“ภาพนี้แสดงถึงชายวัยกลางคน ผมสีดำแซมด้วยสีดอกเลาเพียงเล็กน้อย สวมเสื้อโปโลสีแดง มีใบหน้าที่ยิ้มแย้ม กำลังสวมหูฟังเฮดโฟนสีดำ และมองสิ่งที่แสดงผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์พกพา อาจทำให้เห็นว่าเขายังคงใช้งานเครื่องมือตรงหน้าได้เป็นอย่างดี แม้นัยน์ตาดำจะเป็นสีขาวขุ่นก็ตาม”
เพียงจินตนาการว่า หากให้โปรแกรมอ่านหน้าจอผ่านเสียงอธิบายภาพที่อยู่ตรงหน้า ณ ขณะนี้ นี่คงเป็นสิ่งที่กล่าวถึงภาพของการทำงานของทนง กันทาทอง คนพิการทางสายตาวัย 50 ปี อาชีพของพี่ทนงตลอดชีวิตการทำงานสะท้อนให้เห็นถึงอาชีพของผู้มีปัญหาทางสายตาได้เป็นอย่างดี แรกเริ่มพี่ทนงเป็นผู้มีปัญหาทางการมองเห็นที่เลือนราง ได้ทำงานเป็นคุณครูว่าจ้างผลิตหนังสือและสอนการใช้อักษรเบรลล์ของโรงเรียนคนพิการทางสายตาในจังหวัดเชียงใหม่ ก่อนที่จะได้งานประจำเป็นพนักงานคอลเซ็นเตอร์ที่บริษัทเครือข่ายมือถือเอกชนแห่งหนึ่ง ชีวิตแรงงานในเมืองกรุงจึงได้เริ่มต้นขึ้น
ในบางบรรทัดของการสนทนาระหว่างผู้เขียนและพี่ทนง ที่สอดแทรกมาด้วยเสียงอธิบายหน้าจอคอมพิวเตอร์ที่เปิดใช้งานโปรแกรมอ่านหน้าจอผ่านเสียง หรือที่กลุ่มคนพิการทางสายตาเรียกว่า “Screen Reader” พี่ทนงใช้งานเพื่อทดลองให้เราเห็นภาพการทำงานของโปรแกรม ว่านอกจากการอ่านตัวอักษรบนหน้าจอผ่านการพิมพ์ เลือกข้อความ การสัมผัสหน้าจอ คนพิการทางสายตายังสามารถใช้โปรแกรมดังกล่าวในการอธิบายรูปภาพหรือวิดีโออย่างละเอียดได้ด้วยเช่นกัน
ระหว่างการทำงานของพี่ทนงที่เปิดการใช้งานโปรแกรมอ่านหน้าจอผ่านเสียงไว้ ด้วยความสงสัยที่ว่า เพราะเหตุใดเสียงที่กำลังฟังอยู่นั้นถึงรวดเร็วจนไม่สามารถจับใจความของเนื้อหาได้ทั้งหมด (หากผู้อ่านสงสัยว่าเสียงนั้นมีระดับความเร็วอยู่ที่ประมาณเท่าใด ผู้เขียนอยากให้ทดลองเปิดเพลงหรือวิดีโอในเว็บไซต์ยูทูบ ก่อนจะปรับความเร็วในการเล่นให้อยู่ที่ 2 เท่าของระดับเสียงปกติ และนั่นเป็นความเร็วในระดับปกติที่พี่ทนง รวมไปถึงกลุ่มคนพิการทางสายตาคุ้นชินกับการใช้งานโปรแกรมฟังในระหว่างการใช้งาน) พี่ทนงหัวเราะก่อนตอบกับผู้เขียน
“ผมเคยชินกับระดับความเร็วแบบนี้ครับ ถ้าเราปรับให้เป็นความเร็วปกติ บางครั้งไม่ทันกับใจของเรา เลยเป็นเหมือนความสามารถตอนที่ผมทำงานแปลงไฟล์เสียงจากหนังสือ ผมจะทำงานได้เร็วมาก”
จุดเปลี่ยนชีวิตครั้งใหญ่ของพี่ทนง คือคำวินิจฉัยจากแพทย์ว่าพี่ทนงเข้าสู่ภาวะผู้พิการทางสายตา ไม่สามารถมองเห็นในปี 2560 แม้จะเป็นผู้มีปัญหาทางตามาโดยตลอด แต่การมองเห็นเลือนรางสู่การมองไม่เห็นทำให้พี่ทนงต้องปรับตัวในการใช้ชีวิต นับตั้งแต่ลาออกจากงานประจำที่เคยทำมาหลายสิบปี ฝึกหัดใช้ไม้เท้าขาวในการเดินทางของคนพิการทางสายตา สร้างความคุ้นชินการใช้งานโปรแกรมอ่านหน้าจอผ่านเสียง ที่นอกเหนือจะใช้งาน เพื่อให้ตนเองยังคงสามารถใช้งานโทรศัพท์มือถือและคอมพิวเตอร์ได้แล้วนั้น ยังรวมไปถึงโอกาสในการทำงานในฐานะพนักงานผู้พิการ ที่ต้องใช้เครื่องมือเหล่านี้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งให้การทำงานราบรื่น
