‘Gender quota’ มากกว่าที่นั่งในสภาฯ หาทำ! สนามการเมืองที่เอื้อต่อความเท่าเทียมทางเพศตั้งแต่ในพรรค - Decode
Reading Time: 3 minutes

เมื่อประเทศไทยยังติดอยู่ในกรอบความคิดของสังคมชายเป็นใหญ่ ระบบที่ไม่ได้เอื้อให้ผู้หญิงสามารถส่งเสียงของพวกเขาได้ดังเท่าที่ควร ไปจนถึงการประสบความสำเร็จไม่ว่าอุตสาหกรรมไหน ๆ โดยเฉพาะในภาคการเมือง ในขณะที่จำนวนผู้หญิงที่จะสามารถสร้างแรงกระเพื่อมต่อกระบวนการนิติบัญญัติได้คือ 30% แต่จำนวน ส.ส.หญิงในประเทศไทยยังมีจำนวนเพียง 73 คน คิดเป็น 16% ของส.ส.ทั้งหมด 

หรือนี่เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่นโยบายเพื่อผู้หญิง จากเรื่องง่ายกลายเป็นเรื่องยากและยังไร้วี่แววสำเร็จในเร็ววัน

De/code เปิดข้อถกเถียงสำคัญต่อการเพิ่มสัดส่วนของส.ส.หญิงในสภาผู้แทนราษฎร จากเวที Panel Discussion and Reception on International Women’s Day: Breaking the Barriers to Women in Political Leadership จัดโดย WFD(Westminster Foundation for Democracy) ถอดบทเรียน และงานวิจัยในเรื่อง Gender quota ทำไมไทยถึงยังก้าวไม่พ้นหล่มปิตาธิปไตยเสียที

ส.ส.หญิงที่ว่า ‘น้อย’ นโยบายเด็กและสตรียิ่ง ‘ไม่มี’

ไม่ว่าจะนโยบายผ้าอนามัยฟรี การเข้าถึงสถานทำแท้งปลอดภัย หรือการมอบสวัสดิการต่าง ๆ ในฐานะของความเป็นแม่ การออกแบบและผลักดันนโยบายเหล่านี้ให้สำเร็จมีโอกาสน้อยลง ปัจจัยหลักมีสาเหตุมาจากการที่แนวคิดหรือมุมมองของผู้หญิงที่ได้มีโอกาสเป็นคนผลักดันให้สำเร็จ มีน้อยเกินไป

วรรณวิภา ไม้สน ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวว่า เบื้องต้นการกำหนดสัดส่วนเป็นสิ่งที่บังคับและชัดเจนในการกำหนดสัดส่วนผู้นำหญิงเพิ่มมากขึ้น แต่ในระยะยาว เราต้องทำความเข้าใจกับความคิดในด้านต่าง ๆ ในเรื่องเพศด้วย 

“ต้องยอมรับว่าความคิดของสังคมไทย ทุกคนอยากเห็นผู้หญิงเป็นแม่ที่ดี เลี้ยงดูลูก ดูแลสามีได้ดี ทำให้เราถูกคาดหวังจากสังคม แต่ไม่อยากให้เราเป็นผู้นำหรือสร้างการเปลี่ยนแปลงในสังคม”

ก่อนวรรณวิภาจะก้าวเข้ามาสู่วงการการเมือง เธอทำงานภาคประชาชนในฐานะสหภาพแรงงาน หลังจากเข้ามาทำงานในพรรคการเมือง เธอได้ผลักดันสิทธิลาคลอดจาก 90 วัน เป็น 180 วัน ถึงอย่างนั้นการเสนอดังกล่าวถูกปัดตกไป ซึ่งในฐานะที่เธอทำงานในสหภาพมาก่อน การเพิ่มจำนวนวันลาคลอดไม่ใช่แค่แม่จะเป็นผู้ได้รับผลประโยชน์เพียงอย่างเดียว แต่คนเป็นพ่อจะได้รับผลประโยชน์ด้วย

“ผู้หญิงอย่างเราคือผู้หญิงจำนวนมากในประเทศ หลายคนต้องกลับไปทำงานเพื่อหาเงินมาเลี้ยงลูก ทั้งหมดนี้มันใกล้เคียงกับคุณชีวิตที่ดีหรือไม่ ถ้าวันหนึ่งเราสามารถให้ผู้หญิงสามารถลาคลอดโดยได้รับเงินเดือน เด็กก็จะมีคุณภาพชีวิตทีดีมากขึ้น จนวันหนึ่งพ่อก็สามารถลาคลอดเพื่อมาดูแลครอบครัวได้เช่นกัน มีหลายประเทศที่เขาสามารถทำได้แล้ว”

