Ganesh Chaturthi 10 คืนแห่งศรัทธาพระพิฆเนศของชาวอินเดีย - Decode
Reading Time: 4 minutes

HumanIndian-คนอินเดียมีหัวใจ

ณฐาภพ  สังเกตุ

“สัปดาห์หน้าอินเดียจะมีเทศกาล Ganesh Chaturthi พวกเราจะเฉลิมฉลองกัน 10 วันติดต่อกัน ไหน ๆ คุณก็มาใช้ชีวิตอยู่ที่อินเดีย 1 ปีไม่ควรที่จะพลาด”

อนิว (Anil  Kolekar) เจ้าของธุรกิจชาวอินเดียอายุ 44 ปี บอกกับผมที่หน้าร้านขายไจ (ชาอินเดีย) ประเทศอินเดียร้านขายไจเป็นเสมือนจุดนัดพบพูดคุยของคนที่นี่ ผมนั่งคุยกับเขาเรื่องการนับถือเทพเจ้าของคนอินเดีย

“ชาวฮินดูมีอิสระในการเลือกเทพเจ้าในการนับถือ เมื่อเติบโตมาจนถึงวัยหนึ่ง เราสามารถเลือกเทพเจ้าที่เหมาะสมกับบุคลิกและนิสัยของเราได้

“คนบางคนโกรธง่าย ฉุนเฉียว มีพละกำลังเยอะ เขาก็สามารถเลือกที่จะนับถือพระศิวะ (Shiva) ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นมหาเทพแห่งการทำลายล้าง”

อนิวบอกว่าศาสนาเขามีเทพเจ้าหลายร้อยองค์ ชาวฮินดูสามารถเลือกนับถือเทพเจ้าที่ตรงกับจริตตัวเองได้ตามที่ต้องการ แต่มีเทพเจ้าองค์หนึ่งที่อนิวบอกว่าชาวฮินดูส่วนใหญ่แล้ว จะต้องเริ่มต้นจากการนับถือเทพเจ้าองค์นี้

“ไม่แปลกใจที่คุณบอกว่าทำไมไปไหนถึงเจอแต่รูปปั้นและรูปของพระพิฆเนศ (Ganesh) เพราะเป็นเทพเจ้าที่ชาวฮินดูแทบทุกคนจะต้องสวดบูชา เชื่อกันว่าไม่ว่าจะทำอะไรในช่วงเริ่มต้น การได้ขอพรจากพระพิฆเนศ จะทำให้สำเร็จในทุก ๆ เรื่อง”

อนิวได้เล่าเรื่องราวประวัติของพระพิฆเนศให้ฟังต่อว่า พระพิฆเนศเป็นลูกของพระศิวะและพระแม่ปารวตี โดยตอนที่พระพิฆเนศเกิดมานั้น เป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่พระศิวะออกไปบำเพ็ญสมาธิที่ดินแดนอื่น 

มีอยู่วันหนึ่งพระแม่ปารวตีมีภารกิจต้องไปทำธุระ จึงสั่งให้พระพิฆเนศคอยเฝ้าประตูไว้และห้ามให้ใครเข้ามาเด็ดขาด ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่พระศิวะกลับมา จึงเกิดการทะเลาะกันระหว่างพระศิวะและพระพิฆเนศ เนื่องจากพระศิวะไม่รู้ว่าพระพิฆเนศเป็นลูกของตัวเอง พระศิวะจึงตัดศีรษะของพระพิฆเนศ เมื่อพระแม่ปารวตีเห็นลูกของตัวเองเสียชีวิตจึงโศกเศร้าเป็นอย่างมาก 

พระศิวะจึงพยายามหาทางฟื้นคืนชีพพระพิฆเนศแต่หาศีรษะไม่พบ จึงได้นำเอาศีรษะของช้างมาสวมแทนศีรษะเดิม และเป็นที่มาของรูปลักษณ์ที่เราเห็นอยู่ในปัจจุบัน

โดยเทศกาล Ganesh Chaturthi ชีวาณี (Shivani Jadhav) เพื่อนของผมได้เสริมข้อมูลให้ฟังว่า จะมีการเฉลิมฉลอง 10 วันติดต่อกัน เพราะเชื่อกันว่า 10 วันดังกล่าว พระพิฆเนศและพระแม่ปารวตีจะเสด็จมายังโลก ชาวอินเดียที่นับถือศาสนาฮินดูจะอัญเชิญพระพิฆเนศเข้าบ้าน และถือว่าพระพิฆเนศจะเป็นแขกที่มาพักอาศัยอยู่กับพวกเขา 10 วัน