คนพิการเรือนแสนหายไปจาก ‘ระบบจ้างงาน‘
การว่าจ้างงานคนพิการ ตาม พ.ร.บ. ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 มีจำนวน 3 มาตรา คือ มาตรา 33 ที่ว่าจ้างคนพิการเป็นพนักงานประจำ ในสัดส่วนพนักงาน 100 คนต่อคนพิการ 1 คน ถ้าไม่ต้องการว่าจ้าง หน่วยงานต้องส่งเงินเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้พิการตามมาตรา 34 หรือไม่ ต้องให้สัมปทานจ้างเหมาบริการให้คนพิการเข้ามาช่วยการทำงานตามมาตรา 35 ซึ่งจะเป็นการทำ “สัญญาจ้างเหมา” คนพิการในระยะเวลา 1 ปี
ความแตกต่างระหว่างการว่าจ้างคนพิการตามมาตรา 33 และ 35 คือความมั่นคงในการว่าจ้างที่มีความแน่นอน และสวัสดิการประกันสังคม ถึงแม้สิทธิการรักษาพยาบาลจะสามารถใช้ผ่านบัตรประจำตัวคนพิการ รวมถึงขึ้นทะเบียนบัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือบัตรทอง 30 บาทตาม ท.74 ที่สามารถรับสิทธิรักษาพยาบาลและอุปกรณ์จำเป็นสำหรับการดำรงชีพ แต่หากเข้ากฎเกณฑ์ที่พนักงานตามมาตรา 33 ส่งเงินสมทบเข้ากองทุนสวัสดิการสังคมเป็นระยะเวลามากกว่า 180 เดือนขึ้นไป จะมีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จ เงินบำนาญเมื่ออายุ 55 ปี รวมไปถึงสวัสดิการตรวจสุขภาพทั่วไปของพนักงานที่ได้รับจากการปันรายได้เข้าสู่ระบบประกันสังคม
วันนี้ประเทศไทยมีจำนวนคนพิการประกอบอาชีพจากการสำรวจของกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ 185,147 ราย จากตัวเลขคนพิการในวัยทำงานกว่า 864,529 ราย (ซึ่งยังไม่นับรวมแรงงานคนพิการที่ตกหล่นการสำรวจ กลุ่มคนพิการสูงวัยที่ยังต้องทำงานเพื่อเลี้ยงชีพ จากจำนวนคนพิการในประเทศกว่า 2 ล้านราย) ตัวเลขบอกถึงอาชีพส่วนใหญ่ของคนพิการที่ประกอบธุรกิจส่วนตัว ค้าขาย และเกษตรกรรม ในขณะที่ลูกจ้างคนพิการในหน่วยราชการและบริษัทเอกชนมีจำนวนรวมกันประมาณ 14,000 ราย เป็นความตกใจปนความสงสัยถึงสถานการณ์คนพิการที่กำลังต้องเผชิญกับการถูกผลักให้อยู่นอกระบบการว่าจ้าง ประกอบอาชีพนอกหลักประกันความมั่นคง ขาดกองทุนดูแลยามเกษียณ ที่การว่าจ้างกลุ่มคนพิการมีค่าเฉลี่ยแตกต่างกับตัวเลขคนพิการในวัยทำงานอยู่ 5 เท่า พร้อมคำถามจากพี่ทนง รวมถึงเพื่อนคนพิการในตลาดแรงงานว่าจ้างตามมาตรา 35 ถึงความกังวลว่า ตัวเองถูกว่าจ้างในปีต่อไปหรือไม่
สถานะ ‘เอไอเทรนเนอร์’ พนักงานจ้างเหมามาเทรนเอไอ
เข้าสู่ปีที่ 4 ที่พี่ทนงเข้าร่วมอบรมการว่าจ้างงานผ่านโครงการวัลแคน ฮีโร่ (Vulcan Hero) ของบริษัทสตาร์ทอัพอย่างวัลแคน โคอะลิชั่น (Vulcan Coalition) และได้ว่าจ้างตามมาตรา 35 ขององค์กรคู่สัญญาที่สนับสนุนการสัมปทาน เพื่อพัฒนาทักษะแรงงานผู้พิการ ในช่วงสามปีแรกพี่ทนงได้ทำงานแปลงหนังสือจากไฟล์ตัวอักษรไปเป็นไฟล์เสียง ซึ่งเป็นการแปลงข้อมูลมาจากการใช้ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI (Artificial Intelligence) ต้องตรวจสอบข้อมูลว่า มีการแปลงเนื้อหาผิดพลาดในจุดใด พี่ทนงจะแก้ไขให้ถูกต้องและใส่ข้อมูลกลับไปยังฐานข้อมูลของระบบ ก่อนที่ในช่วงต้นปี จะได้เริ่มต้นงานคอลเซ็นเตอร์สายด่วนของศูนย์เรื่องราวร้องทุกข์ สำนักงานเขตกรุงเทพมหานคร 1555 ทำหน้าที่รับเรื่องร้องเรียนของประชาชน เพื่อส่งต่อให้สำนักงานเขตของกทม. แก้ไขปัญหาต่อไป
