สัญญาณดีที่ชุมชนสะพานร่วมใจ - Decode
Reading Time: 2 minutes

ชาวบ้าน ชาวช่อง

ผศ.ดร.บุญเลิศ  วิเศษปรีชา

ชุมชนซอยสะพานร่วมใจเป็นชุมชนเล็ก ๆ แห่งหนึ่ง ซึ่งไม่ได้เป็นที่รู้จักของคนทั่วไป ตั้งอยู่ที่ท้ายซอยวิภาวดี 80 ไม่ไกลจากสนามบินดอนเมือง ชุมชนแห่งนี้มีเรื่องราวที่น่าสนใจ เพราะเดิมถูกกรมทางหลวงซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินที่ชุมชนปลูกสร้างบ้านเรือนอยู่ประกาศให้รื้อถอนบ้านเรือนออกไปสำนักงานแขวงทางหลวงกรุงเทพฯ แต่ชาวชุมชนร่วมใจและเครือข่ายชุมชน กลับสามารถต่อรอง กระทั่งได้ข้อสรุปเป็นที่น่าพอใจ คือชุมชนไม่ต้องรื้อย้ายตามประกาศเดิม แต่ได้รับอนุญาตให้เช่าที่ดินอย่างถูกต้องตามกฎหมาย

กรณีชุมชนสะพานร่วมใจ จึงเป็นตัวอย่างที่ดีว่า แนวทางการแก้ไขปัญหาที่ได้ข้อยุติร่วมกันระหว่างเจ้าของที่ดินกับชุมชน ไม่ใช่เรื่องเพ้อฝันแต่สามารถเกิดขึ้นเป็นจริงได้

โดยปัจจัยสำคัญขึ้นอยู่กับว่า เจ้าของที่ดินจะยอมเปลี่ยนวิธีคิดจากยึดประโยชน์ฝ่ายเดียว หรือหาทางออกแบบได้ประโยชน์ร่วมกัน ด้วยการแบ่งปันที่ดินให้คนจนได้เข้าถึงสิทธิในที่อยู่อาศัยและสิทธิที่จะมีส่วนร่วมในชีวิตเมือง แทนที่จะถูกรื้อย้ายออกไปนอกเมือง 

จากทุ่งดอนเมืองสู่ชุมชนชายขอบ

ความเป็นมาของชุมชนซอยสะพานร่วมใจ และพัฒนาการที่ค่อย ๆ ขยายตัวขึ้น แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์กับการกลายเป็นเมืองอย่างแยกไม่ออก คำถามก็คือ ชุมชนที่พัฒนามาพร้อมกับความเจริญของพื้นที่ ถึงวันหนึ่งจะขับไล่พวกเขาจนไม่เหลือที่ซุกหัวนอนเช่นนั้นหรือ

ลุงแดง – สุรศักดิ์ บัวรุ่ง อายุ 63 ปี หนึ่งในคณะกรรมการชุมชน โดยมีคุณยายคนรุ่นแรกที่มาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่ชุมชนนี้เล่าให้ฟังด้วยนำเสียงเหน่อ ๆ แบบคนภาคกลางว่า ครอบครัวมีเชื้อสายมอญอพยพมาอยู่ที่อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี จากนั้น ยายย้ายมาเช่าที่ดินทำนาอยู่ที่นี่ สมัยที่ย่านดอนเมืองยังเป็นทุ่งนา คุณแม่ของลุงแดงเกิดที่นี่เมื่อปี พ.ศ. 2474 ลุงแดงก็เกิดและโตที่นี่เช่นเดียวกัน แสดงว่าคุณยายต้องมาทำนาที่นี่ตั้งแต่ก่อนปี 2474 แล้ว ร่องรอยที่เคยทำนาที่เหลืออยู่ ก็คือ พื้นที่ท้ายชุมชนที่ผมและนักศึกษาไปนั่งคุยกับลุงแดงและญาติ ๆ เคยเป็นลานนวดข้าวมาก่อน เริ่มแรกมีเพียงบ้านไม่กี่หลังปลูกห่าง ๆ กัน ยังไม่มีถนนวิภาวดีรังสิต

