Baphoboy ศิลปะของการยิ้มรับกับอำนาจมืด - Decode
Reading Time: 4 minutes

ใบหน้าเปื้อนยิ้ม ที่อาจไม่ได้หมายถึงความสุข
ใบหน้าเปื้อนยิ้ม ที่อาจไม่ได้หมายถึงสยามเมืองยิ้ม…Land of Smile.
แต่ใบหน้าเปื้อนยิ้ม กำลังตั้งคำถามถึงความไม่เป็นธรรมในสังคม

เมื่อเผชิญหน้ากับความไม่เป็นธรรม คุณแสดงออกอย่างไร
รอยยิ้มที่คุณยิ้มออกมามันเป็นแบบไหนกันแน่

De/code คุยกับเจ้าของผลงานภาพวาดแนว Pop Art ที่เรียกตัวเองว่า Baphoboy หรือ เคน-สิปปกร เขียวสันเทียะ ในวันที่เราคุยกับเขาผ่านวิดีโอคอล เป็นช่วงบ่ายสบาย ๆ ในค่ายทหารที่เขาในฐานะทหารเกณฑ์ เคนเล่าให้ฟังถึง “ข้างในของแรงขับเคลื่อน” ที่อยากใช้ทักษะที่ถนัด วาดรูปสื่อสารการเมืองในแบบของตัวเอง ที่จุดเริ่มต้นมาจากคำถามในห้องเรียนที่อยากระบายความหดหู่กับเรื่องราว “ตาสว่าง” ของตัวเอง จนมาถึงวันที่ใช้ศิลปะพูดแทนความคิดความรู้สึกและยอมรับว่า การเมืองกับศิลปะแยกจากกันไม่ได้ “ผลงานของเราไม่ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงมาก แต่มันมีผลกระทบต่อผู้มีอำนาจ” จึงอยากพาไปรู้จักกับเคน-สิปปกร ผ่านงานในนิทรรศการอันเจ็บปวดและบาดลึก



นิทรรศการที่ 1:
จุดเริ่มต้น การเข้าใจตัวเอง และสิ่งรอบตัว

นิทรรศการนี้เป็นนิทรรศการที่จะให้คุณได้เข้าใจถึงตัวตนของเขา ได้เข้าใจจุดเริ่มต้นของเขา และเข้าใจในสิ่งรอบตัวของเขา เมื่อทุกท่านมองไปรอบๆก็จะเห็นศิลปะต่างๆที่สะท้อนถึงชีวิต หรือความคิดของเขา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเมืองที่เป็นเรื่องไกลตัว จุดเริ่มต้นของการทำ ทุกคนก็จะมองเห็นได้จากภาพต่าง ๆ หรือตัวอักษรที่เราได้เล่าเรื่อง

“ข่าวที่ไม่รู้ในบทเรียน” จุดเริ่มต้นที่ทำให้เคนเอ๊ะ ยิ่งขุดยิ่งหดหู่ ยิ่งลึกยิ่งตั้งคำถามถึงสิ่งที่เกิดขึ้น ทั้งเรื่องอุ้มฆ่า โดนอุ้มหาย เหตุการณ์ 6 ตุลา 14 ตุลา เป็นความรู้สึกที่เอาออกจากหัวไม่ได้ จนนำไปสู่การทำโปรเจกในห้องเรียนของตัวเองเรื่อยมาตั้งแต่เรียนชั้นปี 3

“พอเราเจออะไรแบบนี้ เรารู้สึกว่าทำไมมันถึงเกิดขึ้นเป็นเรื่องปกติ แบบทำไมการสังหารหมู่ ความรุนแรงที่มันเกิดขึ้นไม่ว่าจะในประวัติศาสตร์หรือปัจจุบัน เราไม่เคยกล่าวถึงมันเลย หรือใคร ๆ ก็ไม่ค่อยจะกล่าวถึงมันเลย เคนก็รู้สึกว่า มันแย่มาก มันเหมือนว่าช่วงนั้นเป็นช่วงที่แบบเราหมกมุ่นกับเรื่องนี้”