เวลาในการทำงานของพี่ทนงจะถูกตัดแบ่งเป็นสองช่วงเวลา คือช่วงเวลาหกโมงในตอนเช้าจนถึงสิบโมง ก่อนจะเริ่มงานอีกครั้งในช่วงบ่ายสองจนถึงหกโมงเย็น โดยจะทำงานในวันจันทร์ พุธ ศุกร์ ตามระยะเวลาการทำงานที่ต่อเดือนจะต้องมีชั่วโมงเวลาการทำงาน 100 ชั่วโมง และมีค่าตอบแทนตามอัตราค่าแรงขั้นต่ำของกทม. (จากข้อมูลของกระทรวงแรงงาน อัตราค่าแรงกทม. ในปี 2567 อยู่ที่ 363 บาทต่อวัน) เมื่อคูณกับจำนวนวันการทำงาน รายได้ต่อเดือนจึงอยู่ที่ประมาณ 10,890 บาทต่อเดือน ซึ่งขัดแย้งกับลักษณะงานที่มีความซับซ้อนของระบบเทคโนโลยี สวนทางกับค่าเฉลี่ยรายได้แรงงานนอกภาคการเกษตรที่มีรายได้เฉลี่ย 580,000 บาทต่อปี หรือคิดเป็น 48,000 บาทต่อเดือน
การว่าจ้างงานคนพิการที่นอกจากคนพิการทางสายตาจะเข้าไปมีบทบาทเป็นหลังบ้านของระบบเทคโนโลยี กลุ่มคนพิการทางด้านการเคลื่อนไหวก็เป็นหนึ่งในพนักงานที่ได้รับการว่าจ้างให้อยู่เบื้องหลังการทำงานด้านปัญญาประดิษฐ์ขององค์กรหลายหน่วยงานไม่ต่างไปจากกลุ่มคนพิการทางด้านสายตา
เป็นทุกอย่างให้หลังบ้าน แต่หน้าบ้าน AI ก็ไม่ทิ้ง
บ้านทาวน์เฮ้าส์สองชั้นในหมู่บ้านที่มีรถสัญจรไปมาอย่างต่อเนื่อง ถูกตัดขาดให้เงียบสงบเมื่อเพียงเดินเข้ามาในซอยที่แบ่งแยกย่อยออกจากถนนสายหลัก พี่ประยัติ ทำมาทอง เดินมาต้อนรับด้วยรอยยิ้มและความเป็นกันเอง เมื่อได้รับโอกาสให้เข้าไปนั่งสัมภาษณ์ในบ้านของพี่ประยัติ เราจึงได้รับรู้ว่าพื้นที่ห้องนั่งเล่นของบ้านหลังนี้ ไม่ได้เป็นเพียงห้องพักผ่อนภายในบ้านตามคำนิยามของใครหลายคน เพราะสำหรับพี่ประยัติและภรรยา นี่เป็นห้องทำงานที่เพียงเดินมานั่งลงด้านหน้าคอมพิวเตอร์ เปิดโปรแกรมทำงานที่บริษัทติดตั้งไว้ การนับเวลาทำงานก็เริ่มต้นขึ้น
ตลอดระยะเวลา 3 ปีที่พี่ประยัติเริ่มต้นงานจ้างเหมาบริการกับบริษัทวัลแคนในตำแหน่งเอไอเทรนเนอร์ (AI Trainer) เช่นเดียวกับพี่ทนงและเพื่อนพนักงานคนพิการตามมาตรา 35 ณ วันนี้พี่ประยัติทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลการเสนอราคาสินค้าให้กับบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง เพราะยังไม่มีระบบปัญญาประดิษฐ์เข้ามาช่วยในการจัดการข้อมูลส่วนนี้ ข้อมูลต่าง ๆ จึงถูกจัดคัดกรองโดยพี่ประยัติก่อนจะส่งต่อให้กับบริษัททำการสั่งซื้อต่อไป เวลาการทำงานของพี่ประยัติเริ่มต้นตอนเก้าโมงเช้า และสิ้นสุดตอนบ่ายโมงตรง มีโปรแกรมที่สร้างโดยบริษัทวัลแคนให้เป็นเหมือนกับพื้นที่การทำงานของพนักงานทุกคน
