อำนาจ ศิลปะ และการมองเห็น - Decode
Reading Time: 2 minutes

‘การเมืองคือเรื่องของทุกคน’ หนึ่งในวาทะกรรมที่คุ้นหูและเห็นด้วยตาตนเองบ่อยครั้งในสถานการณ์การเมืองไทย 2 ปีที่ผ่านมา ถึงอย่างนั้นเยาวชนไทยบางส่วนก็ยังถูกปลูกฝังว่า การเมืองเป็นเรื่องไกลตัว แม้แต่งานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 27 ที่ผ่านมา ได้มีคนเข้าก่อความวุ่นวาย ทำร้าย ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ในขณะที่แจกลายเซ็นอยู่ที่ บูทคณะก้าวหน้า พร้อมทั้งตะโกนขู่ว่ามีระเบิด

จนกระทั่งมีคนแสดงความคิดเห็นว่า ‘ไม่ควรมีการเมือง มาปนในงานหนังสือ’ และเป็นอีกครั้งที่อะไรที่เกี่ยวกับการเมือง ถูกมองเป็นความชั่วร้าย ที่นำเรื่องแย่ ๆ มา ในสายตาของคนบางกลุ่ม

หากว่าการเมืองถูกสร้างภาพจำมาว่าคือความวุ่นวาย และศิลปะคือความบริสุทธิ์ที่คอยจรรโลงใจ ศิลปะและการเมือง 2 สิ่งนี้ควรแยกออกจากกันหรือเปล่า?

‘การเมืองทัศนา’ หนังสือที่เขียนโดย ผศ.ดร.บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง และดำรงตำแหน่งรองคณะบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่จะพาเราย้อนกลับไป สำรวจอำนาจศิลปะที่ถูกใช้คู่ขนานไปกับการเมือง

ศิลปะกับการเมือง

ตั้งแต่เกิดมาเราถูกบอกโดยครอบครัว สถาบันการศึกษา สื่อทางโทรทัศน์ ว่าการเมืองคือความชั่วร้าย นักการเมืองโกงกินบ้านเมือง สร้างความแตกแยก ทำลายชาติ ทำลายความเป็นไทยที่รักสามัคคี ศิลปะจึงคือความบริสุทธิ์ ความงดงาม และคือการวาดภาพบุคคลอันเป็นที่รักของแผ่นดินไทยในทุกภาคการศึกษา

ตอนนั้นเราไม่รู้ตัวเลยว่า ซุ้มสีทองที่เราเห็นระหว่างซ้อนมอเตอร์ไซต์พ่อไปเรียนในตอนเช้า บทเพลงที่วงโยธวาทิตประจำโรงเรียนเล่นในวันสำคัญของไทย และการยืนเคารพเพลงสรรเสริญก่อนที่จะดูหนัง ล้วนเป็นศิลปะทั้งภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว ท่วงทำนองดนตรี ที่แฝงเข้ามาในชีวิตเรา ล้วนถูกจัดวางและสร้างขึ้นมา จนเรามองว่าสิ่งเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตที่ปกติดี

โรล็องด์ บาร์ตส์ นักทฤษฎีวรรณกรรมและทฤษฎีสังคม กล่าวไว้ว่า

“สังคมพยายามควบคุมภาพถ่าย ด้วยการทำให้มันเป็นศิลปะ เพราะการหยิบยื่นสถานะของศิลปะทำให้ภาวะหลอนหมดสภาพหรือถูกลืมเลือน เนื่องจากสาระสำคัญเบื้องต้นของภาพถ่าย คือการหลอนลวงให้เราเห็นว่ามันคือความจริง หรือเคยเป็นความจริง ประการที่สอง ภาพถ่ายถูกทำให้เป็นเรื่องธรรมดาสามัญจนสาระสำคัญของมันคือความจริงลวงไม่ถูกตระหนักรู้”

