ตลอด 10 ปีแห่งความขัดแย้งทางการเมือง มีคดีความเป็นจำนวนมากตลอดการเคลื่อนไหวในรอบทศวรรษนี้ อย่างน้อย ๆ ตามบันทึกของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนมีคดีความความที่เกิดจากแรงจูงใจทางการเมืองมากกว่า 4,000 คดี สูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่มีคดีความทางการเมืองเกิดขึ้น ในช่วงที่มีรัฐบาลจากการยึดอำนาจโดยคณะรัฐประหาร และรัฐบาลจากการเลือกตั้ง
สิตานัน สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ พี่สาววันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์(ผู้ลี้ภัยทางการเมืองที่ถูกบังคับสูญหาย) ผู้ร่วมเวทีเสวนาเล่าว่า ตนเองในฐานะพี่สาวของบุคคลที่อุ้มหาย และออกมาเรียกร้องต่อทางการของรัฐบาลไทยทุกช่องทาง ทุกหน่วยงาน แต่แทบไม่ได้รับการดำเนินการ และความคืบหน้าตลอดสามปีที่ผ่านมา ตนเลยไม่ขอพูดถึงรัฐบาลก่อนหน้าในสมัยรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาว่าพบเจอกับอะไรบ้างจากการออกมาเคลื่อนไหวในประเด็นนี้
“ขณะที่รัฐบาลอ้างเรื่องความเป็นประชาธิปไตย มาจากการเลือกตั้งของประชาชน” ตนก็ยังถูกคุกคามและสกัดกั้นไม่ต่างจากรัฐบาลก่อน สิตานัน เล่าถึงช่วงแรกของการกลับจากโรงพยาบาลตำรวจมาพักฟื้นที่บ้านของอดีตนายกทักษิณ ชินวัตร หลังจากครบกำหนดมาตรการการคุมขังของทางราชทัณฑ์ ซึ่งขณะนั้นมี ฯพณฯ ท่าน ฮุนเซ็น ประมุขสูงสุดของรัฐบาลกัมพูชา มาเยี่ยมอดีตนายกทักษิณถึงบ้านจันทร์ส่องหล้า ในย่านจรัญสนิทวงศ์ สิตานันตัดสินใจเดินทางไปเข้าดักรอ เพื่อพบ ฯพณฯ ท่านฮุนเซ็น เพื่อสอบถามความคืบหน้าถึงการหายตัวไปของวันเฉลิมในเขตประเทศกัมพูชา แต่ถูกสกัดกั้นโดยเจ้าหน้าที่รัฐ “เราไปไม่ถึงจันทร์ส่องหล้า มีตำรวจหลายกองร้อย ดักจับ” สิตานันได้ถามเหตุผลของการปิดล้อมแต่ทางเจ้าหน้าที่ไม่สามารถให้คำตอบได้ “ มีคำถามว่ามาจับทำไม เขาบอกว่าไม่ได้จับ ล้อมเราไม่ต่ำกว่า 30 นาย และไม่อนุญาตให้ไปไหน แบบนี้หมายความว่ากักขังหน่วงเหนี่ยวไหม” ซึ่งขณะนั้นได้มีพล.ตร.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจในขณะนั้นได้เข้าพบสิตานัน และกล่าวกับเธอว่า “เราเป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศ” สิตานันเล่าว่าตัวเองก็สงสัยว่าผู้หญิงตัวคนเดียวจะเป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศได้อย่างไร?
