้วย
ให้เขามั่นใจว่าสังคมนี้ปกป้องเขาได้
ถ้าไม่ได้ก็ไม่มีใครอยากขึ้นทะเบียน”

แรงงานอพยพและผู้ลี้ภัยสงคราม กับความแตกต่างที่เหมือนกัน

“คงไม่มีใครอยากพูดความจริง ทันทีที่ใช้คำว่าผู้ลี้ภัย
เราก็จะยอมรับว่ามีกลุ่มคนที่เป็นผู้ลี้ภัยในประเทศ
และจะถูกบังคับใช้กฎหมายระหว่างประเทศทันที”

โดยพื้นฐานประเทศไทยมีระเบียบการจัดการแรงงานข้ามชาติตามข้อตกลงระหว่างประเทศ (MOU) อยู่กับ 4 ประเทศ คือ เมียนมา ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ซึ่งจะเข้ามาทำงานในภาคอุตสาหกรรมเป็นหลัก อีกส่วนหนึ่ง คือ พ.ร.ก. การบริหารการจัดการการทำงานของคนต่างด้าว มาตรา 64 ในการนำเข้าแรงงานข้ามชาติตามจังหวัดติดพรมแดน ทั้งในลักษณะแรงงานแบบไป-กลับและแรงงานตามฤดูกาล

ศิววงศ์เล่าว่า เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม ปี พ.ศ. 2565 ที่คณะรัฐมนตรีมีมติเร่งรัดให้นายจ้างที่มีแรงงานข้ามชาติสถานะผิดกฎหมาย เข้ามายื่นขอใบอนุญาตทำงานให้กับแรงงานข้ามชาติตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว เพื่อสามารถผ่อนผันให้อยู่ในประเทศไทยและทำงานต่อได้ ซึ่งนั่นทำให้แรงงานข้ามชาติที่ข้ามแดนมาหลังวันที่ 5 เป็นต้นไป กลายเป็นคนผิดกฎหมายไปโดยปริยาย

อีกด้านคือ ผลกระทบจากการจำกัดการออกหนังสือเดินทางของประเทศเมียนมา ที่ทำให้ผู้อพยพจากเมียนมาในไทยที่ถือหนังสือเดินทางหมดอายุ ไม่ออกหนังสือเดินทางเล่มใหม่จากทางเมียนมาได้ หรือกรณีของกัมพูชาที่การทุจริตคอรัปชั่นในประเทศสูงมาก ทำให้หนังสือเดินทางมีราคาแพงเกินเอื้อม หรือลาวที่รัฐบาลไม่อยากให้ประชาชนของเขาเข้ามาทำงานที่ไทย กลไกการออกหนังสือเดินทางก็ไม่ง่าย เงื่อนไขเหล่านี้ทำให้ช่องทางตาม MOU น้อยลงทันที และกลุ่มคนเหล่านี้ในไทยมีโอกาสหลุดออกจากการมีสถานะทางกฎหมายตามกฎหมายของไทย

รวมไปถึงการเข้ามาของผู้อพยพลี้ภัยสงครามใหม่ ที่รัฐไม่มีระเบียบการจัดการใดเลย และการปะทะกันระหว่างกลุ่มที่พยายามจัดการผู้ลี้ภัยกับกลุ่มที่ไม่ต้องการผู้ลี้ภัยในประเทศ ทำให้แนวทางสำหรับผู้ลี้ภัยนั้นขยับเขยื้อนไปอย่างเนิบช้า และพื้นที่ท้องถิ่นก็ไม่สามารถจัดการคนกลุ่มนี้ตามระเบียบที่เกี่ยวกับแรงงานข้ามชาติได้อีกด้วย เพราะผู้อพยพไม่ถูกนับรวมเป็นแรงงาน

แม้รัฐไทยจะเร่งกระบวนการเกี่ยวกับแรงงานขึ้นมา แต่ก็ยังขาดความชัดเจนในระเบียบและนโยบาย กรอบการจัดการแรงงานก็ยังไม่ยืดหยุ่นพอที่จะรองรับความหลากหลายของกลุ่มแรงงานและผู้อพยพ ฉะนั้นไม่ว่าจะเป็นแรงงานอพยพหลังวันที่ห้า ผู้ถูกตัดขาดจากประเทศแม่ หรือผู้ลี้ภัยสงครามใหม่ ก็ต่างอยู่ท่ามกลางความลักลั่นของกฎหมายที่เกี่ยวกับการจัดการคนข้ามชาติ

“ความไม่ชัดเจนของเรา คือ ความชัดเจนของเรา
คือเราไม่มีความพยายามที่จะทำให้นโยบายคนข้ามชาติยืดหยุ่นมากขึ้น”

ศิววงศ์เสนอว่าควรเลิกกรอบคิดระหว่างแรงงานข้ามชาติหรือผู้ลี้ภัยไปเสีย และมองกลุ่มคนเหล่านี้ผ่านกรอบของ
“ผู้อพยพย้ายถิ่น” เพราะเรามีกรอบการจัดการการเดินทางข้ามแดนตาม พ.ร.บ. คนเข้าเมืองอยู่แล้ว หรือกลุ่มที่อาจไม่มีเอกสารจากต้นทาง ก็สามารถอาศัยกรอบการจัดการแรงงานได้หากผู้อพยพประสงค์จะเข้ามาทำงาน

