เคยรู้สึกชีวิตไม่มีความสุขบ้างไหม
เคยไหมที่พูดกับตัวเองว่า ฉันเหนื่อยมาก ๆ มาก ๆ และสุด ๆ แล้ว
เคยไหมที่รู้สึกว่า ฉันกำลังตรากตรำทำงานราวกับช้างศึก เคยไหมที่เผลอเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับเพื่อนร่วมงานว่า… ทำไมคนแบบฉันถึงไม่ประสบความสำเร็จแบบเขา ทำไมฉันไม่เก่งแบบเขา ทำไมฉันถึงทำได้แค่นี้
เคยไหม…
ในวัย 20 ตอนปลาย ช่วงปีสองปีมานี้มีน้อง ๆ ที่ฉันรู้จัก มักถามฉันด้วยคำถามเหล่านี้ พี่เคยตื่นมาแล้วรู้สึกแย่ หรือ ตื่นมาแล้วไม่อยากมาทำงานไหม ? ฉันตอบไปแบบฉับพลันโดยใช้เวลาเพียงระยะห่างของลมหายใจ “ไม่เคยนะ”
มันเป็นคำตอบที่ตกตะกอนอยู่ในถ้วยแก้วแห่งความรู้สึก แต่เมื่อถูกถามต่อว่า ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ฉันกลับไม่มีคำตอบที่ลึกซึ้งมากพอที่จะสามารถพาผู้คนที่ทักถาม ดำดิ่งสู่ใจกลางแก่นแท้ในความหมายของชีวิต แต่เพราะตอบคำถามเหล่านั้นไม่ได้อย่างท่องแท้ มันจึงเป็นสิ่งที่วนเวียนในหัวของฉันมาตลอดราวสองปีกว่า
และถ้าคุณเป็นแบบฉัน หรือคุณอาจเป็นเหมือนบรรดาผู้คนที่แวะเวียนมาถามคำถามเรื่องความเบื่อหน่ายในชีวิต ความเบื่อหน่ายในหน้าที่การงานที่ทำ หรือ ถ้าคุณรู้สึกว่าต้องใช้พลังทั้งหมดที่มีในแต่ละวัน ดึงตัวเองให้ลุกขึ้นจากที่นอนยามเมื่อแสงแดดส่องถึงปลายเตียง ถ้าคุณเป็นแบบนั้น…
ในบทที่ 5 ของหนังสือที่ว่าด้วยเรื่องการทบทวนความล้มเหลวน่าจะชวนคุณให้ลุกขึ้นจากเตียงยาวเช้าได้ง่ายขึ้น เพราะมีใจความท่อนหนึ่งเขียนไว้ว่า เลิกบอกตัวเองว่าคนอื่นกำลังเฝ้าดูและเฝ้ารอให้เราล้มเหลว เพราะจริง ๆ แล้ว ไม่มีใครสนใจหรอก..นอกจากตัวเองที่ตัดสินตัวเอง ผู้เขียนเปรียบเปรยประเด็นนี้เอาไว้กับเรื่องการนั่งสมาธิในวัดแห่งหนึ่งที่โตเกียว
เธอบอกว่า การนั่งสมาธิเป็นช่วงเวลาที่ขาของเธอเมื่อยและเป็นเหน็บชายุบยิบ เธอแอบขยับตัวนิดหนึ่ง แต่มันทำให้เกิดเสียงดังกุกกักในหัวของเธอมีเสียงดังขึ้นว่า ทุกคนในห้องกำลังมองมาอย่างไม่ชอบใจที่ถูกกวนสมาธิ เธอหยีตาไปรอบ ๆ ซึ่งพบว่าไม่มีใครมองเธออยู่เลย ไม่มีใครสนใจว่า เธอกำลังทำอะไร ณ ตรงนั้นมีเพียงเธอคนเดียวที่ตัดสินตัวเอง
เมื่ออ่านท่อนนี้ทำให้ฉันอดคิดถึงโรคภัยสมัยใหม่ในช่วงไม่กี่สิบปีที่คนจำนวนไม่น้อยต้องพาตัวเองไปปรึกษากับจิตแพทย์ อดคิดไม่ได้ว่าคงมีคนหนุ่มสาวในยุคหลังมานี้จำนวนไม่น้อย อยู่กับโลกที่พวกเราเชื่อว่า มีคนจับจ้องส่องชีวิตหรูหราของเแต่ละคนอยู่เสมอ
