ประเทศเต็มไปด้วยคำตอบอันปราศจากคำถาม
วีรพร นิติประภา
เด็กหญิงวีรพรอายุสิบสามตอนถามครูคณิตศาสตร์ว่า 7 x 1 = 7 เจ็ดยกกำลังตัวมันเองหนึ่งครั้งได้ตัวมันเอง (ซึ่งก็น่างงอยู่พอแรงอยู่แล้ว) แล้ว 7 x 0 = 0 เจ็ดยกกำลังตัวมันเองศูนย์ครั้ง แปลง่ายๆ ตามความเข้าใจขณะนั้นคือเจ็ดไม่ได้ยกกำลังหรือทำอะไรเลย แล้วตัวมันเองหายไปไหน หายไปได้อย่างไร ทำไมถึงหาย ยิ่งกว่านั้นไม่ว่าใครก็ตาม…1 2 3 4 5 6 7 8 9 x 0 ก็จะมีค่าเท่ากันหมด คือกลายเป็น 0…ไร้ค่า แปลว่าอะไร
ครูตอบสั้นๆ ว่า เขาให้เชื่ออย่างไรก็เชื่อตามนั้น และนั่นคือวันที่เด็กหญิงวีรพรเลิกสนใจเลข วิชานี้ไม่มีเหตุผลสักกะหน่อย
ไม่แน่ใจว่าครูจะรู้มั้ยว่าคำตอบคืออะไร หรือหากรู้…จะรู้วิธีอธิบายให้เด็กม.หนึ่งเข้าใจได้ง่าย ๆ หรือไม่ แต่ที่แน่ ๆ เขาให้เชื่ออย่างไรก็เชื่อตามนั้น ไม่ใช่คำตอบที่ดีพอ กระนั้นก็ต้องขอเรียนตามตรงว่าครูท่านนี้กรุณาเด็กหญิงวีรพรมากมาย ตอนเริ่มถอดใจและไม่ให้ความสนใจเลขอย่างเคยกับมีผลการเรียนเลขตกต่ำรวดเร็วหลังจากนั้น…ครูยังเรียกวีรพรไปเรียนเดี่ยวหลังกินข้าวเที่ยงด้วย ต่อเมื่อมานึกถึงอีกในตอนนี้ก็ให้สำนึกในความเมตตาและปรารถนาดีของครูอยู่ไม่น้อย เพราะเป็นเวลาพักอันน้อยนิดของครูด้วยเช่นกัน ไม่มีใครอยากทำงานทั้งวันโดยไม่พัก และครูก็อุตส่าห์สละเวลาให้ ในตอนนั้นเพื่อนก็ล้อ และวีรพรก็อายที่ต้องไปเรียนคนเดียว เลยฝืนไปครั้งสองครั้งจากนั้นก็เบี้ยวไปบ้างไม่ไปบ้างจนโดดถาวร ผลพลอยตามมาจากการทิ้งวิชาเลขคือไม่ได้ไปต่อสายวิทย์หรือศิลป์คำนวณ ซึ่งก็นับว่าเปลี่ยนเส้นทางชีวิตเลยทีเดียว
หลายปีต่อมา ระหว่างคุยกับเพื่อนฝรั่งคนหนึ่งซึ่งเป็นอาจารย์สอนฟิล์ม จำไม่ได้แล้วว่าเหตุผลกลใด จากเรื่องไหนไปเรื่องไหน ถึงได้เล่าให้เขาฟังเรื่อง 7 x 0 พอเล่าจบเท่านั้นเพื่อนฝรั่งก็ปล่อยคราง ก่อนจะถาม อายุเท่าไหร่นะตอนนั้น… / สิบสาม / ช่างน่าเสียดายอะไรอย่างนี้ / วาย… / ก็เพอร์ซั่นที่ถามคำถามอันนำไปสู่แก่นสาระสำคัญของคณิตศาสตร์อย่างนั้นในอายุน้อยแค่นั้นมันไม่ได้มีเยอะน่ะสิ มันคือตัวบ่งชี้ว่าคนๆ นั้นมีความเป็นไปได้ที่จะเป็นนักคณิตศาสตร์คนสำคัญ ถ้าได้เรียนกับอาจารย์เก่ง ๆ ที่สามารถให้คำอธิบายที่เหมาะสม กับความรู้สึกไวพอจะรู้ว่าเด็กคนไหนมีศักยภาพ
จากนั้นเพื่อนอาจารย์สอนฟิล์มก็ไขปริศนาการหายไปของตัวเลขทุกตัวที่ x 0 หรือยกกำลังศูนย์ครั้งให้ฟัง พร้อมกับเขียนสมการสองสามแบบให้ดูประกอบด้วย แน่นอนว่าเรื่องน่าตื่นตะลึงพรึงเพริดของเลข 0 ที่มีค่าเท่ากับทั้ง’ไร้ค่า’และ’อนันต์’ในตัวเองไม่ได้เป็นเรื่องอธิบายได้ง่ายนัก
แล้ววีรพรก็ลืมเรื่องนั้นไป ผ่านชีวิตมาดี ๆ จนกระทั่งได้ดูหนังเรื่อง The Man Who Knew Infinity ซึ่งชีวประวัติของนักคณิตศาสตร์คนสำคัญชื่อศรีนิวาสะ รามานุจัน แล้วก็ให้ประทับใจในความหลงใหลที่ชายคนหนึ่งมีต่อคณิตศาสตร์จนต้องไปหาหนังสือเกี่ยวกับชีวิตเขามาอ่าน กับครั้งหนึ่งได้ยินลูกชายซึ่งในตอนนั้นอายุสิบแปดรำพึง…คณิตศาสตร์มันคือโลกที่พิเศษและสวยงามมากอะแม่จ๋า …ตาลูกเป็นประกาย แล้วก็ให้รู้สึกเสียใจขึ้นมา…ไม่ใช่ที่ไม่ได้กลายมาเป็นนักคณิตศาสตร์ที่เก่งกาจ แต่ที่ไม่อาจกระทั่งมองเห็นความงามของวิชานี้