นี่ไม่ใช่รูปแบบงานแรกที่พี่ประยัติได้เริ่มต้นทำงานหลังจากเข้าสู่วงการปัญญาประดิษฐ์ เพราะในปีแรก พี่ประยัติได้ทำงานป้อนข้อมูลการแปลงเอกสารที่ได้มาจากไฟล์เสียง ก่อนที่จะได้ว่าจ้างต่อให้ทำงานในตำแหน่งคอลเซ็นเตอร์ของสำนักงานเขตกรุงเทพมหานครในปีที่สอง
“เราเป็นทั้งหลังบ้าน และหน้าบ้านให้กับ AI อะไรที่ปัญญาประดิษฐ์ยังทำไม่ได้ เราก็เข้าไปช่วยทำให้สมบูรณ์มากขึ้น ไปป้อนข้อมูลให้ระบบทำงานได้ดียิ่งขึ้น ในช่วงแรกเราจะยังต้องแก้ข้อมูลอยู่มาก แต่พอเวลาผ่านไป ระบบจะจำการทำงานที่เราเคยป้อนไว้ให้ การผิดพลาดก็จะลดน้อยลง”
งานหลังบ้านปัญญาประดิษฐ์ที่ต่อให้ระบบ AI จะ “ฉลาด” มากน้อยเพียงใด แต่ตลอดระยะทางของการพัฒนาระบบ ก็ยังคงมีกลุ่มคนเช่นแรงงานคนพิการอยู่เบื้องหลังการขับเคลื่อนการทำงานเสมอมา รวมไปถึงการเข้าไปเติมเต็มในส่วนที่ปัญญาประดิษฐ์ไม่อาจเข้าไปทดแทนได้ เช่นระบบคอลเซ็นเตอร์ ที่การมีอยู่ของพนักงานในการรับแจ้งเรื่องราวต่าง ๆ ยังเป็นสิ่งที่ผู้ใช้บริการต้องการจากระบบการสื่อสาร ในฐานะที่พี่ทนงและพี่ประยัติผ่านตำแหน่งศูนย์รับเรื่องราวมาก่อนนั้น ประสบการณ์การรองรับอารมณ์ บวกรวมกับทักษะการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ที่พนักงานจะสร้างความมั่นใจภายใต้สภาวะความกังวลว่าปัญหาจะถูกแก้ไขให้แล้วเสร็จผ่านการสื่อสารระหว่างบุคคล ลดขั้นตอนการสื่อสารที่เสี่ยงต่อการรับข้อมูลที่ผิดพลาด ยังเป็นสิ่งที่ปัญญาประดิษฐ์ทดแทนการทำงานของบุคคลไม่ได้อย่างสมบูรณ์
การทำงานคอลเซ็นเตอร์ของกทม. พนักงานคนพิการจะเลือกระยะเวลาการทำงานของตัวเองได้ว่าต้องการทำงานในช่วงเวลากลางวันหรือกลางคืน การทำงานคอลเซ็นเตอร์ของพี่ประยัติเป็นโอกาสให้ได้ทำงานเสริม หารายได้เพิ่มในช่วงกลางวันด้วยการช่วยครอบครัวค้าขายอาหาร แต่หากเป็นคนพิการทางสายตา จะต้องทำงานช่วงเวลางานในตอนกลางวันเท่านั้น เพราะต้องมีพนักงานช่วยปักหมุดระบุตำแหน่งเรื่องร้องเรียน เป็นปัญหาให้พนักงานคนพิการทางสายตาแบ่งเวลาทำงานในช่วงกลางวันไปหารายได้เสริมจากงานอื่นได้ลำบาก เพราะยังไม่มีระบบสั่งงานผ่านเสียงที่ระบุตำแหน่งบนแผนที่ได้อย่างถูกต้อง
นอกเหนือจากวงการปัญญาประดิษฐ์ที่พี่ประยัติได้เข้ามามีบทบาท หากเลือกใช้คำที่พี่ประยัติพูดคุยกับผู้เขียน “วงการคนพิการ” เป็นสถานภาพใหม่ที่เริ่มต้นหลังจากประสบอุบัติเหตุ ชีวิตพี่ประยัติผูกโยงไว้กับพวงมาลัยและคันเร่งด้วยอาชีพพนักงานรับส่งสินค้า มีของแถมเป็นสถานะนักเดินทางไปยังทั่วทุกพื้นที่ของประเทศ ประกายในแววตาของพี่ประยัติที่ย้อนเล่าเรื่องราวของอาชีพที่ตนเองรัก ทำให้เราไม่สงสัยว่าเพราะเหตุใดพี่ประยัติจึงทำอาชีพนี้มาตลอดระยะเวลาสิบปีด้วยความไม่เบื่อหน่าย
พี่ประยัติเป็นคนตัดสินใจว่าจะเข้าสู่วงการคนพิการ จากการตอบคำถามของหมอในการยินยอมเข้ารับการผ่าตัด น้ำเสียงที่หนักแน่นยืนยันความคิดที่ว่าไม่มีอะไรสำคัญไปกว่าการที่จะได้มีชีวิตอยู่ต่อ แต่หลังการผ่าตัด คนที่กังวลกับอนาคตของพี่ประยัติคือครอบครัว ที่ห่วงว่าจะรับมือกับการเปลี่ยนแปลงคร้ังนี้ไม่ได้ ความคิดเดียวที่ยึดให้จิตใจของพี่ประยัติมั่นคง คือความเชื่อที่พี่ประยัติบอกกับตัวเองว่าจะใช้ชีวิตอย่างปกติด้วยสถานะคนพิการ
