คำถามว่า สังคมที่ดีควรจะเป็นอย่างไร เป็นคำถามคลาสสิคในทางปรัชญาการเมืองที่ปรากฏตั้งแต่มนุษย์เริ่มมีประวัติศาสตร์
กระทั่งทุกวันนี้คำถามนี้ก็ยังไม่มีคำตอบที่สมบูรณ์แบบ ไม่ว่าจะเป็นสังคมไหนก็ต่างมีภาพของรัฐและสังคมในอุดมคติ ในแบบของตัวเอง โดยอาจจะสะท้อนออกมาผ่านกฎหมาย ไปจนถึงสิ่งบันเทิงต่าง ๆ
เกิดใหม่ครั้งนี้จะสร้างประเทศที่ดีได้หรือเปล่านะ ก็เป็นหนึ่งในนั้น ภายใต้หน้าปกและวิธีการดำเนินแบบไลท์โนเวล แนวต่างโลก นิยายเรื่องนี้มีการสอดแทรกมุมมองทางการเมืองเข้าไปอย่างเข้มข้น ชนิดที่ทำให้เราสามารถบอกได้เต็มปากว่านิยายเรื่องนี้แสดงจุดยืนทางการเมืองออกมาอย่างโจ่งแจ้ง
โดย “เกิดใหม่ครั้งนี้จะสร้างประเทศที่ดีได้หรือเปล่านะ” หรือที่รู้จักกันในกลุ่มนักอ่านว่า “แทร็ปสร้างชาติ” เป็นงานเขียนสัญชาติไทยภายใต้ปากกาของ Starless Night โดยเกิดในช่วงสมัยที่อนิเมะหรือมังงะแนว Isekai หรือแนวต่างโลกกำลังอยู่ในจุดพีค โดยชื่อ “แทร็ปสร้างชาติ” นั้นเกิดมาจากการที่ตัวเอกของเรื่องนั้นได้เกิดใหม่ในร่างของเด็กหนุ่มที่ใบหน้าสวยราวกับผู้หญิง ซึ่งเป็นไทป์ตัวละครที่เรียกว่าแทร็ป (Trap) หรืออาจจะเรียกได้อีกอย่างว่าสาวดุ้น ซึ่งเป็นไทป์ที่พบบ่อยในสื่อการ์ตูนของญี่ปุ่น
เนื่องจาก Starless Night ต้องการให้นิยายเรื่องนี้เป็นไลท์โนเวล ทำ เกิดใหม่ครั้งนี้จะสร้างประเทศที่ดีได้หรือเปล่านะ มีลักษณะร่วมกับไลท์โนเวลอื่น ๆ ตั้งแต่ชื่อเรื่องที่เป็นชื่อยาว ๆ สรุปเนื้อเรื่องโดยย่อ ๆ ไปจนถึง ตัวละคร และบทสนทนาที่มีความเป็นตัวการ์ตูน เหมือนที่พบหากดูอนิเมะหรืออ่านมังงะ และการดำเนินเรื่องส่วนใหญ่ก็ใช้บทสนทนาในการดำเนินเรื่องเป็นหลักมากกว่าการบรรยาย ทั้งมีเซอร์วิสและขนบที่ปรากฏบ่อยในสื่ออย่างอนิเมะ
ด้วยการที่เป็นไลท์โนเวล เราจึงอาจกล่าวได้ว่า “แทร็ปสร้างชาติ” มีกลุ่มเป้าหมายเจาะไปที่ผู้ชื่นชอบการ์ตูนญี่ปุ่น โดยเฉพาะเด็กวัยรุ่น หาก เกิดใหม่ครั้งนี้จะสร้างประเทศที่ดีได้หรือเปล่านะ กลับมีความแตกต่างจากไลท์โนเวลส่วนใหญ่ในท้องตลาด
ด้วยการที่เป็นนิยายที่มีแง่มุมทางการเมืองที่เรียกได้ว่าค่อนข้างลึก และมีสารทางการเมืองที่ชัดมาก ๆ ดังที่กล่าวไว้ข้างต้น โดยนิยายเรื่องนี้มีการพูดถึงเรื่องประเทศที่ดีควรจะเป็นไปอย่างไรที่แม้คำตอบอาจไม่ถูกใจใครหลาย ๆ คน แต่ก็สามารถทำความเข้าใจได้ง่าย