จากงานวิจัย Substantive representative of women in Asian parliaments ระบุ จำนวนผู้หญิงที่จะมี Substance of Representation ที่สามารถสร้างผลกระทบต่อกระบวนนิติบัญญัติคือ 30% ถ้าสัดส่วนของ ส.ส. คือ 500 คน ก็ต้องมี 150 คน ปัจจุบันนี้มีผู้หญิง 73 คน ผู้มีความหลากหลายทางเพศ 3 คน และในวุฒิสภามี 250 คนแต่กลับมีผู้หญิงเพียงแค่ 26 คนเท่านั้น จากตัวเลขดังกล่าวอาจสามารถยืนยันแนวคิดของวิจัยข้างต้นว่า ทำไมกฎหมายเพื่อความเสมอภาคทางเพศของไทยถึงไปไม่ได้ไกลกว่าเดิม

บทพิสูจน์ดังกล่าว ยังสามารถอ้างอิงได้ถึง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ถึงแม้จะผ่านวาระที่ 1 ไปได้ แต่การทำให้ถูกยกเป็นข้อกฎหมายที่จะขีดฆ่าการกีดกันความรักให้หายไปในสังคมไทย รวมไปถึ พ.ร.บ. sex worker ที่ผู้หญิงไม่ต่ำกว่า 30,000 คนต้องประกอบอาชีพนี้ เพื่อหาเลี้ยงครอบครัว แต่กฎหมายนี้ถูกปิดตา โดยความคิดชายเป็นใหญ่ที่ยังฝังลึกในสังคมไทย ทำให้ความจำเป็นถึงข้อกฎหมายเหล่านี้ต่อพวกเขา ถูกปิดทับและเก็บไว้มิดชิด ทั้งยังไม่ถูกบังคับใช้เสียที

การเพิ่มกลไกของการเพิ่มโควต้าให้ ส.ส.หญิงเข้ามาในสนามการเมือง อาจเป็นอีกกลไกหนึ่ง ซึ่งมาจากความหลากหลายทางเพศ เรื่องนโยบายเพื่อเด็กและสตรีจะได้รับการผลักดันมากยิ่งขึ้น แต่ทำไมไทยถึงเงียบเฉยต่อเรื่องนี้ ข้อกังวลและข้อสงสัยใดในการผลักดันที่ทำให้คนยังไม่เห็นด้วยกับการให้โควตานี้

Gender quota ทางการเมือง เพื่อความเท่าเทียมหรือพิธีกรรม?

เป็นข้อถกเถียงที่มีกันมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นโลกออนไลน์หรือวงเสนาใด หากมีการพูดถึงการเพิ่มสัดส่วนทางเพศทางการเมืองหรือ Gender quota สิ่งนี้จะเป็นการเอื้อให้ประชาธิปไตยของไทยสมบูรณ์ยิ่งขึ้นได้อย่างไร

แม้ว่าการเพิ่มสัดส่วนของ ส.ส.หญิงเข้าไปในสภา จะทำให้เสียงของผู้หญิงถูกผลักดันมากยิ่งขึ้น แต่ยังมีหลายฝ่ายที่ยังกังวลถึงการเพิ่มสัดส่วนดังกล่าว ว่าจะเป็นเพียงพิธีกรรมของพรรคการเมืองในการที่จะต้องส่งนักการเมืองหญิงเข้าสู่สภา ในขณะที่ภาพลักษณ์ของผู้หญิงส่วนมากที่สามารถเข้ามาสู่การเมืองไทยได้นั้นจะเป็นรูปแบบของ Highly connection

ในงานวิจัยของอาจารย์เอม สินเพ็ง มหาวิทยาลัยซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย นักวิจัยหลักของทีมวิจัยผู้ศึกษาและจัดทำรายงานเรื่องการเป็นผู้นำทางการเมืองของผู้หญิงในอาเซียน หนึ่งในผู้บรรยายบนเวทีนี้ ในวิจัยฉบับนี้พบว่าผู้หญิงที่สามารถเข้ามาในภาคการเมืองได้ ส่วนใหญ่นั้นมีความสัมพันธ์ทางสังคมที่สูง (Highly connection) กล่าวคือ นักการเมืองเหล่านี้ อาจเป็นลูก ภรรยา หรือญาติของนักการเมืองชาย จึงสามารถเข้าสู่สนามการเมืองได้ รวมถึงกลุ่มนี้จะมีสถานะทางสังคมและเศรษฐกิจเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว

ในขณะที่ผู้หญิงในความสัมพันธ์ทางการเมืองแบบอื่นเช่น นักกิจกรรม ภาคประชาสังคม กลุ่มเหล่านี้หากเป็นบุคคลที่มีสถานะทางสังคมและเศรษฐกิจน้อยด้วย โอกาสในการเข้าสู่ภาคการเมืองได้ลดลง

เรืองรวี พิชัยกุล สถาบันวิจัยบทบาทหญิงชายและการพัฒนา (GDRI) มองว่า แม้เรื่อง Gender quota จะยังไม่ถูกผลักดันให้เกิดขึ้นจริง แต่การถกเถียงที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ก็เป็นหลักฐานที่บ่งชี้ได้ว่า กลไกความเท่าเทียมทางเพศในสภา เข้าถึงประชาชนมากขึ้น

“ข้อสังเกตที่คิดว่าถกเถียงได้คือ เราจะส่งเสริมผู้หญิงให้มีจำนวนมากเข้าไปทำไม เราไม่ได้การันตีว่าการมีผู้หญิงในสภาจำนวนมากจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง การเมืองดีขึ้นหรือสะอาดขึ้น แต่มีสมมุติฐานจากงานวิจัยทั่วโลกว่า การมีผู้หญิงมากขึ้นทำให้คอร์รัปชันน้อยลง ธรรมาภิบาลมีมากขึ้น คุณภาพชีวิตดีขึ้น และที่สำคัญ นี่เป็นสัญลักษณ์ของประชาธิปไตยแบบตัวแทน มีความชอบธรรมที่เรามีผู้หญิงกว่า 50% แต่ทำไมเรามีตัวแทนแค่ 16%”

เรืองรวี ผลักดันประเด็น Gender quota มาเป็นระยะกว่า 30 ปี จากการก่อตั้งรัฐสภาสตรี ที่ส่งเสริมให้ผู้หญิงสามารถเข้ามามีบทบาททางการเมืองมากยิ่งขึ้น มีนักการเมืองหญิงหลายคนที่มาจากโครงการนี้ หลายนโยบายเพื่อเด็กและสตรีที่ผ่านเข้าก็เกิดจากการรวมตัวของนักการเมืองหญิงเหล่านี้

ถึงอย่างนั้น ข้อถกเถียงหนึ่งที่เป็นประเด็นหลักสำหรับ Gender quota คือกลไกดังกล่าวจะเป็นการนำไปสู่พิธีกรรมในการที่พรรคการเมืองจะต้องทำให้ครบถ้วนหรือไม่ และอาจไม่นำไปสู่การสร้างนโยบายเพื่อรองรับผู้หญิงจริง ๆ

ปุรวิชญ์ วัฒนสุข นักวิจัยประจำวิทยาลัยการเมืองและการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า ให้มุมมองเกี่ยวกับประเด็นนี้ว่าแม้จะมีหลายประเทศที่สามารถก้าวข้ามความเหลื่อมล้ำทางเพศ และ Gender quota สามารถนำมาซึ่งนโยบายที่รองรับความหลากหลายทางเพศจริง ถึงอย่างนั้นเมื่อพิจารณาจากโครงสร้างสังคมไทย รวมถึงการเข้ามาของนักการเมืองหญิงในรูปแบบ Highly Connection กลไกดังกล่าวจะเป็นประโยชน์จริง ๆ หรือไม่

“ตอนผมทำวิจัยเรื่องพรรคการเมือง กฎหมายพรรคการเมืองที่เราคิดบนฐานที่อยากให้พรรคการเมืองมีตัวแทน จัดตั้งสมาชิกพรรค ถ้าเราใส่เรื่องโควตาเข้าไป ตอนที่ทำงานวิจัย ผมได้ keyword คือทุกอย่างเป็นพิธีกรรม ผมเกรงว่ากลไกในวันนี้จะเป็นพิธีกรรม”

จากการแลกเปลี่ยนของวิทยากรบนเวที สิ่งที่สามารถสรุปได้ คือสิ่งที่เราต้องสร้างพร้อมกับผลักดันเรื่อง Gender quota คือเราต้องสร้างสนามการเมืองที่เอื้อต่อความเท่าเทียมทางเพศด้วย