ในยุคสมัยที่การสร้างและบันทึกภาพ เราทุกคนสามารถทำได้โดยการหยิบโทรศัพท์มือถือที่ใกล้ตัวเราขึ้นมา และแชร์ภาพให้กันในช่วงเวลาที่ภาพถูกบันทึกไม่กี่วินาที การรับรู้ ถึงเหตุการณ์สังคมในปัจจุบันจึงมีทางเลือกหลากหลายมากขึ้น ไม่ใช่ถูกจำกัดอยู่แค่สื่อโทรทัศน์หรือสื่อหนังสือพิมพ์ เราจึงมีสิทธิ์ที่จะตัดสินใจ รัก เชื่อ เคารพ จนกระทั่งเห็นความผิดปกติในมิติอื่น ๆ ที่เราไม่เคยมองเห็น แม้สิ่งนั้นจะเป็นความล้มเหลวของรัฐ ความอยุติธรรมในสังคม ความสิ้นหวังของตัวเราเอง แต่ในขณะเดียวกันสิ่งเหล่านั้นก็ปลุกเร้าการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยมากขึ้น เพื่อ ‘ภาพ’ ที่เราอยากจะเห็นในอนาคต

ภาพถ่ายจึงสามารถบันทึกความจริงได้และในขณะเดียวกันมันก็สามารถสร้างความจริงอีกชุดขึ้นมาได้ เป็นทั้งเครื่องมือที่คอยกล่อมให้เราอยู่ในระบบ และต้องเป็นคนดี ตามค่านิยมที่รัฐคอยสอน และในขณะดียวกันก็เป็นเครื่องมือในการต่อต้านอำนาจรัฐจากเราที่เป็นเพียงคนตัวเล็กในสังคม

ท่ามกลางกระแสการชุมนุมใน 2 ปีที่ผ่านมาภาพความรุนแรงของรัฐถูกแสดงให้เห็น โซเชียลมีเดียในหลาย ๆ แพลตฟอร์ม ไม่ได้มีแค่การนำเสนอภาพจากสื่อเท่านั้นแต่หลายภาพยังถูกบันทึกจากผู้เข้าร่วมชุมนุม และสื่ออิสระ ที่รัฐไม่สามารถควบคุมได้ เราจึงเห็นการที่ตำรวจควบคุมฝูงชนเอาไม้ฟาดกล้องของสื่ออิสระ รวมไปถึงขั้นการทำร้ายร่างกาย โดยตำรวจควบคุมฝูงชน ให้เหตุผลว่าสื่อที่ไม่มีปลอกแขน ไม่สามารถยอมรับเป็นสื่อได้ แต่อีกนัยหนึ่ง รัฐก็ไม่มีหน่วยงานที่คอยควบคุมสื่อที่ไม่มีปลอกแขนได้ หรือประชาชนที่มาร่วมชุมนุมได้ ความรุนแรงจึงเป็นสิ่งที่ใช้งานง่ายและไม่ต้องกลัวผลกระทบตามมา 

ความอันตรายของศิลปะ

ภายในหนังสือเล่มนี้ฉายให้เราได้เห็นว่าศิลปะถูกใช้เป็นเครื่องมือโดยรัฐมาตั้งแต่ครั้งอดีต โดยการยกตัวอย่าง นโปเลียน โบนาปาร์ต (จักรพรรดินโปเลียนที่ 1) นำเสนอชัยชนะในสนามรบของฝรั่งเศส ด้วยการนำมาเล่าใหม่ผ่าน ภาพวาดพาโนรามา เพื่อสร้างการรับรู้ให้กับคนทั่วไปที่ไม่ได้เข้าร่วมสงครามให้รู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกับชัยชนะของชาติ

ทำให้เรานึกถึงตัวเองในวัยที่เรียนลูกเสือไปเข้าค่ายที่ค่ายทหาร แทบทุกปี ค่ายจะเปิดวีดีโอ infographic ประวัติศาสตร์ไทย ที่เคยสูญเสียดินแดนให้ต่างชาติ 14 ครั้ง และยังรวมถึง  ภาพยนตร์ตํานานสมเด็จนเรศวรมหาราช ที่มาในรูปแบบทัศนศึกษา