แล้วอะไรล่ะคือคำตอบเรื่องประเทศที่ดีของนิยายเรื่องนี้กันล่ะ ขั้นแรกเราต้องทำความเข้าใจเสียก่อน ว่าแทร็ปสร้างชาตินั้นคือ เรื่องอะไรกันแน่
อะไรคือ แทร็ปสร้างชาติ
เกิดใหม่ครั้งนี้จะสร้างประเทศที่ดีได้หรือเปล่านะ ดำเนินเรื่องผ่านสายตาของนาวิน อดีตเลขานักการเมืองไทยที่โดนฆ่าตัดตอนเพื่อไม่ให้เจ้านายโดนสาวคดีทุจริตของตัวเอง หากแต่รู้ตัวอีกทีนาวินก็โผล่มาในโลกอีกโลกที่ผู้อยู่อาศัยเป็นมนุษย์ที่มีหูเหมือนสัตว์ในฐานะเทวดาที่ถูกอัญเชิญมาเข้าร่างนักโทษประหารคนหนึ่ง เพื่อช่วยเหลือเวียงแก้วจากวิกฤตที่กำลังเผชิญ
จากที่กล่าวมาอาจจะบอกได้ว่า แทร็ปสร้างชาติ ดำเนินเรื่องตามแบบของนิยายแนวต่างโลก ซึ่งการไปต่างโลกเกิดจากการตาย ซึ่งพบมาในขณะที่นิยายเรื่องนี้เขียน คือ ตัวเอกเกิดเหตุทำให้เสียชีวิต แล้วก็เลยได้ไปเกิดใหม่ที่ต่างโลกโดยมีความทรงจำของโลกเดิมอยู่
หากแต่องค์ประกอบที่ทำให้ เกิดใหม่ครั้งนี้จะสร้างประเทศที่ดีได้หรือเปล่านะ นั้นแตกต่างจากต่างโลกทั่วไปนั้น อาจจะบอกได้ว่ามีอย่างน้อยสองจุด จุดแรกนั้นคือภูมิหลังของตัวละคร เนื่องจากแนวต่างโลก โดยเฉพาะประเภทที่ตายแล้วเกิดใหม่ ยังไม่เคยมีเรื่องไหนที่ตัวเอกทำงานการเมืองเป็นหลัก แล้วถูกส่งไปต่างโลก ส่วนมาก ตัวเอกของนิยายประเภทนี้หากไม่ใช่พวกขี้แพ้ไปเลย ก็มักจะเป็นคนที่ประกอบอาชีพที่มีความเฉพาะอื่น ๆ อย่างนักบัญชี วิศวะ หรือบอกกว้าง ๆ ไปว่าทำงานบริษัท ยังไม่มีใครบอกชัดเจนขนาดนี้ว่าตัวเอกทำงานทางการเมือง (และมีส่วนพัวพันกับการคอร์รัปชัน)
จุดที่สองนั้นคือการเซตติ้งของโลก เพราะแนวต่างโลกทั่วไปของญี่ปุ่นที่มักจะมีฉากหลังของโลกใหม่เป็นโลกที่ได้แรงบันดาลใจมาจากพวกเกม JRPG อย่างดราก้อนเควสที่โลกจะมีลักษณะคล้ายกับยุโรปยุคกลาง พร้อมกับมอนสเตอร์แนว ๆ สไลม์หรือก็อบลิน ผู้เขียนได้เลือกที่จะให้ภาพของโลกที่นาวินได้มาเกิดใหม่เป็นโลกที่มีฉากหลังเป็นยุคศักดินาแบบไทย โดยถ้าเจาะจงลงไปอีก ผู้เขียนเลือกที่จะให้โลกที่เป็นสถานที่ดำเนินเรื่องนั้นมีวัฒนธรรมลักษณะคล้าย ๆ กับภาคเหนือของไทย นั่นทำให้ชื่อเมืองในเรื่องส่วนใหญ่ใช้ชื่อว่า ‘เวียง‘ เป็นหลัก