“เราซึมซับทั้งความเศร้า ความโกรธ หรือแม้กระทั่งความเครียดต่าง ๆ เราเลยอยากจะกำจัดมัน และเลือกทำสิ่งที่เราถนัด งานแรกที่เกี่ยวกับการเมือง เราก็ทำในคลาสเรียน มันก็จะมีอุปสรรคในช่วงแรก มักจะถูกจับตามอง เพราะมีความคิดที่แตกต่างจากคนทั่วไป คนทั่วไปมักโดนอาจารย์ถาม 10 นาที แต่เราอาจจะโดนถาม 1 ชั่วโมง เราเลยต้องมีความอดทนมากกว่าคนอื่น แต่อุปสรรคเหล่านั้นก็ทำให้เราโตขึ้น”

“เราก็มักได้ยินคำเหล่านี้ว่า ทำไมเราถึงไม่ทำเรื่องเกี่ยวกับตัวเอง หรือสิ่งรอบตัว ทำไมต้องไปยุ่งกับการเมืองด้วย หลายคนมักมีชุดความคิดที่ว่า”การเมืองเป็นเรื่องไกลตัว” แต่จริง ๆ แล้ว การเมืองสำหรับเราคือสิ่งที่มันอยู่รอบตัวเราอยู่แล้ว แต่ทำไมคนส่วนมากถึงบอกว่าศิลปะไม่เกี่ยวกับการเมือง มันไม่ใช่แค่ยุคนี้ แต่เมื่อก่อนก็เหมือนกันที่คนมีความคิดนี้ เลยถ่ายทอดกันมาเรื่อย ๆ”

“เพราะหลายคนมักคิดว่าศิลปะทำอะไรผู้มีอำนาจไม่ได้หรอก แต่จริง ๆ แล้วศิลปะมันสามารถทำได้โดยคนทั่วไป ไม่จำเป็นต้องมีอำนาจ หรือมีเงินมาก ก็สามารถทำได้ ผู้มีอำนาจเลยต้องกีดกันโดยผ่านระบบการศึกษา ผ่านระบบต่างๆ แม้กระทั่งสถาบันครอบครัว ก็ยังห้ามไม่ให้เรายุ่งกับการเมือง เพราะเขาคิดว่าถ้าเราพูดเรื่องการเมือง จะเกิดอันตราย มันก็เลยไม่แปลกที่ผู้มีอำนาจจะยัดชุดความคิดนี้ผ่านระบบต่าง ๆ แต่สำหรับเราการเมืองไม่เคยแยกจากศิลปะ เพราะศิลปะมักเป็นตัวบ่งบอกเหตุการณ์ต่างๆทางประวัติศาสตร์ แล้วประวัติศาสตร์ก็เกี่ยวกับการเมือง แล้วทำไมศิลปะถึงจะไม่เกี่ยวกับการเมือง”


นิทรรศการที่ 2:
นิทรรศการแห่งการสะท้อนความรู้สึก

นิทรรศการนี้จะพาทุกคนไปสู่ความรู้สึกของเขา สิ่งที่เขาได้รับมันมาไม่ว่า ความหดหู่ ความเศร้า ความโกรธ หรือสัญลักษณ์รอยยิ้มที่เป็นสัญลักษณ์ในผลงานของเขา บอกเล่าเรื่องราวในผลงานของเขา ว่ามันสื่อถึงอะไร และความหมายของรอยยิ้มคืออะไร

แม้งานแรก ๆ ของเคนจะไม่ใช่อย่างที่เรารู้จักกันในวันนี้ แต่มันก็ก่อเกิดจากสารตั้งต้นตัวเดียวกัน และรูปรอยยิ้มที่เป็นสัญญลักษณ์หลักในงานเคนนี้เองมีความหมายลึกซึ้ง “สัญลักษณ์รูปรอยยิ้มหลายคนอาจจะคิดว่ามันคือ ความสุข ความยินดี รวมถึงตัวเราด้วย เราก็เลยนำรอยยิ้มไปใส่ในรูปคนตายในรูป 6 ตุลาที่มีคนถูกแขวนคอใต้ต้นมะขาม ที่สนามหลวง

ตอนแรกเราคิดว่ามันอาจทำให้รูปดูสดใสขึ้น แต่มันกลับทำให้รูปดูหดหู่ขึ้น มันเลยทำให้เราสงสัยว่า “ยิ้มสยาม” เป็นยิ้มแบบไหนกันแน่ ระหว่างเป็นยิ้มแห่งความสุข ความยินดี ความสดใส หรือการยิ้มเพื่อจำนนต่ออำนาจต่าง ๆ ยิ้มรับความตาย เพราะมันคือสิ่งเดียวที่พวกเขาทำได้ในตอนนั้น”

ความรู้สึกหดหู่ ความเศร้า หรือความโกรธ จนบางทีเคนไม่รู้จะระบายมันออกมาในรูปแบบไหน จึงเลือกทำงานศิลปะหรือข้อความต่าง ๆ ที่อยากจะพูด “เราไม่ได้ต้องการแค่คนมาดูแล้วจบ แต่เราอยากให้เขาเห็นผลงานของเรา แล้วเข้าใจในสิ่งที่เราอยากจะสื่อออกมา คือความคิดของเราที่ไม่ได้อยู่แค่ในห้องสี่เหลี่ยม แต่มันคืออีกร้อยอีกพันคนที่เห็นผลงานของเรา แล้วเขารู้สึกเหมือนกับเรา เข้าใจในสิ่งที่เราอยากจะสื่อออกมา”

“มันเลยรู้สึกว่ามันเริ่มดีขึ้น การทำงานของเคนมันไม่ใช่แค่แบบทำเพื่อด่า แต่หนึ่ง – มันทำให้คนอื่นเห็นความรู้สึกที่เคนจะสื่อ สอง – มันคือการผ่อนคลายตัวเอง”

โซนภาพวาด
239 รัตนโกสินทร์ศก เราจะไปดวงจันทร์กัน

เมื่อคุณเดินมาถึงภาพวาดนี้ คุณก็จะพบกับภาพวาดขนาดไม่ใหญ่มากเป็นรูปที่หลายคนเห็นก็ต้องหยุดเดิน แล้วนึกคิดว่ามันคืออะไร อยู่ ๆ ก็มีจรวดกับคนตายแล้วมันเกี่ยวข้องกันตรงไหน

ผลงานนี้เกิดจากตอนนั้นมีข่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายที่จะไปดวงจันทร์ ซึ่งหลายคนก็คงพอได้ยินข่าวมาแล้ว หลายคนก็จะงงว่า ทำไมรัฐบาลมีนโยบายไปดวงจันทร์ทั้งๆที่ยังพัฒนาพื้นที่รอบๆให้เจริญเท่ากันยังไม่ได้เลย มาถึงตรงนี้แล้วทุกคนพอเข้าใจภาพนี้หรือยัง ถ้ายังไม่เข้าใจลองสังเกตดี ๆ ว่าภาพมีทั้งทหารที่คอยยกจรวดขึ้น แต่ภาพข้างหลังเป็นคนที่โดนแขวนคอ และนอนตายอยู่ ภาพมันสะท้อนถึงว่าเขาพยายามผลักดันไปในทางที่ดี แต่เขาทิ้งผู้คนมากมายเอาไว้ แต่สุดท้ายคนเหล่านั้นก็ไม่ได้มีชีวิตอยู่แล้ว แต่ก่อนหน้านั้นพวกเขามีชีวิตอยู่ แต่ทหารที่ยกจรวดกลับทำเป็นไม่เห็น แล้วมัวแต่ยกจรวด พอจรวดบินได้แล้วก็ยิ้มมีความสุขกันเหมือนภาพข้างหลังเป็นแค่อากาศ แล้วที่เห็นภาพคนข้างหลังยิ้มมันไม่ใช่ยิ้มเห็นความสุขเหรอ มันคือการยิ้มรับความตาย

