ในความเคลื่อนไหว
รศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ
กระแสการประท้วงในจีนที่แพร่ขยายไปหลายเมือง อันเนื่องมาจากความไม่พอใจต่อนโยบาย “โควิดเป็นศูนย์” ของรัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์จีนกำลังเป็นที่สนใจไปทั่วโลก จากจุดเริ่มต้นที่เป็นการประท้วงมาตรการล็อกดาวน์ที่เข้มงวด ประเด็นก็เริ่มขยายไปสู่การต่อต้านรัฐบาล และมีกระแสเรียกร้องจากผู้ชุมนุมบางส่วนให้สี จิ้นผิงลงจากอำนาจ นี่นับเป็นการประท้วงครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงครองอำนาจมา ยิ่งไปกว่านั้นมันยังเป็นการเคลื่อนไหวแสดงออกของประชาชนที่กว้างขวางใหญ่โตที่สุดนับตั้งแต่เหตุการณ์ประท้วงที่จัตุรัสเทียนอันเหมินในปี ค.ศ. 1989
นักสังเกตการณ์ตั้งข้อสังเกตว่าการประท้วงครั้งนี้นับว่าเป็นมิติใหม่ เพราะเกิดขึ้นในหลายเมืองพร้อมกัน คนหนุ่มสาวและชนชั้นกลางออกมาร่วมชุมนุมเป็นจำนวนมาก มีการใช้นวัตกรรมในการประท้วงหลายอย่างเช่น การชูกระดาษเปล่าเพื่อหลบเลี่ยงการเซ็นเซอร์ของเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งการชูกระดาษเปล่านี้ ผู้ประท้วงต้องการแสดงออกว่าในประเทศจีนมีการเซ็นเซอร์อย่างหนักหน่วง กระดาษที่ว่างเปล่าจึงเป็นสัญลักษณ์สะท้อนถึงการปราศจากสิทธิเสรีภาพของประชาชนจีนที่ถูกรัฐควบคุมอย่างเข้มงวด และมีการประท้วงการบริหารประเทศของพรรคคอมมิวนิสต์และผู้นำสูงสุดอย่างเปิดเผย จึงนำไปสู่การประเมินและวิเคราะห์กันว่าคลื่นการประท้วงครั้งนี้จะนำไปสู่การสั่นคลอนบัลลังก์ของประธานาธิบดีสี จิ้นผิงหรือไม่
ในช่วงก่อนหน้านี้ ก็เกิดคลื่นของการประท้วงขึ้นที่ประเทศอิหร่าน (ซึ่งผู้เขียนเคยเขียนถึงไว้ในบทความก่อนหน้านี้) หนึ่งในรัฐเผด็จการทางศาสนาที่ปกครองอย่างเข้มงวดมากที่สุด การชุมนุมของชาวอิหร่านซึ่งมีหัวหอกเป็นผู้หญิงและเยาวชน ซึ่งต่อมาได้รับการสนับสนุนในวงกว้างจากคนหลากหลายวัยและอาชีพได้กลายเป็นการแสดงออกของพลังประชาชนที่เข้มแข็งที่สุดในรอบหลายทศวรรษต่อระบอบอำนาจนิยมและผู้นำสูงสุดของอิหร่าน การประท้วงแพร่ขยายไปใน 129 เมืองครอบคลุมทุกภูมิภาคทั่วประเทศ มีคนเข้าร่วมหลายแสนคน การประท้วงของชาวอิหร่านก็เต็มไปด้วยการใช้สัญลักษณ์ต่าง ๆ อย่างพลิกแพลงและท้าทาย เช่น การถอดฮิญาบทิ้งทั้งในที่สาธารณะและในโลกออนไลน์ การขีดเขียนและพ่นข้อความบนกำแพงโจมตีรัฐบาลและอยาตอลเลาะห์ คามาเนอี ผู้นำสูงสุดของอิหร่าน ด้วยถ้อยคำที่รุนแรง รัฐบาลเองก็พยายามมาลบข้อความดังกล่าวและนำป้ายทางการมาปิดทับ แต่ผู้ชุมนุมก็สู้กลับด้วยการวาดภาพทับไปบนแผ่นป้ายของรัฐบาลอีกครั้ง เรียกได้ว่าเป็นการต่อสู้เชิงสัญลักษณ์ เพื่อแย่งชิงพื้นที่สาธารณะ(public space) อย่างเข้มข้น
