สำหรับคนรักหนังสือในศตวรรษที่ 20 หลาย ๆ คนคงจะรู้จักนวนิยายอย่าง A Clockwork Orange ผลงานเลื่องชื่อของแอนโธนี เบอร์เจสส์ เป็นอย่างดี
กระนั้นแม้จะเป็นนิยายมีชื่อ ทั้งยังมีฉบับภาพยนตร์ที่ถือว่าโด่งดังโดยผู้กำกับอย่างสแตนลีย์ คูบริก แต่ผมก็ไม่ได้มีความสนใจในนิยายเล่มนี้เป็นพิเศษ ที่จริงผมรู้จัก A Clockwork Orange ครั้งแรกจากนิยายอีกเรื่องหนึ่งอย่าง Biblia Koshodo no Jiken techou หรือในฉบับแปลไทยว่า “บิเบลีย : บันทึกไขปริศนาแห่งร้านหนังสือ” ทั้งเมื่อได้อ่านงานนี้ครั้งแรกก็ไม่ได้ประทับใจอะไรเป็นพิเศษอีกด้วย
ทว่าเมื่อเวลาผ่านไป และได้หยิบหนังสือเล่มนี้มาอ่านครั้งที่สองในมุมมองที่ต่างจากเดิม ผมชอบหนังสือเล่มนี้มากขึ้น พร้อมกับรู้สึกว่านิยายเล่มนี้มีสารที่อยู่เหนือกาลเวลา แต่ขณะเดียวกันก็เข้าใจว่าทำไมถึงรู้สึกไม่ประทับใจอะไรกับประเด็นในหนังสือเล่มนี้นักเมื่ออ่านหนังสือเล่มนี้เป็นครั้งแรก
ในสัปดาห์นี้ De/code จึงอยากจะมาชวนท่านผู้อ่านทุกท่าน ร่วมกันอ่าน A Clockwork Orange นวนิยายอมตะเรื่องหนึ่งของศตวรรษที่ 20
อนาคตอันใกล้ในสายตาของเบอร์เจสส์
A Clockwork Orange หรือ “คนไขลาน” ในฉบับแปลไทย เป็นนวนิยายเสียดสีสังคม ที่เล่าเรื่องสังคมในอนาคตอันใกล้ ที่เต็มไปด้วยความโกลาหลวุ่นวายและความรุนแรง โดยเล่าผ่านสายตาของอเล็กซ์เด็กหนุ่มอันธพาลอายุ 15 ที่วัน ๆ ไม่ทำอะไร นอกจากการออกไปก่อความวุ่นวายในตอนกลางคืน ซึ่งความวุ่นวายที่ว่านี่นั่นมีทั้งเล่นยา ฉกชิง วิ่งราว ต่อยตีชาวบ้านชาวช่อง ซ้อมเด็กและคนแก่ที่ไร้ทางสู้ รวมไปถึงข่มขืนผู้หญิงและเด็ก
กระทั่งวันหนึ่งอเล็กซ์ถูกหักหลังโดยเพื่อนร่วมแก๊งค์จนต้องระหกระเหินเข้าไปอยู่ในคุก ก่อนที่จะกลายเป็นหนูทดลองสำหรับโครงการเพื่อลดจำนวนอาชญากรและคนติดคุกซ้ำของรัฐบาลไปในที่สุด
สิ่งที่ทำให้เราสามารถรู้ได้ว่า A Clockwork Orange นั้นมีฉากหลังเป็นโลกอนาคต นอกจากคำบรรยายซึ่งการแต่งตัวที่ดูแปลก ๆ แล้วก็คือภาษา ซึ่งเต็มไปด้วยแสลงอันเกิดจากการประดิษฐ์คำของเยาวรุ่นในโลกนั้น โดยตัวเบอร์เจสส์พยายามที่จะสร้างภาษาที่น่าจะเป็นการพัฒนาของภาษาอังกฤษในขณะนั้น ซึ่งขณะนั้นที่ว่าก็กินเวลาไปกว่าหกสิบปีได้แล้ว
หากอ่านในวันนี้อนาคตของ A Clockwork Orange จึงดูจะไม่ค่อยเป็นอนาคตเสียเท่าไหร่ เทคโนโลยีหลาย ๆ อย่างในหนังสือก็ดูเก่า จนหลาย ๆ ครั้งนึกภาพออกมาก็เหมือนเป็นจินตนาการยุค 70 – 80 ของคนในทศวรรษที่นิยายเรื่องนี้เขียน
