เป้าหมายของเราคือการเป็นข้าราชการ
ไม่ว่ายังไงเราก็ต้องสอบข้าราชการให้ได้
คือความฝันของชายหนุ่มวัย 29 ปี ผู้ซึ่งทำงานในระบบราชการมาแล้วเกือบ 7 ปี
7 ปีกับการทำงานเพื่อรัฐฐะ แต่ไม่ได้มีสถานะเป็น…ข้าราชการ
ทันทีที่เรียนจบ ‘เขา’ เริ่มต้นชีวิตการทำงานในสายราชการด้วยการเป็น ‘ลูกจ้างโครงการ’ สังกัดกรมอนุรักษ์สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทำมาได้เป็นเวลา 2 ปี ก็ถึงจุดที่เขาอยากจะพาตัวเองไปใกล้ชิดความฝันมากกว่าเดิม การสอบผ่านและได้รับคัดเลือกเป็น ‘พนักงานราชการ’ เป็นเสมือนใบเบิกทางชิ้นสำคัญที่เขาภูมิใจ
ตุลาคมที่ผ่านมา คือการย่างเข้าสู่ปีที่ 5 ของการเป็นพนักงานราชการ พร้อม ๆ กันกับการย่างเข้าสู่ปีที่ 7 ของการรับราชการ และไม่แน่ในปีหน้าอาจจะเป็นปีที่ 1 สำหรับเส้นทางชีวิตข้าราชการ ด้วยเหตุที่ว่าเขาเพิ่งผ่านการสอบภาค ก และเตรียมที่จะสอบภาค ข ในอีกไม่กี่เดือน ไม่น่าเชื่อว่าแม้ทุกวันนี้เขาเองจะสวมเครื่องแบบของพนักงานราชการที่ถ้าว่ากันตามตาเห็นก็ช่างคล้ายคลึงกับเครื่องแบบข้าราชการพลเรือนแบบแยกไม่ออก แต่อย่างว่าคล้ายแค่ไหนก็ไม่เหมือน กับสถานะของเขา เช่นเดียวกันกับสวัสดิการที่เขาได้รับ ไม่ว่าอย่างไรมันมีความต่างของมันอยู่
น่าสนใจดี ที่ไม่ว่าอะไรจะต่างกัน แต่การทำงานกลับไม่ต่างกันมากนัก อาจจะต่างกันที่ข้าราชการเป็นคนสั่ง พนักงานราชการเป็นคนทำ (ด้วยสาเหตุลำดับชั้นของตำแหน่ง) แต่เพราะจากเรื่องใครสั่ง-ใครทำ ส่งผลให้สิ่งที่ได้รับต่างกันราวฟ้ากับเหว
ข้าราชการมีสวัสดิการที่ดูแลคนถึง 3 รุ่น พนักงานราชการมีแค่ประกันสังคมไว้ดูแลตัวเอง
ส่วนพนักงานจ้างโครงการ…ไม่มีอะไรเลย แต่ทั้งหมดแลกมาด้วยการจ้างงานด้วยเรตเงินเดือนที่มากกว่า
จากฐานเงินเดือนข้าราชการที่สตาร์ทที่ 15,000 บาท มาเป็นฐานเงินเดือนปริญญาตรีที่เริ่มต้นที่ 18,000 บาท
เพิ่มมา 3,000 บาท – คุ้ม ไม่คุ้ม ขอให้ผู้อ่านพิจารณากันเอาเอง
อย่างที่รู้กันดี หนึ่งบาดแผลใหญ่ของระบบราชการไทยคือ เรามียอดค่าใช้จ่ายสำหรับบุคลากรภาครัฐที่สูงมาก จากงบประมาณแผ่นดินปี 2564 วงเงิน 3.3 ล้านล้านบาท เงินจำนวนถึง 1.1 ล้านบาท ถูกนำไปเป็นค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ เมื่อเทียบเป็นสัดส่วนจะมีสัดส่วนถึง 1 ใน 3 ของงบประมาณทั้งหมด เรียกได้ว่าเป็นภาระก้อนใหญ่ที่รัฐต้องแบกรับจนหลังแอ่น แต่ในขณะเดียวกันเมื่อเรามองไปที่ยอดการสอบข้าราชการในปีนี้กลับมียอดสมัครสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ จาก 15 สนามสอบทั่วประเทศมีผู้สอบเข้าคัดเลือกเป็นข้าราชการมากถึง 500,000 คน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 50,000 คน แต่อัตราข้าราชการที่รับได้กลับมีแค่ 30,000 ตำแหน่งเท่านั้น คำถามที่ตามมาคือแล้วอีก 470,000 คนที่เหลือจะไปไหนและตัวเลขทั้งสองนี้กำลังส่งสัญญาณอะไร
