TW : มีการบรรยายถึงการกิน ภาวะผิดปกติในการกิน
ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับบุคคลในบทความ
ความผิดปกติในการกินที่สัมพันธ์กับสภาวะจิตใจ (Eating disorder) ไม่ใช่ปรากฎการณ์ใหม่ในโลกนี้ ความสัมพันธ์แบบ “ทั้งรักทั้งชัง” ต่ออาหาร ย้อนหลังไปได้เป็นร้อย ๆ ปี แต่ไม่เคยมียุคไหนที่มีสิ่งเร้าให้ความผิดปกตินี้รุนแรงมากขึ้นเท่าโลกยุคโซเชียลมีเดีย
พฤติกรรมเลียนแบบดาราศิลปิน โดยเฉพาะไอดอล K-Pop หน้าสวยรูปร่างผอมเพรียวทำให้มาตรฐานความงาม (Beauty standard) ถูกดันเพดานไว้จนสูงลิ่ว บัญชีทวิตเตอร์ของแฟนคลับที่ชื่นชอบไอดอล K-pop มักโพสต์เนื้อหาเกี่ยวกับความผิดปกติของการกิน โดยติดแฮชแท็ก #edtwt หรือ #K-pop edtwt (Eating disorder twitter) มีการระบุน้ำหนักปัจจุบัน และเป้าหมายการลดน้ำหนักไว้ในทวีตที่ปักหมุดเอาไว้จนกลายเป็นเรื่องปกติ
แม้ Eating disorder จะเกิดจากหลายสาเหตุ แต่หนึ่งในสาเหตุหลักคือแรงกดดันจากมาตรฐานความงามที่เสพรับทุกวันผ่านสื่อและสังคมออนไลน์ ส่งผลให้พฤติกรรมผิดปกติในการกินมีอุบัติการณ์สูงขึ้นในกลุ่มวัยรุ่นทั่วโลก สำหรับในประเทศไทยพบได้ 1-3% ในช่วงอายุ 12 – 25 ปี และเพศหญิงเสี่ยงกว่าเพศชาย 1.5-6 เท่า (กรมสุขภาพจิต , 2564) โดยข้อมูลจากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลระบุว่า ปลายทางของโรคนี้อาจรุนแรงถึงขั้นกระเพาะอาหารฉีกขาด มีเลือดออกในทางเดินอาหาร ไปจนถึงหัวใจหยุดเต้นและเสียชีวิต
แต่ความย้อนแย้งของเรื่องนี้คือทั้ง ๆ ที่รู้ว่าอันตราย แต่คนที่อยู่ในภาวะนี้กลับรู้สึกดีที่ได้อดอาหาร หรือล้วงคอให้อาเจียนเพื่อควบคุมรูปร่าง มีกลุ่มสนับสนุน Eating Disorder จำนวนมากในโลกออนไลน์ พวกเขามองว่าเรื่องนี้คือไลฟ์สไตล์ไม่ใช่ความผิดปกติ
มาทำความเข้าใจในเรื่องนี้ทั้งใน ฐานะเพื่อน พ่อแม่ และแม้แต่มุมมองของปัจเจกชนคนหนึ่ง ว่าเรื่องนี้เกิดจากความกดดันจาก Beauty standard เพียงเรื่องเดียวหรือไม่ คุยกับน้องทีน เด็กสาวมัธยมปลายวัย 17 และ อแมนด้า ออบดัม มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ 2563 ที่มีประสบการณ์ตรงเกี่ยวกับความผิดปกติในการกิน พวกเธอจะเล่าถึงสาเหตุของความผิดปกติที่เกิดขึ้น มิติเชิงสังคมที่เชื่อมโยงกับเรื่องนี้ ไปจนถึงการเยียวยาตัวเอง
Eating Disorder ความย้อนแย้งระหว่างอยากหายกับอยากผอม