ในอีกนัยหนึ่งรีติส (Ritesh Khade) นักศึกษาปริญญาโทสาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ได้อธิบายความเป็นมาของ Ganesh Chaturthi Festival ว่าเกิดขึ้นในช่วงราวปี ค.ศ.1630-1680  ในสมัยที่ Chhatrapati Shivaji Maharaj เป็นผู้นำ เขาได้มีกุศโลบายให้มีการเฉลิมฉลองเทศกาลดังกล่าวในหมู่ประชาชนทั่วประเทศ ทั้งที่ก่อนหน้านี้นั้นการเฉลิมฉลองจำกัดอยู่เฉพาะแค่ในราชวงศ์

โดยเหตุผลนั้นรีติสได้กล่าวว่า เพื่อส่งเสริมลัทธิชาตินิยม ต่อต้านการรุกรานเข้ามาของอังกฤษ เพราะการเฉลิมฉลองเทศกาลร่วมกันจะช่วยให้ผู้คนเป็นปึกแผ่นเดียวกัน 

“มันก่อให้เกิดความสามัคคีในการรวมตัวกันต่อต้านการเข้ามาของอังกฤษ”

รีติสเสริมต่อว่า 10 วันในเทศกาล ผู้คนจะนำรูปปั้นของพระพิฆเนศมาประดิษฐานตามใจกลางชุมชนหรือสี่แยกต่าง ๆ ในแต่ละพื้นที่ โดยในทุกวันผู้คนจะสวดภาวนาร่วมกันตอนเช้า 7.00 น. และตอนค่ำ 19.00 น.

“ในเทศกาลดังกล่าวผู้คนจะออกมาร่วมเทศกาลกัน โดยไม่สนใจวรรณะ เชื้อชาติ ฐานะ การศึกษา คนที่ไม่เคยคุยกันก็จะได้คุยกัน นัยหนึ่งเทศกาลเหล่านี้มันคือกุศโลบายให้คนได้รู้จักกัน”

ในความหมายที่หนึ่งคือการที่พวกเขาได้อยู่ใกล้ชิดกับเทพเจ้าที่พวกเขานับถือ ในอีกหนึ่งความหมายคือการที่ผู้คนจะได้ออกมารู้จักกัน

โดยการกำหนดวันที่พระพิฆเนศจะลงมายังโลกนั้น อ้างอิงตามปฏิทินมราฐี โดยในปี 2565 นั้นตรงกับวันที่ 31 สิงหาคม ถึงวันที่ 9 กันยายน หนึ่งในเทศกาลที่ใหญ่ที่สุดของรัฐมหาราษฏระ (Maharashtra) ประเทศอินเดีย ได้เริ่มต้นขึ้นในเรื่องราวต่อจากนี้

เริ่มต้นเฉลิมฉลองแด่ Ganapati Bappa 

“Ganapati Bappa” ชายอินเดียคนหนึ่งโห่ร้อง

“Morya Morya” ผู้คนที่อยู่ใกล้เคียงขานรับ

วันที่ 31 สิงหาคม 2565 ณ ถนน Chhatrapati Shivaji Maharaj  ศูนย์กลางจัดงาน Ganesh Chaturthi ในเมืองปูเน่ ประเทศอินเดีย ชาวอินเดียทยอยกันมาร่วมการเฉลิมฉลองเทศกาลนับหมื่นคน พวกเขาต่างโห่ร้องด้วยคำว่า   

“Ganapati Bappa” อันหมายถึงพระพิฆเนศผู้เป็นดั่งพ่อหรือเทพเจ้าของพวกเขา 

ส่วนคำว่า “Morya Morya” นั้นหมายถึงพระพิฆเนศโปรดมานำทางและให้พรพวกเขา

ในช่วงเช้าของวันแรก ผู้คนต่างออกมาจับจ่ายใช้สอยของบูชาเช่น ผลไม้, รูปปั้นของพระพิฆเนศ เพื่อนำกลับไปเฉลิมฉลองที่บ้าน โดยชาวอินเดียเมื่อเลือกซื้อรูปปั้นพระพิฆเนศเรียบร้อยแล้ว เขาจะทำการปิดตาพระพิฆเนศและพากลับบ้าน โดยคนอินเดียมีความเชื่อว่า 

