Why grow up ไม่มีช่วงวัยที่ดีที่สุด มีแต่ทุกวินาทีที่ต้องถนอมและกอดเก็บไว้ - Decode
Reading Time: < 1 minute

หนังสือเล่มนี้คือคำปลอบใจที่ทำให้เราต้องโอบกอดตัวเอง

เราเขียนประโยคนี้ตั้งแต่อ่านหน้าแรก ๆ ของหนังสือ Why Grow Up เติบโตอย่างไรไม่เจ็บปวด-มองการเติบโตด้วยสายตาของนักปรัชญา จำมวลอารมณ์ที่ตีขึ้นมาที่ดวงตาได้ดี มันรื้นในแบบที่ทำให้รู้สึกว่า…อืม เราว่าเข้าใจมันประมาณหนึ่ง เราปลง เราอ่อนแรง เราล้าและรู้สึกจริง ๆ ว่าการเปลี่ยนผ่านจากวัยเรียนมาสู่วัยทำงาน มาเป็นผู้ใหญ่มันไม่ใช่เรื่องง่ายเลยจริง ๆ  

เราในวัยใกล้จะ 32 เราคิดเสมอว่าชีวิตต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ได้แล้ว เมื่อไม่เป็นตามนั้น ผลลัพธ์ตรงไปตรงมาคือเราทุกข์อยู่เหมือนกัน นอกจากเรามีศักยภาพไม่พอพาตัวเองไปถึงฝันแล้ว มีส่วนประกอบใดอีกบ้างที่พามา หนังสือนี้มีคำตอบ มันจึงเหมือนคำปลอบใจของเราจริง ๆ 

แต่แล้วทำไมเราต้องเติบโตล่ะ? สำหรับเราคำตอบที่ได้ คือ เราจะได้มีอิสระในการตัดสินใจในสิ่งต่าง ๆ ด้วยตัวเอง รับผิดชอบในสิ่งที่เลือกไป เพราะการเติบโต คือ การที่ชีวิตพาเราไปสู่การรู้แจ้งที่ไม่ได้มีนิยามตายตัวว่าอะไรคือการรู้แจ้ง มันไม่ใช่มีความรู้ท่วมหัว มันไม่ใช่ความฉลาด แต่คือแสงแห่งเสรีภาพที่เราสามารถมี “ทางเลือก” ได้ใต้โลกที่มันเป็นมาก่อนหน้า

การเติบโตเป็นเรื่องความกล้าหาญมากกว่าความรู้ และมันเกิดขึ้นเมื่อเราใช้เหตุผล เป็นก้าวแรกที่ทำให้ชีวิตรู้ว่ามันมีทางเลือก  – หนังสือบอกเรา

แต่เพราะว่า ชีวิตเป็นความชั่วคราว และทุกช่วงวัยเกิดขึ้นเพียงครั้ง การเติบโตและทางเลือกจึงถูกกรอบ และครอบไว้ด้วยตัวเลขของอายุ ไม่นับรวมพื้นเพ กำพืดของชีวิตเราตั้งแต่วันลืมตาดูโลก สังคม ยุคสมัย ผู้คนที่รายล้อม ล้วนมีผลต่อความเป็นตัวเรา เราหวังเพียงว่าช่วงวัยต่อไปเราจะรู้ดีขึ้น โตมากขึ้น และมีความสุขมากขึ้น แต่ในอีกมุมการเปลี่ยนผ่าน หรือการบรรลุวัย (Coming of Age) เกิดขึ้น แม้ทำให้ชีวิตมีการรับรู้มากขึ้น แต่นั่นก็ยังไม่ได้หมายถึงว่าเราจะโตขึ้น

ทุกอย่างที่เราเจอมาตลอดทั้งชีวิตอาจทำให้เรา “ไม่ยอมโต” เพราะโลกของผู้ใหญ่ไม่ใช่โลกที่เราเคยคิด บางคนจำนนกลืนกลายยอมให้คนอื่นเป็นผู้เลือกให้ “เพราะง่ายดี” เลือกให้ตั้งแต่ศาสนา คำสอนของชีวิต ผู้ปกครอง ค่านิยม หรืออำนาจที่จะมาคุมเรา ขณะที่บางคนยืนเด่นท้าทายต่อต้าน ไม่ยอมรับ และเกรี้ยวกราดกับความจริงตรงหน้า หลายคนไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรกับทางแยกนี้ ซึ่งก็ไม่รู้ว่ามันคือทางเลือกหรือทางตัน

