“เอาไว้ทางเข้าน้อ” เธอถาม
เขาพยักหน้า
ครับสักครู่หนึ่ง เราจะวางห่อดินลงบนหีบศพของแม่อุ้ย
ห่อดิน ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการฝัง เราจะมีส่วนร่วมในการส่งร่างอันปราศจากวิญญาณของแม่อุ้ยกลับไปเป็นดินตามเดิม ในระหว่างที่พี่น้องเดินตามลูกศรทางเข้า มาหยิบห่อดินที่ลูกหลานได้เตรียมไว้ เราจะร้องเพลงสรรเสริญพระเจ้า หนึ่งบทเพลง
“โลกนี้พระเจ้าประทาน เป็นบ้านอาศัยชั่วคราว เมื่อถึงเวลาคราต้องจากไป ใคร ๆไม่พ้นความตาย…” นักเทศน์ชราร้องนำ มองไปเบื้องหน้าคือร่างอันไร้วิญญาณ ซ้ายขวาคือลูกหลานน้ำตานอง บีบมือตัวเองไว้แน่นจนสิ้นประโยคสุดท้ายในเพลง แสงเทียนวูบไหวในมือเขามีกระดาษพับที่ยับย่น ตัวอักษรใหญ่ฟอนต์ไทย “การประกอบพิธีฝังศพ” เลื่อนอ่านย่อหน้าถัดไป ปรากฏดวงตาสุกใสของแม่อุ้ยนุ่งห่มผ้าสีเปลือกมังคุดที่ชอบใส่ทุกวันอาทิตย์
ชาตะ 5 มีนาคม 1934
มรณะ 28 กรกฎาคม 2023 อายุ 89 ปี
บรรทัดสุดท้ายของย่อหน้าที่สอง บรรทัดที่หนึ่ง
“มีวาระสำหรับชาตะ มีวาระสำหรับมรณะ มีจุดเริ่มต้น และมีจุดสิ้นสุดภายใต้ดวงอาทิตย์นี้ ลูกหลาน ญาติสนิทมิตรสหายที่มาร่วมงานตั้งแต่วันแรก เราทั้งหลายได้มีโอกาสมาร่วมไว้อาลัยแม่อุ้ย” เขาพูด
ตอนนั้นเป็นเวลาบ่ายสอง ป่าช้าที่เคยร้างผู้คนบรรลุหน้าที่อันศักดิ์สิทธิ์ในสองชั่วโมงถัดมา คำอธิษฐานค่อย ๆ กลบเสียงฝ่าเท้าเหยียบใบไม้แห้งที่ทับถมหนานิ้วครึ่ง นับได้ 178 คน เกือบเต็มอาณาเขตสุสานคริสเตียน
“สรรเสริญสาธุการข้าแต่พระบิดาเจ้า
พระองค์ทรงเป็นพระบิดาผู้เที่ยงแท้
พระองค์ทรงเป็นพระเจ้าทรงสร้างสิ่งสารพัด
พระองค์ทรงสร้างมนุษย์คู่แรกโดยผงคลีดินและโปรดให้มีชีวิตและจิตวิญาณ
ชีวิตของแม่อุ้ยได้ตายในองค์พระเยซูคริสต์ ขอพระองค์เจ้าทรงรับจิตวิญญาณของท่านไว้ในพระองค์ในสถานที่ที่พระองค์ได้ทรงจัดเตรียมไว้ ในพระสัญญาของพระเจ้าคือเมืองบรมสุขเกษม ขอพระองค์ทรงอวยพระพรการกระทำของข้าพเจ้าทั้งหลายผู้เป็นบุตรหลาน ผู้เป็นญาติสนิท มิตรสหายในการนำเอาเรือนร่างที่ปราศจากจิตวิญญาณนี้มาฝังไว้ในดิน และเพื่อร่างกายนี้จะกลับไปเป็นดินตามเดิม
ทุกสิ่งขอให้เป็นไปตามน้ำพระทัยขององค์พระผู้เป็นเจ้า”
อาเมน
นักเทศน์ชราอธิษฐานและยกพระคัมภีร์ขึ้นเหนืออก “ปีนี้เป็นปีที่ 89 กับอีก 5 เดือนของแม่อุ้ย แต่เราจะมีโอกาสพบกันอีก เมื่อพระเยซูคริสต์เสด็จมา”