การกินที่ผิดปกติเกิดได้จากหลายปัจจัย อาจไม่ค่อยเป็นธรรมเท่าไหร่ในการโยนบาปให้ศิลปินดาราหรือไอดอลเกาหลี จริงอยู่ที่พวกเขามีอิทธิพลต่อความคิดและพฤติกรรมเลียนแบบของเหล่าบรรดาแฟนคลับ มีวัยรุ่นทั้งในเอเชียและทั่วโลกต้องการไปให้ถึงมาตรฐานรูปร่างและความงามแบบไอดอลเหล่านั้น
แต่ในขณะเดียวกันไอดอล K-pop เอง คือเหยื่อของมาตรฐานความงามในอุตสาหกรรมบันเทิงเช่นเดียวกัน ความกดดันในการควบคุมน้ำหนักจนกลายเป็นภาวะผิดปกติในการกินเกิดขึ้นได้อย่างไร ลองดูตัวอย่างเรื่องราวของ IU (I and You) หรือ อีจีอึน นักร้องนักแสดงผู้ทรงอิทธิพลในวงการ K-Pop และนี่คือตัวอย่างสูตรอาหารที่แฟนคลับของเธอพากันโพสต์ในโซเชียลมีเดีย เพื่อเป้าหมายในการมีรูปร่างให้ได้ตามแบบไอดอลของพวกเขา
เช้า : แอปเปิ้ล 1 ลูก
กลางวัน : มันหวานญี่ปุ่น 2 หัว
เย็น : ผงโปรตีนเชค 1 ถ้วย
ผลลัพธ์ = ลดน้ำหนักได้ 5 กิโลกรัม ภายใน 5 วัน วิธีลดน้ำหนักแบบสุดโต่งนี้เรียกว่า “IU diet challenge” หรือภารกิจลดน้ำหนักสไตล์ IU สูตรฮิตนี้กลายเป็นแฮชแท็กดัง (#IU_diet) ราวปี 2563 ในหมู่แฟนคลับของ IU ย้อนหลังกลับไปราวปี 2557 เธอได้เปิดเผยในรายการทอล์คโชว์รายการหนึ่งว่าเผชิญกับปัญหาความผิดปกติในการกิน (Eating Disorder) ที่เกิดจากการถูกวิจารณ์รูปร่าง มีคอมเม้นท์ในโซเชียลมีเดียเกี่ยวกับน้ำหนักและรูปร่างของเธอ ทำให้กังวลและเกลียดตัวเอง กลัวว่าชื่อเสียงและความสำเร็จจะหายไป
พอถูกโจมตีด้วยคลื่นความรู้สึกเหล่านั้นเธอจะกินไม่หยุด (Binge Eating Disorder) เหมือนเป็น การเติมเต็มความว่างเปล่าในจิตใจ จากนั้นใช้วิธีล้วงคอให้อาเจียนออกมา (Bulimia nervosa) ในภาวะความไม่มั่นคงทางอารมณ์ที่เกิดขึ้น เธอให้สัมภาษณ์ว่าได้แต่กิน อาเจียน และนอน แต่ปัจจุบัน IU เข้ารับการบำบัดกับผู้เชี่ยวชาญจนมีสุขภาพดีขึ้น และก้าวผ่านความผิดปกติในการกินมาได้ แต่ยังมีศิลปินอีกมากมายในวงการ K-pop ที่ต้องต่อสู้กับภาวะผิดปกติในการกิน
3 รูปแบบหลัก ของความผิดปกติในการกิน (Eating disorder)
อนอเร็กเซีย เนอร์โวซา (Anorexia nervosa) ความผิดปกติในการกินที่ทำให้น้ำหนักลดลง เบื่ออาหาร หลงผิดคิดว่าอ้วนกว่าความเป็นจริง มักจำกัดการกินและจำนวนแคลอรี่อย่างสุดโต่ง อาจหมกมุ่นกับการออกกำลังกาย ใช้ยาถ่าย หรือล้วงคอให้อาเจียนออกมา