จุดเริ่มต้นของชีวิตเกิดขึ้นจากดวงตา ชาวอินเดียจึงทำการปิดตาพระพิฆเนศ และจะเริ่มเปิดดวงตาเมื่อพวกเขาเริ่มทำการสวดบูชาที่บ้าน

ในอีกความหมายหนึ่งมานพ (Manoj) เจ้าของบริษัทแห่งหนึ่งในอินเดียบอกกับผมว่า พวกเขาปิดตาพระพิฆเนศระหว่างทางกลับบ้าน เพื่อไม่ให้พระพิฆเนศจำทางที่มาได้ และจะได้สถิตอยู่ในบ้านของพวกเขาตลอด 10 วัน

จากห้างร้านที่เต็มไปด้วยรูปปั้นของพระพิฆเนศวางขาย เมื่อเดินเข้าไปยังจุดศูนย์กลางของงานที่ Dagadusheth Halwai Ganapati Temple เสียงกลองดังสนั่นไปทั่วบริเวณ กลองถือว่าเป็นส่วนสำคัญของงานเทศกาลโดยเฉพาะในรัฐ Maharashtra ทุกเทศกาลที่สำคัญจะมีทีมตีกลองออกมาแสดง พวกเขาต้องแบกกลองขนาดใหญ่ และยืนกลางแจ้งตลอดทั้งวัน

“ฉันชอบตีกลอง มันทำให้ฉันได้พบปะผู้คนมากมาย ทั้งยังเป็นการออกกำลังกาย ฉันยังคงรู้สึกสนุกกับมัน แต่การฝึกซ้อมและออกมาแสดงนั้นฉันก็ไม่ได้รับเงิน เงินทั้งหมดที่ได้ผู้นำทีมจะเป็นคนเก็บไว้ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับการซื้ออุปกรณ์ต่าง ๆ”

มือกลองคนหนึ่งได้กล่าวกับผม หลายคนตีกลองจนหนังกลองขาด พวกเขาล้วนผ่านการฝึกซ้อมเพื่องานนี้กันหลายเดือน ทั้งวันแสดงจริงก็มีผู้คนมากมายจับตาดูพวกเขา จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่มือกลองทุกคนจะใส่เรี่ยวแรงทั้งหมดที่มีลงไปในการแสดง

ผู้คนเริ่มหนาแน่นในช่วงเที่ยงวัน แม้อากาศจะร้อนและผู้คนจะเบียดเสียดกันแค่ไหน ชาวอินเดียต่างพยายามเอาตัวเองเข้าไปใกล้เพื่อขอพรจากพระพิฆเนศ ถนนทั่วทุกสายในเมืองปูเน่ล้วนเต็มไปด้วยการเฉลิมฉลอง มีการแห่รูปปั้นของพระพิฆเนศไปทั่วเมือง 

แต่ในขณะเดียวกันก็มีผู้คนอีกจำนวนหนึ่งที่ไม่ได้นับถือฮินดู หรืออาจจะเรียกได้ว่าพวกเขาไม่ได้รู้สึกถึงการเฉลิมฉลองเหมือนคน 79.8% ของประเทศที่นับถือฮินดู ชาวพุทธคนหนึ่งในอินเดียกล่าวกับผมว่า

“ฉันนับถือพระพุทธเจ้า และยึดแนวคิดมรรคมีองค์แปด ศีล สมาธิ ปัญญา ฯลฯ โดยที่ฉันไม่ได้นับถือเทพเจ้าองค์อื่น แต่เทศกาลเช่นนี้ฉันเข้าใจได้ คนส่วนใหญ่ในอินเดียนับถือศาสนาฮินดู และดูเหมือนศาสนาของพวกเขาจะมีความสำคัญมากกว่าตามจำนวนประชากร แต่ในรัฐธรรมนูญและระบบราชการของอินเดียยังคงยึดแนวคิด Secularism”

Secularism คือแนวคิดที่ปฏิเสธ “อำนาจทางการเมืองแบบศาสนาสถาปนา” แต่ถึงแม้ศาสนาฮินดูจะไม่ได้มีอำนาจทางการปกครองประเทศ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าความเชื่อของศาสนาฮินดู โดยเฉพาะเรื่องเทพเจ้านั้นส่งผลต่อชีวิตความเป็นไปของผู้คนในอินเดีย