แล้วนั้นทำให้เราเข้าสู่ประเด็นที่คนแต่งต้องการจะสื่อ เมื่อชื่อเรื่องบอกว่า เกิดใหม่ครั้งนี้จะสร้างประเทศที่ดีได้หรือเปล่านะ นั่นแสดงว่าที่ ๆ เกิดใหม่นั้นต้องเป็นประเทศที่ไม่ดี หากแต่ประเทศที่ไม่ดีในนิยายเรื่องนี้เป็นอะไรกันแน่
ระบบศักดินาในอีกมุมหนึ่ง
ทั่วไปแล้วการที่จะบอกถึงรัฐหรือสังคมที่ดีได้นั้น วิธีการที่ง่ายที่สุดที่จะพูดถึงสิ่งที่ดีได้นั้น คือ ต้องบอกก่อนว่าอะไรคือสิ่งที่ไม่ดี เพื่อที่จะบอกว่าประเทศที่ดีควรจะเป็นยังไง ขั้นแรก Starless Night ได้ใช้วิธีที่ง่ายที่สุดคือ การให้ภาพของสังคมที่ไม่ดีว่าเป็นยังไงตั้งแต่แรก โดยสังคมที่ไม่ดีที่ Starless Night ยกมานั้นใช้แบบมาจากรัฐจารีตของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภาคพื้นทวีป โดยมีการดัดแปลงบางส่วนเพื่อให้เข้ากับการดำเนินเรื่อง เช่น รัฐในเรื่องนี้ไม่ได้นับถือศาสนาพุทธหรือศาสนาพราหมณ์ หากแต่นับถือศาสนาที่มีพระเจ้าองค์เดียวแบบศาสนาตระกูลอับราฮัม และโครงสร้างทางอำนาจบางส่วนไม่เหมือนกับรัฐจารีตของภาคพื้นทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
โดยรัฐจารีตในเรื่องนั้นถูกกล่าวในแง่มุมลบ คือ เป็นรัฐที่ไม่มีสิทธิ เสรีภาพ คนไม่มีความเท่ากัน และมีระบบทาส และด้วยไม่มีการเลือกตั้งทำให้การจะเปลี่ยนถ่ายอำนาจนั้นก็เสี่ยงที่จะเกิดความรุนแรง ขณะเดียวกันความเป็นอยู่ก็ใช่ว่าจะดี เพราะอาหารก็ยังขาดแคลน ส่วนเสื้อผ้าก็แทบไม่มีใส่
วิธีการเล่าของ Starless Night นอกจากเรื่องความบกพร่องของระบบแล้ว เขายังพูดถึงชีวิตความเป็นอยู่ไปพร้อมกัน เพื่อชักจูงให้ผู้อ่านเห็นด้วยกับสิ่งที่ตัวเอกจะตัดสินใจทำ ซึ่งก็คือการเปลี่ยน “ประเทศที่เลวร้าย” ให้กลายเป็น “ประเทศที่ดี”
หากแต่ก่อนที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงได้นั้น ในขั้นแรกตัวเอกของเรื่องจำเป็นอย่างมากที่จะต้องมีอำนาจในมือ หากนาวินในตอนแรกนั้นไม่ได้มีอำนาจ การอัญเชิญนาวินมายังต่างโลกเป็นไปเพื่อที่จะให้เขามารักษากษัตริย์ของเมืองเวียงแก้ว ทำให้เขาไม่ได้มีอำนาจแต่แรก ทั้งตัวนาวินก็ยังถูกออกแบบมาเป็นตัวละครที่ชอบหนีปัญหา ทำให้เขาไม่ปรารถนาซึ่งอำนาจ หากแต่ด้วยสถานการณ์บังคับ เมื่อกษัตริย์เวียงแก้วถูกสังหารหลังจากที่นาวินทำการรักษาจนได้สติกลับคืนมาเป็นที่เรียบร้อย ทำให้นาวินถูกบีบให้ต้องเคลื่อนไหวทางการเมือง และเนื่องจากไม่มีระบบเลือกตั้งทำให้การจะได้อำนาจต้องใช้กำลังทหารในการยึดอำนาจ โดยนาวินใช้ความรู้จากการรัฐประหารของประเทศไทย แล้วเนื่องจากนาวินไม่มีกำลังทหารเป็นของตัวเอง ทำให้เขาเลือกลอกแบบมาจากการปฏิวัติ 2475 ของคณะราษฎร
และถ้าจะพูดถึงความรู้เรื่องการยึดอำนาจแล้ว ขอบอกเลยว่าอย่าดูถูกเลขานักการเมืองของประเทศที่มีการรัฐประหารติดอันดับต้น ๆ ของโลก
ซึ่งนาวินก็สามารถยึดอำนาจได้สำเร็จ แล้วได้รับแต่งตั้งเป็นขุนหลวงคนใหม่ แม้ตัวเขาจะไม่ยินดีก็ตาม แต่นั่นทำให้เขาสามารถมีอำนาจในการสร้างประเทศที่ดีได้ตามมาด้วยนั่นเอง
ประเทศที่ดีในแบบของแทร็ปสร้างชาติ
ในนิยายเล่มแรกของแทร็ปสร้างชาตินั้นพูดถึงเรื่องการยึดอำนาจของนาวิน และสภาพความเป็นอยู่ของสังคมที่ไม่ดีอย่างรัฐจารีต
เล่มต่อ ๆ มานั้นก็จะเป็นการพูดถึงการสร้างประเทศที่ดี ซึ่งประเทศที่ดีในแบบของนิยายนั้นก็ไม่ใช่ ประเทศในอุดมคติอะไรมากมาย แต่เป็นประเทศในรูปแบบของรัฐเสรีนิยมประชาธิปไตยซึ่งถอดแบบมาจากประเทศอังกฤษ
เราสามารถเห็นได้จากการที่เวียงแก้วยังมีกษัตริย์ (แถมกษัตริย์ยังเป็นราชินี ซึ่งขณะนิยายเรื่องนี้ตีพิมพ์กษัตริย์อังกฤษยังเป็นราชินีเอลิซาเบธที่สองอยู่) และแม้จะเป็นระบบประชาธิปไตย แต่ก็เป็นระบบสองสภาโดยมีสภาสูงเป็นสภาขุนนางตามแบบสภาอังกฤษ การตรากฎหมายก็ใช้แบบอังกฤษ ส่วนระบบเศรษฐกิจก็เป็นระบบทุนนิยมสุดขั้ว เปิดเสรีตลาดสุดกู่
ฟังดูแล้วสังคมที่ดีของ Starless Night นั้นไม่ดูขุดรากถอนโคน ทั้งรัฐแบบอังกฤษก็มีปัญหาอยู่หลายเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องความเหลื่อมล้ำ ซึ่งไม่แปลกในแฟนเพจเฟซบุ๊คของ Starless Night นั้นเขาประกาศชัดว่าตัวเองเป็นอนุรักษ์นิยม ทว่าเขาเป็นอนุรักษ์นิยมที่สนับสนุนประชาธิปไตยทำให้เขามองอังกฤษเป็นโมเดลในการพัฒนา
หากแต่ถ้าเรามองในมุมของเนื้อเรื่องในนิยาย เราอาจบอกได้ว่ารัฐแบบอังกฤษซึ่งมีข้อเสียอยู่หลายอย่าง นับว่าล้ำหน้ามาก ๆ เมื่อเทียบกับรัฐจารีต