หลังจากปรับตัวกับชีวิตคนพิการทางการเคลื่อนไหว พี่ประยัติได้เข้าเรียนที่โรงเรียนฝึกทักษะคนพิการในพัทยาเป็นเวลา 2 ปี เพื่อเปิดประตูให้ได้เข้าไปสู่ระบบแรงงานคนพิการ ก่อนจะได้ทำงานเป็นช่างอิเล็กทรอนิกส์ของบริษัทในท่าเรือแหลมฉบังด้วยความรู้ที่ได้เรียนมาหลังจบจากโรงเรียน แต่ด้วยความต้องการกลับมาทำงานใกล้กับบ้านของตัวเอง ทำให้หลังจากหนึ่งปี พี่ประยัติตัดสินใจลาออกมาทำธุรกิจส่วนตัว ที่ต่อยอดมาจากอาชีพค้าขายของครอบครัว รวมไปถึงรับจ้างซ่อมอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าจากความรู้ที่ได้รับติดตัวมาในการเป็นนักเรียนคนพิการและช่างอิเล็กทรอนิกส์
ภาพโต๊ะสองตัวที่ถูกนำมาวางชิดติดกันริมห้องนั่งเล่นของพี่ประยัติ โต๊ะตัวแรกมีหน้าจอคอมพิวเตอร์พร้อมเก้าอี้นั่งทำงานที่พี่ประยัติใช้งานในทุกวัน แต่เพียงเดินถัดมาสามก้าว โต๊ะตัวถัดมาถูกวางไว้ด้วยอุปกรณ์เครื่องมือช่างที่ส่วนหนึ่งแขวนติดผนังไว้อย่างเป็นระเบียบ แผงวงจรเครื่องใช้ไฟฟ้ายังคงถูกวางไว้บนโต๊ะ ด้านข้างมีพัดลมที่พี่ประยัติเพิ่งซ่อมเสร็จเรียบร้อยด้วยการเปลี่ยนมอเตอร์ วางคู่กับเตาไมโครเวฟที่รอแผ่นทำความร้อนอันใหม่มาเปลี่ยนเพื่อกลับมาใช้งานได้อีกครั้ง เมื่อมองจากมุมที่ได้เห็นพื้นที่การทำงานทั้งหมดของพี่ประยัติภายในห้องสี่เหลี่ยม นี่อาจเป็นหนึ่งภาพที่บอกว่าพี่ประยัติมีทักษะทำงานด้านใดบ้างเป็นอย่างดี
แม้ชีวิตที่ต้องดำเนินต่อของพี่ประยัติจะต้องแลกมากับอาชีพที่เปลี่ยนแปลง เปลี่ยนเส้นทางของชีวิต เพื่อมองหาความเป็นไปได้ใหม่ในอาชีพการทำงาน สิ่งที่นำพาให้เรื่องราวของพี่ประยัติและพี่ทนงมาบรรจบกัน ไม่ใช่เพราะทั้งสองมีบทบาทเป็นเอไอเทรนเนอร์ หรือ ‘หัวหน้าครอบครัว’ คุณพ่อที่หารายได้หล่อเลี้ยงครอบครัวเล็ก ๆ หากแต่เป็นภาพสะท้อนการปรับตัวของคนพิการในตลาดแรงงานยุคปัจจุบัน ว่าคนพิการมีการปรับตัวอย่างไรเพื่อให้ตัวเองมีศักยภาพในการเข้าไปสู่ระบบการว่าจ้าง
ความกังวลที่เพียงได้เริ่มพูดคุย พี่ทนงและพี่ประยัติก็บอกเล่าเรื่องราวเดียวกันถึงความไม่มั่นคงในการต่อสัญญาว่าจ้างโดยไม่ต้องเอ่ยถาม แม้จะได้ทำงานมาตลอดหลายปี แต่ไม่มีความแน่นอนใดที่ยืนยันกับทั้งสองได้เลยว่าในปีต่อไป แรงงานปัญญาประดิษฐ์จะยังเป็นรายได้ให้กับตนเองได้อีกหรือไม่ การว่าจ้างเหมางานคนพิการในมาตรา 35 จึงเปรียบเหมือนกับการนำทักษะอาชีพมาแลกกับความมั่นคงที่ไร้หลักประกันของระบบแรงงาน
“เป็นเรื่องธรรมดาที่พอถึงช่วงเวลาสิ้นปี เพื่อน ๆ คนพิการที่อยู่ในมาตรา 35 ที่ตอนนี้ทางวัลแคนมีจำนวนพนักงานคนพิการอยู่ที่ 600 คน จะกังวลมากว่าในปีต่อไป ตัวเองจะได้ว่าจ้างในปีต่อไปหรือไม่ เพราะโควตาบริษัทที่เป็นคู่สัญญาของทางวัลแคนจะเป็นตัวกำหนดว่าในปีต่อไปจะเหลือการว่าจ้างคนพิการจำนวนกี่คน หรือเราจะต้องถูกกระจายไปทำงานในตำแหน่งใดบ้าง”
