เท้าหลังสิย่างก้าว บ่กลัวนาย - Decode
Reading Time: 3 minutes

ทำไมผู้หญิงมักอยู่ข้างเคียงกับคำว่า ‘การขับเคลื่อนด้านสิ่งแวดล้อม’

“สิ่งแวดล้อมคือป่า ผู้หญิงกับป่าพึ่งพาอาศัยผูกพันกัน แทบเป็นชีวิตเลยแหละ เพราะว่าเป็นตู้กับข้าว เป็นทุกอย่าง เป็นหัวใจหลักของครอบครัว ไปหาเห็ด หาหน่อไม้ ก็ผู้หญิงไปทั้งหมด พอมันหายไปหมด ไม่รู้จะไปหากินยังไง จะไปหาเงินในกรุงเทพฯ มาซื้อให้ครอบครัวกิน มันก็อยู่ไกลกัน” สอิ้งเล่าด้วยน้ำเสียงนิ่งเรียบ

คำว่า ‘ครอบครัว’ ของสอิ้งกินความไปไกลมากกว่าการเป็นพ่อแม่ลูก
แต่มันหมายถึงหมูหมาแมวควาย และธรรมชาติที่เริ่มสูญหายจากเงื้อมมือของรัฐ

“ตอนเล็ก ๆ พี่เคยเสียใจอยู่นะที่ไม่เกิดมาเป็นผู้ชาย” สอิ้งเอ่ย

“เพราะผู้ชายทำอะไรก็ง่าย จะไปไหนก็ไม่ลำบาก ไม่ต้องมีคนมาทำมิดีมิร้าย” สอิ้งพูดต่อ

ณ ภูดงแม่เผด บ้านโคกสมบูรณ์ ตำบลคำพอุง อำเภอโพธิ์ชัย จังหวัดร้อยเอ็ด

สอิ้ง ไถวสินธุ์ นุ่งผ้าถุงเก่าพาดผ้าขาวม้าลายหมากรุกสีม่วง ตื่นขึ้นตั้งแต่รุ่งสาง หุงข้าว ต้มปลา ตำน้ำพริกแจ่วไว้รอลูก เสร็จจากนั้นก็จูงวัวไปตามทุ่งนา หยิบมีดพร้าและจอบ ไปขุดมัน ฟันไร่ตามวิถี

เสร็จจากนั้นหยิบปากการ่างจดหมาย ล่าลายเซ็น ยื่นคำร้อง และเจรจาต่อรองกับนายอำเภอ ผู้ว่าราชการจังหวัด สมาชิกสภาจังหวัด สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กระทั่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงฯ เพื่อปกป้องผืนป่าของภูดงแม่เผด ที่ถูกแย่งชิงผืนไร่ไปเป็นสวนป่ายูคาลิปตัส ในโครงการจัดสรรที่ทำ กินให้ราษฎรผู้ยากไร้ (คจก.) ในสมัยที่ รสช. เรืองอำนาจ

ตามบัตรประชาชนของสอิ้งระบุพุทธศักราชที่เธอเกิดไว้ที่ 2496
ทว่าหากจะดูอายุของหมู่บ้านให้ดูที่ต้นไม้ สอิ้งบอกกับผู้เขียนไว้แบบนั้น

ต้นหมากและต้นมะพร้าวที่สูงจนมองแทบไม่เห็นยอด บ่งบอกว่าตำบลคำพอุง (บ้านคำพอุง) มีอายุราว 300 ปี ในบ้านใหญ่นี้แบ่งออกเป็น 7 หมู่บ้าน และบ้านโคกสมบูรณ์มีอายุราว 76 ปีแล้ว 

“ตอนนี้มีแม่เฒ่าตอม อายุ 99 ปี สองสามปีมานี่แกชักขี้บ่นนะ กับข้าวกับปลาไม่ถูกปาก แกงขี้เหล็กรสไม่เหมือนเดิม ซุปหน่อไม้ทำไม่ใส่งาเยอะ ๆ” สอิ้งเล่า

การสูญหายของทรัพยากรในภูดงแม่เผด เริ่มต้นขึ้นหลังกรมป่าไม้ให้สัมปทานป่าไม้กับบริษัททำไม้