“ในอินเดียเทพเจ้าคือชีวิต เหมือนกับว่าเมื่อไหร่ก็ตามที่ชีวิตไม่สามารถมีความหวังที่อยากจะมีชีวิตอยู่ต่อไป ความเชื่อมั่นในเทพเจ้าช่วยให้พวกเขามีชีวิตอยู่ต่อไป ส่วนเทศกาลต่าง ๆ ก็เป็นเหตุผลให้คนมารวมตัวกันและเฉลิมฉลอง เราต่างมีชีวิตที่วุ่นวาย ดังนั้นเทพเจ้าและเทศกาลช่วยให้คนอินเดียสามารถสงบจิตสงบใจจากชีวิตที่วุ่นวายของพวกเขา”

ชีวาณีกล่าวกับผม ก่อนที่เธอจะเชิญชวนผมให้ได้เข้าไปสัมผัสถึง Ganesh Chaturthi Festival ในบ้านพร้อมครอบครัวของเธอ

Ganesh Chaturthi Festival บรรยากาศในบ้านคนอินเดีย 

Aarti เป็นภาษาฮินดีซึ่งแปลความหมายได้ว่าพิธีจุดไฟ โดยชาวอินเดียที่นับถือศาสนาฮินดู จะประกอบพิธีทำการโบกโคมไฟต่อหน้ารูปปั้นเทพเจ้า ขณะทำการสวดมนต์หรือร้องเพลงสรรเสริญเทพเจ้าไปด้วย

ชีวาณีเชิญชวนเพื่อน ๆ ของเธอรวมถึงผมไปที่บ้านในช่วงบ่ายวันอาทิตย์ บ้านของเธอมีขนาดเล็กคล้ายห้องแถว พื้นที่ส่วนหนึ่งถูกประดับประดาด้วยแสงไฟ และแท่นบูชาเป็นที่ประดิษฐานรูปปั้นพระพิฆเนศ เธอกล่าวว่าเธอประกอบมันขึ้นมาเองโดยใช้เวลากว่า 10 วัน และก็เป็นเวลาตลอดทั้ง 10 วันในช่วงเช้าและเย็นของ Ganesh Chaturthi Festival ที่เธอและครอบครัวจะทำการสวดขอพรจากพระพิฆเนศ โดยชาวอินเดียเรียกพิธีกรรมนี้ว่า Aarti 

ไม่นานหลังจากนั้นอาหารฝีมือแม่ของชีวาณีก็มาเสิร์ฟเป็นอาหารมังสวิรัติ ในเมืองปูเน่ ชาวอินเดียส่วนใหญ่นิยมบริโภคมังสวิรัติเป็นหลัก ในขณะเดียวกันตั้งแต่ช่วงเดือนสิงหาคมถึงตุลาคม จำนวนผู้บริโภคมังสวิรัติยิ่งเพิ่มขึ้น เหตุผลหนึ่งมาจากในช่วงเวลาดังกล่าวนี้มีเทศกาลที่เกี่ยวข้องกับการบูชาเทพเจ้าค่อนข้างมาก ชาวอินเดียจึงงดเว้นการกินเนื้อสัตว์ 

แต่อีกเหตุผลหนึ่ง อนิวเจ้าของธุรกิจวัย 44 ปีชาวอินเดียบอกกับผมว่า ช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงเวลาที่สัตว์ที่จะนำมาบริโภคส่วนใหญ่อยู่ในวัยที่กำลังเจริญเติบโตไม่เต็มวัย การละเว้นกินเนื้อสัตว์ในช่วงเวลาดังกล่าว ช่วยให้ประเทศอินเดียมีจำนวนเนื้อสัตว์สำหรับบริโภคอย่างเพียงพอตลอดทั้งปี อาจกล่าวได้ว่าความเชื่อทางศาสนาหลาย ๆ อย่างในอินเดีย ก็มีเหตุผลหรือกุศโลบายเบื้องหลังซ่อนอยู่เสมอ

