ขยายประเด็น
นวลน้อย ธรรมเสถียร
ถ้าจะอ่านองค์ความรู้ของสังคมไทยที่มีต่อสามจังหวัดชายแดนภาคใต้หรือปตานี ผู้เขียนก็เชื่อว่า ในช่วงยี่สิบปีมานี้ เราน่าจะคุ้นชินจนแทบจะติดอยู่กับภาพลักษณ์ของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ในลักษณะของพื้นที่ที่มีปัญหา โดยมีประเด็นหลักวนเวียนอยู่อย่างเดียวคือเรื่องความรุนแรงและผลกระทบ ภาพนี้กลายเป็นกรอบหลักในเวลาที่พูดเรื่องพื้นที่นี้ และต่อให้เรามีบทสนทนาเรื่องความหลากหลายทางวัฒนธรรมในพื้นที่ เรื่องของความเป็นมลายู และทั้ง ๆ ที่รู้ว่าความเข้าใจในเรื่องอัตลักษณ์ “มลายู” ซึ่งแน่นอนว่าผูกติดกับอิสลามนั้น จะเป็นกุญแจไขไปสู่การคลี่คลายปัญหา แต่เอาเข้าจริงงานเขียนที่จะนำไปสู่ความรู้ความเข้าใจในสิ่งเหล่านี้มีน้อยเต็มที
จะว่าไปแล้วความคิดของคนไทยเกี่ยวกับมลายูนั้นขยับไปข้างหน้าค่อนข้างน้อย ย้อนกลับไปเมื่อเจ็ดสิบกว่าปีที่แล้วนี่เอง ปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2492 ศาลอุทธรณ์ที่นครศรีธรรมราชอ่านคำพิพากษาในคดีที่หะยีสุหลงและบุคคลอีกสามคนที่ถูกฟ้องพร้อม ๆ กันในข้อหาเตรียมก่อการเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครอง พูดง่าย ๆ ว่าเป็นกบฎ คดีนี้ศาลตัดสินว่าหะยีสุหลงมีความผิดฐานดูหมิ่นรัฐบาลเท่านั้น แต่ในเวลานั้นประเทศไทยใช้กฎหมายที่กำหนดให้การดูหมิ่นรัฐบาลเป็นความผิดฐานกบฎ อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ผู้เขียนอยากจะเล่าก็คือ คำสั่งของศาลส่วนหนึ่งที่พูดถึงเรื่องของความเป็นมลายู
ในคดีนี้อัยการใช้หลักฐานจากการที่หะยีสุหลงกล่าวถึงความเป็นอยู่ของคนเชื้อสายมลายูในพื้นที่ปตานีว่าเดือดร้อน ไม่ได้รับการเหลียวแลเท่าที่ควรจากรัฐบาล นักข่าวอังกฤษที่เข้าไปทำข่าวในช่วงนั้น และพบกับหะยีสุหลงก็กลับไปเขียนข่าวลงใน นสพ.สเตรทไทมส์ว่าดินแดนนี้ถูกทิ้งขว้าง ไม่ได้รับการส่งเสริมในเรื่องอัตลักษณ์ คนมลายูในพื้นที่รู้สึกว่าจะถูกกลืนและศาสนาจะถูกทำลาย เจ้าหน้าที่ไทยในเวลานั้นถือว่าข้อมูลนี้มาจากหะยีสุหลง อันที่จริงคดีนี้สู้กันหลายประเด็น แต่สิ่งที่น่าสนใจคือคำตัดสินของศาลเกี่ยวกับเรื่องที่บอกว่า คนในพื้นที่ต้องการอัตลักษณ์ของตนเองในเรื่องการเป็นมลายู