นิทรรศการที่ 3:
นิทรรศการแห่งการเปลี่ยนแปลง

นิทรรศการนี้จะบอกเล่าถึงชีวิตเขาเปลี่ยนแปลงไปเมื่อเขาทำเรื่องศิลปะที่เกี่ยวกับการเมือง หรือคำถามที่หลายคนได้ถามเขาว่าชีวิตเขาเปลี่ยนไปไหมหลังได้ทำเรื่องเกี่ยวกับการเมือง หรือเรื่องที่ผลงานของเขาอยากจะสื่อที่บางทีก็อาจทำให้หลายคนคิดว่ามันคือการเซนเซอร์ แล้วจริงๆมันคืออะไร ไปหาคำตอบจากนิทรรศการนี้ได้เลย

ชีวิตเปลี่ยนไปไหม ได้รับผลกระทบไหม ได้รับอันตรายหรือเปล่า

เป็นคำถามที่เรามักโดนถามตลอด เราคิดว่าชีวิตเราไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรขนาดนั้น หลายคนคงคิดว่าต้องโดนคุกคามแน่ๆ หรือได้รับผลกระทบ แต่ในความเป็นจริงเราไม่โดนเลย เราคิดว่ามันอยู่ที่วิธีการทำงานมากกว่า การทำงานของเราไม่ได้ใช้คำที่ด่าคนแบบตรงไปตรงมาขนาดนั้น เราไม่ได้ทำเพื่อให้คนเกลียดศิลปะ แต่เราต้องการให้คนที่มองผลงานของเรา แล้วเข้าใจในสิ่งที่เราอยากจะสื่อออกไป

เราไม่ได้ทำเพื่อสื่อว่าเราเป็นศัตรูกับใคร แต่เราแค่เป็นศัตรูกับระบบหนึ่ง แล้วเราก็ไม่เคยเซนเซอร์ตัวเองด้วย ยกเว้นช่วงนี้ เพราะช่วงนี้เราเกณฑ์ทหารอยู่ หลายคนอาจคิดว่า เรามักเซนเซอร์งานของตัวเอง บางทีเราใช้อย่างอื่นมาเล่าแทน คนก็คิดว่าเราเซนเซอร์ตัวเอง แต่จริงๆแล้วมันไม่ใช่การเซนเซอร์ แต่มันคือวิธีการแสดงออกของเรา คนก็มักจะมองว่า ทำไมเราถึงไม่กล้าที่จะพูดถึงเรื่องนี้ แต่จริง ๆ แล้วเราพูดถึงเรื่องนั้น แต่แค่วิธีการเล่าเรื่องของเรามันอาจจะต่างออกไป เลยทำให้หลายคนเข้าใจผิดว่าเราเซนเซอร์งานตัวเอง

“ศิลปะก็คือการเมือง ศิลปะอยู่รอบตัวเรา ไม่ใช่แค่ผลงานศิลปะ แต่รวมถึงดนตรี หรือการทำคลิปวิดีโอขึ้นมาก็ถือว่าเป็นงานศิลปะ ฉะนั้นการเมืองคือทุกสิ่ง ศิลปะก็เช่นกัน แล้วเรามีสิทธิ์ที่จะพูดถึงมันด้วย ศิลปะไม่จำเป็นต้องใช้อำนาจ หรือเงินมากขนาดนั้น ต่างกับนักการเมืองที่ต้องมีอำนาจ หรือเงิน เพื่อที่จะให้การเมืองดีขึ้น”

ศิลปะคือทุกสิ่ง เหมือนการเมืองที่อยู่รอบตัวเรา
ทางเดินแห่งกาลเวลาของศิลปะที่เป็นสื่อของการเมือง