ด้านเรืองรวี เล่าถึงประสบการณ์ในอดีต เมื่อ 20-30 ปีก่อน ไม่เคยเกิดภาพของการร่วมมือข้ามกันระหว่างพรรค ทั้ง ๆ ที่ปัญหาส่วนมากโดยเฉพาะนโยบายเกี่ยวกับผู้หญิงและเด็กต่างเป็นปัญหาร่วมกันของนักการเมืองหญิงในทุกพรรค แต่เพราะเกมการเมืองสมัยก่อน คือการงัดอำนาจและห้ำหั่นกันไปมา หลายนโยบายที่พึงจะเกิดขึ้น จึงถูกปัดตกไปอยู่เสมอ เพราะความไม่ลงรอยระหว่างพรรคนี้เอง

แต่ในปัจจุบันแนวคิดเหล่านี้ในพรรคการเมืองก็ลดลงตามยุคสมัย ด้านศิริภา อินทวิเชียร รองโฆษก พรรคประชาธิปัตย์ โดยเฉพาะมีกฎหมายหลายฉบับที่ไม่ได้เป็นมติพรรคว่า ต้องเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ เปิดเสรีให้กับสมาชิกพรรค แต่ละคนได้ตัดสินใจเอง บนพื้นฐานของการตัดสินใจของแต่ละคน

รวมไปการร่วมกลุ่มของนักการเมืองหญิง หรือในต่างประเทศคือสภา CAUCUS ที่มีการคานอำนาจไม่ให้กลับไปสู่กรอบแนวคิดของประชาธิปไตย ที่ผู้หญิงไม่สามารถขึ้นมาเป็นผู้นำได้ แม้ของไทยจะไม่ได้เป็นแบบทางการ แต่ปัจจุบันเมื่อเกิดการผลักดันนโยบายต่าง ๆ ที่รองรับผู้หญิงแล้ว ทางด้านศิริภากล่าวว่า มีการร่วมมือกันเพื่อผลักดันในประเด็นเหล่านี้ให้เกิดขึ้นจริง

ซึ่งปัจจุบันมีหลายพรรคการเมืองที่ได้เริ่มและกำหนดให้ต้องมีโควตาสัดส่วนของนักการเมืองหญิง อย่างด้านพรรคก้าวไกล ที่วรรณวิภาสังกัดอยู่ เราจะเห็นได้ว่าหลายพรรคไม่ใช่แค่ผลักดันให้มีนักการเมืองหญิงมากขึ้น แต่ยังสนับสนุนให้นักการเมืองที่มีความหลากหลายทางเพศ ได้เข้ามาร่วมผลักดัน สร้างนโยบายที่จะรองรับความหลากหลายทางเพศได้อย่างแท้จริง

ด้านพรรคประชาธิปัตย์ ที่ศิริภาสังกัดอยู่ ก็กำหนดให้มีโควตา ส.ส.หญิงอยู่ที่ 1:5 เพื่อที่จะเสริมความหลากหลายของแนวคิดซึ่งนำมาสู่นโยบาย ผ่านความแตกต่างทางเพศนี้

การจะสร้างความเท่าเทียมทางเพศให้เกิดขึ้นกับสังคม คงต้องเริ่มจากภายในพรรคการเมืองเอง ไม่อย่างนั้นแล้วจะพูดได้อย่างไร ในเมื่อภายในพรรคของตนยังมีการกดทับทางเพศอยู่ แล้วนโยบายที่ส่งตรงถึงประชาชน จะเป็นความเท่าเทียมและยอมรับความหลากหลายทางเพศได้อย่างไร

ลบความสัมพันธ์แบบ High profile, Highly connection

ด้วยกรอบปิตาธิปไตยในสังคมไทย ผู้หญิงที่ก้าวเข้ามามีบทบาทและอำนาจในสังคม โดยเฉพาะภาคการเมือง ต้องพิสูจน์ตัวเองมากกว่าเพศชาย และส่วนมากถูกกดทับทางเพศ รวมถึงโดนคุกคามเป็นจำนวนไม่น้อย

จากวิจัยของอาจารย์เอม ยังพบว่านักการเมืองหญิงทุกคน จะต้องพบเจอกับการคุกคามและการกดทับทางเพศไม่รูปแบบใดก็แบบหนึ่ง โดยการคุกคามที่พบมากที่สุดคือการใช้ถ้อยคำหยาบคายกับนักการเมืองหญิงสูงถึง 79% ถูกคุกคามทางเพศในโลกออนไลน์ 29% และมีการคุกคามทางเพศต่อกายภาพโดยตรงถึง 32%