ทว่าเบอร์เจสส์สามารถสร้างบรรยากาศความโกลาหลที่เกิดขึ้นในโลกสมมติของเขาได้อย่างน่าประทับใจ ในบทแรก ๆ เบอร์เจสส์ได้ให้ภาพของสังคมที่เต็มไปด้วยอันตราย เมื่อวัยรุ่นอันธพาลออกมาป่วนตอนกลางคืน และชีวิตอาจจะจบได้ทุกเมื่อหากวันดีคืนดีกลุ่มวัยรุ่นอันธพาลนึกสนุก แล้วหาทางเข้าไปในบ้านเพื่อเล่นสนุกตามแบบของเขา (ซึ่งคนที่โดนก็คงจะไม่สนุกด้วย)
ถ้ามองแค่นี้เราอาจมองได้ว่าเบอร์เจสส์นั้นดูจะมองวัยรุ่นในแง่ที่ไม่ดีเสียเท่าไหร่ เพราะนอกจากรสนิยมประหลาดแล้ว วัยรุ่นในเรื่องยังเต็มไปด้วยความรุนแรง ซึ่งทำให้หลาย ๆ คนต้องจบชีวิตหรือมีแผลใจที่รักษาไม่หายในที่สุด
เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้สังคมเกิดความวุ่นวายหรือมีอาชญากรรมไปมากกว่านี้ ก็ต้องเป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องเข้ามาดูแล ปัญหาคือรัฐใน A Clockwork Orange จะจัดการกับปัญหาเหล่านี้ยังไง
รัฐกับความพยายามคืนลูกหลานสู่สังคม
“ความเห็นใหม่ ๆ คือเราต้องเปลี่ยนคนเลวให้เป็นคนดี ซึ่งทั้งหมดฉันว่าไม่ยุติธรรมอย่างยิ่ง”
ในตอนแรก เมื่อมองจากสายตาตัวเอกของเรื่องอย่างอเล็กซ์รัฐใน A Clockwork Orange นั้นจ้องที่จะเข้ามากำกับดูแลชีวิตของผู้คนในรัฐ โดยเห็นได้จากความพยายามที่จะดัดนิสัยอเล็กซ์ ไม่ว่าจะเป็นการส่งไปเรียน โรงเรียนดัดสันดาน ไปจนถึงการมีนักสังคมสงเคราะห์คอยมาดูแลอเล็กซ์อยู่เนือง ๆ
หากแต่พร้อมกันนั้น คนอ่านก็แทบจะบอกได้ว่ารัฐใน A Clockwork Orange ไม่ค่อยจะมีน้ำยาเสียเท่าไหร่ กล่าวคือ การพยายามดัดนิสัยอเล็กซ์โดยรัฐล้มเหลวมาโดยตลอด ไม่ว่าจะจับอเล็กซ์เข้าโรงเรียนดัดสันดานกี่ครั้งต่อกี่ครั้ง อเล็กซ์ก็ยังเป็นปัญหาของสังคม ขณะเดียวกัน เด็กมีปัญหาแบบอเล็กซ์ก็ดูจะไม่ได้มีแค่คน ๆ เดียว เพราะนักสังคมสงเคราะห์ที่คอยดูแลเขาหลังจากการดัดสันดานอย่าง พี.อาร์.เดลทอยด์ก็ยังต้องหัวหมุนจากการที่มีเคสในมือเป็นร้อย ๆ เคส
ความพยายามเข้าไปควบคุม “คน” ในสังคมของรัฐใน A Clockwork Orange สะท้อนชัดที่สุดเมื่อมองจากในคุก ซึ่งเบอร์เจสส์เลือกจะบรรยายสภาพคุกในเรื่องว่าคนล้นคุกเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และล้นชนิดที่ว่าไม่มีที่นอน และนิยายกล่าวเสียดสีว่าล้นจนแทบจะไม่มีที่ขังนักโทษการเมือง