ทางเดินนี้จะเป็นทางเดินที่จะเปิดเล่าเรื่องราวต่าง ๆ ที่ศิลปะมักจะเป็นสื่อกลางของการบอกเล่าเรื่องราวไม่ใช่ของการเมือง แต่รวมถึงสังคม เศรษฐกิจ หรือความเชื่อต่าง ๆ ทางเดินนี้ก็จะบอกเล่าเรื่องราวต่างๆ แม้กระทั่งการหยิบยกภาพวาดของผู้บัญชาการศิลปะแห่งยุคฝรั่งเศสอาณาจักรใหม่ แล้วผู้บัญชาการศิลปะคือใคร ? ไปหาคำตอบได้ในทางเดินนี้เลย

“ทำไมหลายคนมองว่า การเมืองเป็นเรื่องไกลตัว ทั้ง ๆ ที่การเมืองเป็นตัวบ่งบอกว่าจะเป็นคุณภาพชีวิต เศรษฐกิจ หรือวัฒนธรรม ศิลปะก็มีความเชื่อมโยงกับการเมืองตรงที่ศิลปะมักเป็นสื่อกลางให้การเมือง”

เราจะเห็นได้ว่าศิลปะมักเป็นสื่อกลางของการเมือง ไม่ว่าจะเป็นตัวกลางในการเล่าเรื่องราวต่าง ๆ หรือเป็นการสร้างข่าว ศิลปะก็มักถูกใช้เป็นเครื่องของผู้มีอำนาจ ในการใช้มันควบคุมคน ยกตัวอย่างเช่น การปฏิวัติฝรั่งเศส เป็นการปฏิวัติที่หลายคนมักจะรู้จัก ก็จะมีภาพวาดต่างๆ ที่สะท้อนถึงเหตุการณ์นั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นรูปของฌาคส์-หลุยส์ ดาวิด เป็นผู้ที่ได้รับฉายาว่า “ผู้บัญชาการศิลปะ” ในยุคอาณาจักรใหม่ของฝรั่งเศส แล้วยังเป็นเจ้าของภาพวาด The Coronation of Napoleon เป็นรูปที่บ่งบอกถึงเหตุการณ์การสวมมงกุฎของพระเจ้านโปเลียนที่1ในวันราชาภิเษก ที่โบสถ์น็อทร์-ดาม ณ กรุงปารีส ซึ่งเป็นยุคหลังมีการโค่นล้มราชวงศ์บูร์บง แล้วดาวิดยังเป็นผู้รื้อฟื้นเรื่องราวและรูปแบบความคลาสสิกของโรมันมาใช้ในผลงานของเขา

ดาวิดเป็นจิตรกรเอก ที่เป็นผู้นำในกลุ่มศิลปินแนวนีโอคลาสสิกอีกด้วย แต่ถึงอย่างไรเขาก็ยังได้รับคำวิพากษ์วิจารณ์จากหลายคนว่า เป็นการนำศิลปะให้ถดถอยลง โดนหาว่าเป็นการเลียนแบบคลาสสิกยุคโรมัน ซึ่งเป็นอาณาจักรที่ตายไปแล้ว เป็นศิลปะที่ไม่มีชีวิตในปัจจุบัน โดนหาว่าเป็นการฟุ้งซ่านไปกับเรื่องที่มันเป็นอดีต แล้วภาพวาดนี้ยังสะท้อนถึงสังคมในแง่ของการแสดงถึงอำนาจของฝรั่งเศสที่ไม่ได้อยู่ใต้เงาของศาสนจักรแล้ว เพราะสมัยก่อนผู้ที่จะเป็นคนสวมมงกุฎจะเป็นสมเด็จพระสันตะปาปา ศาสนาก็ถือเป็นชนวนเหตุที่ทำให้เกิดการปฏิวัติ แต่ภาพวาดแสดงให้เห็นว่าในตอนนั้นศาสนากับผู้คนมีฐานะที่เทียมกัน แล้วยังสะท้อนถึงความคิดที่ต่างกันในแต่ละรุ่นด้วย ไม่ใช่ระบบนี้มีแค่ในไทย แต่ในต่างประเทศก็ยังมีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นปัจจุบัน หรืออดีต

