อเมริกา-ไทย ในช่วงเวลาโพล้เพล้ของประชาธิปไตย - Decode
Reading Time: 2 minutes

ทำไมโดนัลด์ ทรัมป์จึงพลิกกลับมาชนะการเลือกอีกครั้งอย่างถล่มทลาย

ทั้ง ๆ ที่ผู้คนต่างมองว่าทรัมป์เป็นพวกอนุรักษนิยมสุดขั้ว เหยียดเชื้อชาติ สุดโต่งและยืนอยู่ตรงข้ามกลุ่มหัวก้าวหน้า

ชัยชนะของทรัมป์ในปี 2016 อธิบายว่าแทนที่อเมริกาจะเป็นเมืองสว่างกลางหุบเขา แทนที่จะเป็นชาติที่นำพลเมืองแห่งสังคมประชาธิปไตย กลับยึดหลักอเมริกาต้องมาก่อน ไม่ได้มองเห็นชะตากรรมของชาติอื่น ๆ ไม่ได้พาตัวเองไปอยู่ในใจกลางความร่วมมือของนานาชาติ ทรัมป์ในฐานะผู้นำตอนนั้นประกาศจุดยืนให้อเมริกาอย่างชัดเจน ด้วยการกล่าวชื่นชม ปูตินผู้นำรัสเซียต่อหน้าสื่อ

ชัยชนะของทรัมป์ในปี 2024 เบ็ดเสร็จมากกว่า

สหรัฐอเมริกาที่เคยเป็นต้นแบบพิมพ์นิยมของประชาธิปไตย แต่มีข้อวิจารณ์ว่านี่คือยุคดำมืดของประชาธิปไตยในสหรัฐเช่นกัน ทำไมคนอเมริกาที่มีสิทธิเลือกตั้งถึงเหวี่ยงสวิงไปยืนอยู่ในเงาดำมืดหรืออาจถึงขั้นยืนข้างผด็จการ

สำรวจแรงดึงดูดอันหอมหวานแห่งอำนาจนิยมที่ทำให้ปัญญาชนหัวก้าวหน้าทั่วโลก หวั่นไหว แปรพักตร์ และไม่มีวันยอมรับตัวเอง กุญแจไขคำตอบถูกเขียนไว้ในหนังสือ Twilight of Democracy สนธยาประชาธิปไตย

จอห์น ฟิตซ์เจอรัลด์ เคนเนดี (John F. Kennedy) ประธานาธิบดีคนที่ 35 ของสหรัฐอเมริกา จากพรรคเดโมแครต เคยกล่าวเอาไว้ว่า อย่าถามว่าสหรัฐจะให้อะไรกับคุณ แต่จงถามว่าคุณจะทำอะไรให้สหรัฐ

แต่การเลือกตั้งผู้นำสหรัฐที่เพิ่งผ่านพ้นไปเมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา ทรัมป์กำลังทำให้คนถามคำถามแรกดังขึ้น ผู้นำสหรัฐอเมริกาประเทศที่มีความพร้อมทางทรัพยากร มีความเข้มแข็งทางการทหาร และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี กำลังบอกกับสังคมโลกว่าเขาจะทำทุกอย่างเพื่อผลประโยชน์ของสหรัฐ

ย้ำชัดว่าจะไม่เป็นพี่ใหญ่ของประเทศที่ด้อยพัฒนาหรือต้องการช่วยเหลือ นักวิเคราะห์หลายฝ่ายมองว่าเป็นเรื่องที่น่าเสียดายสำหรับประเทศนี้ เมื่อคนค่อนประเทศเลือกทรัมป์ในเชิงประเทศที่ปกครองโดยนิติรัฐ ภายใต้กฎหมาย ผลการเลือกตั้งกำลังหักล้างความผิดตามกฎหมายที่ทรัมป์กระทำ จากการลงมติของคณะลูกขุนก่อนหน้าการเลือกตั้งที่ชี้ว่า ทรัมป์มีความผิดติดตัวกว่า 34 กระทง