บูลลิเมีย เนอร์โวซา (Bulimia nervosa) วงจรการกินที่ผิดปกติ มีการกินอาหารเป็นปริมาณมาก จากนั้นจะรู้สึกผิดและซึมเศร้าในพฤติกรรมนี้ ก่อนจะล้วงคอให้อาเจียน เป็นวงจรต่อเนื่อง
บินจ์ (Binge eating disorder) พฤติกรรมแบบ “หยุดกินไม่ได้”คือกินเยอะและกินเร็วกว่าคนปกติ มักจะแอบกินคนเดียวเพราะรู้สึกอายกับพฤติกรรมนี้ หลังจากกินจนล้นกระเพาะยิ่งรู้สึกผิด ละอาย ซึมเศร้า
* ข้อมูล : สมาคมความผิดปกติในการกิน สหรัฐอเมริกา (The National Eating Disorders Association)
แรงกดดันในมาตรฐานความสำเร็จที่ไอดอลต้องแบกรับนั้นมีน้ำหนักมหาศาล ตั้งแต่ช่วงที่เป็นศิลปินฝึกหัดก่อนจะได้เดบิวต์ พวกเขาต้องพิสูจน์ตัวเองอย่างทรหดยาวนานหลายปีกว่าบริษัทจะคัดเลือกให้เป็นตัวจริง ต้องซ้อมเต้นยาวนานถึง 12 ชั่วโมงต่อวัน แต่ละวันต้องชั่งน้ำหนักเพื่อให้อยู่ในมาตรฐาน เมื่อกลายเป็นไอดอลแล้วต้องถูกจับตาแทบจะตลอดเวลาจากทั้งสื่อหลักและโซเชียลมีเดีย พวกเขาต้องคงความสมบูรณ์แบบในสายตาของแฟนคลับทั่วโลกอยู่เสมอ รูปร่างหน้าตาที่เปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยก็เพียงพอที่จะทำให้เกิดเป็นประเด็นปัญหาขึ้นมาได้ “อุดมคติ” ที่พวกเขาต้องแบกรับเอาไว้คือต้นตอของความผิดปกติในการกินเช่นเดียวกับกรณีของ IU และลุกลามไปสู่พฤติกรรมเลียนแบบของแฟนด้อมที่ชื่นชอบพวกเขา
ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับบุคคลในบทความ
มาตรฐานความงามที่ต้องมีรูปร่างผอมบางจึงกลายเป็นค่านิยมของวัยรุ่นในโลกออนไลน์อย่างไม่อาจต้านทานได้ พิสูจน์ได้จากกระแสโซเชียลล่าสุดราวเดือนตุลาคม 2565 ภาพและข่าวดราม่าเรื่องรูปร่างที่ผอมกว่าปกติของวอนยอง (Jang WonYoung) ศิลปินเกิร์ลกรุ๊ปวง IVE ชื่อดังวัย 18 ปี รูปในการแสดงของเธอในงาน After LIKE (IVE WONYOUNG FanCam) ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่อนโซเชียลว่าเธอผอมลงอย่างน่าใจหาย แต่ในขณะที่ติ่งของวอนยองออกมาปกป้องเธออย่างล้นหลามเช่นเดียวกัน
เมื่อถามความเห็นจาก ทีน สาวน้อยวัย 17 ที่กำลังจะขึ้น ม.6 ผู้กำลังเผชิญกับภาวะความผิดปกติในการกิน ว่าเธอรู้สึกยังไงกับประเด็นรูปร่างของวอนยอง เธอให้คำตอบว่า “สวยดีค่ะ” น้ำหนักของวอนยองน่าจะใกล้เคียงกับน้ำหนักในอุดมคติของทีน เธอตั้งเป้าไว้ที่ 39 กก. โดยย้อนเล่าถึงจุดเริ่มต้นในการควบคุมอาหารและภาวะความผิดปกติในการกินของตัวเธอเอง