ตรงกันข้าม เเพราะอันที่จริงแล้ว คนรอบข้าง/คนรอบตัว อาจไม่มีใครมองหรือจับจ้องเราอยู่จริงๆ (เว้นแต่รัฐบาล) อาจมีเพียงตัวเราที่หลงคิดว่าอยู่ในแว่นสายตาของคนอื่น และเมื่อคนจำนวนมากคิดเห็นตรงกันว่าต้องมีคนส่องชีวิตฉันอยู่แน่ ๆ จึงเกิดการแข่งขันประชันชีวิตดี ๆ ในสังคมบริโภคนิยม แต่ถ้าเราถอยมาโฟกัสที่ตัวเอง เพียงตัวเอง (ตัวเรา) เราก็มีโอกาสอย่างมากที่จะเจอสิ่งที่ดีกว่าการนั่งแคร์สายตาคนอื่นต่อตัวเรา
แต่ถึงกระนั้นก็มิได้แปลว่า จะมองเฉพาะตัวเองจนลืมความเคลื่อนไหวรอบตัว ภูมิปัญญาแบบ วะบิ ซะบิ มิได้บอกว่าให้ เธอ หรือ ฉัน ยึดตัวเองเข้าไว้ที่ศูนย์กลางแห่งจักรวาล แต่หัวใจของภูมิปัญญานี้เต็มไปด้วยเส้นสายที่โยงใยเชื่อมร้อยตัวเราเองกับธรรมชาติ ผู้คนรอบตัว และหัวใจของเราตัวเอง
วะบิ ซะบิ คือ กุญแจไขกล่องความสุขที่คุณตามหา
ช่วงเวลาที่ตามหาเป้าหมายของชีวิต หรือ ขุดขุมทรัพย์แห่งแรงบันดาลใจ อิคิไกคือคำตอบ แต่เมื่อไหร่ที่เจ็บปวด ผิดหวัง หรือมีร้อยราวในช่วงวัยและความสัมพันธ์ จงใช้ คินสึงิ ประสานร่องรอยเหล่านั้น เพื่อตั้งรูปทรงขึ้นมาใหม่ ถ้าเมื่อไหร่ชีวิตกำลังมองไม่เห็นความสุขข้างหน้า เหมือนกับว่า เราขับรถขึ้นยอดดอยในหน้าหนาวแล้วเจอกับหมอกอันหนาทึบ เมื่อนั้นจงหยิบ วะบิ ซะบิ ขึ้นมา แล้วใช้เวลาทบทวนชีวิตตรงหน้ากับตัวอักษรทั้ง 431 หน้าในหนังสือเล่มนี้ เพียงชั่วขณะ คุณอาจรับรู้ได้ว่า ความสุขอยู่ตรงนี้ ตรงที่เรียกว่า ปัจจุบันขณะ
แต่บอกเลยว่า การเดินทางค้นหาความสุขของแต่ละคนตามคำถามที่เฝ้าถามคุณตลอดการผจญภัยในหนังสือเล่มนี้ มันไม่ง่าย!!! แม้ฉันเองก็ยังอาจไปไม่ถึงแก่น ของ วะบิ ซะบิ ภูมิปัญญาที่ฝั่งลึกในณี่ปุ่น แต่เชื่อเถอะว่า ในจังหวะเวลาที่โลกแห่งบริโภคนิยมบีบบังคับให้เรา เร่ง-รีบ การดึงตัวเองให้ช้าลงมาเพียงเสี้ยววินาทีจะทำให้คุณรู้จักตัวเองมากขึ้น ฉันไม่ได้หมายถึงเฉพาะเรื่องการงานนะ แต่หมายถึงความสุขและความงามระหว่างเส้นเรื่องของชีวิตด้วย
วะบิ ซะบิ คือ การตอบสนองด้วยปัญญาตามความงาม
ผู้เขียนเล่าว่า โดยเนื้อแท้แล้วประสบการณ์แห่ง วะบิ ซะบิ คือการตอบสนองด้วยปัญญาตามความงาม ที่สะท้อนถึงธรรมชาติที่แท้จริงของสรรพสิ่งตามที่มันเป็น นั่นคือ ความงามที่เตือนใจให้เราระลึกว่าสรรพสิ่งนั้นไม่เที่ยง ไม่สมบูรณ์แบบ และไม่เสร็จสิ้น ประสบการณ์แห่ง วะบิ ซะบิ จึงรับรู้ได้ง่ายที่สุดเมื่อเราเห็นวัสดุตามธรรมชาติ นี่จึงเป็นเหตุผลว่า เราควรต้องใช้เวลาอยู่กับธรรมชาติ เพื่อเรียนรู้และเข้าใจหลักการของ วะบิ ซะบิ ธรรมชาติจะทำให้เราระลึกได้ว่า เราเป็นส่วนหนึ่งของบางสิ่งที่มหัศจรรย์
