หมอผี “นักลักขุด” ในหลุมขุดค้นโบราณคดี - Decode
Reading Time: 3 minutes

เรื่องเล่า(ไม่)ต้องห้าม

ปิยวัฒน์ สีแตงสุก

หลายคนอาจมีภาพจำของนักโบราณคดีว่าจะต้องเหมือน “ดร. อินเดียน่า โจนส์” ในภาพยนตร์เรื่องขุมทรัพย์สุดขอบฟ้า ซึ่งมีอาชีพที่โลดโผน ได้ออกผจญภัย รอบรู้ประวัติศาสตร์ สู้เก่ง เอาตัวรอดเป็น

แต่นักโบราณคดีในชีวิตจริงอาจไม่ได้เป็นแบบนั้นเสียทั้งหมด ถ้าตัดเรื่องเหนือจินตนาการที่เติมแต่งเพื่ออรรถรสในการรับชมออกไป มุมหนึ่งในภาพยนตร์เรื่องนี้ที่นำมาคิดต่อได้คือ การแทรกตำนานและความเชื่อที่ผูกกับโบราณวัตถุและโบราณสถานเข้าไปในเรื่อง

นักโบราณคดีที่เราเห็นในภาพยนตร์และรวมถึงในชีวิตจริง จึงไม่ใช่แค่อาชีพที่ขุดค้นอดีตเท่านั้น แต่ยังต้องทำงานกับ “ความเชื่อ” เป็นอย่างมาก

และยากไปกว่านั้น คือการประนีประนอมกับ “คนเป็น” ที่ผูกพันกับพื้นที่ของ “คนตาย” ซึ่งนักโบราณคดีจะต้องเข้าไปขุดค้น เพื่อนำข้อมูลออกเผยแพร่สู่สาธารณชน

การประนีประนอมนี้เองที่น่าขยายประเด็นต่อ และเมื่ออ่านความคิดของนรุตม์ โล้กูลประกิจ นักโบราณคดี, กรรมการผู้จัดการ บริษัท รีฟอร์ม อาร์คีโอโลจี้ จำกัด และแอดมินเพจ Archaeologeek ในบทความนี้จบ ผู้อ่านจะได้เห็นวิธีการทำงานของนักโบราณคดีกับความเชื่อในบางมุม

บางทีผีกับโบราณคดีอาจอยู่ใกล้กันกว่าที่คิด

เข้าสู่สนาม

“สนามไม่เคยเป็นของนักโบราณคดีเพียงคนเดียวเลย สนามยังเป็นพื้นที่ของคนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เป็นพื้นที่ของชาวบ้านที่อยู่ตรงนั้น เป็นพื้นที่เศรษฐกิจ บางครั้งก็ยังเป็นพื้นที่ของความเชื่อด้วย”

ก่อนอื่นต้องเล่าถึงกระบวนการทำงานทางโบราณคดี 5 ขั้นตอน เพื่อให้เห็นภาพตรงกัน ไล่ตั้งแต่การสำรวจข้อมูลเอกสารและพื้นที่ การขุดค้น การนำของจากหลุมขุดค้นมาวิเคราะห์ การตีความเพื่อสร้างชุดคำอธิบาย จนจบที่การตีพิมพ์งานวิชาการหรือเขียนรายงานทางโบราณคดีเผยแพร่สู่สาธารณะ โดยสิ่งที่จะหยิบยกมาเล่าในที่นี้จะอยู่ในขั้นตอนแรกและขั้นตอนสองเป็นหลัก

ทันทีที่นักโบราณคดีก้าวเข้าไปในพื้นที่ที่ต้องการสำรวจ พวกเขาต่างมีสถานะเป็น “คนนอก” ในสายตาของ “คนใน” ความเคลือบแคลง หวาดระแวงจากชาวบ้านในพื้นที่ว่าคนพวกนี้จะเข้ามาทำอะไรก็ย่อมมีเป็นธรรมดา

นรุตม์เคยเข้าไปในพื้นที่ที่มีการก่อสร้างตัดถนนอยู่ โดยบริเวณนั้นมีวัดและโบราณสถานที่ต้องเข้าไปสำรวจ แต่ความรู้สึกที่ชาวบ้านละแวกนั้นมีให้คือ คนพวกนี้จะมารื้อที่แน่ ยึดที่แน่ นักโบราณคดีจะหาหลักประกันมารับรองความไว้เนื้อเชื่อใจได้ก็ต้องเข้าไปหาตัวกลางสักคนหนึ่งที่จะเชื่อมประสานพวกเขากับชาวบ้าน