เบื้องหลัง ‘อาชีพ’ คนพิการที่เต็มไปด้วย ‘อคติ’
ถึงแม้เวลาการทำงานของลูกจ้างเหมาบริการที่ไม่ได้กำหนดให้มีการเข้าทำงานเป็นประจำ พี่ทนงมองว่าเป็นข้อดีที่หลังการทำงานเอไอเทรนเนอร์ ตัวเองยังสามารถหันไปประกอบอาชีพอื่นร่วมได้ด้วย ในบางช่วงที่มีเวลา พี่ทนงจะไปรับโควตาลอตเตอรี่จากสมาคมคนพิการมาขาย โดยจะเน้นขายทางออนไลน์ผ่านเฟซบุ๊ก และเพื่อนบ้านในกลุ่มหมู่บ้าน ถ้ามีตัวเลขที่เพื่อนบ้านสนใจ ก็จะสั่งจองผ่านออนไลน์และเดินมากดกริ่งรับลอตเตอรี่ที่ประตูหน้าบ้านของพี่ทนง
เช่นเดียวกับอาชีพรับซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้าของพี่ประยัติ ที่ติดตัวมาหลังการเป็นพนักงานอิเล็กทรอนิกส์ ก่อนจะมารับซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้าหลังจากกลับมาทำงานที่บ้าน พี่ประยัติจะใช้เวลาช่วงบ่ายที่ว่างจากงานเอไอเทรนเนอร์ ซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มาจากการบอกปากต่อปากกันว่าพี่ประยัติรับซ่อมให้อุปกรณ์กลับมาทำงานได้ ถ้ามีชิ้นส่วนที่ต้องถอดเปลี่ยนใหม่ พี่ประยัติก็มีแหล่งค้าเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ในการสั่งซื้อชิ้นส่วนมาซ่อมแซม เป็นอีกหนึ่งรายได้ให้พี่ประยัตินอกเหนือจากการทำงานเหมาจ้างปัญญาประดิษฐ์
อาชีพค้าขาย ประกอบกิจการส่วนตัว เกษตรกรรม ลูกจ้างชั่วคราว กลายเป็นอาชีพ ‘ยอดฮิต’ ของแรงงานคนพิการที่สะท้อนให้เห็นถึงการผลักให้ผู้พิการออกจากระบบการว่าจ้างที่มีความมั่นคง อีกทั้งยังเขียนกรอบความสามารถในด้านทักษะอาชีพของผู้พิการ ให้ไม่เกิดความหลากหลายและมุ่งเน้นพัฒนาทักษะ ส่งเสริมคุณภาพชีวิตบนพื้นฐานความต้องการ ความเป็นไปได้จริงของกลุ่มผู้พิการภายในประเทศ
รายงานจากองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization: ILO) เรื่องการจ้างงานและค่าจ้างของคนพิการ (A study on the employment and wage outcomes of people with disabilities) ชี้ให้เห็นถึงปัญหาค่าเฉลี่ยอัตรารายได้ต่อชั่วโมงของพนักงานผู้พิการที่ต่ำกว่าการว่าจ้างพนักงานทั่วไปถึง 12 เปอร์เซ็นต์ และมีแนวโน้มที่กลุ่มผู้พิการจะประกอบอาชีพอิสระเพิ่มสูงขึ้น ด้วยเวลาการทำงานที่มีความยืดหยุ่น ลดปัญหาการเดินทางไปยังสถานที่ทำงาน เลี่ยงปะทะต่อเหตุการณ์เลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมในพื้นที่สาธารณะ สอดคล้องไปกับตัวเลขในปี 2564 ที่ประชากรผู้พิการเพียง 3 ใน 10 จากตัวเลข 1.3 พันล้านคนของผู้พิการทั่วโลก ถูกว่าจ้างให้เข้าไปมีส่วนร่วมในตลาดแรงงาน ซึ่งยิ่งพิจารณาลงลึกไปในรายละเอียดของสัดส่วนแรงงานเพศชายและเพศหญิง ตัวเลขช่องว่างของการว่าจ้างแรงงานผู้พิการเพศหญิงยังมีสัดส่วนน้อยกว่าแรงงานผู้พิการเพศชายถึง 6 เปอร์เซ็นต์จากข้อมูลในประเทศที่พัฒนาแล้วทั้งหมด 14 ประเทศ สะท้อนให้เห็นว่าแม้ภายในตลาดแรงงานของผู้พิการก็ยังคงมีช่องว่างของการว่าจ้างงานที่ถูกกำหนดด้วยเพศภาวะ และอคติที่มีต่อการว่าจ้างงานทักษะของคนพิการในสังคม