ยุคต่อไปจะเป็นยุคของสัตว์ประหลาดมาโป่งเขา
เสาไฟสิออกดอก ครกมองโตเดียว ตำเข่าหมดบ้าน
ผู้หญิงสิออกจากบ้านมีท้องกองน้ำตา
ต่อไปสิบ่มีป่า ป่าหัวไร่ปลายนาก็ควรรักษาไว้
อย่าตัดทำลาย ถึงมีน้อยมันสิเป็นยา

คำทำนายของ ‘ผู้เติ้น’ หรือโฆษกประจำหมู่บ้านดูท่าจะเป็นจริง หลังจากที่ทรัพยากรในภูดงแม่เผด เริ่มสูญและหาย หลังจากที่กรมป่าไม้ให้สัมปทานป่าไม้กับกลุ่มบริษัทผู้ช่ำชองในเรื่องทำไม้

สอิ้งเล่าว่าในดงแม่เผด มี ‘ผีเผด’ ผีเปรตเพศหญิงคอยปกปักรักษาผืนป่าอยู่ ฉะนั้นไม้ใหญ่ขนาด หลายคนโอบในพื้นที่นี้แทบไม่มีใครกล้าแตะต้อง แต่นั่นไม่ใช่สำหรับคนงานตัดไม้ต่างถิ่น

“ผีแม่เผดแน่จริงก็มาทำกูซิ” เสียงท้าทายดังลั่นคลอไปกับเสียงเครื่องยนต์จากเลื่อยไฟฟ้า ผ่านในเวลาเพียงหนึ่งทศวรรษ ภูดงแม่เผดที่เคยเต็มไปด้วยป่า ก็โล่งเตียนในนามของการพัฒนา

“นี่เป็นป่าผืนสุดท้ายของชีวิตนะ ไม่เชื่อก็ตามใจ” บุญพูดกับสอิ้ง

“ป่าไม้ไม่ได้มีที่นี่แห่งเดียว มันมีที่อื่นอีก ไปหาเอาที่อื่นก็ได้ ไม่อดตายดอก” สอิ้งเถียงเสียงแข็ง

ณ ขณะนั้น สอิ้งยัง ‘นึก’ ไม่ถึงความเสียหายจากนโยบายที่ก้าวเท้าเข้าสู่บ้านเธอเท่าใดนัก และยัง ‘คิด’ ไม่ถึงว่าวันหนึ่งบ้านที่เธอใช้อาศัย และแหล่งพักนำของบรรพบุรุษจะสูญหายไป

: แล้วสอิ้งเริ่ม ‘คิด’ ตั้งแต่เมื่อไหร่

สอิ้งเล่าว่าสัมปทานทำไม้ในภูดงแม่เผดมีอยู่สองระลอกใหญ่ หนึ่งคือสัมปทานตัด ที่ทำให้ภูดงแม่เผดโล่งเตียน สองคือสัมปทานปลูก ที่ทำการไถดินและโค่นตอไม้ทิ้งหมด และทำการไล่ชาวบ้านออกจากพื้นที่ของตน เพื่อเตรียมพื้นที่สำหรับปลูกพืชของรัฐ

“บ้านภูเขาทอง หมู่ 9 หมู่ 5 โดนยูคาลิปตัส บ้านพี่โคกสมบูรณ์ โคกใหญ่ โดนกระถินเทพา เขาเอาคนงานจากที่อื่นมาปลูก … ชาวบ้านก็พยายามคุยกับคนงานว่า ถ้าเป็นบ้านเจ้า เจ้าจะเสียใจไหม เขาบอกว่า นายจ้างมาวันละ 80 บาทก็ต้องปลูก” สอิ้งอธิบาย

ความเสียหายที่เกิดขึ้นทำให้ชาวบ้านเริ่มจับกลุ่มพูดคุยกัน

ตัวแทนชาวบ้าน 20 คนจาก 200 คน ตั้งกลุ่มไปพูดคุยกับนายอำเภอ พูดคุยกับเจ้าหน้าที่ป่าไม้เขต ไปหารือกับทนายความ ไปร้องเรียนกับผู้แทนราษฎร กระทั่งไปพบผู้ว่าราชการจังหวัด ณ ตอนนั้น