18 มกราคม วันกองทัพไทย หรือ วันยุทธหัตถี ล้วนผูกโครงเรื่องประวัติศาสตร์ ชาติ พระมหากษัตริย์ และ ทหาร ที่ทำถูกนำมาเล่าผ่าน หนังสือเรียน ละคร ภาพยนตร์ ที่แสดงถึงความกล้าหาญและเด็ดเดี่ยวของกองทัพ

รัก ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ จึงไม่ใช่คำโปรยที่อยู่บนกระดานเรียนหน้าชั้นเรียนเท่านั้น แต่แฝงตัวมาในรูปแบบ สื่อศิลปะและกิจกรรมนอกชั้นเรียน เราจึงถูกฝังให้เชื่อว่าเรารัก มีแค่ขาวและดำ มีที่ต่ำที่สูง และเมื่อใครคิดจะตั้งคำถามกับสิ่งที่พวกเขาบอกว่าเขา คุณก็จะกลายเป็นสีดำในสังคมนี้ทันที

หนังสือเล่มนี้ยังกล่าวถึงศิลปะ หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 เกิดทั้งการทำลายล้างและการทำลายทิ้ง

ด้านการทำลายล้าง โดยฝ่ายรัฐที่บุกเข้าไปทำลายภาพเขียนของศิลปิน อาจารย์ นักศึกษา และการประกาศรายชื่อหนังสือต้องห้าม ที่ตามมาด้วยการยึดและเผาทำลาย

ด้านการทำลายทิ้ง เป็นการทำลายผลงานโดยตัวศิลปินเอง เพื่อไม่ให้ถูกควบคุม จับกุม หรือถูกตั้งข้อหา

จะเห็นได้ว่าแม้จะผ่านมาหลายทศวรรษจวบจนถึงปัจจุบัน แต่สิ่งเหล่านี้ก็ยังเป็นสิ่งที่เราพบเห็นได้ในยุคนี้ อาทิเช่น การลบผลงานกราฟฟิตี้ล้อนาฬิกาประวิตร โดยศิลปิน Headache Stencil หรือ การที่ตำรวจกว่า 30 นาย ออกหมายบุกค้น สำนักพิมพ์ ‘ฟ้าเดียวกัน’ เพื่อหา หนังสือสถาบันพระมหากษัตริย์กับสังคมไทย และได้ทำการยึดโทรศัพท์มือถือและคอมพิวเตอร์ ของ บ.ก.ธนาพล อิ๋วสกุล

แต่ศิลปะเป็นตัวร้ายคู่ขนานไปกับการเมืองจริงหรือเปล่า ย่อมไม่เป็นความจริง ศิลปะจะถูกตรวจสอบและควบคุมก็ต่อเมื่ออยู่ตรงข้ามกับฝ่ายรัฐ จะเห็นได้ว่ารัฐเองก็ใช้ศิลปะเป็นเครื่องมือของตน อาทิ นิทรรศการฝันถึงสันติภาพ (2553) ที่กระทรวงวัฒนธรรม ร่วมกับ กรุงเทพมหานคร ภายใต้แนวคิดในการเยียวยาจิตใจ กอบกู้ภาพลักษณ์ และฟื้นฟูประเทศ จัดขึ้นหลังเหตุการณ์การสลายการชุมนุมที่แยกราชประสงค์ ที่มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก ซึ่งไม่ห่างจาก ศูนย์ศิลปะวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครมากนัก

ดร.เดวิด เทห์ นักวิจัยและภัณฑารักษ์จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ แสดงความคิดเห็นกับนิทรรศการนี้ไว้ว่า

‘เป็นความพยายามอย่างหน้าไม่อายในการจำลองเอกภาพของชาติกลับมา’

การต่อสู้โดยศิลปะ

‘ศิลปะเป็นได้ทั้งพื้นที่และห้องปฏิบัติการทางสังคมเพื่อทดลองและเสนอสิ่งใหม่ ๆ เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง การท้าทายและขยายความรับรู้ของเรา’