ในครั้งนั้นศาลอุทธรณ์ระบุไว้ในคำสั่งว่า ศาลไม่เห็นว่าคนในพื้นที่ถูกทอดทิ้ง ศาลเชื่อว่าพวกเขาได้เสรีภาพและได้รับความสนใจเช่นเดียวกันกับพลเมืองที่อื่น ๆ พวกเขาคือคนไทยอิสลาม แต่…
“…ภายหลังสงครามโลกครั้งที่สองได้มีการตื่นตัวเคลื่อนไหวในเรื่องเชื้อชาติ จึงมีอิสลามิกชนพวกหนึ่งทำการปลุกปั่นว่าเขามีเชื้อชาติเป็นมลายู นอกเหนือไปจากเชื้อชาติที่เขาเป็นอยู่ตามกฎหมาย และตั้งข้อกล่าวหาว่า รัฐบาลไทยมีนโยบายต้องการให้ชาติมลายูสูญ…”
กล่าวโดยสรุปก็คือคำว่า มลายูเป็นเรื่องปรุงแต่ง ทั้งนี้ก็ต้องบันทึกไว้ด้วยว่าในเวลานั้นสงครามโลกครั้งที่สองเพิ่งจบไปหมาด ๆ กระแสชาตินิยมที่ตื่นตัวเต็มที่ก่อนสงครามไม่ว่าจะในโลกตะวันตกหรือตะวันออกยังไม่จางหายไป ในประเทศไทยเองก็มีกระแสชาตินิยมถึงขนาดมีความคิดจะ “รวมไทย” ที่อยู่กระจัดกระจายในดินแดนต่าง ๆ ให้เป็นหนึ่งเดียวเช่นในรัฐฉานของเมียนมา และในที่อื่น ๆ อีกหลายแห่ง เรื่องของเชื้อชาติถูกจัดวางไว้ในสถานะของเงื่อนไขการเป็นดินแดน แต่ในปัจจุบันเรื่องของเชื้อชาติที่แตกต่างได้รับการยอมรับภายใต้ความเป็นชาติเดียวกัน ภายใต้แนวคิดนี้ ความเป็นชาติจึงดำรงอยู่บนความหลากหลาย และเราไม่จำเป็นต้องปฏิเสธความเป็นเชื้อชาติอื่นในความเป็นประเทศไทย เพียงแต่มีคำถามว่า ในเมื่อเป็นส่วนหนึ่งของชาติ คนในชาติรู้จักมลายูดีพอหรือยัง อันนี้เป็นเรื่องน่าคิด
ผู้เขียนลองทบทวนอย่างคร่าว ๆ ในช่วงที่ผ่านมาพบว่า งานเขียนเรื่องภาคใต้ที่เกี่ยวกับผู้คนนั้น โดยเฉพาะเกี่ยวกับมลายู อันที่จริงแล้วมีไม่มาก มีงานเขียนของศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ “มลายูที่รู้สึก” กับ “มันยากที่จะเป็นมลายู” อันเป็นเรื่องราวเสมือนข้อสังเกตของผู้เขียนในฐานะที่เข้าไปทำงานในพื้นที่ต่อวิถีของผู้คน ซึ่งก็แน่นอนว่าเอนอิงอยู่ในฐานของช่วงเวลาที่มีปัญหาความขัดแย้ง แต่ถือได้ว่าเป็นการสะท้อนภาพชีวิตของผู้คนในภาวะร่วมสมัย อ่านแล้วได้ทั้งอรรถรสและจินตนาการ นอกจากงานนี้แล้วที่เป็นงานนำเสนอเรื่องราวของผู้คนในพื้นที่ที่จำได้คือหนังสือ “ความทรงจำในอ่าวปัตตานี” ซึ่งมาจากโครงการของมูลนิธิเล็ก – ประไพ วิริยะพันธุ์ เป็นงานกล่าวถึงวิถีชีวิตและองค์ความรู้ของชาวบ้านในการรับมือกับสภาพแวดล้อม เนื้อหามาจากงานวิจัยของนักวิจัยในพื้นที่บอกเล่าเรื่องราวของวิถีชีวิตชาวประมงโดยดอเลาะ เจ๊ะแต มะรอนิง สาและ โดยมีวลัยลักษณ์ ทรงศิริ เป็นบรรณาธิการ ตามมาด้วยอีกเล่มหนึ่งที่มีบรรณาธิการรายเดียวกันคือ “ยาลอเป็นยะลา” อันที่จริงภายใต้ชุดความรู้ใกล้เคียงกันนี้มีงานหนังสือหลายเล่ม แต่เล่มแรกเป็นเล่มที่ผู้เขียนประทับใจมากที่สุด อย่างไรก็ตาม โดยภาพรวมแล้ว งานเขียนหรือหนังสือส่วนใหญ่ล้วนเน้นเรื่องหลักคือความขัดแย้งและผลกระทบ
อันที่จริงแล้วเรื่องราวของความรุนแรงไม่ใช่ว่าจะมาโผล่เอาในช่วงยี่สิบปีหลังนี้เท่านั้น ก่อนหน้านั้นเราก็มีงานเขียนอย่าง “ซือโก๊ะ แซกอ” เป็นงานเขียนเชิงนิยายที่เชื่อกันว่ามีอยู่จริง อย่างน้อยที่สุด อ.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ก็หยิบยกเอาหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาเขียนถึงในเชิงวิเคราะห์อย่างจริงจังว่าเรื่องเขียนหรือเรื่องแต่งในหนังสือบาง ๆ เล่มนี้อันที่จริงคือ ภาพสะท้อนความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในสังคมสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ในยุคที่มีการละเมิดสิทธิสร้างความสูญเสียให้เกิดขึ้นอย่างมากมาย ถัดมาในช่วงหลายปีให้หลังมานี้ที่มีความพยายามสนับสนุนการบอกเล่าเรื่องราวในพื้นที่โดยผู้คนที่ได้รับผลกระทบ ผลิตเป็นงานเขียนหลายเล่มจนแทบจะพูดถึงไม่หมด หนึ่งในนั้นคือ “หลังรอยยิ้ม เรื่องเล่าเพื่อพลิกฟื้นตัวตนและชุมชนชายแดนใต้” ที่มีฐิตินบ โกมลนิมิ เป็นบรรณาธิการ (2560) หลังสุดก็คือ “ลิ้มรสความทรงจำ: ตากใบ” ที่มีฆัสรา ขมะวรรณ มุกดาวิจิตร เป็นบรรณาธิการ (2566) ย้อนไปรุ่นแรก ๆ ก็จะมีงานของศุภรา จันทร์ชิดฟ้า Violence in the Mist: in the Name of Justice (2008) ย้อนไปนานกว่านั้นยังมีบันทึกความทรงจำของอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ “กลุ่มสลาตัน ท่ามกลางกระแสประชาธิปไตยเบ่งบาน” (2558) เป็นบันทึกความทรงจำเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวทางการเมืองในพื้นที่ในช่วงปี 2518 ที่กลายเป็นการชุมนุมใหญ่ทางการเมืองครั้งที่ยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ของปัตตานีก็ว่าได้ ยังมีอีกหลายเล่มส่วนใหญ่เป็นงานวิชาการหรือกึ่งวิชาการ แม้กระทั่ง “เสธแดง” หรือพลตรีขัตติยะ สวัสดิผล ก็มีหนังสือเกี่ยวกับเรื่องราวการตามหาอาวุธปืนที่ถูกปล้นในนราธิวาส