ภายหลังกลุ่มดังกล่าวถูกจัดตั้งขึ้นเป็น ‘ชมรมชาวนาชาวไร่คำพอุง’ เพื่อทำงานขับเคลื่อนระดับพื้นที่ ในตอนแรกสอิ้งรับหน้าที่เป็นคนประสานระหว่างชมรมกับชาวบ้านกว่า 365 ครอบครัวในที่ดินทำกิน กว่า 6,000 ไร่ โดยมีพ่อใหญ่สังวาลย์ มีชัยคำ เป็นประธานชมรม

ไม่นานนัก พ่อใหญ่สังวาลย์ถูกจับพร้อมกับชาวบ้าน 21 คน ตามคำขู่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ จากการที่พ่อใหญ่และชาวบ้านเดินทางไปยื่นหนังสือให้ชะลอการปลูกพืชต่างดาวในพื้นที่

นั่นนับว่าเป็นก้าวสำคัญของสอิ้งในการท้าทายอำนาจรัฐอันไม่ชอบธรรมที่เกิดขึ้นพื้นที่ เธอเข้าไปเจรจากับผู้ว่าราชการจังหวัดให้ปล่อยพ่อใหญ่สังวาลย์และชาวบ้านที่ถูกจับกุมไป

ขณะเดียวกัน ก็เดินหน้าพุ่งชนกับบริษัทไจก้า (JICA – Japanese International Cooperation Agency) บริษัทที่รับจ้างปลูกป่า โดยไปพูดคุยกับเจ้าหน้าที่คนหนึ่งที่ทำงานเกี่ยวข้องกับบริษัท เธอและชาวบ้านเสียใจอย่างไรที่พวกเขาเอาต้นไม้มาปลูกแทนที่พื้นที่ของเรา ชาวบ้านเสียเปรียบอย่างไร ถูกหลอกอย่างไร ถูกปิดบังข้อมูลอย่างไร

และนั่นก็ทำให้สอิ้งรู้สึกว่า ต้องพูดความจริงและเผชิญหน้า ไม่ว่าจะในระดับรัฐมนตรีหรือระดับใด

คนที่จะชะลอการลงทุนของกลุ่มทุนในพื้นที่ตำบลคำพอุงได้ มีเพียงรัฐมนตรีว่าการเกษตรฯ เท่านั้น ชาวบ้านจึงตั้งตัวแทน 9 คน (ผู้ชายหกและผู้หญิงสาม) รวมเงินกันได้ 1,000 บาท นั่งรถมาลงตลาด หมอชิต ต่อแท็กซี่ไปที่กระทรวงเกษตรฯ และระหว่างทางคิดกันว่าจะพูดอะไรกับรัฐมนตรีฯ

“มึงพูดสิ กูย่านนาย กูย่านเขาจับ มึงพูดดีกว่ากูพูด” ตัวแทนชายคนหนึ่งพูดขึ้น

สอิ้งได้พบกับรัฐมนตรี และส่งเสียงเรียกร้องไปยังโครงการปลูกยูคาลิปตัสทับที่ทำกิน และยื่นข้อเรียกร้อง 3 ข้อ หนึ่งชะลอการจับกุม สองไม่ต้องเสียค่าปรับหลังถูกจับ สามยับยั้งการปลูกกระถินเทพากับการไถที่ดินจนกว่าจะตกลงกันได้ว่าจะปลูกต้นไม้อะไร

“ผมไม่ได้มีอำนาจปานนั้นดอกนะ แต่อย่างน้อยเขาก็สนใจว่าผมเป็นรัฐมนตรีอยู่ ยังไงก็ให้เขาทำกินไปก่อน ไอ้เรื่องเผาที่เผาทางก็แค่นี้น่ะนะ” อาณัติ อาภาภิรม รัฐมนตรีเกษตรฯ ขณะนั้นสั่ง

สามวันหลังจากนั้น ผู้ว่าราชการจังหวัดก็ประกาศชะลอการจับกุม

นี่เป็นเพียงเรื่องราวบางส่วนที่ถูกหยิบยกขึ้นโดยผู้เขียน จากหนังสือที่ชื่อว่า “เท้าหลังย่างก้าว”