ตลอด 199 หน้าที่ค่อย ๆ ไล่เรียงอ่าน ซูซาน นีแมน ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ โดยมี โตมร สุขปรีชาเป็นผู้แปล ค่อย ๆ อธิบายให้ฟังว่า ภายใต้การเติบโตของชีวิตคน ๆ หนึ่งนั้น จำเป็นต้องหา“สมดุล” ระหว่าง “โลกที่เป็นอยู่” (จริง) กับ “โลกที่พึงเป็น” หนังสือทำให้เราใคร่ครวญช่วงเวลา และช่วงวัยของเราเอง และเห็นกระบวนการขาลงของชีวิตที่เคลื่อนด้วยการเติบโต

หนังสือบอกเราว่า การเติบโตคือเรื่องของการรับรู้ความไม่แน่นอนที่ถักทอตลอดชีวิตของเราบ่อยครั้งที่แย่กว่านั้นคือการมีชีวิตอยู่โดยไร้ความมั่นคงแน่นอน แต่รู้ว่าต้องแสวงหาความมั่นคงไปเรื่อย  โดยเลี่ยงไม่ได้ สิ่งนี้พูดง่ายแต่ทำโคตรยาก ใคร ๆ ก็รู้

คานต์ นักปรัชญาคนหนึ่งในเรื่องบอกว่า “มนุษย์เราจะเป็นมนุษย์ได้ก็ต่อเมื่อผ่านการศึกษาแล้วเท่านั้น” 
แต่ถึงอย่างนั้นไม่ว่าจะตั้งใจแค่ไหน ทำดีที่สุดแค่ไหน ชีวิตของคุณและของเราก็มีส่วนที่เป็นผลผลิตที่คนอื่นเลือกให้อยู่ดี

ซูมอินเข้าไปในช่วงวัยของเราเอง เด็ก วัยรุ่น ผู้ใหญ่ และสูงวัย การเติบโตมันก็แตกต่างออกไป เสรีภาพและอิสระในการเลือกสิ่ง ๆ หนึ่งก็ล้อกันไป ทารกใช้เวลาเรียนรู้มากกว่าช่วงวัยอื่น ๆ เป็นวัยทองของการก่อรากฐาน หากไปโรงเรียนที่บังคับให้ฟังอย่างเดียวห้ามพูด หรือบังคับให้ท่องจำ เมื่อเติบโตจึงยากที่จะโต้ตอบเมื่อได้เจอสิ่งที่ผิดปกติ หรือเสียดหู หรืออยากถกถาม พวกเขาจะเงียบ เพราะถูกขัดเกลามาแบบนี้

พอเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น การพบพานความจริงที่ว่าโลกนี้มันอยุติธรรม-โดยปกติ ความเกรี้ยวกราดก่อตัว เป็นเวลาที่ตั้งคำถามหนักมากกับโลกว่าสิ่งที่เคยคิดฝันดันไม่ใช่แบบนั้น สิ่งที่แน่นอนก็แกว่งไหวง่ายดาย ขณะเดียวกันบางอย่างก็เหม็นเน่าเกินทน จนทำให้รู้สึกว่า “โลก-เราไม่เข้ากันเลย” เป็นช่องว่างที่ทำให้ช่วงวัยนี้เดือดดาล และตบตีกับตัวเอง ความเจ็บปวดค่อย ๆ เพิ่มขึ้น แต่จะทำอย่างไรได้ก็คนรุ่นก่อน ๆ ก็โตมาแบบที่ก็รู้ไม่ได้มากไปกว่าเรา เราไม่ชอบผู้ใหญ่ ทำไมผู้ใหญ่สร้างโลกมาแบบนี้

การตบตีที่ว่ามันจะอยู่ภายในตัวเราเองว่าระหว่างโลกที่เราอยากให้มันเป็น กับโลกที่มันเป็นจริง ๆ เราควรหันเหไปทางใด สมดุลเกิดขึ้นได้จริงหรือ สุดท้ายมันอาจกลายเป็นสงครามที่อาจกินเวลาไปชั่วชีวิต

ชีวิตดำเนินไป ผ่านวัยเด็ก ผ่านวัยรุ่น เข้าสู่การเป็นผู้ใหญ่ ที่ไม่ได้หมายถึงอายุ แต่การงาน การเดินทาง และวัยที่ผ่านมาจะขยายทางเลือกของชีวิตให้มากกว่าเดิม โกรธน้อยลง เข้าใจมากขึ้น แต่สิ่งที่เป็นสัญญาณแห่งการเติบโตคือ วิจารณญาณ สิ่งที่ทำให้เรารู้ว่าอะไรควรเกรง อะไรควรคาดหวัง อะไรควรไฝว้ อะไรควรโอนอ่อน หรือปลงปล่อยมันไป