อย่างที่ภายในหนังสือว่าไว้ เมื่อศิลปะไม่ได้เป็นเพียงสิ่งที่มีแต่ผู้มีอันจะกินเข้าถึงได้เท่านั้นอย่างเมื่อก่อนผนวกกับการสื่อสารทางอินเตอร์เน็ตที่รวดเร็ว ภาพถ่าย ภาพวาด การ์ตูน หนัง เรื่องสั้น บทกวี โปสเตอร์ เสื้อยืดที่เราสวมใส่และมีข้อความที่แสดงถึงการต่อต้าน มีมบนโลกอินเตอร์เน็ต และเพลงแรป ล้วนสร้างความรับรู้วงกว้างให้กับสังคม ทั้งในแง่ของการเมือง เศรษฐกิจ ประวัติศาตร์ แบบที่ไม่เคยมีมาก่อน

เหตุการณ์ 6 ตุลา ถูกนำมาพูดถึงอีกครั้ง ผ่านบทเพลงแรป ประเทศกูมี ของ RAP AGAINST DICTATORSHIP ที่เผยแพร่ในปี 2561 ทำให้ประวัติศาสตร์ที่ถูกพยายามทำให้ลืมได้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง และเป็นสิ่งที่คนต่างรุ่นพยายามศึกษาและทำความเข้าใจ

สถานการณ์การเมืองถูกทำให้ย่อยง่ายขึ้นไปอีก ในการ์ตูน 4 ช่อง ด้วยภาพลักษณ์ตัวละครน่ารัก ไร้บทสนทนา ของ ไข่แมว ที่ล้อขนานไปกับการเมืองปัจจุบันอย่างแยบยล อย่างกรณีปม หมอเหรียญทอง ย้ายไปอยู่ออสเตรเลีย ก็ถูกทำให้ออกมาเป็นมีมบนโลกอินเตอร์เน็ต ไม่มีการเอ่ยชื่อหรือตัวหนังสือที่ชี้นำ แต่เราก็เข้าใจได้ทันทีและพร้อมจะหัวเราะไปกับมีม เมื่อฝ่ายชนชั้นที่มีอำนาจในการชี้นกเป็นนกชี้ไม้เป็นไม้มาตลอด ถูกทำให้กลายเป็นตัวตลก ความหวาดกลัวที่เราเคยมีก็ลดน้อยลง

การวิพากษ์ในสังคมไทยจึงกลายเป็นเรื่องปกติสามัญในสังคมของคนรุ่นนี้ จากที่เราเคยเป็นเพียงผู้ชมทุกวันนี้เราสามารถกลายเป็นผู้ผลิตสื่อของตนเองได้ โทรทัศน์ที่เคยเป็นสื่อกระแสหลัก เราเปลี่ยนมาเสพสื่อผ่านโทรศัพท์มือถือของเรา สิ่งที่ดูสูงส่งก็ถูกเปลี่ยนความหมายกลายเป็นความสิ้นศรัทธา สิ่งที่ดูเลวร้ายในอดีตเปลี่ยนมาเป็นความหวังของการต่อสู้

การเมืองทัศนา จึงเป็นหนังสือที่พาเราไปสำรวจอำนาจที่กดเราไว้และสำรวจการแข็งขืนต่ออำนาจในยุคสมัยนี้ ตราบใดที่ศิลปินอาศัยอยู่ในสังคม ศิลปะก็ไม่สามารถก้าวพ้นจากความเป็นการเมืองไปได้ หรือต่อให้เราจะเป็นเพียงคนธรรมดา ทันทีที่ลืมตาตื่น ออกเดินทางไปทำงาน เดินทางกลับบ้าน นอน ทุกช่วงขณะของการใช้ชีวิต เราเกี่ยวพันกับการเมืองเสมอ วิวทิวทัศน์ที่เรามองเห็น ขนส่งสาธารณะที่เราใช้ โซเชียลมีเดียที่เราเล่นระหว่างทำงาน เราล้วนสัมผัสสิ่งที่เราถูกบังคับให้เชื่อและสิ่งที่เราเลือกจะเชื่อโดยตัวเราเองผ่านสายตา