แต่หลังนับคะแนนเลือกตั้ง ทรัมป์ชนะ ชัยชนะของทรัมป์บอกถึงจุดยืนและความคิดของสังคมอเมริกา อย่างน้อยก็กำลังสะท้อนว่าคนอเมริกามองข้ามหลักนิติรัฐ ซึ่งเป็นคุณค่าสำคัญในระบอบประชาธิปไตย

ทรัมป์ พิสูจน์แล้วว่าภายใต้ความเชื่อของต่างประเทศและความศรัทธาในอุดมการณ์ ยังมีอเมริกาอีกแบบหนึ่ง อเมริกาของบูคานัน (ประธานาธิบดีคนที่ 15 ของสหรัฐ พรรคเดโมแครต), อเมริกาของทรัมป์, อเมริกาที่มองไม่เห็นความแตกต่างอย่างมีนัยยะสำคัญระหว่างประชาธิปไตย และเผด็จการ

ชาตินิยมที่ฝังลึกหยั่งราก ศาสนาที่ผูกติดกับความเชื่อชาตินิยม และความเห็นต่างแบบที่เคารพเสียงส่วนใหญ่แต่ละเลยเสียงส่วนน้อย สามองค์ประกอบที่แยกไม่ขาดกลายเป็นดินแดนสนธยาของประชาธิปไตยของโลก อย่างที่หลังปกของเล่มบอกไว้

เพราะธรรมชาติของประชาธิปไตยไม่ใช่เรื่องน่าพิสมัยสำหรับทุกคน ประชาธิปไตยคือการโต้เถียง คือเสียงดังเอะอะ คือความวุ่นวาย คือการยอมดีกว่าที่เราไม่เห็นด้วย แต่คนส่วนใหญ่เห็นด้วย และถ้านั่นคือเสน่ห์ของประชาธิปไตย มันก็เป็นมุมมืดด้วยเช่นกัน

จากรุ่งอรุณแห่งการต่อสู้ เพื่อเสรีภาพอย่างซื่อบริสุทธิ์ สู่ยามสนธยาที่แฝงตัวมาในคราบของนักปฏิวัติใครเป็น ใครไม่อาจรู้ หรือแม้แต่คุณเป็นใคร คุณก็อาจยังไม่รู้

ครั้งหนึ่งในปี 2565 เราเคยนั่งอยู่ในสวนหน้าบ้านของ อาจารย์ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ พูดคุยถึงการยื่นขออนุญาตก่อสร้างประติมากรรม “องค์เจ้าแม่กวนอิม” ความสูง 136 เมตร ต.สะกอม อ.เทพา จ.สงขลา ของ บริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งวางแปลนหันหน้าเข้าไปในชุมชนมุสลิมแถวจะนะ ทำให้หลายคนติดตามสถานการณ์นี้ในหลายแง่มุม ทั้งความเหมาะสม ความจำเป็น และเหตุผล

ในมุมที่อาจารย์เป็นชาวมุสลิม อาจารย์มองว่าเราต้องไม่ลืมบริบทพื้นที่ เพราะจุดที่จะมีการก่อสร้างประชากรส่วนใหญ่เป็นคนมุสลิม เป็นบริบทที่สำคัญที่สุดประการหนึ่ง คือคนมุสลิมเป็นคนส่วนใหญ่ ชาวพุทธเป็นคนส่วนน้อยในที่นั่น สำหรับความรู้สึกชาวมุสลิมต่อรูปเคารพไม่เหมือนกับความรู้สึกของชาวพุทธต่อรูปเคารพ อันนี้เป็นเงื่อนไขเบื้องต้น เรื่องนี้ถ้าทำประชามติอาจารย์คิดว่า มุสลิมชนะทุกทีแน่ ๆ  

เพราะเห็นคำตอบอยู่แล้ว มุสลิมเป็นเสียงส่วนใหญ่ในพื้นที่ แต่ประเด็นคือต้องไม่ลืมว่าระบอบประชาธิปไตย คือหลักการเสียงข้างมาก (Majority Rule) แต่เคารพในสิทธิของเสียงข้างน้อย (Minority Rights) หรือเสียงของคนส่วนใหญ่ปกครอง แต่ต้องคิดถึงสิทธิของคนส่วนน้อยด้วยนั้น

ผมไม่คิดว่าสิทธิของคนส่วนน้อยสำคัญในความเห็นแบบที่ John Locke นักปราชญ์ชาวอังกฤษ

ผมคิดอีกอย่างหนึ่งว่า คนส่วนใหญ่จะปกครองอย่างไรต้องนึกถึงใจคนส่วนน้อย มันคนละเรื่องกัน ไม่ใช่ “สิทธิ์” แต่ “ใจ” เพราะฉะนั้น ใจเขารู้สึกอย่างไร

ต่อให้ถือว่าประชาพิจารณ์เป็นกลวิธีในทางประชาธิปไตย แต่ในทางทฤษฎีหรือในทางประชาธิปไตย ปัญหาคืออะไร คือถ้าทำแบบนี้ ฝ่ายที่ชนะก็จะชนะทุกครั้งไป การเลือกตั้งก็เช่นเดียวกัน นึกออกใช่ไหม คือความลับของประชาธิปไตยไม่ได้อยู่ที่แค่เสียงส่วนใหญ่หรือส่วนน้อย แต่อยู่ที่เอาปัญหามาให้คนตัดสิน และการตัดสินมีโอกาสเป็นไปได้ทั้ง 2 ทาง

ส่วนหนึ่งจากบทสัมภาษณ์ ศาสตราจารย์ ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ เมื่อวันที่ 17 ส.ค. 2565

นั่นเป็นหนึ่งในโจทย์ร่วมกันของประชาธิปไตยทั้งในไทย-อเมริกา การทำตามเสียงส่วนใหญ่ที่ละเลยข้อเสนอและความต้องการของเสียงส่วนน้อย เป็นกุญแจดอกสำคัญ

ประตูสู่ดินแดนสนธยาของอเมริกาภายใต้การเป็นแม่แบบของประชาธิปไตย ถูกเปิดออกอย่างเปิดเผยแล้วหลังดินแดนสนธยาขยายตัวอย่างเงียบ ๆ กว่า 2 ศตวรรษ   

ผลการเลือกตั้งรอบนี้ทรัมป์กวาดคะแนน Popular vote นำแฮร์ริสมากกว่า 5 ล้านคะแนน ส่วนคะแนน Electoral vote รวมในแต่ละมลรัฐทรัมป์ได้มามากกว่า 270 เสียง จนทำให้ทรัมป์ก้าวสู่ตำแหน่งผู้นำสหรัฐอีกสมัย

คะแนนเยอะมากกว่าชัยชนะในสมัยแรก คะแนนนี้ยิ่งเสริมให้ความชอบธรรมในตำแหน่งทรัมป์สูงขึ้น และนี่เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ริพับลิกันครองเสียงข้างมากในสภา ในบ้านเราอาจเรียกเรื่องแบบนี้ว่า เผด็จการรัฐสภา ซึ่งไม่สามารถพูดได้โดยตรงของระบบการเมืองสหรัฐเพราะระบบการเมืองต่างกัน แต่อย่างน้อยก็สะท้อนว่า สามกลไกหลักทางการเมืองของสหรัฐฯ ทั้งทำเนียบขาว สภาล่าง และสภาบนเป็นของทรัมป์แบบเบ็ดเสร็จ

ทรัมป์ปลุกกระแสชาตินิยมให้บานเป็นสีแดงสะพรั่ง เพราะบางรัฐที่มีผู้ลี้ภัยมากมีคนละตินอเมริกาซึ่งมีรากมาจากการอพยพก็ยังโหวตให้ทรัมป์ชนะขาด