การค้าขาย รับซ่อมอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ รวมไปถึงอาชีพเสริมต่าง ๆ ที่ทั้งพนักงานคนพิการทั้งสองเคยผ่านมาทั้งในอดีตและปัจจุบัน เป็นหนึ่งในเครื่องยืนยันว่ากลุ่มแรงงานผู้พิการต้องขวนขวายให้ตนเองเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของตลาดแรงงานในทุกเส้นทางที่สามารถเป็นไปได้ จากความไม่มั่นคงของการว่าจ้าง ที่ ณ วันนี้ แผนการรับมือเพียงอย่างเดียวที่มีของกลุ่มแรงงานผู้พิการ คือต้องมีงานทักษะอื่น รองรับในกรณีที่ตนถูกยกเลิกการว่าจ้างงาน รวมไปถึงเป็นรายได้เพิ่มเติมจากอาชีพเหล่านี้ ยังคงเป็นอาชีพที่ไม่สอดคล้องกับรายได้ขั้นต่ำของแรงงาน ไม่สามารถทำงานได้ต่อเนื่องเพราะต้องจัดสรรไปประกอบอาชีพอื่นร่วมด้วย ยากต่อการวางแผนค่าใช้จ่ายในอนาคตหากไม่สามารถประกอบอาชีพได้เทียบเท่ากับวัยแรงงาน ทำให้การพัฒนาความมั่นคงในการว่าจ้างงานคนพิการยังเป็นสิ่งที่อยู่ห่างไกล ไล่ตามกับความพยายามของคนพิการที่ต้องการสร้างทักษะอาชีพที่หลากหลายให้กับตัวเอง
วัลแคล ฮีโร่ในสายตาของผู้เขียนที่มีโอกาสได้รับฟังเรื่องราวของแรงงานคนพิการ จึงเปรียบได้กับการหลอมรวมเอาทักษะต่าง ๆ ที่วันนี้การเป็นเบื้องหลังปัญญาประดิษฐ์เพียงอาชีพเดียว อาจไม่มากเพียงพอต่อการเข้าไปมีพื้นที่ในตลาดแรงงาน ฉากลึกที่ซ่อนอยู่หลังกลุ่มแรงงานหน้าจอคอมพิวเตอร์ คือการทับซ้อนกันของอาชีพที่ไร้หลักประกัน และกำลังรอคอยความหวังว่าในอนาคต กลุ่มคนพิการไม่จำเป็นต้องวิ่งหาทักษะที่หลากหลายเพื่อไขว่คว้าโอกาสการทำงานให้กับตัวเอง แต่กลับกลายต้องลงเอยด้วยความไม่แน่นอน หรือยังคงต้องต่อสู้กับอคติทางสังคมดั่งเช่นทุกวันนี้
ชีวิตแบบคนปกติ ที่ไม่ใช่ ‘ความปกติ’ แบบคนพิการ
คำกล่าวที่ว่า “ใช้ชีวิตได้ปกติ” ยังคงวนเวียนอยู่ในความคิดของผู้เขียนกระทั่งได้แลกเปลี่ยนกับพี่ประยัติเรื่องการขับขี่ยานพาหนะของคนพิการทางการเคลื่อนไหว ด้วยสายตาที่สังเกตไปยังสัญลักษณ์คนพิการที่ติดไว้ยังด้านหน้าและด้านหลังของรถยนต์ที่จอดไว้ยังด้านหน้าของบ้าน ทำให้เราได้รับรู้ว่าพี่ประยัติสามารถขับขี่ยานพาหนะได้ในชีวิตประจำวัน ถือใบอนุญาตขับขี่รถยนต์และรถจักรยานยนต์ ซึ่งโดยมากจะเป็นขับขี่ไปยังสถานที่อยู่ไม่ไกลจากบ้านพักเช่น ห้างสรรพสินค้า ตลาด เพื่อซื้อของใช้จำเป็น
“เรายังไม่ได้ทดลองขับไปไกลมากถึงต่างจังหวัด เพราะยังกลับมาขับรถได้ไม่คล่องมากนัก เราใช้ขาด้านที่ใส่ขาเทียมในการเหยียบเบรกและคันเร่ง ทำให้เราต้องฝึกการลงและปล่อยน้ำหนักในพอดี น้ำหนักในการยกและเหยียบจะไม่เท่ากับตอนที่เรายังไม่ได้ใส่ขาเทียม สิ่งที่เป็นเรื่องดีของสติ๊กเกอร์คนพิการ คือเวลาที่เราขับไปจอดที่ตลาดหรือห้างที่ไปประจำ ถ้าพนักงานที่ลานจอดรถเห็นสติกเกอร์ เขาก็จะให้เราจอดที่เตรียมไว้สำหรับผู้พิการ”