หรือในกลุ่มที่ขาดความชัดเจน อาทิ ผู้อพยพลี้ภัยสงครามหรือผู้ที่แสวงหาแหล่งพักพิง ที่ปัจจุบันเราใช้กรอบด้านความมั่นคงในการจัดการ จนเลยเถิดกลายเป็นปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนระหว่างรัฐและผู้อพยพลี้ภัย แม้ระเบียบคัดกรองผู้ขอการคุ้มครอง พ.ศ. 2562 จะตอบโจทย์เรื่องการจัดการกลุ่มคนดังกล่าว แต่นั่นต้องมาพร้อมการแก้ไข พ.ร.บ. คนเข้าเมืองในบางมาตราเพื่อที่จะสามารถรับรองคนกลุ่มนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ต้นกล้าจากรัฐเผด็จการและการขยับเขยื้อนของประชาชน

“เรื่องการจัดการคนไร้สัญชาติไทย
มันก้าวหน้าในช่วงที่เป็นรัฐเผด็จการ”

ศิววงศ์อธิบายว่า ความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งนั้นไม่เกิดขึ้น ทำให้รัฐเผด็จการต้องการแต้มบางอย่างเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้กับรัฐบาลของตน ซึ่งการให้สิทธิ์กับคนไร้รัฐไร้สัญชาติคือหนึ่งในแหล่งที่เขาจะไปเก็บแต้มนั้น จึงทำให้เกิดความก้าวหน้าของนโยบายแรงงานข้ามชาติ

ส่วนในภาคประชาสังคมก็ยังคงมีความพยายามอย่างต่อเนื่องในการขยับเขยื้อนประเด็นดังกล่าว ผ่านการทำงานร่วมกับรัฐในการศึกษาว่ามีกลุ่มใดที่ตกหล่น เงื่อนไขของแต่ละกลุ่มเป็นอย่างไร มีช่องทางตามกฎหมายใดที่รองรับพวกเขาบ้าง หากแต่เป็นการทำงานภายใต้ข้อจำกัดเรื่องของการเข้ามาอย่างต่อเนื่องของแรงงานและผู้อพยพลี้ภัยสงคราม

ขณะที่การเลือกตั้งภาพใหญ่ จากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาก็แทบไม่มีการขยับของนโยบายแต่อย่างใด แม้ในการเลือกตั้งที่จะถึงนี้ มีเพียงบางพรรคการเมืองเท่านั้นที่หยิบยกการจัดการแรงงานข้ามชาติขึ้นมาเป็นนโยบาย และก็ยังไม่มีพรรคใดที่มองการจัดการแรงงานข้ามชาติอย่างเป็นระบบ “อย่างแรงงานที่ มหาชัยที่มีประชากรกว่าแสนคน แต่เขากลับไม่มีส่วนร่วมในการจัดการท้องถิ่นของเขา เช่น คนในชุมชนบ้างก็ว่าคนเมียนมามันไม่รักษาความสะอาด แต่เขาจะรักษาความสะอาดได้อย่างไรในเมื่อ ไม่มีใครคุยกับเขา” เขายกตัวอย่างเสริม

จากตัวอย่างข้างต้น ศิววงศ์จึงเสนอว่า การนำพาผู้อพยพย้ายถิ่นทั้งหลายเข้าสู่ระบบทะเบียนราษฎร์ หรือมีบัตรแสดงตัวตนนั้นสำคัญยิ่ง เพราะนั่นจะนำมาซึ่งการกลายเป็น “ประชากรของสังคม” ของกลุ่มผู้อพยพย้ายถิ่น และเมื่อเป็นประชากร กลุ่มคนเหล่านี้ก็จะมีส่วนร่วมในการจัดการท้องถิ่นอย่างแท้จริง ซึ่งนำมาสู่ประการถัดมาคือ “การทำให้กลุ่มผู้อพยพย้ายถิ่นเหล่านี้มีสิทธิเลือกตั้งท้องถิ่น” ดึงพวกเขาเข้าสู่กลไกการมีส่วนร่วมอย่างเป็นทางการ ทั้งบริการขั้นพื้นฐาน การจัดการสาธารณูปโภค หรือการเข้าสู่ระบบศึกษาที่มีประสิทธิภาพ แต่กระบวนการส่วนนี้ก็ยังเป็นปัญหามาตลอดในพื้นที่ ๆ มีผู้อพยพย้ายถิ่นจำนวนมาก ซึ่งยังต้องใช้เวลาในการพูดคุยกันอีกพอสมควร แม้จะมีข้อมูลเชิงสถิติอยู่แล้ว แต่งานวิชาการ งานสำรวจ หรืองานข้อถกเถียงในประเด็นยังมีอยู่น้อยพอสมควร

“การมีสิทธิ์มีเสียงมันคือการทำให้ชุมชน
ของเขา ซึ่งก็หมายถึงชุมชนของเรามันดีขึ้น
และท้องถิ่นมันพัฒนาโดยมีส่วนร่วมของผู้คนจริง ๆ ”