“หนูเล่น IG กับ TikTok มันจะมี Reels ที่มีแต่คนหุ่นดีขึ้นมาตลอด เราเห็นแล้วก็อยากผอมอย่างนั้นบ้าง ตอนที่เริ่มล้วงคอให้อาเจียนก็รู้สึกดีที่ทำ หนูมีความรู้สึกมาตั้งนานแล้วเรื่องรูปร่าง เพราะถ้าหุ่นดียังไงก็ได้โอกาสต่าง ๆ เยอะกว่า”
ตอนที่ทีนเริ่มรู้สึกว่าตัวเองอ้วนเกินไป คือช่วงวัยมัธยมศึกษาปีที่ 4 ทั้ง ๆ ที่เธอเป็นคนรูปร่างปกติสมวัยตามค่าดัชนีมวลกาย (Body Mass Index : BMI) คือมีความสูงประมาณ 155 ซม. และหนัก 47 กก. หากใช้สูตรคำนวณหา BMI ที่นำค่าน้ำหนักตัวเป็นกิโลกรัม หารด้วยส่วนสูง (เมตร)ยกกำลังสอง จะได้ค่า BMI = 19.56 เมื่อนำมาวัดตามเกณฑ์ของกองโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ทีนจัดอยู่ในกลุ่มรูปร่างสมส่วน คือมีค่า BMI ในช่วง 18.5 – 22.9 เธอจะเริ่มมีน้ำหนักเกินถ้าคำนวณแล้วได้ค่า BMI = 23.0 – 24.9 หากค่า BMI สูงตั้งแต่ 25.0 ขึ้นไป ถึงจะเรียกว่าเป็นโรคอ้วน และเข้าข่ายโรคอ้วนอันตรายถ้ามีค่า BMI ตั้งแต่ 30.0 ขึ้นไป
ที่มาภาพ กรมควบคุมโรค
“แต่ว่าหนูเป็นคนขาใหญ่ ทรงรูปร่างเหมือนลูกพีช ยิ่งพอขึ้น ม.ปลายก็ต้องใส่กระโปรงรัดเอว ต้องใส่เข็มขัด หนูไม่ชอบเลย เพราะเห็นเพื่อนใส่รู้สึกว่าเขาสวยอะ เลยเริ่มไม่กินข้าวเช้า แม่ต้องไปทำงานตอนเช้า แล้วพ่อทำอาหารเช้าให้ แต่หนูไม่กินเลย ข้าวเที่ยงก็ไม่กิน ตอนเย็นก็กินเบา ๆ พวกสลัด พยายามเลี่ยงกินข้าวกับขนมปัง เพราะมันเป็นแป้ง หรือกินแต่น้ำหวานพวกน้ำมะนาว”
พฤติกรรมในการลดอาหารของทีนติดต่อกันแบบนี้อยู่นาน จนกระทั่งร่างกายเริ่มรับอาหารไม่ค่อยได้ เมื่อกินเข้าไปบางครั้งจึงเกิดการคลื่นไส้ ซึ่งอาจจะเกิดจากภาวะทางร่างกายจริง ๆ หรือเกิดจากความรู้สึกของเธอเองที่รู้สึกผิดเมื่อเผลอกินอาหารเข้าไป นั่นคือจุดเริ่มต้นในการล้วงคอให้อาเจียนเอาอาหารเหล่านั้นออกมา
“พอถึงช่วง ม.4 เทอมปลายจนขึ้น ม.5 ช่วงต้น ๆ ตอนนั้นพอกินเข้าแล้วมันรู้สึกคลื่นไส้ แต่ไม่อาเจียนออกมาซะที ก็เลยเริ่มล้วงคอ มันเป็นความรู้สึกว่าเรากินเยอะ ทั้ง ๆ ที่เพื่อนกินเยอะกว่าเราอีก แต่เรารู้สึกว่าร่างกายเรารับไม่ได้ ทำทุกวันเป็นเทอม มีเพื่อนคนเดียวที่รู้เรื่องนี้ เพราะเข้าไปช่วยลูบหลังให้”
น้ำหนักของเธอลดลงไปเรื่อย ๆ จนถึง 43 กก. ในปัจจุบัน แต่มีผลกระทบต่อสุขภาพมากขึ้นเช่นกัน ทีนเริ่มหน้ามืดคล้ายจะวูบหมดสติ รวมทั้งปวดท้องและปวดศีรษะ แม้ว่าอาการเหล่านี้จะชัดเจนและรบกวนการใช้ชีวิตของเธอมากขึ้น แต่สิ่งที่ทีนจดจ่อเพียงอย่างเดียวคือน้ำหนักที่ลดลงตามที่เธอต้องการ