สิตานันทิ้งท้ายว่า เธอขอยกเพียงตัวอย่างเดียวในสมัยรัฐบาลปัจจุบันที่ทำให้เธอรู้สึกว่า “แม้จะเปลี่ยนรัฐบาลไปแล้ว แต่กลับไม่รู้สึกว่าอำนาจทางการเมืองเปลี่ยนไปเลย”
นภสินธุ์ ตรีรยาภิวัฒน์ ผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ปี 63 หรือที่หลายคนอาจจะรู้จักในนามสายน้ำจากกลุ่มการเคลื่อนไหวทะลุวัง เล่าถึงตอนหนึ่งในเวทีเสวนาว่า เขาเจอการกระทำจากรัฐทุกรูปแบบ หลังจากออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง “โดนจับขัง โดนกระสุนยาง โดนตำรวจกระทืบ” ที่ยังไม่โดนวันนี้ คือ “ยังไม่ติดคุก” แต่เขาบอกว่าสิ่งที่เจ็บปวดที่สุดในระยะหลังมานี้ ไม่ใช่ว่าตัวเองโดนดำเนินคดีจากการเคลื่อนไหวเป็นจำนวนมาก แต่เขาเสียใจที่สุด “ที่ต้องเห็นเพื่อน ๆ หลายคนทยอยกันเข้าคุก ไม่ได้ประกัน และเสียชีวิตจาการโดนคุมขัง” ซึ่งสายน้ำกล่าวว่า แม้ว่าราชทัณฑ์ไม่มีส่วนต่อการพิจารณาคดีในกระบวนการยุติธรรม แต่เขาก็เรียกร้องให้ราชทัณฑ์แสดงความรับผิดชอบต่อเรื่องนี้
สายน้ำเล่าว่า ในช่วงงานศพของคุณบุ้ง เนติพร เสน่ห์สังคม ที่เสียชีวิตระหว่างการประท้วงอดอาหารในเรือนจำ(ทัณฑสถานหญิงกลาง) พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ในฐานะรัฐมนตรีประจำกระทรวงยุติธรรม ได้ไปร่วมงานศพสวดอภิธรรมศพเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2567 ตนและเพื่อนได้สอบถามว่าทางราชทัณฑ์จะให้ภาพกล้องวงจรปิดขณะเกิดเหตุการณ์เสียชีวิตที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์หรือไม่ พ.ต.อ.ทวี รับปากต่อหน้าสื่อมวลชนว่าสามารถเข้าไปติดต่อรับได้ในวันที่ 20 พฤษภาคม แต่เมื่อวันศุกร์ที่ 24 พฤษภาคมที่ผ่านมา ตนได้เข้าไปติดต่อที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์อีกครั้ง กลับได้คำตอบว่า “ไม่สามารถให้ได้ เนื่องจากเป็นเรื่องของความมั่นคง” สายน้ำกล่าวในเวทีว่า “ประเทศนี้จะอะไรนักหนากับความมั่นคงจนไม่เห็นคุณค่าของความเป็นมนุษย์ของคนอื่น” ซึ่งในช่วงท้ายของเวที คุณสมบูรณ์ ม่วงกล่ำ ที่ปรึกษาประจำตัวรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมตอบในประเด็นนี้ของสายน้ำว่า “โดยส่วนตัวที่รับทราบมาว่าทางราชทัณฑ์ไม่มีเจตนาที่จะปกปิดแต่อย่างใด แต่คงติดเรื่องการเบลอหน้าของคนอื่นที่อยู่ในเหตุการณ์และไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง เพราะเนื่องด้วยกฎหมาย PDPA ในปัจจุบัน”
4,300 คดี จากคดีการเมือง 400 คดีเป็นคดีในฐานความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 แม้จะเป็นจำนวนไม่มากจากคนที่โดนคดี แต่เมื่อดูจากจำนวนผู้ถูกคุมขัง กลับพบว่า ม.112 จะเป็นส่วนใหญ่ –
พูนสุข พูนสุขเจริญ ทนายเมย์ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนกล่าว