นี่แน่ะ ข้าพเจ้ามีความล้ำลึกที่จะบอกกับพวกท่าน คือเราจะไม่ล่วงลับหมดทุกคน แต่จะถูกเปลี่ยนใหม่ทุกคน ในชั่วขณะเดียว ในพริบตาเดียว เมื่อเป่าแตรครั้งสุดท้าย เพราะว่าจะมีการเป่าแตร และพวกที่ตายแล้วจะถูกทำให้เป็นขึ้นโดยปราศจากความเสื่อมสลาย แล้วเราจะถูกเปลี่ยนใหม่ เพราะว่าสิ่งที่เสื่อมสลายได้นี้ต้องสวมด้วยสิ่งที่เสื่อมสลายไม่ได้ และสภาพที่ต้องตายนี้ต้องสวมด้วยสภาพที่ไม่ตาย เมื่อสิ่งที่เสื่อมสลายได้นี้สวมด้วยสิ่งที่เสื่อมสลายไม่ได้และสภาพที่ต้องตายนี้สวมด้วยสภาพที่ไม่ตาย เมื่อนั้นสิ่งที่เขียนไว้จะสำเร็จว่า “ความตายก็ถูกกลืนเข้าในชัยชนะแล้ว
โอ ความตาย ชัยชนะของเจ้าอยู่ที่ไหน
โอ ความตาย เหล็กในของเจ้าอยู่ที่ไหน…
ท่านทั้งหลายพึงรู้ว่า ในองค์พระผู้เป็นเจ้า การตรากตรำของท่านจะไม่ไร้ประโยชน์ 89 ปีในชีวิตของแม่อุ้ยเป็นความยากลำบากและความห่วงหาอาทรลูกหลาน โดยความไว้วางใจในพระเจ้า แม่อุ้ยได้หยุดพักไว้กับพระเจ้าแล้ว
“ขอทุกท่าน ยืนสงบนิ่งสักหนึ่งนาทีครับ” เขาก้มศีรษะลง
ฉันลืมตาขึ้น
ปวดหัวข้างขวามาสองชั่วโมงแล้ว
“ข้าวของยังอยู่ที่เดิมเลย” ฉันคิด
มันเงียบสนิท ไม่มีเสียงที่ไต่ถาม “จะปิ๊กบ้านเมื่อใด”
มีแต่ข้าวของไม่กี่อย่างที่ได้บรรลุหน้าที่อันศักดิ์สิทธิ์ ส่วนฉันทำหน้าที่วาดลายเส้นด้วยลายมือยึกยือลงในสมุดกว้างคูณยาว 14×21 ซม.จดบันทึกการงานและความตรากตรำของแม่อุ้ยไว้เมื่อวันที่ 15 เมษายน ปีที่แล้ว
มีทั้ง “เบ็ด เคียว ถัง กะลามัง กุบและข้าวของอีก 10 อย่าง
ล้วนเป็นไวยากรณ์ของแม่อุ้ยติ๊บ…
ฤดูกาลธรรมดาของคนธรรมดาสามัญและการพรากจาก”
ฉันเขียนข้อความนี้ลงไปในภาพวาดลายเส้นยึกยือ มือข้างถนัดวาดเชือกไนลอนในถุงก็อบแก็บที่ขาดวิ่น มันไม่ทันเสร็จดีนัก ก็ลงมือเขียนบทความ ฟ้าบ่กั้น ไวยากรณ์ของคนธรรมดา ในคืนสว่างใต้แสงนีออนของห้องสมุดชั้นล่างสุด
ยกเว้นคืนนี้
บ้านแม่อุ้ยมืดสนิท ฉันจับจ้องที่ไปแสงหน้ารถมอเตอร์ไซค์ที่กำลังฝ่าความมืดเข้ามา
มอมแมมเริ่มก้มต่ำ เดินถอยหลังและเห่าเตือนอีกห้าครั้งต่อเนื่อง แต่เว้นระยะห่างช้าลงกว่าครั้งที่สี่ที่เสียงข่ม สั้น และโทนต่ำ ส่งผ่านความรู้สึกไม่มั่นคง กดข่มความโดดเดี่ยวเอาไว้ในลำคอผิดแผกไปจากทุกครั้งที่มันออกจะส่งเสียงเรียกร้องความสนใจ
เสียงผู้คนอึงคะนึง เธอดับรถ และเปิดไฟชานบ้าน
“ไม่น่าเชื่อ” เธอ(ลูกแม่อุ้ย)เอ่ย
“น้ารู้”
เธอมองหน้าเพื่อประมวลผลข่าวร้ายที่เพิ่งได้รับมา บอกกับญาติว่า “เข้าสมาชิกศพไว้ 4 ที่ เสียเงินไปหลายหมื่น สุดท้ายแม่อุ้ยตายไม่มีเงินมาจ่ายลูกสมาชิกสักบาท” การชวดเงินฌาปนกิจศพ ยิ่งกว่าฝันร้ายหลังประกอบพิธีฝังแม่อุ้ย ลำพังการจัดงานศพหนนึงก็ใช้เงินเกือบแสน
ความไว้เนื้อเชื่อใจในสถาบันฌาปนกิจสงเคราะห์จึงเป็นหลักประกันเดียวที่เธอมี รอยแตกหักเหล่านี้มาบรรจบกับความรู้สึกที่ไม่รู้สึกว่าชีวิตเป็นของเรา กลายเป็นสภาพจิตที่แหลกร้าวในปริมณฑลทางการเมืองที่หน่วยย่อยที่สุดของการออมเพื่อการตายกำลังล่มสลาย แทนที่ด้วยระบบ “ตัวใครตัวมัน” เป็นครั้งนี้ที่คนในหมู่บ้านที่ฉันสังกัดอยู่ มีแนวโน้มที่จะเชื่อใจ “ญาติพี่น้อง” มากกว่าจะเชื่อประธานบริษัทหรือเจ้าหน้าที่สมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์
เราต้องการเรื่องเล่าใหม่ เพื่อซ่อมแซมรอยแตกหักแห่งยุคสมัยของความโดดเดี่ยว
การพังทลายของฌาปนกิจสงเคราะห์ดันเป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นแล้วกับครอบครัวฉัน
“ฉันขอเล่าเอง” เมื่อได้อ่านหนังสือ Out of the Wreckage: A New Politics for an Age of Crisis ไปครึ่งเล่ม แต่ “ความแปลกแยก” สุกงอมบานปลาย หรืออาจจะมากกว่าสามอย่างที่ จอร์จ มอนบิโอต์ เขียนไว้ในหนังสือ ทั้งการที่คนเราไม่อาจควบคุมงานที่เราทำ ไม่รู้สึกยึดโยงกับชุมชนและสังคมที่อาศัยอยู่ ไม่ไว้เนื้อเชื่อใจในสถาบันทางสังคมและอนาคตข้างหน้า
หนังสือพูดกับเราให้เล่าเรื่องใหม่ ในโลกเก่าที่ถูกขับเคลื่อนด้วยเรื่องเล่าทางการเมืองที่ทรงพลังที่สุดแห่งยุคสมัย เรื่องที่บอกเล่าเรื่องราวของการแข่งขันและความเป็นปัจเจกคือค่านิยมอันสูงสุดของศาสนาทางโลกแห่งศตวรรษที่ 21 ทุกหนทุกแห่งต่างถูกผลักให้เราต่อสู้เพื่อแย่งชิงทรัพย์สิน เงินทองและตำแหน่งแห่งที่ทางสังคม มีคนบอกว่าการแข่งขันที่ดูโหดร้ายอยู่บ้างเป็นเครื่องมือที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตของเราได้ดีกว่าเครื่องมืออื่น ล้วนเป็นมายาคติของความร่ำรวยจากการต่อสู้ฝ่าฟันของคนเพียงคนเดียว มายาคตินี้บอกเล่าด้วยศัพท์แสงที่สร้างแรงบันดาลใจประเภท คนสู้ชีวิต, หากินด้วยลำแข้งตนเอง, สร้างตัวขึ้นมาจากศูนย์ ทำทุกอย่างโดยไม่ต้องพึ่งพาใครเลย หรือคำด่าที่เจ็บแสบ “ไอ้ขี้แพ้”
ความเข้าใจแบบผิด ๆ นี้เป็นการสูญเสียจุดมุ่งหมายที่เราเคยมีร่วมกัน เพราะทุก ๆ ที่เราจะได้ยินเสียงมวลเบาซ้ำ ๆ ว่า “ตัวใครตัวมัน” สังคมหรือรัฐก็ช่วยอะไรเราไม่ได้ เราต้องก้มหน้ารับชีวิตที่ไม่มั่นคงปลอดภัย เอาแน่เอานอนไม่ได้และสิ้นหวัง ที่จริงเมื่อหลักคำสอนในศตวรรษที่ 18 ของโธมัส มัลธัส และโยเซฟ ทาวน์เซนด์ “มีแต่ความอดอยากเท่านั้นที่กระตุ้นและเร่งเร้าให้คนเหล่านั้นออกแรงทำงาน” ถูกรื้อฟื้นกลับมาใหม่
ในเวอร์ชั่นหนังชีวิตที่เอาแน่เอานอนไม่ได้ และสิ้นหวังถูกแปลงโฉมให้กลายเป็นแรงจูงใจให้คนยากจนทำงานให้หนักขึ้น เพียงแต่หนังสือเล่มนี้ กำลังพูดกับฉันตรง ๆ ไม่ว่าเรื่องเล่าเดิมจะล้าสมัยและถูกหักล้างมามากเพียงใด แต่แค่แย้งว่ามันผิดยังไม่พอ ความเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อ คุณมีเรื่องเล่าใหม่มาทดแทนเรื่องเก่า เรื่องเล่าจะแทรกซึมเข้าไปยังหัวจิตหัวใจของผู้คนทุกฝักฝ่ายทางการเมือง
พวกเราได้รับพร ให้มีความสามารถพิเศษในการใยดีผู้อื่น แต่ถูกขัดขวางด้วยมุมมองผิด ๆ เกี่ยวกับความเป็นมนุษย์ นักการเมือง นักเศรษฐศาสตร์ และนักคิดนักเขียนบางคนล่อลวงให้เราเชื่อในอุดมการณ์ของลัทธิปัจเจกนิยม และการแข่งขันอย่างสุดลิ่มทิ่มประตูซะจนทำให้เรากลายเป็นศัตรูของกันและกัน ดันทำให้เราหวาดกลัวและไม่ไว้วางใจกัน ทั้งบั่นทอนสายสัมพันธ์ทางสังคมที่ทำให้ชีวิตเรามีคุณค่า
ถึงจะไม่ใช่สิ่งเดียว แต่สิ่งนี้เองเป็นต้นตอที่นำไปสู่ยุคสมัยแห่งความโดดเดี่ยว ยุคสมัยที่ผู้คนที่อาศัยบนดาวเคราะห์ที่คราคร่ำด้วยสรรพชีวิตที่รู้สึกเหินห่างจากกันอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน บ่อนเซาะความรู้สึกนึกคิดถึงการมีจุดหมายร่วมกันและลดทอนความเชื่อที่ว่า เราสามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตให้ดีขึ้นได้ ประชาธิปไตยถูกทำลาย ความรุนแรง และความไม่อดกลั้นต่อความแตกต่างแทรกซึมสู่สุญญากาศทางการเมือง เราต่างติดร่างแหของ “ความแปลกแยก”
เราผู้เป็นตัวเอกของหนังชีวิตเรื่องนี้จะจบวงจรอุบาทว์นี้ด้วยตัวเองและกอบกู้การเมืองคืนมาจากผู้ที่เคยฉกฉวยมันไป จอร์จ มอนบิโอต์ เรียกเรื่องเล่าใหม่นี้ว่า การเมืองของความยึดโยง (The Politics of Belonging) เขานำเสนอกรอบเศรษฐกิจใหม่ที่พาเราทุกคนมาอยู่ใน “โดนัท” พื้นที่ปลอดภัยและเป็นธรรมสำหรับผู้คน ปลุกปลอบเราจากมายากลของระบบตลาดที่ไม่ช่วยแก้ปัญหาอะไร
ล้างความเชื่อเก่า ๆ ที่ว่า การแข่งขันและการใช้ชีวิตแบบตัวใครตัวมันที่เป็นเรื่องเล่าทางการเมืองที่ทรงพลังมาจนถึงวันนี้ เสรีนิยมใหม่แทรกซึมเข้าไปในภาษาที่เราใช้ ลึกลงไปในการตัดสินใจต่อทางเลือกที่เราเลือก หนำซ้ำยังอธิบายและนิยามตัวเราเองเป็นใคร ลุควิค ฟอน มิสเซส และฟรีดริช ฮาเยค กลายเป็นผู้นิยามอุดมการณ์ของเสรีนิยมใหม่ ทั้งคู่อพยพมาจากออสเตรียและต่างมองว่าสังคมนิยมประชาธิปไตย อย่างนโยบายของแฟรงคลิน รูสเวลท์ และรัฐสวัสดิการในอังกฤษเป็นตัวอย่างของแนวคิดรวมหมู่นิยมที่อยู่ในเฉดทางการเมืองเดียวกับพวกคอมมิวนิสต์และนาซี