“หนูดีใจที่ผอมลงจนใส่กระโปรงเอว 23 ได้ ก่อนหน้านั้นใส่เอว 25-26 เลยรู้สึกดีที่ทำไป เพราะยิ่งทำแล้วน้ำหนักลดลงก็ยิ่งอยากทำอีก พอเริ่มเห็นกระดูกขึ้นก็ดีใจ ไม่ได้รู้สึกว่าอยากหาย”
ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับบุคคลในบทความ
แม่เริ่มวิตกกับอาการของลูกสาว และในที่สุดได้พาทีนไปพบจิตแพทย์ ผลจากการวินิจฉัยพบว่าเธอมีอาการของอนอเร็กเซีย เนอร์โวซา (Anorexia nervosa) ร่วมกับอาการย้ำคิดย้ำทำ (Obsessive-Compulsive Disorder :OCD) ทีนให้ความร่วมมือกับแม่ทุกอย่าง เพราะเธอเข้าใจดีว่าแม่ห่วงใย รวมทั้งเพื่อนสนิทที่มีอยู่เพียงคนเดียวผู้คอยเตือนให้เธอกินข้าวก็เช่นกัน แต่เรื่องนี้ไม่ใช่สมการที่แก้ได้ง่าย ๆ ภาวะของโรคที่มีความสัมพันธ์กับจิตใจต้องการวิธีแก้ปัญหาที่ละเอียดอ่อนมากกว่านั้น
เมื่อให้เธอลองวิเคราะห์เรื่องราวของตัวเอง ทีนย้อนกลับไปในวัยเด็กและเล่าถึงเหตุการณ์ความไม่สบายใจที่เกิดขึ้นกับตัวเองในวัยประถม เธอมีบุคลิกเงียบ ๆ แบบเด็กหลังห้อง เคยมีประสบการณ์ถูกกลั่นแกล้งและตีตราว่าเป็น “คนแปลกแยก” และซ้ำเติมด้วยความไม่เข้าใจจากครูในโรงเรียน
สำหรับคนที่มีพื้นฐานทางอารมณ์แข็งแรง อาจจัดการปัญหาเหล่านี้ได้ไม่ยาก แต่คนที่มีอารมณ์เปราะบางนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ปัญหาการถูกรังแกรวมทั้งระบบอำนาจนิยมในโรงเรียน ได้สร้างรอยแผลที่กัดลึกเกินกว่าจะคาดคิด เมื่อสะสมเข้าสู่ช่วงวัยรุ่นจึงทำให้ความผิดปกติทางอารมณ์ยิ่งลุกลามได้ง่าย ทีนยังโชคดีที่ครอบครัวใส่ใจกับความเปลี่ยนแปลงของเธอ แม้ว่าเด็กสาวจะยังสับสนกับสิ่งที่ตัวเองเป็นและปฏิเสธความช่วยเหลือก็ตาม
“แม่เป็นห่วงมากเลย จะให้กินทุกวัน อย่างน้อยให้ครบ 3 มื้อ มันค่อนข้างน่าอึดอัด ส่วนตัวไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองเป็นอะไร เพราะชอบที่จะเป็นแบบนี้ต่อไป แต่มันน่ารำคาญที่คนอื่นมาบอกเราว่าต้องกิน เพื่อนที่คอยลูบหลังให้ตอนไปล้วงคอก็อยากให้เรากิน เค้าเป็นห่วงเราเหมือนแม่คนที่สอง แต่เค้าชอบใช้คำพูดว่า “เราดีใจที่เห็นแกกินเยอะขึ้น” ไม่ชอบคำพูดว่า “เรากินเยอะขึ้น” เลย”
ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับบุคคลในบทความ
แต่ไม่ว่าจะอึดอัดหรือรำคาญกับสายตาแห่งความห่วงใยของคนที่รักเธอมากแค่ไหน ท้ายที่สุดการกระทำของแม่และเพื่อนสนิทได้ช่วยให้เธอกลับมากินครบสามมื้อในปัจจุบัน แม้ว่าประเภทของอาหารจะหนักไปทางสลัด แต่ทีนเริ่มกินข้าวและเนื้อสัตว์ได้บ้างเท่าที่เธอจะรับไหว ส่วนความรู้สึกในใจนั้นยังคงย้อนแย้งระหว่างอยากหายและอยากผอม ซึ่งเป็นภาวะที่เกิดขึ้นได้กับผู้ที่มีความผิดปกติในการกิน
“ยังอยากผอมอยู่ แต่ไม่อยากเป็นโรคนี้ แต่พอเป็นก็รู้สึกดีที่เราผอมลง อยากน้ำหนัก 39 แต่หมอเค้าเตือนว่าถ้าขนาดนั้นอาจจะตายได้ ตอนนี้กินเยอะขึ้นมาแล้ว คือพยายามกินให้ได้ 3 มื้อ กินสลัด เลือกกินผักแล้วเขี่ยอกไก่ออก แล้วก็พยายามกินข้าวช่วงมื้อเช้า”
พื้นที่ปลอดภัย สำหรับความเปราะบางทางใจ
“โรคนี้เหมือนการต่อสู้กับตัวเองและเสียงที่อยู่ในหัว เป้าหมายของเราตอนนั้นคือต้องผอมให้ได้มากที่สุด แล้วพอมีคนมาทักถาม มันเป็นเหมือนการที่เค้ามาบอกว่าเราไม่โอเค เข้าใจว่าเค้าเป็นห่วง แต่ด้วยโรคที่เกี่ยวกับ Mental health ต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Eating disorder ถ้าเราไม่ยอมรับว่าเราไม่สบายก่อน ไม่ว่าใครก็แล้วแต่ จะเข้ามาช่วยได้ยากมาก ๆ”
อแมนด้า ออบดัม มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ปี 2563 ผู้เคยเผชิญกับภาวะความผิดปกติในการกินมาก่อนในช่วงวัยรุ่น อธิบายความย้อนแย้งในจิตใจให้เห็นภาพชัดขึ้น ประสบการณ์ตรงที่เธอเคยเป็น Bulimia Nervosa ในวัย 19 ปี และฟื้นฟูจนกลับมาเป็นปกติ บวกกับการเคยเรียนและใช้ชีวิตในสองวัฒนธรรมทั้งในไทยและแคนาดา ทำให้อแมนด้าเข้าใจพฤติกรรมความผิดปกติในการกินอย่างลึกซึ้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งความซับซ้อนทางความรู้สึกของตัวโรค ที่ทำให้ความช่วยเหลือยิ่งยากเข้าไปอีก
“ตอนที่เป็น Eating Disorder รู้สึกว่าเราไม่ไหวแล้ว ทุกครั้งที่เห็นอาหาร ร่างกายเราอยากกินมาก แต่สมองกลับสั่งว่า “เธอห้ามกินนะ มันเป็นแคลลอรี่” แล้วพอเห็นอาหารเราจะร้องไห้ แต่เพื่อน ๆ หรือครอบครัวที่ประเทศไทยอาจจะยังไม่เข้าใจโรคนี้เท่าไหร่ เราเคยขอความช่วยเหลือเพียงแต่มันอาจจะไม่ได้เป็นการขอความช่วยเหลือโดยตรง คือเราไม่ไหวแล้ว อยากกินมาก แต่ทุกครั้งเราจะได้รับคำพูดกลับมาว่า “หิวก็กินสิ ง่ายจะตาย ออกไปซื้อเลย” พอคนไม่เข้าใจแบบนี้ เราในฐานะคนที่เป็นโรค เราจะรู้สึกว่าเรากำลังถูกปฏิเสธความช่วยเหลือ จะทำให้รู้สึกยิ่งแย่ลง”