อา…ความงาม
ถัดจากปีที่ถามคำถาม 7 x 0 มาหนึ่งปี ระหว่างที่เด็กหญิงวีรพรอายุสิบสี่กำลังเดินไปโรงเรียนซึ่งยามนั้นเคยเป็นโรงเรียนชานเมืองกลางทุ่งและเดี๋ยวนี้กลายเป็นโรงเรียนโอ่อ่ากลางกรุงที่ขยายออกไปกลืนกินทุ่งที่ว่าไปแล้ว น่าจะเป็นเช้าหน้าหนาว จำได้ว่าเห็นหมอกรางเรี่ยในตอนได้ยินยินเสียงขับทำนองเสนาะของครูท่านหนึ่งซึ่งไม่รู้ว่าท่านไหนดังลอยมาจากอินเตอร์คอมของโรงเรียน เป็นการขับทำนองที่เต็มฟอร์มมาก มีกระชั้นเสียงบางช่วงคล้ายสะอึกสะอื้น คร่ำครวญถึงเศร้าโศกขมขื่นของกษัตริย์หนุ่มที่พบศพมเหสีที่รักลอยน้ำมา ตัดพ้อโชคชะตาที่พัดพาตนให้ต้องระหกระเหเป็นกษัตริย์ที่ไร้แผ่นดินให้ครอง เกิดแต่วงศ์เทวัณแต่กลายไร้ยศถา ไม่มีทรัพย์สมบัติกระทั่งจะจัดงานพระศพให้นางผู้เป็นที่รักยิ่งชีวิต มีเหลือแต่แสงเดือนดาวต่างโคมไสว เสียงแมลงหรีดหริ่งเรไรต่างมโหรีบัณเลงกล่อมส่งสู่สวรรค์
อุปมาอุปไมยชวนสะเทือนใจกับโหยหาอาวรณ์สิ้นหวังของคนสิ้นไร้ไม่สามารถดูแลคนรักอย่างสมเกียรติในวาระสุดท้ายนั้นช่างรันทด โดยไม่ทันรู้ตัวเด็กหญิงวีรพรก็พบว่าหน้าตัวเองเปียกปอน แต่ไม่ใช่หมอก…วีรพรเดินร้องไห้
เป็นตอนนั้นเองที่ได้ตระหนักเป็นครั้งแรก ถึงน้ำหนัก อานุภาพ ความหรูหรา สง่างาม และวิจิตรของภาษาไทยกับตั้งปณิธานในกลางทุ่งฤดูหนาวนั้นว่าจะโตขึ้นทำงานกับภาษา แหละในกาลต่อมาความสนใจในภาษาก็กลายเป็นความรัก ลุ่มหลง เป็นความกระหายใคร่ในถ้อยคำที่ยากจะอาจอธิบาย ทำให้เด็กคนหนึ่งกลายเป็นนักอ่านที่เข้มข้นไม่เลิกรา และหลายสิบปีต่อมาก็กลายมาเป็นนักเขียนที่เข้มแข็ง
มาทีหลังถึงไปรู้มาว่าทำนองเสนาะชิ้นนั้นคือกาพย์นางลอยของล้นเกล้ารัชกาลที่สอง แต่จนแล้วจนรอดก็ไม่เคยได้รู้ว่าครูท่านใดเป็นผู้ขับออกอินเตอร์คอมในเข้าวันนั้น พอขึ้นม.ห้าก็ได้เรียนกาพย์นางลอยจริงๆ แต่กลับได้เรียนกับครูอีกท่านที่ไม่สอนอ่านเป็นทำนองเสนาะ หากสอนอ่านเป็นกลอนทั่วไปไม่ได้ร้อง ซึ่งทำให้เพชรน้ำหนึ่งของวรรณคดีนอกจากฟังดาดๆ ไม่น่าสนใจ ยังไม่ไพเราะดังที่ได้ยินได้ฟังหนแรกด้วย ด้วยเป็นงานที่ถูกเขียนมาเพื่อให้อ่านแบบทำนองเสนาะ ที่แย่ที่สุดคือความแพรวพราวของการประพันธ์เสียงสั้นยาวที่ชวนให้นึกถึงเสียงสะอึกสะอื้นกลับฟังตลกเมื่อถูกอ่านแบบกลอน
ชั่วชีวิตต่อมาจนถึงเดี๋ยวนี้ ไม่เคยได้ฟังใครขับชิ้นนี้ได้งดงงามเท่าครูท่านนั้นในเช้าวันนั้นอีก
ที่นึกถึงเรื่องเมื่อแสนนานมาแล้วสองเรื่องนี้ขึ้นมาก็เพราะเพิ่งผ่านวันครูมาหมาด ๆ ทั้งสองวาระไม่ได้เป็นแค่ชั่วขณะเล็ก ๆ ที่เปลี่ยนชีวิตเด็กหญิงวีรพรไปตลอดกาล แต่ยังเป็นเรื่องราวของครู ผู้ซึ่งไม่เพียงประสิทธิประสาทวิชาความรู้ หากในอีกนัยยะยังเป็นผู้เปิดดวงตาให้คนได้มองเห็นถึงความงามของศาสตร์และศิลป์ กับค้นพบแรงบันดาลใจที่ยิ่งใหญ่พอจะนำทางผู้นั้นไปได้ตลอดชีวิต