ปากท้องสำคัญที่สุด นั่นเป็นอีกเรื่องที่ตะโกนออกมาทะลุคะแนนอันท่วมท้นของทรัมป์ นโยบายสิทธิสตรี ของแฮร์ริสที่จะเดินหน้าการทำแท้งถูกกฎหมาย นโยบายด้านสวัสดิการก้าวหน้าอีกหลายอย่างยังฝ่าด่านไปไม่ได้ เพราะสุดท้ายก็มีสตรีจำนวนมากโหวตให้ทรัมป์ บางส่วนให้เหตุผลผ่านการสัมภาษณ์ผ่านสื่อว่า ต้องการให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ดีกว่านี้ก่อน  

อย่างที่ได้เห็นจากการเลือกตั้งสหรัฐรอบนี้ เพราะอัตลักษณ์ของคนส่วนใหญ่หลากหลายและกว้างไกลกว่าการแบ่งเป็นสองขั้ว ประชาธิปไตยที่มีแค่เสียงข้างมากและข้างน้อยของสหรัฐฯ กำลังถูกท้าทายและรุกคืบจากเผด็จการสมัยใหม่โดยมีทุนนิยมหนุนหลัง

สถานการณ์เดียวกัน แต่อาจรุนแรงต่างกันกำลังเกิดขึ้นในไทย กระแสชาตินิยมถูกปลุกเร้าอย่างต่อเนื่องในช่วงรัฐประหาร 2557 ถึงตอนนี้ ประเด็นการช่วยเหลือผู้ลี้ภัยชาวเมียนมาตามหลักสิทธิมนุษยชนที่มีความคลุมเครือทางกฎหมาย กลายเป็นข้อถกเถียงยาวนาน และเข้มข้นขึ้น

การผ่านมติ ครม. เรื่องให้สัญชาติผู้ที่เข้าเงื่อนไขอยู่ในไทยเป็นเวลานาน แม้เป็นคนละเรื่องกับแรงงานที่ลี้ภัยเข้ามาใหม่ แต่ก็เป็นเชื้อให้คนถกเถียงโดยมีความรักชาติในความหมายที่แตกต่างกันเป็นตัวประกัน

และในสถานการณ์ที่สามเสาหลักของชาติไทยถูกตั้งคำถามว่ายังทำหน้าที่ถ่วงดุลกันอยู่ใช่ไหม คำว่าหลักนิติธรรมไทย ก็ตกอยู่ในสถานการณ์ต้องประกาศตามหา คนจำนวนมากในสังคมพยายามสร้างความเป็นสังคมพลเมืองประชาธิปไตย ในขณะที่คนจำนวนไม่น้อยในสังคมที่กำลังปากกัดตีนถีบหาเช้ากินเช้าด้วยสภาพเศรษฐกิจที่ย่ำแย่

จุดร่วมที่แตกต่างช่วงเวลาของไทย-สหรัฐอเมริกา เหมือนภาพอดีตและปัจจุบันที่คล้ายกัน แต่ไม่ถึงกับเหมือน

สำหรับเราต้องยกให้ Twilight of Democracy เป็นเล่มโปรดของปีนี้ที่พาเปิดมุมมองเชื่อมโลกกับไทยในเส้นทางประชาธิปไตย หรืออย่างน้อยเล่มนี้ก็ช่วยให้ได้ทวนคำถามที่อยู่ข้างใน หวั่นไหวหรือมั่นคง ?

PlayRead: Twilight of Democracy สนธยาประชาธิปไตย
สำนักพิมพ์ Sophia Publishing
เขียน: แอนน์ แอพเพิลบอม (นักประวัติศาสตร์เจ้าของรางวัลพูลิตเซอร์)
แปล: พชร สูงเด่น

PlayRead: คอลัมน์รีวิวหนังสือประจำ Decode.plus เมื่อกองบรรณาธิการขอ add หนังสือ (ที่อยากอ่าน) ไว้ในเพลย์ลิสต์ พบกับหนังสือหลากหลายสไตล์ หลากหลายวิธีการเล่าเรื่องที่เชื่อมร้อยกับชีวิตและสังคม แวะมาหาอ่านกันได้ทุกเย็นวันพฤหัสบดี