หนังสือรวบบทความทางวิชาการด้านสตรีศึกษา ของโครงการสตรีและเยาวชนศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยมี ผศ.ดร.สินิทธิ์ สิทธิรักษ์ เป็นบรรณาธิการ ผู้สัมภาษณ์ และเรียบเรียงเรื่องราวของ สอิ้ง ไถวสินธุ์

จากคำถามแรกที่ว่า ทำไมผู้หญิงมักอยู่ข้างเคียงกับคำว่า ‘การขับเคลื่อนด้านสิ่งแวดล้อม’
ผู้เขียนได้คำตอบว่า การต่อสู้ดิ้นรนในชีวิตประจำวันของแม่หญิงในป่านั้นเป็นอาวุธของพวกเธอ

วราภรณ์ แช่มสนิท ให้คำตอบในทิศทางเดียวกันบนงานวิจัยเรื่อง ‘นักกิจกรรมผู้หญิงชาวบ้าน วิถีความคิดและประเด็นการต่อสู้’ ที่ถูกเผยแพร่ไว้ในหนังสือเท้าหลังย่างก้าวเช่นเดียวกัน

วราภรณ์อธิบายว่า สังคมต้องขยายกรอบการเคลื่อนไหวของแม่หญิงเหล่านี้ให้กว้างขึ้น หาใช่เพียงแค่การจัดตั้งขบวนการ มีระบบแบบแผน หรือเป้าหมายร่วมของชุมชน หากแต่เป็นการบ่มเพาะรูปแบบความสัมพันธ์ทางสังคม บทบาทหญิงชาย ที่กำหนดวิถีความคิดและชีวิตประจำวันของผู้คนโดยรวม

แม่หญิงชาวบ้านต่างต้องตกอยู่ในความไม่เท่าเทียมหลายรูปแบบ แตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ แต่สิ่งหนึ่งที่นับว่าแม่หญิงหลายท่านยืนอยู่บนเหวเดียวกัน คือ บทบาทหญิงชายที่แช่แข็ง ซึ่งหากพวกเธอไม่ทลายกำแพงบทบาทตามประเพณีดั้งเดิมนั้น พวกเธอก็มิอาจเข้าไปมีส่วนร่วม ในการตัดสินใจระดับชุมชนได้เลย

ซึ่งบทบาทเชิงรุกเหล่านี้อาจเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากแม่หญิงเหล่านี้ไม่ ‘ดิ้นรนทางความคิด’ เพื่อเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคมตั้งแต่ระดับครอบครัว ชุมชน และรัฐ

วราภรณ์วิเคราะห์กระบวนการทางความคิดของแม่หญิงในชนบทไว้ว่า ความผูกผันระหว่างชุมชนและผู้หญิง เป็นแนวทางที่จะพาความเข้มแข็งมาสู่ชุมชน แต่ต้องพิจารณาอย่างลึกซึ้งในแต่ละบริบทพื้นที่ว่าเป็นคำพูดเชิงอุดมคติ หรือเป็นกลยุทธ์ที่เกี่ยวกับความเป็นหญิงและเป็นความจริงทางสังคมเกี่ยวกับผู้หญิง

ตามเรื่องราวของสอิ้ง เราอาจเห็นได้ว่าความเป็นจริงทางสังคมเกี่ยวกับผู้หญิง หาใช่เพียงการรักใคร่กลมเกลียวกันโดยไม่มีใครแตกแถว แต่มันหมายรวมถึงความกลัวของผู้ชาย การเผชิญหน้า และการรื้อสร้างโครงสร้างทางวัฒนธรรมของชุมชนนั้น ๆ อีกด้วย 

ซึ่งความสัมพันธ์ทางสังคมแบบใหม่ที่มีผู้หญิงเป็นสมาชิกที่มีสิทธิ์ เสียง และส่วนร่วมในการตัดสินใจ จะเป็นตัวแปรสำคัญที่นำพาการเปลี่ยนแปลงที่ดีมาสู่ชุมชน และมันจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากปราศจากการกะเทาะบทบาทและความสัมพันธ์ระหว่างหญิงชาย