ล่าสุด ประชาชนชาวอิหร่านฝ่ายที่คัดค้านรัฐบาลยังได้ปฏิบัติการต่อต้านรัฐข้ามประเทศ โดยอาศัยการแข่งขันฟุตบอลโลกเป็นพื้นที่ของการเคลื่อนไหว เนื่องจากทีมชาติอิหร่านผ่านเข้าเล่นฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย ทำให้กองเชียร์อิหร่านจำนวนหนึ่งถือโอกาสนี้แอบนำป้ายผ้าที่มีข้อความประท้วง “ผู้หญิง ชีวิต และเสรีภาพ” เข้าไปในชูในสนาม รวมถึงการใส่เสื้อยืด หมวก และเครื่องแต่งกายต่าง ๆ ที่มีสัญลักษณ์ต่อต้านรัฐและแสดงออกซึ่งความเป็นหนึ่งใจเดียวกับประชาชนที่เคลื่อนไหวอยู่ในประเทศ การประท้วงเชิงสัญลักษณ์นี้ถูกแพร่ภาพออกไปทั่วโลกขณะที่มีการถ่ายทอดสดการแข่งขัน นับเป็นการเคลื่อนไหวที่ชาญฉลาด
รัฐบาลอิหร่านตอบโต้การเคลื่อนไหวดังกล่าวด้วยการใช้ความรุนแรงปราบปรามจนมีผู้เสียชีวิตไปแล้วหลายร้อยชีวิตและมีคนถูกจับกุมไปแล้วถึง 14,000 คน การเคลื่อนไหวประท้วงที่สนามฟุตบอลในประเทศกาตาร์ ยังถูกมอนิเตอร์ (เช่น ถูกถ่ายรูป) อย่างใกล้ชิดจากเจ้าหน้าที่รัฐอิหร่านที่ไปสังเกตการณ์ที่สนาม เจ้าภาพกาตาร์ซึ่งมีความสัมพันธ์อันดีกับอิหร่านก็ยังช่วยสกรีนไม่ให้มีการนำป้ายประท้วงเข้าไปในสนาม นักฟุตบอลที่อิหร่านซึ่งไม่ยอมร้องเพลงชาติในนัดแรกที่พวกเขาลงแข่ง ในนัดต่อ ๆ มาก็ต้องยุติการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เช่นนี้ นอกจากนั้นรัฐอิหร่านยังพยายามเซ็นเซอร์ข่าวเกี่ยวกับการประท้วงบนพื้นที่ไซเบอร์แบบเดียวกับที่รัฐบาลปักกิ่งทำ
ในรัสเซียซึ่งปกครองด้วยระบอบอำนาจนิยมอย่างเข้มงวดอีกประเทศหนึ่ง ประชาชนก็ถูกควบคุมการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารอย่างหนักเพื่อปิดกั้นการรับรู้เกี่ยวกับสถานการณ์สงคราม องค์กรด้านการพิทักษ์สิทธิสื่อดิจิทัลรายงานว่า ในช่วงหกเดือนแรกของสงคราม มีเว็บไซต์ที่ถูกปิดกั้นการเข้าถึงในรัสเซียเกือบ 7,000 เว็บไซต์ ประชาชนถูกจำกัดให้ได้อ่านและฟังแต่ข้อมูลและความเห็นที่สอดคล้องกับฝ่ายรัฐบาลเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ระบอบอำนาจนิยมของปูตินต้องเผชิญกับการประท้วงครั้งใหญ่เมื่อ 2 เดือนก่อนเมื่อรัฐบาลประกาศระดมกำลังพลสำรอง 300,000 นายเพื่อไปสู้รบในยูเครน ณ จุดนั้นเองที่สงครามไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป ชาวรัสเซียที่ถูกเกณฑ์ทหารต่างพากันหาช่องทางหลบเลี่ยงที่จะไปรบในแนวหน้า จำนวนมากเดินทางหนีออกนอกประเทศ บางคนถึงกับให้สัมภาษณ์สื่อว่า เขาจะยอมติดคุกเพื่อไม่ต้องถูกเกณฑ์ทหาร นอกจากนั้นในช่วงเวลาเดียวกัน ชาวรัสเซียหลายพันคนยังได้ออกมาชุมนุมประท้วงต่อต้านสงครามในเมืองต่าง ๆ ทั่วประเทศ
แน่นอนว่า ปูตินเดิมพันทางการเมืองครั้งใหญ่กับการทำสงครามรุกรานยูเครนครั้งนี้ เพราะจากบทเรียนในประวัติศาสตร์โลก ผู้นำรัฐที่พาประเทศตัวเองไปแพ้สงครามมักต้องลงจากอำนาจเสมอ ดังกรณีกองทัพอาร์เจนตินาที่พ่ายแพ้ในสงครามช่วงชิงเกาะฟอล์กแลนด์กับอังกฤษ จนทำให้ประเทศเสียเกียรติภูมิ ทหารเสียศักดิ์ศรีและเสื่อมความนิยม จนต้องยอมถอยจากอำนาจ และทำให้เกิดกระบวนการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยในอาร์เจนตินาในท้ายที่สุด