ถนนวิภาวดีรังสิตเริ่มก่อสร้างเมื่อปี 2504 ชาวบ้านเรียกกันว่า ถนนซุปเปอร์ไฮเวย์ เมื่อมีการก่อสร้างถนนโดยกรมทางหลวงก็มีการเวนคืนที่ดิน รวมถึงที่ดินที่ยายของลุงแดงเช่าอยู่ด้วย โดยเวนคืนเพื่อจะนำหน้าดินไปถมทำถนนวิภาวดีรังสิต ต่อมาก็ใช้ทำสำนักงาน หรือเป็นที่เก็บกองวัสดุก่อสร้างต่าง ๆ โดยเจ้าของที่ดินได้รับค่าเวนคืนตามกฎหมาย แต่ยายของลุงแดงซึ่งเป็นผู้เช่าไม่ได้ค่ารื้อถอนแต่อย่างใด

“แม่ผมเคยเล่าให้ฟังว่า สมัยโน้นกรมทางหลวง เขาก็ถามยายผมว่า จะรับเงินแล้วก็ย้ายออกไป หรือจะอยู่ไปก่อน” เป็นคำบอกเล่าของลุงแดง ที่เท้าความถึงอดีตว่า แม้กรมทางหลวงจะเวนคืนที่ดินแล้ว แต่ไม่ได้เข้มงวดใช้ที่ดินทั้งแปลง ทำให้ยายของลุงแดงยังทำนามาอย่างต่อเนื่อง นอกจากนาแล้วก็มีบึงปลูกผักบุ้ง ผักกระเฉด ปลูกบัวหลวง หาปลา เช่น ปลาแขยง ปลากด ปลาชะโด

เมื่อมีการก่อสร้างถนนวิภาวดี ความเจริญต่าง ๆ ติดตามมา สิ่งสำคัญที่นำการเปลี่ยนแปลงสำคัญมาสู่พื้นที่ย่านนั้นก็คือ โรงงานทอผ้าไทย ที่เริ่มก่อตั้งปี 2504 และโรงงานไทยเทยิ่นในปี 2508 โดยเจ้าของเดียวกัน โรงงานทั้งสองมาตั้งอยู่ข้าง ๆ ผืนดินที่เคยทำนาเดิม ผลที่ไม่คาดคิดก็คือ น้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรมทำให้ไม่สามารถทำนาได้ โดยเฉพาะเมื่อโรงงานสร้างครบทั้งสองโรง ครอบครัวลุงแดงจึงเปลี่ยนอาชีพมาทำงานโรงงานรวมถึงลุงแดงด้วย

นอกจากนี้ เมื่อมีโรงงานก็ทำให้คนจากถิ่นอื่น ๆ หลั่งไหลเข้ามาทำงาน คนงานในโรงงานที่รู้ว่าลุงแดงและญาติ ๆ ที่ทำงานโรงงานปลูกบ้านอยู่ข้าง ๆ โรงงานนี่เอง จึงขอปลูกบ้านเป็นที่อยู่อาศัยด้วย “เรียกว่า คนในชุมชนร้อยละ 90 คือ คนที่เคยทำงานโรงงานมาทั้งนั้น สมัยก่อนกรมทางหลวง เขายังไม่ได้จำเป็นต้องใช้พื้นที่ตรงนี้ พวกเราก็ปลูกอยู่ขอบ ๆ ที่ดิน เป็นแนวยาวไป” 

เมื่อมีผู้คนมาอยู่หนาแน่นจึงเกิดเป็นชุมชน และมีการจดทะเบียนจัดตั้งชุมชน มีคณะกรรมการชุมชนที่สำนักงานเขตดอนเมืองรับรองในปี 2542 ปัจจุบัน ชุมชนมีสมาชิกทั้งหมด 84 ครัวเรือน ส่วนโรงงานทั้งสองก็หยุดกิจการไปตามยุคสมัย เปลี่ยนเป็นปลูกพืชเกษตรสีเขียวแทน ละแวกใกล้เคียงก็มีหมู่บ้านจัดสรร ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นพนักงานในสำนักงานหรือช่างระดับสูงที่มีรายได้พอจะซื้อบ้านจัดสรรได้ ไม่ใช่คนงานในไลน์การผลิต

กระแสไล่รื้อและการต่อรอง

ชาวชุมชนซอยสะพานร่วมใจอยู่กันอย่างปกติสุข มีทะเบียนบ้าน มีน้ำประปา และไฟฟ้า เหมือนบ้านเรือนทั่วไป แต่เรื่องสำคัญที่ชุมชนคาดไม่ถึงว่าจะทำให้ชุมชนต้องเดือดร้อนก็คือ การถูกขับไล่ให้ย้ายที่อยู่