อาจารย์เอมกล่าวต่อว่า ปัจจัยที่จะสามารถสนับสนุนสิทธิและสวัสดิการของผู้หญิงนั้น มีอยู่ 4 ประเด็น คือ 1.โควตา 2.ประชาธิปไตยที่แข็งแรง 3.การยกเลิกวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ 4.ความไม่เหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ 

“แม้โควตาจะเป็นประเด็นและกลไกที่สามารถสร้างความเท่าเทียมทางเพศได้จริง แต่จากบทเรียนของประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก กลไกของโควตาเพียงอย่างเดียวสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้จริง แต่เป็นเพียงระยะสั้น ดังนั้นในระยะยาวเราจำเป็นที่จะต้องสร้างประชาธิปไตยที่แข็งแรง ซึ่งจะมาพร้อมกับความเสมอภาคของทุกเพศ ไปจนถึงปากท้องที่ดีขึ้นของประชาชน” อาจารย์เอมทิ้งท้ายว่า โดยเฉพาะในรัฐบาลเผด็จการ นักการเมืองหญิงและผู้หญิงจะประสบปัญหามากกว่ารัฐบาลที่มาจากประชาธิปไตย

วรรณวิภา กล่าวว่า ที่ตนได้เป็น ส.ส.เบอร์ต้น ๆ ของพรรค ในขณะที่ยังเป็นพรรคอนาคตใหม่ ทางพรรคเล็งเห็นว่าผู้หญิงแบบตนคือผู้หญิงส่วนใหญ่ทั้งประเทศ ซึ่งในการจะผลักดันสิทธิและสวัสดิการของผู้หญิงทั่วประเทศ จำเป็นที่จะต้องมีตัวแทนที่เข้าใจและตระหนักได้ว่าควรออกแบบนโยบายแบบใดที่จะรองรับผู้หญิงทั่วประเทศ

เช่นเดียวกับศิริภา แม้เธอจะมาจากครอบครัวที่มีฐานะ แต่ในความเป็นลูกผู้หญิง อาชีพนักการเมืองมักจะเป็นหนทางสุดท้ายที่ครอบครัวอยากให้เลือกเดินไป หลายครอบครัวเลือกที่จะให้ผู้หญิงอยู่บ้านเพียงอย่างเดียวด้วยซ้ำ การลบล้าง Mindset เหล่านี้ต่างหากที่จะเป็นจุดเริ่มต้นที่จะทำให้ผู้หญิงทุกคนกล้าที่จะออกมาเปลี่ยนแปลงสังคมด้วยเสียงของพวกเธอ

การลบภาพจำและลบความสัมพันธ์แบบ High profile, Highly connection ก็เป็นอีกจุดหนึ่งที่จะเสริมสร้างประชาธิปไตยให้แข็งแรง และจากเรื่องราวของวรรณวิภา แสดงให้เห็นแล้วว่า การให้ความเท่าเทียมทางเพศเป็นเพียงพิธีกรรมหนึ่งไม่นำมาซึ่งสวัสดิการใด ๆ ของผู้หญิง แต่พรรคการเมืองจะต้องตระหนักและปฏิบัติจริงผ่านการกระทำ ทั้งในรูปแบบของนโยบายและกฎเกณฑ์ภายในพรรค

จากการลบล้างภาพจำของวัฒนธรรมและระบบที่กดทับผู้หญิงให้อยู่ข้างล่าง เรืองรวี ยังกล่าวถึงงบประมาณจากภาครัฐ ที่ต้องจัดสรรเพื่อส่งเสริมสถานภาพของผู้หญิงให้ดีกว่าที่เป็นอยู่

“ประเทศที่มีพรรคการเมืองเดี่ยว ทำไมมีจำนวนผู้หญิงมากกว่า หากศึกษาให้ลึกซึ้ง จะพบว่ามีกลไกสนับสนุนผู้หญิงในระดับชาติ เวียดนาม ลาว กัมพูชามีกระทรวง ฟิลิปปินส์มี gender budget คือเขามีการโปรโมทเรื่อง gender เข้าไปเลย แต่เรายังไม่ใช้เรื่อง gender กับอะไรทั้งสิ้น เราต้องผลักดันคำว่าเพศสภาพให้เข้าไปอยู่ในรัฐธรรมนูญให้ได้ ตอนนี้เป็นเพศชายหญิงซึ่ง binary มาก เราต้องการให้ครอบคลุมความหลากหลายทางเพศกว่านี้”