ฮาเยค ยืนกรานอย่างหนักแน่นว่าคนรวยควรมีอิสรภาพโดยสมบูรณ์ ในทางกลับกันประชาธิปไตยไม่ใช่คุณค่าสูงสุด เขาอ้างว่า ความมั่งคั่งที่ตกทอดจากรุ่นสู่รุ่นจะเป็นประโยชน์ต่อสังคมมากกว่าความมั่งคั่งที่มาจากการทำงาน เพราะ “คนรวยสันหลังยาว” ที่ไม่ยอมทำงานหาเงินเหล่านี้สามารถอุทิศตนเพื่อผลักดัน “แวดวงทางความคิด รสนิยม และความเชื่อ” กระทั่งในยามที่ดูเหมือนจะใช้จ่ายอีลุ่ยฉุยแฉก จริง ๆ แล้วพวกเขากำลังทำหน้าที่เป็นผู้นำของสังคมต่างหากล่ะ
มีเรื่องเล่ากันปากต่อปากว่าในปี 1975 ไม่กี่เดือนหลังดำรงตำแหน่งพรรคอนุรักษนิยมของอังกฤษ มาร์กาเร็ต แทตเชอร์ รับบทเป็นประธานการประชุม ซึ่งเพื่อนร่วมงานคนหนึ่งอธิบายถึงสิ่งที่เขาคิดว่าเป็นความเชื่อหลักของแนวคิดอนุรักษนิยม ทันใดนั้นแทตเชอร์ก็ควักหนังสือ The Constitution of Liberty ที่เต็มไปด้วยรอยพับมุมออกมาจากกระเป๋าถือฟาดมันลงไปที่มุมโต๊ะแล้วพูดว่า “นี่ไงสิ่งที่เราเชื่อ” การปฏิวัติทางการเมืองที่เริ่มต้นขึ้นนี้แพร่กระจายไปทั่วโลก
หนึ่งในเหตุผลที่ทำให้เสรีนิยมใหม่ยืนระยะได้ยาวนานจนน่าทึ่ง ก็เพราะจอร์จเชื่อว่ายังไม่มีเรื่องเล่าที่ตอบโต้มันได้อย่างสมน้ำสมเนื้อ เมื่อเศรษฐศาสตร์แบบเสรีนิยมประสบหายนะเมื่อปี 1929 จอห์นเมย์นาร์ด เคนส์ ได้ออกแบบทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ที่ครอบคลุมขึ้นมาทดแทนโดยอาศัยแรงสนับสนุนจากเรื่องเล่าที่ทรงพลังเกี่ยวกับการฟื้นฟูและการกอบกู้ เมื่อการจัดการอุปสงค์ของเคนส์เชียนถึงทางตัน เสรีนิยมใหม่ก็ยืนรออยู่ตรงประตู
แต่เมื่อเสรีนิยมใหม่ล้มเหลวอีกในปี 2008 พรรคการเมืองต่าง ๆ ต่างพากันแก้ต่างให้กับหลักการของแทตเชอร์ว่า ไม่มีทางเลือกอื่นแล้ว ไม่มีทางเลือกอื่นแล้วจริง ๆ บางพรรคเดินทางไกลกลับไปยังหลุมฝังศพของท่านลอร์ดเคนส์
เรื่องราวโอละพ่อ เมื่อวิกฤตเศรษฐกิจครั้งแล้วครั้งเล่า พรรคการเมืองกระแสหลักยังไม่มีเรื่องเล่าที่เป็นหนึ่งเดียว แม้จะผ่านไปสามสิบปี ก็ยังปลุกผี “ลอร์ดเคนส์” ไม่ขึ้นสักที
หนังสือ: Out of the Wreckage: A New Politics for an Age of Crisis
นักเขียน: จอร์จ มอนบิโอต์
ผู้แปล: ภาคิน นิมมานนรวงศ์ และ มนภัทธ จงดีไพศาล
สำนักพิมพ์: สำนักนิสิตสามย่าน
PlayRead: คอลัมน์รีวิวหนังสือประจำ Decode.plus เมื่อกองบรรณาธิการขอ add หนังสือ (ที่อยากอ่าน)ไว้ในเพลย์ลิสต์ พบกับหนังสือหลากหลายสไตล์ หลากหลายวิธีการเล่าเรื่องที่เชื่อมร้อยกับชีวิตและสังคม แวะมาหาอ่านกันได้ทุกเย็นวันพฤหัสบดี