สำหรับอาหารที่จัดทำพิเศษเฉพาะช่วง Ganesh Chaturthi Festival นั้น เป็นขนมหวานที่มีชื่อว่า Modak ด้านนอกของตัวขนมทำมาจากแป้ง สอดไส้ด้านในด้วยมะพร้าวและน้ำตาลโตนด โดยเหตุผลที่ชาวอินเดียจัดทำ Modak เฉพาะช่วงนี้ก็มีเรื่องเล่าขานกันว่า พระพิฆเนศชอบทานขนม Modak เป็นพิเศษ ชาวอินเดียจึงพร้อมใจกันจัดทำ Modak แจกจ่ายให้กับเพื่อนบ้าน  

โดยหลังจากที่เราทานอาหารกันเสร็จ เป็นช่วงเวลาก่อนฟ้าสาง ครอบครัวของชีวาณีเตรียมที่จะทำการสวด Aarti  ผมถามชีวาณีว่า เธอขอพรอะไรจากพระพิฆเนศ

“ฉันไม่ขออะไรทั้งนั้นเพราะฉันเชื่อว่าพระเจ้าให้สิ่งที่ดีสำหรับพวกเราเสมอ”

และอีกไม่กี่วันก็จะถึงวันสุดท้ายของเทศกาล Ganesh Chaturthi Festival แล้ว

รัตติกาลอำลา Ganesh Chaturthi

เช้าวันศุกร์ที่ 9 กันยายน 2565 วันสุดท้ายของเทศกาล Ganesh Chaturthi Festival เป็นวันหยุดราชการในเมืองปูเน่ ผมจัดเตรียมอุปกรณ์ถ่ายภาพ และสิ่งของจำเป็นนั่งรถเมล์จากย่านที่พักอาศัย เข้าไปยังใจกลางเมืองปูเน่ซึ่งเป็นสถานที่จัดงาน

ถนนทุกสายถูกปิดหมด ไม่เกินจริงนักถ้าจะกล่าวว่าวันนี้เมืองทั้งเมืองอุทิศให้แก่เทศกาลดังกล่าว ผมลงรถเมล์พยายามหาทางเดินเพื่อเข้าไปให้ถึงสถานที่จัดงาน

ชาวอินเดียกลุ่มหนึ่งโห่ร้อง

“Ganapati Bappa” 

“Morya Morya” 

พวกเขาอุ้มพระพิฆเนศเดินไปตามถนน ผมติดตามพวกเขาไป ยิ่งเดินไปก็ยิ่งพบว่าสองข้างทางเต็มไปด้วยครอบครัวชาวอินเดียอุ้มพระพิฆเนศ ไปยังจุดหมายปลายทางเดียวกันที่แม่น้ำ Mutha 

ณ ท่าน้ำ เสียงกลอง เสียงโห่ร้อง เสียงสวดมนต์ ประเดประดังเข้ามาท่ามกลางแสงแดดจ้าของช่วงเวลาเที่ยงวัน ชาวอินเดียนำรูปปั้นของพระพิฆเนศมาทำการสวดบูชา (Aarti) ที่ริมแม่น้ำ สิ่งหนึ่งที่ผมเห็นจากกิจกรรมนี้คือ ชาวอินเดียหลายครอบครัว พวกเขาได้มาอยู่พร้อมหน้าพร้อมตากัน

“วันนี้ทุกคนจะทำดีซึ่งกันและกัน คนทั้งเมืองจะร่วมเฉลิมฉลองเทศกาลเสมือนดั่งครอบครัวเดียวกัน”

ชีวาณีกล่าวกับผมเช่นนั้น พวกเขาจะหยิบยื่นขนมที่ทำมาจากบ้านมาแจกจ่ายผู้คนตามข้างทาง หลังจากสวดบูชาเสร็จ ชาวอินเดียจะนำรูปปั้นพระพิฆเนศปล่อยลงสู่แม่น้ำ สีหน้าของพวกเขาเต็มไปด้วยความปีติแด่เทพเจ้าของพวกเขา ชีวาณีบอกถึงเหตุผลว่า

“พระพิฆเนศมายังโลกและอยู่เพียงแค่ 10 วัน หลังจากนั้นเขาจะกลับสู่บ้านบนสวรรค์ที่เรียกว่า เขาไกรลาส (Kailash) พวกเราไม่สามารถเก็บเขาไว้ได้หลังจาก 10 วันนี้ เราต้องปล่อยเขาลงไปในแม่น้ำ เพื่อที่เขาจะสามารถกลับบ้านได้ โดยผู้คนจะเก็บดินจากแม่น้ำเป็นตัวแทนความสิริมงคลของพระพิฆเนศ”