นิทรรศการที่4:
นิทรรศการแห่งการสร้างความ (ไม่) เปลี่ยนแปลง

หลายคนอาจจะได้ยินชื่อนิทรรศการนี้แล้วอาจแปลกใจ ทำไมสิ่งที่เปลี่ยนแปลงกลับไม่เปลี่ยนแปลง หรือความจริงแล้วการเปลี่ยนแปลงคืออะไร การทำอะไรจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงเสมอไปเหรอ ถ้าอยากรู้คำตอบ ให้ก้าวเท้าเข้าสู่นิทรรศการนี้ได้เลย

“ผลงานของเราไม่ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงมาก แต่มันมีผลกระทบต่อผู้มีอำนาจ”

สำหรับเราไม่ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงขนาดนั้น การที่คนเริ่มออกมา อาจจะไม่ใช่แค่ผลงานเราก็ได้ เราเลยไม่แน่ใจว่าผลงานของเราสร้างความเปลี่ยนแปลงหรือเปล่า แต่ผลงานของเรามันสร้างผลกระทบต่อผู้มีอำนาจ แม้ว่ามันจะไม่ได้เปลี่ยนแปลงขนาดนั้น แต่สำหรับเรามันก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี เพราะคนเริ่มออกมามากขึ้น ไม่ใช่แค่ผู้ใหญ่ แต่รวมถึงเด็กรุ่นใหม่ด้วย เราแอบตกใจว่า ช่วง2-3ปีมานี้ คนเริ่มออกมาพูดมากขึ้น เราก็รู้สึกดีใจที่คนเริ่มออกมาพูด ออกมาตั้งคำถามกับระบบต่าง ๆ

ความขัดแย้งทางการเมืองไม่ใช่เรื่องผิดปกติ แต่การที่ไม่มีความขัดแย้ง เป็นเรื่องแปลกในสังคมแบบประชาธิปไตย

ความขัดแย้งต่างๆมันก็ต้องมีอยู่แล้ว เป็นเรื่องปกติในสังคมแบบประชาธิปไตย การที่ไม่มีความขัดแย้งนั้น น่าจะเป็นสังคมที่ไม่ปกติ แล้วถ้าเราก้าวข้ามความขัดแย้งในปัจจุบันไปได้ มันก็ยังจะมีความขัดแย้งใหม่อยู่ดี

อย่างสภาก็ถูกสร้างมาเพื่อสร้างความขัดแย้งอยู่แล้ว ซึ่งความขัดแย้งเหล่านั้นก็จะนำไปสู่การโต้เถียงเพื่อที่จะหาหนทางที่ดีที่สุด ถ้าสภาไม่ได้มีความขัดแย้งจริงๆ แล้วทำไมเขาถึงมีการตั้งพรรคฝ่ายค้านกับฝ่ายรัฐบาล นั้นก็เป็นเหตุผลที่ว่าทำไมความขัดแย้งถึงเป็นเรื่องที่ปกติในสังคมประชาธิปไตย

นิทรรศการสุดท้าย:
นิทรรศการของการอยู่ท่ามกลาง SPOTLIGHT

นิทรรศการนี้เป็นนิทรรศการสุดท้ายของงานเรา นิทรรศการนี้จะพาทุกคนไปพบกับการที่เขาอยู่ท่ามกลาง SPOTLIGHT ว่าเขามีชีวิตอย่างไร หรือมุมมองชีวิตของเขาในฐานะนักเคลื่อนไหวทางการเมือง

