หน้าเคาน์เตอร์บริการผู้ป่วยนอก (OPD)ของโรงพยาบาลริมคลองแห่งหนึ่ง มีโปสเตอร์เขียนข้อความว่า “งดอาหารอย่างไรถึงจะได้ไม่โดนแพทย์บ่น” โปสเตอร์นี้ติดมานานแค่ไหนไม่สำคัญเท่ากับคำถามบนข้อความนั้น มองเผิน ๆ โปสเตอร์นี้เป็นเพียงป้ายให้ความรู้ตามโรงพยาบาลทั่วไป หากแต่นัยของคำว่า “บ่น” กำลังบอกเราถึงความสัมพันธ์บางอย่างระหว่างแพทย์และคนไข้ ซึ่งอาจเกินเลยไปจากการให้ “ความรู้ความเข้าใจ” ในการเข้ารับการรักษาและตรวจโรค
ในหลายประเทศมีการถกเถียงและตกผลึกเรื่องปรัชญาแขนงจริยธรรมมายาวนาน ยากที่จะโต้แย้งข้อตกลงร่วมว่า ปัจเจกล้วนมีหน้าที่รับผิดชอบต่อบทบาทหน้าที่ของตนเองในบริบทที่แตกต่างกันในสังคม ภายใต้มิติทางการแพทย์นั้น หลักจริยธรรมทางการแพทย์สากลระบุว่า “บุคลากรทางการแพทย์ต้องอุทิศตนเพื่อให้บริการทางการแพทย์ที่มีประสิทธิภาพด้วยความเห็นอกเห็นใจและเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” (1) แพทย์ในฐานะผู้ให้บริการจึงต้องปฎิบัติต่อคนไข้อย่างเท่าเทียม ไม่มีสิทธิทั้งทางกฎหมายและวัฒนธรรมว่ากล่าวคนไข้เกินเลยขอบเขตจรรยาบรรณวิชาชีพของตน ในทางทฤษฎีแล้ว การ “บ่น” จึงเป็นเรื่องไม่สมควรอันขัดกับจริยธรรมและความเป็นมืออาชีพของบุคลาการทางการแพทย์ (medical malpractice)
แม้จะขัดค้านกับหลักจริยธรรมของบุคลากรทางแพทย์สากล แต่ในสังคมไทยการที่แพทย์พูดเกินเลยขอบเขตวิชาชีพกลับไม่ใช่เรื่องผิดแปลก หลานสาววัยยี่สิบต้นๆ คนหนึ่งเล่าให้ฟังถึงประสบการณ์ที่แพทย์จากโรงพยาบาลแถวนนทบุรีกระชากเสียงใส่ตอนที่โทรมาบอกแม่ของเธอว่า อาม่าเสียชีวิตแล้ว โดยพูดห้วน ๆ ว่า “คุณไม่คิดจะมาดูแม่คุณหน่อยเหรอ” ด้วยความที่ครอบครัวไม่รู้ว่าอาการอาม่าร้ายแรงเพียงใด เนื่องจากก่อนหน้านั้นยังคุยโทรศัพท์กันได้ตามปกติ ครอบครัวของเธอจึงรอฟังอาการอยู่ที่บ้าน แต่ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม หลานสาวของอาม่าเห็นว่าคำพูดเช่นนี้เกินกว่าขอบเขตอำนาจหน้าที่ซึ่งเสื้อกาว์นได้มอบให้แพทย์ไปเสียแล้ว
พยาบาลวัยกลางคนที่ต้องลาออกจากงานมาดูแลทั้งพ่อและแม่ที่อายุแปดสิบกว่าปี พ่อของเธอเป็นอัลไซเมอร์ ส่วนแม่ที่แม้จะเสียชีวิตไปแล้วจนถึงตอนนี้ก็ยังไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นโรคอะไรกันแน่ เธอต้องตะลอนพาแม่ไปรักษาทั้งทางกายและทางจิตเวชหลายต่อหลายที่ แพทย์ทางกายบอกว่าเป็นโรคพากินสัน (เป็นโรคที่คนไข้ไม่สามารถควบคุมการเคลื่อนไหวร่างกายตนเองได้ ทำให้ไม่สามารถหยุดอยู่นิ่ง ๆ ได้แบบคนปกติ) จิตแพทย์บอกว่า เป็นโรคซึมเศร้า ให้ยาแล้วเพิ่มยาอีกทับซ้อนกันไปกันมา ภายหลังมาพบว่าอาการพากินสันที่เป็นเกิดจากผลข้างเคียงของยาที่แพทย์ให้คุณยายเป็นเวลาเกือบสิบปี เธอร้องไห้ทุกข์ใจกับอาการป่วยของแม่มาไม่รู้ต่อกี่ครั้ง ท้ายที่สุดผลข้างเคียงของยาทำให้คุณยายไม่สามารถพูดได้อีกและพิการไปในที่สุด ท้ายที่สุด เธอจึงตัดสินใจดูแลคุณยายตามวิธีธรรมชาติเท่าที่ทำได้