เนื่องจากอย่างไรก็ตามอังกฤษก็เป็นรัฐสมัยใหม่ ที่มีศักยภาพในการจัดการทรัพยากรสูงกว่ารัฐจารีต ทำให้ไม่ว่าอย่างไรคุณภาพชีวิตของประชากรก็ดีขึ้น
ขณะเดียวกันแม้อังกฤษอาจจะไม่ได้ชื่อว่าเป็นรัฐที่ก้าวหน้าที่สุดในโลกตะวันตก แต่ค่านิยมแบบประชาธิปไตยเมื่อไปอยู่ในโลกจารีตก็กลายเป็นก้าวหน้า จนถึงขั้นที่บอกได้ว่าเป็นภัยต่อระบบศักดินามาก ๆ
ส่วนระบบทุนนิยมนั้นก็นำมาซึ่งชีวิตที่ดีขึ้นเมื่อเทียบกับระบบศักดินา
คำตอบของ Starless Night ในเรื่องประเทศที่ดีนั้นจึงอาจจะเรียกได้ว่ารอมชอมมาก ๆ กลุ่มอนุรักษ์นิยมในเมืองไทยสามารถถูกใจกับข้อเสนอนี้ได้ ขณะเดียวกันกลุ่มหัวก้าวหน้าก็โอเคกับข้อเสนอนี้ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะ Starless Night เลือกคู่ชกที่เป็นศักดินาซึ่งสามารถพูดได้ง่ายกว่าว่ามีข้อเสียทั้งในแง่ของสิทธิและชีวิตความเป็นอยู่ซึ่งด้อยกับรัฐสมัยใหม่ทั้งสองด้าน
หากแต่การรอมชอมนี้อาจจะเป็นข้อดี เพราะเป็นการเปิดโอกาสให้กับผู้อ่านตอบคำถามว่าหากเราอยู่ในสถานะเดียวกับนาวิน เราจะสร้างประเทศที่ดีในแบบของเราอย่างไรด้วย
ประเทศที่ดีในแบบของเรา
เกิดใหม่ครั้งนี้จะสร้างประเทศที่ดีได้หรือเปล่านะ แม้จะเป็นไลท์โนเวลที่เนื้อหามีความเอาใจวัยรุ่น แต่ก็เป็นนิยายการเมืองที่มีสารโจ่งแจ้ง หากแต่สุดท้าย แม้ Starless Night จะชี้ให้เห็นถึงข้อดีของประเทศต้นแบบการพัฒนาตามแบบของเขา แต่เขาก็ยังชวนตั้งคำถามว่าสังคมนั้นใช่สังคมที่ดีจริง ๆ หรือไม่ เพราะแม้แต่ตัวเอกของเรื่องอย่างนาวินก็ไม่แน่ใจว่ารัฐเวียงแก้วที่เขาปฏิรูปจะกลายเป็นประเทศที่ดีได้หรือไม่
คำตอบที่กลาง ๆ ของเขาจึงเปิดช่องให้คนอ่านได้คิดต่อ
สุดท้ายคำตอบเรื่องประเทศในอุดมคติก็ยังเป็นผู้อ่านเองที่จะต้องตอบด้วยตัวเอง
ขอบคุณภาพประกอบจาก Palo Publishing Official
หนังสือ: เกิดใหม่ครั้งนี้จะสร้างประเทศที่ดีได้หรือเปล่านะ
นักเขียน: Starless Night
สำนักพิมพ์: Palo Publishing
PlayRead: คอลัมน์รีวิวหนังสือประจำ Decode.plus เมื่อกองบรรณาธิการขอ add หนังสือ (ที่อยากอ่าน)ไว้ในเพล ย์ลิสต์ พบกับหนังสือหลากหลายสไตล์ หลากหลายวิธีการเล่าเรื่องที่เชื่อมร้อยกับชีวิตและสังคม แวะมาหาอ่านกันได้ทุกเย็นวันพฤหัสบดี