สนามเล็ก ๆ ของเยาวชน - Decode
Reading Time: 3 minutes

ชาวบ้าน ชาวช่อง

รศ.ดร.บุญเลิศ วิเศษปรีชา

หากวันไหนผมกลับบ้านช่วงหัวค่ำ ขณะขับรถเข้าหมู่บ้าน (จัดสรร) ผมมักจะสวนทางกับกลุ่มวัยรุ่นราวสิบกว่าคนขับรถมอเตอร์ไซค์สวนทางออกไป พวกเขาไม่ใช่ลูกหลานของคนในหมู่บ้านที่ผมอยู่ แต่ชวนกันมาเตะฟุตบอลในสนามปูนของหมู่บ้านที่มีขนาดราว ๆ สนามบาสเกตบอล พอเลิกเล่นก็ขับรถกลับออกไป

ความคิดแรกที่เข้ามาในหัวผมก็คือ ทำไม รปภ. หรือนิติบุคคลของหมู่บ้าน จึงไม่เข้มงวดทั้ง ๆ ที่เห็นได้ชัดว่า วัยรุ่นกลุ่มนี้ไม่ใช่ลูกหลานของคนในหมู่บ้าน แต่ยังให้มา “แย่ง” พื้นที่ส่วนกลางของคนในหมู่บ้าน

ผมนึกภาพไปถึงเด็กในหมู่บ้านที่แค่อยู่ในวัยชั้นประถมซึ่งเคยเห็นเล่นในสนามของหมู่บ้าน พวกเขาคงถูกวัยรุ่นจากนอกหมู่บ้านเข้ามา “แย่ง” ที่เล่นฟุตบอลไปแล้ว

แต่ความคิดแรกของผมก็ถูกคัดค้านด้วยมุมมองอีกด้านของตัวเองว่า ก็ดีเหมือนกันที่หมู่บ้านเราใจกว้าง ให้เด็กนอกหมู่บ้านมาเล่นในพื้นที่ส่วนกลาง พอมองรายละเอียดอีกที ก็เป็นไปได้ว่า เด็กที่เราเคยเห็นเล่นบอล ก็กำลังเล่นกับกลุ่มนักบอลจากนอกหมู่บ้านด้วย

เรื่องสนามเล็ก ๆ ในหมู่บ้าน ชวนให้ผมนึกเห็นประเด็น การแบ่งเขาแบ่งเรา แบ่งชั้นระหว่างคนใน/คนนอกหมู่บ้าน และพื้นที่ออกกำลังกายสำหรับเยาวชนที่หายากขึ้นทุกวัน  

หมู่บ้านจัดสรร: gated community ในบริบทสังคมไทย  

ชนชั้นกลางในเมืองไทยคุ้นเคยกับการอยู่ในหมู่บ้านจัดสรรจนแทบไม่ตระหนักว่า หมู่บ้านจัดสรรเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนของการกีดกันพื้นที่บนฐานของความแตกต่างทางชนชั้น ระหว่างคนที่สามารถเข้าถึงบ้านในหมู่บ้านจัดสรรได้ กับคนที่มีกำลังซื้อจึงเข้าไม่ถึง ในแวดวงวิชาการมานุษยวิทยาเมืองต่างประเทศ โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา เซทา โลว์ (Setha Low) นักมานุษยวิทยาเมืองจากมหาวิทยาลัยเมืองนิวยอร์ค (City University of New York – CUNY) ชี้ว่า การขยายตัวของหมู่บ้านล้อมรั้ว (gated communities) เป็นตัวแทนของการกีดกันทางชนชั้น ความรู้สึกถึงความหวาดกลัวคนต่างชนชั้นและความไม่ปลอดภัยในสังคมเมือง ทำให้ที่มีกำลังทรัพย์สูงเลือกที่จะอาศัยอยู่ในหมู่บ้านล้อมรั้ว ที่มีทั้งพนักงานรักษาความปลอดภัยและกล้อง CCTV. [i] ต่างจากวิถีของเมืองในสังคมอเมริกันยุคก่อนหน้านี้ ที่บ้านเรือนส่วนใหญ่ไม่มีรั้วบ้าน แม้แต่ละย่านจะบอกสถานะทางชนชั้นของคนในย่านนั้น แต่ย่านคนรวยก็ไม่ได้กีดกันคนนอกไม่ให้เดินผ่านหน้าบ้านตัวเอง เหมือนหมู่บ้านล้อมรั้ว

ไม่เพียงแต่ในสหรัฐอเมริกา ประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูงอย่างประเทศบราซิล[ii] หมู่บ้านล้อมรั้วที่มีระบบรักษาความปลอดภัยแน่นหนาก็เป็นสัญลักษณ์ของกีดกันทางชนชั้น การเข้าออกหมู่บ้านล้อมรั้วเป็นไปอย่างเข้มงวด บางแห่งถึงกับแยกประตูระหว่างผู้อยู่อาศัยในบ้านกับพนักงานที่เข้ามาทำงานในหมู่บ้าน

ครั้งหนึ่งมีเพื่อนอาจารย์ชาวญี่ปุ่นมาเก็บข้อมูลที่เมืองไทย แล้วแวะมากรุงเทพฯ ผมจึงชวนให้มาพักค้างที่บ้านผม เมื่อผมขับรถถึงหน้าหมู่บ้าน อาจารย์ท่านนี้พูดกับผมด้วยความแปลกใจว่า “บุญเลิศก็ทำวิจัยเรื่องคนไร้บ้าน และก็เป็นคนง่าย ๆ นึกไม่ถึงว่า บุญเลิศ จะมีบ้านอยู่ใน gated community” สะท้อนให้เห็นว่า ทัศนะของอาจารย์ชาวญี่ปุ่นมองว่า หมู่บ้านจัดสรรเป็นสัญลักษณ์ของการถือตัวและรังเกียจคนต่างชนชั้น

ในตอนนั้นผมตอบอาจารย์ท่านนั้นไปว่า มนุษย์เงินเดือนส่วนใหญ่ในไทยซึ่งไม่มีบ้านที่ดินตกทอดเป็นมรดก เมื่อต้องหาบ้านของตัวเองก็มักมาหาซื้อบ้านในหมู่บ้านจัดสรรเพราะสะดวกกว่า ไปหาซื้อที่ดินแล้วปลูกบ้านเอง แต่ถึงกระนั้น ผมก็ยอมรับว่า หมู่บ้านจัดสรรนั้นมีลักษณะกีดกันทางชนชั้นไม่มากก็น้อย ดังที่หมู่บ้านจัดสรรต่างโฆษณาข้อเด่นของหมู่บ้าน เช่น พื้นที่ออกกำลังกาย สวนหย่อม ทะเลสาบ ไปจนถึงความปลอดภัย ไม่ใช่ขายแค่ตัวบ้านเท่านั้น

อย่างไรก็ดี เมื่อนึกถึงเรื่องวัยรุ่นต่างหมู่บ้านเข้ามาเตะบอลใช้พื้นที่ส่วนกลางของหมู่บ้านแล้ว ก็น่าสนใจว่า หมู่บ้านจัดสรร ในบริบทสังคมไทยไม่ได้เป็นพื้นที่ของการกีดกันทางชนชั้นเสมอไป เพราะหมู่บ้านจัดสรรในไทยมีความหลากหลายมาก ตั้งแต่ หมู่บ้านระดับไฮเอ็น (high-end) หลังละ 10 ล้านบาทขึ้นไป หมู่บ้านราคาแพงเช่นนี้ คนในหมู่บ้านย่อมคาดหวังบริการ และการรักษาความปลอดภัยที่เข้มงวดตรวจตราคนนอกที่จะเข้าหมู่บ้าน

แต่ถ้าเป็นหมู่บ้านจัดสรรราคารอง ๆ ลงมา ความยืดหยุ่นผ่อนปรนก็มากขึ้น ไม่ได้เข้มงวดถึงขนาดต้องแลกบัตรเข้า-ออกทุกกรณี จนไปถึงหมู่บ้านจัดสรรแบบทาวน์เฮาส์ ที่แม้จะมี รปภ.หน้าหมู่บ้านแต่แทบจะไม่มีการตรวจแลกบัตรคนเข้า-ออก แถมหลายหมู่บ้านย่านรังสิตยังอนุญาตให้รถยนต์จากภายนอกผ่านทะลุเข้าและออกหมู่บ้าน เพื่อหลีกเลี่ยงการจราจรอีกด้วย

มองในแง่นี้ผมคิดว่า ความยืดหยุ่นและผ่อนปรนที่หมู่บ้านจัดสรรแห่งหนึ่งมีให้กับวัยรุ่นนอกหมู่บ้าน เหมือนว่าการกีดกันทางชนชั้นยังไม่ได้รุนแรงนักในบางหมู่บ้าน และเมื่อผมสังเกตลงไปในรายละเอียดผมจึงเข้าใจว่า วัยรุ่นนอกหมู่บ้านไม่ใช่คนที่เข้ามา “แย่ง” สนามในหมู่บ้าน เขามาเล่นกับเด็กในหมู่บ้าน บางคนอาจจะเป็นเพื่อนโรงเรียนเดียวกันหลังเลิกเรียนก็มาเตะบอล โดยไม่คิดแบ่งแยกว่า เป็นคนในหมู่บ้านหรือไม่

ขณะเดียวกันกลุ่มเยาวชนที่มาเล่นฟุตบอลในหมู่บ้านก็ไม่ได้ก่อความเดือดร้อนรำคาญให้กับผู้อื่น ไม่มีเหตุทะเลาะวิวาทระหว่างเล่นฟุตบอล ฝ่ายทีมที่นั่งรอก็ไม่ได้ส่งเสียงเชียร์ดังโหวกเหวก จึงทำให้คนในหมู่บ้านผ่อนปรนให้เยาวชนนอกหมู่บ้านมาเล่นฟุตบอลในหมู่บ้านได้  

สนามกีฬาที่ถูกทำให้เป็น “สินค้า”

ผมเป็นคนชอบเล่นฟุตบอลมาตั้งแต่สมัยเรียนชั้นประถม จนถึงมัธยมก็ยังเล่นฟุตบอลที่สนามในโรงเรียนหลังเลิกเรียนแทบทุกวัน แต่ความเปลี่ยนแปลงอย่างหนึ่งที่ผมเห็นได้ชัดเกี่ยวกับพื้นที่เล่นฟุตบอล ระหว่างสมัยที่ผมเป็นนักเรียนกับปัจจุบัน ก็คือ การขยายตัวของสนามฟุตซอลหญ้าเทียม ซึ่งต้องเสียค่าเช่าสนามรายชั่วโมงสำหรับเตะบอล สนามเล็กหน่อยค่าเช่าตกชั่วโมงละ 600-700 บาท ใหญ่หน่อยทำเลดีหน่อย ราคาไปถึง 1,500-1,700 บาท ต่อชั่วโมง นั่นหมายความว่า เยาวชนส่วนใหญ่คงไม่สามารถจ่ายค่าเช่าสนามเล่นฟุตบอลเช่นนี้ แม้จะแชร์กันออก แต่ครั้งหนึ่งย่อมไม่ต่ำกว่า 100 บาท สนามเหล่านี้จึงรองรับคนทำงานแล้ว ที่มีรายได้และนัดเพื่อนฝูงมาเตะฟุตบอลกันอาทิตย์ละครั้ง หรือไม่ก็ต้องเป็นลูกหลานของคนที่พ่อแม่สามารถจ่ายค่าเช่าเพื่อมาเตะฟุตบอล หรือสามารถส่งลูกเรียน-เล่น ฟุตบอล โดยเสียค่าเรียนเหมือนเรียนพิเศษ ซึ่งแน่นอนว่า มีเยาวชนอีกจำนวนมากที่พ่อแม่ไม่สามารถสนับสนุนค่าใช้จ่ายส่วนนี้ได้    

ขณะที่สมัยผมเป็นนักเรียน ผมเตะฟุตบอลที่โรงเรียนหลังเลิกเรียน ปัจจุบันบางโรงเรียน ก็อาจจะให้นักเรียนเตะฟุตบอลหลังเลิกเรียน แต่ผมสังเกตโรงเรียนในละแวกบ้านผมแถวรังสิต ผมพบว่า ประตูโรงเรียนปิดเร็วมาก ราวสี่โมงเย็นกว่า ๆ โรงเรียนก็ถูกปิดกลายเป็นหมู่บ้านลอมรั้ว ที่แม้แต่นักเรียนในโรงเรียนก็ไม่สามารถเล่นกีฬาที่โรงเรียนต่อได้ เด็กและเยาวชนเหล่านี้ก็ต้องมาหาที่เล่นกีฬาตามอัตภาพ

ทั้ง ๆ ที่ เราต่างทราบดีกว่า การเล่นกีฬานั้นมีข้อดีหลายด้าน ทั้งด้านสุขภาพร่างกาย จิตใจ อารมณ์ มากกว่านั้นกีฬาที่เล่นเป็นทีม ทำให้ต้องเรียนรู้ที่จะเล่นร่วมกับผู้อื่น กีฬายังสอนให้รู้แพ้รู้ชนะ ผิดพลาดก็ปรับปรุงแก้ไขใหม่ แต่เรายังจัดหาหรือเปิดพื้นที่ให้เยาวชนไม่มากพอ  

เมื่อไม่มีพื้นที่สำหรับให้เด็กและเยาวชนเล่นกีฬา พวกเขาจำนวนหนึ่งก็ต้องไปหาทางออกตามบริบทเงื่อนไขของแต่ละคน บางคนอาจจะขลุกกับการเล่นเกม บางคนอาจจะจับกลุ่มดื่มน้ำท่อม และที่หนักหนาก็กลายเป็นกรณีเหตุสลดห้าเยาวชนที่อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว 

เวลาสังคมถกเถียงเรื่องพื้นที่สาธารณะ มักให้ภาพสวนหย่อม คนปูเสื่อนั่งปิคนิคกินอาหาร หรือไม่ก็ภาพสวนสาธารณะขนาดใหญ่ที่คนวิ่งออกกำลังกาย ผมไม่ปฏิเสธพื้นที่สาธารณะลักษณะนี้ แต่การจัดหาพื้นที่แค่ขนาดสนามบาสเกตบอลให้เยาวชนจำนวนมากได้เล่นกีฬายามเย็น ก็มีความสำคัญไม่น้อยกว่ากัน

ดังนั้น ผมคิดว่า การที่เยาวชนต้องการสนามสำหรับเล่นกีฬานั้น ไม่ควรจะเป็นเรื่อง การผ่อนปรนของหมู่บ้านจัดสรรบางแห่ง หากแต่ภาครัฐภาคประชาสังคม จำเป็นต้องจัดเตรียม พื้นที่ให้กับเยาวชน โรงเรียนควรเป็นสถานที่แรกให้เยาวชนได้เล่น ได้ทำกิจกรรมหลังเลิกเรียน รวมถึงการปรับปรุงพื้นที่สาธารณะ เช่น ใต้ทางด่วน ริมทางรถไฟฯ พื้นที่รกร้างว่างเปล่า ให้เยาวชนได้ใช้ประโยชน์ได้

พื้นที่เหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ ต้องเริ่มจากการเปลี่ยนวิธีคิดว่าจะทำให้พื้นที่ของเมืองเกิดประโยชน์ต่อสังคม ที่ประกอบด้วยคนหลายชนชั้นได้อย่างไร ไม่ใช่การคำนึงถึงรายได้จากการแปลงพื้นที่เป็นสินค้าเท่านั้น

          มิเช่นนั้น ลูกหลานของผู้มีรายได้น้อยก็จะถูกจำกัดการเข้าถึงพื้นที่เพื่อการออกกำลังกาย เล่นกีฬา

   


[i] เซทา โลว เขียนงานในหัวข้อ gated communities ไว้หลายชิ้น เช่น Low, S. M. (2001). The edge and the center: Gated communities and the discourse of urban fear. American anthropologist103(1), 45-58.   Low, S. M. (2008). Fortification of residential neighbourhoods and the new emotions of home. Housing, Theory and Society25(1), 47-65.

[ii] บราซิลเป็นอีกงานหนึ่งที่มีงานวิจัยเกี่ยวกับ gate communities จำนวนมาก เช่น Coy, M. (2006). Gated communities and urban fragmentation in Latin America: the Brazilian experience. GeoJournal66(1-2), 121-132.