เธอเริ่มต้นด้วยการเปิดคำถามว่า 10 ปีที่ผ่านมา กระบวนการยุติธรรมอยู่ตรงไหน “ไม่อยู่จุดไหนเลย” เพราะเรายังมีการดำเนินคดีที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน ในช่วง 5 ปีแรก จะอยู่ภายใต้ยุคคสช.ที่เต็มไปด้วยการใช้กฎหมายพิเศษ อย่างมาตรา 44 และยังมีการใช้กฎหมาย อื่นที่นอกเหนือจากม.44 อีกด้วย ลักษณะของการใช้อำนาจจะอยู่ในลักณะดิบเถื่อน “เพราะมีพลเรือนที่ถูกดำเนินคดีในศาลทหารถึง 2,400 คน” ทนายเมย์เล่าต่อว่า ความขัดแย้งจนเป็นเหตุให้นำไปสู่การรัฐประหารในปี 2557 ที่ชอบพูดกันว่า มาจากเหตุผลว่านักการเมืองทุจริต แต่เมื่อกลับไปย้อนดูการดำเนินคดีในช่วงนั้นกลับพบว่า “นักการเมืองโดนขัง 7 วัน ลงเอ็มโอยูทำข้อตกลงกับทหารเสร็จแล้วก็กลับบ้าน แต่ประชาชนที่ออกมาคัดค้านการรัฐประหาร ถูกกดำเนินคดียาว ๆ”
ทนายเมย์ ยอมรับว่า แม้จะผ่านการเลือกตั้งในปี 2562 เป็นต้นมา แต่แนวโน้มการดำเนินคดีกับประชาชนก็ไม่ได้ลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ ในปี 2561 จะพบว่ารัฐยุติการบังคับใช้กฎหมายในม.112 ไปเสียดื้อ ๆ
บางคดีโดนฟ้องเป็น 10 กรรม แต่ก็ยกฟ้องและกลับไปฟ้องในฐานความผิดตามม.116 และพ.ร.บ.คอมฯ แทน ในห้วงเวลาปีกว่า ๆ ของช่วงนั้น เราจึงไม่พบการบังคับใช้กฎหมายมาตรานี้เลย
“ตอนนั้นหยุดดำเนินคดีได้ ทำไมตอนนี้ถึง ทำแบบนั้นไม่ได้”
ปี 2563 หลังจากพลเอกประยุทธ์ มีแถลงการณ์ว่าจะบังคับกฎหมายทุกหมวดทุกมาตรา เราจึงเห็นการบังคับใช้ ม.112 มากที่สุดอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน อย่างปัจจุบัน คนที่ถูกตัดสินคุมขังกว่า 42 คน 25 คน มาจากคนที่โดนคดี 112 ทนายเมย์ย้ำว่า นี่เกินครึ่งกว่าฐานความผิดอื่นไปแล้ว
“ไม่ใช่แค่เรื่องของกองทัพ ทหาร อำนาจนอกระบบ แต่หนึ่งในนั้นคือ ศาลด้วย” ที่มีส่วนสำคัญต่อการการเปลี่ยนผ่านในกระบวนการยุติธรรมตลอด 10 ปีที่ผ่านมา เพราะตลอดการดำเนินคดี โดนเฉพาะฐานความผิดตามม.112 กระบวนการที่เกิดกับผู้ต้องหา “คือการจับ ๆ ปล่อย ๆ และไม่มีหลักเกณ์ที่เป็นมาตรฐานแน่ชัดของการต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรม” มีบางช่วงที่สามารถให้ประกันต่อสู้คดีนอกเรือนจำ และมีบางช่วงที่ไม่ให้ประกันเลย
“ปี 2563- 2564 มีผู้เสียหาย 19 ราย ที่เป็นจำเลยและศาลยกฟ้อง กรมคุ้มครองสิทธิ์เยียวยาผู้เสียหายเป็นเงินไปแล้วเกือบห้าแสนบาท”
สมบูรณ์ ม่วงกล่ำ ที่ปรึกษาประจำตัวรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม ผู้ร่วมเสวนาในฐานะตัวแทนจากกระทรวง กล่าวว่ากระทรวงยุติธรรมกำลังทำหลายหน้าที่ และมีหลายช่องทางเพื่อเยียวยาและคุ้มครองสิทธิของประชาชน “อย่างพ.ร.บ.กองทุนเยียวยากระทรวงยุติธรรม ที่ขออนุมัติงบประมาณแผ่นดินไปปีละเกือบ 70 ล้าน แค่ก็ไม่เคยพอสำหรับการเยียวยาประชาชน” หรือพ.ร.บ.คุ้มครองพยาน ที่วันนี้ขยายความหมายของพยานออกกว้างกว่าเดิม
สมบูรณ์ ม่วงกล่ำ ที่ปรึกษาประจำตัวรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม
คำถามของประชาชนคือ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพทำอะไรไปแล้วบ้าง
สมบูรณ์ ตั้งคำถามต่อกระทรวงต้นสังกัดว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมา กระทรวงยุติธรรมได้ตั้งเจ้าหน้าที่ที่ไม่เปิดเผยต่อสาธารณะให้เข้าพื้นที่ที่มีการชุมนุมของประชาชน เพื่อสืบหาข้อเท็จจริงของเหตุการณ์และรายงานต่อผู้บังคับบัญชาทุกครั้ง ตลอดความขัดแย้งตั้งแต่หลังรัฐประหารปี 2549 กระทรวงได้ช่วยเหลือด้านการเงินสำหรับผู้ถูกคดี 201 ราย เป็นเงิน 63 ล้านบาท ถ้ามีผู้เสียหายในลักษณะที่เข้าเกณฑ์ของกระทรวง ทางกระทรวงและกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพก็จะดำเนินการให้
ในเวทีเสวนามีตัวแทนจากรัฐสภา นิกร จำนง ในฐานะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม กล่าวในฐานะตัวแทนของประธานกรรมาธิการ หลังจากผู้จัดงานเสวนาได้เชิญประธานกรรมาธิการและท่านติดภารกิจอื่น
นิกร พุ่งเป้าไปถึงการพูดเกี่ยวกับมาตรา 112 ที่ดูเหมือนจะเป็นใจกลางของเวทีเสวนาในวันนี้ไปแล้ว รวมถึงเป็นใจกลางของความขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบันด้วย “ทุกวันนี้ที่กำลังเกิดขึ้นอยู่กับ 112 เป็นปัญหาเพราะ ตัว 112 หรือกระบวนการที่บังคับใช้ 112 คือวิธีพิจารณาความกฎหมายอาญาที่มีต่อมาตรา 112 ทั้งตำรวจ อัยการ ศาล” หากสิ่งที่เป็นปัญหาอยู่ในขณะนี้คือวิธีการพิจารณาความ เราก็ต้องมุ่งไปที่การแก้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความคดีอาญา “ไม่ใช่การแก้ไขหรือยกเลิกที่ตัว 112” เพราะนั่นจะทำให้เราเดินผิดทาง และทำให้ความขัดแย้งในประเด็นนี้ไม่สิ้นสุด โดยเฉพาะนี่ยิ่งเป็นประเด็นที่อ่อนไหวของสังคมไทยอยู่อีกด้วย และฐานะที่ตนเป็นคณะกรรมาธิการฯ ได้รับทราบเรื่องราวจากเวทีเสวนาในครั้งนี้แล้ว ตนจะนำเรื่องทั้งหมดไปรายงานต่อประธานกรรมาธิการ ซึ่งในฐานะกรรมาธิการก็รับปากว่าไม่สามารถทำอะไรได้มาก เพราะรายงานสรุปจากคณะกรรมาธิการ ไม่ได้มีผลบังคับใช้ทางกฎหมาย ซึ่งนั่นขึ้นอยู่กับรัฐบาลและรัฐสภาว่าจะหาทางออกต่อเรื่องนี้อย่างไร
นิกร จำนง กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม
นิกรทิ้งท้ายว่า ท้ายที่สุดของปัญหาใหญ่ที่เรากำลังเจออยู่ในขณะนี้ มีส่วนสำคัญมาจากรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ที่ไม่เป็นธรรมเรื่องการระบุเรื่องความมั่นคงอย่างไม่มีเหตุผล และสามารถตีความได้กว้าง จนทำให้เจ้าหน้าที่ทุกระดับต้องยึดเรื่องความมั่นคงเป็นสาระหลัก และกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน
ส่วนหนึ่งจากเวทีเสวนาหัวข้อ “6 ตุลาถึงม็อบ 63 : บทบาทของรัฐต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนจากอดีตถึงปัจจุบัน” โดยมูลนิธิผสานวัฒนธรรมร่วมกับองค์กร Asia Justice And Right (AJAR) เผยแพร่งานวิจัยและข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย จากผู้ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงทางการเมืองระหว่างปี พ.ศ.2557-2566 ในเวทีเสวนาฯ ประกอบด้วย ตัวแทนประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการบังคับใช้กฎหมาย ภาคประชาชน กรรมาธิการจากรัฐสภา และตัวแทนจากกระทรวงยุติธรรม