“ครั้งหนึ่งแม่อยู่นิ่งไม่ได้เลย ทำได้อย่างเดียวคือต้องให้นอนบนตัก โอ๋เหมือนเด็กน้อย หมอที่มารักษาวันนั้นมองหน้าแม่เราด้วยสายตาเมินเฉย จ้องมาที่เราแล้วพูดเรียบๆ พูดออกมาได้ยังไงไม่รู้ พูดว่า ‘คุณจะเอาอะไรอีก แม่คุณอายุก็เยอะแล้ว ช่วยอะไรไม่ได้หรอก’ แล้วเจอแบบนี้มาไม่รู้กี่ครั้งแล้ว วันนั้นร้องโฮเลย ไม่รู้จะช่วยแม่ยังไง”
นี่ไม่ใช่ครั้งเดียวที่เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้น “คุณจะเอาอะไรอีก” “คุณจะเอาอะไรอีก” “คุณจะเอาอะไรอีก” คำพูดที่ไร้ความเห็นอกเห็นใจนี้ยังคงก้องอยู่ในหัวแม้ว่าพ่อและแม่ของเธอจะเสียไปเป็นปีแล้วก็ตาม
คำถามทางจริยธรรมที่ว่า “อะไรคือสิ่งที่พึงทำ” เป็นเรื่องที่คลุมเครือในสังคมไทยที่อยู่ในวังวนความบิดเบี้ยวมาหลายทศวรรษ แม้ไม่มีตำราใดหรือนักวิชาการคนใดให้คำจำกัดความวิชาชีพแพทย์ได้ตรงกันสมบูรณ์ แต่ในสังคมอารยะที่อาชีพแพทย์ (ซึ่งก็เหมือนกับอาชีพอื่น) มีคำการขีดเส้นให้คำจำกัดความหลักจริยธรรมในวิชาชีพอย่างชัดเจน “จริยธรรมในการรักษาโรคมีพื้นฐานมาจากความเชื่อที่ว่าการแพทย์คืองานทางศีลธรรมโดยเนื้อแท้ คนไข้ขอให้แพทย์ช่วยเหลือให้ตนเองดีขี้น ส่วนแพทย์ก็ตั้งปณิธานที่จะซื่อตรงต่อจริยธรรมในหลักวิชาชีพและมีความสามารถเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยไข้” (2) “โดยเนื้อแท้” แล้ววิชาชีพแพทย์จึงเป็นสัมมาอาชีพที่เป็นประโยชน์ต่อเพื่อนมนุษย์ ไม่ใช่ในแง่ที่ว่าอาชีพแพทย์ประเสริฐกว่าอาชีพอื่นใด ๆ แต่ในแง่ที่ว่าแพทย์นั้นเป็นอาชีพที่สามารถช่วยชีวิตเพื่อนมนุษย์ได้โดยตรงทางกายภาพ (และบางครั้งอาจช่วยทางใจด้วยซ้ำ)
นายแพทย์พงษ์ศักดิ์ ศรีมุษิกโพธิ์ อดีตตัวแทนชุมชนคลีนิคอบอุ่น ผู้สวมเสื้อกาวน์มาตั้งแต่ปี 2529 ตั้งแต่เรียนจบมาได้ตกตะกอนจากประสบการณ์ว่า “อาชีพแพทย์มีอยู่กว้าง ๆ 2 มิติ คือ การรักษาโรคและการสร้างเสริมความเข้าใจเรื่องสุขภาพหรือ health literacy ส่วนคนไข้คือ ผู้ที่เจ็บไข้ได้ป่วย ไม่ว่าด้านไหนก็ตาม มาร้องขอให้เรารักษา เดินทางมาเพื่อเจอเราให้เรารักษา ซึ่งไม่ใช่คนที่อยู่ตรงหน้าอย่างเดียว แต่รวมไปถึงผู้ดูแลและคนรอบข้างที่ได้รับผลกระทบจากการเจ็บป่วยด้วย…การดุด่าว่ากล่าวกันมันเกินขอบเขตอาชีพของแพทย์ การตวาดกันว่ากันเกินกว่าความเป็นจริง ไม่สมควรมี”