ดุลพินิจ-วิจารณญาณนี้คือความยาก เพราะมันสอนกันไม่ได้ ต้องฝึกฝนเท่านั้น แต่มันทำให้เรารู้ว่า ความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ของชีวิตคืออะไร การเรียนรู้ การเดินทาง การงานจะชัดขึ้นเหมือนไปทำเลสิก ตัดแว่นสายตา เพราะเราจะเห็นหลุมพรางน้อยลง เราจะเลือกได้ดีมากขึ้น และจะหนักแน่นเมื่อเราอายุมากขึ้น และโอบกอดตัวเองมากขึ้น ก็รู้แล้วนี่นา อย่าโทษตัวเองนักเลยที่พาตัวเองไปถึงจุดนั้นไม่ได้-จุดที่ฝันใฝ่

ซูซานอธิบายไว้ใหญ่โตว่า การเรียนรู้จากการเดินทาง และการงานนี่แหละ อาจเป็น Trigger สำคัญที่กัดกร่อนวิจารณญาณและการเติบโต หากเราอยู่ในหลุมของภาพหลวงตาที่ถูกประกอบสร้างอีกที เช่น ทำงานที่เรารู้สึกไม่มีคุณค่า แต่ก็ทำมันและมีส่วนสร้างสังคมแบบผู้ใหญ่ที่เราไม่ชอบ ไปเที่ยวแบบฉาบ ๆ เพราะฉันเหนื่อยเหลือเกินต้องการเติมเต็ม การเดินทางไม่ใช่การเรียนรู้ ไม่ใช่การเบิกเนตร แต่คือความบันเทิงจากชีวิตในสังคมที่เราก็รู้กันว่ามันไม่ใช่ทุกคนที่จะอยู่ในระดับที่สามารถทำสิ่งนั้นอย่างเท่าเทียม ไม่ใช่ทุกคนมีโอกาสไปใช้ชีวิตต่างประเทศ และไม่ใช่ทุกคนที่มีความฝันนั้น ไม่ใช่ทุกคนที่ได้ทำงานที่ชอบ

จะด้วยเงื่อนไขอะไรก็ได้ ซูซานอยากให้เรารู้ว่า ทางเลือกที่เราสร้างจากผลพวงของวันก่อนมันก็จะเป็นฐานที่สร้างโลกให้ลูกหลานของเราต่อไป ทับถมกันไปมา ซูซานเองบอกในตอนท้ายว่า การใช้ปรัชญาอธิบายการเติบโตเพื่อจะให้เราเข้าใจว่าเราไม่ควรจำนน และไม่ส่งต่อโลกที่ไร้ทางเลือก และไร้เสรีภาพใบนี้ต่อ ๆ ไป แม้เราจะเจ็บปวดกับการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ก็ตาม

“มีแต่ผู้ใหญ่ที่มีเสรีภาพและเสมอภาคเท่านั้นแหละที่จะสร้างสังคมที่มีเสรีภาพ และเสมอภาคได้”

ในวัยนี้ที่เราเพิ่งได้อ่านหนังสือเล่มนี้ มันมีบางช่วงวัยที่เราเสียดาย และตบตีกับตัวเองเหมือนกันในวันที่เราไม่เข้าใจโลก และอยากสร้างทางเลือกให้ชีวิตมากกว่านี้ แต่เมื่อเข้าใจแล้วว่าที่ผ่านมาการเลือกของเรามีส่วนผสมจากทั้งตัวเองและสิ่งอื่น เราไม่อยากแก้อะไร อย่างที่หนังสือบอกว่า เพราะการเติบโตคือการตระหนักว่าไม่มีช่วงเวลาไหนในชีวิตเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุด แต่คือการถนอมรักษาทุกวินาทีแห่งความสุขที่อยู่ใกล้ตัวเอาไว้ 

หนังสือ: Why Grow Up เติบโตอย่างไรไม่เจ็บปวด-มองการเติบโตด้วยสายตาของนักปรัชญา
นักเขียน: ซูซาน นีแมน 
นักแปล: โตมร สุขปรีชา
สำนักพิมพ์: SALT

PlayRead: คอลัมน์รีวิวหนังสือประจำ Decode.plus เมื่อกองบรรณาธิการขอ add หนังสือ (ที่อยากอ่าน) ขึ้นไว้บนเพลย์ลิสต์ พบกับหนังสือหลากหลายสไตล์ หลากหลายวิธีการเล่าเรื่องที่เชื่อมร้อยกับชีวิตและสังคม แวะมาหาอ่านกันได้ทุกเย็นวันพฤหัสบดี