ส่วนหนึ่งของปัญหาใหญ่ที่สุดที่นำมาสู่ปัญหาคนล้นคุกใน A Clockwork Orange นั้นก็มาจากความไร้ประสิทธิภาพของรัฐ เพราะที่คนล้นคุกนั้นมาจากปัญหาเรื่องการที่คนเข้า ๆ ออก ๆ หรือก็คือรัฐไม่สามารถคืนคนดีกลับสู่สังคมได้ และเมื่อคนล้นคุก ก็ทำให้การที่รัฐจะเข้ามาดัดนิสัยนักโทษ เป็นไปได้ยากขึ้นไปอีก เพราะสภาพแวดล้อมไม่เอื้ออำนวยเท่าไหร่
นั่นทำให้ในช่วงที่อเล็กซ์ติดอยู่ในคุก เมื่อทางคุกทราบว่าอเล็กซ์และเพื่อนร่วมห้องขังได้ทำการรุมกระทืบเพื่อนร่วมห้องขังอีกคนจนตาย พวกเขาจึงหมดความอดทน และหันไปหาวิทยาศาสตร์เพื่อควบคุมคนให้อยู่ในอาณัติของตัวเองในที่สุด แม้ว่านั่นจะหมายถึงการที่คนเหล่านั้นสูญเสียความเป็นมนุษย์ไปเลยก็ตาม
เรามีสิทธิที่จะเลือก แม้สิ่งที่เราเลือกจะพาเราลงเหวก็ตามที
A Clockwork Orange นั้นแม้จะมีมุมเสียดสีสังคมอยู่ตลอดทั้งเรื่องก็จริง ไม่ว่าจะเรื่องรัฐหรือเรื่องวัยรุ่นซึ่งถูกแสดงออกมาผ่านการใช้ชีวิตและภาษาของอเล็กซ์ แต่ A Clockwork Orange ก็ยังเป็นนวนิยายที่มีภาษาแบบคริสเตียนอยู่เต็มไปหมด ชนิดที่เรียกว่าพอ ๆ กับภาษาเยาวรุ่นที่เบอร์เจสส์ประดิษฐ์ขึ้น
และเราจะไม่เข้าใจว่าเบอร์เจสส์ต้องการจะสื่ออะไรหากไม่เข้าใจแนวคิดแบบคริสตังที่มีผลต่อการเขียนนิยายเรื่องนี้ กล่าวคือความเป็นมนุษย์ หากให้นิยามสำหรับคนทั่วไปคงมองว่ามันคือการเป็นสิ่งมีชีวิตประเภทหนึ่ง หากแต่ถ้าเป็นคริสเตียนสิ่งที่ทำให้มนุษย์ต่างจากสัตว์นั้นก็คือ Free Will มนุษย์สามารถที่จะเลือกได้
เพราะถ้าเลือกไม่ได้เรื่องวันพิพากษาก็จะไม่ make sense ทันที
ในมุมมองนี้รัฐใน A Clockwork Orange พยายามที่จะพรากความเป็นมนุษย์ไป กล่าวคือ รัฐพยายามที่จะทำให้นักโทษกลายเป็นคนดีตามแบบอย่างของสังคมโดยการนำวิทยาศาสตร์เข้ามาใช้ ซึ่งอเล็กซ์ก็กลายเป็นหนูลองยาเพื่อที่จะกลายเป็นคนดีไปในที่สุด
ผลของการทดลองทำให้ความสามารถในการเลือกหรือ Free Will ของอเล็กซ์ถูกทำลาย ในตอนช่วงที่สามของเรื่องเขาไม่สามารถเลือกที่จะทำเลวซึ่งเป็นสิ่งที่สร้างความบันเทิงให้เขาได้อีกแล้ว เมื่อเขาจะทำความเลวโดยเฉพาะความรุนแรง ไม่ว่าจะทางกาย หรือทางวาจา ร่างกายของเขาจะตอบสนองและทำให้เขาคลื่นไส้ จนยอมถูกทำร้ายดีกว่าจะไปทำร้ายผู้อื่น
อเล็กซ์ทำได้เพียงแต่การทำความดี แม้ว่าใจของเขาจะไม่อยากจะทำเลยแม้แต่น้อย และทำให้เขาสูญสิ้นความเป็นมนุษย์ตามแบบคริสเตียนไปในที่สุด
“มนุษย์ที่ไม่สามารถเลือกเองได้ ไม่ใช่มนุษย์อีกต่อไป”
