ประกายไฟลามทุ่ง
รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี
เมื่อการเลือกตั้งใกล้เข้ามาในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า เราเห็นคำสัญญามากมายจากพรรคการเมือง ที่มีเฉดสีอุดมการณ์ที่แตกต่างกัน ทั้งนิยมประชาธิปไตย หรือมีแนวคิดอนุรักษ์นิยมสืบทอดอำนาจ ต่างมีคำสัญญาที่แตกต่างกัน สำหรับประชาชนทั่วไปหากเราปรารถนาให้เกิดนโยบายรัฐสวัสดิการ หรือสังคมที่ยุติธรรมมากขึ้น แม้เขาจะเห็นคำสัญญามากมาย แต่ก็มีเงื่อนไขหนึ่ง ซึ่งน่ากังวล เมื่อพวกเราแหงนคอขึ้นไปสิ่งที่เราเห็นคือ ชนชั้นอภิสิทธิ์ชนผ่านระบบทางเศรษฐกิจ หรือบางทีก็เป็นชนชั้นอภิสิทธิ์ชนที่ผ่านจากระบบการเมืองที่อยู่ในระบบการเลือกตั้ง มาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายายพ่อแม่ ?
ถ้าเกิดไม่มีตัวแทนของพวกเราอยู่ในระบบการเมือง เราจะเชื่อมั่นได้อย่างไร ว่าพวกเขาจริงใจกับคำพูดของพวกเขา พวกเราจะสามารถมั่นใจได้อย่างไรว่าสิ่งที่พวกเขานำเสนอ ไม่ได้เป็นเพียงสิ่งที่ฉาบฉวยเพื่อให้ได้รับคะแนนเสียง เราจะเชื่อมั่นได้อย่างไรว่ากันการเลือกตั้งคนเหล่านี้จะไม่กลับไปแนบชิดกับระบบราชการกับชนชั้นนายทุนและเหล่าอภิสิทธิ์ชนด้วยกัน
พวกเขาอาจปล่อยให้เรื่องรัฐสวัสดิการกลายเป็นเพียงแค่เรื่องที่สำคัญ แต่ยังไม่จำเป็นต้องสร้างขึ้นมาก็ได้ ? ทางออกของเรื่องนี้ คือการสร้างระบบตัวแทนของเราเองขึ้นมา พยายามมองหากลุ่มคนที่ เจ็บปวดกับความเหลื่อมล้ำของประเทศนี้ พยายามสนับสนุนพวกเขาให้พื้นที่แก่พวกเขาในการส่งเสียง แต่ถ้าหากไม่สามารถหาได้ในระยะเวลาอันสั้น
สิ่งที่ผมอยากเสนอ ในระยะเวลาอันสั้นนี้เพื่อกดดันให้พวกเขาจะต้องทำตามนโยบายที่ได้หาเสียง ก็คือการทำให้เหล่าอภิสิทธิ์ชนเกิดความละอาย และเลิกคิดว่าพวกเราเป็นของตายของเขาเสียที
คำถามคือชนชั้นนำ หรือชนชั้นอภิสิทธิ์ชนที่เข้ามาในระบบการเลือกตั้ง พวกเขาจะมีความอับอายเกิดขึ้นได้ตอนไหน ในเมื่อพวกเขาแวดล้อมไปด้วยผู้คนที่ชื่นชมเขา แวดล้อมไปด้วยอภิสิทธิ์ แวดล้อมไปด้วยเงิน อำนาจ โอกาสมากมาย ประชาชนที่อยู่อย่างกระจัดกระจายย่อมไม่สามารถสร้างความอับอายให้แก่พวกเขาได้ พวกเขาถึงสามารถที่จะสัญญาได้อย่างไม่ต้องคำนึงว่า ชีวิตความเป็น ความตายของพวกเราจะได้รับการแก้ไขเมื่อไร แต่เราสามารถทำให้พวกเขาเกิดความอับอายไม่รู้สึกผิดหรอกพวกเราได้ ผ่านสามเงื่อนไขดังต่อไปนี้
1.เมื่อการเลือกตั้งเสร็จสิ้น สิ่งหนึ่งที่ต้องทำคืออย่าทำให้เกิดสภาวะปกติ อย่าทำให้สิ่งที่พวกเขาให้คำสัญญาและบอกว่าทำได้ทันที กลายเป็นสิ่งที่สามารถรอคอยได้อย่างไม่มีกำหนด ประชาชนต้องรวมตัวกัน ร่วมกดดัน ให้พวกเขา มีกำหนดเวลาที่ชัดเจนว่านโยบายดังต่อไปนี้จะถูกผลักดันเมื่อไร แล้วก็หวังที่รอคอยจะมีมาตรการอย่างไรที่จะลดความเหลื่อมล้ำทันทีเหมือนกับตอนที่พวกเขาได้นำเสนอและทำการหาเสียง
2.การกดดันผ่านช่องทางปกติ เช่น ภาคประชาชนเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของรัฐสภากระบวนการการร่างกฎหมาย นับเป็นช่องทางที่น่าสนใจ แต่จากประสบการณ์ของผู้เขียนคงต้องบอกว่ามันไม่เพียงพอ เรามีคณะกรรมการหลายชุด มีประกาศหลายฉบับ และก็มีตัวแทนของภาคประชาชน ที่ได้เข้าไปนั่งอยู่ในกรรมาธิการหรือคณะกรรมการชุดต่าง ๆ มากมายเต็มไปหมด เราก็จะเห็นได้ว่า การใช้ช่องทางเพียงแค่นี้ ก็ไม่เพียงพอที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ การรวมตัวกดดันผ่านเงื่อนไขต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการนัดหยุดงาน การแบน หรือการกดดันชนชั้นนำที่เป็นระบบมากขึ้นจะทำให้พวกเขาใส่ใจกับนโยบายที่พวกเราปรารถนาอันเป็นสิ่งที่พวกเขาเคยสัญญาไว้
3.ต้องหยุดประเพณีพิธีกรรม การอวยยศ คนมีอำนาจหลังการเลือกตั้ง แม้จะเป็น ส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้ง ต้องทำให้พวกเขาตระหนักได้ว่า ประชาชนเป็นเจ้านายของพวกเขา เราสามารถมีชีวิตที่ดีได้ตามแนวนโยบายที่พรรคการเมืองได้พูดไว้ก่อนการเลือกตั้ง โดยไม่จำเป็นต้องให้พวกเขามาอนุญาต หรือ เพิ่มดอกจันเงื่อนไข ว่าสิ่งใดทำได้ สิ่งใดทำไม่ได้
ดังนั้น ในบทส่งท้ายในส่วนนี้สิ่งที่เราจำเป็นต้องทำก็คือไม่ต้องเป็นติ่ง ไม่ต้องแบก ไม่ต้องไปคิดถึงเรื่องยุทธศาสตร์อะไรต่าง ๆ แต่ให้พูดอย่างตรงไปตรงมาว่าเราต้องการอะไร ต้องการเมื่อไหร่ แล้วถ้าเราไม่ได้สิ่งนั้น เราจะมีแผนการอย่างไร ในการที่จะผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและทำให้เหล่าชนชั้นนำทั้งหลายรู้สึกละอายที่จะไม่ทำตามพันธะสัญญาที่มีต่อประชาชน