หมอพงษ์ย้อนให้ฟังว่า สมัยก่อนก็มีโมโหคนไข้อยู่บ้าง เหตุผลหลัก ๆ คือความคาดหวังที่มีต่อคนไข้ เนื่องจากว่าสมัยที่ตนเปิดคลินิกนั้น ถ้าคนไข้ทำตามเกณฑ์ที่กำหนดได้ ทางคลินิกจะได้รับเงินสนับสนุนเพิ่มจากทางการ ด้วยความคาดหวังเรื่องรายได้ บางครั้งจึงมีอารมณ์หงุดหงิดไปบ้าง นอกจากนี้ ความคาดหวังยังเกิดจาความต้องการเห็นคนไข้มีสุขภาพดีขึ้นตามหลักวิชาที่ร่ำเรียนมา “เราไม่ค่อยฟังเรื่องราวมากนัก พยายามหาให้เจอว่ามันเกิดอะไรขึ้น [กับร่างกายคนไข้] พอเห็นภาพรวมแล้วก็เข้าใจมากขึ้น และพยายามหาทางออกร่วมกับคนไข้ในแบบที่เป็นไปได้และมีประสิทธิภาพมากที่สุด”
แพทย์หญิงรุ่นใหม่ประจำโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยในปริมณฑลคนหนึ่งให้ความเห็นเสริมว่า ตนก็มีความคาดหวังต่อคนไข้คล้าย ๆ กัน “สมัยที่จบใหม่ยอมรับว่า บางครั้งก็มีโมโหกับคนไข้บ้าง เพราะเราก็อยากให้คนไข้มีสุขภาพดี แต่พอมีประสบการณ์มากขึ้น ได้ทำงานก็มองรอบด้านขึ้น ก็ได้รู้ว่าคนไข้เขาก็มีข้อจำกัดในชีวิตต่างกัน ข้อจำกัดพวกนี้ทำให้เขาทำตามที่เราแนะนำไม่ได้ ก็ต้องยอมรับและพยายามทำส่วนของเราให้ดีที่สุด” เธอกล่าว
แน่นอนว่าความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์และคนไข้มีหลายชั้นหลากบริบท ในฐานะมนุษย์ด้วยกันแพทย์บางคนอาจมีความห่วงใยคนไข้ในฐานะคนที่เจอกันบ่อยครั้ง คนที่เป็นห่วงอยากช่วยเหลือ ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่เกิดได้กับทุกคนทุกอาชีพ เพียงแต่ว่าเส้นแบ่งระหว่างความหวังดีต่อเพื่อนมนุษย์ตรงหน้ากับการล้ำเส้นเกินขอบเขตอาชีพนั้นบางกว่าที่เห็นมาก บริบททางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์อันเป็นเงื่อนไขเฉพาะก่อให้เกิดสถานะแพทย์ที่เกินกว่าแพทย์มืออาชีพในสังคมไทยนั้นเกี่ยวเนื่องไปถึงข้อถกเถียงเรื่องชีวอำนาจ (biopower) ที่ต้องรื้อโครงสร้างกันต่อไป
อย่างไรก็ดี หมอพงษ์ให้ความเห็นว่า สังคมไทยไทยมีมรกดทางประวัติศาสตร์และพัฒนาการทางวัฒนธรรมแบบ “พ่อปกครองลูก” อันเกื้อหนุนให้เกิดความอีหรักอีเหลื่อในความสัมพันธ์ของแพทย์และคนไข้ “ภายใต้บริบทและเงื่อนไขในปัจจุบันนั้น สังคมไทยควรมีการเปิดพื้นที่ให้แต่ละฝ่ายได้ถกเถียงแลกเปลี่ยนกันอย่างจริงจังว่า ความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์และคนไข้ควรเป็นไปในทางใด เพื่อหาสมดุลระหว่างความเป็นมนุษย์ที่พึงมีและความเป็นมืออาชีพในการรักษาทางการแพทย์”
แพทย์หญิงรุ่นใหม่ให้ความเห็นต่อว่า ความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์และคนไข้ในสังคมไทยนั้นยังมีลักษณะที่ไม่เป็นมืออาชีพอยู่บ้าง โดยเฉพาะโรงพยาบาลในท้องถิ่นที่มีความแตกต่างระหว่างชนชั้นทางสังคมอย่างชัดเจน แม้ในโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยใหญ่ ๆ เองจะยังมีอาจารย์แพทย์รุ่นเก่าที่ยังเห็นว่าตนเป็นผู้ปกครองคนไข้ ดุด่าคนไข้เหลืออยู่บ้าง อาจารย์รุ่นใหม่มีการสอนให้นักเรียนแพทย์เคารพสิทธิในร่างกายของคนไข้และปฏิบัติกับคนไข้อย่างเท่าเทียมมากขึ้น