กระแสการประท้วงในรัฐเผด็จการอำนาจนิยมที่แข็งแกร่งอย่างจีน อิหร่าน และรัสเซียไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยนัก ปรากฏการณ์ที่เราได้พบเห็นการชุมนุมเคลื่อนไหวของประชาชนพร้อมกันในปี 2022 นี้ในทั้งสามประเทศจึงเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่ธรรมดา ซึ่งการเคลื่อนไหวประท้วงรัฐบาลดังกล่าวสะท้อนจุดร่วมที่น่าสนใจ ซึ่งเป็นจุดอ่อนสำคัญของรัฐบาลอำนาจนิยมทุกแห่งตลอดประวัติศาสตร์โลก นั่นคือ การขาดกลไกรับฟังเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากสังคม หรือที่เรียกว่า feedback mechanism รัฐเผด็จการอำนาจนิยมปกครองด้วยการสร้างระบอบการเมืองแห่งความกลัว (politics of fear) จึงเซ็นเซอร์ “เสียง” ที่ตัวเองไม่อยากได้ยิน แต่การปิดกั้นข้อมูลข่าวสารและความเห็นของประชาชนกลายเป็นดาบที่มักจะย้อนกลับมาทิ่มแทงรัฐเสียเอง เพราะเท่ากับว่ารัฐบาลบังคับใช้นโยบายและมาตรการต่าง ๆ โดยไม่รู้ว่าประชาชนเดือดร้อนมากแค่ไหน ความทุกข์ที่ถูกกดเอาไว้วันหนึ่งมันก็ระเบิดออกมาเมื่อประชาชนรู้สึกหมดความอดทน ณ ห้วงเวลานั้นเองที่ประชาชนรู้สึกเป็นอิสระจากความกลัว(freedom from fear)
อย่างไรก็ตาม สำหรับคำถามที่ว่าการชุมนุมประท้วงของประชาชนในจีน อิหร่าน และรัสเซีย จะสามารถสั่นคลอนรัฐบาลหรือนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางสังคมการเมืองหรือไม่ คำตอบคือ ยาก เพราะทั้ง 3 รัฐล้วนมีกลไกรัฐที่แข็งแกร่งและครองอำนาจมายาวนาน มียุทธศาสตร์และยุทธวิธีในการรับมือกับการชุมนุมประท้วงที่แยบยลหลากหลายวิธีการ ไม่ว่าจะเป็นการปราบปรามบนท้องถนน การใช้เครื่องมือทางกฎหมาย การปลุกกระแสชาตินิยม และการทำสงครามข้อมูลข่าวสาร เช่น การดิสเครดิตประชาชนที่เคลื่อนไหวว่ารับเงินต่างชาติมาสร้างสถานการณ์และมีเจตนาแอบแฝง การสร้างข่าวปลอม การหันเหความสนใจของประชาชนด้วยข่าวอื่น ดังที่รัฐบาลจีน รัสเซีย และอิหร่านทำอยู่ในปัจจุบัน
ในฝั่งประชาชน จากบทเรียนตั้งแต่ช่วงหลังสงครามเย็นสิ้นสุดเป็นต้นมา พบว่าการเคลื่อนไหวที่จะนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงในทางนโยบายและทางการเมืองได้ ต้องมีเงื่อนไขอย่างน้อย 5 ข้อ คือ หนึ่ง เคลื่อนไหวโดยไม่ใช้ความรุนแรงจะมีโอกาสสำเร็จมากกว่า สอง ต้องมีการประสานงานที่ดี และสร้างแนวร่วมที่กว้างขวาง ไม่จำกัดอยู่ในกลุ่มแคบ ๆ สาม มีการจัดองค์กรที่เข้มแข็งและมีอุดมการณ์ที่ชัดเจนเป็นเอกภาพ เพื่อรักษาการเคลื่อนไหวให้ยืนระยะได้ต่อเนื่อง สี่ การใช้โซเชียลมีเดียอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อโต้ตอบกับการเซ็นเซอร์ของฝั่งรัฐ และสุดท้าย ต้องยุทธวิธีที่สร้างสรรค์และพลิกแพลงเพื่อดึงดูดผู้เข้าร่วมจำนวนมากและความสนใจจากสื่อ ซึ่งจะทำให้ขบวนการมีความชอบธรรมมากกว่ารัฐ
เมื่อประเมินจากสถานการณ์ในทั้ง 3 ประเทศ การเคลื่อนไหวยังมีลักษณะแบบกระจัดกระจาย เป็นกลุ่มย่อย และไม่ได้รวมตัวกันเป็นขบวนการที่มีอุดมการณ์ร่วมกันอย่างเป็นเอกภาพ จึงเสี่ยงต่อการที่จะถูกรัฐปราบปรามและแยกสลาย อย่างไรก็ตาม ปรากฏการณ์ที่ประชาชนจำนวนมากกล้าที่จะลุกขึ้นมาประท้วงรัฐอำนาจนิยมที่เข้มแข็งก็ถือเป็นสัญญาณที่สำคัญที่ไม่อาจมองข้ามได้ และสะท้อนให้เห็นจุดเปราะบางของรัฐเผด็จการในโลกปัจจุบัน