หรือตัวเลขทั้งสองอาจจะส่งสัญญาณว่า ถึงเวลาแล้วที่เราต้องมีการปฏิรูปราชการ(ครั้งใหญ่) เพราะในช่วงที่เศรษฐกิจไทยทั้งผันผวนและเปราะบาง การทำงานในอาชีพสายราชการถูกมองว่า เป็นความฝันเดียวสำหรับผู้ที่มีความมั่นคงเป็นปลายทางของชีวิต เพื่อที่จะไปถึงความฝันนั้น หลายคนเลือกมองข้ามการจ้างงานที่ไม่เป็นธรรมเหมือนอย่าง ‘เขา’ ที่เราเล่าให้ฟังไปในข้างต้น
เพราะหวังว่า ในท้ายที่สุดแล้วถ้าเขาอดทนมากพอ ความฝันที่หวังไว้จะมาเยือน แต่จากตัวเลขของงบประมาณและแนวโน้มทิศทางการจ้างงานของภาครัฐ ก็ทำให้เราพอเดากันได้ว่า แท้จริงแล้วความฝันไม่ได้สวยงามและแข็งแรงเหมือนที่เราคาดไว้ รากฐานเดิมอาจสามารถรอวันเกษียณพร้อมสวัสดิการเต็มกระเป๋า แต่รากฐานใหม่เข้าไปแบบตัวเปล่าและดูท่าต้องจากไปแบบตัวเปล่าเช่นกัน จากการจ้างงานที่มองคนไม่เท่ากัน
ด้วยเหตุนี้เอง Decode จึงชวน ผศ.ดร.วสันต์ เหลืองประภัสร์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ย้อนรอยที่มาของระบบการจ้างงานข้าราชการและปัญหาการจ้างงานแบบกึ่งราชการ ไปจนถึงถอดรหัสเงื่อนไขในการปฏิรูประบบราชการไทยว่า ทำไม…แม้เราจะมีความพยายามปฏิรูประบบนี้แค่ไหน แต่ก็ไม่สำเร็จสักที ปิดท้ายด้วยการเสนอหนทางปฏิรูปราชการที่สามารถทำได้จริงในระบบที่ขึ้นชื่อได้ว่า มีความต้านทานต่อการเปลี่ยนแปลงสูงมาก!
เพื่อให้ข้าราชการเป็นอิสระจากทุกสิ่ง ระบบการจ้างงานระยะยาวชั่วชีวิตจึงเกิดขึ้น
ก่อนที่จะไปถึงการจ้างงานในรูปแบบพนักงานราชการ ผมคิดว่าเราจำเป็นต้องเข้าใจการจ้างงานของข้าราชการพลเรือนเสียก่อน เพราะระบบการจ้างงานภาครัฐไทยโดยรวมมีพื้นฐานมาจากการจ้างงานแบบระบบข้าราชการพลเรือน หรือระบบ Civil Service System ซึ่งเป็นระบบการจ้างงานระยะยาวทั้งชีวิตโดยเป็นไปตามหลักการระบบคุณธรรม
จุดเริ่มต้นของการจ้างงานในลักษณะนี้เกิดขึ้นในช่วงกลางศตวรรษที่ 19 ที่มีความพยายามที่จะแยกระบบราชการออกจากผู้ปกครอง เพื่อทำให้ระบบราชการไม่ได้เป็นของผู้ปกครอง แต่มีสถานะเป็นของรัฐ ยกตัวอย่างง่าย ๆ เช่นในสหรัฐอเมริกาก่อนจะเกิดระบบข้าราชการพลเรือนที่เป็นระบบอย่างทุกวันนี้ ในสมัยประธานาธิบดีแอนดรูว์ แจ็กสันเองก็มีระบบการจ้างงานข้าราชการที่เรียกว่า ‘ระบบการแต่งตั้งทางการเมือง’ คือการให้อำนาจผู้ได้รับเลือกตั้งสามารถแต่งตั้งใครก็ได้เข้ามาทำงานในระบบราชการ ซึ่งในท้ายที่สุดมันก็นำไปสู่ปัญหาการเล่นพรรคเล่นพวก
จากสาเหตุนี้เองก็นำไปสู่การปฏิรูประบบราชการ โดยใช้วิธีการแยกข้าราชการประจำออกจากฝ่ายการเมือง เพื่อให้ข้าราชการไม่ได้มีสถานะเป็นคนของประธานาธิบดีหรือเป็นคนของใคร แต่มีสถานะเป็นเจ้าพนักงานของรัฐฐะ (ประเทศ) ซึ่งการจะทำให้ข้าราชการมีสถานะแบบนี้ได้จำเป็นต้องมี ‘การออกระบบการจ้างงานแบบทั้งชีวิต’ ขึ้นมา เพื่อเป็นหลักประกันว่า การจะอยู่หรือไปของคุณไม่ได้ขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ทางการเมือง ชาติตระกูล หรือ ผู้มีอำนาจใดใดทั้งสิ้น โดยหลักประกันที่ว่ามานี้ถูกแสดงผลอยู่ในรูปของการทำให้เกิดความมั่นคงในตำแหน่งนั่นเอง ประเทศไทยเราก็รับเอาระบบนี้มาปรับใช้นับตั้งแต่การปฏิรูปราชการในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5
เมื่อ ‘พญาอินทรีบินกลับรัง’ ส่งผลให้ข้าราชการไทยถูกแช่แข็ง
ผมเข้าใจว่า ระบบราชการไทยเริ่มแสดงปัญหาออกมาให้เราเห็นในช่วงสมัยรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์
ต้องขอย้อนกลับไปก่อนว่าตั้งแต่สมัยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ระบบราชการถูกออกแบบมาให้ใหญ่โต เทอะทะ และขยายตัวมาโดยตลอด ยิ่งในยุคสงครามเย็นถือได้ว่า เป็นช่วงเวลาที่หน่วยงานราชการไทยมีการขยายตัวมากที่สุดเพราะในช่วงเวลานั้นไทยมีสหรัฐอเมริกาเป็นมหามิตรและคอยให้ความช่วยเหลือเราในทุก ๆ ด้าน ทั้งในเชิงงบประมาณและการส่งเจ้าหน้าที่มาช่วยเหลือ จึงทำให้ส่วนหนึ่งของงบประมาณภาครัฐไทยเป็นเงินช่วยเหลือจากต่างประเทศ แต่หลังจากสงครามเวียดนามจบลง สหรัฐอเมริกาได้ถอนตัวกลับไป แน่นอนว่าส่งผลให้งบประมาณของภาครัฐลดลง ในขณะที่องค์กรต่าง ๆ ยังใหญ่โตเหมือนเดิม เพิ่มเติมคือขยายตัวเต็มที่แล้วด้วย
รัฐบาลพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เริ่มตระหนักถึงปัญหาของระบบราชการไทยที่ใหญ่โตเกินไป แต่รัฐบาลพลเอกเปรม คือรัฐบาลแรกที่มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อศึกษาปัญหาเรื่องนี้อย่างจริงจัง โดยใช้ชื่อว่า ‘คณะกรรมการปฏิรูประบบราชการและระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน’ ในปี พ.ศ. 2523 ถือได้ว่าเป็นครั้งแรกของประเทศที่ได้มีการทบทวนสถานการณ์ปัญหาระบบราชการและพยายามเสนอทางออกให้แก่รัฐบาล
ในสมัยนั้น ถ้าใครยังจำได้จะพบว่า เราเจอปัญหาเยอะมาก หนึ่งคือเรื่องเงินเดือนข้าราชการ เมื่อเทียบกับบริษัทเอกชนแล้วกลับต่ำกว่ากันมาก เพราะตั้งแต่ยุคจอมพลสฤษดิ์เป็นต้นมาถือได้ว่า เป็นยุคแห่งการเร่งรัดพัฒนาเศรษฐกิจ ภาคเอกชนไทยเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ เงินเดือนของพนักงานเอกชนก็ขึ้นตามไปด้วย ด้านค่าครองชีพของเราก็สูงขึ้น แต่เมื่อมองมาที่เงินเดือนข้าราชการกลับไม่ได้ปรับตามค่าครองชีพที่เป็นจริงเลย จึงทำให้ข้าราชการสมัยนั้นเงินเดือนน้อยมาก
เรียกได้ว่า รัฐบาลพลเอกเปรมเป็นรัฐบาลแรกที่เจอเข้ากับปัญหาการไม่สามารถขึ้นเงินเดือนข้าราชการได้ ด้วยเหตุนี้เองรัฐบาลพลเอกเปรมจึงริเริ่มนโยบายสำคัญอย่าง ‘นโยบายการชะลอตัวการขยายตัวของระบบข้าราชการ’ เป็นครั้งแรกที่รัฐบาลได้ออกมาตรการจำกัดห้ามรับข้าราชการเพิ่มเกิน 2% ต่อปีและนี่คือนโยบายที่ถูกใช้มาอย่างต่อเนื่องยาวนานจนถึงปัจจุบัน
แต่เนื่องจากมาตรการจำกัดจำนวนข้าราชการเป็นการลดจำนวนข้าราชการโดยรวม ไม่ได้มีการกำหนดลดตามสายวิชาชีพ เมื่อเวลาผ่านไปสุดท้ายก็เกิดปัญหาตามมา หลายหน่วยงานเริ่มขาดแคลนบุคลากร เพราะไม่สามารถรับข้าราชการใหม่ได้ ด้วยเหตุนี้เองหน่วยงานต่าง ๆ จึงเอางบประมาณของตัวเองมาจ้างคนเพิ่มโดยอ้างว่า มีความจำเป็นที่ต้องใช้คนในการขับเคลื่อนงาน ก็เริ่มเกิดการจ้างงานในลักษณะอัตราจ้างขึ้นมา โดยมีลักษณะเป็น ‘การจ้างงานชั่วคราว’ เซ็นสัญญาปีต่อปี ไม่มีการขึ้นเงินเดือน ตำแหน่งงานขยับไม่ได้ จ้างตามวุฒิการศึกษา และในท้ายที่สุดการจ้างงานในลักษณะนี้ก็ขยายตัวไปเรื่อย ๆ
ในภายหลังมีการตั้งคำถามและร้องเรียนว่า รัฐกำลังเอาเปรียบคนทำงานผ่านระบบอัตราจ้างอยู่หรือเปล่า เพราะในเวลานั้นคนที่ทำงานอยู่ในระบบนี้เรียกได้ว่า ได้รับการปกป้องคุ้มครองสิทธิประโยชน์ในฐานะแรงงานน้อยกว่าคนทำงานโรงงานเสียอีก คนทำงานโรงงานยังมีกฎหมายคุ้มครองแรงงาน มีประกันสังคม แต่กลุ่มอัตราจ้างกลับไม่มีอะไรเลย ไม่นานการเคลื่อนไหวทักท้วงจึงเกิดขึ้นและส่งผลให้เกิดการปรับลักษณะการจ้างงาน
จากระบบอัตราจ้างที่ไม่มีสิทธิประโยชน์ใดใด มาสู่ระบบใหม่ที่เราเห็นในปัจจุบันอย่าง ‘ระบบพนักงานราชการ’
การเปลี่ยนในรอบนี้มาพร้อมสิทธิประโยชน์ที่ดีขึ้นก็จริง เช่น การปรับฐานเงินเดือนตามประสบการณ์การทำงาน หรือการเข้าสู่ระบบประกันสังคม แต่คนกลุ่มนี้ก็ยังไม่มีสิทธิ์ที่จะเติบโตตามสายงานปกติ หากคิดที่จะไปต่อทางเดียวที่พวกเขาทำได้ คือการสอบบรรจุเป็นข้าราชการพลเรือนผ่านการสอบก.พ.
ขาดแคลนคน หรือไม่ยอมให้คนขาด – ‘กรมาธิปไตย’ ตัวกลางขัดขวางการบูรณาการข้าราชการ
ถ้าจะบอกว่า การใช้ระบบพนักงานราชการเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายน้ำหรือไม่ ผมเองก็เห็นด้วย
เพราะหนึ่งเรื่องที่น่าสนใจและถือได้ว่าเป็นปัญหาสำคัญที่สุดในการบูรณาการโครงสร้างอัตรากำลังข้าราชการคือ กรมาธิปไตย (Departmentalism) หรือ ปัญหาด้านการรวมศูนย์อํานาจแบบแตกกระจายในการบริหารราชการไทย ซึ่งสรุปง่าย ๆ คือตามกฎหมายแล้ว ‘กรม’ มีสภาพเป็น ‘นิติบุคคล’ ซึ่งการกำหนดในลักษณะนี้แง่หนึ่งก็อาจจะมองได้ว่า เพื่อให้เกิดความเป็นเอกเทศและการคล่องตัวในการบริหารงาน แต่อีกแง่หนึ่งก็ส่งผลให้ขาดความเป็นเอกภาพในการบริหารงานของรัฐ โดยรวมเพราะแต่ละกรมจำเป็นต้องแย่งชิงทรัพยากรกัน เพื่อให้กรมตนเองบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้
ภายใต้การมีอยู่ของระบบนี้ทำให้ ‘กรม’ จำนวนมากยังคงรักษาอาณาจักรของตนเองไว้ได้ ซึ่งการรักษาอาณาจักรหมายถึง การมี งาน เงิน คน ภายใต้กรมของตนเองอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ แน่นอนว่า ถ้าสมมติเราไปใช้ระบบใหม่ในการจัดชั้น จัดตำแหน่ง ย่อมทำให้หลาย ๆ กรมเสียฐานอำนาจดั้งเดิมของตนเอง
หนึ่งอย่างที่เราควรทราบคือ กรมแต่ละกรมจะเป็นกรมสำคัญหรือไม่ขึ้นอยู่กับการมีอัตราตำแหน่งของกรมที่มากพอ ยิ่งมีตำแหน่งมากแปลว่า กรมนั้นย่อมมีสิทธิ์ในการกำหนดตำแหน่งระดับกลาง ระดับสูง มากตามไปด้วย เพราะฉะนั้นเมื่อมีตำแหน่งเยอะก็ทำให้คนในกรมนั้น ๆ สามารถไหลเลื่อนขึ้นสู่ตำแหน่งระดับสูงได้มากขึ้น นี่คือสิ่งที่ทุกกรมพยายามปกป้อง จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่เราจะเห็นแต่ละกรมพยายามแย่งอัตราคนและขยายโครงสร้างของกรมตนเอง หรือที่เราเรียกกันว่า การสร้างอาณาจักร นั่นเอง
แล้วจากเรื่องนี้มันกลายเป็นปัญหาตรงไหน ปัญหามันอยู่ตรงที่วิธีการที่แต่ละกรมเลือกใช้ในการเพิ่มอัตราตำแหน่งตนเอง วิธีการยอดฮิต คือการขยายสำนักงานตนเองไปตามต่างจังหวัด เพราะฉะนั้นเราจะเห็นปรากฏการณ์ที่กรมส่วนกลางจำนวนมากไปตั้งออฟฟิศอยู่ต่างจังหวัดในรูปของสำนักงานจังหวัด สำนักงานเขตพื้นที่ต่างๆ นานา ซึ่งการออกไปตั้งสำนักงานเหล่านี้ คือวิธีการในการเพิ่มอัตราระดับกลาง แต่เราอย่าลืมว่าตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้วที่อัตราการจ้างข้าราชการของเรามีอย่างจำกัดทำให้ทุกคนต้องแย่งอัตรากัน ผลที่ได้คือทุกคนอาจจะได้ตำแหน่งแต่จะได้ไม่มาก
ผมขอยกตัวอย่างเพื่อให้เข้าใจง่ายมากขึ้น สมมติว่าสำนักงานจังหวัดของคุณ มีหัวหน้าสำนักงานจังหวัด 1 คน และมีอัตราข้าราชการอีก 5 คน ทั้งหมดรวมกันเป็น 6 คน แต่คุณต้องดูแลพื้นที่ทั้งจังหวัด ถามจริง ๆ ว่าคุณจะทำงานอย่างไร ก็ทำไม่ได้ สุดท้ายสิ่งที่คุณทำได้ คือต้องจ้างพนักงานอัตราจ้างเพิ่มเพื่อมาช่วยคุณทำงาน ทุกกรม ทุกสำนักงานต่างทำแบบเดียวกัน ด้วยเหตุนี้เองปัญหามันจึงพันกันไปหมด
ผมเรียกอาการที่เกิดขึ้นนี้ว่า ‘อาการเบี้ยหัวแตก’ คืออาการที่ต่างกรมต่างมีอาณาจักรเป็นของตนเองและขาดการบูรณาการบุคลากรระหว่างกรม ต้องยอมรับว่า โครงสร้างระบบราชการบ้านเรามันแตกกระจายมาก เรามีคนเยอะแต่เอาคนไปวางไว้ตามจุดทีละเล็กทีละน้อย ภายใต้โครงสร้างแบบนี้ทำให้ทุกหน่วยงานไม่สามารถทำงานได้เต็มสูบ เพราะมันมีคนน้อยเกินไป น้อยไปจนไม่สามารถทำงานใหญ่ได้ เป็นระบบที่ทอนกำลังของตัวเองทั้งหมด
“ตกลงเรามีคนน้อยจริง ๆ หรือเปล่า” คือคำถามที่เราควรจะมาขบคิดกัน เพราะถ้านับรวมทุกหน่วยงาน ข้าราชการของเราไม่ได้น้อยเลย แต่ที่มันน้อยเพราะโครงสร้างของกรมที่มันแยกขาดและไม่มีการบูรณาการซึ่งกันและกัน จึงเป็นผลให้จำนวนคนเราดูน้อย ฉะนั้นโจทย์ใหญ่จริง ๆ ในวันนี้ผมคิดว่า ไม่ใช่เรื่องจำนวน แต่คือเรื่องการบูรณาการคนระหว่างกรมและกระทรวงต่างหาก แต่แน่นอนว่า ในทางปฏิบัติแต่ละกรมจะยอมยกคนของเขาไปให้คนอื่นไหม ก็คงไม่ยอมเพราะถ้าเขายอมก็เท่ากับการเสียอัตราคนไป
สุดท้ายแล้วปัญหาจึงอยู่ที่การกำหนดเส้นทางการเติบโต เราอาจจะต้องกลับมาทบทวนอีกทีว่า การเติบโตของข้าราชการควรจะเติบโตด้วยวิธีการอื่นมากกว่าการเติบโตไปตามตำแหน่ง เราต้องทำให้ข้าราชการสามารถเติบโตได้โดยไม่ต้องพันอยู่กับตำแหน่งแต่มาพันอยู่กับอายุงานและความชำนาญของเขา ให้เขามีสิทธิประโยชน์และเงินเดือนที่เขาภูมิใจได้ในการทำงานสายวิชาชีพตนเองจนเกษียณอายุ ทั้งหมดนี้คือโจทย์ใหญ่ที่แท้จริงของเรา
Professional Career ระบบการจ้างงานที่การเติบโตแปรผันไปตามประสบการณ์
จริง ๆ แล้วระบบข้าราชการที่ขาดแคลนคนมากที่สุด คือข้าราชการกลุ่มสายวิชาชีพ เช่น ครู หรือ บุคลากรในสายสาธารณสุข ซึ่งเป็นสายที่ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน เรื่องนี้ถือเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมาอย่างยาวนาน
ผมคิดว่า ต้นเหตุสำคัญของปัญหานี้เกิดมาจาการที่เราไม่เคยมีการทบทวนกันอย่างจริงจังว่า กำลังพลภาครัฐที่เราต้องการจริง ๆ นั้นควรจะมีขนาดเท่าไหร่ ตอนนี้ตัวเลขที่รัฐบาลใช้ในการคิดคำนวณทั้งหมดล้วนเป็นตัวเลขรวม ๆ คือตัวเลขของข้าราชการพลเรือน เราทำแค่เอาตัวเลขกลม ๆ มากองรวมแล้วไปแย่งกัน แต่เราไม่เคยทบทวนเลยว่า เราต้องการหมอกี่คนหรือต้องการครูเพิ่มอีกเท่าไหร่ ฉะนั้นมันก็เลยเกิดปัญหาที่บางวิชาชีพที่จำเป็นเรากลับขาดคน แต่บางวิชาชีพที่เริ่มจำเป็นน้อยลงเรากลับมีคนเกิน ฉะนั้นเรื่องหนึ่งที่เราควรจะคิดกัน คือถึงเวลาแล้วที่เราต้องปรับระบบการจ้างงานข้าราชการสายวิชาชีพเสียใหม่
นอกจากระบบข้าราชการพลเรือนในปัจจุบัน ยังมีการจ้างงานอีกหนึ่งระบบที่เราสามารถใช้คู่ขนานกันไปได้คือ ระบบ Professional Career หรือระบบการจ้างงานของสายวิชาชีพ ซึ่งมีแนวคิดสำคัญอย่าง การเติบโตก้าวหน้าในสายวิชาชีพขึ้นอยู่กับความรู้และประสบการณ์ เช่นถ้าผมเป็นหมอผ่าตัดประสบการณ์ 20 ปี แน่นอนว่าเงินเดือนของผมควรจะเยอะขึ้นมากกว่าตอนเป็นหมอผ่าตัดปีแรก ถามว่าที่เงินเดือนสูงขึ้นเพราะอะไร เพราะผมเป็นหมอผ่าตัดที่เก่งขึ้น จากหมอผ่าตัดฝึกหัดเป็นหมอผ่าตัดที่เชี่ยวชาญ เงินเดือนผมขึ้นไปตามความชำนาญที่ตนเองมี และผมจะยังคงเป็นหมอผ่าตัดจนผมเกษียณอายุ
แต่ภายใต้ระบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบันไม่ได้มีการเติบโตก้าวหน้าในวิชาชีพแบบนี้ ถ้าผมอยากโตขึ้น ผมเป็นหมออย่างเดียวไม่ได้ ผมต้องเข้าไปมีตำแหน่งทางการบริหาร ต้องเติบโตจากหมอธรรมดาไปเป็นผอ.โรงพยาบาล แล้วย้ายไปเป็นสาธารณสุขจังหวัด ก่อนจะขึ้นเป็นอธิบดีเหมือนกับข้าราชการพลเรือน เพราะฉะนั้นเราก็เลยจะเสียหมอเก่ง ๆ ไปเลยหนึ่งคนเพื่อมานั่งทำงานบริหารซึ่งตัวเองก็ไม่ได้ถูกสอนมา ซึ่งสายวิชาชีพอื่นๆ ก็เจอกับปัญหานี้ไม่ต่างกัน
ถามว่าระบบนี้มีตัวแบบที่พอจะเอามาใช้ได้ไหม ก็มีแล้ว ตอนนี้ในมหาวิทยาลัยเองต่างก็ใช้ระบบ professional career ในการจ้างงาน ถ้าให้เทียบกับสมัยก่อนอาจารย์มหาวิทยาลัยในยุคนี้ลำบากกว่าเดิม นอกจากจะเป็นระบบการจ้างงานตามสายวิชาชีพแล้ว ฐานคิดของการจ้างงานในตอนนี้ คือการจ้างงานตามผลงานและจะถูกประเมินผลเป็นประจำทุกปี มีเกณฑ์ชี้วัดที่ชัดเจน เมื่อครบรอบสัญญาก็จะมีการนับคะแนนว่าอาจารย์เหล่านี้ควรจะถูกจ้างงานต่อไปหรือไม่ ซึ่งระบบแบบนี้ก็จะส่งผลให้ทุกคนต้องสร้างผลงานที่ดี แตกต่างไปจากระบบเดิมที่แค่สอนไปเรื่อย ๆ ก็อยู่ได้ไปจนถึง 60 ปี แต่ภายใต้ระบบใหม่เราทำแบบนั้นไม่ได้อีกแล้ว ฉะนั้นนอกเหนือจากการมีระบบ professional career เราก็จำเป็นต้องมีระบบการประเมินผลงานที่เป็นที่ยอมรับและสอดรับกับแต่ละสายวิชาชีพ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมไม่ว่าจะเป็นในการเลื่อนขั้น หรือ เลื่อนเงินเดือนต่างๆ ด้วยเช่นกัน
วันที่พนักงานราชการลุกขึ้นสไตรค์! วันนั้นรัฐจะทำอย่างไร
ผมคิดว่า เรากำลังแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ไม่พอเราอาจจะกำลังสร้างปัญหาใหม่เพิ่มอีกด้วย เพราะไม่ว่าจะตำแหน่งพนักงานราชการก็ดี ตำแหน่งพนักงานจ้างก็ดี พวกเขาไม่ได้เป็นแรงงานไร้ทักษะฝีมือ ทุกคนต่างถูกจ้างมาทำงานในสายงานหลัก มีเนื้องานไม่ต่างจากข้าราชการบรรจุใหม่ สมมติถ้าเกิดวันนึงพนักงานราชการทั้งหมดเรียกร้องให้มีการปรับฐานะขึ้นมา รัฐจะมีเงินมากพอมาจ่ายคนเหล่านี้ในระยะยาวหรือไม่ ตอนนี้รัฐอาจจะมีเงินพอที่จะจ่ายเงินเดือน แต่เวลาที่พวกเขาเกษียณอายุ เงินบำเหน็จบำนาญของเขา การเบิกค่ารักษาพยาบาลของคนทั้ง 3 รุ่น ถามว่า รัฐบาลมีเงินจ่ายจริง ๆ ใช่ไหม
ฉะนั้นถ้ารัฐบาลคิดจะปรับปรุงเรื่องนี้ สิ่งแรกที่สามารถปรับได้ทันที คือการใช้ระบบการจ้างงานตามสัญญาบนฐานของการประเมิน หรือจะเป็นการจ้างงานระยะยาวก็ได้ แต่ทั้งหมดควรจะเริ่มต้นจากสายวิชาชีพที่ขาดแคลน ไม่ใช่จ้างไว้เพื่อมาเป็นลูกน้องเอาไว้สั่ง เพราะตอนนี้ระบบพนักงานราชการมันมาจากแนวคิดของการทำงานแบบระบบราชการดั้งเดิมคือการทำงานตามคำสั่ง ข้างบนสั่งมา เราก็สั่งต่อ ไม่มีลูกน้องให้สั่งก็ทำงานไม่ได้
ผมคิดว่าคำถามใหญ่ของพนักงานราชการคือ เราจ้างเขาเพื่ออะไรและเราจ้างคนชนิดไหนมาทำงาน ส่วนใหญ่เรายังคิดบนฐานของการจ้างคนมาทำงานธุรการ เราไม่ได้จ้างสายวิชาชีพมาทำงานตามวิชาชีพของเขา บางคนจบดี ๆ ด้วยซ้ำไป แต่เพราะไม่รู้จะทำอะไรก็ไปจบอยู่ที่พนักงานราชการ ซึ่งระบบแบบนี้มันทั้งจ้างคนผิดประเภทและไม่ได้เกื้อกูลต่อการสร้างคนให้คนเก่งขึ้น เป็นระบบที่ยังอยู่บนมโนทัศน์แบบเดิม ที่คิดว่าข้าราชการก็คือข้าราชการเหมือนกันหมด ทำได้ทุกอย่าง ผมว่าเราต้องคิดใหม่
โจทย์ใหญ่ในตอนนี้ไม่ใช่จำนวนแล้ว เรามีคนอยู่ในระบบตามสมควร แต่คำถามคือเราจะบูรณาการคนที่เหลืออยู่ในระบบได้มากน้อยแค่ไหน ที่เขาจะสามารถทำงานได้จริง ไม่ใช่เบี้ยหัวแตกอย่างทุกวันนี้ สรุปแบบนี้ดีกว่า