มันก็ไม่ได้มีอะไรพิเศษเลย

ชีวิตเราก็ไม่ได้มีอะไรแตกต่างไปจากคนอื่น ตอนนี้เราก็เข้าไปเป็นทหารมันก็ไม่ได้แตกต่างจากคนอีกสองพันคน เราอยู่บ้านเราก็เป็นแค่คนธรรมดา เราออกไปเดินตลาดก็เป็นคนธรรมดา เราก็ยังเป็นเราคนเดิมอยู่ดี และเราเรียกร้องอะไรต่าง ๆ อยู่แล้ว เพราะฉะนั้นมันไม่ได้มีอะไรแปลกใหม่ไปจากเดิม

“ถ้าเราไม่ได้เป็นนักเคลื่อนไหวทางการเมือง เราก็ไม่รู้เหมือนกันว่าชีวิตเราจะเป็นแบบไหน และเราก็ยังไม่เคยเห็นภาพของเราที่ไม่ได้เป็นนักเคลื่อนไหวทางการเมืองมันเป็นยังไง มันก็เป็นเรื่องน่าแปลกของเราเหมือนกัน”

EXIT: ทางออกสู่ความเป็นจริง

จริง ๆ แล้วนิทรรศการที่พวกคุณเห็นเมื่อกี้ มันไม่ได้มีอยู่จริง ๆ มันเป็นแค่การสะท้อนคำถามต่าง ๆ หรือเรื่องราวชีวิตของเขาเพียงเท่านั้น แต่ทางออกนี้ไม่ได้เป็นเพียงทางออกสู่ความเป็นจริง ยังเป็นทางออกของปัญหาบางส่วน ทำไมมันถึงไม่เป็นทางออกของปัญหาทั้งหมด ก็เพราะว่าไม่ว่า เราจะแก้ปัญหาอะไรสุดท้าย มันก็จะมีปัญหาใหม่อยู่ดี

ไม่มีใครรู้ถึงทางออกของปัญหาหรอก

มันไม่มีใครรู้ถึงปัญหาของมัน แต่สิ่งที่เราเห็นมากที่สุดคือ การที่ต่างฝ่ายต่างไม่ยอมกัน ผู้มีอำนาจจะต้องผ่อนปรนอำนาจ เด็กรุ่นใหม่ก็ต้องพยายามมองถึงความเป็นจริง เราอาจจะหาคำตอบของมันไม่ได้ แต่คำตอบของเรามันคือเวลา เราไม่สามารถหาทางออกได้แล้วสามารถเปลี่ยนแปลงจากหน้าเป็นหลังมือได้ เช่น ปัญหาของการที่ศิลปะถูกกีดกัน ทางออกของมันก็คือ วิธีคิด หรือระบบการศึกษา เพราะเมื่อระบบการศึกษามีการเปิดกว้างมากกว่านี้ หรือระบบอาวุโสมันค่อย ๆ จางหายไปจากการศึกษา มันอาจทำให้ความคิดนี้เปลี่ยนไปเลยก็ได้

ทุกอย่างไม่ได้เปลี่ยนไปตามที่เราคิดอยู่แล้ว

เราคิดอยากจะเปลี่ยนแปลงให้ได้ แต่บางทีเราก็ไม่ควรคาดหวังมากเกินไป บางทีสิ่งที่เราคิดอาจจะไม่มีวันเกิดขึ้นเลยก็ได้ แต่เราก็จำเป็นต้องคิด จำเป็นต้องบอกว่าอะไรถูกต้อง ถึงแม้เราไม่สามารถทำให้ทุกคนบนโลกคิดเหมือนกับเราได้ ถ้าเราไม่ทำมันก็เป็นเรื่องที่น่าเสียดาย มันเป็นเรื่องปกติของคนที่มีความคิดที่ไปข้างหน้า เราต้องคิดไปก่อน ไม่จำเป็นต้องไปถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ทุกอย่าง

เราก็หวังว่าศิลปะจะได้เป็นอิสระจากรัฐบาลสักที และหวังว่าศิลปะจะไม่ถูกกีดกัน หรือไม่ถูกเห็นคุณค่าอีกในสังคมไทย