จึงอาจจะพูดได้ว่า การมองเห็นผู้คนและพื้นที่ปตานีมีกรอบอยู่ที่ปัญหาความรุนแรงและความสูญเสียมาโดยตลอด ส่วนวิถีชีวิตของผู้คนทั่วไปเราแทบจะไม่ได้เห็นอย่างเป็นเนื้อเป็นหนังนอกจากในรายงานของสื่อที่ส่วนใหญ่เป็นงานสั้น ๆ
อันที่จริงที่เป็นเช่นนี้ก็ไม่น่าแปลกใจ ในช่วงยี่สิบปีหรือแม้แต่ก่อนหน้านี้ ผู้คนในพื้นที่มีประสบการณ์อยู่กับเรื่องของความรุนแรงเป็นหลัก สิ่งที่พวกเขาจะแบ่งปันกับสังคมได้ก็ย่อมเป็นเรื่องของความรุนแรงและผลกระทบ ไม่เพียงประสบการณ์อย่างเดียวที่ทำให้มีข้อจำกัดในเชิงจินตนาการ แต่ชีวิตในสังคมที่อยู่กับความขัดแย้งเป็นชีวิตอีกแบบหนึ่งที่ต้องอาศัยความสามารถในการ “อยู่เป็น” เนื่องจากทุกผู้คนล้วนแต่ต้องมีที่ทางของตนเอง เพื่อจะดำรงอยู่ให้ได้ท่ามกลางความแตกต่างทั้งในเชิงจุดยืนและวิธีการ ดังนั้นในการสื่อสาร เราจึงมักจะพบว่าผู้คนที่ต้องรับมือกับเรื่องของความขัดแย้งจะไม่ “อาสา” บอกเล่าเพื่อให้ข้อมูลแบบสะเปะสะปะ แต่จะต้องผ่านการกลั่นกรองไม่มากก็น้อย ซึ่งในยุคสมัยที่เมืองไทยมีประสบการณ์ต้องรับมือความขัดแย้งทางการเมืองชนิดที่ร้าวลึกลงไปถึงก้นครัว ผู้เขียนเชื่อว่า นี่เป็นภาพที่เราเข้าใจกันได้ เอาง่าย ๆ แค่การนัดพบเพื่อนเก่าที่ไม่ได้พบกันนาน น้อยครั้งที่เราจะหยิบยกประเด็นเรื่องการเมืองขึ้นมาคุยหากไม่รู้มาก่อนว่าคนที่เราจะคุยด้วยนั้นคิดอย่างไรในทางการเมือง
นอกจากนี้ในพื้นที่สามจังหวัด ยังมีเงื่อนไขอีกบางอย่างที่ผสมผสานเข้ามา คนในพื้นที่ที่อยากจะบอกเล่าเรื่องราวของประวัติศาสตร์ก็จะพบว่า มีกรอบในเรื่องปัญหาความมั่นคงทันทีเพราะเขาอาจจะกลายเป็นที่สงสัยของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงที่ตัวพวกเขาเองก็ติดกรอบคิดแบบประวัติศาสตร์ฉบับไทยจนไม่เหลือพื้นที่ให้ประวัติศาสตร์ชุดอื่น หลายครอบครัวที่เคยมีปัญหาถูกตรวจค้น เราจะพบว่าคนในบ้านจะทำลายสิ่งที่กลัวว่าจะกลายเป็นหลักฐานทำให้ถูกเอาผิด ซึ่งนี่ก็เป็นประสบการณ์ที่เกิดกับนักเคลื่อนไหวทางการเมืองในพื้นที่อื่นของประเทศมาแล้วเช่นกัน