สืบเนื่องมาจากพื้นที่ของกรมทางหลวงอีกแปลงหนึ่งถูกจัดสรรไปใช้โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ดังนั้นกรมทางหลวงจึงต้องกลับมาขยายสำนักงานแขวงที่ย่านดอนเมือง ซึ่งเดิมเป็นเพียงที่วางอุปกรณ์ก่อสร้างเป็นสำนักงาน เดือนตุลาคม ปี 2563 ชาวบ้านจึงได้รับหมายจากผู้อำนวยการแขวงทางหลวงกรุงเทพฯ ให้รื้อย้ายบ้านเรือนออกไป เพราะแขวงทางหลวงจำเป็นต้องก่อสร้างสำนักงานและบ้านพักพนักงาน และก็มีการก่อสร้างบ้านพัก ใช้รถแบ็คโฮถมดินเกลี่ยดิน แม้จะไม่โดนบ้านชาวบ้านโดยตรง แต่ดินก็ไถลไปทำให้บ้านทรุด ชาวบ้านถึงกลับประท้วงต่อต้านด้วยการเอาตัวไปขวางรถแบคโฮ การก่อสร้างจึงทำด้วยความระมัดระวังไม่ให้กระทบบ้านเรือนชาวบ้าน

คุณติ๊ก – ธนพร บัวรุ่ง ลูกหลานคนหนึ่งของในตระกูลบัวรุ่ง เช่นเดียวกับลุงแดง ปัจจุบันเป็นประธานคณะกรรมการจัดตั้งสหกรณ์เคหสถานเล่าให้ฟังว่า เริ่มแรกกรมทางหลวงมีหนังสือแจ้งมายังประธานชุมชน และชาวบ้าน ให้ต้องย้ายออกภายใน 15 วัน ชาวบ้านที่เดือดร้อนก็ไปเรียกร้องแขวงการทางกรุงเทพ แต่ก็ถูกปฏิเสธอย่างเดียว และบอกว่าจะ “ต้องใช้พื้นที่เต็ม” และยืนยันว่า “ไม่มีทางที่ชาวบ้านจะอยู่ต่อได้ ยังไงก็ต้องย้ายออกหมด” 

ขณะนั้น ชุมชนซอยสะพานร่วมใจเป็นสมาชิกของสภาองค์กรชุมชน เขตดอนเมือง ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) องค์การมหาชน สังกัดกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) คุณติ๊กเล่าว่า เจ้าหน้าที่ พอช. แนะนำว่า ให้ชาวบ้านรวมตัวกันตั้งกลุ่มออมทรัพย์ และให้ไปหาที่ดินที่ใช้เป็นที่รองรับ เมื่อได้ที่ที่ถูกใจก็สามารถมาขอกู้เงินจากพอช. ไปซื้อที่ดินปลูกสร้างบ้านของตนเองได้ แต่คนในชุมชนก็เรียนรู้ด้วยตัวเองอย่างรวดเร็วว่า แนวทางนี้ไม่สอดคล้องกับชีวิตจริงของชาวบ้าน

คุณติ๊กเล่าว่า “พวกชาวบ้านก็ไปหาดูที่ดินแถบสายไหม ปรากฏว่าที่ดินไร่ละ 9 ล้านบาท ถ้าจะซื้อต้องซื้อยกแปลง 45 ล้าน แล้วชาวบ้านจะไปซื้อไหวได้ยังไง เพราะพวกเราอาชีพหาเช้ากินค่ำ ตอนหลังทางกระทรวงคมนาคมก็แนะนำให้เราไปขอความช่วยเหลือจาก พอช. แต่เรารู้แล้วว่าทาง พอช. เขาแนะให้เราไปหาซื้อที่ดิน พวกเราจะไปทำไม พวกเราไม่เอาทางนี้”

ประจวบเหมาะกับมีการเคลื่อนไหวของกลุ่มพีมูฟ (P-Move) หรือขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ซึ่งเป็นการรวมตัวของเครือข่ายภาคประชาชนหลายองค์กร เช่น เครือข่ายสลัม 4 ภาค ชุมชนสะพานร่วมใจก็ไปยื่นข้อเรียกร้องร่วมกับพีมูฟด้วย โดยเป็นกรณีปัญหาภายใต้คณะอนุกรรมการของกระทรวงคมนาคม ที่มีนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ เป็นประธาน