ในแง่นี้เราจะเห็นว่า A Clockwork Orange มีความเป็นคริสต์สูงมาก และนั่นก็เป็นเหตุผลที่ว่าทำไมผมซึ่งโตมาในวัฒนธรรมแบบพุทธ ๆ จึงไม่ค่อยจะประทับใจอะไรกับหนังสือเล่มนี้ในตอนที่อ่านครั้งแรก
ทว่าหลาย ๆ คนคงจะบอกว่าการสูญสิ้นความเป็นมนุษย์แล้วก็ย่อมจะดีกว่าการที่สังคมที่ไม่มีขื่อมีแป ทว่าสำหรับเบอร์เจสส์ไม่คิดเช่นนั้น
ในตอนท้ายของนวนิยาย เมื่ออเล็กซ์ต้องทนทุกข์ทรมาณกับการที่ไม่สามารถเลือกหรือโอบรับสิ่งที่เขาชอบโดยเฉพาะดนตรีคลาสสิกได้ เขาก็ได้ทำการพยายามฆ่าตัวตาย อเล็กซ์ขอเป็นคนเลว ดีกว่าถูกบังคับให้เป็นคนดี แน่นอนสุดท้ายความพยายามของเขาล้มเหลว แต่เขาได้ความสามารถที่จะเลือกกลับมา พร้อมกับความเป็นมนุษย์ที่ฟื้นคืน แม้ปลายทางจะเป็นหายนะก็ตามที
คนเราควรมีโอกาสที่จะเติบโต
เนื้อหาของ A Clockwork Orange นั่นดูจะเต็มไปด้วยความรุนแรง ทั้งในแง่เนื้อหาที่ทำให้ในตอนที่ A Clockwork Orange ถูกดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ได้สร้างข้อถกเถียงจำนวนมากในสังคมขึ้นในสมัยนั้น และสารที่ดูจะให้ค่าแก่เสรีภาพมากกว่าความปลอดภัยในชีวิต
ทว่าในส่วนของสารนั้นเป็นเพราะว่าที่จริงเบอร์เจสส์ดูจะเชื่อว่าคนเราสามารถกลับตัวได้เสียมากกว่า ในบทสุดท้ายซึ่งเป็นบทที่ถูกตัดไปในครั้งแรกที่ได้พิมพ์ที่สหรัฐฯ เมื่ออเล็กซ์อายุได้สิบแปดปี เขาก็รู้สึกเบื่อหน่ายกับชีวิตอันธพาลของตัวเอง และดูจะมีแววจะทิ้งวิถีชีวิตนี้ แม้คนอ่านไม่รู้ว่าอเล็กซ์จะเลิกใช้ชีวิตแบบนี้ได้หรือเปล่า แต่ก็แสดงให้เห็นว่าเบอร์เจสส์เชื่อว่าในที่สุดคนแบบอเล็กซ์ก็จะกลับตัวได้
ในแง่นี้จึงไม่แปลกที่เขาจะบอกว่าคนเราควรจะมีสิทธิ์เลือกเส้นทางชีวิตของตัวเอง เพราะที่สุดแล้วหลังจากลองผิดลองถูก คนก็จะใช้ชีวิตอย่างเข้าที่เข้าทางมากขึ้น
แน่นอนหลายคนก็คงบอกว่าเป็นฝันหวาน แต่ก็มีบางคนที่ไม่เห็นด้วยอยู่เช่นกัน เพราะสารที่เบอร์เจสส์ส่งไม่ได้มีเพียงเท่านี้ เขาดูจะเชื่อว่าการจะเป็นผู้เป็นคนต้องผ่านชีวิตที่เต็มไปด้วยความรุนแรง
และหากเป็นเช่นนั้นจริงก็คงจะสิ้นหวังไม่ใช่น้อย
หนังสือ: A Clockwork Orange
นักเขียน: Anthony Burgess
สำนักพิมพ์: A-Book Distribution
PlayRead: คอลัมน์รีวิวหนังสือประจำ Decode.plus เมื่อกองบรรณาธิการขอ add หนังสือ (ที่อยากอ่าน)ไว้ในเพล ย์ลิสต์ พบกับหนังสือหลากหลายสไตล์ หลากหลายวิธีการเล่าเรื่องที่เชื่อมร้อยกับชีวิตและสังคม แวะมาหาอ่านกันได้ทุกเย็นวันพฤหัสบดี