“ซึ่งเรื่องนี้ในหลายประเทศมีคณะกรรมการระดับชาติ Gender equality commission มี union กระทรวง หรือ gender budget ของเรามี gender responsive budgeting คืองบประมาณที่คำนึงถึงเรื่องโควต้า และอยู่ในนโยบายของพรรค จะทำหรือไม่ทำก็ได้ เป็นภาคบังคับที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างมหาศาล” เรืองรวี กล่าว

ในเวทีเสวนาให้ความคิดเห็นไปทิศทางเดียวกัน คือการต้องสร้างวัฒนธรรมที่ยอมรับความเท่าเทียมและหลากหลายทางเพศมากยิ่งขึ้น หนึ่งในนั้น เรืองรวีเห็นว่าประเทศไทยควรจะมีการสร้างโรงเรียนหรือสถาบันอย่าง CAUCUS ที่ส่งเสริมและสามารถผลิตบุคลากรออกมาเพื่อทำงานสนับสนุนในด้านนี้ และจากประสบการณ์ในการทำงานที่ผ่านมา ยังไม่พบว่าเรื่องนี้จะเข้าถึงทางฝ่ายพรรคการเมืองเพิ่มขึ้นสักเท่าไหร่

เพราะจริง ๆ แล้วกลุ่มคนที่จะได้รับผลประโยชน์จากความเท่าเทียมทางเพศที่ออกมาในรูปแบบนโยบายคือทุกคน ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัจจุบัน ไม่ใช่แค่ผู้หญิง แต่เมื่อกระทั่งผู้ชายโดนข่มขืน ลวนลาม คนจะมองว่าเป็นเรื่องปกติ การสร้างเพดานใหม่ให้กับสังคมจะทำให้ไม่ว่าใครก็ไม่ต้องระแวงที่จะโดนคุกคาม ลวนลาม หรืออยู่ในภาวะที่รู้สึกไม่ปลอดภัยอีก ความเท่าเทียมดังกล่าวคือความเท่าเทียมที่ทุกคนจะเข้าถึงคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นต่างหาก ไม่ว่าเราจะเป็นเพศไหนก็ตาม

ท้ายที่สุด ความเท่าเทียมทางเพศ ไม่ใช่เรื่องจำนวนตัวเลขหรือโควตาเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการถอดรื้อระบบโครงสร้างทางความคิดที่ยังกดทับกันเองในสังคมไทย ผู้ชายสนับสนุนผู้หญิงได้ ผู้หญิงก็อาจจะไม่สนับสนุนผู้หญิงด้วยกันก็ได้

Gender quota อาจเป็นเพียงกลไกที่ถูกบังคับใช้ชั่วคราว โดยมีผลเพียงช่วงระยะเวลาหนึ่ง เพื่อให้ความเท่าเทียมทางเพศถูกมองเห็นมากขึ้น หรือถ้าหากมันเหมาะสมกับบริบทในสังคมไทย Gender quota ก็อาจเป็นหมุดหมายใหม่ ที่จะสังคมไทยจะใช้เป็นจุดเริ่มต้นในการดันเพดานนโยบายเพื่อความหลากหลายทางเพศเพิ่มขึ้นด้วย

และความคาดหวังจากสังคมต่อพรรคการเมืองในการเลือกตั้ง 66 นี้ จะไม่หยุดแค่เพศหญิงหรือเพศชายเพียงอย่างเดียว ในวันที่กรอบเพศทะลุความเชื่อเดิม ๆ ไปไกล การออกแบบนโยบายเพื่อรองรับความหลากหลายทางเพศอย่างครอบคลุมจริง ๆ คือเป้าหมายใหม่ที่พรรคการเมืองจำเป็นจะต้องมองเห็นและมอบสิทธิ สวัสดิการมาให้พวกเขาเหล่านี้

เพราะ ความเท่าเทียมและหลากหลายทางเพศ ไม่ควรถูกทำให้เป็นเพียง ‘ทางเลือก’ สำหรับการออกแบบนโยบาย แต่นี่เป็นเสียงที่พรรคการเมืองต้องรับฟัง เพราะไม่ว่าจะมากหรือน้อย เสียงเหล่านี้คือเสียงของ ‘ประชาชน’