ดังนั้น เรื่องราวหลายอย่างจึงมีเงื่อนไขในการบอกเล่า จนเท่ากับว่าหลงเหลือประเด็นให้พูดถึงได้ไม่มากนัก ในช่วงหนึ่งผู้เขียนยังจำได้ว่า แม้แต่การจะนำเสนอเรื่องราวของเหยื่อหรือผู้เสียหายก็ยังมีผู้กริ่งเกรงว่าจะกระทบกระเทือนไปถึงกลุ่ม “นักสู้” ในขณะที่กลุ่มผู้สนับสนุนฝ่ายรัฐก็ไม่ต้องการให้มีการ “ฟื้นฝอยหาตะเข็บ” สำหรับเหตุการณ์ที่มีความเสียหายกับประชาชน ดังเช่นกรณีตากใบ ผู้เขียนสังเกตเห็นเสมอว่า เมื่อใดก็ตามที่มีการลงข่าวเรื่องนี้ เช่นความพยายามที่จะฟ้องร้องคดีตากใบ จะมีผู้อ่านจำนวนหนึ่งเข้ามาออกความเห็นด้วยน้ำเสียง “ปราม” เสมอ
ดังนั้น จากมุมมองของคนทำสื่อที่เข้าไปทำงานอบรมด้านการเขียน หรือทำสื่อในพื้นที่มานานหลายปี ผู้เขียนมีประสบการณ์ว่า ในพื้นที่นี้มีปัญหาในเรื่องการสื่อสารด้วยงานเขียน แม้จะมีหลายคนอยากทำแต่น้อยคนที่จะทำจริง ๆ และผู้เขียนเชื่อว่า เรื่องนี้ไม่ใช่เพียงเพราะเรื่องของความสามารถในการใช้ภาษาไทย เงื่อนไขหลายอย่างดังที่ได้กล่าวมาแล้วอาจมีส่วน หรือยิ่งกว่านั้นคืออาจจะเป็นเพราะอาการ “ต่อไม่ติด” กับสังคมไทย พวกเขาไม่สามารถคาดเดาได้ว่ากับผู้อ่านทั่วไปในสังคมไทยควรจะนำเสนออย่างไร หากเป็นประการหลังก็ต้องถือว่าเป็นเรื่องน่าคิดอย่างยิ่ง และจะมีคำถามตามมาว่า เราจะทำอย่างไรจึงจะสลัดหลุดจากสิ่งนี้ได้ และทำให้การบอกเล่าเรื่องราวในพื้นที่มาจาก “คนใน” มากขึ้น
อันที่จริงแล้วมีเรื่องราวหลายอย่างที่น่าสนใจในวิถีของผู้คน พื้นที่สามจังหวัดภาคใต้ไม่เพียงแต่มีมลายูมุสลิมที่มีวิถีผิดแผกไปจากมุสลิมในที่อื่น มีภาษาที่แตกต่าง และลักษณะของพื้นที่ที่ผสมผสานไปด้วยวัฒนธรรมที่หลากหลายหล่อหลอมให้พื้นที่นี้มีความพิเศษและมีเสน่ห์อย่างมากกับประเด็นนี้มีความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจคือ ในเดือนสิงหาคมนี้ คาดว่าจะมีการเปิดตัวหนังสือใหม่ที่เขียนโดย “คนใน” ที่ไม่ใช่เรื่องของความขัดแย้ง
“เกิดบนเรือนมลายู” หนังสือที่ว่านี้ ผู้เขียนหลักคือณายิบ อาแวบือซา หยิบเอาความทรงจำของชีวิตของเขา และครอบครัวขึ้นมาบอกเล่า ณายิบ เป็นนักวิจัยในพื้นที่ที่สนใจทั้งด้านสังคม สิ่งแวดล้อม มิหนำซ้ำมีความรู้ด้านสถาปัตยกรรม สนใจศิลปะทั้งของมลายู ไทย และอื่น ๆ อย่างหลากหลาย การที่ณายิบร่ำเรียนในกรุงเทพฯ ทำให้เขาเข้าใจจริตของคนไทยในเมืองกรุงเป็นอย่างดี และหลายอย่างก็แน่นอนว่าย่อมมีอิทธิพลต่อตัวเขา ครอบครัวของเขาเองก็เรียกได้ว่า “ไม่ธรรมดา” มีลักษณะของการแหวกขนบในหลายเรื่อง ซึ่งนี่กลายเป็นสิ่งที่ทำให้งานเขียน และเรื่องเล่าของณายิบกลมกล่อม แต่มีลักษณะแหลมในหลายเรื่อง รวมทั้งเป็นเรื่องที่มีเสน่ห์น่าค้นหา เพราะเป็นเรื่องที่เราไม่ได้ยินกันมาก่อน มันจะพาเราเข้าไปสู่ความทรงจำของผู้คนที่ให้ภาพว่าในยามปกติพวกเขาใช้ชีวิตกันอย่างไร มีบทสนทนาแบบไหนและวิธีคิดเบื้องหลังคืออะไร แม้ว่าชีวิตของณายิบและครอบครัวของเขาจะไม่ได้เป็นตัวแทนของผู้คนทั้งหมด แต่อย่างน้อยก็เป็นตัวแทนของคนบางส่วน และทำให้เราได้เข้าใจ “มลายู” ในยามปกติธรรมดาได้มากขึ้น รวมทั้งได้มองเห็นด้วยว่า ในพื้นที่นี้ที่ว่ามีความหลากหลาย เช่น มีคนจีนอยู่ร่วมกับคนมลายูนั้น มีตัวอย่างให้เห็นอย่างไร
นอกจากณายิบแล้วก็ยังมีนักเขียนคนอื่นที่ร่วมเขียนในหนังสือเล่มนี้ ดลยารัตน์ บากา ซึ่งถนัดงานทำขนมเบเกอรี งัดตำราอาหารของเจ๊ะ หรือแม่ของเธอมาบอกเล่าหลายสูตร เราจะได้อ่านเรื่องของอิทธิพลอาหรับบนโต๊ะอาหารจากเรื่องราวของอาหารบ้านหะยีสุหลง รวมไปถึงเรื่องขนมหายากบางรายการ และย่านอาหารเก่าในปัตตานี นอกจากนี้ที่น่าสนใจด้วยคือเรื่องการแต่งกาย การกลับมาของผ้าเก่าที่กลายเป็นกระแสเพราะการค้นหาตัวตนของคนมลายูในพื้นที่ ตลอดจนการเกิดใหม่ของผ้าปาเต๊ะ รวมไปถึงเรื่องราวของความเชื่อที่มีอิทธิพลต่อเครื่องประดับทั้งบุรุษและสตรี
สำหรับคนในพื้นที่ เชื่อได้ว่า “เกิดบนเรือนมลายู” คือความทรงจำร่วมที่กำลังเลือนหายไปพร้อมกับคนในรุ่นก่อน ไม่ใช่เพียงเพราะผลกระทบของสถานการณ์เท่านั้น แต่ส่วนที่สำคัญกว่านั้นเป็น เพราะวิถีชีวิตที่กำลังเปลี่ยนไปทำให้พฤติกรรมของผู้คนและสังคมเปลี่ยน บางอย่างอาจจะยังดำรงอยู่สำหรับบางครอบครัว เช่น การกินข้าวอย่างพร้อมหน้าพร้อมตา แต่เรื่องราวแบบนี้ในที่อื่น ๆ เราต่างเห็นกันน้อยลงทุกขณะ วิถีหลายอย่างที่แม้จะเป็นวิถีแบบชนบท แต่สิ่งที่ครอบครัวนี้หรือครอบครัวอื่น ๆในสามจังหวัดทำก็แตกต่างออกไป ผู้เขียนคิดว่า ไม่บ่อยนักที่จะมีใครสักคนในสังคมแบบมลายูที่จะลุกขึ้นมาเล่าเรื่องในครอบครัวของตัวเองแบ่งปันกับคนอื่น ๆ ดังนั้น สำหรับคนนอกพื้นที่ ผู้เขียนก็เชื่อว่า เรื่องราวในชีวิตประจำวันที่เหมือนจะธรรมดาสามัญนั้น อันที่จริงสนุกและซ่อนสาระ คือเสน่ห์ของสิ่งที่แตกต่างที่จะบอกเราว่า ความเป็นมลายูนั้นไม่ใช่เรื่องลึกลับซับซ้อนเข้าใจไม่ได้ ดังนั้นก็น่าจะถึงเวลาที่เราจะทำความรู้จักกับ “มลายู” ที่ใกล้ตัวให้มากขึ้น อย่างน้อยก็อีกสักนิดหนึ่ง