หลานสาวอาม่าและลูกสาวคุณยายเห็นตรงกันว่า เพราะคนไข้เห็นความผิดปกติในร่างกายตนเองและต้องการแนวทางการรักษาและคำอธิบายต่อสภาวะโรค แพทย์ควรปฏิบัติต่อคนไข้ด้วยความเข้าใจมากกว่าสายตาที่มองเห็นร่างกายของคนไข้เป็นวัตถุ “คนไทยค่อนข้างยกย่องอาชีพแพทย์ เพราะมองว่าเป็นอาชีพที่ช่วยเหลือคนอื่น คือ รักษาผู้ป่วย จนทำให้บางคนคิดว่าเป็นอาชีพที่มีเกียรติกว่าอาชีพอื่น ๆ
แม้จะไม่ใช่ทุกคนที่คิดแบบนั้น บางคนอาจมองว่าการรักษาคนไข้เป็นการทำหน้าที่ตามปกติไม่ต่างจากอาชีพอื่น แต่ในระหว่างแพทย์กับคนไข้ แพทย์ย่อมมีสถานะที่เหนือกว่าคนไข้ เพราะแพทย์มีความรู้ในเรื่องร่างกายและการรักษาโรคมากกว่า เป็นผู้กำหนดแนวทางในการรักษา จนบางครั้งแพทย์อาจเผลอทำตัวในลักษณะออกคำสั่ง หรือตำหนิเมื่อคนไข้ไม่ปฏิบัติตาม เช่น ตำหนิผู้ป่วยว่าไม่รักษาสุขภาพ ไม่ออกกำลังกาย โดยเฉพาะในคนไข้ที่ฐานะไม่ดี มีทางเลือกในการรักษาน้อย คนไข้อาจมองว่าแพทย์เป็นผู้ช่วยเหลือ…แต่ในความคิดของเราการเป็นแพทย์ไม่ใช่แค่รักษาทางร่างกาย แต่ควรจะมี empathy [ความเห็นอกเห็นใจ] ต่อผู้ป่วยและญาติด้วย” หลานสาวอาม่ากล่าว
ท้ายที่สุดแล้วไม่มีใครสามารถให้คำจำกัดความได้อย่างตายตัวว่า วิชาชีพแพทย์นั้นมีขอบเขตแค่ไหนในบริบทของสังคมไทยในปัจจุบัน เมื่อมีคนไข้จึงมีแพทย์ ความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์และคนไข้จึงอยู่บนตรรกะที่ทั้งสองต่างก็เป็นตัวกำหนดความหมายของกันและกัน เสื้อกาวน์ของแพทยนั้นไม่ได้ถูกเย็บขึ้นด้วยเพียงอย่างเดียว หากแต่ถักทอขึ้นมาพร้อมกับเงื่อนไขทางจริยธรรมและวัฒนธรรมที่ละเอียดอ่อนและซับซ้อน ร่างกายของคนไข้ก็ไม่ใช่เพียงวัตถุแสดงอาการโรค ภายใต้กล้ามเนื้อนั้นหนักอึ้งไปด้วยหัวใจที่เจ็บปวดจากการป่วยไข้ร้อยแปดที่ไม่ต้องการอะไรมากไปกว่าความเข้าใจและความเห็นใจ
โปสเตอร์ “งดอาหารอย่างไรถึงจะได้ไม่โดนแพทย์บ่น” ยังคงเป็นกระจกสะท้อนเงาของความสัมพันธ์ระหว่างหมอและคนไข้ในบริบทสังคมไทยที่มีการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนไข้เป็นเรื่องปกติ เช่นเดียวกับเรื่องการเมืองในมิติอื่น สังคมไทยเราต้องการพื้นที่ถกเถียงเพื่อหาฉันทามติร่วมว่าด้วยเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์และคนไข้และคำจำกัดความถึงหน้าที่และจริยธรรมของบุคลากรทางการแพทย์ที่ควรจะเป็น
อ้างอิง:
(1) Riddick Jr. Frank A., “The Code of Medical Ethics of the American Medical Association,” Ochsner Journal 5, no. 2 (2003): 9.
(2) Panna L. Nandi, “Ethical Aspects of Clinical Practice,” The Archives of Surgery 131, no. 1 (2000): 22.