รูปปั้นพระพิฆเนศนับพันถูกปล่อยลงสู่แม่น้ำ ในขณะเดียวกันก็ก่อให้เกิดอาชีพมากมายในวันดังกล่าว ทั้งผู้คนที่เล่นดนตรี คนพายเรือ พ่อค้าแม่ค้า และอาชีพบริการต่าง ๆ พากันออกมากอบโกยรายได้ในวันนี้

ผมขึ้นมาจากริมแม่น้ำเพื่อเดินไปต่อยัง Dagadusheth Halwai Ganapati Temple ที่ถือว่าเป็นศูนย์กลางของการทำพิธี ผู้คนเต้นรำ โห่ร้อง และยังคงแห่พระพิฆเนศกันไปรอบเมือง เมื่อถึงเวลาแดดร่มลมตก ผู้คนนับหมื่นคนทยอยกันเดินเข้ามาย่านดังกล่าว เสียงดนตรีจากลำโพงขนาดใหญ่ดังสนั่น ชาวอินเดียโดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่นเต้นกันอย่างเมามัน สำหรับพวกเขาการเต้นคือการปลดปล่อยพลังงานที่พวกเขามีออกมา 

ไม่ว่าจะเดินไปทางไหนทุกพื้นที่แน่นขนัดไปด้วยผู้คน เสียงโห่ร้อง “Ganapati Bappa” “Morya Morya” ดังกึกก้องทั้งวันทั้งคืนในเมืองปูเน่ 

จนกระทั่งช่วงเวลายามค่ำคืนย่างเข้ามาถึง ยังไม่มีท่าทีว่าเทศกาลจะจบลง ยิ่งดึกเท่าไหร่คนยิ่งเยอะมากขึ้นเท่านั้น สองริมฝั่งแม่น้ำยังคงสว่างไสวไปด้วยแสงไฟจากการสวดบูชา แต่ถัดไปไม่กี่ก้าวเดินภายใต้ความมืดริมทางเดินติดแม่น้ำ กลับเต็มไปด้วยคนไร้บ้านนับร้อยคน พวกเขายังคงดำเนินชีวิตของพวกเขาเฉกเช่นปกติ บางคนอาบน้ำ แม่บางคนกำลังป้อนข้าวให้ลูก บ้างจับกลุ่มคุยกัน บางคนเข้านอนในผ้าใบขึงเหมือนเต็นท์สนาม สถานที่ที่เป็นบ้านของพวกเขา ในขณะที่หลายคนกำลังเฉลิมฉลอง อาจเป็นค่ำคืนที่ข่มตาหลับได้ยากเย็นของคนไร้บ้านหลายคน

หลังจากที่ผมเก็บภาพและคิดว่าได้เห็นภาพบรรยากาศเทศกาลจนครบแล้ว ผมเดินทางกลับที่พักในช่วงหัวค่ำ ก่อนย้อนกลับมาสังเกตการณ์ย่านใจกลางเมืองอีกครั้งในช่วงเช้า พบว่าเสียงเพลงยังคงดังสนั่น ชาวอินเดียบางส่วนเฉลิมฉลองกันข้ามค่ำคืน มันคงเป็นความศรัทธาผสมกับความบ้าคลั่งของพวกเขา พิธีกรรมต่าง ๆ จบลงแล้ว เหลือเพียงเสียงดนตรีแดนซ์และเหล่าวัยรุ่นที่ยังคงมีแรงเหลือ  

10 วัน 10 คืน ของ Ganesh Chaturthi Festival ในเมืองปูเน่ ประเทศอินเดีย ฉายภาพสะท้อนให้เห็นถึงความเป็นคนอินเดียหลายสิ่ง พวกเขายึดมั่นศรัทธาในศาสนา พวกเขาให้ความสำคัญกับครอบครัว พวกเขารักการเฉลิมฉลองและงานรื่นเริง 

ศาสนา ครอบครัว และการเฉลิมฉลองคงเป็น 3 สิ่งที่ชาวอินเดียขาดไปจากชีวิตไม่ได้

อ้างอิงข้อมูลจาก

Prachathai

Zingbus

Chinmayaupahar

Wikipedia

Britannica