แนวทางที่มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ 2563 แนะนำเพื่อให้ความช่วยเหลือกับคนที่มีความผิดปกติในการกิน คือสังคมต้องมีทั้งความรู้และความเข้าใจในประเด็นนี้ให้มากขึ้น ระบบการศึกษาที่แทรกความรู้เกี่ยวกับ Eating disorder ไว้ในบทเรียนตั้งแต่ช่วงวัยรุ่นมีความสำคัญมาก
ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับบุคคลในบทความ
“เท่าที่รู้ในระบบการศึกษาไทยยังไม่มีการสอนเรื่องเกี่ยวกับ Mental health อย่างจริงจัง เพราะตอนที่ด้าเรียนในระบบอังกฤษตอนไฮสคูล อายุ 15-17 ปี เค้าจะมีเป็นวิชาเลือก ด้าเลือก Psychology ที่สอนเกี่ยวกับ Mental health ไม่ว่าจะเป็น Depression หรือ Eating disorder เลยทำให้ได้เรียนรู้ผลข้างเคียงต่าง ๆ พอด้าเริ่มเป็นเลยรู้ว่าเรากำลังเป็นแบบนี้อยู่นะ เพราะเราได้เรียนมา หลัก ๆ คือต้องให้ความรู้ ถึงจะมีกลุ่มที่สนับสนุนเรื่อง Eating disorder เพราะว่ามันเป็นร่างกายของเขาก็จริง แต่ก็อยากให้ไปศึกษาว่าถ้าเป็นโรคนี้แล้วผลข้างเคียงจะเป็นยังไงบ้าง เพราะอย่าลืมนะว่า Eating disorder เป็นหนึ่งในโรคของ Mental health ที่มีผู้เสียชีวิตเยอะที่สุด”
ไม่มีใครอยากอยู่ในความป่วยไข้ทางใจ แต่ความจริงที่ว่า “เพราะเป็นวัยรุ่นจึงเจ็บปวด” ยังคงเป็นเช่นนั้นทุกยุคสมัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัยรุ่นยุค Digital native ที่มาตรฐานความงามในโซเชียลมีเดียถูกดันให้สูงจนสุดเอื้อม ผลักดันให้คนที่มีความเปราะบางตกลงไปในหุบเหวของความป่วยไข้ทางใจ เหมือนสิ่งที่เกิดขึ้นกับทีน ระหว่างการสนทนา จู่ ๆ เธอก็พูดขึ้นมาว่า
“พี่เคยอ่านเว็บตูนเรื่อง “ดอกไม้พลาสติก” มั๊ย นางเอกจะชอบดูรูปร่างหน้าตาตัวเองแล้วให้คะแนน หนูว่าหนูติดมาจากเรื่องนั้น นอกจากหุ่นแล้วเรื่องหน้าตาก็เป็นอีกเรื่องที่เครียดรองลงมา ไม่เหมือนเพื่อนที่เค้าหน้าตาตรงกับบิวตี้สแตนดาร์ด”
เมื่อเข้าไปดูมังงะเรื่อง “ID ของฉันคือดอกไม้พลาสติก” โดย คีแมงกิ ยิ่งเข้าใจมุมมองต่อตัวเองของทีนได้ชัดยิ่งขึ้น พล็อตที่ไม่ได้ซับซ้อนของเรื่องนี้วนเวียนอยู่กับความสวย/ความอัปลักษณ์ อ้วน/ผอม การถูกรัก/การถูกปฏิเสธ เรียกได้ว่ามีทุกมิติของการกดทับจากมาตรฐานความงามที่มีต่อผู้หญิง