“ถ้าเคสแบบที่เข้าไปยาก อาจจะต้องใช้คนในมาเป็นสะพานให้เรา อาจเป็นพระ ผู้ใหญ่บ้าน หรือใครก็ได้ที่ชาวบ้านเขานับถือ … แล้วก็จริง ๆ การทำพิธีกรรม (ที่หลุมขุดค้น) ก็ช่วยเหมือนกัน อย่างทำบุญหรือบวงสรวงใช้ได้หมดเลยนะ ทั้งกับชาวบ้านเองหรือคนที่ทำงานกับเรา เพื่อเกิดความสบายใจ”

เผชิญกับนักลักขุด

เมื่อถึงขั้นตอนของการขุดค้นแล้วก็ใช่ว่างานจะง่าย หากหลุมที่กำลังขุดค้นมีวัตถุบางอย่างหายไปโดยฝีมือของ “นักลักขุด”

ครั้งหนึ่งนรุตม์เคยทำงานขุดแหล่งโบราณคดีแห่งหนึ่งในภาคกลาง พื้นที่บริเวณนั้นเป็นอู่ข้าวอู่น้ำของนักลักขุดที่มักจะมาหาของมีค่ากัน โดยเฉพาะลูกปัดโบราณ

“แต่พอดีว่าที่ดินตรงนั้นเป็นของพระ แล้วพระท่านก็เห็นว่าที่ของท่านเกิดปัญหาอาชญากรรมมรดกวัฒนธรรมอยู่ แล้วตอนนั้นทางเราทำงานจัดการพิพิธภัณฑ์ให้ท่านอยู่ เราเลยทำโครงการขุดค้นทางโบราณคดีขึ้นมา” นรุตม์เล่า

โครงการขุดค้นพื้นที่นี้จึงเป็นโครงการร่วมระหว่างเอกชนกับกรมศิลปากร ข้อค้นพบคือพื้นที่นี้มีลูกปัดจำนวนมาก เพราะเป็นแหล่งฝังศพช่วงประมาณ 1,500 ปีก่อน คนจึงไปลักขุดกัน

“ลูกปัดที่ได้ก็ขโมยมาจากศพเลย” นรุตม์เล่าต่อ

บางคนอาจคิดว่า คนลักขุดคงไม่กลัวผีเพราะกล้าไปขโมยของจากผี ขนาดบางคนไปโบราณสถานหยิบอิฐหยิบหินติดมือกลับมายังบอกผีมาตาม แต่จริง ๆ แล้วนักลักขุดเองก็กลัวผี เพราะหลังจากขุดเจอโครงกระดูกนี้ ทั้งคนลักขุดกับชาวบ้านก็แห่มาจุดธูปกับวางเครื่องเซ่นไหว้ เพราะคนลักขุดเองก็กลัว แต่ก็เชื่อว่าลูกปัดที่เอาไปกันผีได้ และยังมีฤทธิ์อื่น ๆ ทั้งเอาไปรักษาโรค แก้คุณไสย รถคว่ำไม่ตาย ความเชื่อแบบนี้เองที่อยู่เบื้องหลังให้นักลักขุดกล้าไปขโมยเอามาจากศพ

“เราอาจมองได้ว่า หรือจริง ๆ เขาหวังเงินมากกว่า เพราะราคาหน้าหลุมหลักพัน เอามาปล่อยต่อในตลาดกลางได้หลักหมื่น เอาไปปล่อยต่างประเทศได้หลักแสน แต่เคสที่ผมเจอมาเป็นแบบพระเครื่องเลยครับ ลูกปัดหินที่เขาเชื่อว่าดี เชื่อว่าแรง ราคาหลักแสนเขาก็ไม่ปล่อยครับ”

ทีนี้มีโจทย์ท้าทาย นักโบราณคดีจะทำยังไง แจ้งตำรวจจับ หรือเข้าไปแลกเปลี่ยนมุมมองความรู้กับเขาแล้วหาทางจัดการกับปัญหาที่มีดีกว่า

นรุตม์เลือกใช้การศึกษาระหว่างกรอบเป็นเครื่องมือในการทำงาน ซึ่งโชคดีที่นักลักขุดยังเคารพพระ พระจึงเป็นสะพานให้นรุตม์ได้ทำงานร่วมกับนักลักขุด

“การศึกษาระหว่างกรอบคือ พี่ขุดหาของยังไงสอนผมหน่อย แลกกัน เดี๋ยวผมสอนพี่ขุดค้นสร้างคำอธิบายอดีต สุดท้ายเราได้วิธีการขุดและเทคนิคของเขามา” นรุตม์อธิบาย

ขณะเดียวกันพอนักลักขุดมาทำงานแบบเดียวกับนักโบราณคดี ทำให้เขาเข้าใจว่า พอมาขุดเอาลูกปัดออกไปจากศพ นักโบราณคดีก็ไม่สามารถสร้างรูปแบบการฝังศพของคนที่นี่เมื่อ 1,500 ปีก่อนได้ ไม่สามารถรู้ว่า โครงกระดูกนี้เป็นเพศไหน อยู่ในช่วงวัยไหน มีรูปแบบการฝังศพยังไง ตายด้วยโรคอะไร อาหารการกินคืออะไร เพราะวัตถุในหลุมขุดค้นไม่ได้ถูกจัดวางไว้แบบเดิมก่อนทำการเก็บข้อมูล (ภาษาที่นักโบราณใช้เรียกว่า in-situ context หรือการดึงโบราณวัตถุออกจากบริบทเดิม)

วิธีการทำงานแบบนี้จะทำเป็นโครงการโดยมีกรมศิลปากรเป็นผู้ดูแล และทางทีมนักโบราณคดีได้ชี้แจงไว้ในวิธีวิทยา (methodology) ว่าหลุมขุดค้นนี้จะทำวิจัยแบบนี้

จากนั้นนรุตม์จะเขียนบทความวิจัยงานนี้ส่งตีพิมพ์วารสารของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร แล้วส่งบทคัดย่อไปงานประชุมโบราณคดีที่โปแลนด์ ในหัวข้อการจัดการอาชญากรรมมรดกวัฒนธรรมอันเนื่องมาจากความเชื่อ ซึ่งจริง ๆ ไม่ได้มีแค่ประเทศไทยที่เชื่อในพลังเหนือธรรมชาติที่อยู่กับโบราณวัตถุ แต่ทั่วโลกก็เชื่อ ปัญหาการลักลอบขุดถึงได้เกิดขึ้น

บางคนอาจมองว่าวิธีการนี้เป็นสีเทา แต่นรุตม์มองว่าเป็นวิธีการหนึ่งเพื่อให้ได้ข้อมูลมา ไม่อย่างนั้นนักโบราณคดีไม่มีทางรู้ว่า นักลักขุดใช้เทคนิคอะไร หาของยังไง ดมกลิ่นดินตรงไหน พอได้ข้อมูลมา ก็ไม่ได้แค่เอาข้อมูลจากนักลักขุดมาใช้ประโยชน์อย่างเดียว ด้วยความที่นักลักขุดเองก็เป็นชาวบ้านคนหนึ่ง ถ้าอยากให้พื้นที่ของตนเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางโบราณคดี ก็ควรได้ข้อมูลกลับไป เพื่อทำความเข้าใจว่าพื้นที่นี้มีความสำคัญมาตั้งแต่อดีตยังไง

“อยากให้เขารู้สึกแบบเราด้วยว่า เราตั้งใจทำงาน ตั้งใจขุดมาเป็นเดือน แต่ว่าไม่ได้ข้อมูลอะไรเลย เสียเงินเสียไปเปล่า ๆ กับข้อมูลที่ไม่สมบูรณ์ แล้วก็พยายามชี้ให้เขาเห็นว่า ถ้าเขาอยากมีแหล่งโบราณคดีที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวได้ พอเขามาลักขุดแบบนี้มันยิ่งตัดโอกาสที่เขาจะทำต่อได้ เพราะว่าข้อมูลไม่มี” นรุตม์กล่าว

ผี(?)ในหลุมขุดค้น

ปัจจุบันในวงการโบราณคดีมีคำว่า “โบราณคดีพ้นมนุษย์” (Posthumanism archaeology) พูดอย่างง่าย ๆ คือ เป็นการพลิกแนวคิดจากเดิมที่มองว่า มนุษย์คือศูนย์กลางของสรรพสิ่งและเป็นผู้สร้างวัฒนธรรมด้วยตัวเอง กลายเป็นว่ามนุษย์อาจจะถูกอิทธิพลของสิ่งอื่น ๆ ทำให้คิดและสร้างวัฒนธรรมแบบนั้น ๆ ขึ้นมา

ถ้าสัตว์อาจทำให้มนุษย์สร้างวัฒนธรรมแบบหนึ่งขึ้นมาจะเรียกว่า Animal turn หรือถ้าชนิดของต้นไม้ในป่าคือตัวกำหนดรูปแบบการสร้างวัฒนธรรมของมนุษย์ในแต่ละที่ขึ้นมาจะเรียกว่า Wild turn

ขณะที่การมองว่า ความเชื่อเรื่องลี้ลับเหนือธรรมชาติมีอิทธิพลต่อการสร้างวัฒนธรรมของมนุษย์แต่ละช่วงเวลาจะเรียกว่า Paranormal turn เช่น ความเชื่อเรื่องพระธาตุอันตรธานทำให้เกิดประเพณีการสร้างเจดีย์ ความเชื่อเรื่องผีทำให้เกิดพิธีการปลงศพ หรือความเชื่อเรื่องลูกปัดทำให้เกิดอาชญากรรมมรดกวัฒนธรรมได้ นี่เป็นสิ่งที่นักโบราณคดีเริ่มให้ความสนใจ

“เดี๋ยวนี้เราไม่ได้แบ่งแล้วว่า นี่วิทย์ นี่ไสย แต่เรามองปฏิสัมพันธ์ที่เกิดขึ้น เราจะบอกได้ยังไงว่า วิทยาศาสตร์ของเราเหนือกว่าพลังของหมอผี อย่างหมอผีบอกเราได้ก่อนเลยว่า โลงศพในหลุมนี้มีกี่โลง มีชายหญิงกี่คน ต่อให้นักวิทย์ในทีมเราได้คำตอบเดียวกับหมอผี ก็ 1 ปีให้หลังหลังจากวิเคราะห์ในแล็บแล้ว ประเด็นไม่ได้อยู่ที่ใครเหนือกว่าใคร แต่ทั้งสองจะถูกใช้เป็นข้อมูลในการสร้างคำอธิบายอดีตของนักโบราณคดี” นรุตม์กล่าว

ข้อมูลจากเรื่องผีหรือเรื่องเหนือธรรมชาติ จริงหรือหลอกนั้นไม่ได้ใช้ประเด็นสักเท่าไหร่ เพราะข้อมูลทั้งหมดต้องถูกนำมาตรวจสอบ สิ่งที่นรุตม์สนใจคือ ชุดข้อมูลที่ได้สามารถนำมาใช้สร้างชุดคำอธิบายที่น่าเชื่อถือได้ไหมมากกว่า

ยกตัวอย่าง ถ้าบังเอิญหมอผีไปได้ข้อมูลมา ไม่รู้ว่าจากผีจริง ๆ หรือเขาเชื่อไปเองว่าศพในหลุมฝังศพนี้เป็นคนเมื่อ 3,000 ปีก่อน แต่รูปแบบของอุทิศในหลุม ทิศของผังหลุมศพ ชั้นทับถมทางโบราณคดี และค่าอายุทางวิทยาศาสตร์กำหนดว่ามีอายุ 1,500 ปี เราก็ต้องอธิบายว่านี่คือหลุมของคน 1,500 ปี

ข้อมูลจากหมอผีเป็นเพียงสิ่งที่เราต้องนำมาวิเคราะห์ ถ้าทั้งหมดสอดคล้องกันก็ใช้ได้ แต่ถ้าข้อมูลค้านกันก็ต้องตรวจสอบและเลือกใช้ชุดคำอธิบายที่รัดกุมที่สุด

“ถ้าคุณโชคร้ายไปเจอหมอผีปลอมมาหลอก ยังไงนักโบราณคดีก็จะไม่โดนหลอกครับ เพราะการสร้างคำอธิบายทางโบราณคดีขึ้นมาทีนึงไม่ได้อยู่ ๆ ก็บอกว่าเป็นอย่างนั้น แต่มันคือการวิเคราะห์และตีความอย่างเข้มข้นและรัดกุม”

อดีตก็เหมือนกับผี

นอกจากบทบาทนักโบราณคดีแล้ว นรุตม์ยังทำเพจ Archaeologeek ซึ่งจะมีวิธีการนำเสนอเรื่องเล่าทางโบราณคดีที่ต่างออกไปจากเพจหรือเว็บไซต์ที่เกี่ยวข้องกับโบราณคดีอื่น ๆ

อย่างแรกคือ เล่าต่างจากโบราณคดีแบบขนบของกรมศิลปากร ถ้าเทียบกันแล้วใน Archaeologeek จะเล่าเรื่องโบราณคดีผ่านสื่อบันเทิง เช่น ภาพยนตร์ ซีรีส์ แอนิเมชัน ฯลฯ ด้วยเกร็ดที่ไม่ไกลตัว และที่สำคัญคือการเอามุมมองแบบอื่น ๆ เช่น สังคมวิทยา มานุษยวิทยา การเมือง ประวัติศาสตร์ ฯลฯ ปรุงเรื่องเล่าให้ได้รสชาติที่แปลกใหม่น่าสนใจ สำหรับนรุตม์วิธีการนี้ทำงานเรื่องเล่าของเขาเข้าถึงผู้คนได้จำนวนมาก

“วิธีนี้มีข้อเสียตรงที่จะโดนเขม่นจากคนในแวดวงเดียวกัน เขาอาจจะบอกว่าโอเว่อร์ ตีความเกินไป แต่จริง ๆ แล้วสุดท้ายมันคือการพยายามทดลองว่า วิธีไหนที่เราจะสื่อสารกับมวลชนได้ เราไม่ได้แค่ต้องการสื่อสารกับคนที่เขาอินอยู่แล้ว”

อย่างที่สองคือ Archaeologeek เน้นโบราณคดีของผี ปีศาจ และสัตว์ประหลาด ที่นรุตม์เลือกเล่าแบบนี้ เพราะมองว่าอมนุษย์เหล่านี้สะท้อนกลับมาที่ความเป็นมนุษย์ เวลามนุษย์อธิบายถึงสังคมของเทพ ทุกอย่างถูกอธิบายบนความเป็นมนุษย์ อย่างเทพที่สูงใหญ่ก็มีรูปร่างแบบเดียวกับมนุษย์

“เหมือนเราเอาภาพของเราเองไปสร้างภาพสังคมเทพ ทั้ง ๆ ที่ไม่รู้ว่าพวกเทพที่อายุหลายล้านปีจะดำรงอยู่แบบไหน เขาจะสร้างอารยธรรมและมีพลวัตทางวัฒนธรรมแบบที่มนุษย์เป็น หรือจะหยุดนิ่งเพราะมีความมั่นคงทางวัฒนธรรมแล้ว” นรุตม์เล่าเปรียบเทียบ

ในส่วนของผีนั้น Archaeologeek เคยเก็บสถิติจากคนที่ติดตามเพจในช่วงวันฮัลโลวีน โดยให้คนมาแชร์เรื่องผีแล้วมาวิเคราะห์จัดจำแนกปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนกับผีจากเรื่องเล่าทั้งหมด ได้ข้อมูลว่า ส่วนใหญ่คนเราเจอผีแล้วไม่มีปฏิสัมพันธ์ ไม่คุย แค่เห็นก็กลัวแล้วถึง 62% ส่วนคนที่เจอแล้วกลัว แต่ก็คุยด้วย หรือไม่ก็โกรธ อีก 22% และคนที่เจอเรื่องผีแล้วมาพบทีหลังว่าไม่ใช่เรื่องผีอีก 16%

“ผีคือสิ่งที่มนุษย์ไม่อาจเข้าใจ เราจึงกลัว แม้จะมองเห็นหรือไม่ เช่นเดียวกัน อดีตคือพรมแดนที่เราไม่รู้จัก แม้จะเชื่อมโยงกับเราก็ตาม อดีตจะถูกสร้างบนการตีความหลักฐานของเราเสมอ” นรุตม์กล่าว

ในแง่นี้ อดีตก็เหมือนผีที่นักโบราณคดีทำได้เพียงศึกษารูปแบบ วิเคราะห์ และตีความ อดีตที่มนุษย์สร้างจึงไม่ใช่ความจริงที่สมบูรณ์ เช่นเดียวกับเรื่องเล่าประสบการณ์ผีลี้ลับที่ทุกคนเล่ากันมา เป็นเพียงประสบการณ์จากการรับรู้และตีความผ่านวัฒนธรรม ข้อตระหนักสำคัญของนักโบราณคดีเวลาสร้างอดีตจึงเป็นการระลึกอยู่เสมอว่า อดีตที่เราเล่าออกไปให้สังคมฟังนั้นเป็นเพียง “ข้อเท็จจริง” (facts) ไม่ใช่ “ความจริงสมบูรณ์” (truth)

สุดท้ายนี้ ในเพจมีการทำแคมเปญ #paranormol_archaeology ขึ้นมา เพื่อกระตุ้นให้เกิดภาวะการตื่นรู้ในเชิงการรับรู้อดีตผ่านการเล่าเรื่องผี และเพื่อให้ตระหนักว่า อดีตคือเรื่องเล่า ประวัติศาสตร์นิพนธ์หรือโบราณคดีนิพนธ์ไม่ได้ต่างไปจากเรื่องที่เรื่องหนึ่งที่หลายคนประสบพบเจอมา แค่มีหลักวิธีวิทยาในการสร้างคนละแบบ

“สิ่งสำคัญคือวิจารณญาณในการตรวจสอบทั้งของคนสร้างเรื่องเล่าและคนรับเรื่องเล่า”