จนกระทั่งวันนี้ที่พี่ประยัติได้เป็นหนึ่งในพนักงานที่ได้รับคัดเลือกผ่านโครงการ “ส่งเสริมและสนับสนุนผู้พิการมีรายได้จากการรับงานไรเดอร์” ที่ทางวัลแคนสนับสนุนรถจักรยานยนต์ไฟฟ้ารวมไปถึงอุปกรณ์ต่าง ๆ ให้กับพนักงานคนพิการ เพื่อประกอบอาชีพเสริมเป็นพนักงานส่งสินค้า นอกเหนือจะเป็นหนึ่งในช่องทางการหารายได้ในอนาคต งานไรเดอร์ในครั้งนี้ทำให้อาชีพนักเดินทางของพี่ทนงย้อนกลับมาเป็นความจริงอีกครั้ง และเป็นคำตอบให้กับเราได้ว่าการได้ใช้ชีวิตที่ปกติที่พี่ประยัติได้บอกกับเรานั้น อาจหมายถึงชีวิตที่มีความฝัน และได้พยายามเพื่อเส้นทางความฝันของตนเองเหมือนกับทุกคน
“ผมจะได้เริ่มงานในเดือนหน้าแล้ว คงต้องลองขับไปเรื่อย ๆ เราจะได้คุ้นชินเส้นทางมากขึ้น มีทางลัดที่เรารู้ว่าใช้เส้นทางไหนจะใช้เวลาน้อยกว่ากัน หลังจากนี้ช่วงบ่ายหลังเลิกงานเอไอเทรนเนอร์ ผมก็จะออกไปขับรถเป็นไรเดอร์”
คำตอบของพี่ประยัติย้ำเตือนความคิดว่า “โอกาส” ในการทำงาน เป็นสิ่งสำคัญที่จะแปรเปลี่ยนชีวิต สถานะทางเศรษฐกิจของคนพิการคนหนึ่ง รวมไปถึงคนพิการจำนวนมากในสังคม ที่กำลังวิ่งหาโอกาสการทำงานตามความฝัน ได้ว่าจ้างทำงานที่มั่นคง มีรายได้คุ้มค่า สามารถมีเงินเก็บเพื่อวางแผนชีวิตในวัยเกษียณ โอกาสที่ถ้าหากไม่มีหน่วยงานใดหยิบยื่น เปิดพื้นที่การทำงานให้คนพิการเพิ่มมากขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องอยู่เพียงในตัวเลขของการว่าจ้าง ว่าหนึ่งหน่วยงานต้องรับผู้พิการเข้าทำงานจำนวนเท่าใด
“ตอนนี้ผมอายุ 50 แล้ว ผมวางแผนไว้ในใจว่าอย่างน้อยผมอยากจะทำงานต่ออีกซัก 15 ปี ถ้าร่างกายผมยังไหว ซึ่งจะพอดีกับช่วงที่ลูกของผมเรียนจบพอดี ทำให้ผมคิดว่า จริง ๆ แล้วผมไม่ได้ต้องการเงินเดือนที่เพิ่มมากขึ้น แต่เพียงว่าจะสามารถว่าจ้างเราประจำ หรือเป็นแผนระยะยาวว่าจะว่าจ้างเราไป 5 ปีได้ไหม เพราะตอนนี้เราไม่สามารถมีภาพการทำงานในอนาคตได้เลย ”
การใช้ชีวิตปกติของคนพิการ ที่เราอาจต้องกลับมาตั้งคำถามถึงความสามารถในการใช้ชีวิตภายใต้สายตาที่มองไม่เห็น กับความสามารถทางการเคลื่อนไหวที่เลือนหายไปนั้น ถูกกำหนดด้วย ‘คนพิการ’ หรือเป็นคำนิยามผ่านสายตาของสังคม ที่ขีดเขียนเส้นแบ่งความพิการ ให้คนพิการเป็น และไม่สามารถเป็นสิ่งใดได้
เช่นเดียวกับความมั่นคงในการว่าจ้าง ที่แรงงานผู้พิการมาตรา 35 มองว่าสิ่งที่ตนต้องการ อาจไม่ใช่การเข้าสู่ระบบประกันสังคมที่เหมือนกับพนักงานที่ว่าจ้างตามมาตรา 33 แต่เป็นความแน่นอนของระยะเวลาการว่าจ้างที่ต้องไม่ใช่ความมั่นคงแบบปีต่อปี เพื่อให้แรงงานคนพิการวางแผนประกอบอาชีพ การจัดการรายได้ในวัยเกษียณที่จะไม่มีกองทุนสวัสดิการสังคมรองรับ ซึ่งหากเป็นการว่าจ้างงานประจำจะลดความเสี่ยงที่รายได้จะหายไปโดยที่แรงงานไม่ทันได้ตั้งรับ รวมไปถึงการเพิ่มพื้นที่ให้แรงงานคนพิการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งขององค์กร สนับสนุนการว่าจ้างที่มั่นคงให้กับแรงงานคนพิการ มีรายได้ที่เป็นธรรมเทียบเท่ากับแรงงานคนหนึ่งในระบบการว่าจ้าง ที่ไม่ต้องลงท้ายด้วย ‘ความพิการ’ ให้พิเศษกว่าใคร