เมื่อพบ-ฝึกฝน และเฝ้าตอบตัวเอง ตามคำถามที่มีใน 8 บทของหนังสือเล่มนี้ คุณน่าจะได้พบกระจกส่วนตัวที่ใช้ส่องหาความสุขและความหมายของวันธรรมดาที่เคยไร้ค่า แต่หลักการของ วะบิ ซะบิ ผูกโยงและสอดคล้องอยู่กับธรรมชาติ ระหว่าทางจึงควรค่าอย่างยิ่งที่จะดึงตัวเองให้อยู่ใกล้ชิดกับธรรมชาติมากที่สุด อาจเป็นต้นไม้ต้นเล็กบนโต๊ะทำงาน มุมสวนเล็ก ๆ แบบส่วนตัวบนตึกแนวตั้ง หลุมออกซิเจนกลางเมืองอย่างสวนสาธารณะใกล้รถไฟฟ้า หรืออาจเป็นป่าใหญ่ที่ไหนสักแห่งบนโลกใบนี้ ทำแบบนั้นจะทำให้คุณเข้าใกล้หลักการของ วะบิ ซะบิ ได้ง่ายขึ้น
คนณี่ปุ่นซึมซับหลักการเหล่านี้เข้าสู่วิถีชีวิตมานานถึงปัจจุบัน มันแทรกอยู่ในโตเกียว ในศาลเจ้า วัด พิธีชงชา หรือแม้แต่การ์ตูนจากสตูดิโอ Ghibli ที่ฉันชื่นชอบ จึงไม่แปลกที่สังคมณี่ปุ่นซึ่งเต็มไปด้วยการแข่งขัน การเติบโต ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและนวัตกรรม จะยังสามารถคงความสมดุลของมนตร์เสน่ห์แห่งความเนิบช้าน่าค้นหา รวมถึงคงมวลรวมเรื่องความเป็นมิตรเป็นธรรมชาติของคนณี่ปุ่น และดึงดูดผู้คนต่างถิ่นให้หลั่งไหลเดินทางไปที่นั่น
อย่างไรเสียการตามหาความหมายของ วะบิ ซะบิ ในหนังสือเล่มนี้ ก็ยังคงมีความท้าทายในบริบทของสังคมโลก และ สังคมไทย เหมือนท่อนหนึ่งของหนังสือที่ว่า
ความท้าทายอันยิ่งใหญ่ในยุคสมัยของเราคือ การเรียกร้องให้กลับคืนสู่ธรรมชาติ ไม่ใช่ถอยห่างออกมาเรื่อย ๆ แบบนี้
วะบิ ซะบิ แด่ความไม่สมบูรณ์แบบของชีวิต : วุฒิชัย กฤษณะประกรกิจ แปล
หรือประโยคนี้กำลังบอกเตือนเราว่า หากหลงระเริงในวังวนของยุคสมัยการบริโภคนิยมจนล้นเกินพอดี ความสุขควรมีจะหายไป แม้เพียงความสุขเล็ก ๆ ก็อาจยากที่จะตามหา
ขอบคุณ คุณวุฒิชัย กฤษณะประกรกิจ ที่แปลหนังสือเล่มนี้ให้งดงามอย่างที่ควรเป็น ฉันหลงใหลในตัวอักษร น้ำเสียง และวลีที่ร้อยเรียงอย่างสวยงามของเขา
ขอบคุณ คุณเบท เคมป์ตัน ผู้ที่ออกเดินทางจากบ้านไปฝังตัวและใช้ชีวิตในดินแดนอันทรงพลัง และถ่ายทอดมนตร์เสน่ห์อันลี้ลับของณี่ปุ่นในแบบที่คนต่างถิ่นสามารถเข้าถึง
PlayRead: คอลัมน์รีวิวหนังสือประจำ Decode.plus เมื่อกองบรรณาธิการขอ add หนังสือ (ที่อยากอ่าน) ขึ้นไว้บนเพลย์ลิสต์ พบกับหนังสือหลากหลายสไตล์ หลากหลายวิธีการเล่าเรื่องที่เชื่อมร้อยกับชีวิตและสังคม แวะมาหาอ่านกันได้ทุกเย็นวันพฤหัสบดี