ณ ช่วงท้ายของการพูดคุยกันระหว่างสอิ้งและสินิทธิ์

สอิ้งเล่าว่าแม้โครงการ คจก.จะยกเลิกไปแล้ว แต่มันยังไม่ถูกล้มเลิก แม้ชาวบ้านจะกลับไปทำกินในพื้นที่เดิมของตนได้ แต่เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ยังไม่ยอมรับมติ

ตามรายงานของสำนักข่าวผู้จัดการ เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2558 ในพื้นที่ป่าสงวนดงแม่เผด ฝั่งพื้นที่ อ.กุฉินารายณ์ อ.ห้วยผึ้ง อ.นามน และอ.ดอนจาน จ.กาฬสินธุ์ เจ้าหน้าบุกตรวจสอบพื้นที่ป่าที่ถูกบุก รุกปลูกป่ายางพาราและมันสำปะหลัง โดยจากปากคำของชาวบ้านในพื้นที่พบว่า เป็นพื้นที่ของกลุ่มทุนใหญ่จากร้อยเอ็ดที่กว้านซื้อสิทธิในที่ดินจากชาวบ้าน

หากนับตามวันตีพิมพ์หนังสือเล่มนี้จนถึงปัจจุบัน เป็นเวลากว่า 35 ปี ที่ข้อพิพาทเรื่องที่ดินยังคุกรุ่น

สอิ้งขยายความถึงโครงการ คจก.ยกเลิกแต่ยังไม่ล้มว่า ปัญหาป่าไม้และที่ดินทำกินในภาคอีสาน ไม่ได้เกิดขึ้นที่ดงแม่เผดเท่านั้น ทว่ายังมีอีก 47 ป่าที่ชาวบ้านตกอยู่ในข้อกล่าวหาว่าบุกรุกป่า จนชาวบ้านจำเป็นต้องตั้งคณะกรรมการในแต่ละหน่วยพื้นที่ เช่น หน่วยพื้นที่ของสอิ้งจะประกอบ ไปด้วย 5 จังหวัด คือ นครพนม กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด มุกดาหาร สกลนคร เพื่อประสานการทำงานด้าน สิทธิที่ดินทำกิน

กระทั่งการประกาศเขตป่าสงวนแห่งชาติทับที่ทำกินของประชาชนที่อยู่มาแต่เดิม หรือการประกาศให้ภูดงแม่เผดเป็นป่าอนุรักษ์ตามมติ ครม. เดือนตุลาคม พ.ศ. 2536 สี่ปีหลังจากนั้น ชาวบ้านจากภูดงแม่เผดจึงมาร่วมประท้วงกับกลุ่มสมัชชาคนจนในประเด็นสิทธิที่ดินทำกินนานถึง 99 วัน แม้หลังจากนั้นราชการจะออกสำรวจพื้นที่ แต่ก็ยังไม่มีการออกซอยแปลง และออกเอกสาร สปก. 4-01 หรือเอกสารแสดงการครอบครองที่ดินที่ให้ประชาชนสามารถเข้าใช้ประโยชน์ในที่ดินได้

สำหรับสอิ้งแล้ว ไม่มีใครรู้ว่าวันนั้นที่พวกเธอรอคอยจะมาถึง แต่นอกจากสิทธิในที่ดินทำกินแล้ว

อีกสิ่งหนึ่งที่สอิ้งคาดหวังที่จะได้เห็นในชีวิตก็คือ
“อยากให้ชาวบ้านไม่กลัวนาย ข้าราชการไม่ข่มเหงราษฎร คนเราต้องเท่าเทียม” สอิ้งเอ่ยขึ้น

PlayRead: เท้าหลังย่างก้าว
บรรณาธิการ: สินิทธ์ สิทธิรักษ์
จัดพิมพ์โดย: โครงการสตรีและเยาวชนศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

PlayRead: คอลัมน์รีวิวหนังสือประจำ Decode.plus เมื่อกองบรรณาธิการขอ add หนังสือ (ที่อยากอ่าน)ไว้ในเพลย์ลิสต์ พบกับหนังสือหลากหลายสไตล์ หลากหลายวิธีการเล่าเรื่องที่เชื่อมร้อยกับชีวิตและสังคม แวะมาหาอ่านกันได้ทุกเย็นวันพฤหัสบดี