แม้หน่วยงานที่ชุมชนสะพานร่วมใจมีข้อพิพาทด้วยจะเป็น กรมทางหลวง แต่ชุมชนสะพานร่วมใจก็เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายชุมชนคนจนเมืองผู้ได้รับผลกระทบรถไฟ (ชมฟ.) ซึ่งกำลังได้รับผลกระทบจากโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน และโครงการพัฒนาอื่น ๆ ของการรถไฟ เพราะมีเป้าหมายตรงกัน คือต่อสู้เพื่ออยู่ที่เดิมหรือย้ายในเขตเมือง และหน่วยงานที่รับผิดชอบอยู่ในกระทรวงคมนาคมเหมือนกัน  

การเข้าร่วมกับ ชมฟ. ทำให้เสียงของชุมชนสะพานร่วมใจ “ดัง” ขึ้น เพราะไม่ได้มีแค่การยื่นหนังสือร้องเรียนด้วยคนไม่กี่คน แต่มีการชุมนุมร่วมกับเครือข่าย ชมฟ. และ พีมูฟ ที่หน้ากระทรวงคมนาคม และทำเนียบรัฐบาลหลายครั้ง ในระดับพื้นที่ก็มีชาวบ้านไปรวมตัวเพื่อรอฟังผลการประชุมที่สำนักงานแขวง ประกอบกับท่าทีของฝ่ายการเมืองที่ส่งสัญญาณให้หาทางออกด้วยการใช้หลักรัฐศาสตร์ไม่ใช่หลักกฎหมายขับไล่อย่างเดียว ทำให้เรื่อง กระทั่ง กรมทางหลวงยอมรับข้อเท็จจริงว่า ที่ตั้งของชุมชนนั้นอยู่ชายขอบรอบ ๆ ที่ดินของกรมทางหลวง และกรมทางหลวงไม่มีความจำเป็นต้องใช้ที่ดินทั้งหมด จึงควรให้ชุมชนอยู่อาศัยได้ แต่กรมทางหลวงไม่ได้มีหน้าที่ให้ชาวบ้านเช่าที่ดินได้โดยตรง ต้องประสานกับกรมธนารักษ์

วันที่ 25 กันยายน 2565 จึงเป็นวันสำคัญที่กรมทางหลวงส่งมอบที่ดินขนาด 3 ไร่ 16 ตารางวา คืนกรมธนารักษ์ และให้กรมธนารักษ์นำพื้นที่ส่วนนั้นไปให้ชุมชนเช่าทำที่อยู่อาศัย ตามแนวทางของโครงการบ้านมั่นคง ชุมชนก็จะได้ความมั่นคงมีสิทธิตามกฎหมายและคุณภาพชีวิตดีขึ้น เพราะจะมีการปรับผังปลูกบ้านใหม่โดยได้รับเงินอุดหนุนทั้งแบบให้เปล่าและสินเชื่อจาก พอช.

ตลอดช่วงปลายปี 2565 จนถึงเดือนมกราคม 2566 ชุมชนซอยสะพานร่วมใจ มีการประชุมต่อเนื่องกันหลายครั้ง เพื่อจัดตั้งสหกรณ์เคหสถาน เป็นนิติบุคคล สามารถทำสัญญาเช่าที่ดินจากกรมธนารักษ์ได้ 

สัญญาณดี ๆ ที่เกิดขึ้นที่ชุมชนสะพานร่วมใจ เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า การเรียกร้องให้เจ้าของที่ดินแบ่งปันที่ดินให้คนจนได้อยู่อาศัย ไม่ใช่เรื่องเพ้อฝัน หากแต่เป็นไปได้ ก็ด้วยองค์ประกอบสำคัญสองส่วน ส่วนแรกที่ขาดไม่ได้ คือการรวมตัวอย่างเข้มแข็งของชุมชนและเครือข่าย โดยยึดกุมเป้าหมายที่จะต่อสู้เพื่ออยู่ในที่ดินเดิม ส่วนที่สองที่สำคัญไม่แพ้กันคือ วิสัยทัศน์ของผู้กำหนดนโยบายให้เจ้าหน้าที่ไปปฏิบัติ หากผู้บริหารไม่คิดแต่จะหากำไรจากการนำที่ดินให้นายทุนเช่า หรือ รังเกียจที่จะมีคนจนอยู่ละแวกใกล้เคียง การแก้ไขปัญหาแบบที่ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ร่วมกัน ก็ไม่ใช่ความฝัน แต่เป็นความจริงที่เกิดขึ้นได้