แม้นี่จะเป็นเพียงเรื่องแต่งที่ไม่น่าจะมีอิทธิพลทางความคิดต่อผู้อ่านขนาดนั้น แต่ในบรรดาผู้ที่เข้าชมถึง 94.6 ล้านครั้ง และคอมเม้นท์แสดงความเห็นอกเห็นใจนางเอกในหลายแง่มุม เป็นอีกตัวชี้วัดหนึ่งที่ทำให้เห็นว่าประเด็นเรื่องมาตรฐานความงาม (Beauty standard) ที่ส่งผลให้เกิดการเหยียดร่างกาย (Body Shaming) ในขณะเดียวกับส่งเสริมอภิสิทธิ์ทางความงาม (Beauty Privilege) เป็นประเด็นสุขภาพจิตในกลุ่มวัยรุ่นที่ไม่เคยแผ่วลงเลย
ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับบุคคลในบทความ
สำหรับคนที่เอาชนะภาวะความผิดปกติในการกินได้แล้ว อแมนด้านำเสนอทางออกในเรื่องนี้ไว้ 2 ประเด็น หนึ่งคือการให้ความสำคัญกับความรู้ด้านจิตวิทยาเป็นพื้นฐาน และสองคือ “พื้นที่ปลอดภัย” ที่สร้างด้วยความรักและความเข้าใจจากผู้คนรอบตัว เธอเน้นว่าสิ่งนี้คือกระบวนการสำคัญที่จะช่วยให้ผู้ที่อยู่ในภาวะอันยากลำบากนี้เผชิญกับปัญหาได้ดีขึ้น คำพูดและการกระทำที่จริงใจ ต้องการช่วยเหลืออย่างแท้จริงบนพื้นฐานของความเห็นอกเห็นใจ (Empathy) คือสิ่งสำคัญที่สุด
“คำพูดเป็นเหมือนมีดเลย ถ้าพูดกับคนเป็นโรคซึมเศร้าว่า “สู้ ๆ นะ” เค้าอาจจะรู้สึกว่า “ชั้นสู้อยู่เต็มที่แล้วนะ ทำไมไม่มีใครเห็นเลย” ที่จริงควรพูดให้เค้ารู้สึกว่าเค้าไม่ได้สู้อยู่คนเดียว “เราจะอยู่ข้าง ๆ เธอนะ ถ้าเธอมีอะไรอยากให้ช่วย เราจะอยู่ตรงนี้ข้าง ๆ เธอ”
การเห็นอกเห็นใจ Empathy เป็นอะไรที่สำคัญมาก ๆ เลย เพราะว่าตอนที่ด้ายอมรับแล้วว่าตัวเองเป็นโรคนี้ เกิดจากความเห็นอกเห็นใจของคนรอบข้างไม่ว่าจะเป็นเพื่อนหรือครอบครัว เลยทำให้เรายอมรับว่าเราไม่สบาย เพื่อนจะบอกเราว่า “ถ้ามีอะไรเธอบอกเราได้นะ เราอยู่ข้าง ๆ เธอนะ” หรือแม่ก็จะบอกว่า “แม่รักลูกนะ มีอะไรให้ช่วยบอกแม่ได้เลย” พอเราได้สิ่งนี้ เลยทำให้พลิกเลย ถ้ากลับมาคิดว่าคนรอบข้างรักเรามากขนาดนี้ ทำไมเราไม่รักตัวเองเลย”
ข้อมูลจาก
- K-Pop’s Not-So-Secret Eating Disorder Problem. , www.buzzfeednews.com
- K-pop star IU’s battle with anxiety and eating disorders, and how she overcame them. , www.scmp.com
- Binge Eating Disorder (บิ้นจ์-อีทติ้ง) ,Facebook Fan Page กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข
- โรคของคนอยากผอม , คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล